|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
- การเมืองไม่นิ่ง เศรษฐกิจชะลอ กระทบเมกะโปรเจกต์สะดุดยาว
- งานราชการหดหาย งานเอกชนชะลอรอดูสถานการณ์หลังเลือกตั้ง รับเหมาไทยฝันค้างเลิกรอโครงการรถไฟฟ้า พร้อมรุกรับงานต่างประเทศ
- เตือนรับงานดูไบแม้กำไรดี แต่เจอปัญหาสารพัด ร้องรัฐไทยเร่งหามาตรการส่งเสริมช่วยเหลือผู้รับเหมาเร่งด่วน
- นับตั้งแต่ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยแรงสนับสนุนของ คมช. หลังปฏิรูปทางการเมืองเพื่อล้มล้างอำนาจของรัฐบาลชุดเก่าได้สำเร็จ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทุกภาคอุตสาหกรรมอยู่ในภาวะชะลอการลงทุน เนื่องจากไม่มั่นใจในนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมืองของรัฐบาล หลังจากพบว่า นโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศออกมามักกลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดี
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างหนักเช่นเดียวกัน เนื่องจากสถานะที่เป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราว ทำให้ไม่เหมาะสมที่จะอนุมัติการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อลงทุนโครงการขนาดใหญ่ จึงทำให้เม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐหดหายไปจากระบบ ซึ่งหมายถึงการขาดลูกสูบ ซึ่งเป็นอะไหล่ตัวสำคัญที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าอีกทางหนึ่ง
แม้รัฐบาลจะย้ำทุกครั้งว่าจะต้องเดินหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย ได้แก่ สายสีแดง (รังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชัน), สายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) และสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ, หัวลำโพง-บางแค) ให้ทันก่อนเลือกตั้งใหม่ โดยทุกสายจะต้องมีการประมูลหาผู้รับเหมาให้เสร็จสิ้นในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งกลายเป็นการสร้างความหวังของผู้รับเหมาที่จะมีงานเข้ามาหล่อเลี้ยงในภาวะวิกฤตได้ แต่ในความจริงกลับพบว่า มีอุปสรรคต่างๆ ที่น่าจะทำให้ไม่สามารถประมูลได้ทัน ได้แก่ การหาแหล่งเงินทุนเพื่อก่อสร้าง การเวนคืน และการปรับแผนงานใหม่อยู่ตลอดเวลา
แม้หลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่า ตัวเต็งที่จะชนะประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าน่าจะตกเป็นของผู้รับเหมารายใหญ่ที่เคยมีประสบการณ์ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายปัจจุบันมาก่อน แต่ความยืดเยื้อของแผนงาน และความไม่แน่นอนต่างๆ ที่มีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาลชุดเก่ามาจนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันทำให้ผู้รับเหมาเกิดความไม่มั่นใจ จำเป็นที่จะต้องเบนเข็มธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ๆ เพื่อเอาตัวรอดในภาวะที่การลงทุนก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนยังถดถอยอย่างหนัก ซึ่งหลายรายที่มีความพร้อมก็เลือกที่จะไปรุกตลาดก่อสร้างในต่างประเทศ แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบางรายก็เคยมีประสบการณ์มาแล้วหลายปี แต่ก็เห็นได้ว่าในช่วงนี้มีการขยายเข้าไปรับงานในต่างประเทศมากขึ้นกว่าเดิม
แหล่งข่าวในวงการผู้รับเหมาก่อสร้าง กล่าวว่า แม้การเข้าไปรับงานก่อสร้างในต่างประเทศจะได้กำไรสูงกว่างานก่อสร้างในประเทศ แต่ก็มีต้นทุนค่าเดินทาง ค่าขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้าง และต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย รวมทั้งหลักเกณฑ์การลงทุนของประเทศนั้นๆ ที่จะต้องศึกษาให้ละเอียด ซึ่งเมื่อเทียบแล้วหากภาวะตลาดในประเทศไม่ถดถอยมากจริงๆ ก็ยังขอเลือกที่จะรับงานในประเทศมากกว่า
สังเกตได้ว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ไปรับงานในต่างประเทศส่วนใหญ่ เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีความพร้อมในฐานเงินทุน และบุคลากรพอสมควร เช่น อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ (ITD) , ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) , ช.การช่าง (CK) ที่เน้นรับงานระบบในประเทศลาวถึง 72% , พาวเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (PLE), แอสคอน คอนสตรัคชั่น (ASCON) เป็นต้น โดยแต่ละรายมีการเข้าไปรับงานในประเทศต่างๆ ทั้งเอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา เป็นต้น ในขณะที่บริษัทขนาดเล็กที่ ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการเข้าไปรับงานต่างประเทศ เนื่องจากความไม่พร้อมในหลายด้าน ยกเว้นแต่เป็นการรับเหมาช่วงต่อจากบริษัทรายใหญ่เท่านั้น
รุมทึ้งงานตะวันออกกลาง
เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลายเป็นเป้าหมายแรกๆ ที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างเข้าไปรุกตลาดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมานพ พงศทัต อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เนื่องจากพื้นฐานของดูไบเป็นเมืองท่าส่งออกน้ำมันดิบ ซึ่งสร้างรายได้มหาศาล จนกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวย มีเม็ดเงินไปลงทุนในทั่วโลก แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 11 ก.ย. ที่สหรัฐอเมริกา นักลงทุนชาวตะวันออกกลางที่เคยลงทุนอยู่ในประเทศแถบยุโรป อเมริกาถูกจับตามองในแง่ลบ จึงทำให้ต้องมาลงทุนในประเทศแถบตะวันออกกลางแทน
นอกจากนี้กลุ่มเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์ดูไบ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ได้รับการศึกษามาจากต่างประเทศก็มองว่า ในอนาคตน้ำมันดิบจะต้องหมดไป หนทางที่จะสร้างรายได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องพึ่งพิงรายได้จากการขายน้ำมันดิบ คือ การท่องเที่ยว ด้วยการเปลี่ยนโฉมเมืองเดิมด้วยที่เคยเป็นทะเลทรายให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งใหม่ของโลก ซึ่งสิ่งที่จะมาพลิกโฉมหน้าของเมืองทะเลทรายก็หนีไม่พ้นอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ เน้นการสร้างจุดขายที่แตกต่าง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่แปลกตา สวยงาม และมีความทันสมัย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ เช่น การถมดินสร้างเกาะรูปต้นปาล์มกลางทะเลในชื่อโครงการปาล์ม จูไมราห์ และการสร้างเกาะรูปลูกโลก ในโครงการ The World ซึ่งภายในเกาะจะมีโรงแรม รีสอร์ต ศูนย์การค้า ฯลฯ เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์แบบ
เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการพลิกโฉม ทำให้ขณะนี้ตลาดก่อสร้างในดูไบกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงกลายเป็นตลาดใหญ่ที่ผู้รับเหมาไทยจะต้องแข่งขันกับผู้รับเหมาจากทั่วโลก เช่น ยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น รวมทั้งจีน ซึ่งมีข้อได้เปรียบในเรื่องราคา
ปัญหารับเหมาดูไบ
วัชรพัธ วัชราภัย ผู้จัดการทั่วไป แผนกธุรกิจใหม่และวางแผนกลยุทธ์ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาขนาดกลางที่มีประสบการณ์เข้าไปรับงานก่อสร้างรีสอร์ตในเครือเซเว่น ไทด์ ร่วมกับอิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ กล่าวว่า แม้งานที่ดูไบจะได้ราคาและกำไรดีกว่างานในประเทศ แต่ต้องเจอปัญหา คือ ค่าครองชีพสูง , การขอวีซ่า และใบอนุญาตทำงานของแรงงานไทย ใช้เวลานานและยุ่งยาก หากจะใช้แรงงานในประเทศใกล้เคียงแทน เช่น ปากีสถาน อินเดีย ก็หาได้ยาก เพราะดูไบมีนโยบายควบคุมการเข้ามาของแรงงานต่างชาติ นอกจากนี้กฎเกณฑ์ของดูไบยังกำหนดให้ผู้รับเหมาที่เข้าไปลงทุนต้องจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งต้องมีคนในประเทศถือหุ้นอยู่ด้วยไม่น้อยกว่า 51-60%
กระจายความเสี่ยงสู่ธุรกิจใหม่
ปัจจุบันเนาวรัตน์พัฒนาการมีสัดส่วนการรับงานในต่างประเทศ 20% ของมูลค่างานในมือ ซึ่งกระจายอยู่ในประเทศอื่นๆ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา และอยู่ในระหว่างการศึกษาตลาดแอฟริกา เช่น ซูดาน ลิเบีย ไลบีเรีย เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะมีดีมานด์ในการก่อสร้างงานประเภทสาธารณูปโภค นอกจากนี้ยังมีการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจใหม่ คือ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการร่วมทุนกับชาญอิสสระ (CI) จัดตั้งบริษัท ซี.ไอ.เอ็น เอสเตท จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการดิ อิสสระ ลาดพร้าว คอนโดมิเนียมสูง 51 ชั้น รวม 539 ยูนิตที่ ซ.ลาดพร้าว 12 มูลค่าโครงการ 2,200 ล้านบาท ราคาเริ่มต้น 2.2 ล้านบาท ขณะนี้มียอดขายแล้ว 30%
มองตลาดอินเดีย
ภูมิสัน โรจน์เลิศจรรยา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะไปรับงานในต่างประเทศเป็นครั้งแรกเช่นกัน โดยอยู่ในระหว่างการศึกษาตลาดอินเดีย ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจกำลังเติบโต จึงมีงานให้ทำมาก เช่น ถนน สะพาน ศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม และรัฐบาลมีการส่งเสริมให้ไปลงทุนอย่างเสรี ซึ่งตลาดก่อสร้างอินเดียจะเป็นงานระดับทั่วไป แตกต่างจากดูไบที่เป็นโครงการระดับไฮเอนด์
รัฐบาลไทยขาดมาตรการส่งเสริม
อังศุรัศมิ์ อารีกุล เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้รับเหมาที่จะไปรับงานต่างประเทศจะไปแบบต่างคนต่างไป รัฐบาลไทยยังไม่มีการส่งเสริมให้ผู้รับเหมาไทยรุกตลาดต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่ผู้รับเหมาพบ คือ การเงิน บุคลากร วัฒนธรรมและกฎระเบียบของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่าง ซึ่งสมาคมฯ ได้เคยนำมาปรึกษากับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้า เพื่อหาแนวทางช่วงเหลือในการปรับปรุงคุณภาพ และมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม
|
|
|
|
|