|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 3.25% เหตุอัตราเงินเฟ้อจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศอาจมีผลกดดันให้เงินเฟ้อในระยะต่อไปเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันรอดูผลซับไพรม์ที่อาจยืดเยื้อต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต ขณะเดียวกันในวันที่ 19 ต.ค.นี้ กนง.เตรียมปรับเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจบางตัว โดยเฉพาะทบทวนราคาน้ำมันใหม่ หุ้นพุ่งรับข่าวนักลงทุนคลายกังวลปัญหาศก. ลุ้นผลประกอบการกลุ่มแบงก์ไตรมาส3/50 โตเกินคาด ศคร.วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษามาตรการการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)วานนี้(10ต.ค.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตร(อาร์พี)ระยะ 1 วัน ไว้ที่ระดับ 3.25%ต่อปี เนื่องจากขณะนี้แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงจากแรงกดดันจากปัจจัยภายในประเทศที่จะทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าและค่าขนส่งจากต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนปัจจัยภายนอกจากราคาน้ำมันตลาดโลก สินค้าโภคภัณฑ์และราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะในส่วนของอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนมีสัญญาณการขยายตัวที่ดีขึ้น แม้การส่งออกจะชะลอลงบ้างในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ(ซับไพรม์)ของสหรัฐ แม้ภาวะเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มากในขณะนี้ แต่อาจจะมีโอกาสสร้างปัญหายืดเยื้อในอนาคตได้ ทางกนง.จึงต้องมีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
"กนง.มีบทบาทในการรักษาสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็มีการใช้จ่าย การกู้ยืมในการก่อสร้างรถไฟฟ้า หรือมีการทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ฉะนั้นในฐานะที่เรามีหน้าที่ในการดูแลนโยบายการเงิน เมื่อใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ถือเป็นการผสมผสานระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลังให้เป็นตัวช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น”
นางสุชาดา กล่าวว่า ในการประชุมรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนตุลาคม ซึ่งจะมีการประชุมขึ้นในวันที่ 19 ตุลาคม นี้ และเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายในปีนี้อาจมีการทบทวนเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจบางตัวให้เป็นไปตามภาวะที่เปลี่ยนไป อาทิ อัตราเงินเฟ้อ และราคาน้ำมัน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เริ่มเร่งตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ถึง 80 เหรียญต่อบาร์เรล ทำให้ทางกนง.คาดว่าจะมีการทบทวนประมาณการราคาน้ำมันของปีนี้ใหม่ แต่ราคาน้ำมันในปีหน้ายังคงไว้ที่เดิม คือ 65 เหรียญต่อบาร์เรล
"อัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ถือว่าเหมาะสมกับศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจในอัตรา 4-5%แล้ว แต่ในระยะต่อไปยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ต้องติดตามอยู่ จึงต้องรอดูข้อมูลต่างๆ ที่เข้ามาอย่างใกล้ชิดต่อไป และการปรับคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ก็ไม่เกี่ยวกับกรณีที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะติดลบ เพราะที่ผ่านมาก็มีบางช่วงที่กนง.ลดดอกเบี้ยในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ โดยในเดือนก.ย.นี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือนอยู่ที่ระดับ 0.14%"นางสุชาดากล่าว
ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ทำให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.75% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ทำให้ไทยกับสหรัฐมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย 1.5% ถือว่ากว้างพอสมควร จึงเชื่อว่าจะไม่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ในปีนี้คาดว่าเฟดจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง
สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้ปรับลดลงไปแล้วนั้น จะขึ้นอยู่กับโครงสร้างเงินฝากของแต่ละสถาบันการเงิน เพราะบางธนาคารอาจมีเงินฝากประเภทระยะยาวมาก ทำให้ต้นทุนยังสูงอยู่ แต่เชื่อว่าเมื่อต้นทุนลดลง สถาบันการเงินจะค่อยๆ ทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตาม และในช่วงที่เกิดปัญหาซับไพรม์สถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
"ในช่วงที่เกิดภาวะตึงตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกจากปัญหาซับไพรม์ ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจของไทยเพิ่มขึ้น จึงไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากมีช่องทางและต้นทุนลดลง เชื่อว่าสถาบันการเงินจะมีการขยายสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจต่อไป”นางสุชาดากล่าว
ส่วนภาคประชาชนเองก็มีการฝากเงินลดลง สะท้อนจากยอดเงินฝากในระบบเศรษฐกิจเริ่มลดลงเหลือ 2%กว่า แสดงให้เห็นว่าประชาชนทั่วไปเริ่มหันไปลงทุนประเภทอื่นที่หลากหลายขึ้น เช่น ตั๋วแลกเงิน(บี/อี) หุ้น รวมทั้งธุรกิจกองทุนรวม
หุ้นพุ่งรับข่าว
ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (10 ต.ค.) ดัชนียังปรับตัวอยู่แดนบวกต่อเนื่องหลังนักลงทุนยังคงเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะหุ้น BANPU ที่มีแรงซื้อเข้ามาจนทำให้ล่าสุดราคาหุ้นใกล้แตะระดับ 400 บาท ขณะหุ้น PTT ปรับตัวลดลงมาปิดที่ 338 บาท โดยดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาปิดที่ 875.10 จุด เพิ่มขึ้น 7.51 จุด หรือ 0.87% โดยจุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 879.51 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 871.58 จุด มูลค่าการซื้อขาย 27,750.84 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,864.23 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 786.29 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 2,650.52 ล้านบาท
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) นครหลวงไทย จำกัด กล่าวว่า การไหลกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นทั่วเอเชียในรอบนี้เป็นผลมากจากนักลงทุนคลายกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐที่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงระยะสั้นมากนัก โดยก่อนหน้านี้นักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิออกมาประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาทแต่เงินที่ไหลกลับเข้ามารอบ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมายังแค่ประมาณ 30% ของเงินที่ไหลออกทำให้มีโอกาสที่เงินจะไหลเข้ามาลงทุนเพิ่มได้อีก
ทั้งนี้ นอกเหนือจากความมั่นใจทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/50 ที่ใกล้จะประกาศน่าจะดีกว่าที่มีการคาดการณ์ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนมากขึ้น
สำหรับการปรับตัวเพิ่มขึ้นขอราคาหุ้น BANPU อย่างรุนแรงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานที่ถือว่าดีมากเพราะความต้องการถ่านหินในโลกสูงขึ้นหลังประเทศจีนจากผู้ผลิตรายใหญ่ต้องกลายเป็นผู้นำเข้าแล้วข่าวในเชิงที่สนับสนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นข่าวการแตกพาร์เป็นอีกแรงที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
"รอบนี้เรามองว่าโอกาสที่ดัชนีจะทะลุ 900 จุดไม่น่าจะยากมาก โดยมองกรอบดัชนีอยู่ที่ 877-936 จุด โดยช่วง 2 วันที่ผ่านมามีตลาดหุ้นถึง 8 แห่งที่ทำสถิติสูงสุดอีกครั้งขณะที่ไทยยังไม่สามารถทำลายสถิติได้เลย"นายสุกิจกล่าว
นายกวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า การคงอัตราดอกเบี้ย RP 1 วันที่ระดับ 3.25% ของคณะกรรมการกนง.ถือว่าไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นเนื่องจากเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด
สั่งหามาตรการหนุนทุนนอก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม (ศคร.) ที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาประเทศที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจเดียวกันกับประเทศไทย เช่น ประเทศมาเลเซีย ทั้งในเรื่องของการลงทุน มาตรการภาษี และมาตรการอื่นๆ หลังจากที่กระทรวงการคลัง ได้ศึกษามาตรการการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการเปิดโอลดิ้ง คัมปานี หรือบริษัทไทยในต่างประเทศ เช่น การยกเว้นภาษีกำไร 10 ปี ให้กับนักลงทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศที่เคยศึกษาในรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นต้น
ส่วนมาตรการให้สินเชื่อธุรกิจ SME จำนวน 5,000 ล้านบาทนั้น ได้รับรายงานความคืบหน้า ณ วันที่ 4 ต.ค.2550 มีการยื่นขอแล้ว 217 ราย วงเงิน 968 ล้านบาท และผ่านการอนุมัติเกณฑ์ให้สินเชื่อของธปท.จำนวน 831 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คิดว่าระบบการให้สินเชื่อใหม่นี้ธนาคารพาณิชย์จะสามารถปรับตัวได้ในปลายเดือนตุลาคมนี้หลังจากที่ยังไม่มีความเรียบร้อยมากนัก ขณะที่การให้สินเชื่อที่ใหญ่วงเงิน 4,500 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ยังไม่มีผู้เข้ามายื่นขอสินเชื่อ
นายอาคม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมเชื่อว่าเศรษฐกิจในปี 2551 จะเดินหน้าหลังจากที่โครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการโลจิสติกส์รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าส่วนสีแดง สายสีม่วง และสายสีน้ำเงินสว่นต่อขยายหรือโครงการทางด้านพลังงาน เช่น IPP SPP และ VSPP ที่เป็นโครงการพลังงานปิโตรเคมีประกาศโครงการในเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งการเจรจาระหว่างนักลงทุนกับ BOI เดินหน้าก็จะยิ่งสร้างความชัดเจนเพิ่มสร้างแรงดึงดูดในการลงทุนมากขึ้น
"ประเมินกันว่าในปี 2550 เศรษฐกิจจะเป็นไปตามเป้าหมาย ไม่ต่ำกว่า 4% แต่ก็จะต้องฟังผลการแถลงจีดีพีไตรมาส 3 ของสภาพัฒน์ในวันที่ 3 พ.ย. ก่อน”นายอาคมกล่าว
ด้านนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2551 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากนโยบายพื้นฐานของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่สร้างแรงจูงใจให้เกิดความเชื่อมั่นการลงทุนทั้งโครงการภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นผลดีของการบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ ส่วนการบริโภคเริ่มฟื้นตัวจากการเพิ่มเงินของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง คือความรุนแรงปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ และ ราคาน้ำมันปรับตัวสูง
"การลงทุนภาคเอกชนเริ่มชัดเจนแล้วโดยเฉพาะยานยนต์ที่รัฐบาลมั่นใจว่าไทยจะเป็นดีทรอยด์แห่งเอเซียได้ เพราะนโยบายภาครัฐที่จูงใจให้เกิดการลงทุนทั้งอีโคคาร์และรถยนต์ปกติ ขณะที่เศรษฐกิจในปี 50 กระทรวงการคลังเชื่อว่าจะโตไม่ต่ำกว่า 4% หรืออาจสูงถึง 4.5%”รมว.คลังกล่าว
|
|
 |
|
|