คนที่ทำงานมานานนับสิบปีในองค์กรขนาดใหญ่ การตัดสินใจลาออกไปอยู่ที่ใหม่มีเหตุผลที่คล้ายคลึงกันในเกือบทุกกรณี
ถ้าไม่ใช่แรงจูงใจที่มีมากกว่าในงานใหม่ก็เป็นเรื่องของความอึดอัดใจในที่ทำงานเก่า
สำหรับประทิน บูรณบรรพต เหตุผลทั้งสองข้อนี้ ต่างก็เป็นแรงผลักดันให้เขาลาออกจากการบินไทยไปทำงานกับไทยซีร็อค
กราฟฟิค ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ "อยู่การบินไทยก็ดี
แต่ว่าอยู่มานานแล้ว พอแล้วละ" ประทินพูดสั้น ๆ กับ "ผู้จัดการ"
ประทินออกจากไอบีเอ็มมาทำงานที่การบินเมื่อ พ.ศ. 2519 เริ่มต้นด้วยงานในฝ่ายคอมพิวเตอร์แล้วหมุนเวียนหน้าที่อยู่กับงานด้านการตลาด
ประชาสัมพันธ์และโฆษณาของการบินไทย จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายวางแผนและพัฒนาการตลาดที่ดูแลเรื่องการโฆษณา
ประชาสัมพันธ์ภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการวางแผนงานด้านการตลาด
จนถึงวันที่เขายื่นใบลาออกเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เป็นเวลา 13 ปีครึ่งนานพอที่เขาจะเกิดความรู้สึกว่า
"เฉย ๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ไม่กระตือรือร้น"
ถ้าระยะเวลาที่ทำงานกับการบินไทยจะมีผลต่อความรู้สึกอย่างนี้ของประทินจริงก็คงเป็นเพียงสาเหตุหนึ่ง
ที่มีน้ำหนักไม่มากไปกว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการบินไทย ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมาเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบโดยตรงต่อตัวประทินเองด้วย
ความที่เขาวนเวียนอยู่กับงานด้านการตลาดที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของฉัตรชัย
บุณยะอนันต์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ภาพของประทินจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกลุ่มฉัตรชัย
- กัปตันโยธิน ภมรมนตรี
การเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารแบบล้างบางในการบินไทยเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน
2531 ประทินจึงโดนหางเลขเข้าอย่างเลี่ยงไม่พ้น เขาตกเป็นเป้าหมายในระดับรองของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย
เมื่องานในความรับผิดชอบถูกดึงไปจนหมด ต้องกลายเป็นคนว่างงานคนหนึ่งในตอนนั้นที่อยู่ด้วยความอึดอัดใจและความไม่แน่ใจว่าพรุ่งนี้
มะรืนนี้จะเป็นอย่างไร
เดือนมกราคม 2532 ประทินถูกย้ายไปนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายบริการการตลาด
แม้ตำแหน่งจะเท่าเดิม แต่จากที่เคยยืนอยู่แถวหน้าในฐานะผู้วางแผน และทิศทางการตลาดของการบินไทยลดลงไปเป็นเพียงกองหนุนทางการตลาดที่ว่างเว้นคนนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายมาสามปีแล้ว
การโยกย้ายครั้งนี้ก็เหมือนแช่เย็น ประทินไม่ให้มีบทบาทในงานสำคัญ ๆ ของการบินไทยอีกต่อไป
หมดจากงานศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของระบบสำรองที่นั่งด้วยคอมพิวเตอร์หรือ
CRS อมาดิอุสที่การบินไทยจะเข้าเป็นสมาชิกแทนระบบอบาคัสที่ถูกนายกรัฐมนตรีระงับว้ตอนปลายปี
2531 แล้วความรับผิดชอบของฝ่ายบริการการตลาดก็มีเพียงการปรับปรุงระบบสำรองที่นั่งภายในให้มีประสิทธิภาพ
การดูแล ROH หรือ ROYAL ORCHID PACKAGE TOUR ที่เป็นแค่เครื่องมือส่งเสริมการขายเล็ก
ๆ ทางหนึ่งเท่านั้น และงานเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ขั้นตอนการขายการเดินทางของผู้โดยสารบางประเภท
เช่น คนป่วยหรือคนพิการ
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประทินจะเกิดความรู้สึกว่า ไม่มีงานที่น่าสนใจและท้าทายสำหรับตนอีกแล้วในการบินไทย
แม้การเปลี่ยนแปลงตัวแม่ทัพอากาศเมื่อเดือนตุลาคม 2532 จะเป็นเหมือนฟ้าใหม่ของกลุ่มฉัตรชัย
- โยธินที่จะมีโอกาสกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่ประทินคงจะสรุปได้แล้วว่า ตราบใดที่การขึ้นลงของอำนาจภายนอกยังเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลงในการบินไทยมากกว่าหลักการทางการบริหารธุรกิจแล้ว
สิ่งที่คนการบินไทยจะทำได้ดีที่สุด คือ การประครองตัวให้อยู่ได้บนความไม่แน่นอน
เขายอมรับว่า บางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในการบินไทยในช่วงปีสองปีมานี้
มีส่วนทำให้เขาตัดสินใจลาออก "ผมเบื่อที่ไม่มีการตัดสินใจ แต่เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ
เพราะทุกคนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จะโทษใครก็ไม่ได้ เพราะระบบมันเป็นอย่างนี้"
การตัดสินใจไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการไทยซีร็อกซ์จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดมาก
แม้ขนาดและภาพพจน์ในระดับองค์กรระหว่างการบินไทยกับไทยซีร็อกซ์จะเป็นเรื่องที่เทียบกันไม่ได้เลย
แต่สิ่งที่เป็นอยู่จริงในการบินไทยกับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดบนความรับผิดชอบที่น่าท้าทายที่ไทยซีร็อกซ์เสนอให้
ทำให้ประทินเลือกทางเดินของตัวเองได้ว่า ถึงจะเป็นหัวหมาก็ยังดีกว่าเป็นหางสิงห์
ไทยซีร็อกซ์ เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องถ่ายเอกสารและเครื่องโทรสารยี่ห้อซีร็อกซ์ในประเทศไทย
เป็นผู้นำเครื่องถ่ายเอกสารเข้ามาขายในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2510
จนชื่อซีร็อกซ์กลายเป็นชื่อเรียกเครื่องถ่ายเอกสารมาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน ไทยซีร็อกซ์มีส่วนแบ่งในตลาดเครื่องถ่ายเอกสารมากที่สุดประมาณ
33%
ไทยซีร็อกซ์ มีฐานะเป็นเพียงสำนักงานสาขากรุงเทพฯ ของบริษัทฟูจิซีร็อกซ์
ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง US. XEROX CORPORATION กับ FUJI PHOTO FILM
จนถึงปี 2521 ฟูจิ ซีร็อกซ์ได้ร่วมทุนกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
และธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งบริษัทไทยซีร็อกซ์ กราฟฟิค ซีสเต็มขึ้นมา
กลางปีที่แล้ว ไทยซีร็อกซ์มีนโยบายให้คนไทยขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุด ธารินทร์
นิมมานเหมินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งในไทยซีร็อกซ์รับหน้าที่หาตัวคนไทยมานั่งในตำแหน่งนี้
ประทินไรับการทาบทามเมื่อกลางเดือนตุลาคมปีที่แล้ว จากบรรณวิทย์ บุญญรัตน์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ไทยพาณิชย์ที่เป็นเพื่อนกันมาก่อน ตามมาด้วยการพูดคุยกับธารินทร์อีกสองสามครั้ง
รวมทั้งผู้บริหารจากฟูจิซีร็อกซ์ด้วยก่อนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
"เป็นโอกาสที่ดีของชีวิตที่จะได้ก้าวสูงขึ้นไปกว่านี้ ผมคงไม่มีโอกาสเช่นนี้บ่อยนัก"
เป็นแรงจูงใจที่ผนวกเข้ากับแรงผลักจากสภาพภายในของการบินไทยที่ก่อตัวมานาน
ดึงประทินออกจากการบินไทยไปเป็นกรรมการผู้จัดการที่เป็นคนไทยคนแรกของไทยซีร็อกซ์
ใบลาออกของประทินมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม วันเดียวกับการเข้ารับตำแหน่งใหม่อย่างเป็นทางการ
แต่จะมานั่งทำงานจริง ๆ ในเดือนมิถุนายน ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ประทินจะไปอยู่ที่สำนักงานฟูจิซีร็อกซ์ที่ญี่ปุ่น
เพื่อเตรียมตัวศึกษางานที่จะนำไทยซีร็อกซ์ขยายตัวออกไปในตลาดเครื่องถ่ายเอกสารและเครื่องใช้สำนักงานอัตโนมัติ
รวมทั้งการไปเยี่ยมกิจการในเครือฟูจิซีร็อกซ์ในย่านเอเชียนี้ด้วย
คนที่จะมาแทนประทินในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบริการการตลาดนั้น เขาบอกว่า
มีคนที่เขาคิดว่าเหมาะสมจะมานั่งเก้าอี้ตัวนี้แล้ว "แต่ความเหมาะสมในการบินไทยเป็นสิ่งที่ผมคาดผิดมาหลายครั้งแล้ว
เลยไม่อยากจะคาดหวังอะไรอีก"