Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2535
"เปิดความลับ กฟผ. เข้าตลาดหุ้น"             
โดย ธัชมน หงส์จรรยา
 

 
Charts & Figures

เงินลงทุนแยกจากแหล่งที่มา


   
www resources

โฮมเพจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
โฮมเพจ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)

   
search resources

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ผลิตไฟฟ้า, บมจ.
Stock Exchange
Electricity




กฟผ.ไม่โปร่งใส ? EGCO กำลังแทะเนื้อแม่ตัวเอง ? นี่คือข้อสงสัยที่เกิดขึ้น ท่ามกลางความไม่สมประกอบของหลักเกณฑ์ และตัวบริษัทลูกในการเข้าตลาดหุ้นจากนี้ไปถึงแผนฯ 8 กฟผ.จะต้องลงทุนมากถึง 1,033,163.8 ล้านบาท เงินบีบคั้นให้องค์กรผลิตไฟฟ้าแห่งนี้ต้องพลิกตัวเองไปสู่ฐานะใหม่ในตลาดเสรีที่กำลังจะเปิด

"กฟผ. เข้าตลาดหุ้น"

ใคร ๆ ก็รู้ว่าต้องเป็นเช่นนั้น แต่ไม่เคยมีใครพูดถึงหรือทำแผนออกมาอย่างมีขั้นตอน เป็นระบบชัดเจน อาการดุ่ม ๆ จึงเกิดขึ้นในขั้นตอนการจัดการกับบริษัทลูกอันมีชื่อว่า บริษัทผลิตไฟฟ้า หรือ ELECTRICITY GENERATING COMPANY LIMITED เรียกย่อ ๆ ว่า EGCO ที่มีความคิดต่างกับ ECO เกือบสิ้นเชิงเพราะชื่อหลังนี้เป็นกลุ่มผู้รักธรรมชาติที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า

กฟผ. ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ก้มหน้าก้มตาเดินให้ถึงจุดหมายโดยไม่รู้ว่าจะใช้เส้นทางไหนดี แต่ในภาวะอันบีบรัดถึงความต้องการใช้เงินเช่นที่เป็นอยู่จึงจำเป็นต้องเดินอย่างเร่งรีบ

นับจากปี พ.ศ. 2536 ถึง 2545 กฟผ. มีโครงการขยายและสร้างโรงไฟฟ้าทั้งหมด 66 โครงการต้องใช้เงินลงทุนทั้งหมด 1,033,163.8 ล้านบาท

โครงการลงทุนแยกเป็น เหมืองลิกไนต์ 4 โครงการ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 40 โครงการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 10 โครงการ ระบบส่งไฟฟ้า 12 โครงการ งานก่อสร้างเบ็ดเตล็ดที่มิได้รวบรวมเป็นโครงการอีกจำนวนไม่น้อย

ด้วยความที่ กฟผ. คิดว่าการพัฒนาประเทศต้องเป็นไปแบบระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นระบบว่าด้วยการขยายทุนเพื่อตอบสนองการบริโภคอย่างไม่มีขีดจำกัด

กฟผ. จึงถือว่าโครงการดังกล่าวข้างต้นเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ที่ต้องตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นปีละกว่า 10-20%

"เป็นการเพิ่มอย่างมหาศาลทีเดียว ถ้าเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมในยุโรป หรือญี่ปุ่นที่เพิ่มเพียงปีละ 1-2% เท่านั้น ยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย แล้วบางปีอัตราการเพิ่มติดลบด้วยซ้ำ" ศิวะนันท์ ณ นคร เลขาคณะกรรมการ EGCO กล่าว

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จึงถูกจัดตั้งขึ้นอย่างรวดเร็วโดยที่ประชุมคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีมติให้จัดตั้งเมื่อ 23 เมษายน 2535 จดทะเบียนขอประกอบการต่อกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2535 มีผลตามกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์วันที่ 12 พฤษภาคม 2535 อีก 3 วันต่อมาได้ยื่นขอเข้าเป็นหลักทรัพย์รับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ความรีบร้อนที่ต้องดำเนินการ ทำให้เอกสารที่ส่งตลาดหลักทรัพย์มีสาระสำคัญเพียงคร่าว ๆ เท่านั้นซึ่งยังต้องนำกลับมาแก้ไขใหม่ทั้งหมดรวมทั้งต้องเพิ่มเติมให้ครบตามที่ระเบียบตลาดฯ ระบุไว้โดยว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นผู้ศึกษาโครงการโครงสร้างเงินทุน ศักยภาพในการขยายตัวของ EGCO และอื่น ๆ เกือบทุกด้าน

ทั้งนี้บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินอันประกอบด้วยบริษัท CS FIRST BOSTON (สิงคโปร์) บริษัทหลักทรัพย์เจเอฟ ธนาคม บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ เพิ่งจะเริ่มสัญญาว่าจ้างตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2535 นี้เอง

"เราตั้งสโคปให้เขาศึกษา พอแบ่งแยกหัวข้อได้ดังนี้ โครงสร้างเงินทุนควรเป็นอย่างไร สัดส่วนระหว่างเงินกู้ภายในต่อภายนอกประเทศควรเป็นเท่ไรบริหารเงินและบุคลากรอย่างไร เขามาหาข้อมูลราว 3 อาทิตย์ แล้วกลับไปดำเนินการศึกษาเพื่อมาให้คำแนะนำเราอีกที" ตัวแทนจาก กฟผ. และ EGCO เล่าให้ฟัง

ระหว่างศึกษานั้นก็ได้ดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ กฟผ. ระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์และได้รับอนุมัติหลักการเป็นทางการในวันที่ 12 กันยายน 2535

บริษัทผลิตไฟฟ้าขณะนี้ก็เหมือนกับคนที่มีแต่เงินจำนวนเล็กน้อย (ถ้าเทียบกับความฝันที่จะทำธุรกิจไฟฟ้า) แต่ยังไม่มีบ้านไม่มีทรัพย์สิน ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ประกอบให้เป็นคนที่ดูภูมิฐานสมบูรณ์แบบเพราะความเป็นจริง EGCO มีเพียงเงินทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินอื่นยังอยู่ระหว่างการคิดค้นหลักเกณฑ์เพื่อการเจรจา

จามร สุทธิพงษ์ชัย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รักษาการตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทผลิตไฟฟ้า อีกตำแหน่งแถมท้ายก่อนเกษียณ ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า บริษัทผลิตไฟฟ้า ยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจนและยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีสินทรัพย์เท่าไรทุกอย่างอยู่ในขั้นดำเนินงานศึกษาและตัดสินใจ

ในด้านของบุคลากรก็เช่นกัน อยู่ระหว่างการกำหนดคุณสมบัติ จามร บอกว่าเขาจะอยู่ที่ กฟผ. และ EGCO ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2535 นี้ ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของคณะกรรมการ EGCO จะเลือกสรรกรรมการผู้จัดการคนใหม่มาทำงานต่อ

"วันที่ 1 ตุลาคม จะมีรองผู้ว่า ฯ ฝ่ายบริหารคนใหม่มา คาดว่าคนใหม่นี้คงไม่ได้ควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ EGCO แน่" จามรกล่าว

แต่แหล่งข่าวแวดวงพลังงาน บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ชายวัย 60 ปีที่ชื่อจามรนี้แหละ อาจจะขึ้นสู่ตำแหน่งผู้จัดการตัวจริงของ EGCO หลังจากเกษียณก็เป็นได้ ซึ่งเจ้าตัวกลับบอกว่า น่าจะเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่เขา เพราะตามระเบียบของ กฟผ. กำหนดอายุงานไว้แค่ 60 ปีเท่านั้น

ความผูกพันระหว่างกฎระเบียบของ กฟผ. กับ EGCO ยังดำรงอยู่ทุกเมื่อ ตราบเท่าที่ EGCO ยังไม่สามารถขายหุ้นลดสัดส่วน กฟผ. ลงได้

แม้แต่คณะกรรมการ EGCO ซึ่งมีทั้งหมด 7 คน ก็ต้องมากจาก กฟผ. 3 คน มาโดยตำแหน่งผู้ว่าการ 1 คน รองผู้ว่าการ 2 คน อีก 2 คนมาจากความเห็นชอบของ กฟผ. ส่วนที่เหลือจึงจะมาจากตัวแทนกระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม แห่งละ 1 คน

เมื่อ EGCO ยังไม่มีตัวกรรมการผู้จัดการที่จะผลักดันให้ EGCO เกิดอย่างจริงจัง เขาจึงยังมีบทบาทอยู่ ซึ่งแหล่งข่าวก็บอกว่าเขาอาจจะกลับมาในตำแหน่งเดิม หลังจากขายหุ้น EGCO ออกไปแล้วก็เป็นได้ เมื่อถูกถามเรื่องนี้ เขาก็ขอกับ "ผู้จัดการ" ว่า อย่าเพิ่มถามได้ไหม

เรื่องบุคลากรนั้นยังถือเป็นเรื่องเล็ก แค่กำหนดคุณสมบัติของคน หลักการในการรับคนได้ ก็สามารถดำเนินการโอนพนักงานบางส่วนจาก กฟผ. ได้แน่เพราะแม่ย่อมต้องช่วยลูกอยู่แล้ว

อาการที่น่าเป็นห่วง กลับเป็นเรื่องความไม่สมประกอบด้านสินทรัพย์ที่ยังไม่ลงตัวว่าจะมีเท่าไรในขณะที่ได้ยื่น EGCO เข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้วด้วยความรีบร้อน ตลาดฯ จึงไม่สามารถพิจารณาได้ตามความประสงค์

สินทรัพย์ ถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะแสดงถึงฐานะความมั่นคงของบริษัท เนื่องจากขณะนี้บริษัทยังไม่มีโรงไฟฟ้าสักโรงอยู่ในมือ ทั้ง ๆ ที่บริษัทตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้า

แล้วอย่างนี้นักลงทุนจะคิดเช่นไร ในเมื่อพวกเขาซื้อหุ้นก็ต้องหวังกำไร ไม่ว่ากำไรนั้นจะมาจากราคาหุ้น หรือเงินปันผลอันเจียดมาจากกำไรของกิจการก็ตาม

อันความที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดสินทรัพย์นี้เอง จึงยังไม่สามารถประมาณการกำไร ขาดทุนและศักยภาพของบริษัทได้เลย

แม้ว่าคณะรัฐมนตรีชุด อานันท์ ปันยารชุน 2ได้อนุมัติให้ กฟผ.ขายโรงไฟฟ้าระยองชุดที่ 1-4 ให้แก่บริษัทลูกแล้วก็ตาม

จามร ยืนยันว่าเราต้องซื้อจาก กฟผ. แน่เพื่อให้สินทรัพย์ขึ้นมาเป็นหลักประกันแก่ผู้ถือหุ้นทันทีแต่หลักเกณฑ์การซื้อขายทรัพย์สินนี้กำลังคิดอยู่ว่าจะเลือกการใช้ BOOK VALUE หรือจ้างมืออาชีพมาประเมินราคาทรัพย์สินซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการตกลงกับคณะกรรมการ กฟผ.

มนตรี ศรไพศาล ผู้จัดการฝ่ายวานิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์เจเอฟธนาคม คาดว่าการซื้อขายอาจจะใช้ BOOK VALUE ตามที่ได้คุยกันในเบื้องต้นเพราะจะช่วยให้การซื้อขายง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลงในการทำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการรับหลักทรัพย์วิธีนี้มีผลดีคือ จะสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ทันตามระยะเวลาที่วางแผนไว้

ขั้นตอนตรงนี้คงจะใช้วิธีการโอนทรัพย์สินจาก กฟผ. มาให้ EGCO ในฐานะที่ กฟผ. ถือหุ้น EGCO เต็มอัตรา 100% ขั้นตอนนี้ถือว่าการประเมินราคาไม่สำคัญ เพราะโรงไฟฟ้าของ EGCO ก็ยังเป็นของ กฟผ. แต่การเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปก็จะมาประเมินราคากันว่าเท่าไรถึงจะไม่เป็นการเอาเปรียบ กฟผ. ซึ่งก็มีวิธีหลายอย่าง เช่น ประเมินจากมูลค่าสินทรัพย์ มูลค่าจากผลตอบแทนในอนาคตซึ่งวิธีไหนได้มูลค่าสูงกว่าก็จะใช้วิธีนั้น

ส่วนจามร ผู้ซึ่งคลุกคลีกับโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น ให้ความเห็นว่า ถ้าไม่อยากให้ขั้นตอนยืดเยื้อก็อาจใช้ราคา BOOK VALUE เลยก็ได้ แต่จะบวกราคาที่จะเสนอขายประชาชนขึ้นไปอีก 10-11% จากราคาทุน

เขาชี้แจงว่าหลักเกณฑ์ทั้งสอง มีข้อดีข้อเสียต่างกันคือ การใช้ BOOK VALUE จะทำให้ EGCO ไม่ต้องลงทุนมาก ค่าไฟฟ้าที่จะขายให้ กฟผ. ก็จะถูกลงผลประโยชน์ที่ได้คือประชาชนไม่ต้องซื้อไฟฟ้าราคาแพงกว่าที่เคยใช้ในปัจจุบัน

แต่รัฐบาลหรือ กฟผ. ก็จะต้องตัดใจขายในราคาเท่าทุน ซึ่ง กฟผ. จะไม่ได้กำไรจากการลงทุน ปัญหาก็คือเงินลงทุนนี้มาจากเงินกู้เป็นส่วนใหญ่และทุกสิ้นปีงบประมาณ กฟผ. มีหน้าที่ต้องส่งรายได้ให้รัฐบาล 15% ของกำไร ฉะนั้น กฟผ. จึงมีเหตุผลที่จะไม่ขายในราคา BOOK VALUE

ในทางกลับกันหากใช้มืออาชีพมาประเมินแล้วขายกันตามราคาประเมิน กฟผ. จะได้ผลประโยชน์การลงทุนที่คุ้มค่า แต่ต้นทุนในการซื้อไฟฟ้าจาก EGCO ก็จะสูงขึ้น ซึ่งผลดังกล่าวจะสะท้อนสู่ประชาชนอีกทอดหนึ่ง

"เรื่องนี้จ้างคอนเซ้าแตนท์ธรรมดามาตีราคาเขาก็บอกตีไม่ได้ เราต้องจ้าง บริษัท BACK AND WEATCH จากอเมริกามาตีราคา ซึ่งก็ถือว่าเป็นมืออาชีพที่เชื่อถือได้ เพราะเขาเคยเป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรโครงการระยองและโรงไฟฟ้าพระนครใต้" รองผู้ว่า ฝ่ายบริหาร กฟผ. กล่าว

ขั้นตอนต่าง ๆ ในการจะตกลงเจรจา มิใช่ง่าย ๆ หรือรวดเร็วตามที่หวังไว้ แม้ว่า EGCO จะถูกจัดตั้งเป็นรูปบริษัท แต่ขณะนี้ กฟผ. ถือหุ้นอยู่ 100% การตัดสินใจจึงต้องผ่านขั้นตอนหลายขั้นเช่นเดิม

ขั้นตอนที่ 1 จากผู้รับผิดชอบศึกษาเรื่องนั้น ๆ หรือ ที่ปรึกษาทางการเงินเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ EGCO พิจารณา

ขั้นตอนที่ 2 เรื่องดังกล่าวจะถูกนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการ กฟผ.

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อ กฟผ. ลงมติอนุมัติ ก็ต้องส่งเข้า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ในขั้นตอนที่ 3 นี้ หากพิจารณาเป็นเรื่องสร้างโรงไฟฟ้า หรือแผนการลงทุน ก็ต้องเข้าคณะอนุกรรมการก่อน

ขั้นตอนที่ 4 จึงจะถึงวาระที่จะให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ แล้วส่งผลอนุมัติกลับตามลำดับชั้น

ซึ่งหากไม่อนุมัติ ก็ต้องเริ่มศึกษาและนำเรื่องเข้าพิจารณาตามขั้นตอนใหม่

ลักษณะการพิจารณาแต่ละครั้ง ไม่ได้พิจารณาโครงการทั้งหมดเต็มรูปแบบ แต่จะพิจารณาแค่หลักการ ส่วนรายละเอียดก็ต้องส่งเข้าพิจารณาตามขั้นตอนต่าง ๆ ใหม่ของแต่ละเรื่องในแต่ละรอบ อาทิเริ่มพิจารณาตั้งแต่ กฟผ. จะแปรรูปหรือไม่รอบหนึ่งจะเลือกรูปแบบใดก็อีกรอบหนึ่ง

เมื่อเลือกได้แล้ว ก็มาว่ากันเรื่องทรัพย์สินอีกรอบหนึ่ง แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ไปอีกจนกว่าจะเรียบร้อยเต็มรูปแบบของบริษัท

ผิดกับในต่างประเทศที่เขาจะมีขั้นตอนชัดเจนในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างอังกฤษ หรือ มาเลเซีย เขาจะจัดทำแผนแม่บทพัฒนาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จะจำแนกไว้เลยว่า รัฐวิสาหกิจใดบ้างที่อยู่ในแผนนี้ กำหนดระยะเวลาชัดเจนว่าปีไหนรัฐวิสาหกิจใดต้องทำอะไรบ้าย อย่างปีนี้ มาเลเซียได้กำหนดให้ถึงคิวของกิจการไปรษณีย์ต้องแปรรูป ซึ่งเดินไปรษณีย์ของเขาอยู่ในองค์กรเดียวกับโทรคมนาคม

เขาจะมีขั้นตอนในการปฏิบัติอย่างโปร่งในที่แท้จริง ขั้นตอนแรก รัฐบาลของเขาจะบอกกับประชาชนว่าเขาจะแปรรูปกิจการเหล่านี้ ขั้นตอนที่ 2 เขาจะบอกต่อรัฐสภาว่าให้เตรียมออกกฎหมายเพื่อการแปรรูป กฎหมายที่ออกจะเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมอย่างไรบ้าย จะมีการแก้กฎหมายฉบับไหนบ้างจนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่จะนำสถาบันการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อมูลเหล่านี้จะถูกตรวจสอบจากประชาชนและสื่อมวลชนตลอดทุกขั้นตอน

เขาจะพิจารณาทั้งโครงการ ไม่เว้นแม้กระทั่งองค์ประกอบอื่น ๆ ที่จะประกอบเข้าเป็นตัวบริษัทเมื่อจบการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในขั้นสุดท้ายแล้ว ก็ดำเนินการขายหุ้นได้เลย ไม่ต้องส่งรายละเอียดกลับไปกลับมาอีก อย่าง กฟผ. ทำอยู่

เหตุที่ไทยยังมีกรรมวิธีซ้ำซากเช่นนี้เพราะไม่เคยมีรัฐบาลไหนกล้าหาญพอที่จะจัดทำแผนปรับปรุงประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจที่ชัดเจน แม้แต่รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ทั้ง 1 และ 2 ซึ่งหลายฝ่ายหวังกันว่าจะเข้ามาสร้างประสิทธิภาพใหม่ แต่กลับได้แก้ไขเพียงเรื่องปลายเหตุเท่านั้นไม่ได้ล้วงลึกลงไปในการปรับปรุงแผนและประเพณีปฏิบัติงานมากนัก

สิ่งเหล่านี้จึงเท่ากับเป็นการยืนยันในตัวเองว่าบริษัทน้องใหม่อย่าง EGCO ก็ไม่ได้หลุดพ้นจากระบบรัฐวิสาหกิจเดิม ๆ เลย

ทั้ง ๆ ที่การจัดตั้ง EGCO เป็นส่วนหนึ่งของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กฤช สมบัติศิริ อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยปกติมีอยู่ 3-4 ประการด้วยกันคือ

ประการแรก อยู่ที่ความต้องการขยายฐานเงินทุน เพื่อขยายการบริการสู่ประชาชนให้มากขึ้น ประการที่ 2 การปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดการเนื่องจากความมีส่วนได้ส่วนเสียของเจ้าของและบุคลากรจากผลกำไรของธุรกิจจะทำให้ เกิดการจัดการที่มีประสิทธิผล ประการที่ 3 คือกระบวนการตัดสินใจที่รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอการอนุมัติหลายขั้นตอน

นอกจากนั้นก็ยังหวังผลเรื่องอื่น ๆ อีกเช่น การจ้างงานที่มีคุณภาพมากขึ้น

ถ้าวิเคราะห์ตามเป้าหมาย ที่กฤช กล่าวนั้น EGCO ก็ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ใดเลย เนื่องจากประการที่ 1 เรื่องเงินทุน แม้จะขยายฐานได้มากขึ้นแต่ต้องรับภาระต้นทุนที่แพงขึ้น คือ เดิมรัฐวิสาหกิจจะสามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้

ที่ผ่านมา กฟผ. ก็กู้อยู่ในอัตราดอกเบี้ย 2-10% เท่านั้น เพราะมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน ซ้ำยังมีงบประมาณช่วยเหลือจากรัฐบาล และเงินทุนช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอีกจำนวนหนึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าเอกชน

ในปีที่ผ่านมา กฟผ. มีเงินกองทุนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขยายกิจการมากถึง 61,484 ล้านบาท เงินจำนวนนี้มาจากงบประมาณและส่วนเกินทุนจากการบริจาค 12,285 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของเงินทุนที่ไม่ต้องกู้ยืม

หากมีการแปรสภาพเป็นเอกชน สิทธิพิเศษเหล่านี้จะหายวับไปกับตา สถาบันการเงินจะพิจารณาทุกอย่างเท่าเทียมกับผู้กู้รายอื่น ๆ ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของโครงการอีกชั้นหนึ่งว่าจะกู้ได้แพงมากน้อยแค่ไหน

ประการที่ 2 ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า การทำงานจะมีประสิทธิผลมากขึ้น ภายใต้การทำงานของบุคลากรเก่าที่โอนจาก กฟผ. ย่อมจะอยู่ในความเคยชินของระบบรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคงต้องปรับตัวสักระยะหนึ่งกว่าจะเป็นเอกชนเต็มตัว

ตัวอย่างง่าย ๆ สิ้นปี 2534 กฟผ. มีโรงงานไฟฟ้าทั้งหมด 43 แห่ง บุคลากร 34,990 คน ผลิตไฟฟ้าได้ 8,045 เมกะวัตต์ เฉลี่ย 4 คนต่อ 1 เมกะวัตต์ โดยประมาณ

ถ้า EGCO เป็นเช่นนี้คงขาดทุนแน่นอนเพราะต้องจ้างบุคลากรจำนวนมาก และอัตราเงินเดือนที่เทียมเท่าแรงงานในตลาดเอกชนอีกด้วย

โดยเฉพาะอัตราค่าจ้างวิศวกร ที่จามร บอกว่าคงได้รับเงินเดือนสูงกว่าระบบรัฐวิสาหกิจที่ใช้อยู่นี้ถึง 2-3 เท่าตัว หมายความว่า อัตราเงินเดือนอย่างเดียวสำหรับวิศวกรจบใหม่ที่ กฟผ. เคยจ่ายให้ประมาณ 6,000 บาทต่อเดือนต่อคน EGCO ก็ต้องจ้างถึง 18,000 บาทต่อเดือนต่อคน

ที่สำคัญคือคนในสาขานี้จะมีอัตราส่วนถึง 80% ของพนักงานทั้งหมด

ลูกหม้อ กฟผ. คนเดิม กล่าวต่อไปว่าแน่นอน EGCO คงไม่ใช้คนมากมายขนาดองค์กรแม่ โดยเฉลี่ยผลผลิตที่ได้แล้วควรจะเป็น 1 คนต่อ 3-4 เมกะวัตต์

ซ้ำเขายังกล่าวแก้แทน กฟผ. อีกว่าเหตุที่ต้องใช้คนมากเพราะ กฟผ. ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าอย่างเดียวแต่ยังต้องควบคุมระบบส่งไฟอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ต้องดูแลมากมาย เช่น พื้นที่บริเวณเขื่อน แหล่งน้ำใกล้เขื่อน ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้คนทั้งสิ้น

ประการที่ 3 การตัดสินใจก็ยังล่าช้าเหมือนเดิม เพราะ กฟผ. ถือหุ้นใหญ่ แม้ว่าในอนาคตจะขายหุ้นให้ประชาชนแล้วก็ตาม กฟผ. ก็ยังถือหุ้นอยู่ 49% ตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาของ กฟผ. ซึ่งเมื่อบริษัทต้องตัดสินใจลงทุนโครงการใหญ่ ๆ นั่นหมายถึง กฟผ. ต้องลงทุนด้วย และผู้ที่ตัดสินใจในฝ่าย กฟผ. ก็คือรัฐมนตรีซึ่งกว่าจะส่งเรื่องถึงคณะรัฐมนตรี และให้มีมติอนุมัติเป็นลายลักษร์อักษรก็ใช้เวลานานทีเดียว

แต่หากจะมองให้เป็นธรรม ก็ใช่ว่า กฟผ. จะทำไปโดยไร้เหตุผล ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อ กฟผ. เห็นว่าตนมีภาระมากมายที่จะต้องทำการผลิตไฟฟ้าสนองตอบภาคเอกชน เพื่อพัฒนาประเทศแล้วนั้น กฟผ. จะหาเงินมหาศาลมาจากไหน

ในเมื่อแต่ละโครงการต้องใช้เงินไม่น้อยเลย ตัวอย่างเช่นโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมระยองชุดที่ 1-4 นี้ โครงการเดียวก็ใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท

ความต้องการใช้เงินเกิดอาการเดินสวนทางกับแหล่งเงินทุนราคาถูกเสมือนหนึ่งปฏิภาคผกผันในวิชาเคมีวิทยา เนื่องจากแหล่งเงินสำคัญอย่างธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียประกาศลดความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา เพราะต้องการทุ่มเงินเพื่อฟื้นฟูประเทศในแถบยุโรปตะวันออกและกลุ่มประเทศโซเวียต ที่เพิ่งหลุดพ้นจากโลกสังคมนิยมมาหมาด ๆ

ทั้ง ๆ ที่เดิมนั้น แหล่งเงินทั้งสองดังกล่าวถือเป็นแหล่งทุนขนาดใหญ่ เพราะในแต่ละปี รัฐบาลเอเชียในแต่ละประเทศกู้เงินจากแหล่งเงินดอกเบี้ยต่ำทั้งสองนี้ประมาณ 20-25% ของเงินช่วยเหลือที่จัดสรรไว้ให้ประเทศกำลังพัฒนามาให้รัฐวิสาหกิจ

WILLIAN THOMPSON รองประธาน ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย (ADB) กล่าวว่าความต้องการไฟฟ้าหลังทศวรรษ 1980 ในเอเซียมีอัตราเพิ่มขึ้นจากเดิม 100% และหลังทศวรรษ 1990 จะเพิ่มขึ้นอีก 3 แสนเมกะวัตต์หรือ 2 เท่าตัวโดยประมาณแต่การบริโภคไฟฟ้าต่อหัวของคนในเอเซียยังถือว่าต่ำ เมื่อเทียบกับมาตรฐานโลกซึ่งก็กำลังจะเพิ่มขึ้นอีกดูจากการใช้ไฟฟ้าของทวีปเอเซียเองซึ่งมีประชากร 40% ของโลก กลับมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพียง 20% ของโลกเท่านั้น

รองประธาน ADB กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงต้องการให้ประเทศกำลังพัฒนาในเอเซียยืนด้วยขาของตนเอง โดยเพิ่มบทบาทภาคเอกชนให้มากขึ้น และใช้นโยบายเพิ่มภาษีไฟฟ้านำเข้า รวมทั้งลดเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลให้ประชาชนก่อนจะขอความช่วยเหลือ ADB หรือธนาคารโลก อย่างที่เคยทำมาในอดีต

TONY WHEELER ผู้จัดการ EW BANK PREECE ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมในเอเซีย กล่าวว่า โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้ากำลังอยู่บนเส้นคาบเกี่ยว ดูตัวอย่างจากปากีสถาน เป็นต้น ต้องการสร้างโรงไฟฟ้ามากถึง 10 โรง แต่ธนาคารโลกกลับให้กู้ได้เพียงโรงเดียว

กฟผ. จึงต้องช่วยเหลือตัวเอง โดยการขยายฐานความเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าให้หลากหลายขึ้นพร้อม ๆ กับหาสถาบันการเงินใหม่มารองรับอัตราการเพิ่มโรงไฟฟ้าตามแผน

ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยเองก็ต้องการลดภาระเกี่ยวกับเงินกู้ต่างประเทศ ซึ่งมีมากขึ้นทุกปีเพราะความต้องการสาธารณูปโภคพื้นฐานมีอัตราสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด อันทำให้เกิดภาระหนักมากเกินกว่ากระทรวงการคลังจะรับไว้

การใช้เงินกู้ต่างประเทศนั้นเพิ่มขึ้นเกิน 100% เมื่อเทียบจากปี 2530 ถึง 2534 ดังนี้ปี 2530 รัฐวิสาหกิจเบิกเงินกู้สกุลดอลลาร์จำนวน 576.9 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 14,422.5 ล้านบาท เหลือคงค้างจากยอดเงินกู้ 7,751 ล้านดอลลาร์ หรือ 193,925 ล้านบาท

ปี 2534 เพิ่มขึ้นเป็น เบิกเงินกู้จำนวน 1,228 ล้านดอลลาร์ หรือ 30,700 ล้านบาท เหลือคงค้างจากยอดเงินกู้ 7,641 ล้านดอลลาร์ หรือ 191,025 ล้านบาท ซึ่งอัตราความต้องการเงินกู้ย่อมต้องสูงขึ้นทุกปี เพราะประเทศอยู่ระหว่างการขยายตัวสู่ระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่อันอาจทำให้รัฐบาลไม่สามารถรับภาระได้

ประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องประสิทธิภาพการจัดการ ศิวะนันท์ เลขาคณะกรรมการ EGCO กล่าวรับรองว่าคนส่วนใหญ่ล้วนเป็นวิศวกรทั้งนั้น แม้จะโอนจาก กฟผ. แต่เรื่องความรู้ ความสามารถ ความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ก็ไม่มีใครเกินพนักงานของ กฟผ. ได้ในปัจจุบัน ฉะนั้นเรื่องที่เกรงว่า EGCO จะไม่มีประสิทธิภาพน่าจะตัดออกจากใจได้

ประเด็นที่ 3 เรื่องเกี่ยวกับความล่าช้าในขั้นตอนการตัดสินใจนั้น เขาได้กล่าวชี้แจงว่า ประเด็นนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในคณะรัฐมนตรีประมาณเดือนกุมภาพันธ์ จนมีการแก้ พ.ร.บ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2535 เป็นต้นมา

เนื้อหาที่เปลี่ยนไปทำให้ กฟผ. มีอำนาจการตัดสินใจมากขึ้น บางเรื่องไม่ต้องส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ เช่น กู้ยืมเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท

"พอตั้งบริษัทเข้าที่เรียบร้อย เราก็ขอรัฐบาลให้ยกเว้นข้อบังคับด้านการจ้าง การซื้อ การบริหารบุคลากรกับการบริหารการเงินส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด คืออย่างต่ำที่สุดเราสามารถไปเจรจาเรื่องหนี้สินได้โดยไม่ได้คอมมิท คล้าย ๆ กับว่าเจรจาไปก่อนทำเรื่องกู้เงินทีหลัง อันนี้ก็จะทำให้ขั้นตอนดำเนินการรวดเร็วขึ้น เพราะเดิมไม่สามารถเจรจาก่อนได้ต้องรอการอนุมัติ"

ที่สำคัญคือ กฟผ. สามารถทำธุรกิจพลังงานไฟฟ้า หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวกับ หรือต่อเนื่องกับกิจการ กฟผ. ได้ รวมทั้งร่วมทุนกับบุคคลอื่นได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจาก สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ที่แก้ไขใหม่จะเห็นได้ว่า กฟผ. ก็ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สะดวกต่อการลงทุน เพราะวงเงินในการตัดสินใจน้อยไปสำหรับกิจการใหญ่แบบโรงผลิตไฟฟ้าที่ต้องการเงินลงทุนในแต่ละโรงไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท

นอกจากนี้การลงทุนหรือริเริ่มโครงการใหม่ก็ยังต้องผ่านการอนุมัติของ คณะรัฐมนตรีอยู่ดีเพราะข้อนี้ถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ที่แก้ไขใหม่อย่างชัดเจนจนหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าขั้นตอนของ กฟผ. ล่วงเลยมาถึงที่จะนำ EGCO เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วก็ตาม ผู้คนก็ยังอดไม่ได้ที่จะถามว่า ทำไม กฟผ. จึงเลือกวิธีการตั้งบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้นมากกว่าวิธีอื่นๆ อีกมากมาย ตั้งแต่นำ กฟผ. เข้าตลาดเอง หรือร่วมทุนกับเอกชน หรือการให้สัมปทาน ซึ่งวิธีการเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเหมือนกัน (แม้ว่าข้อเท็จจริงจะยังไม่มีกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ)

พิพัฒน์ ไทยอารี ผู้อำนวยการสถานศึกษาและวิจัยรัฐวิสาหกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนักวิชาการผู้เคยค้านการแปรรูปสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ด้วยเหตุผลที่ว่า สาธารณูปโภคที่เกี่ยวพันใกล้ชิดกับประชาชนมาก ไม่ควรจะตกอยู่ในมือของเอกชน ในขณะที่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการป้องกันการผูกขาดที่ดีพอ และเศรษฐกิจขังตกอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจไม่กี่กลุ่มเท่านั้นซึ่งกลุ่มเหล่านี้แหละที่จะมีศักยภาพมากพอจะลงทุนโครงการใหญ่ ๆ อย่างโรงไฟฟ้าได้ จึงเป็นเสมือนหนึ่งเปลี่ยนมือผู้ผูกขาดจากภาครัฐมาสู่เอกชน

ความคิดเห็นดังกล่าวก็ได้รับการขานรับจากคนในภาครัฐบางส่วน ผนวกกับความคิดทางการเมืองจนก่อให้เกิดความหวาดกลัวแฝงอยู่ในใจ

ความระแวงภัยที่แฝงลึก ๆ ของผู้หวังดีต่อภาครัฐนั้น มิได้มาจากความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลทางธุรกิจที่เหนือกว่าของภาคเอกชนแต่ที่กลัวกันคือ ความมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่จะขยายตัวไปสู่อิทธิพลทางการเมือง

กอปรกับลักษณะเด่นของกิจการไฟฟ้า ไม่ได้อยู่ที่การมุ่งกำไร ซึ่งจะขัดแย้งกับปรัชญาการทำธุรกิจของนักธุรกิจที่คิดเสมอว่า "องค์กรธุรกิจไม่ใช่สาธารณกุศล" อีกประการหนึ่งที่ประชาชนเป็นห่วงก็คือกลไกในการควบคุมราคาไฟฟ้า ซึ่งอาจจะมีช่องว่างให้เกิดการขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนก็เป็นได้

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ รักษาการรองเลขาธิาการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติผู้มีบทบาทในการกำหนดการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ากล่าวว่า การขึ้นราคาค่าไฟฟ้า ใช่ว่าจะทำได้โดยง่ายดาย ทุกอย่างมีขั้นตอน และต้องเป็นไปตามระบบสูตรอัตโนมัติที่จะใช้อนาคต ซึ่งก่อนจะเป็นสูตรอัตโนมัติ ก็มีคณะกรรมการกำกับ ลักษณะของคณะกรรมการชุดนี้จะมาจากหน่วยงานที่ต่างกันเป็นอิสระต่อกัน จึงไม่สามารถใช้วิธีการลอบบี้กรรมการได้ หากไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เขาคงไม่ผ่านหลักเกณฑ์ออกมาง่าย ๆ หรอก

ในประเด็นที่ว่า EGCO จะเป็นอิสระหรือไม่ คำถามนี้ไม่น่าคิดมากเพราะคนจาก กฟผ. ที่มาทำงานใน EGCO ย่อมไม่ต้องการมีนายหลายคน โดยเฉพาะนายที่เคยเป็นลูกน้องตัวเองมาก่อน พวกเขาเห็นว่าความเป็นอิสระจากระเบียบรัฐวิสาหกิจเท่านั้น จึงจะทำให้ตัวเองเข้มแข็งเพื่อแข่งกับคนอื่นได้ในตลาดเสรีที่กำลังเปิดเร็ว ๆ นี้

อย่างไรก็ตาม พิพัฒน์ ก็มองว่า กฟผ. มาถูกทางแต่ผิดวิธีการ คำว่าถูกทางคือ ไม่เลือกตั้งบริษัทใหม่เพื่อร่วมทุนกับกลุ่มเอกชน แต่เลือกจะกระจายหุ้นให้กับประชาชน เพราะอย่างน้อยที่สุดประชาชนก็สามารถกำกับให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนที่ผิดวิธีการคือ การที่ กฟผ. ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเองแล้วโอนให้บริษัทลูก ก็เหมือนกับบริษัทลูกแทะเนื้อแม่ ถ้าจะทำกันให้โปร่งใสควรจะให้บริษัทลูกสร้างเอง บริหารเองจะดีกว่า

ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของไทย ซึ่งได้ทำการแปรรูปกิจการไฟฟ้ามาแล้วนั้น ก็ไม่เห็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าให้ใคร อย่าลืมว่าเงินกู้ที่ กฟผ. เอามานั้นนอกจากต้องเสียดอกเบี้ยแล้ว ยังต้องเสี่ยงกับสกุลเงินอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

ในมาเลเซีย เลือกรูปแบบ (BUILD OWN SELL หรือ BOS) แปลงทุนของกิจการไฟฟ้า (MALASIA'S TENAGA NASIONAL) เป็นทุนเรือนหุ้น แล้วปรับรูปเป็นบริษัท พร้อมทั้งขายหุ้นให้ประชาชนจำนวน 22.8%

ส่วนปากีสถานเลือกใช้วิธี (BUILD OWN OPERATE TRANSFER หรือ BOT) โดยให้เอกชนเป็นเจ้าของและเป็นผู้สร้างโรงไฟฟ้าและดำเนินกิจการเอง แต่เมื่อผลิตกระแสไฟฟ้าตามกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันแล้ว ต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่รัฐบาล แบบนี้มีลักษณะคล้ายการให้สัมปทาน ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากให้ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย

แม้แต่อาร์เจนตินา หรืออังกฤษเอง เขาก็ไม่เลือกวิธีการแบบเราแต่เขาเลือกที่จะขายโรงไฟฟ้าให้เอกชนไปดำเนินการเองเลย สิ่งที่ประเทศเหล่านี้เลือกสามารถทำให้ลดภาระการกู้ยืมได้อย่างเป็นจริง

ศิวะนันท์ แย้งว่า กฟผ. เลือกวิธีที่เหมาะกับไทยมากที่สุดแล้ว เราได้จ้างบริษัท ERNEST&YOUNG ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษาด้านกิจการไฟฟ้าในอเมริกา ซึ่งได้ทำการศึกษาหลายรูปแบบ และให้เหตุผลมากว่า BOT ไม่เหมาะกับประเทศไทยเนื่องจากประเทศที่ใช้วิธีนั้นมักจะมีปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าอย่างรุนแรงขาดฐานการเงินที่ดีพอ ขาดหลักการบริหารที่มีประสิทธิภาพ และขาดเทคโนโลยีซึ่งไทยไม่ได้อยู่ในภาวะเช่นนั้นเลย

ถ้าเทียบในเอเซียด้วยกัน เรายังมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าประเทศอื่น ค่าแรงงานต่ำ โดยผลเฉลี่ยของประสิทธิภาพก็มีมากกว่า หากย้อนดูตัวอย่างจากประเทศปากีสถาน ซึ่งมีพนักงานการไฟฟ้าถึง 165,000 คน ผลิตไฟฟ้าได้เพียง 10,000 เมกะวัตต์เฉลี่ย 1 คนต่อ 0.06 เมกะวัตต์เท่านั้นเอง

แม้ว่าวิธีการแบบ BOT จะมีผลดีตรงที่ไม่ต้องลงทุนเอง แต่ผลเสียก็มีมาก ถ้ารัฐบาลไม่รอบคอบในการทำสัญญา อาทิ อายุสัญญาที่สั้นเกินไปสมมุติ 10-12 ปี ช่วงเวลาที่เอกชนเข้าบริหารจะน้อยฉะนั้นเขาจะคิดค่าไฟฟ้าแพง แต่ถ้าอายุสัญญายาวเกิน 20 ปี ก็จะมากไป

ในขณะที่โดยปกติทั่วไปโรงไฟฟ้าจะมีอายุสัญญาการใช้งานเต็ม 100% เพียง 20 ปีเท่านั้น เมื่อถึงเวลาโอนทรัพย์สินให้กับรัฐบาล รัฐก็จะได้แต่โรงไฟฟ้าเก่า ๆ ที่ไร้สมรรถภาพ ยิ่งหากเจอพ่อค้าหัวใสเขาก็จะเลือกเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีอายุการใช้งานสั้นซึ่งยิ่งแย่เข้าไปใหญ่

ส่วนวิธีแบบ BUILD OWN OPERATE หรือ BOO คือการให้เอกชนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า แต่ขายให้ กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็ไม่เหมาะในประเด็นที่ว่าผู้รับซื้อไฟจากเอกชนควรมีรายเดียวคือ กฟผ. เพราะจะได้กำหนดและวางแผนการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มาถึงวิธีแบบ BUILD OWN SELL หรือ BOS ซึ่ง กฟผ. ก็ยังไม่พร้อมจะขายหุ้น แปลงรูปเป็นบริษัทหรือวิธีการแบบ BUILD OWN LEASING หรือ BOL ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้างและเป็นเจ้าของกิจการไฟฟ้าเองแต่ให้ กฟผ. เช่าซื้อ และดำเนินการผลิตเอง ก็ไม่เหมาะ เพราะ การเช่าซื้อต้องเสียดอกเบี้ยแพงกว่าเงินกู้โครงการ จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น

"ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ เราคิดว่า กฟผ. พร้อมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี บุคลากร ความชำนาญในการสร้างโรงไฟฟ้ามากกว่าภาคเอกชน"

จามร กล่าวว่า ถ้าจะให้ตอบตรงไปตรงมาก็ต้องพูดว่า รัฐบาลต้องการเห็น กฟผ. ลดภาระหนี้สินต่างประเทศโดยเร็วที่สุด และสร้างภาพพจน์ให้เอกชนมั่นใจว่าในอนาคต จะเปิดให้มีการร่วมวงไพบูลย์ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า ประกอบกับโครงการของ กฟผ. รอไม่ได้ เพราะขืนรอต่อไป อาจเกิดความเสียหายจากไฟดับ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงต่อเศรษฐกิจของไทย จึงต้องเร่งหาเงิน

จามรได้ชี้ให้เห็นว่า กฟผ. ได้ยื่นขอทำโครงการต่อรัฐบาลไปแล้ว เห็นได้ชัดว่าประเทศต้องการใช้ไฟฟ้าเท่าไร ปี 2535 มีความต้องการใช้ไฟฟ้า 9,029 เมกะวัตต์ เพิ่ม 15.5% จากปี 2534 ปี 2536 ต้องการ 9,825 เมกะวัตต์ เพิ่ม 18.6% ปี 2537 ต้องการ 10,689 เมกะวัตต์ เพิ่ม 17.1% ปี 2538 ต้องการ 11,498 เมกะวัตต์ เพิ่ม 15.8% ปี 2539 ต้องการ 12,335 เมกะวัตต์ เพิ่ม 15.6%

โครงการเหล่านี้รอไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติเราทำไม่ทัน ตอนนี้บริษัทมีคนประมาณ 10 คน เราไม่มีปัญญาสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 7,400 เมกะวัตต์ กฟผ. กว่าจะมาถึงวันนี้สร้างกำลังการผลิตได้ 8,045 เมกะวัตต์ ก็ใช้เวลานานเป็นสิบ ๆ ปี

วิธีที่เร็วที่สุดคือตั้งบริษัท เอาโรงที่สร้างแล้วยกให้บริษัทนั้นเสีย เพื่อเป็นหลักประกันระดมทุนทั้งภายในและนอกประเทศ

"หากมัวแต่เสียเวลารอการแปลงหุ้น และจัดรูป กฟผ. ทั้งหมดเป็นบริษัทแล้วเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็จะไม่ทันการณ์ เพราะต้องการใช้เวลาประมาณ 3 ปีเป็นอย่างน้อย การประเมินทรัพย์สินก็ติดปัญหามากมาย ตัวอย่างเช่น เขื่อน จะประเมินอย่างไร ยังไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดว่าอันไหนของ กฟผ. อันไหนของรัฐบาล เนื่องจาก กฟผ. สร้างเขื่อนตัวเขื่อนเป็นของ กฟผ. ก็จริง แต่ที่ดินจะคิดยังไงเพราะบางแห่งก็สร้างในป่าสงวน ซึ่งโดยกฎหมายเป็นพื้นที่ของรัฐบาล น้ำที่ใช้ปั่นไฟฟ้าก็เกิดเองตามธรรมชาติจะเหมารวมว่าเป็นสินทรัพย์ กฟผ. ก็ไม่ได้จามรพูดถึงอุปสรรค การแปรรูปแบบ BOS

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าต่าง ๆ ของ กฟผ. กว่า 40% สร้างมาแล้ว 20-30 ปี ไม่เคยแยกบัญชีกำไรขาดทุนออกจากกัน ทุกโรงจะคิดยอดรวมเป็นบัญชีเดียวแล้วอย่างนี้จะคิดราคากันอย่างไร กว่าจะว่าเรื่องหลักเกณฑ์และการประเมินราคากันจบ เศรษฐกิจไทยก็คงไม่ต้องเกิดพอดี อีกประเด็นหนึ่งก็คือตัว กฟผ. เองปัจจุบันมีสินทรัพย์อยู่ประมาณ 1.75 แสนล้านบาท ซึ่งมนตรี ออกความเห็นว่าใหญ่เกินกว่าตลาดหุ้นไทยขณะนี้จะรับไหว"

คำถามต่าง ๆ ยังไม่จบลงแค่นั้น ยังมีตามมาอีกว่า "ทำไม EGCO ต้องซื้อโรงไฟฟ้าระยอง ซึ่งเป็นโรงใหม่ที่ยังไม่มีกำไร" เลือกสินทรัพย์ตัวอื่นโอนให้บริษัทลูกได้ไหม เช่น โรงไฟฟ้าบางปะกงที่ได้ทำการผลิตไฟฟ้าไปแล้ว เพื่อให้นักลงทุนในตลาดได้เห็นทั้งปัจจุบันที่ดี อนาคตที่สดในและอุ่นใจขึ้นที่จะร่วมลงทุนในหุ้นตัวนี้

คำตอบจาก ศิวะนันท์ ณ นคร เลขานุการคณะกรรมการบริษัทผลิตไฟฟ้า คือ เพราะเพิ่งสร้างใหม่ เรารู้ว่าลงทุนไปเท่าไหร สร้างเสร็จราคาตลาดก็ไม่ขึ้นลงมาก ซึ่งหากจะพูดถึงราคาที่ดินที่คนกล่าวกันว่าสูงมาก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าเทียบกับราคาโครงการแล้วที่ดินเป็นเพียง 0.5% เท่านั้น

เหนืออื่นใดในการเลือกระยองคือ ขนาดของระยองไม่ใหญ่จนเกินไป กำลังการผลิตประมาณ 1,200 เมกะวัตต์ ส่งภายในพื้นที่เฉพาะภาคตะวันออกซึ่งเท่ากับ 10% ของกำลังการผลิต กฟผ. เท่านั้น

ถ้าเลือกโรงไฟฟ้าอื่น เช่น บางปะกงขนาดกำลังการผลิตประมาณ 3,700 เมกะวัตต์ ประมาณ 40% ของกำลังการผลิตทั้งหมดใน กฟผ. และโรงไฟฟ้าก็สร้างมาแล้ว 10 ปี จะยุ่งยากในการจัดการมากขึ้นเพราะเป็นขนาดใหญ่เกินไป

อีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่เลือกจะขายบางปะกงก็คือโดยทั่วไป กฟผ. จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าในบริเวณเดียวกันให้มีกำลังการผลิตเกิน 4,000 เมกะวัตต์เพราะถ้าเกิดระเบิดหรือขัดข้องในบริเวณนั้น จะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจมาก ทำให้บางปะกงเป็นจุดที่กำลังจะหยุดการเพิ่มกำลังการผลิตอันหมายถึงศักยภาพในการเติบโตจะอยู่กับที่ ซึ่งนักลงทุนคงไม่สนใจหุ้นที่หยุดนิ่ง แต่ระยองนั้นยังพัฒนาได้อีกไกล

อนาคตของ EGCO ขึ้นอยู่กับการเจรจา 2 ประเด็นในการทำสัญญา ข้อแรกคือ กฟผ. จะขายโรงไฟฟ้าในราคาเท่าไร ข้อสองคือ จำนวนที่รับซื้อไฟจาก EGCO จะเป็นเท่าไร มีลักษณะการคำนวณราคาอย่างไร แต่ที่น่าจะเป็นคือราคาค่าไฟควรจะเป็นไปตามจริงที่ขึ้นลงได้

ถ้า 2 ประเด็นนี้ตกลงกันได้ ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า EGCO เป็นหุ้นบลูชิพตัวหนึ่ง อาจจะไม่หวือหวา แต่กำไรสม่ำเสมอ โอกาสในการขยายกิจการทั้งโรงไฟฟ้า หรือกิจการที่เกี่ยวข้องก็มีมากอาทิ โครงการซื้อโรงไฟฟ้าขนอม ตามด้วยน้ำพองและอาจจะร่วมทุนกับต่างประเทศในโครงการอ่าวไผ่อีก

โครงสร้างเงินทุนของ EGCO คาดว่าจะใช้เงินกู้ประมาณ 75% หรือสัดส่วนหนี้สินต่อทุนเท่ากับ 3 ต่อ 1 หรือ เงินกู้ประมาณ 15,000 ล้านบาทเงินระดมทุนจากตลาดหุ้นประมาณ 5,000 ล้านบาท

สัดส่วนหนี้สินจะเพิ่มขึ้นจาก กฟผ. เดิมที่มี 2.5 ต่อ 1.5 โดยมนตรีชี้แจงถึงผลดีว่า จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยถูกลง เพราะสามารถหาแหล่งเงินกู้ที่ไม่แพงนักได้ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็สามารถหักภาษีได้อีกทอดหนึ่ง แต่ถ้าระดมจากตลาดหุ้นทั้งหมด จะทำให้ต้องรับผิดชอบเรื่องเงินปันผลซึ่งระยะแรกอาจจะยังไม่มีกำไรจะจ่าย

ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ดีจะมาจากสัญยาการกำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นถึงระยะยาวผู้ให้กู้ก็จะนำไปวิเคราะห์ว่าบริษัท EGCO ในระยะยาวจะมีรายได้มากพอที่จะชดใช้หนี้สินหรือไม่

"เราเป็นคนร่างสัญญาให้ EGCO เทคนิคอันหนึ่งที่จะเสนอก็คือ ให้ กฟผ. รับความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินและความเสี่ยงของราคาแก๊สที่ EGCO จะซื้อจาก ปตท. ในนาม กฟผ. เพื่อผลิตไฟฟ้า สิ่งนี้จะทำให้ความเสี่ยงของ EGCO น้อยลงซึ่งมันเป็นความจำเป็นที่ กฟผ. ต้องทำให้ EGCO แข็งแรงเสียก่อนจะเปิดตลาดเสรี"

มิฉะนั้น EGCO จะไม่สามารถแข่งขันกับเอกชนรายอื่นได้อย่างสะดวก ผู้ให้กู้ก็คงไม่สบายใจเท่าไรนัก ถ้าบริษัทใหม่ต้องมารับภาระในขณะที่ยังไม่มีอะไรในมือเลย

จุดนี้แหละที่ภาคเอกชนมองว่า แม้รัฐบาลจะมีทีท่าดี แต่ กฟผ. ก็เตรียมอุ้ม EGCO ให้โตแทนตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งนั่นหมายถึงการเอาเปรียบคนที่เป็นภาคเอกชนเต็มตัว และยังเป็นนิมิตรหมายที่จะบอกว่า "อุตสาหกรรมนี้ใครอย่าแตะ"

ถ้าเป็นตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ EGCO ก็จะมีอัตราการเติบโตปีละ 5-10% ตามนโยบายของรัฐบาลสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 เริ่มแผนฯ 8 จะมีการแบ่งโครงการบางส่วนของ กฟผ. ให้เอกชนทำ

งานนี้ EGCO ก็มีสิทธิลุ้นเข้าแข่งขันเต็มรูปแบบเหมือนเอกชนทั่วไป ซึ่งถึงช่วงที่มีการประมูลโครงการใหม่ ไม่ว่า EGCO จะเริ่มมีกำไรหรือยังเราก็จะลงสนามด้วย

เขาเล่าให้ฟังว่า ที่ต้องทำเช่นนั้น เพราะรัฐบาลมีนโยบายจะยกเลิกการผูกขาดจึงไม่อนุญาตให้ EGCO ซื้อโรงไฟฟ้าจาก กฟผ. แบบไม่จำกัด EGCO จะปฏิเสธการแข่งขันไม่ได้เลย หากต้องการอยู่ในวงการอุตสาหกรรมไฟฟ้า

ผู้ใหญ่ใน กฟผ. บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า EGCO ไม่ JOINT VENTRE กับคนอื่นแน่ ยกเว้นการร่วมทุนเพื่อทำโครงการใหม่เท่านั้น เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนในราคาทุน ทั้งนี้เราเองได้ลงทุนไปแล้ว มีดอกเบี้ยเกิดขึ้นแล้ว จึงควรให้ตลาดเป็นผู้ตีราคา แล้วใครอยากซื้อก็ซื้อจากตลาดเอง คำพูดดังกล่าวยิ่งแสดงนัยสนับสนุนข้อสังเกตุของภาคเอกชน

กฟผ. ได้ทบทวนแล้วว่าจะให้ EGCO ใช้รูปแบบวิสาหกิจ โดยกระจายสัดส่วนการถือหุ้นให้ประชาชนประมาณ 51% คาดว่าจะแบ่งให้ต่างประเทศประมาณ 25% โดยอาจจะทยอยเข้าตลาดฯ ระยะแรกประมาณ 30% ระยะสองอาจจะขายหุ้นจนครบ จำนวน 51% ต่อจากนั้นอาจจะมีการลดสัดส่วนการถือหุ้นของ กฟผ. ลงเหลือไม่ถึง 49%

ในระยะยาวไม่เกินปี 2540 ตัว กฟผ. ต้องแปลงรูปเป็นบริษัทเอกชน ศิวะนันท์ พูดถึงสมรภูมิข้างหน้า อันเป็นเหตุใหญ่ให้ กฟผ. จำเป็นต้องขอลาออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจว่า เนื่องจากต้องการใช้กติกาเดียวกับเอกชนในการแข่งขันเพราะในเมื่อจะเปิดสนามให้เอกชนเข้ามาแบ่งสัดส่วนตลาดแล้ว หาก กฟผ. ยังอยู่ในกฎเกณฑ์รัฐวิสาหกิจ ก็เท่ากับลงสนามแข่งในลักษณะถูกมัดตราสังข์ ซึ่งจะไม่มีทางสู้เอกชนได้เลย

อย่างไรก็ตาม กฟผ. ก็ไม่อาจจะดำรงตำแหน่งแชมป์ผู้ผลิตไฟในสนามแห่งนี้ ได้อีกเพราะการเปิดตลาดเสรี ทำให้ กฟผ. ต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่สู่การเป็นผู้กำกับแผนการผลิตและจำหน่ายแทน

"เราปล่อยให้การผลิตไฟฟ้าเป็นของเอกชนได้แต่ผู้ผลิตทุกรายต้องขายให้เรา ไม่เช่นนั้นจะไม่มีคนดูแลภาพรวม ไม่งั้นการพัฒนาพลังงานทั้งประเทศจะเสียหายเพราะไม่มีใครรับผิดชอบ ซึ่งจุดนี้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต้องมี CENTER PLANING และ CENTER FORECAST ที่ใกล้เคียงที่สุดโดยธรรมชาติไฟฟ้าถ้าผลิตมากไปก็สิ้นเปลื้องต้นทุนเพราะไฟฟ้าไม่ใช่สินค้าที่จะกักตุนได้ ถ้ากำลังการผลิตน้อยไปไฟฟ้าจะขาดแคลน" ศิวะนันท์กล่าวอย่างจริงจัง

การบริหารไฟฟ้าไม่เหมือนสินค้าอื่น มีช่วงที่ใช้น้อยอาทิ ช่วงเวลากลางวัน และใช้มากในช่วงเวลาเย็น 18.00-20.00 น. ปัญหาการบริหารและบริการจะตามมามาก ถ้าการลงทุนไม่ได้เผื่อช่วง PEAK LOAD หรือไม่ได้เผื่อสำรองไว้ นี่คือสิ่งที่ กฟผ. ต้องจัดการให้สมดุล

กฟผ. ต้องดูแลระบบการจัดจำหน่ายด้วยอยากจะให้เป็นระบบรวมศูนย์เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ กฟผ. เป็นผู้จำหน่ายรายใหญ่แต่ผู้เดียว แล้วมีลูกค้าโดยตรงมาซื้อเพื่อจำหน่ายต่อให้ประชาชน หรือเพื่อนำไปใช้ในการผลิตสินค้า เช่นเดียวกับที่การไฟฟ้านครหลวง ภูมิภาค ซื้อจาก กฟผ. แล้วขายให้ประชาชน หรือ ปูนซีเมนต์ไทยมาซื้อไป

หัวใจของ กฟผ. อยู่ที่ความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้า ที่มีทั้งคุณภาพและราคาถูก ในอีก 10 ปีข้างหน้า เราอยากจะใช้ระบบศูนย์กลางการจัดส่งไฟฟ้า ซึ่ง กฟผ. เป็นผู้วางระบบ ผู้ผลิตรายใดต้องการใช้ส่งกระแสไฟฟ้าผ่านก็ต้องเสียค่าผ่านทางเช่นเดียวกับระบบทางด่วน ในอังกฤษ ก็ใช้ระบบนี้เพียงแต่อังกฤษเป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ผลิต

ภาระหน้าที่ของ กฟผ. ในปัจจุบันมีมากมายและทั้งสับสน แบ่งแยกได้ยาก เพราะเป็นผู้ผลิตผู้ดูแลคุณภาพ ผู้จัดจำหน่าย คล้าย ๆ กับตลาดหลักทรัพย์ยุคก่อนหน้าปี 2535 ซึ่งเป็นทั้งผู้บริการและกำกับในคนเดียวกัน

ถ้าจะเปรียบเทียบให้ชัดก็ควรจะแยกกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้ตรวจสอบคุณภาพสินค้า เช่นเดียวกับคนขายน้ำกลั่นที่ต้องมีคณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้ตรวจสอบ

พิพัฒน์มองว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้ามี 3 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนแรกผลิต ขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนการจ่าย ขั้นตอนที่ 3 ขั้นตอนบริการ ส่วนขั้นตอนที่3 ทำเพียงครึ่งหนึ่ง เฉพาะกับลูกค้ารายใหญ่เท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นไปได้ ควรแยกภาระหน้าที่บางอย่างออกไป แล้วปรับขนาดองค์กรให้เล็กลง เพราะ กฟผ. อุ้ยอ้ายเหลือเกิน

มีวิศวกรระดับสูงคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อสมัยผู้ว่าฯ เกษมอยู่ การเดินทางของขั้นตอนเอกสารจากระดับพนักงานถึงผู้ว่าฯ ใช้เวลาประมาณ 2 วันก็ถึงมือผู้บริหาร แต่ปัจจุบันใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์

การแตกตัวเป็น EGCO จึงเป็นหนทางหนึ่งในการย่นระยะทางเดินของเอกสารและขั้นตอนขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงของคนใน กฟผ.

และนี่คือเหตุผลทั้งหมดในการสร้าง EGCO ตัวตายตัวแทนใหม่ของ กฟผ.!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us