ตลาดหุ้นนอกตลาด หรือ OTC MARKET คึกคักและขยายตัวเอามาก ๆ ในระยะ 1-2 ปี
ที่ผ่านมาตามการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ แต่จวบจนปัจจุบัน ยังไม่มีกฎระเบียบใด
ๆ ออกมาควบคุมตลาดประเภทนี้ มีนักลงทุน "แมงเม่า" จำนวนมากที่ร่ำรวยและล้มเหลวจากหุ้นนอกตลาด
ทั้งที่อาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าตัวเองกำลังเสี่ยงเอามาก ๆ สมาคมโบรกเกอร์พยายามที่จะจัดตั้งตลาด
OTC ให้เป็นระบบแบบ NADAQ ในสหรัฐฯ นั่นจะเป็นความหวังของนักลงทุนได้มากน้อยเพียงใด
???
ใครบ้างไม่อยากรวย ?
หนทางรวยเร็ว ๆ ของคนในยุคนี้ โดยเฉพาะพวกคนชั้นกลางทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนเห็นจะมีอยู่เพียง
2 ทางเท่านั้น ถ้าไม่ค้าหุ้นก็ต้องค้าที่ดิน ซึ่งนอกจากจะรวยเร็ว ๆ ได้แล้ว
ก็ยังเจ๊งได้เร็วเหมือนกัน !
การค้าที่ดินนั้นต้องใช้ทุนมากกว่าเมื่อเทียบกับการค้าหุ้น พวกที่ค้าหุ้นจึงมีมากกว่าค้าที่ดินมาก
นั่นหมายความว่ามีพวกที่ทุนน้อยเบี้ยน้อยอยู่เป็นจำนวนมาก และวิธีการลงทุนที่ถูกสำหรับคนเหล่านี้
คือ การใช้ทุนน้อยแต่ให้ผลกำไรสูง ซึ่งมันก็ไม่มีวิธีไหนที่ไม่เสี่ยง ถ้าไม่เสี่ยงก็ไม่รวย
ในเมื่ออยากรวยแล้วจะกลัวเสี่ยงทำไม ??
นี่เป็นวิธีคิดและการให้เหตุผลซึ่งจริง ๆ แล้วก็คือ เหตุจูงใจของนักเล่นหุ้นที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วไป
ทุกคนรู้ว่าการเล่นหุ้นเป็นการเสี่ยงอย่างหนึ่ง และก็ยินดีที่จะเสี่ยง คำตอบง่าย
ๆ คือ อยากรวยเร็ว ๆ ด้วย !!
บรรดานักเล่นหุ้นทุกคนที่เคย "ได้ - เสีย" ในตลาดหลักทรัพย์มาแล้วเริ่มหันเหออกมาเล่น
"หุ้นนอกตลาด" กันมากขึ้น หลายคนให้เหตุผลว่าได้รับผลตอบแทนดีกว่า
อีกหลายคนบอกว่าซื้อง่าย - ขายคล่องกว่ากันเยอะ มีคนรวยและคนถูกหลอกจากตลาดนี้ไปมากต่อมาก
ไม่มีกฎหมายคุ้มครองนักเล่นหุ้นนอกตลาด ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์เองก็ไม่สามารถเอื้อมมือไปให้ความคุ้มครองพวกเขาได้เช่นกัน
คนเหล่านี้เสี่ยงเพราะอะไร เป็นเหตุผลที่รู้ ๆ กันอยู่ ความเสี่ยงและความอยากรวยของคนเหล่านี้เป็นความผิดหรือเป็นสิ่งที่ควรว่ากล่าวประณามหรือ
?
ในตลาดหลักทรัพย์สำคัญ ๆ ของโลกทุกแห่งจะมีตลาดหุ้นนอกตลาดหรือที่เรียกว่า
OVER THE COUNTER (OTC) ควบคู่อยู่ด้วยเสมอ เช่น ในสหรัฐฯ มีสมาคมผู้ค้าหลักทรัพย์แห่งชาติ
ซึ่งต่อมามีระบบการโค้ดราคาโดยอัตโนมัติ และใช้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า NATIONAL
ASSOCIATION OF SECURITIES DEALERS AUTOMATED QUOTATION SYSTEM หรือเรียกสั้น
ๆ ว่า NASDAQ มีการจัดระบบการค้าหุ้นนอกตลาดอย่างเป็นระเบียบ และมีดัชนีหุ้นนอกตลาดด้วย
ส่วนในโตเกียวก็มีการค้าหุ้นนอกตลาด ซึ่งใช้ชื่อว่า OVER THE COUNTER MARKET
AUTOMATED QUOTATION SYSTEM
ตลาดหุ้นนอกตลาดเหล่านี้คึกคักและมีส่วนช่วยทำให้การซื้อขายหุ้นซึ่งมิได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดมีความคล่องตัวสะดวกขึ้นอย่างมาก
ในบางแห่งตลาดหุ้นนอกตลาดเป็นแหล่งที่ช่วยให้บริษัทที่มีอนาคตดี แต่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้
สามารถระดมทุนเพื่อมาขยายกิจการได้ เช่น ที่ STOCK EXCHANGE OF SINGAPORE
DEALING AND AUTOMATED QUOTATION หรือ SESDAQ ซึ่งหากเทียบเคียงกันแล้ว จะคล้ายหุ้นระดานสองของตลาดหลักทรัพย์ไทยมากกว่า
อย่างไรก็ดี กล่าวสำหรับตลาดหุ้นนอกตลาดในเมืองไทยแล้ว ผู้ที่ริเริ่มขึ้นก่อนเป็นรายแรก
คือ บริษัทหลักทรัพย์ไทยค้าจำกัด โดยเริ่มตั้งกระดานหุ้นนอกตลาดอย่างเป็นกิจจะลักษณะในปลายปี
2518
รัมภา ดิษาภิรมย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจนายหน้าหลักทรัพย์แห่งไทยค้า
เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า จริง ๆ แล้วทางไทยค้าเริ่มโดยการทำตลาดรองให้กับทิสโก้
"ในช่วงนั้นทิสโก้มีหุ้นที่ขายให้กับประชาชนทั่วไป (PULIC OFFERING)
เยอะมาก แล้วก็ยังไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงมีการคิดกันว่าทำอย่างไรจะให้บริการแก้ลูกค้าที่ซื้อหุ้นกับเรา
และเกิดต้องการใช้เงินขึ้นมา เราจึงตั้งตัวเป็นศูนย์กลาง ใครต้องการซื้อหรือขายเราจะติดตอจัดการให้
เพราะเราเป็นนายหน้าอยู่แล้ว"
ไทยค้าซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีใบอนุญาตเพียงใบเดียว คือ เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัย์ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตใหม่เพื่อทำหุ้นนอกตลาด
รัมภาบอกว่า "มันไม่มีกฎระเบียบอะไรในขณะนั้น แม้แต่ปัจจุบันก็ไม่มี
เราเพียงแต่ดูให้ไม่ขัดกับกฎระเบียบที่แบงก์ชาติควบคุมอยู่เท่านั้น"
กระดานโอทีซีที่ไทยค้ามีความคึกคักอยู่เป็นระยะ ๆ ตามสภาพการขึ้นลงของตลาดหลักทรัพย์
โดยเฉพาะในช่วงที่มีบริษัทยื่นขอเข้าจดทะเบียนเป็นจำนวนมากระหว่างปี 2520-2521
และปี 2530 เรื่อยมา รัมภา กล่าวว่า "ช่วงที่มีหุ้นซื้อขายมาก คือ ช่วงที่มีหุ้นใกล้จะเข้าตลาดมาก
และมีใบหุ้นออกมาแล้วด้วย"
อย่างไรก็ตาม ปริมาณการซื้อขายหุ้นนอกตลาดของไทยค้า "ดูแล้วอาจจะไม่มากมายนัก"
เรื่องนี้รัมภาเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "สาเหตุก็เพราะเรามีกฎระเบียบของเราเอง
คือ ถ้าไม่มีใบหุ้นนี่เราไม่ทำ และเราเองต้องรู้ข้อมูลเพียงพอด้วย"
ในเรื่องระเบียบวิธีการซื้อขายหุ้นนอกตลาดของไทยค้า ทักขพล มาโนชญังกูร
เจ้าหน้าที่อาวุโส - การตลาดในประเทศ กล่าวเสริมว่า "เรามีระเบียบให้ลูกค้าทำด้วย
คือ ในด้านของคนขาย เราต้องได้รับใบหุ้นเข้ามาเรียบร้อยก่อนและต้องทำการพิสูจน์ก่อนว่า
ใบหุ้นมีปัญหาตรงไหนหรือไม่ เช่น ลายเซ็นถูกต้องไหม ใบหุ้นมีการแจ้งจำนำหรือเปล่า
หรือมีการแจ้งสูญหายไหม ใบหุ้นยกเลิกไปแล้วยัง ต้องมีการตรวจความถูกต้องตรงจุดนี้ก่อน"
เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้ว การซื้อขายหุ้นนอกตลาดก็ยังไม่เริ่ม ทักขพล เล่าว่า
"เราต้องทำทางด้านผู้ซื้อด้วย คือ เมื่อผู้ซื้อแจ้งยืนยันว่าจะซื้อ
เราก็จะไปรับเช็คของเขามา เพื่อที่จะเข้าบัญชีให้เรียบร้อยก่อน เมื่อกระบวนการทั้งสองอย่างเรียบร้อย
เราจึงจะทำรายการให้ และโอทีซีจึงจะเกิดตรงจุดนี้"
แต่กระบวนการซื้อขายหุ้นนอกตลาดยังไม่จบเพียงเท่านี้ ทักขพล กล่าวว่า "เรามีน้าที่ต่อไปในการโอนหุ้นให้ผู้ซื้อด้วย
ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องดูหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทนั้น ๆ ด้วยว่า มีกฎเกณฑ์อย่างไร
เพราะวิธีปฏิบัติของนายทะเบียนแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน บางแห่งจะเข้มงวดมากว่าต้องมีคู่สมรสเซ็นเป็นพยานด้วย
ซึ่งเราก็ต้องดูระเบียบของเขาแล้วทำให้ถูกต้องสมบูรณ์"
ในเรื่องหนังสือบริคณห์สนธิที่กำหนดเกี่ยวกับการถือหุ้นนี้ เป็นระเบียบสำคัญประการหนึ่งของการซื้อขายหุ้นนอกตลาดที่ไม่มีเป้าหมายจะเข้าตลาดหลักทรัพย์เลย
เช่น หุ้นบุญรอดบริวเวอรี่ รัมภากล่าวว่า "หุ้นตัวนี้มีแต่คำสั่งซื้ออย่างเดียว
เป็นหุ้นที่หายากมาก รายการซื้อขายครั้งสุดท้ายที่ไทยค้าทำ คือ เดือนกรกฎาคม
2528 ในราคา 85,000 บาท ปัจจุบันมีแต่คำสั่งเสนอซื้อในราคา 170,000 บาท การซื้อหุ้นตัวนี้
ถึงแม้ผู้ซื้อจะซื้อได้แล้ว แต่ยังถือไว้เป็นกรรมสิทธิ์ไม่ได้ในทันทีเพราะต้องมีการนำชื่อเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ
ว่า จะอนุมัติให้โอนหุ้นแก่ผู้ซื้อรายนี้หรือไม่ หากไม่อนุมัติ เราก็ทำอะไรไม่ได้
และต้องขอคืนเงินผู้ซื้อไป เพราะผู้ซื้อถือไว้ก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ได้ครอบครอง
ซึ่งกฎเกณฑ์พิเศษเหล่าเราก็จะบอกให้ลูกค้าทราบก่อน"
จรวยพร ศุภนุกูลสมัย เจ้าหน้าที่หลักทรัพย์ ซึ่งรับผิดชอบการรับออเดอร์หุ้นนอกตลาดของไทยค้าในเวลานี้
กล่าวเสริมว่า "อีกตัวหนึ่งที่คล้าย ๆ กัน คือ บริษัทกรุงเทพผลิตเหล็กอันนี้ซื้อขายในหมู่ผู้ถือหุ้นดั้งเดิมเท่านั้นจึงจะโอนได้
คนที่เสนอซื้อเอาไว้นี่ก็เป็นผู้ถือหุ้นเดิมเท่านั้น คนอื่นซื้อไปก็ไม่มีประโยชน์
เพราะโอนไม่ได้"
การสร้างกฎระเบียบที่รัดกุมในการซื้อขายหุ้นนอกตลาดทำให้ไทยค้าได้รับความวางใจเชื่อถือจากนักลงทุน
คือ ซื้อขายหุ้นที่นี่ ไม่มีถูกเบี้ยวถูกหลอกเป็นแน่
แต่ระเบียบนี้ก็เป็นสิ่งกีดขวางการโตของตลาดหุ้นนอกตลาดระดับหนึ่ง นอกเหนือไปจากปัญหาเรื่องความยุ่งยากเยิ่นเย้อของกระบวนการซื้อขาย
ซึ่งต้องมีการตรวจสอบใบหุ้นกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงการมีข้อมูลที่เพียบพร้อมเกี่ยวกับหุ้นตัวนั้น
ๆ และอีกปมปัญหาใหญ่ คือ ความสนใจที่จะจัดตั้งตลาดหุ้นนอกตลาด และคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์
(SEC) ซึ่งจะมาดูแลตลาดทุนทั้งหมด
ทักขพล กล่าวว่า "แม้ในระยะหลังคุณจะเห็นตลาดโอทีซีบูมมาก เพราะว่าหุ้นใหม่ที่จะเข้าตลาดนี่ราคามันโอเวอร์ไปตั้งเยอะแยะก่อนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์
แต่อย่างของเรานี่ปริมาณ (VOLUME) เราไม่ค่อยสูง เพราะว่าเรามีกฎเกณฑ์ในการควบคุมอย่างรัดกุม
และเรารับแต่ใบหุ้น เราไม่รับใบจอง"
ด้วยเหตุนี้ โอทีซีที่ไทยค้าจึงไม่ได้ทำรายได้ให้กับไทยค้ามากมายนัก เพราะตลาดที่นี่ไม่โต
แม้ว่าอัตราค่าคอมมิชชั่นของที่นี่จะไม่ถูกเลย เมื่อเทียบกับในตลาดหลักทรัพย์
จรวยพร กล่าวว่า "ค่าคอมมิชชั่นซื้อหรือขายเราคิด 0.5% ตรงนี้เหมือนในตลาดหลักทรัพย์
แต่ถ้าขายค่าใช้จ่ายจะมากขึ้น คือ ค่าอากร และค่าภาษีกำไรที่ได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์
(CAPITAL GAINS TAX) ซึ่งคิดตามอัตราภาษีก้าวหน้าโดยหัก ณ ที่จ่าย และยังค่าธรรมเนียมในส่วนของคำสั่งซื้อขายแต่ละครั้งที่มีมูลค่าไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท
คิด 75 บาท"
ทั้งนี้ ค่าภาษีกำไรฯ ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ยังไม่มีการเรียกเก็บ และค่าธรรมเนียมส่วนหลังนี่
ผู้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จะถูกเรียกเก็บเพียง 50 บาท ถูกกว่าการซื้อขายหุ้นนอกตลาดเอามาก
ๆ
ดู ๆ ไปแล้ว หุ้นนอกตลาดน่าจะกำไรดี แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นสำหรับไทยค้าซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นนอกตลาดของที่อื่น
ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ธนชาติ และสหธนกิจไทย ซึ่มีปริมาณหุ้นที่ขึ้นราคาบนกระดานหุ้นนอกตลาดหรือกระดาน
OTC น้อยกว่า และความเคลื่อนไหวของราคาก็ไม่คึกคักเท่าที่ไทยค้า
อย่างไรก็ดี หุ้นนอกตลาดไม่ได้มีความหมายจำกัดอยู่เฉพาะที่ซื้อขายกันในโบรกเกอร์
3 รายที่กล่าวมาเท่านั้น ณ ที่ใดก็ตามที่นาย ก. และนาย ข. ตกลงราคาทำการซื้อขายส่งมอบใบหุ้น
หรือกระทั่งใบจองหุ้นให้แก่กัน เมื่อนั้นตลาดนอกตลาดฯ หรือตลาด OTC เกิดขึ้นทันที
มีผู้กล่าวว่า การซื้อขายหุ้นนอกตลาดในสหรัฐฯ มีมากเสียยิ่งกว่าการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ก็เพราะการซื้อขายหุ้นใด ๆ ก็ตามที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นหุ้นนอกตลาดทั้งสิ้น
มีผู้ประมาณการว่าหุ้นที่ถูกซื้อขายในตลาด OTC แต่ละปี คิดเป็นหลายหมื่นตัว
เฉพาะตัวดัชนี NASDAQ ซึ่งเป็นดัชนีราคาหุ้นที่มีการซื้อขายกันในตลาด OTC
ในสหรัฐฯ นั้น ก็คำนวณขึ้นจากหุ้นที่มีการซื้อขายนอกตลาดกันหลายพันตัวในวันหนึ่ง
ๆ
สำหรับในเมืองไทย นอกเหนือจากกระดานนอกตลาดของไทยค้า ธนชาติ และสหธนกิจไทยแล้ว
ปรากฏว่ามีการซื้อขายหุ้นนอกตลาดที่ไม่รวมอยู่ในบริษัททั้งสามคึกคักกว่าหลายเท่าตัวนัก
หากคิดตัวเลขคร่าว ๆ จากข้อมูลของไทยค้าเป็นหลัก ซึ่งเมื่อสิ้นปี 2532 ไทยค้าทำการซื้อขายหุ้นนอกตลาดจำนวนทั้งสิ้น
475,139 หุ้นคิดเป็นมูลค่า 32,314996 บาท ในส่วนของธนชาติและสหธนกิจไทยนั้น
ปรากฏว่ามีการซื้อขายหุ้นนอกตลาดน้อยกว่าไทยค้าอย่างมาก โดยที่ธนชาติซื้อขายไม่เกิน
10 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา
แหล่งข่าวจากธนชาติให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ตลาดหุ้นนอกตลาดไม่ค่อยคึกคักสักเท่าไหร่
เพราะมันไม่มีแรงจูงใจมากเท่ากับในตลาดหลักทรัพย์โดยเฉพาะเมื่อผู้ขายต้องเสียภาษีกำไรที่ไดจากการขายหุ้น
ซึ่งผู้ขายต้องแจ้งต้นทุนการซื้อหุ้นที่แท้จริงและโดยส่วนมากมักไม่ค่อยยอมแจ้ง
และยังต้องเสียค่าคอมมิชชั่นอีก ส่วนทางผู้ซื้อนั้นก็ไม่ค่อยอยากซื้อหุ้นที่ไม่มีสภาพคล่องเหล่านี้
โดยส่วนมากลูกค้ามักโทรฯ เข้ามาถามราคาหุ้นที่ใกล้จะเข้าตลาดมากกว่า มีเป็นจำนวนมากที่แจ้งชื่อฝากไว้กับเราให้เราเป็นตัวกลาง
ซึ่งเราก็บริการให้ฟรี ในลักษณะนี้คิดเป็นมูลค่าที่เขาซื้อขายกันวันละหลายแสนบาท"
ในส่วนของสหธนกิจไทยนั้น ปรากฏว่าไม่ได้มีการเก็บตัวเลขมูลค่าและปริมาณการซื้อขายเอาไว้เลย
และนับแต่ที่สหธนกิจไทยมีการเลปี่ยนกฎระเบียบการซื้อขายหุ้นนอกตลาดเมื่อเร็วๆ
นี้ โดยขอข้อมูลหนังสือชี้ชวนหรืองบการเงินของหุ้นที่ต้องการฝากสขายเอาไว้ด้วย
เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ซื้อปรากฏว่ากระดานนอกตลาดของสหธนกิจไทยก็ซบเซาลงด้วยในทันที
อย่างไรก็ดี "ผู้จัดการ" ประเมินคร่าว ๆ ว่า ตลาดหุ้นนอกตลาดในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้งสามน่าจะมีมูลค่าไม่เกิน
60 ล้านบาท แต่หุ้นนอกตลาดที่ไม่รวมอยู่ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้งสาม
ซึ่งในบางแห่งก็เรียกตลาดนี้ว่า "ตลาดมืด" (GREY MARKET) นั้นมีมูลค่ามากกว่าหลายสิบเท่าตัว
ดูจากหุ้นม้าบิน (บริษัท สยามสหบริการ) ซึ่งมีการซื้อขายนอกตลาดตั้งแต่เมื่อต้นปี
2531 คาดว่ามีมูลค่าหุ้นที่หมุนเวียนอยู่ใน "ตลาดมืด" ไม่ต่ำกว่า
160-320 ล้านบาท ทั้งนี้คำนวณจากจำนวนหุ้นเพิ่มทุน 20 ล้านหุ้น นำออกขายในตลาดมืด
20% หรือ 4 ล้านหุ้นในราคาซื้อขายระหว่าง 40-80 บาท (ราคาพาร์ 10 บาท)
นี่เพียงแค่หุ้นตัวเดียว ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีการซื้อขายกันอยู่ แม้จะถูกปฏิเสธการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
ถึง 2 ครั้ง 2 คราก็ตาม
ส่วนหุ้นอีกเกือบ 50 ตัวที่มีการเปลี่ยนมือใน "ตลาดมืด" นั้นคาดว่ามีมูลค่าสักครึ่งหนึ่งของหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์แต่ละวันได้
!!!
"ตลาดมืด" ที่มีการบอกซื้อขายกันในทุกวันและหลายรายมีการลงประกาศตามหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน
เป็นตลาดหุ้นนอกตลาดที่คึกคักมากที่สุดในระยะกว่าปีที่ผ่านมา ตลาดประเภทนี้เป็นตลาดรองเหมือนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ
ซึ่งก็เป็นตลาดทุนประเภทหนึ่งด้วย
การซื้อขายหุ้นนอกตลาดเหล่านี้ไม่มีสถานที่กลางที่ทำการซื้อขายแน่นอนเหมือนกับในตลาดหลักทรัพย์
ไม่มีกฎระเบียบอะไรควบคุมได้ ราคาเป็นเรื่องที่ต่อรองกันเอง เสียค่าคอมมิชชั่นประหนึ่งกับเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
แต่แพงกว่าเท่าตัวหรือกว่านั้น ไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้จริง และหุ้นหลายตัวไม่มีข้อมูลเลยด้วยซ้ำ
หุ้นนอกตลาดเหล่านี้ ทำให้นักเล่นหุ้นสมัครเล่นเจ็บช้ำน้ำใจมาหลายรายแล้ว
แต่ก็ทำให้รวยเร็วทันตา เห็นมาหลายคนด้วยเหมือนกัน ความไม่แน่นอน คือ นิยามของหุ้นเหล่านี้
และข้อมูลที่มาพร้อมกับหุ้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเชื่อถืออย่างที่สุด
"ผู้จัดการ" เคยได้รับการสอบถามถึงหุ้นนอกตลาด "ตะวันออกฟายแน้นซ์"
ที่มีการซื้อขายกันอย่างคึกคักเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้ซื้อหุ้นตัวนี้
1,000 หุ้นในราคาหุ้นละ 8 บาท และขายไปในราคาหุ้นละ 10 บาทในเวลาอันรวดเร็ว
เขาซื้อและขายโดยไม่รู้ข้อมูลอะไรทั้งสิ้น ก็น่าจะเรียกว่ามี "ดวง"
ในทางนี้อยู่ เพราะหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่ยังไม่มีอะไรเป็นเรื่องเป็นราวสักอย่าง
มีแต่ "ข่าว" เท่านั้น
ตะวันออกฟายแน้นซ์ เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในโครงการ 4 เมษาฯ ซึ่งโกศล
ไกรฤกษ์ และ ราเกซ สักเสนา ฟอร์มทีมนักลงทุนเข้ามาซื้อจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ภายหลังทั้งสองคนแตกคอกันในเรื่องจำนวนเงินที่จะต้องลงขันเพื่อฟื้นฟูบริษัทนี้
โกศลออกข่าวกับหนังสือพิมพ์จำนวนมากว่า มีความต้องการนำบริษัทแห่งนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
หลังจากที่เคลียร์บัญชีขาดทุนสะสมทันทีเรียบร้อยแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง หุ้นตะวันออกฯ
จึงปลิวว่อนในตลาดมืด และหลังจากข่าวสงบ โดยที่โกศลและราเกซก็ยังตกลงกันไม่ได้
แต่ดูเหมือนราเกซจะเป็นฝ่ายถอยล่าออกมา เนื่องจากสู้ต้นทุนที่จะลงขันไม่ไหว
และธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ยังไม่ได้อนุมัติให้ใครเข้าฟื้นฟูบริษัทนี้อย่างเป็นทางการ
หุ้นตะวันออกฟายแน้นซ์ที่ขึ้นราคาที่สหธนกิจไทยเป็นคำสั่งซื้อในราคาหุ้นละ
5 บาท และไม่มีความเคลื่อนไหวอีกเลยจนถึงปัจจุบัน !!!
อย่างไรก็ดี หุ้นตะวันออกฟายแน้นซ์กลับไปโผล่ที่ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ได้
ในสนนราคาหุ้นละ 8 บาท แต่ต้องซื้อเป็นล็อตใหญ่พันหรือหมื่นหุ้นขึ้นไป ซึ่งแหล่งข่าวกล่าวว่ามีผู้สนใจซื้ออยู่หลายราย
หุ้นอีกหลายตัวมีลักษณะไม่ต่างไปจากตะวันออกฟายแน้นซ์ โดยเฉพาะบริษัทที่กำลังยื่นขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งหุ้นนอกตลาดของบริษัทเหล่านี้จะขายดีเอามาก ๆ ไม่ว่าจะมีใบหุ้นหรือใบจองก็ตาม
หุ้นของบางกอกอาร์ตแอนด์คราฟท์ ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ถูกตลาดหลักทรัพย์ปฏิเสธการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนมาแล้ว
2 ครั้ง แต่หุ้นของบริษัทนี้มีการซื้อขายกันที่ OTC ของสหธนกิจไทยและไทยค้า
โดยที่ไทยค้านั้น ราคาสูงสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2532 ขึ้นไป 26 บาท และตลอดปี
2532 ไทยค้าเป็นตัวกลางจัดซื้อขายหุ้นนี้รวมทั้งสิ้น 1,541,000 หุ้น จัดเป็นยอดสูงสุดในหุ้น
44ตัวที่มีการซื้อขายใน OTC ของไทยค้า ในปี 2532
จนบัดนี้ หุ้นบางกอกอาร์ตฯ ยังไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์เสียที ราคาเสนอซื้อล่าสุดที่
OTC ไทยค้า 14 บาท แต่หลังจากวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2533 แล้วหุ้นตัวนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวของราคาอีกเลยนับแต่นั้น
หุ้นกลุ่มประกันภัยเป็นหุ้นกลุ่มที่มีการซื้อขายนอกตลาดในเวลานี้มากพอสมควร
เพราะมีบริษัทประกันภัยหลายแห่งกำลังอยู่ระหว่างยื่นเรื่องขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ 3 ใน 5 บริษัทที่ขึ้นราคาซื้อขายใน OTC ของไทยค้า มี บงล.ทิสโก้
เป็นที่ปรึกษาในการยื่นขอจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้แก่ รัตนโกสินทร์ประกันภัย
คุ้มเกล้าประกันภัย และไทยพาณิชย์ประกันภัย โดยมีราคาเสนอซื้อที่ 160 120
และ 150 บาทตามลำดับ
อีก 2 บริษัทที่เหลือ คือ อินเตอร์ไลฟ์ฯ และนวกิจประกันภัย ก็มีราคาเสนอซื้อสูงถึง
100 และ 170 ตามลำดับ โดยหุ้นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีใบหุ้นออกมาจำหน่ายกันแล้วทั้งสิ้น
ส่วนบริษัทประกันภัยอีก 4 แห่งที่เริ่มมีข่าวการซื้อขายหุ้นแล้ว แต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์เลย
คือ วิริยะประกันภัย เทเวศร์ประกันภัย ไทยเศรษฐกิจประกันภัย และสินทรัพย์ประกันภัย
ซึ่งบริษัทหลังสุดมีการขายหุ้น OTC กันในราคาหุ้นละ 700-1,000 บาท แล้วทั้งที่ราคาพาร์
10 บาทเท่านั้น
แหล่งหุ้นนอกตลาด OTC ที่ไม่ใฃ่กระดานหุ้นนอกตลาดของ บงล. 3 รายดังกล่าวข้างต้น
ซึ่งในที่นี้ "ผู้จัดการ" ขอเรียกว่า "ก๊วนหุ้นนอกตลาด"
นั้นมีแหล่งใหญ่ ๆ อยู่ไม่กี่แหล่ง คือ
- พนักงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทุกแห่ง ในลักษณะที่ผ่านกันมาเป็นส่วนตัว
พนักงานเหล่านี้โดยเฉพาะในฝ่ายค้าหลักทรัพย์ และฝ่ายจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นมักจะเป็นผู้ที่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่มีความสนใจจะเข้าตลาดหุ้นทั้งโดยหน้าที่การงานและการบอกต่อ
ๆ กันมา
- กลุ่มผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ระเรื่อยลงมาจนถึงพนักงานในฝ่ายสินเชื่อ
ซึ่งมักจะได้รับการแจกจ่ายหุ้นหรือซื้อหุ้นในราคาต่ำเอามาก ๆ จากบริษัทที่ขอสินเชื่อของธนาคารแล้ว
ในเวลาต่อมาเมื่อบริษัทนั้น ๆ ขอเข้าตลาดหลักทรัพย์ คนเหล่านั้นก็นำไปกระจายขายต่ออีกทีหนึ่ง
เช่น กรณีหุ้นบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย เป็นต้น
- บรรดาพนักงานของบริษัทที่มีแผน หรืออยู่ะรหว่างการเสนอขอเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียน
หรือรับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเหล่านี้มักจะขายหุ้นให้พนักงาน มีทั้งราคาพาร์และราคาอันเดอไรต์
ในระยะก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ (และเป็นช่วงก่อนที่ตลาดจะออกระเบียบให้กระจายหุ้นโดยผ่านบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หรืออันเดอไรเตอร์)
หรือในบางรายก็แจกจ่ายผ่านนักข่าว ขายผ่านกันหลายสิบทอดจนราคาขยับสูงขึ้นอย่างน่ากลัว
- กลุ่มที่ให้รายชื่อผ่านไว้ทางหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งรายใหญ่สุด ได้แก่ "องอาจ"
ซึ่งมักจะซื้อขายหุ้นเป็นล็อตใหญ่ ๆ และเป็นหุ้นที่ใกล้จะเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นโค้วยู่ฮะกรุงเทพ ยูนิคอร์ด รัตนโกสินทร์ประกันภัย ปริ้นเซสแกรนด์
เป็นต้น
- กลุ่มที่อยู่ตามหน่วยราชการ ซึ่งหน่วยงานที่เล่นหุ้นนอกตลาดกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แบงก์ชาต กรมวิเทศสหการ เมื่อเร็ว
ๆ นี้ แบงก์ชาติต้องออกประกาศตักเตือนข้าราชการเรื่องการซื้อขายหุ้น ทั้งที่ผ่านตลาดหลักทรัพย์และไม่ผ่าน
ซึ่งในส่วนหลังก็คือ หุ้นนอกตลาดนั่นเอง
ในส่วนของบีโอไอนั้น เป็นแหล่งที่รู้กันทั่วไปในวงการว่า เป็นแหล่งที่รู้กันทั่วไปในวงการว่า
เป็นแหล่งค้าหุ้นนอกตลาดรายใหญ่ แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "ถึงขนาดมีการกำหนดอัตราผลตอบแทนเป็นหุ้นแก่ผู้ที่มาติดต่อขอรับสิทธิพิเศษบางประการด้วยซ้ำ
อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีบริษัทแห่งหนึ่งที่มีโรงงานซึ่งทำให้เกิดมลพิษ
แต่เขาก็สามารถผ่านการรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ไปอย่างเรียบร้อย เสียหุ้นไปส่วนหนึ่งเท่านั้น"
อนึ่ง ประเด็นเรื่องบีโอไอเกี่ยวเนื่องเป็นช่องโหว่ในการพิจารณารับหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ประการหนึ่ง
คือ บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ ถือเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณา
และนี่คือเหตุที่ทำให้ข้าราชการในหน่วยงานนี้เล่นหุ้นนอกตลาดกันหนาตาทีเดียว
!!!
ทั้งนี้ กลุ่มหุ้นนอกตลาดเหล่านี้เริ่มเล่นหุ้นกันอย่างรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
โดยเป็นผลต่อเนื่องมาจากภาวะตลาดที่ดีเอามาก ๆ มีบริษัทจำนวนมากให้ความสนใจที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์
ในระยะหลัง ๆ หุ้นนอกตลาดเป็นที่นิยมมากเสียยิ่งกว่าหุ้นในตลาด เพราะทำกำไรได้มากกว่าหลายเท่าตัวโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก
ทว่า ในระยะที่หุ้นนอกตลาดบูมนี้เอง ก็มีการนำหุ้น "สารพัดชนิด"
ออกขาย
อย่างเช่น หุ้นของ บงล.อาคเนย์ธนกิจ ซึ่งบัดนี้ไม่มีตัวตนแล้ว จะมีก็แต่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ
ที่ บงล.ธนชาติเข้าไปซื้อกิจการและจัดการฟื้นฟูใหม่เมื่อปลายปี 2532 และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะล้างขาดทุนสะสม
โดยที่นโยบายการบริหารจะเน้นทางด้านเงินทุนหรือหลักทรัพย์ก็ยังไม่มีใครทราบ
แต่หุ้นอาคเนย์ธนกิจก็ยังมีเร่ขายอยู่ในตลาด OTC ในสนนราคาหุ้นละ 35 บาทจากราคาพาร์
5 บาท
หรืออย่างหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลบรอดคาสติ้ง จก.
(IBC) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของหุ้นเคเบิ้ลทีวีนั้น ก็มีการนำออกมาขายอย่างสนุกสนานที่องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
(อสมท.) โดยที่ยังไม่มีการยื่นจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด พนักงาน
อสมท. รู้แต่เพียงว่าหุ้นตัวนี้จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ และต้องเข้าได้แน่นอนตามข้อผูกพันในสัญญา
อันที่จริง การซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลายตัวเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมาย หรือถือเป็นการหลอกลวงฉ้อโกงแต่อย่างใด
เช่นที่ทำกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะที่ไทยค้า ธนชาติ และสหธนกิจไทย แต่ในอีกหลายกรณีก็เป็นเรื่องที่เข้าข่ายผิดกฎหมายอยู่
รวมถึงน่าจะผิดกฎหมายข้อใดสักข้อหนึ่ง หากจะมีการใส่ใจกำหนดกฎเกณฑ์คุ้มครองนักลงทุนรายย่อยที่มิได้อยากจะเป็น
"แมงเม่า" ทว่าทนความเย้ายวนของช่องทางการเป็น "เศรษฐีใหม่"
ไม่ได้
ในปัญหาเรื่องกฎหมายของหุ้นนอกตลาดนี้ รศ.พิเศษ เสตเสถียร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสมาคมสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ (AMSET) กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "ความจริงเรามีปัญหาในเรื่องโครงสร้างของระบบ
เราต้องยอมรับว่า ทั้งระบบของการซื้อขายหุ้นนี่คือตั้งแต่ตลาดแรกลงมาถึงตลาดรอง
ตลาดหลักทรัพย์ และบรรดาหุ้นนอกตลาดทั้งหลายอยู่ในส่วนของตลาดรอง แต่การกระจายหุ้นไม่ว่าจะเป็น
PRIVATE PLACEMENT และ PUBLIC OFFERING เป็นเรื่องในตลาดแรก และที่สำคัญ
คือ ตลาดแรกควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์ ส่วนตลาดรองนั้นมีกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล"
ทั้งนี้ อาจารย์พิเศษได้ทบทวนความเป็นมาของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.)
ของเรา ซึ่งมีมานานแล้วอนุญาตให้มีการขายหุ้นต่อสาธารณะ หรือทำ PUBLIC OFFERING
ได้แต่ครั้นมีพระราชบัญญัติมหาชนขึ้นมาในปี 2521 ก็มีการห้ามไว้ เพราะถือว่าการเป็นบริษัทมหาชนดีกว่าบริษัทเอกชน
ดังนั้นบริษัทเอกชนที่ตั้งขึ้นตาม ปพพ. หากต้องการทำ PUBLIC OFFERING ต้องมาเข้าเป็นบริษัทมหาชน
ซึ่งปรากฏว่าประกาศมา 10 ปีกว่านี่มีบริษัทมหาชนเกิดขึ้นเพียง 30 ราย คือ
หมายความว่ากฎหมายนี้ล้มเหลวไปเลยไม่ประสบความสำเร็จ"
ทว่า บริษัทร้อยละ 99 ยังเป็นบริษัทเอกชน ซึ่งนั่นหมายความว่า บริษัทเหล่านี้ก็ถูกห้ามมิให้นำหุ้นออกขายตามกฎหมาย
ตรงนี้อาจารย์พิเศษกล่าวว่า "ปัญหาตรงนี้ก็มีพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์ปี
2527 เขียนขึ้นมาแก้ไข กล่าวคือ บริษัทเอกชนที่อยากขายหุ้นแบบในกฎหมายมหาชนก็ให้มาเข้าตลาดหลักทรัพย์
มันก็เลยเป็นการผูกโยงมาอย่างนี้ ซึ่งความจริงโดยหลักการแล้ว ต่างคนต่างโตได้หมายความว่าตลาดแรกและตลาดรองไม่จำเป็นต้องผูกกันเหมือนอย่างในปัจจุบันนี้
ดังนั้นเราจะเห็นว่าเมื่อมีบริษัทที่จะขายหุ้นทีไร ก็คือ บริษัทที่จะเข้าตลาดทุกที
ถ้าไม่เข้าตลาดฯ ก็ขายไม่ได้ ผิดกฎหมายอีก"
ทั้งที่ความจริงแล้ว ถึงบริษัทไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ผู้ซื้อก็สามารถถือหุ้นไว้ได้โดยได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล
หากกิจการมีผลประกอบการดี แต่เวลาจะขายอาจจะหาคนซื้อลำบาก เช่น หุ้นไทยชูการ์เทอร์มินัล
ซึ่งทิสโก้เป็นผู้ทำการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายให้ตั้งแต่เมื่อปี 2531
แต่จนป่านนี้ยังเข้าตลาดไม่ได้สักที แต่ผู้ถือหุ้นตัวนี้ก็ไม่มีปัญหามากนัก
เพราะสามารถหาตลาดขายได้ที่ไทยค้า ปริมาณการซื้อขายหุ้นตัวนี้ที่ไทยค้าเมื่อสิ้นปี
2532 ก็ไม่เลวนัก คือ มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกัน 8,500 หุ้นในราคาสูงสุดที่หุ้นละ
185 บาท
ปัญหา คือ โดยทั่วไปผู้ซื้อในตลาด OTC ไม่ได้ต้องการซื้อลงทุนเพื่อหวังเงินปันผล
หรือขายต่อในตลาดรองอย่าง OTC ผู้ซื้อร้อยละ 100 หวังที่จะขายหุ้นเหล่านี้ต่อในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งพวกเขามั่นใจเต็มที่ว่าราคาจะดีกว่าที่ได้ซื้อมา จะมีกรณียกเว้นอยู่บ้างก็น้อยมาก
เช่น หุ้นโรงแรมเซ็นทรัลเคยซื้อขายในตลาด OTC ราคาสูงถึง 90 บาท แต่เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว
ราคาลดลงเหลือ 56 บาทเท่านั้น
ในส่วนของผู้ขายหรือเจ้าของกิจการนั้น การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็น
"วิธีปฏิบัติ" อย่างหนึ่งที่แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ก่อนหน้านี้ บรรดา INVESTMENT BANKER ชั้นนำไม่ว่าจะเป็น W I CARR , BZW
, J F THANAKOM , MORGAN GRENFELL ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ธุรกิจในเมืองไทยนั้นยากที่จะปรับตัวเข้ากับระบบการเงินใหม่
ๆ เช่น เรื่องตลาดหลักทรัพย์ เรื่องการซื้อหรือควบกิจการ ทั้งนี้เพราะรากฐานธุรกิจในเมืองไทยเป็นกิจการในครอบครัว
/ ตระกูล ซึ่งมักจะถ่ายทอดเป็นมรดกให้กับลูกหลานมากกว่า
ทว่า ในปัจจุบัน INVESTMENT BANKER เหล่านี้เห็นทีจะต้องประเมินแนวมองของตนใหม่
เพราะธุรกิจครอบครัวอย่างตระกูลฮุนตระกูล จิราธิวัฒน์ หรือตระกูลเล็ก ๆ อย่าง
ควงเจริญ ยังเดินหน้าเข้าไปผงาดในกระดานค้าหลักทรัพย์ที่อาคารสินธรได้
ประเด็นสำคัญที่ทำให้เจ้าของกิจการต้องตัดใจขายหุ้นบางส่วนของกิจการที่บางคนถึงขนาดต้อง
"ปลุกผีลุกปลุกผีนั่ง" อยู่เป็นนานกว่าจะมาเป็นความสำเร็จอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
ก็คือ เรื่องเงินทุนเพราะถึงมีความสำเร็จแล้ว ใช่ว่าจะไม่ต้องเจอกับการแข่งขัน
การขยายงาน การกระจายฐานการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้ทุนทั้งนั้น
หนทางการระดมทุนที่ดีที่สุดในยุคนี้ คือ การเข้าตลาดหลักทรัพย์
ผู้ประกอบการหลายรายที่นำกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ล้วนแต่ "มั่งคั่ง"
ขึ้นในชั่วพริบตา วิธีปฏิบัติเช่นนี้ทำให้เหล่านายทุนน้อยที่ครั้งหนึ่งเคยขายแรงงานประทังชีวิต
ขายแรงสมองรับเงินเดือน ครั้นได้เป็นเจ้าของกิจการแล้วเข้าตลาดหลักทรัพย์
ก็กลับเป็นเศรษฐีขึ้นมาในทันที
แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เข้าตลาดจะรวยเสมอเหมือนกันหมด สำหรับคนที่รู้วิธีเท่านั้นที่จะรวยได้มากกว่า
และนี่คือเหตุที่มาของปัญหาเรื่องการนำหุ้นออกขายก่อนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งว่าไปแล้วควรจะเป็นเรื่องที่อยู่ในตลาดแรก ไม่โดยวิธี PRIVATE PLACEMENT
ก็โดย PUBLIC OFFERING อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งในตลาดแรกนี้ผู้ที่จะเป็นผู้คุมกฎ
คือ กระทรวงพาณิชย์
โดยทั่วไปที่มักจะทำกัน คือ การนำหุ้นออกขายแบบ PUBLIC OFFERING ซึ่งจะเป็นหุ้นเพิ่มทุนหรือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมก็ได้
หากมีจำนวนมากพอ เพื่อที่จะทำให้มีคุณสมบัติครบตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์
คือ บริษัทที่ขอเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนต้องมีจำนวนผู้ถือหุ้นมากกว่า 300
รายและบริษัทที่ขอเข้าเป็นบริษัทรับอนุญาตต้องมีจำนวนผู้ถือหุ้นมากกว่า 50
ราย โดยการกระจายหุ้นในขั้นตอนนี้ต้องทำผ่านบริษัทรับจำหน่าย และมีหนังสือชี้ชวน
(PROSPECTUS)
แต่บังเอิญในระยะหลังมีบางบริษัทที่นำหุ้นออกขายโดยไม่ผ่านรับจำหน่าย และอ้างว่าเป็นการขายแบบ
PRIVATE PLACEMENT เพราะเอาหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมออกขาย ซึ่งการทำเช่นนี้เป็น
"การจับแพะชนแกะ"
อาจารย์พิเศษ กล่าวว่า "ทุกวันนี้บ้านเรามีความเข้าใจผิดอย่างมาก ๆ
อยู่เรื่องหนึ่ง คือ เรื่อง PUBLIC OFFERING กับ PRIVATE PLACEMENT เรามักจะมองว่า
ถ้าหุ้นเพิ่มทุนมาจากบริษัทเป็น PUBLIC OFFERING แต่ถ้าเป็นหุ้นที่ผู้ถือหุ้นเอามาขายเองเป็น
PRIVATE PLACEMENT ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด"
ทั้งนี้ PRIVATE เป็นการขายหุ้นเพิ่มทุนในกลุ่มคนเล็ก ๆ เท่านั้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม
กฎหมายจะไม่เข้าไปยุ่ง เพราะถือว่าคนกลุ่มน้อยสามารถตกลงรักษาผลประโยชน์ของกันได้เอง
แต่ถ้าเป็น PUBLIC ซึ่งไม่ว่าจะเป็นหุ้นเดิมหรือหุ้นเพิ่มทุนใหม่ก็ตาม กฎหมายจะเข้ามาดูแล
เพราะเป็นการขายให้คนหมู่มาก / สาธารณชน
กรณีของบริษัทนิวอิมพีเรียล ซึ่งเจ้าของนำหุ้นออกขายโดยไม่ผ่านบริษัทรับจำหน่าย
และอ้างว่าเป็นการขายแบบ PRIVATE ไม่ต้องทำหนังสือชี้ชวนด้วยนั้น อาจารย์พิเศษกล่าวว่า
"กรณีนี้ไม่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายอะไรเลย เขาไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายมาบังคับเขา"
แต่ที่แน่ ๆ คือ การขายในลักษณะนี้ของนิวอิมพีเรียลไม่ถือว่าเป็น PRIVATE
PLACEMENT เพราะขายให้กับคนหมู่มาก แต่ก็ไม่ได้เป็น PUBLIC OFFERING ด้วยเพราะไม่ได้ผ่านอันเดอร์ไรเตอร์
ปัญหานิวอิมพีเรียลเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอีกต่อมามิรู้จบ ทั้งนี้วงการต่างมองว่ากรณีนี้สะท้อนช่องโหว่ทางกฎหมายบางประการที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น
ตลาดหลักทรัพย์ก็ตระหนักในประเด็นนี้เป็นอย่างดี และมีการขานรับสร้างความเป็นธรรมขึ้นมาทันที
เท่าที่ขอบข่ายอำนาจของตลาดหลักทรัพย์จะทำได้
ตลาดหลักทรัพย์ได้ออกประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า บริษัทที่จะขอเข้าตลาดหลักทรัพย์ต่อจากนี้ไปจะต้องให้บริษัทรับจำหน่ายเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการกระจายหุ้น
ซึ่งหมายความว่าต้องมีหนังสือชี้ชวนเพื่อเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ลงทุน ในส่วนของบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่ใช่บริษัทจำหน่าย
ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลโดยตรงก็ออกระเบียบให้บริษัทหลักทรัพย์เหล่านั้นทำหนังสือชี้ชวนให้กับบริษัทที่ต้องการกระจายหุ้น
และขอเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วย
นับว่าเป็นการออกระบเยบมาควบคุมมิให้เกิดกรณีแบบนิวอิมพีเรียลขึ้นได้อีกอย่างฉับไวพอควร
และเป็นความพยายามอย่างที่สุดในการแทรกแซงตลาดแรก ซึ่งมิได้อยู่ในความรับผิดชอบของตลาดหลักทรัพย์เลย
อย่างไรก็ดี ยังมีช่องโหว่ของการกระจายหุ้นอีก ตรงที่ว่า บริษัทซึ่งนำหุ้นออกขายเองโดยไม่ผ่านบริษัทรับจำหน่าย
อาจจะไม่มีความมุ่งหมายเข้าตลาดหลักทรัพย์ ในเรื่องนี้ ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์
ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า "จุดบอดประการนี้ คงต้องให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดทุน
(SEC) ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลควบคุมตลาดทุนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตลาดแรกและตลาดรองก็ตาม"
อันที่จริง ประเด็นนี้ ดร.มารวย ไม่ต้องกังวลมากก็ได้ เพราะการจะทำอย่างนั้น
ถ้าไม่ประสงค์ทำตาม พรบ.กฎหมายมหาชน ปี 2521 แล้วก็ถือว่าผิดกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่จัดการตามกฎหมายโดยตรง
นอกเหนือจากตลาดหลักทรัพย์ที่พยายามหาช่องออกกฎระเบียบต่าง ๆ แล้ว สมาคมสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ก็ได้พยายามที่จะจัดตั้งตลาดหุ้นนอกตลาด
OTC MARKET ขึ้นมาให้เป็นกิจจะลักษณะ โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาหุ้นนอกตลาดในตลาดสำคัญ
ๆ ของโลกที่จะเอามาเป็นต้นแบบ คือ สหรัฐ และสิงคโปร์ คณะอนุกรรมการชุนดี้มีโยธิน
อารี แห่งกรุงเทพธนาทรเป็นประธาน
รูปแบบของตลาดหุ้นนอกตลาดที่สมาคมโบรกเกอร์จะจัดตั้งขึ้นนั้น คาดว่าจะเป็นการประยุกต์กับที่มีอยู่แล้วใน
บงล.บางแห่ง อาจารย์พิเศษกล่าวว่า น่าจะเป็นการเน้นเรื่องการช่วยเหลือการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทมากกว่า
"เราคงจะตั้งมาตรฐานหรือระเบียบอะไรขึ้นมาเกี่ยวกับว่าหุ้นที่จะเข้ามาขายนี่ควรจะมีมาตรฐานอย่างไร
กฎเกณฑ์การซื้อขายระหว่างบริษัทสมาชิก เป็นต้น ซึ่งอาจจะเริ่มทำจากบริษัทหลักทรัพย์บางรายที่พร้อมก่อน
วันหลังคนอื่น ๆ พร้อมค่อยเข้ามาร่วมก็ได้"
ทางด้าน จรุงพร หุ่นศิริ จากสมาคมโบรกเกอร์ (AMSET) กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า ตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรมาก อยู่ในขั้นของการรอเอกสารที่ทำเรื่องขอไปยังตลาด
OTC สำคัญของโลก คือ สหรัฐฯ และสิงคโปร์
ความพยายามของ AMSET จะสัมฤทธิ์ผลมากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องที่จะต้อง "รอลุ้น"
กันต่อไป การที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจกับนักลงทุน "แมงเม่า"
ทั้งหลายเป็นเรื่องที่ดี หวังว่าความเสี่ยงประเภท "รัสเซียน รูเล็ท"
คงจะมีน้อยลง !!!