|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) ประเมินส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวถึง 35% ของการส่งออกทั้งหมด ชี้ปีหน้าส่งไทยขยายตัวแค่ 8% ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลน้อยลงในปลายปีนี้ และจะขาดดุลในปีหน้าประมาณ 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งค่าเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ 36.5 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนเศรษฐกิจปีหน้าโต 4.7% ขณะที่ธปท.รายงานภาวะส่งออก 8 เดือนแรกในรูปเงินบาทขยายตัว 7.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน
นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย)จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งคาดว่าจะมีการชะลอตัวลงจากเดิมขยายตัวที่ 3% อาจจะลดลงเหลือเพียง 1.5-2.0%ในปีหน้านั้น จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านของการส่งออกโดยตรง แม้ว่าสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯนั้นจะมีเพียง 15% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงแล้วผลกระทบที่ไทยได้รับสุทธิจะสูงถึง 35% ของการส่งออกทั้งหมด เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆนอกจากสหรัฐฯนั้นจะเป็นสินค้าวัตถุดิบ ซึ่งจะนำไปผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ดังนั้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวก็ย่อมจะมีผลต่อประเทศเหล่านั้นและส่งต่อมายังไทยด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก หากเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีการชะลอตัวก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดตามไปด้วย เพราะการบริโภคในประเทศยังคงมีความอ่อนแอ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลนั้นเป็นผลมาจากภาคการส่งออกเติบโตได้ดีมาก โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานั้นการส่งออกมีการเติบโตอยู่ที่ 18% แต่หากจะให้ขยายตัวอยู่ในระดับดังกล่าวต่อไปถือเป็นเรื่องที่ยากมากโดยเฉพาะในปีหน้า โดยคาดว่าการส่งออกปีหน้านั้นจะอยู่ที่ระดับ 8% จากปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 10-12%
อย่างไรก็ตาม มองว่าจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงและการนำเข้าสูงขึ้น จากปัจจัยเรื่องของราคาน้ำมันและการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์นั้นจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และจะขาดดุลในปีหน้าประมาณ 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อมายังค่าเงินบาท ซึ่งในปัจจุบันยังคงแข็งค่าได้อยู่จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล ดังนั้น หากการเกินดุลมีน้อยลงแรงหนุนให้ค่าเงินแข็งก็จะมีน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งโอกาสที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าไปแตะระดับ 33.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯคงเป็นเรื่องที่ยาก โดยปลายปีนี้ค่าเงินบาทสิ้นปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนค่าไปอยู่ที่ระดับ 35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในไตรมาสแรกของปีหน้าและอ่อนลงมาอยู่ที่ 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในไตรมาสที่สอง
ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุนนั้นจะมีความผันผวน โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์อาจจะไปทดสอบที่ระดับ 900 จุดได้ แต่จะไม่สามารถรักษาให้อยู่ในระดับนี้ได้ต่อเนื่อง ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนอาจจะไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และนักลงทุนบางส่วนจะมีการทยอยลดสัดส่วนการลงทุนหากดัชนียังขึ้นไปสูงในช่วง 1-2 เดือนนี้ จากการขายทำกำไร
"เราสังเกตเห็นตั้งแต่รอบแรกที่มีปัญหาซับไพรม์ เราก็ได้ปรับตัวมาแล้ว 1 รอบ รวมถึงมีการขายของที่มีความเสี่ยงสูงออกไปเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและเสริมสภาพคล่อง แต่ปัญหาซับไพรม์นี้ยังไม่จบ อาจจะเห็นผลกระทบอีกรอบใน 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะมีนัยต่อค่าเงินบาทด้วย เพราะอาจจะทำให้มีการขายทำกำไรออกมาแล้วดึงเงินออกไปชั่วคราว" นางสาวอุสรากล่าว
นางสาวอุสรา กล่าวว่า หากเศรษฐกิจไทยต้องการจะขยายตัวแข็งแกร่งขึ้นในภาวะที่การส่งออกชะลอตัว จะต้องมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก จากเดิมในปีนี้ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 4% นั้นตัวขับเคลื่อนจะมาจากการส่งออกเป็นหลัก โดยสิ่งที่จะต้องพึ่งพิงคือการกระตุ้นภาคการลงทุนในประเทศให้มากขึ้น จากการลงทุนด้านนโยบายของการคลังรวมถึงโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะสามารถมาชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัวได้ ทำให้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวอยู่ที่ 4.7% แต่จากประมาณการณ์ของกระทรวงการคลังที่คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 6% นั้นคงจะต้องติดตามปัจจัยอีกหลายอย่าง รวมถึงเศรษฐกิจโลกและความพร้อมของการลงทุนในประเทศด้วยว่าเป็นอย่างไรและเพียงพอจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับดังกล่าวได้หรือไม่
สำหรับประเด็นที่เป็นห่วงในเรื่องของการลงทุนภาคเอกชน คือ สังเกตว่าที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องถึง 5 ครั้ง จากอัตราดอกเบี้ยที่ 5% ลงมาอยู่ที่ 3.25% ซึ่งการส่งผ่านนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคการลงทุนนั้นทำได้ยากพอสมควร เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อ โดยจะเห็นได้จากตัวเลขการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจะมีอัตราการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบอยู่ประมาณ 7-8% แต่ในปีนี้มีเพียง 2% เท่านั้น
นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับลดลงมาถึง 1.75% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับลงมา 1.5-1.75% แต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์)ปรับลงมาแค่ 0.875% เท่านั้น ถือว่าเป็นอุปสรรคของการฟื้นตัวด้านการลงทุนในภาคเอกชน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าไม่มีความจำเป็นที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่อย่างไรก็ตามมองว่าการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) นั้นจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้าย ดังนั้นหากต้องการการลงทุนมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นจะต้องกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ ส่วนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดดอกเบี้ยอีก 2 รอบๆ ละ 0.25%
ทั้งนี้ มองว่าในที่สุดแล้วอาจจะต้องมีการยกเลิกมาตรการการกันสำรอง 30% เนื่องจากมาตรการดังกล่าวมีความจำเป็นน้อยลงจากการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเปลี่ยนจากเดินดุลเป็นเกินดุลน้อยลงและขาดดุล ทำให้แรงกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามีน้อยลง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยของไทยซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเพื่อนบ้านทำให้แรงจูงใจในตลาดพันธบัตรมีน้อยลงมาก อีกทั้งเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากปัญหาที่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจแข่งขันกับเอกชนในการระดมสภาพคล่อง
"ผู้ส่งออกมองว่าค่าเงินบาทผ่านจุดแข็งค่าที่สุดไปแล้ว แต่ยังขอแนะนำให้ชะลอการขายดอลลาร์ล่วงหน้า ส่วนผู้นำเข้านั้นให้ทยอยซื้อเงินดอลลาร์และเยน เพราะดอลลาร์และเยนจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท ส่วนยูโรรอซื้อได้ เพราะตอนนี้แข็งค่ามาก และในอีก 5 เดือนข้างหน้าคงจะอ่อนค่าลงมา " นางสาวอุสรากล่าว
ธปท.เผยส่งออก8เดือนโต7.7%
ด้านรายงานข่าวจากสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงตัวเลขการขยายตัวของการส่งออกล่าสุด ในรูปเงินบาท 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 2550 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 3.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 7.7% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 3.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 2.8%
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่มียอดการส่งออกในรูปเงินบาท ลดลงมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ มีมูลค่ารวม 8 เดือนแรกของปี 128,657 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน 10.8% เนื่องจากอุตสาหกรรมสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ทั้งจากค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่า 5% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้คำสั่งซื้อเริ่มลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2549 ที่ผ่านมา
สำหรับสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ที่ดีใน 8 เดือน ประกอบด้วย สัตว์น้ำกระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9% มีมูลค่าการส่งออกนวม 37,113 ล้านบาท การส่งออกก๊าซธรรมชาติ ส่งออกทั้งสิ้น 6.9,365 ล้านลบ.ฟุต เพิ่มขึ้น 6.5% ขณะที่ก๊าซธรรมชาติเหลว ลดลง 4.7%
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การส่งออกในครึ่งปีหลังยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อไป จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ในขณะที่ การนำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังการเริ่มเห็นแนวโน้มการใช้จ่าย และการลงทุนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 นี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น กระทบต่อการส่งออกในระดับที่ไม่สูงมากเท่ากับปีที่ผ่านมา แต่เมื่อรวมการแข็งค่าของเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2549 จนถึงขณะนี้ ทำให้กลายเป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม การส่งออกในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงที่หดตัวนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันมาตั้งปีที่ผ่านมา โดยในส่วนของสิงทอการขยายตัวในปี 2549 ติดลบอยู่แล้ว
|
|
|
|
|