SCC ปีนี้โตหลุดเป้า 5% เหตุต้นทุนการดำเนินงานพุ่ง และค่าบาทแข็ง ส่งผลต่อทุกกลุ่มธุรกิจกำไรทรุด ขณะที่ Q3 มีกำไรจากขายหุ้น ATC เกือบ 2 พันล้านพยุงกำไรจากผลการดำเนินงานทรุด 33% ขณะที่ปริมาณการใช้ปูน 9 เดือนปีนี้วูบ 6 % ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ยันไม่ปรับราคาปูนชี้ดีมานด์ต่ำและขณะนี้ขายที่ราคาดีสเคาท์ คาดปีหน้ายอดขายปูนจะกระเตื้อง จากความต้องการที่อยู่อาศัยและดอกเบี้ยจูงใจ พร้อมลุย INNOVATIONช่วยเพิ่มรายได้ช่วงขาลง
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) แจ้งว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ สิ้นสุด 30 กันยายน 2550 ว่าผลกำไรสุทธิ 7,550 ล้านบาทลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รวมกำไรสุทธิจากการขายเงินลงทุน บมจ.อะโรเมติกส์(ประเทศไทย) ที่มี 1,920 ล้านบาท ซึ่งเครือมีกำไรจากการดำเนินงาน 5,630 ล้านบาท ลดลง 33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ EBITDA11,606 ล้านบาท ลดลง 29%
นอกจากนี้ ค่าเงินยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน โดย 9 เดือนแรกปีนี้บริษัทฯขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 2.8 พันล้านบาท หรือเฉลี่ยไตรมาสละ 900 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะมีตัวเลขขาดทุนจากค่าเงินทั้งสิ้น 3, 500 บาท
ทั้งนี้ การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นจะเป็นเนเจอรัล เฮดจ์ โดยบริษัทฯจะมีการนำเข้าสินค้าเครื่องจักรและวัตถุดิบคิดเป็นมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยอดส่งออกสินค้ารวม 8 หมื่นล้านบาท ทำให้มีความเสี่ยงอยู่ 3 หมื่นล้านบาทหรือประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
" เราคงโตไม่ได้ตามเป้า 5% เพราะ9 เดือนพบว่าโตเพียง 1.3% เท่านั้น จากปัจจัยหลายอย่าง เพราะราคาวัตถุดิบและค่าเงินที่ส่งผล และเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ขณะที่ราคาปูนซิเมนต์ก็ปรับขึ้นไม่ได้ เนื่องจากดีมานด์ในตลาดมีน้อยและปัจจุบันเราขายในราคาดิสเค้าท์ " นายกานต์กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้หันมาลดต้นทุนพลังงาน ด้วยการทุ่มงบ 3,400 ล้านบาท ติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ จากความร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่โรงงานปูนซีเมนต์ และจะใช้เวลาติดตั้งเครื่องจักรที่โรงงานประมาณ 20 เดือน คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ภายในครึ่งปีหลังของปี 2552 หลังจากก่อนหน้าได้ลงทุนติดตั้งมาแล้วที่โรงงานทั้งในไทยและกัมพูชา ซึ่งจะดำเนินการได้ปลายปี 2551 โดยบริษัทใช้งบเพื่อลดต้นทุนปีก่อน 2,450 ล้านบาท และปีนี้ใช้ 3,400 ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายจะใช้งบ 2 หมื่นล้านบาทใน 2-3 ปีข้างหน้า
ปริมาณใช้ปูนซีเมนต์ต่ำสุดรอบ10ปี
นายกานต์ กล่าวว่า จากปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้พบว่าลดลง 6.1% เชื่อว่าทั้งปีปริมาณการใช้ปูนอาจลดลงประมาณ 8% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยปี 2539 ปริมาณใช้ในไทยอยู่ที่ 36 ล้านตัน ทำให้ผู้ประกอบการหันมขยายกำลังการผลิตถึง 50 ล้านตัน แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ปริมาณการใช้ปูนลดลงเหลือเพียง 18 ล้านตัน หลังจากนั้นค่อยๆปรับเพิ่มขึ้น จนปี 2548 ปริมาณการใช้ปูนอยู่ที่ 28-29 ล้านตัน/ปี และในปี 2549 พบว่าปริมาณการใช้ปูนลดลงมา 2% และปีนี้เชื่อว่าการใช้ปูนอยู่ที่ 28 ล้านตัน
ทั้งนี้ เชื่อว่าปริมาณใช้ปูนปีนี้น่าจะต่ำสุดแล้ว โดยในปีหน้าการใช้ปูนน่าจะดีกว่าปีนี้ หลังจากสำรวจพบว่าความต้องการที่อยู่อาศัยราคา 1-2 ล้านบาท ยังมีอยู่ และอัตราดอกเบี้ยต่ำ หากประชาชนมีความเชื่อมั่นก็จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3สายในปีหน้า จะยังไม่มีการใช้ปูนมากนัก เนื่องจากเป็นช่วงBidding Process เช่น การออกแบบ การประมูลงาน ฯลฯ กว่าจะมีการใช้ปูนจริงก็คงเป็นปี 2552 ดังนั้น ตัวแปรที่จะช่วยให้เศรษฐกิจในปีหน้าขยายตัว รัฐต้องกระตุ้นรากหญ้า ขณะที่เศรษฐกิจของอาเซียนปีหน้าจะยังดีอยู่ ซึ่งโชคดีที่บริษัทได้มีการส่งออกไปประเทศที่เติบโตเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน ปริมาณการใช้ปูนจะอยู่ใน 3 กลุ่มธุรกิจใหญ่ คือบ้าน ถือว่ามีการใช้สูง 53%ของยอดใช้ทั้งหมด รองลงมา คอมเมอเชียล เช่น ศูนย์การค้า คลังสินค้าและออฟฟิศ บิลดิ้ง ใช้ปูนคงที่อยู่ 18% และ โครงสร้างพื้นฐาน มีการใช้ปูนลดลงเหลือ 28-29%จากปีที่แล้วอยู่ที่ 32% ของการใช้ทั้งหมด ซึ่งในช่วงก่อนวิกฤติมีการใช้ปูนในเซคเตอร์นี้ถึง 50%
INNOVATIONช่วยเพิ่มรายได้ช่วงขาลง
นายกานต์ กล่าวต่อไปว่า จากการที่บริษัทฯให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนา(R&D) และนวัตกรรม(INNOVATION) ส่งผลสินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งในช่วงที่ราคาสินค้าทั่วไปอ่อนตัวลง พบว่าสินค้าที่มีมูลค่าสูงจะช่วยทำให้ยอดขายและมาร์จินของบริษัทฯเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มนั้นมากกว่า 15%ของยอดขาย เพิ่มขึ้นจาก 3ปีที่แล้วที่มีอัตราเพียง 7-8%ของยอดขาย
นายกานต์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่อยากฝากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาเร่งโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความจำเป็น ไม่ใช่ประเด็นหาเสียงอีกต่อไป เพราะ 10ปีที่ผ่านมา โครงการขนาดใหญ่แทบไม่มีเกิดขึ้นในไทย เว้นแต่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ พบว่า ภาคการก่อสร้างคิดเป็น 20%ของจีดีพี แต่ปัจจุบันภาคการก่อสร้างลดลงเหลือแค่ 9%ของจีดีพี ทั้งๆที่ภาคการก่อสร้างเป็นตัวคูณเศรษฐกิจที่สูงที่สุด เช่นการสร้างรถไฟฟ้าจะทำให้เกิดภาคอสังหาริมทรัพย์ตามเส้นทางรถไฟฟ้า และการใช้สินค้าอื่นๆตามมา
นอกจากนี้ ไทยมีการส่งออกสินค้ามากขึ้นทำให้มีโวลุ่มการขนส่งเติบโตขึ้นกว่า 3 เท่า ซึ่งจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้ามารีวิวระบบรางใหม่เพื่อให้ระบบลอจิสติกส์ประสิทธิภาพสูงสุด
อย่างไรก็ดี บริษัทได้หันมาลุยธุรกิจโลจิสติกส์ อย่างจริงจัง ด้วยการให้ บริษัท เอส ซี จี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เพื่อช่วยในการขนส่งของเครือ ซึ่งบริษัทนี้ทำรายได้เกือบ 1 หมื่นล้านบาท และแนวโน้มสดใส
|