Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2533
ดนัย หาสตะนันทน์ กับความฝันบนท้องฟ้า             
 


   
search resources

ดนัย หาสตะนันทน์




ดนัย หาสตะนันทน์ ใช้ชีวิต 64 ปีของเขาอยู่ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้น เขามีรกรากและกิจการอยู่อย่างมั่นคง และตัวเขาเองก็ยังถือสัญชาติอเมริกันอยู่ด้วย

มาวันนี้เขากลับมาเมืองไทย พร้อมกับทุ่มเทมันสมองประดิษฐ์ "อีแตน" เฮลิคอปเตอร์ที่อาจจัดได้ว่าเป็นลำแรก ๆ ของไทย

ดนัยไม่ค่อยกล่าวถึงชีวิตแต่หนหลังให้ใครต่อใครฟังนัก "ผู้จัดการ" ทราบแต่เพียงว่าเขาจากประเทศไทยไปอังกฤษตั้งแต่อายุ 17 ปี ไปศึกษาต่อในสถาบันที่ดนัยไม่ขออ้างถึง แต่เป็นแขนงวิชาที่ดนัยสรุปว่า "INTELLIGENT" หรือเป็นสารพัดสาขาวิชาตั้งแต่สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งดนัยกล่าวว่าวิชาที่เขาเรียนส่วนใหญ่เป็นวิชาการสร้างตั้งแต่จักรยานสองล้อถึงเครื่องบิน

"ผมทำงานมาหลายอาชีพ แต่ส่วนมากจะเป็นครู" เขากล่าวกับ "ผู้จัดการ" แต่การเป็นครูของเขานั้นคือการเดินทางไปในหลายประเทศ หลายทวีป ทั้งยุโรป ตะวันออกกลาง อเมริกากลาง เป็นต้น ชีวิตที่ขึ้นกับการเดินทางของดนัย ทำให้เขาต้องผูกพันกับเครื่องบินมากเป็นพิเศษ จนกระทั่งเขามีความชำนาญและรอบรู้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องบินและการก่อสร้างเฮลิคอปเตอร์

เขากลับมาเมืองไทยเป็นบางครั้งบางคราว มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขากลับมาช่วยราชการตำรวจ และได้รับยศ "ร้อยตำรวจตรี" กลับไป

เมื่ออายุมากขึ้น ดนัยก็ลงหลักปักฐานที่สหรัฐอเมริกาและที่แปลกก็คือ เขาไปปักหลัก ณ ถิ่นไกลโพ้น หนาวยะเยือก คือ "อลาสก้า"

"คนไทยเข้าใจผิดคิดว่า ที่นั่นมีแต่อากาศหนาวเย็น ความจริงอลาสก้าก็มีบริเวณพื้นที่ที่อากาศอุ่นสบายอยู่เหมือนกัน เพราะมีธารน้ำอุ่นไหลผ่าน และเมืองที่ผมอยู่เป็นเมืองเล็ก ๆ ผู้คนคุ้นเคยกันเหมือนเมืองไทยที่ผมเคยอยู่" ดนัยเล่าให้เห็นสภาพ

ดนัยเปิดดำเนินกิจการ AIRCRAFT DESIGNER / BUILDER อย่างเป็นล่ำเป็นสัน หลังจากที่คลุกคลีกับมันมานานและสร้างมาเองก็หลายลำ

"ที่อเมริกา เขาให้อิสระในการมีเฮลิคอปเตอร์ในครอบครอง และเกษตรกรเขาก็มีใช้กันทั้งนั้น กิจการสร้างเฮลิคอปเตอร์ก็เลยมีกันเยอะแยะ ส่วนของผมนั้นเป็นกิจการในครอบครัวก็ว่าได้ แต่ก็ขายดี บางช่วงผลิตส่งออกไปแถบอเมริกากลางด้วยซ้ำ" ดนัยกล่าวอย่างภาคภูมิ

ดนัยมีบ้านอยู่ในเมืองไทยด้วย ดังนั้นในช่วงวัยอายุ 60 ปีเป็นต้นมา ดนัยก็กลับมาอยู่เมืองไทยบ่อยครั้งขึ้น

ในบั้นปลายของชีวิตประกอบกับความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ดนัยก็เลยเกิดความคิดที่จะสร้างเฮลิคอปเตอร์ในเมืองไทยให้เป็นเรื่องเป็นราว

"ที่ผมมาทำที่นี่เพราะผมแก่แล้ว ปลดเกษียณแล้วก็อยากกลับมาทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย ผมกลับมาเที่ยวเมืองไทยอยู่เรื่อย ๆ ก็เห็นว่าชาวนาเรามีปัญหามากแล้วผู้บริหารประเทศของเราก็มักชอบโวยว่าข้าวอเมริกันดั้มพ์ตลาดข้าวไทย ที่อเมริกันเขาทำได้เพราะกำลังการผลิตเขาสูงมาก ทั้งที่คนงานเขาราคาแพงกว่า เพราะเขามีเทคโนโลยี มีเครื่องมือ อย่างเช่น การฉีดยาฆ่าแมลง ทางอเมริกันเขาใช้เฮลิคอปเตอร์ แต่เราใช้คนฉีด ซึ่งคำนวณแล้วการใช้คนฉีดแพงกว่าหลายสิบเท่าตัว ผมก็เลยอยากนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน" ดนัยกล่าว

ดนัยกลับมาร่วมงานกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน่วยงานราชการที่พอจะเปิดโอกาสให้เขาลงทุนลงแรงได้บ้าง และก็ยังมีนิสิตนักศึกษาเป็นผู้ช่วยทางด้านแรงงานอีกด้วย โดยใช้ชื่อโครงการว่า "วิจัยเทคโนโลยีพัฒนาการเกษตรทางอากาศ"

ดนัยร่วมกับอาจารย์และนิสิตเกษตรเริ่มลงมือสร้างเฮลิคอปเตอร์เมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว โดยดนัยเริ่มออกแบบ สั่งวัตถุดิบ โดยเฉพาะเหล็ก ซึ่งเมืองไทยยังไม่มีโรงงานที่ผลิตเหล็กสำหรับเครื่องบิน

"การสร้างเฮลิคอปเตอร์ในเมืองไทยนั้น มีการพยายามทำมานานแล้ว แต่ไม่เคยสำเร็จเป็นจริงเป็นจัง คือ ดูแล้วการสร้างเฮลิคอปเตอร์มันไม่น่าจะยาก แต่จริง ๆ แล้ว ความยากมันอยู่ตรงที่เมื่อตัวเฮลิคอปเตอร์ลอยตัวขึ้นไปแล้ว จะทำอย่างไรให้พุ่งไปข้างหน้า เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาได้อย่างคล่องแคล่ว โดยไม่พลิกคว่ำหรือเสียการทรงตัว ทำอย่างไรให้มันกินลมพอดีไม่เสียสมดุล ลอยตัวอยู่ได้ บางทีเราไปลอกแบบเขามา เรายังสร้างกันไม่ได้ ดังนั้นปัญหาคือความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยี" ดนัยสรุปซึ่งจากประสบการณ์จากเมืองนอกที่เขาได้รับมาจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับดนัยเลยในกรณีนี้

ดนัยและทีมงานสามารถสร้างเฮลิคอปเตอร์สองลำแรกของไทยได้ โดยใช้เวลาสร้างแท้จริงเพียง 2 เดือน เฮลิคอปเตอร์ทั้งสองลำซึ่งเป็นต้นแบบนี้ขนานนามว่า "อีแตน" ใช้งบสร้างลำละประมาณ 1.5 ล้านบาท

ประสิทธิภาพและประโยชน์ของ "อีแตน" ในขั้นต้นนี้คือ ใช้พ่นยาปราบศัตรูพืช ซึ่งภายใน 1 ชั่วโมง สามารถพนได้ 270 ไร่ เชื้อเพลิงคือน้ำมันเบนซิน ซึ่งเมื่อคำนวณเฉพาะต้นทุนเชื้อเพลิงแล้วค่าใช้จ่ายคิดได้ 1 ไร่ต่อ 1.10 บาทเท่านั้น

ประโยชน์อีกด้านหนึ่ง คือ บินตรวจรักษาป่าตามเขตต่าง ๆ ซึ่งดนัยยืนยันว่าเป็นการบินตรวจป่าที่สิ้นค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด คือ เหมือนกับนั่งรถยนต์ชมป่านั่นทีเดียว

ดนัย กล่าวถึงต้นทุนการผลิตว่า ต้นทุนแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ KNOWHOW ค่าจ้าง และวัตถุดิบ ซึ่งจากประสบการณ์ของดนัยสรุปว่า ในอเมริกานั้นต้นทุนส่วนที่แพงที่สุด คือ ค่าจ้าง ซึ่งเทียบเท่า 50% ของต้นทุนทั้งหมด ส่วน KNOWHOW นั้น ก็อยู่ที่ดนัยและมหาวิทยาลัยเกษตร จะตกลงกันว่าจะคิดค่าใช้จ่ายต่อไปอย่างไร ส่วนวัตถุดิบนั้นเทียบเท่า 25% เท่านั้น และส่วนใหญ่คือเหล็ก ซึ่งไม่ว่าโรงงานผลิตเฮลิคอปเตอร์จะอยู่ในอังกฤษหรือเยอรมันก็ต้องซื้อเหล็กจากอเมริกาเหมือนกัน

"ตอนที่ผลิตอีแตนนั้น ต้นทุนถูกมาก เพราะแรงงานส่วนใหญ่ใช้นิสิตถึงต่อให้ใช้แรงงานทั่วไปผมก็ว่าเรายังถูกกว่าอยู่ดี" ดนัยยืนยัน ยิ่งไปกว่านั้นงบประมาณในช่วงต้นที่สร้าง "อีแตน" เป็นเงินประมาณ 3 ล้านบาทนี้ ดนัยกล่าวว่า เขาเป็นผู้ลงทุนในเบื้องต้นเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ให้ความร่วมมือในเรื่องแรงงาน โรงงาน และการประสานงานติดต่อ เช่น การจัดซื้อ นำเข้าอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น

การก่อสร้าง "อีแตน" เสร็จสิ้นเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา และออกบินสาธิตในงานเกษตรแฟร์ ต่อจากนั้นไม่นาน กระทรวงกลาโหมก็มอบหมายให้กองทัพอากาศ ส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งในที่สุด "อีแตน" ผลงานจากมันสมองของดนัยก็ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากสำนักวิศวกรรมอากาศยาน กองทัพอากาศ ซึ่งนั่นหมายความว่า การผลิต "อีแตน" ออกขายในเชิงพาณิชย์จะสามารถกระทำได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น

"หากจะตั้งโรงงานผลิตอย่างเป็นจริงเป็นจัง เราต้องใช้แรงงานระดับมืออาชีพ คือ ช่างอากาศที่ได้รับการรับรองจากกรมการบินพลเรือน ซึ่งจุดนี้คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะมีมากพอสมควร ปัญหาก็คือ เราต้องการผู้ร่วมลงทุน ซึ่งอาจจะลงทุนไปตั้งโรงงานที่อื่นหรือมาใช้โรงงานที่อยู่ในเกษตรนี่ก็ได้ ซึ่งก็จะประหยัดการลงทุนไปเยอะ" ดนัยให้ความหวังและอธิบายว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดการเรื่องลิขสิทธิ์ ส่วนดนัยก็จะรับแต่ค่า KNOWHOW ซึ่งเขาย้ำว่าไม่มากเท่าไร กับตอนนี้มีฐานเป็นลูกจ้างของโครงการนี้เท่านั้น

คำถามก็คือ ตลาดของเฮลิคอปเตอร์อยู่ที่ไหน ?

"หากชาวนาจะลงทุนซื้อเฮลิคอปเตอร์ ชาวนาจะต้องมีนากี่พันไร่ถึงจุดคุ้มกับการลงทุน หรืออาจจะต้องถึงหมื่นไร่ แต่หนทางยังพอมีบ้างหากหน่วยราชการเป็นตัวกลางช่วยในเรื่องนี้ หรือจัดตั้งระบบสหกรณ์ขึ้นมาในหมู่บ้านซื้อเฮลิคอปเตอร์ไว้เป็นส่วนกลาง แต่เราจะต้องหัดบ่มนิสัยของเราให้มีความซื่อสัตย์ด้วยเมืองไทยเราเวลาใช้ของแล้วก็ใช้เสียพัง คนต่อไปก็แย่" ดนัยกล่าวอย่างมีความหวัง

นอกจากนั้น ตลาดที่ดนัยคิดว่าจะเจาะไปได้แท้จริง คือ บริษัทเอกชนด้านการเกษตร เช่น ซีพี หรือมาบุญครอง กับหน่วยราชการอย่างเช่น กรมป่าไม้ ส่วนราคานั้นน่าจะอยู่ในราว ๆ 2 ล้านกว่าบาท ซึ่งดนัยอธิบายว่าราคาพอ ๆ กับที่อเมริกา แต่ของเราจะถูกกว่าเพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและในอนาคต "อีแตน" ก็น่าจะถูกลงไปอีกเพราะปัจจัยทางด้านแรงงาน

"อีแตน" เป็นเพียงการเริ่มต้นการผลิตเฮลิคอปเตอร์ของไทย การพัฒนาจะต้องมีกันต่อไป ส่วนในแง่การพาณิชย์ "อีแตน" ก็ต้องแสวงหาผู้ร่วมลงทุนและการคาดคะเนตลาดที่แม่นยำในอนาคต

แต่สำหรับดนัยแล้ว ณ วันนี้อาจถือได้ว่า ดนัยก็คือ "สมองไหล" ผู้หวนคืนกลับบ้านผู้หนึ่งเช่นกัน สิ่งที่จะต้องพิจารณาก็คือ การผสมผสานความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของเขาให้สอดคล้องกับสังคมไทย และขณะเดียวกันสังคมไทยหรือหน่วยงาที่เกี่ยวข้องก็ต้องรู้จักที่จะใช้ประสบการณ์ของเขาให้เป็นประโยชน์เช่นกัน !

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us