Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2535
"จากเอกชนสู่รัฐ…..ไฟฟ้ากำลัง หมุนกลับสู่จุดเดิม"             
โดย ธัชมน หงส์จรรยา
 


   
search resources

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
พิพัฒน์ ไทยอารี
Electricity




"ราคาไฟฟ้าแพงกว่าก๋วยเตี๋ยว" หากหลับตาลง ย้อนยุคไปสัก 100 ปีคงจะได้ยินเสียงบ่นประโยคข้างต้นตามภาษาราษฎรเต็มขั้นเพราะยุคคุณทวด คุณปู่ยังวัยขบเผาะนั้นราคาก๋วยเตี๋ยวเพียงแค่ชามละ 25-50 สตางค์เท่านั้นแต่ราคาไฟฟ้ากลับมากถึงหน่วยละ 1 บาท 50 สตางค์ถึง 3 บาททีเดียว ทั้งนี้แล้วแต่ผู้รับสัมปทานจะกำหนดเองตามชอบใจ

ถึงกระนั้นก็ตามแสงไฟอันสว่างไสวของโคมระย้าหลากสีของสถานที่ราชการใหญ่ ๆ ก็ยังเป็นที่เย้ายวนใจให้บ้านเรือนหลายหลังนิยมใช้ไฟฟ้ามากขึ้น

โรงไฟฟ้าดีเซลล์ขนาดเล็กถือกำเนิดขึ้นหลายแห่ง แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงจ่ายไฟฟ้าในเขตเมืองเฉพาะตอนกลางคืน ไม่สามารถบริการได้อย่างสม่ำเสมอ ไฟดับๆ ติด ๆ อยู่บ่อย ๆ จนทำให้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้ตัดสินใจรวบรวมกิจการไฟฟ้าเข้าด้วยกันโดยให้เหตุผลว่า เพื่อความเป็นปึกแผ่นและมั่นคง

เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสงชูโต) เป็นคนแรกที่นำไฟฟ้าเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2427 เขาเอาแบบอย่างมาจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยลงทุนขายที่ดินอันเป็นมรดกของตนเองที่บางอ้อ และได้ส่ง มาโยลา ชาวอิตาลี ซึ่งมารับราชการเป็นครูฝึกทหารเดินทางไปซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่องและอุปกรณ์ รวมทั้งโคมไฟฟ้าที่ประเทศอังกฤษ พร้อมทั้งเรียนวิชาไฟฟ้าด้วย โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางราชการ แม้ว่าเมื่อครั้งกลับจากปารีสในฐานะอุปทูตได้กราบทูลให้รัชกาลที่ 5 ทรงทราบแล้วก็ตาม

กลยุทธของเจ้าหมื่นไวยฯที่ทำให้ไฟฟ้าเป็นที่รู้จัก และยอมรับก็คือ นำไฟฟ้านั้นไปติดตั้งในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและในท้องพระโรงในวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 5 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานเงินค่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์คือให้ทั้งหมด

ด้วยการที่ไฟฟ้าเป็นที่ต้องการมากขึ้น ทำให้เจ้าหมื่นยังคงดำเนินกิจการนี้ต่อไป รวมทั้งมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แต่ยังไม่ทันดำเนินการก็ต้องไปราชการสงครามฮ่อ ทางราชการจึงรับมาดำเนินการแทนตั้งแต่ปี 2437 จนถึง พ.ศ. 2440 จึงโอนกิจการให้เป็นบริษัท โดยการร่วมทุนของเลียวนาดี ชาวอเมริกันกับเจ้านายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จัดตั้งบริษัทชื่อว่า บางกอกอิเล็กตริก ไลท์ ซินดิเคท (BANGKOK ELECTRIC LIGHT SYNDICATE) ขึ้น มีสัญญาจ่ายไฟฟ้าตามท้องถนน สถานที่ราชการ ดำเนินการได้ไม่นานก็ต้องล้มเลิกเพราะขาดทุนจึงโอนกิจการให้กับบริษัทไฟฟ้าสยาม (SIAM ELECTRICITY CO.,LTD.) ซึ่งดำเนินการโดยเวสเตนโฮลซ์ ชาวเดนมาร์ก

บริษัทไฟฟ้าสยามได้ตั้งที่ทำการและสร้างโรงไฟฟ้าที่ข้างวัดราชบูรณะวรวิหารหรือวัดเลียบ (ที่ตั้งสำนักงานของการไฟฟ้านครหลวงในปัจจุบัน) นอกจากนี้ยังได้รับสัมปทานเดินรถรางในกรุงเทพ ซึ่งทับกับเส้นทางของบริษัทรถรางบางกอก จนมีอันต้องรวมกิจการกันในปี 2451

ปี 2455 ล้นเกล้ารัชการที่ 6 ได้โปรดให้สร้างการประปาและโรงไฟฟ้าพร้อมกันที่สามเสน โดยใช้ชื่อว่าการไฟฟ้าหลวงสามเสน มีสถานภาพเป็นรัฐพาณิชย์ (เหมือนการบินไทยปัจจุบัน) อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย

ในระหว่างนี้การใช้ไฟฟ้าได้แพร่หลายไปสู่ต่างจังหวัด จนปี 2470 สุขาภิบาลหลายแห่งได้เริ่มต้นกิจการไฟฟ้าในท้องที่ของตนเอง

ความกระจัดกระจายและความเติบโตของกิจการ ทำให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศใช้ พรบ. ควบคุมกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภคไว้รวม 7 อย่างคือรถไฟ รถราง ขุดคลอง เดินอากาศ ประปา ชลประทาน และโรงไฟฟ้า โดยมีข้อความสำคัญคือห้ามผู้หนึ่งผู้ใดประกอบกิจการสาธารณูปโภคดังกล่าว ยกเว้นจะได้รับสัมปทานหรืออนุญาตจากรัฐบาล

หลัง พรบ. ประกาศเพียง 1 ปี รัฐบาลก็จัดตั้ง แผนกไฟฟ้าขึ้นให้สังกัดกองบุราภิบาล กรมสาธารณสุขและได้จัดสร้างไฟฟ้าสุขาภิบาลแห่งแรกที่นครปฐม

อีก 3 ปีให้หลังประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทำให้มีการปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม ซึ่งมีผลให้แผนกไฟฟ้าถูกจัดตั้งขึ้นเป็นกองไฟฟ้า สังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทยในปี 2477

ก่อนหน้านั้นไม่นานมีเสนาบดีกระทรวงพาณิชย ์และคมนาคมคิดว่าควรมีการนำพลังน้ำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะจะทำให้ได้กำไรมากขึ้นตามข้อความจดหมาย ลงวันที่ 9 มกราคม 2471 ว่า "ผลประโยชน์ซึ่งได้จากไฟฟ้าหลวงก็ได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่แล้ว ไฟฟ้าแม้แต่ในขณะนี้ใช้ไอตีม (ไอน้ำ) ก็ยังได้กำไรมากมาย เหตุใดเล่าไฟฟ้าซึ่งทำขึ้นด้วยแรงน้ำซึ่งเป็นของมีมาเองโดยไม่มีผู้ใดคิดขึ้นนี้จะไม่ได้ผลประโยชน์งอกงาม ยิ่งกว่านั้น" (เดิมโรงไฟฟ้าทั้งหลายเป็นโรงไฟฟ้าระบบไอน้ำใช้ถ่านหิน ไม้ฟืนและแกลบเป็นเชื้อเพลิง)

จากความคิดดังกล่าวจึงได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการไฟฟ้ากำลังน้ำ ขึ้นในปี 2481 รัฐบาลได้ชักชวนบริษัทนานาชาติให้มาทำการศึกษา และสำรวจโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่กาญจนบุรีแต่ไม่ทันที่จะดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

ทุกอย่างผันผวนและเปลี่ยนไป แม้แต่ชื่อของประเทศก็เปลี่ยนจากสยามเป็นไทย ชื่อบริษัทไฟฟ้าสยามจึงเปลี่ยนตามเป็นไฟฟ้าไทยคอร์เปอเรชั่น (THAI ELECTRIC CORPORATION LIMITED) ได้ดำเนินกิจการเรื่อยมาจนหมดอายุสัมปทาน จึงโอนมาเป็นของรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2493 โดยอยู่ในความควบคุมของการไฟฟ้ากรุงเทพ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบ สถานการณ์เศรษฐกิจย่ำแย่รัฐบาลไม่สามารถจัดให้บริการไฟฟ้าแก่ประชาชนตามความต้องการ จึงเปิดโอกาสให้เอกชนมารับสัมปทานมากขึ้น แต่ราคาไฟฟ้าก็แพงเหลือหลาย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นจึงได้สั่งให้สำรวจโครงการแก่งเรียง แม่น้ำแควใหญ่ และขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาในการจัดทำแผนและระบบไฟฟ้าในประเทศไทยขึ้น พร้อมทั้งรื้อฟื้นโครงการสำรวจถ่านหินลิกไนต์ในเวลาต่อมา และจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าทั่วราชอาณาจักร ขึ้นแทนคณะกรรมการไฟฟ้ากำลังน้ำ ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการไฟฟ้าและพลังงานแห่งประเทศไทย และแร่งทำโครงการยันฮีที่แม่ปิง

พ.ศ. 2497 เค้าลางของการผูกกิจการไฟฟ้าโดยรัฐบาลเริ่มก่อตัวขึ้น มีการจัดตั้งองค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อรับซื้อกิจการไฟฟ้าจากเอกชนที่ได้รับสัมปทาน

เวลาผ่านไปไม่นานรัฐบาลได้เสนอโครงการยันฮี (เขื่อนภูมิพล) เพื่อขอกู้เงินธนาคารโลก 66 ล้านเหรียญสหรัฐ

อีก 3 ปีให้หลัง รัฐบาลตรา พ.ร.บ. จัดตั้ง การไฟฟ้ายันฮีรับผิดชอบภาคเหนือ ภาคกลาง รวม 36 จังหวัด จากนั้นก็ประกาศใช้ พ.ร.บ. อีก 2 ฉบับ คือการไฟฟ้านครหลวง รวมกิจการไฟฟ้ากรุงเทพกับกองไฟฟ้าหลวงสามเสนเข้าไปด้วย ตามด้วย พร.บ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แทน องค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

พ.ร.บ. การไฟฟ้ายังมีตามมาอีก ในปี 2505 การไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รับผิดชอบไฟฟ้าภาคอีสาน ในขณะนั้นมีการให้สัมปทานแก่เอกชนถึง 50 แห่ง อนุญาตชั่วคราว 157 แห่ง

โรงไฟฟ้ามีมากมายในยุคนั้นล้วนมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ถือเป็นปฏิภาคผกผันกับความต้องการไฟฟ้า โดยเฉพาะเมื่อเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ทำให้เกิดโรงงาน โรงมหรสพ โรงแรมต่าง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่เคยมีใช้ในประเทศก็ทะลักเข้ามามากมายอาทิ วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

เมื่อมาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 กิจการไฟฟ้าได้ถูกรัฐบาลผูกขาดเต็มรูปแบบโดยรวมการไฟฟ้ายันฮี การลิกไนต์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน เป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยเหตุผลที่ว่า สามารถนำกำลังการผลิต กำลังส่ง กำลังคน ความรู้ เครื่องมือ มารวมกัน เพื่อผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งประสานงานในด้านเป้าหมายนโยบาย ปฏิบัติการ ได้ง่ายและประหยัด โดยให้หน้าที่การผลิต จัดหาไฟฟ้าทั้งหมดตกแก่ กฟผ. เพื่อจัดส่งและจำหน่ายให้ลูกค้าอุตสาหกรรมรายใหญ่และการไฟฟ้านครหลวง ภูมิภาครวมทั้งประเทศข้างเคียง

มาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 รัฐวิสาหกิจหลายแห่งประสบการขาดทุน ฐานะการคลังของรัฐบาลย่ำแย่ สถาบันการเงินทยอยกันล้ม จนรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ประกาศนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวผลักดันอย่างจริงจังเพราะสิ่งที่ประกาศออกมาเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือการป้องกันอุบัติเหตุทางการเมืองเท่านั้น

จนมาถึงยุคปัจจุบัน รัฐบาลไม่สามารถแบกรับภาระเงินกู้ต่างประเทศได้แล้ว จึงต้องปล่อยให้มีการแปลงรูปทุนที่จะนำมาใช้ในโครงการรัฐวิสาหกิจ แต่ยังไม่มีการแปลงอำนาจการจัดการองค์กรแห่งนั้นๆ ให้หลุดพ้นมือรัฐบาล

พิพัฒน์ ไทยอารี ผู้อำนวยการสถานศึกษา และวิจัยรัฐวิสาหกิจจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นวัฏจักรอย่างหนึ่งของรัฐวิสาหกิจ เมื่อมีอุตสาหกรรมใหญ่เกิดขึ้นอันเกี่ยวเนื่องกับความเป็นอยู่ และการกระจายความเสมอภาคของประชาชนพร้อมทั้งอุตสาหกรรมนั้นก็สามารถทำกำไรงาม รัฐมีเงินทุนมากพอก็จะเข้ามาอาสาจัดการ ซึ่งถึงจุดหนึ่งที่เงินทุนของรัฐไม่สามารถรองรับความต้องการได้ รัฐก็ต้องปล่อยมือให้เอกชน

และถึงจุดหนึ่งที่รัฐมีเงินมากพอ วัฏจักรการซื้อคืนหรือผูกขาดก็จะกลับมาอีก แม้ว่าบรรยากาศทั่วโลกขณะนี้กำลังเรียกร้องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็ตาม แต่ในอีกระยะเวลาหนึ่งอาจจะไม่เกิน 15 ปี คงได้เห็นรัฐซื้อสาธารณูปโภคกลับเข้ามาบริหารเอง และปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นที่ประเทศยุโรปก่อนซีกโลกอื่นใด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us