สหพัฒน์ กัดฟันตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยันสิ้นปี ยอมแบกรับต้นทุนผลิต ลั่นขอขึ้นราคาเป็นบริษัทสุดท้าย ส่วน “มาม่า” รอบอร์ดไทยเพรสซิเดนท์ ฟูดส์อนุมัติ แจงหากไม่ปรับราคาขึ้นจาก 5 บาท ขาดทุนแน่ ชงรัฐฯหากต้องการตรึงราคา พิจารณาเรื่องลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ควักระบบลอจิสติกส์ใหม่ผนึก 4 บริษัทเพื่อลดต้นทุน ระบุเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณดี สิ้นปีรายได้รวมโต 7-9% กวาด 17,500 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้า
นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เปิดเผยว่า นโยบายของเครือสหพัฒน์ยังคงตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคกระทั่งจนถึงสิ้นปีนี้ แม้ว่าราคาวัตถุดิบบางตัวจะปรับสูงขึ้นก็ตาม อาทิ วัตถุดิบที่ช่วยในการซักล้าง และวัตถุดิบที่ช่วยในการเพิ่มพลังซักหรือ STPP ขยับราคาขึ้นไปอีก 10% ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็น 80 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลให้กลุ่มผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน สบู่ แชมพู และน้ำยาปรับผ้านุ่ม ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น 40-50%
หากจะมีการปรับราคาขึ้นจริง กรณีที่ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จะขอขึ้นราคาเป็นบริษัทสุดท้าย ส่วนในปีหน้านี้บริษัทจะปรับราคาสินค้าขึ้นหรือไม่นั้น คงจะต้องมาพิจารณาถึงต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะวัตถุดิบและพลังงานที่ปรับสูงขึ้นอีกหรือไม่อีกครั้ง
สำหรับกรณีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าที่ขอปรับราคาขายปลีกจาก 5 บาท เป็น 6 บาท คงต้องให้นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรสซิเดนท์ ฟูดส์ จำกัด เป็นผู้ชี้แจง ทั้งนี้การขอปรับขึ้นราคาต้องรอให้บอร์ดไทยเพรสซิเดนท์ ฟูดส์ อนุมัติ โดยขณะนี้ยังไม่ได้ยื่นขอปรับราคากับกรมการค้าภายใน
สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น จากแป้งสาลีที่เพิ่มขึ้น 60% และราคาน้ำมันปาล์ม เพิ่ม 50% ทำให้บริษัทไม่สามารถแบกรับภาระที่สูง หากไม่มีการปรับราคาสินค้าขึ้น อาจมีผลทำให้ขาดทุนได้ ทั้งนี้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าขณะนี้วัตถุดิบเก่ายังเหลืออยู่ สามารถรองรับการผลิตในเดือนพฤศจิกายน นี้ เท่านั้น จากนั้นต้องสั่งวัตถุดิบใหม่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขึ้นราคาในเดือนธันวาคม นี้
“กรณีที่มีผู้ประกอบการรายหลายขอปรับขึ้นราคา หากภาครัฐต้องการให้ผู้ประกอบการตรึงราคา ควรจะลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบบางอย่าง เช่น ข้าวสาลีเป็นต้น แต่มองว่ากรณีนี้เป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีหลายขั้นตอน อย่างไรก็ตามกรมการค้าภายในจะเรียกผู้ประกอบการไปชี้แจงอีกครั้ง ทั้งนี้หากมาม่าขอปรับราคาขึ้นจริงคงต้องชี้แจงอย่างละเอียดต่อกรมการค้าภายใน”นายบุญชัย กล่าว
ชูระบบลอจิสติกส์ใหม่ลดต้นทุน
นายบุญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อรองรับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น บริษัทได้เข้าร่วมกับหอการค้าฯ พัฒนาประสิทธิภาพด้านระบบลอจิสติกส์ โดยนำโมเดลเมื่อเวลาส่งสินค้าเสร็จแล้วให้นำสินค้าจากปลายทางกลับมาด้วย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เสียเปล่า ซึ่งวิธีดังกล่าวช่วยลดต้นทุนได้เท่าตัว โดยร่วมมือกับอีก 4 บริษัท ได้แก่ ซีพี ,ปูนซีเมนต์ไทย, ไทยเบฟฯ และน้ำตาลมิตรผล ระบบลอจิสติกส์ดังกล่าวเริ่มมาได้ 2 ปีแล้ว แต่นำมาใช้เป็นรูปธรรมในปีนี้
ส่วนด้านแผนการตลาดบริษัทมีการปรับอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ล่าสุดได้ปรับเป้ารายได้จากเดิมตั้งเป้าโต 10% หรือผลประกอบการ 18,400 ล้านบาท เป็นการเติบโต 7-9% หรือราว 17,500 ล้านบาท สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนโต 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ชี้สัญญาณเศรษฐกิจดีไตรมาสสุดท้าย
สำหรับในช่วงไตรมาสสุดท้ายมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ผลจากการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้ โดยพบว่ายอดขายในช่วงเดือนกันยายนเริ่มดีขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะคนเริ่มมีความมั่นใจ ที่ผ่านมาคนมีกำลังการซื้อแต่ไม่กล้านำเงินมาใช้ สำหรับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมากนัก ส่วนกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย มีการชะลอการซื้อลงบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อผ้า ทั้งนี้หากมีการลงทุนและมีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐน่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากขึ้น
ด้านบุญฤทธิ์ มหามนตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผงซักฟอกเปา กล่าวเสริมถึงการปรับตัวของกลุ่มผู้ประกอบการเพิ่มรองรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นว่า ผู้ประกอบการควรสร้างทางเลือกใหม่ๆ ทางด้านพลังงานเช่น โรงงานสามารถนำก๊าซ น้ำมัน หรือโซล่าเซลล์มาใช้ หรือกระทั่งวัตถุดิบที่สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้มองว่าผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว
สำหรับผลประกอบการปีนี้บริษัทตั้งเป้ามีอัตราการเติบโต 15% หรือมีรายได้ 8,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังต่ำกว่าเป้าหมายอยู่ ล่าสุดได้ทุ่มงบกว่า 50 ล้านบาท เปิดตัวแคมเปญ” 10 ปี เปา ซอฟท์ ร่วมสร้างคนดี ส่งเสริมคุณธรรม” ตั้งเป้าส่วนแบ่งเพิ่มจาก 17% เป็น 20% จากมูลค่าตลาดผงซักฟอก 12,400 ล้านบาท
|