|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (16 ต.ค.) ตลาดหุ้นผันผวนหนักเนื่องจากเริ่มมีความกังวลต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ทั้งในสหรัฐอเมริการและในไทยจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) แม้ว่าจะมีแรงซื้อเข้ามาอย่างหนาแน่นในหุ้นกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะหุ้น PTT ที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 20 บาทมาปิดที่ 386 บาท โดยดัชนีปรับตัวลดลงมาปิดที่ 894.53จุด ลดลง 2.57 จุด หรือ 0.29% โดยระหว่างวันดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นทะลุ 900 จุดอีกครั้งไปสูงสุดที่ 908.83 จุด ขณะที่ต่ำสุดอยู่ที่ 892.88 จุด มูลค่าการซื้อขาย 34,683.35 ล้านบาท
ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,065.68 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1,301.88 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 763.80 ล้านบาท
นางสาววิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคิน จำกัด กล่าวว่า นักลงทุนเริ่มกังวลต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่จะเริ่มประกาศออกมา เนื่องจากยังไม่สามารถประเมินถึงผลกระทบจากซับไพรม์ได้อย่างชัดเจนจนส่งผลทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง จนส่งผลทำให้หุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มน้ำมัน 5 บริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างรุนแรง จนทำให้ต้องพักฐานบ้าง และมีแรงขายทำกำไรออกมาเมื่อดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 900 จุด ซึ่งคาดว่าอาจจะต้องเวลาอีกซัก 2-3 วันโดยจะต้องประเมินทิศทางตลาดหุ้นอีกครั้งในช่วงสัปดาห์หน้า
"หุ้น 5 ตัวในกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลต่อดัชนีประมาณ 10 จุด ซึ่งหากหุ้น 5 บริษัทดังกล่าวไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นดัชนีจะปรับตัวลดลงมากกว่านี้ค่อนข้างมาก"นางสาววิริยากล่าว
นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และกลยุทธ์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า มีการเข้ามาเก็งกำไรหุ้นในกลุ่มพลังงานค่อนข้างมาก แต่ยังต้องจับตาทิศทางของนักลงทุนต่างชาติว่าจะยังเข้ามาซื้อหุ้นในตลาดหุ้นไทยอีกหรือไม่ โดยหุ้น 3 กลุ่มหลักที่นักลงทุนต่างลงทุน คือ พลังงาน ปิโตรเคมี และเดินเรือ ในส่วนของหุ้นธนาคารมีแรงขายออกมาค่อนข้างมากเนื่องจากคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานอาจจะไม่ดีนัก
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.นครหลวงไทย กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทย ถือว่าน้อยกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาครวมทั้งตลาดหุ้นในสหรัฐฯ เนื่องจากมีแรงซื้อเข้ามาค่อนข้างหนาแน่นในหุ้นกลุ่มน้ำมัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นหุ้นในกลุ่มที่ช่วยพยุงดัชนีวานนี้
น้ำมันพุ่ง86.13เหรียญ/บาร์เรล
สำหรับราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสร้างสถิติสูงสุดครั้งใหม่โดยราคาน้ำมันตลาดเวสต์เทกซัสของสหรัฐปรับขึ้นไปถึง 86.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
นายธีระพจน์ วัชราภัย ประธานบริษัทเชลล์ในประเทศไทย กล่าวว่า ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังเกิดสถานการณ์ความตึงเครียดในตุรกี เนื่องจากรัฐบาลขอให้รัฐสภาอนุมัติปฏิบัติการโจมตีกลุ่มแยกดินแดนชาวเคิร์ดที่อยู่ทางตอนเหนือของอิรัก
ทั้งนี้ หากพิจารณาปริมาณกำลังผลิตและความต้องการของตลาดโลกแล้ว ยังถือว่าไม่ได้เป็นปัจจัยที่ราคาต้องปรับขึ้นแต่อย่างใด โดยมีผู้เชี่ยวชาญบางแห่งคาดว่าราคาน้ำมันจะลดลงมาถึง 60 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่บางค่ายคาดว่าจะขึ้นไปถึง 90-100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
"ไซแมทฯ"พร้อมเทรด12 ธ.ค.
นายวิชา โตมานะ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.ไซแมท เทคโนโลยี เปิดเผยว่า บมจ.ไซแมทฯ จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 18.75 ล้านหุ้นในวันที่ 27-29 พ.ย.นี้ และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ได้ภายในวันที่ 12-14 ธ.ค.นี้
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถสรุปราคาขายเสนอได้ในช่วงสัปดาห์หน้า เพราะต้องนำตัวเลขงบการเงินของบริษัทในช่วงไตรมาส 3/50 มาประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดราคาขาย โดยคาดว่าจะได้เงินจากการระดมทุนในครั้งนี้ประมาณ 100 ล้านบาท
สำหรับบมจ.ไซแมทฯ เป็นผู้ให้บริการจัดจำหน่ายคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่และพัฒนาโปรแกรมการใช้งานคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่แบบครบวงจร สำหรับระบบการจัดเก็บและจัดการข้อมูลภายในองค์กร ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบการบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กร ของบริษัทลูกค้า โดยบริษัทฯมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีบาร์โค้ด และ Radio Frequency Identification(RFID) โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจค้าปลีก คลังสินค้า ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจการผลิต รวมถึงภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ
|
|
 |
|
|