ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ ประธานผู้อำนวยการบริหารของยูนิคอร์ดและบัมเบิ้ล
บี เขาเริ่มต้นด้วยการมองเห็นความจำเป็นของการพึ่งตัวเองทางการตลาด แล้วตัดสินใจเดินหน้าด้วยทีมงานมือดี
การวางแผนอย่างรอบคอบและการเลือกที่ถูกต้อง จนความตั้งใจกลายเป็นจริง
ยูนิคอร์ดบรรลุจุดมุ่งหมายในการสร้างที่มั่นทางการตลาดของตนด้วยการซื้อกิจการบริษัทบัมเบิ้ล
บี ซีฟู้ดส์ ได้สำเร็จเมื่อหกเดือนที่แล้ว แต่เรื่องนี้ยังไม่จบเพราะหนี้ส่วนหนึ่งจำนวน
65 ล้านเหรียญที่กู้มาซื้อบัมเบิ้ล บี มีต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และอาจมีผลต่อความเป็นเจ้าของบัมเบิ้ล
บี ดำริห์ ก่อนันทเกียรติมีเวลาถึงเดือนกรกฎาคมนี้เท่านั้นที่จะต้งอหาทางออกให้ได้
!!
ปฏิบัติการเพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าของบัมเบิ้ล บี ของดำริห์ ก่อนันทเกียรติ
เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วเมื่อ GRAND METROPOLITAN PLC. บริษัทธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของอังกฤษที่เป็นเจ้าของบริษัท
PILLSBURY ในอเมริกาประกาศขายธุรกิจเฉพาะที่เป็นกิจการด้านอาหารทะเลของบริษัท
PILLSBURY โดยวิธีการประมูลบัมเบิ้ล บี เป็นหนึ่งในกิจการที่ GRAND METROPOLITAN
ประกาศขายในครั้งนั้นด้วย
ยูนิคอร์ดเป็นหนึ่งในสิบห้าบริษัทที่เข้าร่วมการประมูล และเป็นหนึ่งในห้าที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกเข้าไปตรวจสอบข้อมูลใน
DATA ROOM ที่บัมเบิ้ล บี จัดให้ผู้เข้าประมูลเพื่อตรวจสอบในรายละเอียดทั้งด้านบัญชี
การเงิน กฎหมาย และการผลิตของบัมเบิ้ล บีเอง
การประมูลครั้งสุดท้ายมีขึ้นเมื่อกลางเดือนสิงหาคมและยูนิคอร์ดชนะไปด้วยราคา
269 ล้านเหรียญ การเซ็นสัญญาซื้อขายและชำระเงินมีขึ้น เมื่อวันที่ 19 กันยายนปีที่แล้ว
ที่ โรงแรมเดอะพลาซ่า ในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
ปัจจัยเรื่องคู่แข่งไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับยูนิคอร์ดในการประมูลครั้งนี้
เพราะถึงแม้จะต้องประกบกับมิตซูบิชิจากญี่ปุ่นพร้อมกว่าในทุก ๆ ด้านและเสนอราคาสูงสุด
แต่มิตซูบิชิซึ่งมีส่วนแบ่งใหญ่ในตลาดปลาทูน่าสหรัฐฯ อยู่แล้วเจอกับข้อจำกัดของกฎหมายป้องกันการผูกขาดของสหรัฐฯ
ทำให้หมดสิทธิในการประมูลครั้งนี้ ยูนิคอร์ดจึงอยู่ในฐานะผู้เสนอราคาดีที่สุดไปโดยปริยาย
เงื่อนไขใหญ่กลับเป็เนรื่องการเงินที่ยูนิคอร์ดจะต้องจ่ายเงิน 269 ล้านเหรียญเป็นเงินสดทันทีในวันเซ็นสัญญา
ในขณะที่มีเวลาไม่ถึงเดือนนับจากวันที่ยูนิคอร์ดชนะการประมูลครั้งสุดท้ายกลางเดือนสิงหาคมจนถึงกำหนดวันเซ็นสัญญาและจ่ายเงินกลางเดือนกันยายน
ยูนิคอร์ดถูกบีบด้วยเวลาที่จำกัดที่จะต้องหาเงินให้ครบ 269 ล้านเหรียญให้ได้
มิฉะนั้นแล้ว ความตั้งใจที่จะครอบครองตลาดปลาทูน่าในสหรัฐฯ โดยใช้บัมเบิ้ล
บี เป็นฐานจะต้องล้มเหลว
"เอาบัมเบิ้ล บี มาให้ได้ก่อน เรื่องอื่นว่ากันทีหลัง" เป็นยุทธศาสตร์เฉพาะหน้าที่สะท้อนความมุ่งมั่นของดำริห์และความสำคัญต่ออนาคตยูนิคอร์ดของบัมเบิ้ล
บี โดยไม่ยอมให้ข้อจำกัดอื่นมาเป็นอุปสรรคได้
หลังจากได้ชัยชนะในการประมูลซื้อบัมเบิ้ล บีแล้วในเดือนสิงหาคม 2532 ดำริห์ได้ตั้งบริษัทยูนิกรุ๊ป
(UNI GROUP Inc.) ขึ้นมาใหม่ เป็นบริษัทในเครือของยูนิคอร์ด เพื่อถือหุ้นในบัมเบิ้ล
บี บริษัทที่ใช้ชื่อยูนิกรุ๊ปนี้มีสองแห่ง แห่งแรกคือ ยูนิกรุ๊ปที่จดทะเบียนที่
BRITISH VIRGIN ISLANDS ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะในทะเลคาริบเบียน ซึ่งมีข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาว่า
ธุรกิจที่จดทะเบียนที่นี่แล้วไปทำกิจการในสหรัฐฯ ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในสหรัฐฯ
UNI GROUP Inc. (BRITISH VIRGIN ISLANDS) เป็นผู้ถือหุ้น 100% ใน UNI GROUP
Inc. (DELAWARE) ที่จดทะเบียนในรัฐ DELAWARE ของสหรัฐฯ ซึ่งเก็บภาษีถูกกว่ารัฐอื่น
UNI GROUP Inc. (DELAWARE) นี้คือบริษัทที่ถือหุ้นโดยตรงในบัมเบิ้ล บี
ยูนิคอร์ดถือหุ้น 75% ในยูนิกรุ๊ป ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่เรียกชำระก่อน 40 ล้านดอลลาร์ อีก 25% นั้นเป็นสัดส่วนของบริษัทเดินเรือฮ่องกงซึ่งเจ้าของเป็นเพื่อนและมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับกิจจา
พ่อของดำริห์มาสิบกว่าปีแล้ว บริษัทนี้ชื่อ POISSON SHIPPING Ltd.
"เรามีเงินไม่พอที่จะลงทุนทั้ง 40 ล้านเหรียญ" ดำริห์พูดถึงเหตุผลที่ต้องไปดึง
POISSON SHIPPING มาถือหุ้นด้วยอีก 10 ล้านเหรียญ
เงิน 30 ล้านเหรียญ ซึ่งยูนิคอร์ดลงไปในยูนิกรุ๊ปนั้น ดำริห์บอกว่าเป็นเงินสดที่เป็นกำไรของยูนิคอร์ดเอง
แต่ข้อมูลจากงบการเงินที่เป็นทางการของยูนิคอร์ดเอง แสดงไว้ว่า ยูนิคอร์ดขาดทุนมาตลอด
เพิ่งเริ่มมีกำไรจากการดำเนินงานในปี 2530 ซึ่งมีงวดบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่
30 มิถุนายนเป็นครั้งแรก
และจากงบการเงินของยูนิคอร์ดเองเช่นเดียวกันที่ปรากฏยอดขาดทุนสะสมอยู่จากงวดบัญชี
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2527 เป็นจำนวน 261 ล้านบาท จนถึงสิ้นงวดบัญชี ณ วันที่
31 ธันวาคม 2531 ก็ยังคงขาดทุนสะสมอยู่ 136 ล้านบาท
ยอดขาดทุนสะสมที่ลดลงนั้นเป็นผลจากกำไรสุทธิที่เริ่มมีตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา
และการเพิ่มทุนจาก 200 ล้านบาทเป็น 250 ล้านบาทเมื่อปี 2530 และจาก 250 ล้านบาทเป็น
300 ล้านบาทในปี 2531 จึงทำให้ทุนจดทะเบียนที่ติดลบมาโดยตลอดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจนเสมอตัวและเป็นบวกตั้งแต่ปี
2531
เงิน 30 ล้านเหรียญหรือประมาณ 750 ล้านบาท จึงน่าจะมีแหล่งที่มาที่ไม่ใช่กำไรจากการดำเนินงานของยูนิคอร์ดเอง
??
บันทึกรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทยูนิคอร์ดครั้งที่ 1/232 เมื่อวันที่
7 มิถุนายน 2532 และครั้งที่สอง 2/2532 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2532 ระบุว่า
ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นได้มีมติพิเศษให้บริษัทเปลี่ยนแปลงลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้จากเดิมหุ้นละ
100 บาทเหลือหุ้นละ 10 บาท พร้อมทั้งเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 400 ล้านบาทเป็น
600 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 20 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท
ว่ากันว่า เหตุผลในการออกหุ้นใหม่ครั้งนี้นั้นเพื่อหาเงินไปลงในยูนิกรุ๊ป
โดยที่ดำริห์นำหุ้นเพิ่มทุนครั้งใหม่นี้ไปขายและจำนำกับนักลงทุนทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและบุคคลที่ดำริห์รู้จักมักคุ้น
ส่วนที่ขายนั้นขายในราคาหุ้นละ 40-55 บาท ส่วนที่จำนำดำริห์ตั้งราคาไว้ที่
40 บาทต่อหุ้น โดยสัญญากับผู้รับจำนำไว้ว่า ภายใน 13 เดือน ยูนิคอร์ดจะเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
และจะเสนอขายหุ้นในราคา 55 บาท ผู้รับจำนำจะได้ส่วนต่าง 15 บาทนี้เป็นค่าตอบแทน
จำนวนหุ้นที่นำออกขาย และจำนำนี้ประมาณว่าไม่ต่ำกว่า 14 ล้านหุ้น และดำริห์ได้เงินไปลงทุนในยูนิกรุ๊ป
30 ล้านเหรียญโดยไม่ต้องควักกระเป๋าตัวเองเลย !!
เงิน 40 ล้านเหรียญเป็นเพียง 14% ของราคาที่ยูนิคอร์ดต้องจ่ายในการซื้อบัมเบิ้ล
บี 269 ล้านเหรียญเป็นราคาซื้ออีก 14 ล้านเหรียญเป็นค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างที่ปรึกษาการเงิน
กฎหมาย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมเป็น 283 ล้านเหรียญ ยังขาดอีก 243 ล้านเหรียญที่จะต้องกู้มาจากสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา
ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมปีที่แล้ว ดำริห์ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในนิวยอร์ค
ลอสแอนเจลิส และชิคาโกเพื่อเจรจาหาแหล่งเงินกู้
ถึงแม้ยูนิคอร์ดจะเป็นผู้ส่งออกปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดของโลก แต่เมื่อยกระดับขึ้นไปเล่นบนเวทีการซื้อกิจการระดับโลกเป็นครั้งแรกแล้วในวงการเงินระหว่างประเทศไม่มีใครรู้จักยูนิคอร์ด
จึงจำเป็นต้องใช้บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงมาเป็นเครื่องหมายรับประกันเครดิตของตัวเอง
และเป็นช่องทางในการเข้าไปถึงแหล่งเงินกู้ในสหรัฐอเมริกา
ที่ปรึกษาทางการเงินของยูนิคอร์ดในการซื้อบัมเบิ้ล บีครั้งนี้คือ เชส แมนฮัตตัน
ประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่ให้คำแนะนำและเสนอทางเลือกในโครงสร้างของเงินกู้ให้กับดำริห์นอกเหนือไปจากการเป็นหน้าเป็นตาให้กับยูนิคอร์ด
ดำริห์เองมีผู้ช่วยคนหนึ่งที่มีบทบาทเงียบ ๆ แต่ว่าสำคัญในการวางแผนซื้อบัมเบิ้ล
บีครั้งนี้ คือ วิเชษฐ บัณฑุวงศ์ กรรมการรองผู้จัดการอำนวยการด้านการเงินและบัญชีของยูนิคอร์ด
วิเชษฐเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มพีเอสเอ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
บ้านและที่ดินไทยระหว่าง พ.ศ. 2528 - 2529 และกรรมการบริหารบริษัทพัฒนาเงินทุนเมื่อปี
พ.ศ. 2519 - 2527 วิเชษฐเข้ามาร่วมงานกับยูนิคอร์ดเมื่อต้นปี 2531 จากการชักชวนของดำริห์เอง
งานนี้วิเชษฐดึงเอาจิตตเกษม แสงสิงแก้วที่เคยเป็นมือวางแผนและวิจัยของกลุ่มตึกดำเข้ามาเป็นกำลังสำคัญด้วยความรู้
ความสามารถ และแนวคิดสมัยใหม่ที่ล้ำหน้าพัฒนาการสังคมธุรกิจไทยเมื่อเจ็ดแปดปีก่อน
มาถึงวันนี้เป็นสิ่งที่สอดคล้อง และเป็นของจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจไทยที่มาถึงจุดของการขยายกิจการด้านการซื้อธุรกิจต่างประเทศ
บทบาทของวิเชษฐและจิตตเกษมจึงเป็นกลไกหลักตัวหนึ่งในแผนการของดำริห์ครั้งนี้
แหล่งเงินกู้ใหญ่ที่ยอมปล่อยเงินให้กับดำริห์ คือ HELLER FINANCIAL บริษัทการเงินในสหรัฐฯ
ที่อยู่ในเครือของ FUJI BANK จากญี่ปุ่น โดยให้เงินกู้มา 195 ล้านเหรียญ
ตามมูลค่าทรัพย์สิน และ GOODWILL ของบัมเบิ้ล บี ที่ดำริห์ต้องใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ไว้กับ
HELLER FINANCIAL
เงินกู้ 195 ล้านเหรียญนี้มีอัตราดอกเบี้ย 12% ต่อปี มีระยะเวลาการชำระคืน
8-10 ปี แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นทุนหมุนเวียนของบัมเบิ้ล บี 15
ล้านเหรียญ และส่วนที่นำไปซื้อบัมเบิ้ล บี 180 ล้านเหรียญ รวมกับเงินทุนจดทะเบียน
40 ล้านเหรียญแล้ว ดำริห์ยังต้องการเงินอีก 63 ล้านเหรียญ
"จากสิ้นเดือนสิงหาคมถึง 19 กันยายน เราทำงานหนักมาก ต้องประชุมถึงตีหนึ่งตีสองทุกคืน
เพื่อหาเงินสดมาให้ทัน ถ้าเราไม่ให้เงินสด เขาก็ต้องล้มการซื้อขาย"
แหล่งข่าวจากเชสแมนฮัตตัน พูดถึงแรงกดดันในช่วงนั้น
นอกจากเงื่อนเวลาที่เหลือเพียงแค่สองอาทิตย์แล้ว เงื่อนไขของเงินกู้ที่ดำริห์ต้องการอีก
65 ล้านเหรียญก็คือ เป็นเงินกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเลย เพราะทรัพย์สินของบัมเบิ้ล
บี ถูกใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ของ HELLER FINANCIAL ไปหมดแล้ว
ช่วงเวลาสองอาทิตย์ก่อนถึงวันที่ 19 กันยายนจึงมีความหมายที่สำคัญต่อดำริห์มาก
เพราะความตั้งใจความใฝ่ฝันที่จะสร้างหลักประกันในอนาคตของยูนิคอร์ดที่ลุล่วงมาได้ค่อนทางแล้วจะต้องพังทลายลง
ถ้าไม่สามารถหาเงินอีก 65 ล้านเหรียญมาได้ทันตามกำหนด
ยูนิคอร์ดถูกปฏิเสธจากธนาคารหลายแห่ง เพราะนอกจากจะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันแล้ว
เงินทุนจดทะเบียนในยูนิกรุ๊ปมีแค่ 40 ล้านเหรียญ แต่ต้องการก่อหนี้ถึง 280
ล้านเหรียญ ถ้าเป็นบริษัทอเมริกันเองคงไม่มีปัญหา แต่สำหรับนักลงทุนจากประเทศไทยที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน
(DEBTEQUITY RATIO) ที่สูงถึงเจ็ดเท่าตัว ทำให้ไม่มีใครอยากจะเสี่ยงกับยูนิคอร์ด
แต่ขณะเดียวกันก็มีสถาบันการเงินบางแห่งที่เสนอเงินกู้ให้กับดำริห์เหมือนกัน
โดยไม่ได้เรียกร้องหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่มีเงื่อนไขอยู่ข้อหนึ่งที่ดำริห์รับไม่ได้
คือ จะปล่อยกู้ในรูปของหุ้นกู้ที่จะแปรสภาพเป็นหุ้นสามัญของบัมเบิ้ล บี เมื่อครบกำหนดแล้ว
หรือขอสิทธิในการซื้อหุ้นหากบัมเบิ้ล บี จะขายหุ้นให้บุคคลภายนอกหรือเข้าตลาดหุ้นสัดส่วนที่ขอซื้อนั้นสูงถึง
20%
ดำริห์เชื่อว่า บัมเบิ้ล บี มีคุณภาพพอที่จะเข้าตลาดที่นิวยอร์ค หากยินยอมตามเงื่อนไขนี้เมื่อเข้าตลาดแล้วต้องเปลี่ยนเงินกู้เป็นหุ้นที่ราคาพาร์
ซึ่งคิดแล้วจะมีต้นทุนทางการเงินที่แพงกว่าดอกเบี้ยมาก "อัตราดอกเบี้ยอาจจะถูกก็จริงตกที่
8-9 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเมื่อคำนวณจากตอนที่เปลี่ยนเป็นหุ้นแล้ว อาจเท่ากับ
25-26% ต่อปี แพงมหาศาล" ดำริห์พูดถึงเหตุผลที่เขาต้องปฏิเสธเงินกู้ที่มีเงื่อนไขแบบนี้
อีกเหตุผลหนึ่ง คือ เรื่องสัดส่วนความเป็นเจ้าของบัมเบิ้ล บีของยูนิคอร์ดจะต้องลดลงหากใช้เงินกู้ที่แปรสภาพเป็นหุ้นได้
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ สำหรับคนที่ใช้ความพยายามอย่างมากในการซื้อกิจการจนสำเร็จแล้วต้องมาให้คนอื่นร่วมมีส่วนเป็นเจ้าของด้วย
"เมื่อเราใส่เงินขนาดนี้เข้าไป เราก็ไม่อยากเสียความเป็นเจ้าของ แม้จะหนึ่งเปอร์เซ็นต์ก็ตาม"
ดำริห์บอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องรู้สึกเช่นนี้
เมื่อเวลากระชั้นเข้ามา ในที่สุดดำริห์ก็ตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการใช้เงินกู้ที่เรียกกันว่า
BRIDGE LOAN จำนวน 65 ล้านเหรียญจาก BANKER TRUST
BRIDGE LOAN เป็นเงินกู้ระยะสั้น ๆ ที่ผู้กู้ใช้ในกรณีที่มีความต้องการใช้เงินเฉพาะหน้า
แต่ไม่มีเวลาพอที่จะหาเงินหรือยังไม่สามารถตัดสินใจเลือกใช้รูปแบบเงินกู้ที่เหมาะสมได้
หรืออยู่ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเงินมีความไม่แน่นอนสูงจนไม่อยากจะมีข้อผูกพันที่ตายตัวกับรูปแบบเงินกู้ที่แน่นอนก็สามารถเลือกใช้
BRIDGE LOAN เพื่อสนองความต้องการใช้เงินไปก่อน แล้วจึงค่อยแปรสภาพ BRIDGE
LOAN ไปเป็นเงินกู้ในรูปแบบอื่น
BRIDGE LOAN จึงเป็นเสมือนสะพานให้ก้าวข้ามความจำเป็นหรือความต้องการใช้เงินเฉพาะหน้าไปก่อน
เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ใช้ BRIDGE LOAN เอาไว้
ในกรณีของยูนิคอร์ด BRIDGE LOAN 65 ล้านเหรียญจาก BANKER TRUST ทำให้ก้าวพ้นเส้นตายในวันที่
19 กันยายน โดยได้บัมเบิ้ล บี มาไว้ในครอบครองไปก่อน แล้วจึงค่อยหาวิธีการชำระหนี้หรือแปรสภาพ
BRIDGING LOAN นี้ตามยุทธศาสตร์ของดำริห์ที่ว่า "เอาบัมเบิ้ล บี มาให้ได้ก่อน
เรื่องอื่นว่ากันทีหลัง"
ข้อเสียของ BRIDGE LOAN ก็คือ มีดอกเบี้ยสูง และอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นทุก
ๆ สามเดือน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้กู้หาเงินมาชำระหรือรีบแปรสภาพ BRIDGE
LOAN
BRIDGE LOAN 65 ล้านเหรียญของยูนิคอร์ดเสียดอกเบี้ย 14% และทุกสามเดือนดอกเบี้ยจะขึ้นไปอีก
0.25% อีกสาเหตุหนึ่งที่ดอกเบี้ยแพงก็เพราะเป็นเงินกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเลย
แต่เหตุที่ BANKER TRUST ยอมให้เพราะมีรายได้สูงกว่าเงินกู้ทั่ว ๆ ไป และเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่ง
คือ BRIDGE LOAN 65 ล้านเหรียญนี้มีอายุ 1 ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว ถ้ายังไม่สามารถแปรสภาพหรือชำระคืนได้ก็จะกลายเป็นหุ้นกู้ที่แปรสภาพเป็นหุ้นสามัญได้เมื่อครบ
8 ปี และมีดอกเบี้ยสูงถึง 16%
แม้จะเป็นเงินกู้ที่มีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีเงื่อนไขที่กระทบกระเทือนสัดส่วนความเป็นเจ้าของในบัมเบิ้ล
บี ซึ่งเป็นสิ่งที่ดำริห์ไม่ต้องการมาตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ระยะเวลาที่จำกัดทำให้เขาไม่มีทางเลือกเป็นอื่น
นอกจากซื้อเวลาด้วย BRIDGE LOAN
"เราพูดไม่ได้ว่า ดำริห์หรือที่ปรึกษาทางการเงินตัดสินใจผิดพลาด เพราะนี่เป็นทางที่ดี่สุดที่เราทำได้"
แหล่งข่าวในเชส แมนฮัตตันให้ความเห็น
แล้วดำริห์ก็บรรลุความมุ่งหวังของตน เมื่อบานการผลิตของยูนิคอร์ดในประเทศไทยต่อติดเป็นวงจรต่อเนื่องกับเครือข่ายการตลาดในสหรัฐอเมริกาของบัมเบิ้ล
บี โดยมี BRIDGE LOAN เป็นสะพานเชื่อม BRIDGE LOAN 65 ล้านเหรียญจะครบกำหนดหนึ่งปีในเดือนกรกฎาคมนี้
แหล่งข่าวในวงการเงินระหว่างประเทศอ้างถึงความตั้งใจเดิมของดำริห์ว่า จะแปรสภาพ
BRIDGE LOAN นี้เป็น JUNK BOND ก่อนที่จะมีอายุครบหนึ่งปี
JUNK BOND คือ ตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งในตลาดหนี้ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ
เมื่อต้นทศวรรษ 1980 และได้รับความนิยมจนขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 1986
เป็นต้นมา
ประมาณกันว่า ตลาด JUNK BOND ในปัจจุบันมีมูลค่ารวมกันสูงถึงสองแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
บริษัทที่มีความต้องการใช้เงินจะก่อหนี้ขึ้นโดยการออก JUNK BOND ขายให้กับนักลงทุน
เพื่อนำเงินไปใช้ JUNK BOND เป็นตราสารที่มีความเสี่ยงสูงเพราะเป็นหนี้ระยะสั้น
และบริษัทที่ออก JUNK BOND ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง หรือฐานะที่จะเป็นหลักประกันให้กับผู้ถือ
JUNK BOND ได้
ความเสี่ยงที่สำคัญของ JUNK BOND คือ JUNK BOND เป็นเครื่องมือที่ใช้กันมากในการระดมเงินเพื่อไปซื้อกิจการอื่น
ๆ เพราะสามารถระดมเงินมาได้จำนวนมากในระยะเวลาสั้น ๆ หลักประกันของนักลงทุนจึงขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ออก
JUNK BOND ว่าจะสร้างรายได้จากกิจการที่ไปซื้อมาให้เพียงพอกับดอกเบี้ยและเงินต้นที่ต้องจ่ายคืนเมื่อ
JUNK BOND ครบกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนว่าจะทำได้หรือไม่
ส่วนใหญ่แล้ว การซื้อกิจการในสหรัฐอเมริกาโดยการออก JUNK BOND เป็นการซื้อกิจการมาเพื่อขายออกไปใหม่
โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ทรัพย์สินที่ซื้อมา ด้วยการตบแต่งบัญชีให้เทคนิคทางการเงินให้อัตราส่วนทางการเงินดูสวย
ๆ แล้วขายออกไปในราคาสูง ๆ เพื่อเอากำไรเข้ากระเป๋าและชำระหนี้คืนให้ผู้ถือ
JUNK BOND ซึ่งมีความไม่แน่นอนอีกเช่นกันว่า เมื่อซื้อไปแล้วจะขายได้หรือไม่หรือได้ในราคาเท่าไร
เมื่อมีความเสี่ยงสูง JUNK BOND จึงให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเครื่องมือในการก่อหนี้อื่นเพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาซื้อ
ทั้งความไม่น่าเชื่อถือของผู้ออก JUNK BOND ความเสี่ยงของกิจการที่นำเงินจาก
JUNK BOND ไปใช้ และผลตอบแทนที่สูงจนนักลงทุนกล้ารับความเสี่ยง ทั้งหมดนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินลงความเห็นว่า
JUNK BOND มีคุณค่าไม่มากไปกว่า "ขยะ"
ความเสี่ยงของ JUNK BOND เริ่มออกฤทธิ์ส่งผลให้ตลาด JUNK BOND ตกต่ำเมื่อต้นไตรมาสที่สามของปีที่แล้ว
เมื่อกิจการที่ก่อหนี้โดยใช้ JUNK BOND ประสบปัญหาสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและเงินต้นคืนให้ผู้ลงทุนได้
กรณีของ INTEGRATED RESOURCES ที่ล้มละลายไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม หรือกรณีของ
CAMPEAU CORP ที่มีปัญหาเรื่องหนี้สินมากทำให้ความเชื่อถือที่มีต่อ JUNK
BOND ลดน้อยลงไปมาก
เมื่อเดือนตุลาคม ฝ่ายบริหารของ UNITED AIRLINES พยายามที่จะซื้อกิจการจากเจ้าของ
โดยใช้ JUNK BOND ระดมเงิน แต่ไม่สามารถหาเงินมาได้ทัน ซึ่งทำให้เกิด MINI
CRASH ในวอลสตรีทเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมปีที่แล้ว และยิ่งทำให้ตลาด JUNK BOND
แย่ลงไปอีก JUNK BOND ที่เคยซื้อง่ายขายคล่องกลายเป็นขยะที่ไม่มีใครต้องการอีกต่อไปแล้ว
โอกาสที่ดำริห์จะเปลี่ยน BRIDGE LOAN เป็น JUNK BOND จึงถูกปิดตายเพราะสถานการณ์ไม่เป็นใจ
และต้องถือเงิน 65 ล้านเหรียญนี้เอาไว้ในขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนที่จะต้องแปรสภาพเป็นหุ้นกู้
จนถึงกับมีข่าวว่า ช่วงระยะเวลาหกเดือนที่ผ่านมานี้ ดำริห์ไม่สบายใจนักกับหนี้สินตัวนี้และตั้งคำถามกับตัวเองว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดหรือเปล่า
แต่ตัวดำริห์เองยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ไม่เคยมีความคิดที่จะใช้ JUNK BOND
อยู่ในหัวสมองเลยแม้แต่น้อย เพราะว่าจุดมุ่งหมายของการซื้อบัมเบิ้ล บีนั้น
เป็นการลงทุนเพื่อสร้างตลาดจริง ๆ ไม่ได้ต้องการซื้อมาเพื่อขายเอากำไร (BUY-OUT)
การใช้ JUNK BOND ซึ่งมีต้นทุนสุงจึงไม่ใช่ทางเลือกของเขาเลย
"ในเมื่อเราจะบุกตลาด เราไม่อยากให้มีเงื่อนไขภาระทางการเงินเข้ามามาก
เราจะบุกได้อย่างเป็นอิสระ" ดำริห์อธิบายว่า ตอนที่เลือกใช้ BRIDGE
LOAN นั้นเขามีแผนอยู่แล้วว่าจะใช้เงินทุนในไทยไปชำระคืนภายหลัง โดยการนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นในตลาดไปคืน
BANKER TRUST ส่วนหนึ่ง
ไม่มีใครรู้ว่า ดำริห์คิดอย่างไรแน่ตอนที่ตัดสินใจใช้ BRIDGE LOAN เพราะเขาเคยพูดว่าความคิดที่จะเข้าตลาดนั้นเกิดขึ้นตอนที่ยังไม่มีบัมเบิ้ล
บี ถึงจะไม่ได้บัมเบิ้ล บี ยูนิคอร์ดก็ต้องเข้าตลาดอยู่แล้ว แต่ช่วงเวลาที่มีความจำเป็ต้องใช้เงินก็บังเอิญลงตัวพอดีกับจังหวะที่ยูนิคอร์ดนำหุ้นออกขายในตลาด
ยูนิคอร์ดเพิ่มทุนจาก 600 ล้านบาทเป็น 700 ล้านบาท โดยนำหุ้นใหม่ที่มีมูลค่าหุ้นละ
10 บาท จำนวน 10 ล้านหุ้น เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปในราคาหุ้นละ 85 บาท หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
จำนวนเงิน 850 ล้านบาทหรือ 34 ล้านเหรียญที่ได้จากการขายหุ้นครั้งนี้ หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว
ยูนิคอร์ดจะนำไปเพิ่มทุนในยูนิกรุ๊ปตามสัดส่วน 75% ของตนซึ่งเท่ากับ 30 ล้านเหรียญ
อีก 10 ล้านเหรียญจะมาจาก POISSON SHIPPING LIMITED ซึ่งทำให้ทุนจดทะเบียนของยูนิกรุ๊ปเพิ่มจาก
40 ล้านเหรียญจะชำระหนี้จาก BRIDGE LOAN 65 ล้านเหรียญ
ยูนิคอร์ดส่งเงิน 40 ล้านเหรียญผ่านธนาคารกรุงเทพฯ ไปให้ยูนิกรุ๊ป เมื่อวันที่
1 มีนาคม โดยกู้เงินจำนวนนี้จากธนาคารกรุงเทพฯ ในอัตราดอกเบี้ยหนึ่งเปอร์เซ็นต์เหนือ
LABOR มีระยะเวลาเพียง 17 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยูนิคอร์ดจะได้เงินจองหุ้นครบ
34 ล้านเหรียญ ส่วนที่เหลือ 6 ล้านเหรียญจะแปรสภาพเป็นเงินกู้ระยะยาวของยูนิคอร์ดไป
จะเรียกว่าเป็น BRIDGE LOAN อีกครั้งหนึ่งของดำริห์ก็ได้
เงิน 40 ล้านเหรียญที่ส่งไปนั้น ใช้ในการเพิ่มทุนของยูนิกรุ๊ปครั้งนี้ 30
ล้านเหรียญ อีก 10 ล้านเหรียญเตรียมไว้สำหรับการเพิ่มทุนครั้งต่อไปให้ครบ
100 ล้านเหรียญ
ส่วน BRIDGE LOAN ของ BANKER TRUST ที่เหลืออีก 25 ล้านเหรียญจากการเปิดเผยของดำริห์เองจะกู้เงินในประเทศไปจ่ายคืน
แต่ทางเลือกหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ คือ การเพิ่มทุนของยูนิกรุ๊ปอีก 20 ล้านเหรียญ
เป็น 100 ล้านเหรียญ เพื่อลด BRIDGEING LOAN ให้เหลือ 5 ล้านเหรียญ แล้วชำระคืนเงิน
5 ล้านเหรียญนี้ด้วยเงินกู้
จะเป็นทางเลือกใดนั้นยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่ที่แน่นอนก็คือ ก่อนเดือนกรกฎาคมนี้
ยูนิคอร์ดจะล้าง BRIDGE LOAN 65 ล้านเหรียญนี้ได้หมดด้วยเงินจากตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่มีต้นทุนดอกเบี้ยเลย
"จะพูดว่าเราเฮงก็ได้ แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องของการวางแผนมากกว่า"
ดำริห์พูดถึงเงื่อนเวลาที่ช่างเป็นใจกับการแก้ไขปัญหาเงินกู้ของยูนิคอร์ดในครั้งนี้
ถึงวันนี้เรื่องของบัมเบิ้ล บี ก็เป็นอันยุติลงอย่างเรียบร้อย ยูนิคอร์ดสามารถสร้างตลาดรองรับฐานการผลิตพาตัวเองเข้าไปยืนอย่างมั่นคงในตลาดสหรัฐฯ
ได้ จะยืนได้อย่างสง่าผ่าเผยแค่ไหนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องดูกันต่อไปในวันข้างหน้า
กระบวนการจัดการทางด้านการเงินและการปรับโครงสร้างเงินกู้ในกรณีของยูนิคอร์ดนี้
เป็นแง่มุมเพียงด้านหนึ่งของความซับซ้อน ความยากลำบากในการซื้อกิจการต่างประเทศของธุรกิจไทยที่เอาชนะได้ด้วยการวางแผนอย่างรอบคอบและการตัดสินใจอย่างถูกจังหวะ