Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2533
มานูเอล ปังกิลินัน พยัคฆ์หนุ่มแห่งเฟิสท์ แปซิฟิค             
 


   
search resources

เฟิร์สท์ แปซิฟิค กรุ๊ป
มานูเอล ปังกิลินัน




เช้าวันหนึ่งของปี 1979 บนตึกที่ทำการของอเมริกันเอ็กซ์เพรสในฮ่องกง มานูเอลปังกิลินัน ผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจวัย 33 ปีของอเมริกันเอ็กซ์เพรส มีนัดหมายกับแอนโทนี่ ซาลิม บุตรชายของมหาเศรษฐีชาวอินโดนีเซีย โซโดโนซาลิม หรือในอีกชื่อหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันมากกว่าชื่อแรก-ลิมซูเลียง

ทั้งสองฝ่ายพบปะกันมาหลายครั้งแล้ว ในเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนของลิมซูเลียง สี่ในห้าโครงการที่เป็นลูกค้าของอเมริกันเอ็กซ์เพรส ซึ่งปังกิลินันมีหน้าที่ดูแลอยู่นั้น เป็นโครงการของลิมซูเลียงในฮ่องกง แต่เรื่องที่ทั้งคู่คุยกันในเช้าวันนั้นไม่ใช่เรื่องการลงทุนเหมือนครั้งก่อน ๆ แอนโทนี่ ซาลิมกำลังทาบทามปังกิลินันให้ไปร่วมในอาณาจักรธุรกิจของตน

ปังกิลินันเป็นคนฟิลิปปินส์เป็นลูกชายของนายธนาคารตัวเขาเองก็โลดแล่นอยู่ในวงการการเงินการธนาคารเป็นเวลาถึง 10 ปี จาก BANCOM DEVELOPMENT CORPORATION ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกกิจการวาณิชธนกิจในฟิลิปปินส์ แล้วมาทำงานกับอเมริกัน เอ็กซ์เพรสที่ฮ่องกง

การมีโอกาสเข้าไปร่วมในธุรกิจที่ต่างไปจากสิ่งที่เขากำลังทำอยู่คือ ความท้าทายความแปลกใหม่ที่ทำให้ปังกิลินันตัดสินใจกระโดดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในอาณาจักรของลิมซูเลียง

นั่นเป็นจุดเริ่มแรกเมื่อสิบปีก่อน เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกลุ่มเฟิสท์ แปซิฟิคที่มีลิมซูเลียงเป็นฐานทางเงินและมีปังกิลินันเป็นหัวหอกทางด้านการจัดการ ปัจจุบันเฟิสท์แปซิฟิคมีบริษัทในเครือถึง 75 บริษัทกระจายกันอยู่ทั่วโลกยอดขายเมื่อสิ้นปี 2532 มีจำนวน 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากทุนจดทะเบียนรวม 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง 58% เป็นสัดส่วนในมือของลิมซูเลียง

เฟิสท์ แปซิฟิคกำหนดธุรกิจหลักของตัวเองไว้สี่ประเภทคือ ธุรกิจการเงิน ธุรกิจการลงทุนและค้าหลักทรัพย์ ธุรกิจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการตลาดและตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค

ยุทธวิธีในการบุกเข้าไปในธุรกิจแต่ละแขนงดำเนินไปภายใต้ท่วงทำนองที่ก้าวร้าวรวดเร็วตัดสินใจฉับพลัน กล้าได้กล้าเสีย ในรูปแบบของการเข้าไปซื้อกิจการบริษัทอื่น หลาย ๆ แห่งเฟิสท์ แปซิฟิคซื้อมาเพื่อจะขายไป บางแห่งซื้อมาแล้วทำากรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารแล้วดำเนินกิจการต่อไปและอีกหลาย ๆ แห่งเป็นการลงทุนร่วม

ด้วยสไตล์ที่ก้าวร้าว บุกไปข้างหน้าอย่างไมหยุดยั้งเช่นนี้ เฟิสท์ แปซิฟิค ได้ชื่อว่า เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตสูงที่สุดกลุ่มหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคนี้ สไตล์ของการทำธุรกิจย่อมเป็นภาพสะท้อนของบุคลิกผู้บริหารที่ประกอบไปด้วยคนหนุ่ม ซึ่งติดอาวุธความคิดด้วยความรู้และโลกทัศน์การจัดการธุรกิจสมัยใหม่

ปังกิลินันคือแกนกลางของการบริหารแบบนี้ในฐานกรรมการผู้จัดการของกลุ่มเฟิสท์ แปซิฟิค

เฟิสท์ แปซิฟิคมีการลงทุนในเมืองไทยแบ่งออกเป็น 6 บริษัทด้วยกันคือ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ดำเนินกิจการค้าหลักทรัพย์ในนามเอเซีย แปซิฟิค ซีเคียวริตี้ โบรกเกอร์เบอร์ 34 ในตลาดที่ประมูลซื้อเก้าอี้มาด้วยเงิน 55.5 ล้านบาทเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้วลงทุนในธุรกิจที่ดินแลพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในนามบริาทเฟิสท์ แปซิฟิค เดวี่ส์, เฟิสท์ แปซิฟิค แลนด์ และเฟิสท์ แปซิฟิค พร็อพเพอร์ตี้ แมนเนจเมนท์ ทั้งสามบริษัท เพิ่งเปิดตัว อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคมที่แล้ว แต่สองบริษัทแรกนั้นเข้ามาลงทุนตั้งแต่เมื่อสองปีที่แล้ว

กิจการที่ยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการคือ การเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัท ไทย อาร์ เอฟ เอ็ม ซึ่งเป็นกิจการโรงฆ่าสัตว์และแปรรูปเนื้อสัตว์เพื่อส่งออกจากกลุ่มของณรงค์ วงศ์วรรณ

"เรากำลังสนใจกิจการด้านโทรคมนาคในประเทศไทย เพราะเป็นธุรกิจที่มีอนาคตมาก" ปังกิลินันเปิดเผยถึงก้าวต่อไปของการลงทุนในประเทศไทย

ปังกิลินันเดินทางมาไทยครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่แล้ว ภารกิจที่เปิดเผยในการมาครั้งนี้คือ การเข้าร่วมประชุมประจำปีของผู้ถือหุ้นเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และการเปิดตัวของสามบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์

ตัวตนของเฟิสท์ แปซิฟิคเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในไทยเป็นครั้งแรกก็ด้วยการเข้ามาถือหุ้นในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2530 จำนวน 25% จากการที่ได้เป็นเจ้าของเฮกเกอร์ไมเยอร์ในตลาดหุ้นอัมสเตอร์ดัม ซึ่งถือหุ้นของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์มาตั้งแต่ปี 2514

หลังจากนั้นเฟิสท์ แปซิฟิคก็กว้านซื้อหุ้นเพิ่มสัดส่วนความเป็นเจ้าของในเบอร์ลี่ฯ ขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดไปแล้ว

"เรามีหุ้นในเบอร์ลี่ฯ 38% ในนามของฮอลแลนด์ แปซิฟิค" ปังกิลินันพูดถึงสถานะของเฟิสท์ แปซิฟิค ในเบอร์ลี่ แต่เชื่อกันว่า เฟิสท์ แปซิฟิค มีหุ้นมากกว่านั้น โดยถือในนามของมัลติเพอร์โพส เทรดดิ้ง อีก 13 เปอร์เซ็นต์

เฟิสท์ แปซิฟิคมีหุ้นในมัลติเพอร์โพส 49% อีก 51% เป็นหุ้นของบริษัทบีเคเอส และทนายความอีก 5 คน ของเบเกอร์แมคเคนซี่ ซึ่งว่ากันว่าถือไว้แทนเฟิสท์ แปซิฟิคเพื่อให้มัลติเพอร์โพสมีสัญชาติไทยตามกฎหมาย

รวมหุ้นของฮอลแลนด์แปซิฟิคและมัลติเพอร์โพสแล้วทั้งสองบริษัทนี้ถือหุ้นเบอร์ลี่ฯ อยู่ถึง 51%

"เราไม่ได้ต้องการเทคโอเวอร์การบริหารเบอร์ลี่ จากผู้บริหารเดิม" ปังกิลินันปฏิเสธข้อสังเกตที่ว่าเฟิสท์ แปซิฟิคกว้านซื้อหุ้นเพื่อเตรียมการยึดอำนาจการบริหารในเบอร์ลี่ฯ "การซื้อหุ้นของเราเป็นการลงทุนเพิ่มเท่านั้น"

ปังกิลินันยืนยันว่า นโยบายการทำธุรกิจในประเทศไทยของเฟิสท์ แปซิฟิคไม่ต่างจากการลงทุนในประเทศอื่นคือ นโยบายการบริหารโดยคนท้องถิ่น หรือที่เขาเรียกว่า "LOCALIZED MANAGEMENT"

"เราเชื่ออย่างมั่นคงว่าบริษัทท้องถิ่นอย่างเช่นเบอร์ลี่ยุคเกอร์นั้น ควรจะบริหารโดยเจ้าของ ซึ่งเป็นคนในประเทศนั้น แนวคิดของเราก็คือ ไม่มีทางที่จะบริหารงานบริษัทในฟิลิปินส์ หรือมาเลเซียหรือประเทศไทย จากสำนักงานของเราในฮ่องกงได้ แต่ต้องเป็นการบริหารโดยคนท้องถิ่นเอง"

ปังกิลินันยอมรับว่าสไตล์ของเฟิสท์ แปซิฟิคกับเบอร์ลี่ยุคเกอร์ที่อนุรักษนิยมนั้นเป็นความแตกต่างที่มีอยู่จริง ซึ่งเขาเห็นว่าเบอร์ลี่ฯ จะต้องเปลี่ยนเพื่อเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว

"เราไม่พยายามที่จะยัดเยียดสไตล์การบริหารงานของเราให้กับบริษัทที่เราไปร่วมลงทุนด้วย สไตล์ของเรานั้นมีประโยชน์ในแง่การมองไปข้างหน้า AGGRESSIVE เป็นสไตล์ที่เปิดกว้าง เราอยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลงสไตล์การบริหารเฉพาะบริษัทที่มีอายุ ความเป็นมาน้อยกว่าเบอร์ลี่ฯเท่านั้น"

สำหรับเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ที่มีอายุ 100 กว่าปี มีการดำเนินงานแบบอนุรักษนิยม สิ่งที่ปังกิลินันจะทำได้ก็คือ การผสานของสไตล์นี้เข้าด้วยกัน ประสมความเก่าเข้ากับความใหม่ ความเป็นท้องถิ่นเข้ากับความเป็นสากล

"เป็นความพยายามของเราส่วนหนึ่ง แต่ต้องยกให้เป็นความสำเร็จของทีมผู้บริหาร" ปังกิลินันไม่ยอมรับตรง ๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงของเบอร์ลี่ยุคเกอร์ในสองปีมานี้เป็นการผลักดันจากทางเฟิสท์ แปซิฟิค

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นคือ การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในคณะกรรมการ มีคนหนุ่มหน้าใหม่ ๆ เข้าไปเป็นกรรมการมากขึ้น แต่คนใหม่ ๆ นี้กลับเป็นคนจากฝ่ายเฟิสท์แปซิฟิคเองเกือบทั้งหมด ซึ่งขณะนี้เฟิสท์ แปซิฟิคมีกรรมการอยู่ 5 คน รวมทั้งตัวปังกิลินันด้วยจากจำนวนกรรมการทั้งหมด 15 คน

และการเปลี่ยนแปลงที่ปังกิลินันเห็นว่าเป็นแนวโน้มที่ดีก็คือการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการจากเอ็ดการ์ โรเดล ซึ่งเกษียณอายุมาเป็น ดร.อดุล อมตวิวัฒน์ ที่มีการรับรองอย่างเป็นทางการในการประชุมผู้ถือหุ้นคราวนี้

ถึงแม้ ดร.อดุล จะเป็นลูกหม้อคนหนึ่งของเบอร์ลี่ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นเลือดใหม่ในทีมบริหารและได้เข้าเป็นกรรมการแทนชิงชัย มะโนทัย ซึ่งเป็นกรรมการมา 22 ปีแล้ว อีกคนหนึ่งที่เข้ามาใหม่คือ ประชา คุณะเกษมจากกระทรวงการต่างประเทศ

"เป็นมิติใหม่ของการบริหารงาน" ปังกิลินันกล่าว

เฟิสท์ แปซิฟิคมีคนของตัวเองร่วมอยู่ในทีมบริหารสูงสุดจำนวน 5 คน คือ สต๊วต เดวี่ส์ ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารทางด้านการเงินของเฟิสท์ แปซิฟิคที่ฮ่องกงและเข้ามารับตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ทางด้านการเงินของเบอร์ลี่ยุคเกอร์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

"ไม่ใช่เข้ามาควบคุมการบริหาร แต่เป็นส่วนหนึ่งของการอัดฉีดเลือดใหม่เข้าไปในเบอร์ลี่และคอยเสนอแนวการลงทุนใหม่ ๆ ให้กับคณะกรรมการ" ปังกิลินันเปิดเผย

การเปลี่ยนแปลงประการสุดท้ายของเบอร์ลี่ในยุคที่เฟิสท์แปซิฟิคเข้าถือหุ้นใหญ่คือ การขยายการลงทุนเข้าไปในกิจการอื่น ๆ เช่น การเข้าไปถือหุ้น 80% ในบริษํทบางกอกสแกนเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าหัตถกรรมกับบริษัททรอปิวู้ด ซึ่งผลิตและส่งออกเครื่องครัวที่ทำจากไม้การทำธุรกิจฟาร์มกุ้งที่จันทบุรี รวมทั้งโครงการตั้งโรงงานผลิตเหล็กและโรงงานผลิตอาหารทะเลสำเร็จรูป

ผลประกอบการปี 2532 ของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์นั้นนับว่าดีมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รายได้เพิ่มขึ้น 18% จาก 2,735 ล้านในปี 2531 เป็น 3,157 ล้านในปีนี้ ในขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มจาก 81 ล้านเป็น 120 ล้านบาท

"เราแฮปปี้กับผลตอบแทนจากการลงทุนในขณะนี้มากและเราเชื่อมั่นในอนาคตของการลงทุนในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์" วาทะก่อนจากของปังกิลินันเสมือนเป็นสัญญาณว่า ตราบใดที่ผู้บิรหารเดิมของเบอร์ลี่ ยคุเกอร์ยังรับฟัง โอนอ่อนผ่อนตามเฟิสท์ แปซิฟิค และตราบใดที่ดอกผลจากการบริหารงานของเบอร์ลี่ยังเป็นที่พออกพอใจอยู่ คลื่นลมในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ก็ยังคงสงบราบเรียบต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us