Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2533
พรีเมียร์กรุ๊ป : เมื่อ "สุวิทย์ - เสรี โอสถานุเคราะห์" ถอดหน้ากากหน้าที่สอง             
โดย เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม
 

   
related stories

โอสถสภา - พรีเมียร์กรุ๊ป ผิดฝาไม่ผิดตัว
พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง ภาพที่ซ้อนทับกับโอสถสภา

   
search resources

โอสถสภา, บจก.
พรีเมียร์กรุ๊ป




"พรีเมียร์กรุ๊ป" เป็นชื่อของกลุ่มธุรกิจที่ได้รับการอ้างอิงอยู่เสมอมาว่า เป็นบริษัทในเครือ "โอสถสภา (เต็กเฮงหยู)" ทั้งที่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ความเข้าใจเช่นนี้ถูกปกคลุมด้วยความเงียบตามสไตล์การทำงานของผู้บริหาร แต่มาวันนี้ด้วยปัจจัยที่เปลี่ยนไป และการปรากฏตัวที่ชัดเจนของเขยคนโตแห่งตระกูล "โอสถานุเคราะห์" ทำให้พรีเมียร์กรุ๊ปต้องปรับตัวครั้งใหญ่ พร้อมรับกับการก้าวกระโดดที่ท้าทายต่อธุรกิจโลกในอนาคต !

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ และประธานคณะกรรมการบริหารธนาคารเอเชีย ประกาศว่า ตัวท่านจะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารของพรีเมียร์กรุ๊ป โดยให้เหตุผลว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มของคนหนุ่ม มีการบริหารที่ทันสมัยและเป็นบริษัทที่มีอนาคตแจ่มใส

เวลาไล่เรี่ยกันนั้น มีการออกข่าวว่า พรีเมียร์กรุ๊ปได้แยกออกจากโอสถสภา (เต็กเฮงหยู) อย่างชัดเจน และเป็นการแยกกันระหว่างสุรัตน์และเสรี โอสถานุเคราะห์

นับเป็นการปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจไม่น้อย ความเชื่อเดิม ๆ ที่ว่า พรีเมียร์กรุ๊ปเป็นบริษัทในเครือ หรือเป็นเพียงมาร์เก็ตติ้งอาร์มให้กับโอสถสภากำลังจะเปลี่ยนไปและต้องได้รับการอธิบายประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนกว่าที่เคยเป็นมา

หากสุวิทย์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ล่วงลับได้รับทราบความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เขาคงดีใจเป็นทับทวี เพราะเมื่อไม่นานมานี้ เขยของเขาคนที่สองคือ ชินเวศ สารสาสก็เพิ่งปรับขบวนทัพจีเอฟครั้งใหญ่ มาวันนี้ วิเชียร พงศธร เขยคนโตก็มาพลิกโฉมหน้าพรีเมียร์อีกคน

พรีเมียร์กรุ๊ปกำลังก้าวกระโดดครั้งใหญ่ !!

ที่ดินบริเวณ "หลังสวน" เป็นที่ดินมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสวัสดิ์และคุณหญิงล้อม โอสถานุเคราะห์ ที่ดินบริเวณนี้ได้มาเพราะความที่คุณหญิงล้อม โอสถานุเคราะห์ ที่ดินบริเวณนี้ได้มาเพราะความที่คุณหญิงเป็นคนชอบเล่นที่ดินของตระกูลโอสถานุเคราะห์จึงมีมากมายทั้งที่หัวหมาก พระโขนง อ่อนนุช หลังสวน ซึ่งซื้อมาตั้งแต่สมัยที่ดินไม่แพงมากมาย ถนนเพิ่งจะเริ่มตัดเข้าไป

โรงงานผลิตยาของโอสถสภาเคยปักหลักอยู่ที่หลังสวนพักหนึ่งก่อนที่จะย้ายไปรวมกับสำนักงานอยู่ที่หัวหมาก แต่หลังสวนแห่งนี้ได้กลายเป็นกองบัญชาการใหญ่ของครอบครัวสุวิทย์และเสรีในเวลาต่อมา

สุวิทย์ โอสถานุเคราะห์ เป็นลูกชายคนโตของสวัสดิ์และคุณหญิงล้อม นอกเหนือจากการดูแลและช่วยเหลือกิจการในครอบครัว คือ โอสถสภาแล้ว สุวิทย์ก็มองการณ์ไกลโดยเข้าไปลงทุนในธุรกิจการเงิน คือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจเนอรัลไฟแนนซ์ หรือจีเอฟ และต่อมาขยายธุรกิจไปในธุรกิจเช่าซื้อและลิสซิ่งอีกด้วย

สุวิทย์ไม่ได้มาคนเดียว แต่ดำเนินธุรกิจร่วมกับเสรี ผู้เป็นน้องชายคนเล็ก แต่การตัดสินใจส่วนใหญ่อยู่กับสุวิทย์ เพราะเสรีนั้นมุ่งไปในทางทำธุรกิจพัฒนาที่ดินเสียมากกว่า โดยใช้ทำเลที่ดินที่คุณหญิงล้อมผู้เป็นแม่ซื้อเก็บไว้มาทำจัดสรรเป็นหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านเสรี เสรีวิลล่า เป็นต้น

สุวิทย์มีมือขวาอยู่คนหนึ่งชื่อ อุดม ชาติยานนท์ เขาเป็นผู้ดูแลกิจการส่วนตัวของสุวิทย์โดยส่วนใหญ่ ทั้งจีเอฟและกิจการที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาหลายครั้งที่อุดมจะปรากฎชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในธุรกิจของสุวิทย์ ซึ่งก็คือดูแลกิจการแทนสุวิทย์นั่นเอง

ในปี 2517 สุวิทย์และเสรีตั้งบริษัท "พรีเมียร์ซัพพลาย" เพื่อทำธุรกิจเช่าซื้อให้กับจีเอฟ โดยรับเช่าซื้อตั้งแต่รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร ฯลฯ และต่อมาได้ขยายเป็นศูนย์พรีเมียร์และร่วมลงทุนกับธุรกิจท้องถิ่นตั้งศูนย์พรีเมียร์ในหลายจังหวัด ทำธุรกิจเช่าซื้อคล้ายคลึงกับซิงเกอร์

ต่อมาสุวิทย์และเสรีเริ่มขยายธุรกิจเข้าไปในธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งเกี่ยวพันกับธุรกิจบ้านจัดสรรอยู่แล้ว โดยตั้งบริษัท "พรีเมียร์โพรดักส์" ขายถังแซทส์ และถังน้ำพีพี ซึ่งทำจากไฟเบอร์กลาส มี ม.ล.ชัยนิมิตร เนาวรัตน์ นักธุรกิจหนุ่มคนหนึ่งรับผิดชอบ ซึ่งต่อมาสุวิทย์และเสรีได้ตั้งบริษัท "พีพี เซ็นเตอร์" ขึ้นมาเพื่อแยกการจัดจำหน่ายออกมาต่างหากในปี 2523 (ปัจจุบัน ม.ล.ชัยนิมิตรไปทำธุรกิจรีสอร์ทที่ภูเก็ต)

ปี 2520 เป็นปีที่ "พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง" เกิดขึ้น โดยมี ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เป็นกรรมการผู้จัดการ (เหตุการณ์ช่วงนี้โปรดอ่าน "พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง : ภาพที่ซ้อนทับกับโอสถสภา)

"พรีเมียร์อินเตอร์เนชั่นแนล" เกิดขึ้นในปี 2521 ทำธุรกิจนำเข้าส่งออก เช่น อาหารแช่แข็ง เสื้อผ้า เครื่องหนัง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวไปสู่ตลาดโลกในเวลาต่อมา

ในช่วงเริ่มต้นทั้ง 3-4 บริษัทเหล่านี้ ซึ่งต่อมาคือบริษัทหลักในปัจจุบันของพรีเมียร์กรุ๊ปจะถือุ้นโดยสุวิทย์และเสรีคนละครึ่ง และจะมีอุดมชาติยานนท์คอยดูแลกำกับ โดยเฉพาะเรื่องการใช้จ่ายเงิน ส่วนกรรมการก็จะมีสุวิทย์และเสรีเป็นหลักเช่นกัน นอกจากนั้นก็จะเป็นบรรดาคนสนิทของพี่น้องทั้งสองเป็นส่วนใหญ่

แต่การเสียชีวิตของสุวิทย์ในปี 2523 ขณะที่อายุ 53 ปีนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโอสถสภา และพรีเมียร์ เพราะสุวิทย์เป็นพี่ชายคนโต มีอำนาจ เป็นที่เคารพของน้องทุกคน การจัดกระบวนทัพใหม่ในสองครอบครัวนี้จึงเกิขดึ้น

แม้สุวิทย์จะเสียชีวิตไป แต่ความสัมพันธ์ทางธุรกิจของสองครอบครัวพี่น้องนี้ก็ไม่เปลี่ยนไป เพียงแต่คุณหญิงมาลาทิพย์ขึ้นมารับผิดชอบในการตัดสินใจเรื่องนโยบายต่าง ๆ แทนสุวิทย์เท่านั้น

ในพรีเมียร์ บทบาทของเสรีขึ้นมาแจ่มชัดขึ้น อุดม ชาติยานนท์ เลือนหายไปอยู่กับจีเอฟ และต่อมาไปอยู่ที่ซันโย ยูนิเวอร์แซล อิเลคทริค เมื่อทางครอบครัวสุวิทย์หรือคุณหญิงมาลาทิพย์ภรรยาสุวิทย์ลงไปร่วมลงทุนด้วย ส่วนบริษัทพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งต้องเปิดทางให้โอสถสภาเข้ามาเพื่อกอบกู้สถานการณ์

ในแง่ผู้ถือหุ้น ทั้งสองครอบครัวตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนในการถือหุ้นและลงทุนในกิจการต่าง ๆ ร่วมกัน ทางฝ่ายสุวิทย์ซึ่งมีคุณหญิงมาลาทิพย์ เป็นผู้นำตั้งบริษัท "ล้อมดำริห์" ทางฝ่ายเสรี ซึ่งมีเสรีเองเป็นผู้นำตั้งบริษัท "สวัสดิ์ดำริห์"

บรรดากรรมการนั้น ลูก ๆ ของทั้งสองครอบครัวเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ข้างล้อมดำริห์จะมีวิมลทิพย์ ลูกสาวคนโตของสุวิทย์เป็นผู้นำในการบริหาร ส่วนสวัสดิ์ ดำริห์นั้นเสรีจะมานั่งเป็นประธานในบริษัทเหล่านี้เอง และภาสุรี ลูกชายคนโตของเขาก็จะเข้ามานั่งเป็นกรรมการด้วยเกือบทุกแห่ง

ในปี 2523 นั้น นอกจากจะเป็นปีที่สุวิทย์เสียชีวิตแล้ว วิมลทิพย์ก็แต่งงานกับวิเชียร พงศธรเช่นกัน และกลายมาเป็นเขตคนโตของตระกูลโอสถานุเคราะห์ที่มีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน

วิเชียรเป็นลูกชายสุขุม พงศธร กรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ และเจ้าของธุรกิจสีทาบ้าน "บางกอกเพ้นท์" นอกจากนั้น วิเชียรก็มีพี่ชายชื่อ วินัย พงศธร กรรมการผู้จัดการบริษัทเฟอร์สท์ แปซิฟิกแลนด์ (ประเทศไทย)

วิเชียรจบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์สาขา "นิวเคลียร์" จาก RPI (RENSSE-LASER POLYTECHNIC INSTITUTE) สถาบันเดียวแต่คนละสาขากับศิวพร ทรรทรานนท์แห่งทิสโก้ แล้ววิเชียรก็มาต่อทางด้านเอ็มบีเอจนจบในสถาบันเดียวกัน

วิเชียรเป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจานิ่มนวล สุภาพ เขามาช่วยงานทางพรีเมียร์อินเตอร์เนชั่นแนลตั้งแต่ปี 2523 และบางครั้งก็ยังดูแลพรีเมียร์อื่น ๆ ด้วย เช่น ในช่วงที่ไพบูลย์ลาออกจากพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งใหม่ ๆ และยังหากรรมการผู้จัดการคนใหม่แทนไม่ได้ วิเชียรก็เข้าไปดูแลอยู่ถึง 7 เดือน ซึ่งในช่วง 5-6 ปีหลังมานี้ วิเชียรมีบทบาทดูแลพรีเมียร์อื่น ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะกับพรีเมียร์ที่เกิดขึ้นมาใหม่หรือโดยการร่วมทุนกับต่างชาติ เช่น พรีเมียร์บาวาเรียไลน์ เป็นต้น

ทางด้านวิมลทิพย์นั้น นอกจากจะเป็นตัวแทนของครอบครัวสุวิทย์ แทนคุณหญิงมาลาทิพย์ในการดูแลกิจการและเป็นกรรมการบริษัทในเครือแล้ว วิมลทิพย์ก็เคยเป็นถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโอสถสภาด้วยเช่นกัน ดังนั้นบทบาทของสองคนนี้จึงสำคัญเป็นอย่างมาก ในฐานะพี่สาวใหญ่และเขยคนโตแห่งตระกูลโอสถานุเคราะห์

ทางด้านเสรี โอสถานุเคราะห์และครอบครัวนั้น มีลักษณะเฉพาะที่คล้ายคลึงกันอย่างมากระหว่างพ่อ ๆ ลูก ๆ นั่นคือ ความเงียบสงบ และชอบใช้ชีวิตที่ค่อนข้างสันโดษ ซึ่งออกจะเป็นบุคลิกที่ขัดแย้งกับการทำธุรกิจระดับพันล้าน

เสรีเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจบ้านจัดสรรยุคแรกก็ว่าได้ โดยเริ่มจากหมู่บ้านเสรีและต่อมาไปเปิดต่อที่ซอยอ่อนนุช ซึ่งล้วนประสบความสำเร็จด้วยดี ที่ดินที่จัดสรรก็เป็นที่ดินที่คุณหญิงล้อม ผู้เป็นแม่ซื้อเก็บไว้ เมื่อสุวิทย์เสียชีวิต เสรีก็ดูแลกิจการต่าง ๆ ในเครือของ "สุวิทย์และเสรี" ต่อไป จนต่อมาภายหลังเสรีเริ่มเกษียณตัวเองและใช้ชีวิตตามสบายไปเที่ยวตามต่างจังหวัดและต่างประเทศเสียเป็นส่วนมาก แต่เสรีก็ยังมีบทบาทในฐานะ "ผู้ใหญ่" ที่ลูก ๆ หลาน ๆ จะต้องนับถือ เขายังเป็นประธานของบริษัทต่าง ๆ ในเครือตามธรรมเนียมทั่วไปของธุรกิจในครอบครัว

เสรีมีบุตรสองคน คนโตชื่อภาสุรี โอสถานุเคราะห์ เป็นชายหนุ่มที่ชอบใช้ชีวิตอย่างสงบเช่นคุณพ่อ สนใจและใฝ่ธรรมอย่างลึกซึ้งและถ่อมตัว เขาชอบที่จะไปนั่งเป็นกรรมการตามบริษัทต่าง ๆ ในเครือญาติเพื่อร่วมประชุม ซึ่งเขากล่าวว่า มันเป็นการศึกษาและติดตามความเปลี่ยนแปลง

ลูกอีกคนของเสรี คือ ศรีสุมา เธอแต่งงานกับเอกฤทธิ์ ประดิษฐ์สุวรรณ สถาปนิกหนุ่ม ศรีสุมานั้นเก็บตัวเงียบเสียยิ่งกว่าภาสุรี สามีและตัวเธอช่วยดูแลบริษัทสุวิทย์และเสรี ซึ่งมีบริษัทลูกคือ "ฐาปกา" ซึ่งรับออกแบบสร้างบ้าน ขณะที่บริษัท "บ้านเสรี" รับเหมาก่อสร้าง นอกจากนั้น บริษัทสุวิทย์และเสรียังทำโครงการช็อปปิ้งพลาซ่า ที่ถนนศรีนครินทร์ ข้างร้านอาหารบัว และโครงการเอสเอสบิวดิ้ง อาคารสูง 6 ชั้นบนนถนนเดียวกันอีกด้วย

หากดูแผนภูมิและศึกษาลักษณะการลงทุนจะได้ข้อสรุปว่า ทั้งครอบครัวสุวิทย์และครอบครัวเสรี คือ สายธุรกิจที่แยกตัวออกมาจากตระกูล "โอสถานุเคราะห์" ค่อนข้างชัดเจน และเมื่อสองครอบครัวนี้มารวมกันเพื่อลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ เครือข่ายโยงใยธุรกิจที่เกิดขึ้นภายหลัง คือ พรีเมียร์และจีเอฟ ก็กลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเคลื่อนไหวและขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ

ความโชคดีของสุวิทย์นั้นก็คือ แม้เขาจะเสียชีวิตไปแล้ว และลูกคนโตของเขาก็เป็นหญิง ทั้งลูก ๆ ทางฝ่ายเสรีก็ชอบที่จะอยู่อย่างสงบมากกว่า แต่เขามีน้อยชาย คือ เสรีและเขยอีกสองคนที่ต่างทำงานเก่งและเฉลียวฉลาด มีโลกทัศน์ทางธุรกิจที่ก้าวหน้า คือ วิเชียร พงศธร สามีลูกสาวคนโตวิมลทิพย์ และชินเวศ สารสาส สามีลูกสาวคนรองเสาวนีย์ สารสาส

ชินเวศเข้าไปจับงานที่จีเอฟ และเมื่อปีที่แล้ว เขาเริ่มเสนอแผนการปรับโครงสร้างและจัดกลุ่มธุรกิจในเครือจีเอฟใหม่ รวมไปถึงเริ่มการขยายตัวด้วยการร่วมทุนกับต่างประเทศหลายบริษัท เขาใช้เวลาในการเสนอแผนดังกล่าวถึง 9 เดือน จนกระทั่งกลายเป็น "จีเอฟโฮลดิ้ง" ในทุกวันนี้

นั่นเป็นเรื่องของเขยคนเล็ก วิเชียรซึ่งเป็นเขยคนโตก็วางแผนการปรับโครงสร้างบริษัทในเครือพรีเมียร์ในเวลาไล่เรี่ยเช่นกัน

มีปัจจัยสี่ประการที่วิเชียรและกลุ่มพรีเมียร์ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง หนึ่ง - วิเชียรนั่งประชุมอยู่ที่พรีเมียร์อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งทำธุรกิจส่งออก เขาต้องเดินทางไปต่างประเทศ และหาลู่ทางทำการค้ากับกลุ่มธุรกิจทั่วโลกตลอดเวลา แน่นอนที่เขาจะต้องพบกับช่องทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่น่าลงทุน รวมไปถึงสินค้าใหม่ ๆ ที่น่าจะนำเข้ามาจำหน่าย แรงกระตุ้นจากการค้าต่างประเทศและความเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นปัจจัยประการหนึ่งที่พรีเมียร์กรุ๊ปต้องปรับตัวรองรับและพร้อมที่จะก้าวไปสู่โลกภายนอกให้มั่นคงกว่านี้

สอง - ในหมู่ผู้ถือหุ้นได้มองบทบาทของตนเอง และธุรกิจที่ตนเองถือครองเปลี่ยนไปจากเดิมที่จำกัดธุรกิจเหล่านั้นเป็นธุรกิจของครอบครัวผู้ถือหุ้นก็คือ คนในครอบครัวสุวิทย์และเสรีนั้นได้ปรับเปลี่ยนบทบาทตนเองเป็น "ผู้ลงทุน" ไม่เข้าไปก้าวก่ายการบริหารและเปิดทางให้ "มืออาชีพ" เข้ามารับผิดชอบในบริษัทอย่างเต็มที่

สาม - แต่ไหนแต่ไรมา พรีเมียร์แต่ละบริษัทมีอิสระในการบริหารและมีแนวการทำงาน รวมไปถึงการวางนโยบายที่ไม่ขึ้นต่อกัน หรือต่างคนต่างทำ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงเป็นไปเพื่อร้อยรัดพรีเมียร์ที่มีเกือบ 20 บริษัทให้มีทิศทางเดียวกัน หรือนโยบายการทำงานที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน

แหล่งข่าว กล่าวว่า แนวความคิดที่จะเริ่มรวมพรีเมียร์กรุ๊ปนั้นมีมานานมากแล้ว และตัววิเชียรก็เริ่มที่จะมีบทบาทในพรีเมียร์อื่น ๆ นอกเหนือจากพรีเมียร์อินเตอร์เนชั่นแนลมาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว แต่แนวความคิดดังกล่าวก็ค่อย ๆ ทำไปในทางปฏิบัติ ขณะเดียวกันวิเชียรและครอบครัวเสรีเองก็ไม่ชอบเป็นข่าวหรือประกาศตัวโจ่งแจ้งนัก การเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าในพรีเมียร์โกลเบิลจึงดูล่าช้ากว่าทางจีเอฟถึงเกือบหนึ่งปี

บริษัทล้อมดำริห์และสวัสดิ์ดำริห์ บริษัทดั้งเดิมของทั้งสองครอบครัวปรับตัวเองโดยการตั้งบริษัท "พรีเมียร์โกลเบิลคอร์ปอเรชั่น" ขึ้น โดยมีสองบริษัทดั้งเดิมนั้นเป็นผู้ถือหุ้นคนละ 50% ซึ่งต่อไปพรีเมียร์โกลเบิลจะกลายเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทในเครือพรีเมียร์ทุกบริษัท นั่นคือสถานะของพรีเมียร์โกลเบิลจะเป็นโฮลดิ้งคอมปานีนั่นเอง

เสนาะ อูนากูล เข้ามารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการพรีเมียร์โกลเบิล ว่ากันว่าเสนาะมีความสนิทสนมกับครอบครัวสุวิทย์ โดยเฉพาะคุณหญิงมาลาทิพย์มานมนาน เมื่อครั้งที่ตั้งจีเอฟโฮลดิ้ง เสนาะก็เป็นคนแนะนำณรงค์ชัย อัครเศรณีมาเป็นกรรมการผู้จัดการจีเอฟโฮลดิ้ง

ในคณะกรรมการประกอบด้วยเสรี วิเชียร วิมลทิพย์ ภาสุรี ซึ่งจะคอยกำกับและดูแลด้านนโยบายให้กับบริษัทลูก ๆ แต่วิเชียรเป็นคนสำคัญที่สุดที่รับหน้าที่เข้าไปดูแลการบริหารบริษัทในเครือซึ่งมีประมาณ 20 บริษัท เมื่อมีการประชุมระดับผู้บริหารครั้งหนึ่งนั้นจะมีตัววิเชียรเป็นประธานและบรรดาผู้บริหารของแต่ละบริษัทรวมแล้วกว่า 20 คน เมื่อมีการประชุมระดับผู้บริหารครั้งหนึ่งนั้นจะมีตัววิเชียรเป็นประธานและบรรดาผู้บริหารของแต่ละบริษัทรวมแล้วกว่า 20 คน

พรีเมียร์โกลเบิลจะแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่ม คือ หนึ่ง - กลุ่มการค้าต่างประเทศ สอง - กลุ่มการค้าภายในประเทศ สาม - กลุ่มการผลิต สี่ - กลุ่มการเงิน

บริษัทในเครือที่น่าจะมีบทบาทต่อไปมีด้วยกันหลายบริษัท เช่น พรีเมียร์อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นบริษัททำการค้าระหว่างประเทศ มียอดขายในแต่ละปีประมาณ 600-800 ล้านบาทต่อปี มีสาขาในสหรัฐอเมริกาสองแห่งและมีเอเย่นต์ธุรกิจทั่วโลกจำนวน 48 แห่ง บริษัทนี้เป็นบริษัทหลักที่วิเชียรรับผิดชอบดูแลมาตั้งแต่ปี 2523

พรีเมียร์ซัพพลายเป็นบริษัทในเครือที่เก่าแก่ที่สุด มีสาขาอยู่ในหลายจังหวัด ล่าสุดซิตี้คอร์ปและเอไอจี (บริษัทแม่ของเอไอเอในประเทศไทย) ได้เข้ามาถือหุ้นด้วย บริษัทละ 2.5% จากทุนจดทะเบียน 200 ล้านซึ่งนอกเหนือเหตุผลทางธุรกิจที่ว่าอนาคตของธุรกิจเช่าซื้อน่าจะไปได้ไกลและผลตอบแทนน่าจะคุ้มค่าการลงทุนแล้ว แหล่งข่าวกล่าวว่า การร่วมถือหุ้นดังกล่าวสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของวิเชียรกับซิตี้คอร์ปและเอไอจี โดยเฉพาะซิตี้คอร์ปนั้นเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่เป็นสะพานเชื่อมในการร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศแห่งอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี

ผลประกอบการในปี 2532 พรีเมียร์ซัพพลายมีสินทรัพย์ 1,600 ล้าน ยอดขาย 1,200 ล้าน กำไรสุทธิ 60-70 ล้าน และกำลังให้ธนสยามศึกษาเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์

พีเอ็มฟู้ดเป็นบริษัทร่วมทุนกับชาวไต้หวันรับผลิตปลาสวรรค์ทาโร่ ซึ่งมีผลประกอบการดีพอที่อาจจะเป็นบริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้เป็นบริษัทแรกของกลุ่ม บริษัทมียอดขายประมาณ 100 ล้านบาท กำไร 12 ล้าน และกำลังลงทุนเพิ่มอีก 50 ล้าน เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ คือ ของขบเคี้ยวประเภทถั่ว

พรีเมียร์โพรดักส์และพีพีเซ็นเตอร์เป็นบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยเฉพาะบริษัทแรกตั้งมาตั้งแต่ปี 2517 โดยพรีเมียร์โพรดักส์เป็นบริษัทผลิตถังน้ำพีพ ถังไบโอเซฟท์ ถังแซทส์ ซึ่งผลิตจากไฟเบอร์กลาส และพีพีเซ็นเตอร์รับจัดจำหน่าย มียอดขายประมาณ 300 ล้านบาท

พรีเมียร์บาวาเรียไลน์เป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท FISHCHER & MENZEGHBH จากรัฐบาวาเรีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ผลิตเครื่องสุขภัณฑ์อะคลีลิค ให้กับคอตโต้ โดยใช้เงินลงทุน 35 ล้านบาท มีโรงงานอยู่ที่หนองจอกบนพื้นที่เกือบ 4 ไร่ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2531

พรีเมียร์โฟรเซ่นฟู้ดโปรดักส์เป็นโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารทะเลแปรรูป รวมไปถึงผักผลไม้แปรรูป เป็นการลงทุนเองของกลุ่มเป็นเงิน 131 ล้านบาท มีโรงงานอยู่ที่ถนนบางนา-ตราด เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ มีกำลังการผลิต 8,800 ตันต่อปี ส่งออก 80% ตลาดใหญ่คือญี่ปุ่น

พรีเมียร์อุตสาหกรรมกระเป๋า เป็นโรงงานผลิตกระเป๋าเดินทางเพื่อการส่งออก ลงทุนโดยกลุ่มพรีเมียร์เองทั้งหมดเป็นมูลค่า 53 ล้านบาท

แต่เดิมนั้นพรีเมียร์อินเตอร์เนชั่นแนลทำตลาดส่งออกมีสินค้าประมาณ 80 ชนิด มีมูลค่าส่งออกปีหนึ่ง ๆ ประมาณ 600-800 ล้าน ดังนั้นเมื่อโรงงานเหล่านี้สามารถเดินเครื่องผลิตได้เต็มกำลังพรีเมียร์อินเตอร์เนชั่นแนลก็จะมีสินค้าเป็นของตนเอง และยอดขายก็น่าจะเพิ่มเป็นพันล้านได้อย่างแน่นอน

ธุรกิจอีกด้านหนึ่งที่เพิ่งมารวมกับพรีเมียร์กรุ๊ป คือ บริษัทเครือเนาวรัตน์พัฒนาการ ซึ่งประกอบธุรกิจกุ้งกุลาดำและรับเหมาก่อสร้าง บริษัทนี้เคยเป็นการร่วมทุนระหว่างเสรีและมานะ กรรณสูต เครือญาติของหมอชัยยุทธ กรรณสูต แห่งอิตัลไทย ต่อมาโอสถสภาเทคโอเวอร์ไป แต่ครั้งล่าสุดเสรีเล่าว่า เขาและพรีเมียร์กรุ๊ปได้ซื้อคืนกลับมาแล้ว แต่ยังให้มานะ กรรณสูต รับผิดชอบอยู่ในส่วนบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ล่าสุดปรากฏว่า บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการแห่งนี้ได้รับมอบหมายให้ก่อสร้างอาคารประชุมเวิลด์แบงก์จากกระทรวงการคลังอีกด้วย !

ส่วนบริษัทเนาวรัตน์ซีกที่ทำกิจการกุ้งกุลาดำนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า กิจการด้านนี้ค่อนข้างใหญ่มาก มีที่ดินสำหรับเลี้ยงกุ้งกุลาดำถึงหมื่นกว่าไร่ มียอดขายไม่ต่ำกว่า 3 พันล้าน และกุ้งกุลาดำที่ได้มาก็เข้าห้องเย็นของพรีเมียร์กรุ๊ปที่กำลังจะก่อสร้างขึ้นในเร็ววันนี้ และพรีเมียร์อินเตอร์เนชั่นแนลก็จะรับผิดชอบการจัดจำหน่ายในต่างประเทศ

โรงงานผลิตซ๊อสและปลากระป๋องโรซ่าซึ่งถูกรวมอยู่ในบริษัทเอสจีไอ (สยามกล้าสอินดัสตรี) ของโอสถสภาก็อยู่ในระหว่างการเจรจามารวมอยู่ในพรีเมียร์กรุ๊ป ซึ่งอาจจะตั้งชื่อหลังจากรวมว่า พรีเมียร์อุตสาหกรรมปลากระป๋องก็เป็นได้

นอกเหนือจากนี้ ก็จะมีบริษัทซันโย ยูนิเวอร์แซล อิเลคทริค ที่ถูกจัดมารวมในพรีเมียร์กรุ๊ปด้วย เป็นการร่วมลงทุนกับซันโยจากญี่ปุ่นเพื่อผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า พรีเมียร์โกลเบิลที่หุ้นอยู่ในราว 30%

บริษัทที่นอกเหนือจากนี้ยังไม่มีบทบาทเด่นชัดเจน

แม้ไม่มีตัวเลขยอดขายโดยรวมทั้งพรีเมียร์กรุ๊ปอย่างเป็นทางการ แต่วิเชียร พงศธร กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วมียอดขายประมาณ 6-7 พันล้าน !

หากตัดพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งออกไปก็คงต้องลดออกไปประมาณ 1 พันล้านกว่าบาท แต่ถ้าหากรวมกลุ่มบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ พรีเมียร์กรุ๊ปก็จะมียอดขายปาเข้าไปถึงหมื่นล้านบาท !

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พรีเมียร์ซัพพลายก็ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้เข้าไปฟื้นฟูบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงอินเวสเม้นท์ (เอ็มไอที) ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนในโครงการ 4 เมษายน

กรณีดังกล่าวถูกโยงไปว่า จีเอฟ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในเครือโอสถานุเคราะห์เหมือนกัน ไม่สนับสนุนพรีเมียร์กรุ๊ปดังก่อนแล้ว พรีเมียร์กรุ๊ปจึงต้องหาทางออกหรือไม่ก็เป็นการแข่งขันระหว่างเขยสองคน สองสายธุรกิจ คือ ระหว่างวิเชียรและชินเวศ ที่ต้องแยกอิสระจากกันโดยเด็ดขาดและสร้างฐานทางธรุกิจขึ้นมาคนละกลุ่ม

กรณีดังกล่าว ผู้ใกล้ชิดวิเชียรและผู้บริหารระดับสูงของพรีเมียร์กรุ๊ปให้เหตุผลว่า มันไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่าเหตุผลทางการลงทุน

"กรรมการบริษัทเห็นผลตอบแทนในอนาคตน่าจะดีก็เลยยื่นเรื่องขอฟื้นฟูเข้าไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว" แหล่งข่าวกล่าว

เหตุผลนอกเหนือจากนั้นก็คือ ไม่ว่าบริษัทใดหรือสถาบันการเงินใดก็ไม่ควรไปยึดอยู่กับคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้เสียโอกาสในการลงทุนไป นอกจากนั้นจีเอฟก็ไม่ใช่ของพรีเมียร์กรุ๊ปเสียคนเดียว

แหล่งข่าวอธิบายว่า ในปัจจุบันพรีเมียร์ซัพพลายซึ่งจีเอฟให้การสนับสนุนนั้นมีวงเงินในการให้บริการเช่าซื้อประมาณ 2,000 ล้าน ใช้แหล่งเงินจากจีเอฟประมาณ 25% นอกนั้นมาจากสถาบันการเงินแห่งอื่น และมีแนวโน้มว่ายอด 25% นี้จะลดลงไปเรื่อย ๆ

"จีเอฟเขาเป็นมืออาชีพ เขาต้องกระจายความเสี่ยงและไม่ว่าจีเอฟเป็นของกลุ่มสุวิทย์และเสรีทั้งหมด แต่จริง ๆ แล้ว ทั้งก่อนปรับโครงสร้างสุวิทย์และเสรีก็ยังถือแค่ 51% เท่านั้น และอีกอย่างนครหลวงอินเวสท์เม้นท์ก็จะไม่มีเงินปันผลอยู่ถึง 6 ปี ซึ่งถ้าไม่ใช่บริษัทเพื่อการลงทุนโดยเฉพาะก็จะไม่ทำ ดังนั้นพรีเมียร์โกลเบิลน่าจะเหมาะในการลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนในอนาคตที่ค่อนข้างไกลพอสมควร คือ นครหลวงอินเวสท์เม้นท์เป็นบริษัทที่ต้องอาศัยการฟื้นฟูนานพอดู ก็คุณเห็นไหมมีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ไหนเขาเข้าไปลงทุนในโครงการ 4 เมษาก็เพราะมันไปดึงเงิน เงินก็จม คนเลยเข้าใจผิดว่า จีเอฟไม่สนองตอบหรือเปล่า ไม่ใช่มันเป็นเหตุผลของการลงทุนเท่านั้น และเหตุผลของการฟื้นฟูที่ต้องอาศัยวิถีทางการตลาดและฐานการเงินเราก็ควรเอาฐานภายนอกไม่ใช่เอาฐานภายในเข้ามา ซึ่งยิ่งทำให้มันดึงเงิน มันก็ไม่ DIVERSIFY ซิมันไม่มีอะไรดีขึ้น" แหล่งข่าวกล่าว

แต่พรีเมียร์กรุ๊ปก็ไม่สามารถเข้าไปบริหารในสถาบันการเงินแห่งนี้ได้โดยลำพัง จำเป็นต้องหาบริษัทร่วมลงทุน ซึ่งวิเชียรก็ได้เอไอจี บริษัทประกันภัย ยักษ์ใหญ่ของโลก

เหตุผลก็คือ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งเอไอจีมีเต็มเปี่ยม และวิธีการบริหารสาขา ซึ่งเอไอจีจะเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เพราะสถาบันการเงินที่ต้องการการฟื้นฟูจะต้องมีสาขาเครือข่ายที่เอื้ออำนวยต่อการหารายได้

ในนครหลวงอินเวสท์เม้นท์ พรีเมียร์จะถือหุ้น 51% และเอไอจี 49%

ดังนั้นหากสรุปบริษัทในเครือพรีเมียร์กรุ๊ปทั้งหมด จะพบว่า ในช่วงนี้คือช่วงก่อร่างสร้างตัวที่จะก้าวไปข้างหน้า พรีเมียรกรุ๊ปกำลังจะมีทั้งฐานทางการเงิน ฐานการผลิต บริษัททำการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

"พรีเมียร์กรุ๊ปจะเน้นนโยบายสองประการ คือ เป็นบริษัทการตลาดที่เน้นโครงสร้างช่องทางการจัดจำหน่าย และจะลงทุนหรือร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับช่องทางการจัดจำหน่ายของเรา" วิเชียรกล่าวสรุปนโยบายของกลุ่มอย่างง่าย ๆ กับ "ผู้จัดการ"

"อนาคตของพรีเมียร์เป็นอย่างไร เรามองอนาคตด้วยความมั่นใจ เรามองเมืองไทยไม่ได้ เป็นอย่างเมืองไทยทุกวันนี้ เรามองอย่างออสเตรเลีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เรามอง AREA BUSINESS อย่างทั่วโลก เราเป็น PROFESSIONAL มากขึ้น เรามี OUTLET ในต่างประเทศ มีต่างประเทศเข้ามาร่วมทุนและจะไปลงทุนในต่างประเทศในจุดที่เราเกี่ยวข้อง" แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดกับวิเชียรกล่าวถึงอนาคตอย่างเชื่อมั่น

ซึ่งแน่นอนบทบาทเช่นนี้จะต้องไม่พ้นวิเชียร พงศธร CHIEF EXECUTIVE ของพรีเมียร์โกลเบิลนั่นเอง !

ประมาณเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ บริษัทในเครือพรีเมียร์กรุ๊ปทั้งหมดจะย้ายไปรวมกันอยู่ "พรีเมียร์ คอร์ปอเรทปาร์ค" ที่ถนนศรีนครินทร์ ณ ที่นั่นจะเป็นการประกาศตัว "พรีเมียร์กรุ๊ป" อย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก ส่วนอาครที่หลังสวนนั้นจะถูกทุบทิ้ง และพัฒนาเป็น "หลังสวน คอมเพล็กซ์" อาคารสูง 26 ชั้น ดำเนินงานโดยบริษัทเชสเตอตัน บริษัทในเครือจีเอฟโฮลดิ้ง ซึ่งทางจีเอฟโฮลดิ้งก็จะอาศัยอาคารแห่งนี้เป็นสำนักงานใหญ่ไปด้วย และนั่นก็จะเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่ทั้งพรีเมียร์กรุ๊ปและจีเอฟโฮลดิ้งจะแยกกันให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้ง วิเชียร พงศธร และชินเวศ สารสาส ต่างก็ต้องดำเนินชีวิตกันไปตามวิถีแห่งความเป็นนักธุรกิจที่มีสายตาอันยาวไกล โดยมีเสรี คุณหญิงมาลาทิพย์และครอบครัวของคนทั้งสองเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด

ณ วันนี้ แม้พรีเมียร์กรุ๊ปและจีเอฟโฮลดิ้ง จะยังมีสายสัมพันธ์แห่ง "โอสถานุเคราะห์" ยึดเหนี่ยวต่อกันอยู่ แต่บริษัททั้งสองก็ได้พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นบริษัทที่แทบจะเรียกได้ว่าไม่ได้เป็นบริษัทในครอบครัวอีกต่อไปแล้ว และกำลังก้าวสู่ธุรกิจโลกอย่างเชื่อมั่นต่อไปอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นความแปลกใหม่ในสายตาของบุคคลทั่วไป หรือแม้แต่ในความรู้สึกของคนในตระกูล "โอสถานุเคราะห์" ด้วยกันเอง แต่หลายคนเชื่อว่า หากสุวิทย์ โอสถานุเคราะห์ ผู้เริ่มต้นธุรกิจโอสถานุเคราะห์สายจีเอฟโฮลดิ้งและพรีเมียร์โกลเบิลยังมีชีวิตอยู่ถึงวันนี้...เขาคงมีความสุข...

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us