Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2533
วิญญู "เขาเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย"             
โดย Mary Seldman
 

   
related stories

เจ้าพ่ออีสาน "โค้วยู่ฮะ"
วัฒนธรรมการบริหารแบบโค้วฯ

   
search resources

โค้วหยู่ฮะ
วิญญู คุวานันท์
Vehicle




ความสำเร็จของคนเรานอกจาก "เก่ง" กับ "เฮง" จะเป็นปัจจัยสำคัญแล้วนั้น ความฮึกเหิมภายในก็เป็นพลังกระตุ้นให้บรรลุเป้าหมายได้ง่ายและเร็วขึ้น จากแรงกดดันฐานะ "ลูกเมียน้อย" ที่ไม่มีทางเลือกอื่นใดกับการลบคำครหานอกจากมุ่งทำงานดุจมดง่ามชนิดหนักเอา - เบาก็สู้ จึงทำให้ "วิญญู คุวานันท์" มีวันนี้ได้

วันที่เขาเงยหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน

สามสิบปีแห่งการเติบโตอย่างแข็งกร้าวเพื่อรอวันหยั่งรากลึกในอนาคตอันใกล้ชนิดที่จะหาบริษัทใดในภาคอีสานเสมอเหมือน "โค้วยู่ฮะกรุ๊ป" ที่มีวิญญู คุวานันท์ เป็นแกนหลักนั้นเกิดขึ้นเป็นจริงเพราะความบากบั่นที่ต้องการสานสร้างปมด้อยของชีวิตให้เป็นปมเด่นที่ใคร ๆ ต้องยอมรับโดยดุษฎี

"วิญญูเป็นลูกเมียคนที่สาม เป็นลูกเมียน้อยที่คนอื่นเขาดูถูกเอามาก ๆ เลยสอนให้แกเป้นคนมีน้ำอดน้ำทน และตั้งความหวังในชีวิตจะต้องโดดเด่นเหนือพี่น้องคนอื่น ๆ ให้จงได้" ญาติสนิทของครอบครัว "คุวานันท์" ปูพื้นปฐมบทแห่งความสำเร็จของวิญญูกับ "ผู้จัดการ"

ครอบครัวของ "คุวานันท์" แม้จะพอเป็นล่ำเป็นสันมีอยู่มีกินไม่อายใครจากอาชีพค้าของป่าและรับซื้อขายพืชไร่ในเขตเมืองพล จังหวัดขอนแก่น แต่ความที่ "ซุนหยู แซ่โค้ว" ผู้นำครอบครัวมีเมียที่ต้องเลี้ยงดูถึง 3 คนไม่นับรวมลูก ๆ จากทั้งสามท้องอีกหลายสิบคน เลยทำให้สมบัติหลังซุนหยูตายตกทอดไปถึงเมียและลูก ๆ คนละไม่มากนัก โดยเฉพาะ "ลูกเมียน้อย" อย่างวิญญูและพี่ ๆ น้อง ๆ อีก 4 คนแทบไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

โชคดีเป็นของวิญญูบ้างตรงที่ได้เข้ามาเรียนภาษาจีนในกรุงเทพฯ และรู้จักพบรักกับ "มาลิน" ลูกสาวคนสวยของนายห้างไอศครีม "ป้อป" ที่ผู้บริโภคทุกระดับชื่นชอบเมื่อ 30 ปีก่อน มาลินหรือ "เสี่ยเนี้ย" ที่ทุกคนใน "คุวานันท์" และ "โค้วยู่ฮะกรุ๊ป" ให้ความเกรงใจเป็นพิเศษกลายเป็น "ตัวจักร" ของการขับเคลื่อนการหมุนเงินมาช่วยสามีที่สืบทอดกิจการค้าของป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คนเราบทจะ "เฮง" ขึ้นมาอะไรก็ฉุดไม่อยู่ เช่นเดียวกับทางเดินชีวิตของวิญญูกับมาลินที่หลังจากเบี่ยงเบนทิศทางอาชีพจากค้าของป่ามาเป็นตัวแทนขายรถยนต์ "โตโยต้า" ในเขตเมืองพลราวปี 2501 นั้นก็เป็นปี "จอมพลนักรัก" ลูกอีสานจากขอนแก่นอย่าง "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์" ทำการปฏิวัติและวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา โดยเฉพาะการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การคมนาคมขนส่ง ตัดถนนหนทางเพิ่มขึ้นนับสิบ ๆ สาย เป็นผลให้ "คนค้ารถยนต์" อย่างวิญญูถูกหวยเข้าจังเบ้อเร่อ!!

ยิ่งกว่านั้น หลังจากที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดโต๊เฮ่งเตียงมอเตอร์ของวิญญูกับมาลินที่ตั้งอยู่บริเวณถนนหน้าเมือง จ.ขอนแก่น ได้เปลี่ยนจากการเป็นตัวแทนขายโตโยต้ามาขาย "อีซูซุ" ก็เป้นช่วงเวลาเดียวกันกับที่จอมพลสฤษดิ์ได้ตัดสินใจวางแผนพัฒนาให้ "ขอนแก่น" เป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่นเกิดขึ้น หน่วยงานราชการต่าง ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และแน่นอนเส้นทางเชื่อมจากขอนแก่นไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภาคอีสานก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ !!

ซึ่งถ้าจะพิจารณาจากอดีตถึงปัจจุบันย่อมพบความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่า ภาคอีสานซึ่งมีภาพลักษณ์ของความแห้งแล้งกันดารมากที่สุดของประเทศนั้นกลับเป็น "พื้นที่" ที่รถยนต์วิ่งมากที่สุดของประเทศ โดยคิดจากเส้นทางรถยนต์ทั้งระบบ

โอกาสเช่นนี้ "พลาด" ไม่ได้สำหรับผู้ค้ารถยนต์ โดยเฉพาะผู้ค้ารถยนต์ที่มีสายตายาวไกล รวมทั้งโชคหนุนช่วยอย่าง "วิญญู คุวานันท์" ซึ่งการพลิกสถานะมาเป็นตัวแทนของ "อีซูซุ" นั่นถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่พลาดเลยแม้แต่นิดเดียว ทั้งนี้เพราะ "อีซูซุ" สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้ทั้งรถบรรทุกและรถปิกอัพดีเซล ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นไปทางเศรษฐกิจของภาคอีสานที่จำเป็นต้องพึ่งพารถบรรทุกในการขนส่งพืชไร่เป็นจำนวนมาก

ปรากฎการณ์ทางการตลาดที่เกิดขึ้นกับ "โค้วยู่ฮะมอเตอร์" ในช่วงปี 2503-08 ก็คือ "ผู้ซื้อต้องมาไหว้ขอซื้อรถและต้องสั่งจองล่วงหน้านานถึง 3-5 เดือนกว่าจะได้รถ" และที่เข้าตาเข้าใจคนค้ารถยนต์อย่างวิญญูมากที่สุดก็คือ ลูกค้าส่วนมากซื้อกันในระบบเงินผ่อน ซึ่งเป็นระบบที่ทำกำไรให้กับผู้ขายมากที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้นลูกค้าที่มาจากทุกสารทิศในภาคอีสานจะนำเอาที่ดินมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วย โดยไม่ต้องวางเงินดาวน์

และนี่เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้วิญญูกับมาลินได้ชื่อว่าเป็น "ราชาที่ดิน" รายใหญ่รายหนึ่งของเมืองไทยในปัจจุบันโดยที่ดินที่ถือครองอยู่นั้นมากมายได้มาจากลูกค้าที่ขาดการผ่อนชำระ และไม่อยู่ในวิสัยที่จะผ่อนปรนได้อีกต่อไป !!

"ตอนนั้นบริษัทมีพนักงานไม่กี่สิบคน ซึ่งหลายคนก็ยังเป็นลูกหม้อที่อยู่มาจนถึงปัจจุบัน ตอนที่เสี่ยตัดสินใจเลิกขายโตโยต้ามาเป็นอีซูซุนั้น เพราะทางอีซูซุบอกว่า ให้เลือกเอาถ้าจะทำอีซูซุต้องเลิกโตโยต้า เสี่ยมองว่ารถอีซูซุมีรุ่นให้เลือกมากกว่าและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ในพื้นที่มากกว่า ก็ไม่รู้ว่าตัดสินใจผิดหรือถูก ถ้าเลือกโตโยต้าอาจจะดีกว่าอีซูซุก็เป็นได้" พนักงานเก่าแก่คนหนึ่งของโค้วยู่ฮะฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

"โดยหลักการแล้ว ผู้จำหน่ายอีซูซุแต่ละแห่งจะได้รับมอบหมายเขตการจำหน่ายที่แน่นอนเป็นสิทธิขาด แต่ในกรณีของโค้วยู่ฮะนั้นเริ่มจากการเป็นผู้จำหน่ายอีซูซุโดยไม่มีเงื่อนไขชนิดไม่มีเขตจำหน่ายเป็นสิทธิขาด มีการจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้ออื่นตามไปด้วย" มร.วาย โมริตะ ที่ปรึกษาบริษัทมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น พูดถึงวิญญูและทางที่เลือกแล้วของโค้วยู่ฮะที่ต้องมีดีในตัวไม่เช่นนั้นคงไม่ได้สิทธิพิเศษเช่นนี้

จุดดีของโค้วยู่ฮะที่ญี่ปุ่นมองเห็นจนได้สิทธิพิเศษนั้นก็คือ วิญญูกล้ารับซื้อรถปิคอัพอีซูซุรุ่นที่กระบะหลังสั้นในสมัยยุคเริ่มแรก ไม่เป็นที่นิยมของตลาดภูธรที่ต้องใช้บรรทุกสินค้าพืชผล แต่วิญญูรับซื้อทั้งหมด แล้วนำไปขายให้เกษตรกรจนหมด ขณะที่ดีลเลอร์คนอื่น ๆ ไม่กล้าทำเช่นนี้

อหังการ์ในชีวิตของคนเราไม่เพียงแต่จะพึ่งพาความฉลาดหลักแหลม ความมีปฏิภาณไหวพริบเยี่ยมยอดพร้อมจะรุกและรับหรือพลิกแพลงข้อต่อรองทางธุรกิจในแต่ละช่วงเวลาให้ตัวเองเป็นฝ่ายได้เปรียบ เป็นฐานรากแข็งแกร่งเท่านั้น หากบางครั้ง "ความกล้าได้กล้าเสีย" เข้าทำนอง "บ้าดีเดือด" ชนิดลูกวัวไม่กลัวแม่เสือก็เป็นแรงหนุนเนื่องที่ทำให้พบความสำเร็จได้เช่นกัน

บุคลิกเช่นนี้ เถ้าแก่ลูกทุ่งทั้งหลายมีมากนักแล ยิ่งถ้าเพิ่มเติมความจัดเจนในศาสตร์ทางธุรกิจ รู้จักจังหวะ และวิเคราะห์สภาพการณ์ทางการตลาดได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงด้วยแล้ว ก็จะกลายเป็น "อาวุธ" อันแหลมคมในฉับพลัน

การเติบโตแบบทะลุกลางปล้องของ "โค้วยู่ฮะมอเตอร์" ในพื้นที่ภาคอีสานราวปี 2510 ที่สามารถทำยอดขายได้สูงสุดของประเทศหลายปีติดต่อกันจนต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ที่ "โค้วยู่ฮะมอเตอร์" เป็นเอเยนต์นัมเบอร์วันของอีซูซุอย่างยากที่จะคลอนแคลนได้ง่าย ๆ นั้นเกิดขึ้นเพราะ "ความกล้าได้กล้าเสีย" ของวิญญูเป็นที่ตั้ง

"คุณมาลินเป็นตัวตั้งตัวตีในการวิ่งหาเงินก้อนหลายร้อยล้านบาทมา เพื่อให้เสี่ยปล่อยให้กับลูกค้าที่มาซื้อรถ โดยไม่ต้องมีเงินดาวน์ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ปรากฏว่ามีลูกค้าทั่วภาคอีสานมาเข้าคิวนับพัน ๆ รายที่จะซื้อรถจากโค้วฯ จะว่าเสี่ยงก็เสี่ยงไม่น้อย เพราะการหมุนเงินหลายร้อยล้านมาเป็นเงินดาวน์ให้กับลูกค้า หากมีรายการเบี้ยวก็ปิดฉากอย่างน่าเวทนา แต่โชคดีเป็นของเสี่ยงและเสี่ยเนี้ยที่ไม่มีปัญหา หนี้สูญแทบจะไม่มีเลย หรือถ้ามีก็ยังมีที่ดินค้ำอยู่ ยุทธวิธีนี้ประสบผลสำเร็จอย่างสูงจนทำให้โค้วฯ ขายรถได้สูงสุด 6-7 ปีติดต่อกัน ก็ต้องชมเชยความเป็นคนกล้าได้กล้าเสียของเสี่ย และการหมุนเงินที่เก่งของเมีย" แหล่งข่าวในวงการค้ารถยนต์บอกกับ "ผู้จัดการรายเดือน"

ความเป็นคนกล้าได้กล้าเสียของวิญญูอาจตรวจสอบได้อีกกับการเข้าไปเป็น "แกนหลัก" ของสำนักงานประสานหอการค้าจังหวัดที่รวบรวมบรรดาหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร ์และยุทธวิธีพัฒนาโดยไม่อิงหอการค้าไทยมากเกินไป การก่อตั้ง "สำนักประสาน" ที่สัมฤทธิ์ผลนั้นเป็นเพราะการทุ่มเทให้อย่างมากมายของวิญญูโดยเฉพาะเรื่องกำลังทรัพย์ ซึ่งวิญญูอุทิศพื้นที่ของอาคารโค้วยู่ฮะกรุงเทพให้เป็นที่ตั้งสำนักประสาน

ที่วิญญูสามารถซื้อหัวใจสมาชิกหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศได้อย่างแนบเนียนก็คือ การแสดงออกถึงความไม่มักใหญ่ใฝ่สูงหรือต้องการตำแหน่งใด ๆ ในสำนักประสานฯ อันรวมไปถึงการเข้าเรียน ปรอ.วปอ.ที่รู้จักกันดีว่าคิวต้น ๆ ในรุนแรกนี้เป็นของวิญญู แต่เขาก็ยินดีหลีกทางให้คนอื่นได้เข้าไปเรียนแทน การเดินหมากอย่างชาญฉลาดเช่นนี้ส่งผลให้วิญญูเป็นที่เกรงใจของเถ้าแก่ลูกค้าทั้งมวล

"การทำงานอย่างทุ่มเทของวิญญู ทำให้โค้วยู่ฮะขยายกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะมีปริมาณงานมากก็ตาม แต่ก็ไม่มีฐานการเงินที่มั่นคงพอที่จะสนับสนุนกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้าพเจ้าจึงได้ปรึกษากับคุณปิยะ ศิวะยาธร กรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ และแนะนำให้กับคุณวิญญูกับคุณมาลินรู้จักในเวลาต่อมา ในที่สุดธนาคารกรุงเทพและบริษัทมิตซูบิชิก็ได้ร่วมกันให้โค้วยู่ฮะกู้เงินซื้อที่ดินหลายสิบไร่ เพื่อสร้างโชว์รูมพร้อมศูนย์บริการที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็น 1 ใน 2 ของโชว์รูมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย" มร.วาย โมริตะ ที่ปรึกษาของบริษัทมิตซูบิชิ กล่าวถึงการให้การช่วยเหลือวิญญูที่พื้นฐานความกล้าได้กล้าเสียในการทำตลาดของเขาทำให้ทุกคนต้องเชื่อมั่นว่า "วิญญูคงไม่ทำให้ผิดหวัง"

ในโลกนี้ การทำธุรกิจมี 2 ฉากใหญ่ ฉากแรกคือการซื้อมาขายไป ซื้อถูกขายแพง ฟันกำไรเนื้อ ๆ ส่วนอีกฉากหนึ่งเป็นเรื่องของการลงทุนเป็นโลกของอุตสาหกรรมที่นวัตกรรม (INNOVAITON) อะไรต่อมิอะไรอาจไม่เห็นผลคุ้มค่าในเสี้ยวปีหรือสองปี แต่เมื่อคืนทุนก็นอนหลับได้สบาย ๆ การเติบโตและขยายตัวอย่างน่าจับตามอง "โค้วยู่ฮะกรุ๊ป" ภายใต้การบัญชางานของวิญญูที่ไปยังธุรกิจหลายแขนงนั้น หากพิจารณาผิวเผินดูเหมือนจะเห็นว่าวิญญูและโค้วยู่ฮะกรุ๊ปเริ่มที่จะให้ความสนใจต่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ การดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรม การจัดตั้งเมืองอิเลคทรอนิกส์ เป็นต้น

ทว่า ถ้าติดตามการเคลื่อนไหวและวิเคราะห์กันลึกซึ้งยังพบ "ความจริง" ที่เป็น "แก่นแท้" ในการทำธุรกิจของวิญญูและโค้วยู่ฮะกรุ๊ปได้ว่า "ที่สุดของที่สุดเขายังสลัดไม่หลุดไปจากฉากแรกของโลกธุรกิจแบบซื้อมาขายไป"

ตัวอย่างความใฝ่ฝันที่จะไปเจิดจรัสในโลกอุตสาหกรรมของวิญญูและโค้วยู่ฮะกรุ๊ปที่ยังไม่ขยับไปได้สักกี่ช่วง หรือดูเหมือนว่าอาจจะเป็น "ฝันกลางแดด" ไปเสียแล้ว ดูง่าย ๆ ก็จากโครงการจัดตั้ง "เมืองอิเล็กทรอนิกส์" ที่ขอนแก่น ซึ่งมีแผนงานที่จะร่วมกับสวิสฯ โดยจะจัดตั้งบริษัทโค้ววอชช์ขึ้นมา ซึ่งหลังจากที่หมดเงินไปชั้นต้นหลายสิบล้านบาท โครงการก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างจนในที่สุดทางสวิสฯได้ถอนตัวออกมา และหันไปร่วมกับสหพัฒน์ฯ แทนและโรงงานผลิตก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว

ถ้าความรู้สึกนึกคิดของวิญญูจะเป็นเช่นนี้มันก็ไม่ผิดที่เขาจะเลือกเดินทางสายเก่าต่อไป

เพียงแต่การสร้างภาพพจน์สู่โลกอุตสาหกรรมที่อาจหวังผลต่อราคาหุ้นในตลาดนั้นคงเป็นเรื่องที่ต้องตามไปพิสูจน์ให้เห็นชัด ๆ

"ท่านเป็นคนเข้าใจอะไรเร็ว และ NICE PERSONALITY เป็น PURELY MARKETING ที่ทุกคนต้องยกนิ้วให้ ท่านเป็น TRADER ที่เก่งจริง ๆ แต่ท่านไม่ได้เป็น INDUSTRIALIST ยังไม่เข้าใจงานด้าน MANAGEMENT ของโลกอุตสาหกรรมที่ดีพอ ทั้ง ๆ ที่ความพร้อมมีอยู่แล้ว ซึ่งถ้าแก้ไขข้อนี้ได้โค้วยู่ฮะคงไปโลก" คนที่เคยร่วมงานกับโค้วยู่ฮะกรุ๊ปรายหนึ่งบอกกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

แต่ในเรื่องเดียวกันนี้ ถ้าจะมองความพยายามของวิญญูวันนี้ที่อายุ 58 ปีแล้วที่ดึงเอาผู้เชี่ยวชาญมาร่วมงานอยู่บ่อยครั้ง แต่ว่าแต่ละชุดกลับมีอายุงานไม่นานนักจนทำให้มองกันไปได้ว่า "วิญญูไม่พร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงของการก้าวไปสู่โลกอุตสาหกรรมที่แท้จริง" แต่ลูกหม้อคนหนึ่งของโค้วยู่ฮะได้ให้เหตุผลเชิงคัดค้านกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า

"กว่าที่จะถึงวันนี้ได้ ต้องไม่ลืมว่าเสี่ยผ่านบทเรียนมากี่มากน้อย เคยเจ็บมาแล้วเท่าไหร่กับใครหลาย ๆ คน โดยตัวเสี่ยแล้วยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกคน แต่จะปักใจเชื่อหรือยอมเดินตามชนิดไม่มีข้อโต้แย้งเลยนั้น แกถือว่า "ความซื่อสัตย์" เป็นตัวช่วยตัดสินใจ ความสามารถยังมองเป็นอันดับสอง ผิดกับบริษัทอื่น ๆ เพราะเราคนจีนต้องถือความซื่อสัตย์หรือเหลาซิกมาเป็นอันดับหนึ่ง"

นี่เป็นอีกวัตรปฏิวัติหนึ่งในการทำงานของ "โค้วยู่ฮะกรุ๊ป" ซึ่งเส้นแบ่งของความซื่อสัตย์กับการกล้าได้กล้าก้าวขยับย่างสู่โลกอุตสาหกรรม บางทีอาจเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบกันเลยก็เป็นได้ !!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us