Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2533
เจ้าพ่ออีสาน "โค้วยู่ฮะ"             
โดย Mary Seldman
 

   
related stories

วัฒนธรรมการบริหารแบบโค้วฯ
วิญญู "เขาเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย"

   
search resources

โค้วหยู่ฮะ
วิญญู คุวานันท์
Vehicle




การที่บริษัทโค้วยู่ฮะกรุงเทพ แต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ นับว่าเป็นการวางแผนก้าวสำคัญของราชาภูธร "วิญญู คุวานันท์" อย่างมาก และเสริมภาพพจน์บารมีของวิญญูให้ยิ่งใหญ่ในภาคอีสานด้วยความเป็นเจ้าที่ดินผู้มั่งคั่งจากการค้ารถอีซูซุมากขึ้น กล่าวกันว่าสินทรัพย์ในอาณาจักรโค้วยู่ฮะกรุ๊ปบอกว่า ทำได้กว่า 5,000 ล้านบาท และ 90% เขาได้มาจากค้ารถยนต์นี่เอง

โค้วยู่ฮะตั้งมาได้ 30 ปี แต่ละช่วงทศวรรษบ่งบอกถึงความสำเร็จและล้มเหลวของคนอย่างวิญญูได้ดี นับตั้งแต่ช่วงเขายังเป็นยอดคนแดนอีสานมีความฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะเป็นพ่อค้าโรงสีที่ร่ำรวย จนถึงช่วงที่เขาเริ่มลงหลักปักฐานกับการเป็นดีลเลอร์รถอีซูซุรายใหญ่ที่สุดของอีสาน จนกระทั่งขยายอาณาจักรได้ยอดขายมากที่สุด ตามด้วยช่วงทศวรรษที่สามคือการขยายฐานธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อทำให้กิจการครบวงจร

ก่อนหน้าปี 2501 วิญญูหรือ "ฮกเช้ง แซ่โค้ว" เป็นเพียงพ่อค้ารับซื้อของป่าที่สืบอาชีพจากบิดาซุยหยู แซ่โค้ว และเขาเองก็คงไม่รู้ว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ปี 2501 การปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำการพัฒนาถนนสายใหม่หลายสายสู่ขอนแก่น ที่ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางความเจริญของอีสานและอำนวยโชคให้หนุ่มเมืองพลที่มีกิจการห้องแถวเล็ก ๆ ชื่อ ห้างหุ้นส่วนโต๊ะเฮียงเตียงมอเตอร์ ได้เติบใหญ่มาเป็นบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ในปัจจุบัน

ในช่วงทศวรรษแรกปี พ.ศ.2503-2513 การก่อตั้งบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ที่ขอนแก่นและเลือกค้ารถอีซูซุเพียงอย่างเดียวถือได้ว่าเป็นหัวหอกสำคัญที่ทำให้ฐานการค้าแข็งแกร่งขึ้น เพราะในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 1 ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2505-2509 จอมพลสฤษดิ์เริ่มนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ของประเทศตามคำแนะนำของธนาคารโลก และเกิดกระทรวงพัฒนาการที่มี พจน์ สารสิน เป็นรัฐมนตรีคนแรก

"ผมจำได้ว่า ในห้องของท่านมีแผนที่ภาคอีสาน และเส้นทางพาหนะมากมายเหลือเกิน ท่านบอกว่าถ้าจะให้อีสานก้าวหน้าต้องทำถนน" พิชัย วาศนาส่ง ที่ปรึกษาใหญ่ของโค้วยู่ฮะ ย้อนรอยอดีตให้ฟัง

และถนนสายใหม่นี้เองทำให้วิญญูมองเห็นการณ์ไกลโดยหวังทำกำไรระยะยาวจากการเป็นดีลเลอร์ค้ารถอีซูซุ 6 ล้อ

แม้ว่าขณะนั้นพนักงานจะมีไม่ถึง 10 คนก็ตาม และการบริหารก็ไม่เป็นระบบประเภทช่วยๆ กันทำในหมู่เถ้าแก่ 3 คน คือ วิญญู มาลิน และสมพร ศิริอมตวัฒน์ ซึ่งเป็นน้องชายวิญญู โดยแต่ละคนก็ทำหน้าที่ที่ถนัด มาลินต้องวิ่งตัวเป็นเกลียวหาเงินมาหมุนใช้ในการอาวัลตั๋วโดยเอาที่ดินไปจำนองกับแบงก์ ส่วนวิญญูก็วิ่งขึ้นล่องขอนแก่น-กรุงเทพฯ เพื่อติดต่อบริษัทมิตซูบิชิ คอร์เปอเรชั่น โดยมีสำนักงานติดต่อแห่งแรกที่สามแยกสวนกวางตุ้ง สวนสมพร หรือเสี่ยน้อยก็คุมงานอยู่ที่ขอนแก่น

ขณะเดียวกัน วิญญูก็ไม่ทิ้งสิ่งที่เขาโตมากับมัน คือ ค้าข้าวและปอ ซึ่งในปี 2508-2509 วิญญูได้กำไรจากการค้าปอมากทีเดียว และเขายังมีกิจการโรงสีไฟโค้วยู่ฮะตั้งที่หนองบัวลาย จังหวัดนครราชสีมาทำควบคู่กันไป และที่นี่เขาได้ประยูร อังสนันท์เป็นลูกน้องที่รับใช้อย่างซื่อสัตย์จนได้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในวันนี้

อย่างไรก็ดี การทำธุรกิจการค้าจะหยุดนิ่งไม่ได้จำเป็นต้องขยายสาขาให้ครอบคลุมมากที่สุด ใครมีอำนาจต่อรองสูงก็ได้สินค้าในราคาต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง และการที่โค้วยู่ฮะได้ผงาดเป็นผู้ขายรถอีซูซุอันดับหนึ่งได้ นั่นก็เป็นผลมาจากการวางแผนของวิญญูที่ต้องการจะครองตลาดรถอีซูซุในอีสาน ด้วยการแตกบริษัทลูกจากบริษัทแม่โค้วยู่ฮะมอเตอร์ ขอนแก่นให้กระจายไปทั่วอีสาน และโค้วยู่ฮะได้กลายเป็นผู้จำหน่ายอันดับหนึ่งต่อมา และในปี 2510 นี้เองที่วิญญูได้เปลี่ยนนามสกุลจาก "ศิริอมตวัฒน์" เป็น "คุวานันท์"

"ข้าพเจ้าเดินทางกลับไปประจำที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2510 และกลับมาประเทศไทยอีกครั้งเพื่อรับตำแหน่งรองประธานบริษัทมิตซูบิชิ ประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการบริษัทมิตซูบิชิ ประเทศไทย สาขาบางเขน ในปี พ.ศ.2514 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด ในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นการกลับมาประจำประเทศไทยครั้งที่ 3 ของข้าพเจ้า "มร.วาย โมริตะ ที่ปรึกษามิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น แห่งญี่ปุ่นเล่าให้ฟัง

ในช่วงเวลานั้น โค้วยู่ฮะก็เติบใหญ่ขยายกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม สำนักงานขายของโค้วยู่ฮะคับแคบและไม่มีศูนย์บริการที่เพียงพอสำหรับลูกค้า หลังจากที่โมริตะกลับมารับตำแหน่งใหม่ครั้งนั้น ได้เสนอให้โค้วยู่ฮะสร้างสำนักงานขายและศูนย์บริการใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นผู้จำหน่ายอันดับหนึ่ง

ระหว่างปี 2514-2524 บริษัทใหม่ ๆ ด้านการค้ารถของโค้วยู่ฮะเกิดขึ้นมากในเขตจำหน่ายของอีซูซุ 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และจังหวัดเลย ส่วนนอกเขตจำหน่ายหรือขายรถยี่ห้ออื่น ๆ ก็ตั้งบริษัทขึ้นมา นับตั้งแต่ขอนแก่นยนต์ เฟิส์ทมอเตอร์ ขายรถฟอร์ด มาร์วินมอเตอร์ เบนซ์กรุงเทพ ฯลฯ และกิจการค้ารถอีซูซุที่โค้วมอเตอร์ขอนแก่นไปได้ดีมาก ๆ และในปี 2524 วิญญูได้ตั้งบริษัทโตโยต้าปากน้ำโพที่นครสวรรค์โดยให้จารุวรรณ พินนาพิเชษฐ์ ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทโค้วยู่ฮะเซนเตอร์ เป็นผู้ถือหุ้นและต่อมาโอนให้หลานสาววิญญูคือหทัยทิพย์ ศิริอมตวัฒน์ภายหลัง

ในทศวรรษที่สองระหว่างปี 2514-2524 นี้เอง ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในโลกและประเทศไทยค่อนข้างแปรปรวนมาก นับตั้งแต่การยกเลิกความสัมพันธ์ระหว่างดอลลาร์สหรัฐฯ กับทองคำในปี 2514 ซึ่งมีผลเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว และในปี 2516 ก็เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรก และการตกต่ำของดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวเลขการเติบโตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงจากเคยสูงถึง 13.1% ในปี 2516 กลับตกต่ำลงเหลือแค่ 9% ในปี 2517 และตกลงไปเหลือ 8% ในปี 2518

โค้วยู่ฮะก็โดนผลกระทบนี้ด้วย บริษัทการค้ารถและอะไหล่รถยนต์ที่ต้องอิงกับอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สองในปี 2522 ที่ทำให้ยอดการขายของโค้วยู่อะตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่อาศัยที่โค้วยู่ฮะมีเครดิตการขายรถบรรทุกได้บ้างและการขายเงินผ่อนที่เหมือนน้ำซึมบ่อทราย จึงทำให้กิจการประคองตัวไปได้ นอกจากนี้การสะสมซื้อที่ดินหลายสิบแปลงในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำของกลุ่มโค้วยู่ฮะมีมาก จนตั้งเป็นบริษัทโค้วยู่ฮะเซนเตอร์ตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา

แต่กิจการประกันภัยที่วิญญูซื้อมาในปี 2515 ต้องประสบปัญหาภายในและภายนอกมาก เริ่มตั้งแต่บริษัทนี้เดิมก็มีปัญหาขาดทุนสะสมมาตั้งแต่ยุคแรกสมัยยังเป็น "กรุงเทพฯ ประกันภัย" ที่ตั้งเมื่อปี 2492 และถูกฟ้องล้มละลายเปลี่ยนชื่อเป็นไทยเรืองประกันภัย เมื่อวิญญูซื้อมาตกแต่งในชื่อใหมว่า "ธนกิจประกันภัย" แล้วเปลี่ยนอีกครั้งเป็น "พิทักษ์สินประกันภัย" ก็ยังประสบปัญหาขาดทุนเพราะในสมัยก่อนลูกค้าไม่นิยมเพิ่มเงินประกัน ดังนั้นการแก้ปัญหาก็คือการเพิ่มทุน ปัจจุบันได้ร่วมกับบริษัท AGF (ASSURANCE GENERALES DE FRANCE) แห่งฝรั่งเศส และให้จิรวุฒิ คุวานันท์ ลูกชายเป็นผู้บริหารด้วย

นอกจากนี้ ความล้มเหลวจากการทำคลังสินค้าก็เกิดขึ้น โดยวิญญูได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนประเภทกิจการคลังสินค้าต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี ในนามของ "บริษัทคุวานันท์คลังสินค้า" ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาทในปี 2524 กิจการคลังสินค้าประสบปัญหาขาดทุนและเพิ่มทุนเป็น 40 ล้านก็ยังไปไม่ได้ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงทำให้ในปี 2528 ต้องเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น "เค เทรดดิ้ง" หันไปค้ารถซึ่งการณ์ก็ปรากฏว่า ปัจจุบันบริษัทนี้มีสาขามากมายถึง 7 แห่งทั่วอีสาน โดยมีสำนักงานใหญ่ที่อุดรธานี

แต่ในระยะเวลานี้เอง นโยบายรัฐบาลเปิดให้เอกชนทำกิจการรถทัวร์ได้ บริษัทไทยบัสบอดี้ ซึ่งเป็นโรงงานต่อตัวถังรถทัวร์และรถบรรทุกซึ่งมาลินตั้งในปี 2515 ก็ประสบปัญหาการบริหารที่ผิดพลาด เพราะการย้ายโรงงานจากกรุงเทพฯ ไปตั้งที่ขอนแก่น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ทั้งค่าขนส่ง ค่าสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการต่อตัวถังรถ ทำให้กิจการขาดทุน และในปี 2522 ก็ต้องหยุดกิจการไป ขณะที่ทางบริษัทเชิดชัยอุตสาหกรรมที่ทำแบบเดียวกันได้พัฒนาไปได้ดีกว่าในสายอุตสาหกรรมนี้

แต่ดูเหมือนว่าแม้จะมีบางธุรกิจไม่ประสบผลสำเร็จ แต่วิญญูก็ผลักดันโค้วยู่ฮะขยายตัวต่อไป ! โดยคาดหมายว่าการโตต่อไปเท่านั้นที่จะมีโอกาสเพิ่มปริมาณรายได้และผลกำไรได้

นับตั้งแต่ปี 2525-2532 อาณาจักรของโค้วยู่ฮะไม่ได้จำกัดเพียงแค่ราชาภูธรค้ารถอีซูซุ หรือเจ้าที่ดินแห่งเมืองไทยเท่านั้น แต่วิญญูได้วางแผนการเติบโตไปสู่ภาพพจน์นักธุรกิจสมัยใหม่ที่มีพยายามแสดงออกถึงการบริหารทุน บริหารธุรกิจ และบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้ง ๆ ที่ปรัชญาการทำธุรกิจของเขา คือ พ่อค้าที่ถนัดงานซื้อมาขายไปมากกว่า

ในปี 2524 และ 2527 รัฐบาลได้ใช้มาตรการทางการเงินลดค่าเงินบาทสองครั้ง พร้อมกับกำหนดระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทใหม่จากผูกติดตายตัวกับดอลลาร์เป็นลอยตัว เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมไปสู่การส่งออกและพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาค แต่ในปี 2527 นโยบายจำกัดสินเชื่อ 18% ก็ทำให้เศรษฐกิจถดถอยมาก

ปี 2525 โรงงานต่อตัวถังรถยนต์ก็เกิดขึ้นในนาม "เฟิส์ทบอดี้" ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ "บริษัทเคเอ็มที" กิจการขาดทุนตลอดจนต้องเพิ่มทุนเกือบทุกปีจาก 5 ล้านเป็น 30 ล้านในปัจจุบัน เหตุของการขาดทุนเพราะค่าใช้จ่ายสูงมากและการบริหารรั่วไหล มีการเปลี่ยนผู้บริหารคนแล้วคนเล่า ล่าสุดวิญญูดึงผู้เชี่ยวชาญจากอีซูซุได้ เป็นชาวญี่ปุ่นชื่อ KAZUMASA FUSEYA มาจากเมืองจิฟู ญี่ปุ่น และเคยทำงานให้อีซูซุที่นครราชสีมา มาเป็นรองกรรมการผู้จัดการ บริหาร 3 โรงงาน ส่วนสถาพร ณ พัทลุง ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารที่นี่ก็ย้ายไปดูแลบริษัทแวมโก้ที่จะผลิตรถเฟี้ยต

เคเอ็มทีเป็นตัวอย่างของการขาดแคลนผู้บริหารระดับสูงและระดับกลางอย่างมาก คือ ขาดตำแหน่ง GENERAL MANAGER ผู้จัดการโรงงานหนึ่งคน ผู้จัดการฝ่าย และผู้ช่วยผู้จัดการส่วน ในขณะที่มีโรงงานที่ต้องดูแลถึง 3 แห่ง มีพนักงานเกือบ 600 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นซับคอนแทคเตอร์ซึ่งประกอบตัวถังรถพ่วงชนิดเซมิ-เทรลเลอร์และรถดัมพ์

ถึงกระนั้นก็ตาม วิญญูก็ไม่ปล่อย เขาได้พันธมิตรธุรกิจที่จะมาร่วมลงทุนสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้เคเอ็มทีแล้ว ในช่วงปี่แล้ววิญญูเดินทางไปเกาหลีและญี่ปุ่นบ่อยมาก เพื่อเจรจาข้อตกลงการร่วมลงทุนกับบริษัทซันญองแห่งเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในการผลิตตู้คอนเทนเนอร์ และที่ญี่ปุ่น บริษัทเคียวคูโตะซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่ง (รองมาเป็นบริษัทชิมไงหว่าและบริษัทโตคิว) ก็เป็นเป้าหมายของวิญญูที่จะมีการร่วมลงทุนเพื่อประกอบรถดัมพ์ในปีนี้

ดังนั้น ปีนี้จึงเป็นปีที่โค้วยู่ฮะก้าวสู่อุตสาหกรรมต่อนเองจากการค้ารถ (VERTICAL INTREGRATION) เพราะในปี 2532 บริษัทเวิร์ล ออโตพาร์ท แมนูแฟคเจอริ่ง (แวมโก้) ได้เข้าไปเช่าช่วงโรงงานกรรณสูตเจอเนอรัล แอสเซมบลีที่ถูกสถาบันการเงินฟ้องล้มละลายเพราะหนี้สินกว่า 459 ล้านบาท ตามแผนการของวิญญูเขาได้ติดต่อกับทางบริษัทเฟี๊ยต ประเทศอิตาลี เพื่อขอเป็นผู้ประกอบรถเฟี๊ยตในภูมิภาคนี้

"ขณะนี้เรารอคุยกันก่อนว่า เฟี๊ยตจะให้เราประกอบกี่รุ่นหรือรุ่นอะไรบ้าง นอกจากนี้ เรายังมีโครงการประกอบรถบรรทุกซึ่งยังไม่รู้ว่าจะใชุ้นเท่าไหร่ เพราะต้องใช้เวลา" วิญญู คุวานันท์ เล่าให้ฟังแต่ปัญหาขณะนี้คือ สิทธิการเช่าช่วงของแวมโก้ได้หมดลงแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533 และทางเจ้าหนี้รายใหญ่ คือ ธนาคารสยามจำกัดต้องการให้กรมบังคับคดีขายทอดตลาดเพื่อนำเงินจากการประมูลมาชำระหนี้สิน แทนที่จะให้ทางแวมโก้เช่าเดือนละ 5 แสนบาท

การประมูลครั้งนี้มีบริษัทผู้ค้ารถยนต์หลายแห่งที่ต้องการใบอนุญาตนี้ นอกจากของโค้วยู่ฮะกรุ๊ปแล้วก็มีบริษัทฮอนด้าคาร์ (ประเทศไทย) ด้วยงานนี้เสี่ยวิญญูต้องสู้ชิงดำแน่นอน

นอกจากนี้ วิญญูยังมีโครงการระยะสั้นและระยะยาวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอีกมากที่ทำไม่ได้ เช่น นิคมอุตสาหกรรมที่น้ำพอง โครงการเมืองอิเล็คทรอนิกส์ โครงการผลิตนาฬิกาในนามบริษัทโค้ววอชช์

"ผมเคยไป MATCH JOINT VENTURE โรงงานนาฬิกาที่สวิตส์ซึ่งเขยคุณวิญญูเป็นคนนำเข้ามา เพื่อตั้งบริษัทโค้ววอชช์ ปัญหาก็คือ พอตอบว่าลงทุน 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี ถึงจะคืนทุนท่านตกใจว่า ทำไมนานเหลือเกิน...ผมตั้งดีลเลอร์ขึ้นมาเพียงเดือนเดียวก็ได้เงินคืนแล้ว" ดร.เชียรช่วง กัลยาณมิตร เล่าให้ฟังในสมัยเมื่อเขายังเป็นที่ปรึกษาไฟแรงให้โค้วยู่ฮะกรุ๊ป

อีกด้านหนึ่งการค้าในอินโดจีนตามนโยบายพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ต้องการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ก็ทำให้วิญญูซึ่งมีคอนเนคชั่นแนบแน่นกับประเทศลาวมานานก็ได้ตั้งบริษัทโค้วยู่ฮะ (ไทย-ลาว) และบริษัทส่งเสริมการเกษตรขึ้นมาในปี 2531 และ 32 แต่ปรากฏว่า การค้าล้มเหลวไม่ได้ตามเป้าหมาย เพราะรัฐบาลลาวไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีและกฎระเบียบการนำเข้าส่งออกทำให้คำนวณต้นทุนและราคาขายลำบาก

ในรอบบัญชีปี 2531 ระหว่างเดือนเมษา 31 ถึงมีนา 32 ผลการดำเนินงานของบริษัทโค้วยู่ฮะ (ไทย-ลาว) ขาดทุนประมาณ 150,000 บาท จากทุน 1,000,000 บาท โดยมีรายได้จากการขายสินค้านำเข้าจากลาว ซึ่งเป็นสินค้าเศษโลหะเป็นเงินถึง 13 ล้านกว่าบาท ขณะที่รายได้จากการส่งออกสินค้ารถอีซูซุหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าไปลาวมีมูลค่าเพียง 2.6 ล้านบาท

และอีกฐานหนึ่งที่วิญญูไม่ทิ้งแน่นอนก็คือ ธุรกิจส่งออกข้าวและค้าพืชไร่ วิญญูได้เดินหน้าเข้าสู่วงการค้าพืชไร่มันสำปะหลังเต็มตัวโดยขอซื้อโกดัง และโรงงานผลิตมันสำปะหลังอัดเม็ดของบริษัททวีแสงศิริที่ถูกธนาคารกรุงเทพยึดไว้ เนื่องจากค้างหนี้อยู่ถึง 200-300 ล้านบาท และซื้อตัวคนจากบริษัทเริ่มอุดมด้วยเงินเดือนสูงถึง 4 หมื่นบาทขณะที่ปกติจ้างแค่ 2 หมื่นบาท หลังจากพร้อมแล้ววิญญูได้ใช้คอนเนคชั่นผลักดันให้การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรกำหนดว่า เขตขอนแก่นเป็นเขตส่งออกมันสำปะหลังด้วยจากเดิมที่เขตสิ้นสุดที่นครราชสีมา เพื่อเอาผลตรวจสอบสต็อกไปจัดสรรเป็นโควต้าส่งออกให้และแผนการต่อไปของวิญญู คือ ผลักดันขยายเขตส่งออกไปถึงอุดรด้วย เพราะขณะนี้ที่อุดรธานีวิญญูได้สร้างโรงอัดมันเม็ดขนาด 4 หัวใหญ่ ซึ่งจะผลิตได้ราวเดือนเมษายนปีนี้ และโรงสีข้าวขนาด 200 เกวียนด้วย

สินค้าเกษตรพืชผลเหล่านี้ส่งออกโดยผ่านบริษัทไรซ์ชอยส์ที่กรุงเทพ เมื่อปี 31 วิญญูได้เข้าวงการค้าข้าวโดยตั้งบริษัทเกษตรไพศาลเพื่อส่งออกข้าวไปยังจีนเป็นรายใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมได้บูมมาก ดังนั้น โค้วยู่ฮะกรุ๊ป ก็ได้ซื้อกิจการโรงแรมเข้ามาอยู่ในเครือ 2 แห่ง คือ โรงแรมนิวแมเจสติคที่ราชดำเนินกรุงเทพ และอีกแห่งที่เชียงใหม่ชื่อโรงแรมพรอวิเดนซ์ ซึ่งมาลิน คุวานันท์ซื้อจากลิตเติ้ลดั๊กกรุ๊ปในราคาเกือบ 200 ล้านบาททั้งสองแห่งให้ลูกสาวชื่อสาลินีบริหาร

แต่โครงการใหญ่ที่วิญญูตั้งใจสร้างที่ขอนแก่นแน่นอน คือ "โค้วยู่ฮะคอมเพล็กซ์" ที่ประกอบด้วยโรงแรมชั้นหนึ่งขนาด 400 ห้อง สูง 6 ชั้นมีห้องประชุมใหญ่จุคนได้ถึง 2,000-3,000 คน และมีห้างสรรพสินค้า สปอร์ตคลับ และมีสวนน้ำบนเนื้อที่ 100 ไร่ริมถนนมิตรภาพบริเวณใกล้ขอนแก่นสปอร์ตคลับ ซึ่งวิญญูได้เช่าสิทธิทำสนามม้าแข่งจากสโมสรนครขอนแก่นโดยจ่ายไป 8,561,442 บาท

วิญญูเป็นนักลงทุนที่ฉวยโอกาสเก่งแท้ ๆ ปัญหามีเพียงว่าเขาเอาทุนมาจากไหนตั้งมากมายมาเที่ยวไล่ซื้อกิจการต่าง ๆ

"มีเหลือไม่ถึง 10 จังหวัดที่ตระกูลคุวานันท์ไม่ได้ซื้อ" นายหน้าค้าที่ดินรายหนึ่งเล่าให้ฟังแต่มีเป็นสิบ ๆ จังหวัดที่มาลิน คุวานันท์ และเสี่ยวิญญูสะสมไว้ตั้งแต่รุ่นหนุ่มสาวจนถึงปัจจุบัน

"คุณแม่ชอบสะสมที่ดินมานานตั้งแต่ซื้อไม่กี่ไร่เป็น 20 ไร่ แต่เดี๋ยวนี้ถ้าต่ำกว่า 40-50 ไร่ คุณแม่จะขี้เกียจไปดูเพราะเสียเวลา และบางทีคุณพ่อและพี่ใหญ่ไปเจอที่ไหนดี ๆ ก็จะซื้อด้วย" ลูกสาวคนเล็ก ศรีนภา คุวานันท์ เล่าให้ฟัง

แต่ลักษณะการพัฒนาที่ดินยังมีน้อย ส่วนใหญ่จะเก็บไว้และมีบางแปลงที่นำไปจำนองกับแบงก์เพื่อกู้เงินทุนหมุนเวียนในกิจการที่ขยายตัว หรือเปิดใหม่ หรือบางทีก็ขาดทุน การบริหารด้านการเงินส่วนใหญ่มาลินที่คนโค้วยู่ฮะเรียกว่า "เสี่ยเนี้ย" นั่นเป็นผู้ดูแล และเป็นผู้วิ่งเต้นหาเงินตัวเป็นเกลียวในระยะบุกเบิกกิจการแรก ๆ

แบงก์พาณิชย์ใหญ่ 7 แห่งในประเทศต่างซูฮกให้โค้วยู่ฮะเป็นลูกค้าชั้นดี โดยปีที่แล้วทางบริษัทโค้วยู่ฮะกรุงเทพมีวงเงินเบิกเกินบัญชี 44.5 ล้านบาท และวงเงินสำหรับตั๋วเงินจ่ายและ LETTER OF CREDIT ในประเทศจำนวนรวม 465 ล้านบาท วงเงินเหล่านี้ค้ำประกันโดยเงินฝากประจำ 43.2 ล้านบาท และวงเงินส่วนที่เหลือค้ำโดยกรรมการและที่ดินหลายแปลง

ในอดีตเมื่อปี 2527 ด้วยสายสัมพันธ์กับพารณ อิศรเสนา แห่งปูนใหญ่วิญญูก็ได้ซื้อที่ดินสำนักงานใหญ่บริษัทของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยริมถนนพหลโยธิน ในนามบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์มาทำเป็นสำนักงานใหญ่โค้วยู่ฮะกรุงเทพด้วยเงิน 123 ล้านบาท โดยได้กู้แบงก์กสิกรไทย 21 ล้านกว่าบาทมาชำระพร้อมกับธนาคารอเมริกาก็ให้กู้ถึง 90 ล้านบาท นี่คือตัวอย่างของการหมุนเงินที่อาศัยที่ดินค้ำประกัน ทำให้ราชาที่ดินอย่างวิญญูและมาลินนับเป็นลูกค้าชั้นดีมาก ๆ ที่แบงก์ให้เครดิตเต็มที่ทุกโครงการ

นอกจากนี้ การใช้เงินทุนหมุนเวียนเช่นโครงการขยายงานค้ารถยนต์ของบริษัทโตโยต้าปากน้ำโพในช่วงแรก ๆ ประมาณปี 27 ก็มีการขอวงเงินในรูปการค้ำประกันตั๋วแลกเงิน (อาวัลตั๋ว) ในวงเงินไม่เกิน 60 ล้านบาท โดยมีที่ดินจำนองและตัววิญญูค้ำประกัน

คำถามมีอยู่ว่า ทำไมวิญญูและโค้วยู่ฮะมอเตอร์จึงมีเครดิตดีมากมายเพียงนี้ ?

คำตอบมีว่า เพราะไม่เพียงแต่จะมีที่ดินมามายเท่านั้น หากโค้วยู่ฮะรวยเงินสดจากธุรกิจด้วย ขอให้ดูงบดุลบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ (ขอนแก่น) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทในเครือข่ายเป็นตัวอย่าง

ปี 2531 มี CASH ASSET ประมาณ 300 ล้านเทียบกับรายได้สุทธิจากยอดขายประมาณ 656 ล้านบาทหรือคิดเป็นเกือบ 50% ซึ่งบ่งบอกถึงตัวธุรกิจว่าสามารถสร้างเงินสดได้ดี เมื่อมองในแง่นี้แล้วจึงไม่แปลกใจที่ธนาคารต่างเดินเข้าหาโค้วยู่ฮะเพื่อปล่อยเครดิตให้

มีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า โค้วยู่ฮะใช้ความแข็งแรงในเครดิตเป็นตัวผ่องถ่ายเม็ดเงินจากธนาคารไปให้บริษัทเครือข่าย

จากเอกสารรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีบริษัทกรุงเทพสรรพกิจระบุว่า ปี 2531 บริษัทเป็นลูกหนี้เงินให้กู้ยืมแก่บริษัทในเครือ 501 ล้านบาท และเอาไปลงทุนแสวงผลระยะสั้นและถือหุ้นในบริษัทจำกัดอื่น ๆ ในเครือประมาณ 78 ล้านบาท นอกจากนี้ยังไปให้กรรมการกู้อีก 84 ล้านบาท

รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 662 ล้านบาทที่บริษัทแม่เป็นตัวผ่องถ่ายเม็ดเงินจากระบบธนาคารไปใช้ในกิจการที่นอกเหนือธุรกิจของบริษัทแม่

การใช้ที่ดินและเครดิตตัววิญญูเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจึงเป็นที่มาของการใช้ทุนจากระบบธนาคารในการลงทุนขยายกิจการนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ถึงจุดหนึ่งการก่อหนี้เพื่อการเติบโตของธุรกิจย่อมเป็นภาระมากมายและมีความเสี่ยงสูงในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ ทางออกคือการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์

ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนปี 2532 ที่วิญญูได้ให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิตี้คอร์ป เป็นอันเดอร์ไรเตอร์ในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นของบริษัทโค้วยู่ฮะกรุงเทพ และต่อมาได้ยื่นสมัครเข้าเป็นบริษัทรับอนุญาตต่อตลาดหลักทรัพย์ เป็นที่จับตาว่าเมื่อไหร่ที่หุ้นตัวนี้จะผ่านการอนุมัติให้ซื้อขายกันได้ ขณะที่ปัจจุบันราคาซื้อขายนอกตลาดไต่อยู่ระดับราคา 150-180 บาทแล้ว หลังจากที่ได้มีการขายหุ้นให้แก่พนักงานบริษัทในราคาหุ้นละ 52 บาท

"ทุนจดทะเบียนของเราเพิ่มจาก 10 ล้านเป็น 80 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว และจะกระจายไปสู่ประชาชนประมาณ 40% ราคาพาร์ก็ 10 บาท ถ้าจะขายก็ประมาณร้อยบาทได้" วิญญู ประธานโค้วยู่ฮะกรุงเทพเปิดเผยถึงเงินทุนที่จะระดมได้จากการเป็นบริษัทมหาชนนับล้าน ๆ บาท

บริษัทโค้วยู่ฮะกรุงเทพเดิมชื่อบริษัท ยู.ดี. มหานคร ตั้งเมื่อปี 2521 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท และเมื่อถูกวิญญูซื้อกิจการเมื่อปี 2523 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น "อีซูซุขอนแก่น" และต่อมาเมื่อกิจการค้ารถเติบใหญ่มากขึ้นในขอนแก่น วิญญูก็ย้ายสำนักงานใหญ่มาที่กรุงเทพ โดยสวมชื่อใหม่ให้เป็น "บริษัทโค้วยู่ฮะกรุงเทพฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุกขนาดกลางและใหญ่ของอีซูซุ แทนสำนักงานติดต่อประสานงานที่โค้วยู่ฮะมอเตอร์มีอยู่ขณะนั้น

รัชชพร กุลเลิศจริยา ซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อเดิมว่า "อนันต์ญา" ได้ถูกมอบหมายให้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทนี้ ปัจจุบันนี้รัชชพรหรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า "พี่เตียง" เป็นลูกหม้อเก่าที่ทำงานกับโค้วยู่ฮะมานานนับ 20 กว่าปี และมีคุณสมบัติของความซื่อสัตย์ ถือคุณธรรม นิยมธรรมะเข้าวัดแบบเดียวกับเสี่ยเนี้ย มาลิน คุวานันท์

การบริหารงานของโคร้วยู่ฮะกรุงเทพยังรวมศูนย์อยู่ที่วิญญูและมาลิน แม้ว่าจะมีบอร์ดใหญ่สายงานภาคกรุงเทพมหานครและภาคกลางก็ตามที ดังนั้การตัดสินใจนำเอาโค้วยู่ฮะกรุงเทพซึ่งขาดทุนมาตลอดตั้งแต่ปี 2527-30 เข้าตลาดหุ้นในฐานะบริษัทรับอนุญาตแทนที่จะเอาโค้วยู่ฮะมอเตอร์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ทำกำไรได้มากที่สุดในกรุ๊ปจึงเกิดขึ้น

"เราต้องเข้าไปทีละบริษัท เพราะโค้วยู่ฮะกรุงเทพของเราค้ารถอย่างเดียว ซึ่งเหมาะสมกับการเข้าตลาดหุ้น ส่วนโค้วยู่ฮะมอเตอร์ของเราที่ขอนแก่นไม่ใช่จะค้ารถอย่างเดียว แต่ทำหลายอย่างทั้งเกษตร จัดซื้อที่ดิน และทำไฟแนนซ์ ดังนั้นเป็นบริษัทที่ค้าทุกอย่างซึ่งยังไม่พร้อมเข้า แต่วันหนึ่งคงจะต้องเอาเข้าให้ได้" ประยูร อังสนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เล่าให้ฟัง

การใช้ตลาดหุ้นของวิญญู คุวานันท์ เป็นการวางแผนทิศทางของโค้วยู่ฮะกรุงเทพ โดยหวังผลที่ให้เกิดขึ้น คือ จากบริษัทที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักก็จะเกิดภาพพจน์บริษัทนี้ขึ้นมา ซึ่งก็จะหมายถึงการเพิ่มพูนกำลังทรัพย์จากมหาชนได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก และนำเอาตลาดหุ้นมาใช้ในเชิงการตลาดมากขึ้น โดยขยายขอบเขตการแข่งขันได้ทวียิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะการใช้แหล่งทรัพยากรทางการเงินจากตลาดหุ้นจะทำให้กิจการขยายขนาดใหญ่ขึ้นและหาสินค้าใหม่ ๆ ได้ด้วย

ในอนาคตเมื่อฐานการเงินเสริมความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก บริษัทขนาดใหญ่เล็กในเครือของโค้วยู่ฮะอีกนับสิบ ๆ บริษัทจะเริ่มมีพิษสงมากขึ้น เพราะโค้วยู่ฮะจะได้ทั้งทุนและมืออาชีพเข้าไปบริหารงานในเครือมากขึ้น และอีก 3 ปีข้างหน้าแน่นอนว่าโค้วยู่ฮะกรุงเทพอาจจะไปซื้อกิจการใหม่ ๆ เข้ามาอีก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในหุ้นของตัวเอง เรื่องนี้ผู้ที่ตอบได้ดีที่สุดน่าจะเป็น "วิญญู คุวานันท์" ยอดคนแดนอีสานคนนั้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us