ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในห้าธุรกิจที่เป็นเป้าหมายการลงทุนของกลุ่มเฟิสท์แปซิฟิค
แม้รายได้จากธุรกิจนี้ในช่วงสองปีที่ผ่านมาจะมีสัดส่วนไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดของกลุ่มนี้
แต่ถ้าวัดในแง่การเติบโตทั้งทางด้านรายได้และกำไรแล้วเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่มาแรงที่สุด
อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่สูงถึง 91 เปอร์เซ็นต์คือจาก 5.4 ล้านเหรียญสหรัฐในปี
2530 เป็น 10.3 ล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว เป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในบรรดาธุรกิจทั้งห้าประเภท
ในขณะที่อัตรากำไรเพิ่มขึ้น 240 เปอร์เซ็นต์จาก 1.4 ล้านเหรียญเป็น 4.8 ล้านเหรียญในสองปีดังกล่าวสูงเป็นอันดับสองรองจากธุรกิจการลงทุนและค้าหลักทรัพย์
กลุ่มเฟิสท์ แปซิฟิคนั้น วางทิศทางการขยายธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ของตนไว้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยมีประเทศไทยเป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่สำคัญจุดหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจนี้ในบ้านเรา
งานเปิดตัวแปซิฟิค เพลสและการเปิดตัวทีมงานด้านเรียลเอสเตทของเฟิสท์ แปซิฟิคเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่แล้วนับได้ว่าเป็นการประกาศตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก
ในเจตจำนงที่จะเข้ามามีส่วนร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ก้อนนี้ในประเทศไทย หลังจากที่เข้ามาครั้งแรกอย่างเงียบ
ๆ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
การรุกเข้ามาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเฟิสท์แปซิฟิคครั้งนี้เรียกได้ว่าเข้ามาอย่างครบวงจรทุกขั้นตอนตั้งแต่การลงทุนพัฒนาโครงการ
ไปจนถึงการบริหารโครงการหลังจากขายไปหมดแล้ว โดยมีบริษัทเฟิสท์ แปซิฟิค แลนด์
(ประเทศไทย) ทำหน้าที่ในการลงทุนพัฒนาโครงการเฟิสท์ แปซิฟิค เดวี่ส์ เป็นบริษัทรับบริหารโครงการและให้คำปรึกษาในการลงทุน
และเฟิสท์ แปซิฟิค เดวี่ส์ พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเมนท์ให้บริการทางด้านการบริหารอาคาร
หนึ่งในหัวหอกของเฟิสท์แปซิฟิคในเรื่องนี้เป็นคนไทยชื่อวินัย พงศธร กรรมการและผู้จัดการทั่วไปของเฟิสท์
แปซิฟิคแลนด์
วินัยเป็นลูกชายของสุขุมพงศธร ผู้ถือหุ้นและกรรมการของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์
เขาจบการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2518 ไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจที่รัฐฟลอริดาสหรัฐอเมริกาแล้วทำงานเป็นนักวิเคราะห์การเงินให้กับบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งเป็นเวลาหนึ่งปี
ช่องทางที่ชักนำหนุ่มผอมสูง ท่าทางนอบน้อมวัย 36 ปีคนนี้เข้าไปร่วมวงศ์ไพบูลย์กับกลุ่มเฟิสท์
แปซิฟิคเกิดขึ้นจากการเข้ามาถือหุ้นในเบอร์ลี่ยุคเกอร์ของกลุ่มเฟิสท์ แปซิฟิคในนามของเฮกเกอร์
ไมเอยร์เมื่อปี 2525
"ตอนนั้นผมทำงานที่เบอร์ลี่ ยุคเกอร์มาได้ห้าปีแล้ว" วินัยพูดถึงตำแหน่งหน้าที่ของเขาในขณะนั้นว่าเป็นรองผู้จัดการในฝ่ายพัฒนาธุรกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับการหาลู่ทางลงทุนใหม่
ๆ ให้บริษัท
ตัวอย่างผลงานอขงเขาในตอนนั้นได้แก่การซื้อโรงงานสยามสแน็คซึ่งผลิตขนมและของขบเคี้ยว
การขายนมอลาสก้าให้กับบริษัทอุตสาหกรรมนมพระนคร การขยายโรงงานรูเบียเป็นต้น
วินัยถูกส่งตัวไปฮ่องกงเมื่อปี 2525 เพื่อไปติดต่อสร้างสัมพันธ์กับกลุ่มเฟิสท์
แปซิฟิค "ก็ไปรู้จักคนของเขาที่ฮ่องกงดูว่าจะทำการค้าอะไรได้มากขึ้นหรือเปล่า"
วินัยอยู่ฮ่องกงได้ระยะหนึ่งก็กลับไทย แล้วออกไปทำงานอยู่กับบริษัทล่ำสูน
ก่อนที่จะลาออกมาทำธุรกิจของครอบครัวด้วยการซื้อโรงงานสีซิกท่ามาทำเองในชื่อบริษัทบางกอกเพนท์เมื่อเดือนพฤศจิกายน
ปี 2528
ระหว่างนั้นก็ยังมีการติดต่อกันอยู่กับทางเฟิสท์แปซิฟิค วินัยทำงานที่บางกอกเพนท์ได้ประมาณปีเศษ
ๆ ทางเฟิสท์ แปซิฟิคก็ชวนให้ไปทำงานด้วยที่ฮ่องกง
"ผมไปอยู่ที่นั่นประมาณปีหนึ่ง ดูแลทางด้านการลงทุนทั่ว ๆ ไป"
วินัยกล่าว ช่วงที่เขาอยู่ฮ่องกงนั้นได้รับมอบหมายให้ทำโครงการลงทุนในไต้หวัน
รวมทั้งแผนการซื้อโรงงานอุตสาหกรรมสองแห่งในไทยด้วย แต่ไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้
เดือนมกราคม 2531 เฟิสท์ แปซิฟิคส่งวินัยมาทำงานในเมืองไทยทางด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ
"กลัวเหมือนกัน เพราะว่าเราไม่รู้เรื่องที่ดินเลย ทำมาแต่เรื่องลงทุนตลอด"
วินัยเปิดเผยความรู้สึกในตอนนั้น
ก้าวแรกของเฟิสท์ แปซิฟิคในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยที่วินัยลงมือร่วมกับคนของเฟิสท์
แปซิฟิคอื่น ๆ คือ การซื้ออาคารสำนักงานบียูเอ็มซีของหมอปราเสริฐปราสาททองโอสถ
ที่มีปัญหาไม่สามารถสร้างต่อได้หลังจากที่สร้างโครงสร้างต่อได้หลังจากที่สร้างโครงสร้างตึกเรียบร้อยแล้ว
ในราคา 380 ล้านบาทโดยตั้งบริษัทสุขุมวิททรัพย์สินขึ้นมาเพื่อดำเนินโครงการต่อไป
สุขุมวิททรัพย์สินในระยะแรกเป็นการลงทุนของเฟิสท์ แปซิฟิค แลนด์ที่ฮ่องกง
85% ที่เหลือ 15% เป็นการลงหุ้นของหมอปราเสริฐหันไปสนใจธุรกิจการบินเลยขายหุ้นที่เหลือให้กับเฟิสท์
แปซิฟิค, แลนด์
ด้วยเงินลงทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 160 ล้านบาท ตึกบียูเอ็มซีก็ได้รับการปรับปรุงก่อสร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วและเปลี่ยนชื่อเป็นอาคาร
แปซิฟิคเพลส เป็นอาคารสำนักงานให้เช่า 12 ชั้นอีก 7 ชั้นเป็นที่จอดรถ
เดือนมิถุนายน 2531 เฟิสท์ แปซิฟิคก็ได้จัดตั้งบริษัทเฟิสท์ แปซิฟิค แลนด์ขึ้นมาในประเทศไทย
แต่เป็นบริษัทที่ไม่มีกิจกรรมใด ๆ ตึกแปซิฟิคเพลสจริง ๆ แล้วเป็นการดำเนินการของบริษัทสุขุมวิททรัพย์สินซึ่งเฟิสท์
แปซิฟิค แลนด์ถือหุ้นอยู่ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม
"ความจริงก็ไม่จำเป็นต้องตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา ต่อไปเฟิสท์ แปซิฟิค
แลนด์ก็คงจะค่อย ๆ หายไปใช้ชื่อของสุขุมวิททรัพย์สินแทน" วินัยกล่าว
แปซิฟิคเพลสขายพื้นที่ไปได้ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้วและเฟิสท์ แปซิฟิคก็กำลังจะขึ้นโครงการที่สองด้วยการทุบตึกสหกลแอร์ที่อยู่ข้างหน้าทิ้งแล้วสร้างตึกแปซิฟิค
เพลสสองแทน
"เราอยากจะทำอะไรที่เป็น INNOVATIVE PROJECT เราจะไม่ทำอะไรที่ต้องไปแข่งขันกับคนอื่นมาก"
วินัยพูดถึงแนวความคิดของเฟิสท์ แปซิฟิคในธุรกิจนี้
ประมาณกลางปี 2533 สุขุมวิททรัพย์สินจะเพิ่มทุนจากปัจจุบัน 300 ล้านขึ้นเป็น
450 ล้าน พร้อมกับหาผู้ร่วมหุ้นคนไทยซึ่งอาจจะเป็นธนาคารบริษัทเงินทุนหรือประกันภัยเข้ามาถือหุ้นส่วนข้างมากอีก
3-4 ราย เพื่อทำให้เป็นบริษัทไทย ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขให้สุขุมวิททรัพย์สินทำโครงการอื่น
ๆ โดยการซื้อที่ดินได้แทนการเช่าที่อย่างเช่นตึกแปซิฟิค เพลสในตอนนี้ และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย
LOCALIZED MANAGEMENT ของเฟิสท์ แปซิฟิค
"เราไม่ห่วงเรื่องการเงินเพราะว่ามี EQUITY BASE มากปัญหาจะอยู่ที่การตลาดที่ยังต้องเสี่ยง
ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา"
จากนี้ไป เฟิสท์ แปซิฟิค ก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยสไตล์ที่รุกไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
มีฐานการเงินที่แน่นหนา และแนวความคิดใหม่ ๆ ซึ่งเป็นสไตล์ของกลุ่มนี้ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของการก้าวไปพร้อม
ๆ กับการเติบโตของธุรกิจนี้ย่อมมีวินัยเป็นตัวจักรสำคัญอยู่ด้วย
"ผมชอบที่นี่สนุกดี ได้ทำอย่างที่ชอบเรื่องการลงทุนแล้วก็มีทุนสนับสนุนพอสมควร"