"โอสถสภา (เต็กเฮงหยู)" ก่อตั้งในปี 2422 เริ่มต้นจาก แป๊ะ โอสถานุเคราะห์
ผู้ให้กำเนิด "โอสถสภา (เต็กเฮงหยู)" มีบุตร 6 คน ในจำนวนนี้มีสวัสดิ์เป็นลูกคนที่
3 สวัสดิ์เป็นผู้วางรากฐานโอสถสภาให้หนักแน่นและขยายตัวมากยิ่งขึ้นจนเป็นปึกแผ่นทุกวันนี้
สวัสดิ์มีลูก 6 คน คือ ปราณี (ซึ่งต่อมาแต่งงานกับคนในตระกูลไชยประสิทธิ์)
สุวิทย์ สุรัตน์ สุรินทร์ เสรี และคนสุดท้อง คือ สุดา เหตระกูล
ในจำนวน 6 คนนี้ มีบุตรชาย 4 คนเท่านั้นที่มีบทบาททางธุรกิจและทำให้เกิดสายธุรกิจในเครือข่ายโยงใยมากมาย
สุวิทย์พี่ชายคนโตไปสร้างเครือข่ายธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ คือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟ
และร่วมกับน้องชายคนเล็ก คือ เสรีก่อร่างสร้าง "พรีเมียร์กรุ๊ป"
ขึ้นมา โดยเริ่มจากพรีเมียร์อินเตอร์เนชั่นแนลทำธุรกิจส่งออกนำเข้า
สุรัตน์ น้องคนที่สองไปทำธุรกิจด้านการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพและธุรกิจโฆษณา
บางช่วงก็ไปเล่นการเมือง ส่วนสุรินทร์ไม่มีธุรกิจแน่ชัด แต่โดยทั่วไปสุรินทร์มีหุ้นอยู่ในธุรกิจต่าง
ๆ มากมาย
ส่วนเสรีนั้น โดยหลักจริง ๆ แล้ว ทำธุรกิจที่ดิน ก่อสร้าง หมู่บ้านเสรีที่หัวหมากก็เป็นของเขา
และเขาก็มีส่วนร่วมลงแรงลงขันกับพี่ชายคนโต คือ สุวิทย์สร้างพรีเมียร์มาแต่ตอนต้น
ๆ
ส่วนปราณีพี่สาวคนโตยังอยู่ฝ่ายจัดซื้อที่โอสถสภา สุดาน้องสาวคนเล็กสุดเปิดโรงเรียนอนุบาลอโศกวิทย์
ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจในตระกูลเลย
ความที่ "โอสถานุเคราะห์" มีพี่น้องเครือญาติมากมาย การแตกแขนงทางธุรกิจจึงไม่สิ้นสุด
จนแยกแยะไม่ออกว่าบริษัทใดเป็นของใคร หรือทำไมคนในตระกูลเดียวกันต้องทำธุรกิจซ้ำซ้อน
อีกทั้งสถานะของ "โอสถสภา" ก็ดูยิ่งใหญ่มาก จนแทบจะเป็นโฮลดิ้งคอมปานี
(HOLDING COMPANY) เข้าไปลงทุนในบริษัทลูกหรือเข้าไปมีอำนาจในการเข้าไปดูแลหรือส่งตัวแทน
"มืออาชีพ" เข้าไปบริหารได้
แต่ความเป็นจริงก็คือ "โอสถสภา (เต็กเฮงหยู)" ห่างไกลจากความเป็นบริษัทโฮลดิ้งคอมปานีมาก
ๆ
ปัจจุบันโอสถสภาถือหุ้นโดยครอบครัวของพี่น้องทั้งสี่ คือ สุวิทย์ สุรัตน์
สุรินทร์ และเสรี คนละ 25% และผลัดเปลี่ยนกันบริหารคนละ 2-4 ปี หรือแล้วแต่จะตกลงกันภายใน
ลักษณะการถือครองหุ้นโดยพี่น้องทั้งสี่คนละ 25% เช่นนี้ยังมีอีกหลายบริษัท
เช่น ไอเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล (ขายนมของ อสค.) สยามกล้าสอินดัสตรี (ผลิตขวดแก้ว)
ดาต้าโปรคอมพิวเตอร์ซิสเต็ม เป็นต้น บริษัทที่มีลักษณะการถือครองหุ้นเช่นนี้ต่อ
ๆ มาได้ถูกจัดรวมเป็น "โอสถสภากรุ๊ป" โดยมีโอสถสภาเป็นบริษัทนำโดยปริยาย
แต่ไม่ใช่บริษัทเพื่อการลงทุนแต่ประการใด และแต่ละบริษัทมีอิสระจากกัน เพียงแต่ในขณะนี้เพิ่งมีการจัดกลุ่มมารวมกัน
โดยสุรัตน์เป็นผู้มีอำนาจการบริหาร
ลักษณะที่สองของการลงทุนโดยพี่น้องโอสถานุเคราะห์ คือ แยกไปทำธุรกิจส่วนตัวของตนเอง
สุวิทย์หรือคุณหญิงมาลาทิพย์ลงทุนในนามบริษัท "ล้อมดำริห์" สุรัตน์ในนามบริษัท
"ล้อมสวัสดิ์" เสรีในนามบริษัท "สวัสดิ์ดำริห์"
ดังนั้น หากตรวจสอบประวัติบริษัทในเครือของโอสถานุเคราะห์จะพบชื่อของทั้งสามบริษัทปะปนกันไปหลายแห่ง
รวมถึงรายชื่อพี่น้องลูกหลานในนามส่วนบุคคลอีกต่างหาก แต่ธุรกิจของใคร ผู้นั้นก็จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเกือบ
100% ไม่เหมือนโอสถสภาที่แบ่งกันคนละ 25% ชัดเจน
พี่น้องแต่ละคนก็จะมีสายธุรกิจแยกออกไป
จะมีทางสายสุวิทย์โดยคุณหญิงมาลาทิพย์และเสรีนี่เองที่มีลักษณะธุรกจิที่ร่วมกันลงทุนอย่างมาก
และแตกหน่อพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องจนกิจการที่ร่วมทุนทำนั้น แตกแขนงออกไปเป็นสองสาย
คือ "พรีเมียร์โกลเบิลคอร์ปอเรชั่น" และ "จีเอฟโฮลดิ้ง"
ดังนั้น สรุปก็คือ ลักษณะเครือข่ายธุรกิจโอสถานุเคราะห์จะมีสามระดับ คือ
หนึ่ง - บริษัทที่ถือหุ้นครอบครัวละ 25% เช่น โอสถสภา โอเอ็มอินเตอรืเนชั่นแนล
สยามกล้าสอินดัสตรี นอกจากนั้น บริษัทเหล่านี้ก็จะมีกรรมการหรือระดับบริหารหมุนเวียนปะปนกันไปในหมู่ลูกหลานสี่ครอบครัวนี้
สอง - บริษัทที่แต่ละครอบครัวเป็นเจ้าของหรือเข้าไปถือหุ้นโดยเอกเทศ เช่น
ไทยฮักกุโฮโดเป็นของสุรัตน์ ครอบครัวเสรีเป็นเจ้าของบริษัทสุวิทย์และเสรี
สาม - บริษัทที่ครอบครัวสุวิทย์และครอบครัวเสรีร่วมลงทุนคนละครึ่งหรือเป็นแกนหลักในการร่วมลงทุนกับต่างประเทศ
คือ พรีเมียร์โกลเบิลและจีเอฟโฮลดิ้ง
แม้ว่าการแบ่งสายธุรกิจเช่นที่ "ผู้จัดการ" แบ่งไว้เช่นนี้อาจจะมีการแบ่งไว้แล้วอย่างหลวมๆ
หรือเป็นที่รู้กันในหมู่พี่น้องเป็นเวลานานมาแล้ว แต่ในช่วงเวลาปัจจุบันการแบ่งสายบริษัทในเครือชัดเจนมากขึ้น
แม้แต่สุรัตน์เองก็ยังต้องออกมาแถลงความเปลี่ยนแปลงภายในของโอสถสภาอย่างเป็นทางการ
ความเปลี่ยนแปลงนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เป็นแรงผลักด้านหนึ่งจากบรรดาลูก ๆ
หลาน ๆ และที่สำคัญก็คือ เขยทั้งสองคนของคุณหญิงมาลาทิพย์นั่นเอง ทั้งนี้โดยดูจากแรงผลักดันที่ทำให้เกิดกลุ่มธุรกิจสองกลุ่มขึ้นมาใหม่
คือ พรีเมียร์โกลเบิลที่มีวิเชียร พงศธร เป็นเสนาธิการ และสายจีเอฟโฮลดิ้งที่มีชินเวศ
สารสาส เป็นเสนาธิการประจำทีม
กล่าวกันว่าเป็นความปรารถนาอย่างแรงหล้าของบรรพบุรุษ "โอสถานุเคราะห์"
ที่จะให้ "บริษัทโอสถสภา (เต็กเฮงหยู)" เป็นของ "โอสถานุเคราะห์"
ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงอาจจะไม่แปลกที่โอสถสภาจะมีลักษณะการบริหารแบบธุรกิจครอบครัว
นอกจากนั้นบรรดาพนักงานของโอสถสภาก็มีเป็นจำนวนมากที่อยู่กับบริษัทมา 20-30
ปี การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จึงเป็นไปได้น้อยมากเพราะไปกระทบต่อคนเป็นจำนวนมาก
การขยายตัวที่เป็นอิสระเช่นที่บรรดาพี่น้องและเขยโอสถานุเคราะห์วางไว้นี้
จึงเป็นไปได้มากกว่าและลักษณะการบริหารก็สามารถต้อนรับ "มืออาชีพ"
ได้อย่างสะดวกใจ
แม้ในวันนี้ภาพความยิ่งใหญ่ของโอสถสภาจะซ้อนทับอยู่เหนือบริษัทในเครือญาติพี่น้องแห่งอื่น
ๆ อย่างปฏิเสธไม่พ้น และยังไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องมาแบ่งแยกให้ชัดเจน
แต่ในวันข้างหน้าภาพของโอสถสภาและบริษัทในกรุ๊ปอื่น ๆ ที่เป็น "โอสถานุเคราะห์"
อาจจะแบ่งหรือกระจายให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตามวิถีของธุรกิจโดยทั่วไป
แต่นั่นคือวันข้างหน้าที่คงจะต้องเป็นภาระหน้าที่ของลูก ๆ หลาน ๆ หรือไม่ก็เขยทั้งหลายนั่นเอง