"การเติบโตของเศรษฐกิจของจีนอย่างจรวด มีปัญหาเกิดขึ้น 2 ประการนั่นคือเป็นการเติบโตที่รวดเร็วเกินไปหรือไม่
บางส่วนเห็นว่ายังเหมาะสม จีนยังคงเป็นตลาดที่นำลงทุนต่อไป"
นโยบายเปิดประตูเศรษฐกิจของเติ้ง เสี่ยวผิงเป็นการจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของจีน
เศรษฐกิจจีนในตอนนี้เหมือนธนูที่ยิงออกไปอย่างแรง ลูกดอกจะพุ่งเข้าสู่เป้าหมายหรือไม่ยังไม่อาจรู้
แต่แรงเหนี่ยวนั้นทำให้หลายฝ่ายหวั่นใจว่าเศรษฐกิจจะโตเร็วเกินไป อันเป็นมุมมองที่เกิดจากการจับตาการเติบโตของเขตเศรษฐกิจพิเศษ,
การขยายตัวของท่าเรือ 14 แห่ง, ผลได้ผลเสียของธุรกิจต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาลงทุน
รวมทั้งนโยบายด้านการเงินที่จะเป็นตัวควบคุมที่สำคัญหากเศรษฐกิจโตจนยั้งไม่ทัน
และก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น
การเปิดเสรีระบบเศรษฐกิจของจีนเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของเติ้ง เสี่ยว ผิง
และเป็นเป้าหมายการวิพากษ์จารณ์อย่างกว้างขวางของนักเศรษฐศาสตร์ด้วย ดังเช่นหนึ่งในนั้นคือ
เชนหยุน ผู้วิเคราะห์เศรษฐกิจจีนด้วย "ทฤษฎีนกในกรง" คือเชื่อว่า
การปฏิรูปหมายถึงการสร้างกรงนกให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่การปล่อยนกออกจากกรง
และนักเศรษฐศาสตร์ก็มองว่า เศรษฐกิจของจีนกำลังเป็นไปในประการหลัง
หากแยกแยะประเด็นที่นักวิเคราะห์จับตามองจะพบว่ามีอยู่สองประเด็นใหญ่ ๆ
ด้วยกัน ประการแรกคือ หลายฝ่ายเกรงว่าเศรษฐกิจจีนจะเฟื่องฟูเร็วจนเกินขอบเขตที่จะควบคุมได้
รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการที่เฉียบคมในการตรวจสอบและควบคุมภาวะเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นได้
ประการที่สอง การปฏิรูปกิจการของรัฐทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในหมู่คนทำงาน
เพราะการแปรรูปกิจการที่เคยเป็นของรัฐเป็นรัฐวิสาหกิจนั้นทำให้คนทำงานที่เคยได้สวัสดิการจากรัฐเสียผลประโยชน์ที่เคยได้ไป
ยังไม่รวมการเกิดช่องว่างมหาศาลระหว่างรายได้ของคนงานของรัฐและคนทำงานในภาคเอกชน
แต่ปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเศรษฐกิจคือการขยายตัวเขตเศรษฐกิจเซินเจิ้นขึ้นอีก
6 เท่า จากเดิม 327.5 ตารางกิโลเมตรเป็น 2,020 ตารางกิโลเมตร
แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจเซินเจิ้นฉบับปัจจุบันซึ่งมีอายุ 10 ปี (1991-2000)
ใช้งบประมาณ 70,000 ล้านหยวน (13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มากกว่าฉบับเดิมถึง
3 เท่าตัว
แผนการดังกล่าวรวมถึงโครงการจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในสถานีพลังงานไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต
60,000 กิโลวัตต์ โครงการสร้างถนนและสะพานโรงงานปิโตรเคมีและทางรถไฟ
ต่างชาติจ่อคิวรอจีนเปิดตลาดการเงิน
นโยบายการเงินของจีนถือเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมเศรษฐกิจ ขณะนี้รัฐบาลจีนกำลังเร่งกระตุ้นอัตราเงินออมในประเทศ
และเน้นการอัดฉีดเงินให้กับภาคอุตสาหกรรม จึงสนับสนุนมีการลงทุนจากต่างชาติให้มากขึ้น
ในเดือนพฤษภาคม 1992 มีธนาคารพาณิชย์จากต่างชาติเข้ามาเปิดสาขาและร่วมทุนกับธนาคารของจีนแล้ว
47 รายและ อีกหลายรายที่ได้ตั้งสำนักงานตัวแทนขึ้น
และที่สำคัญก็คือ ทางรัฐบาลมีแผนจะเปิดเสรีตลาดหุ้นให้มากขึ้นอีก รวมทั้งทำให้เงินหยวนสามารถแลกเปลี่ยนในตลาดโลกได้
ดังที่ เชน หยวนผู้ช่วยฝ่ายบริหารของธนาคารกลางของจีน (พีบีโอซี) เผยว่า
"ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของข้อตกลงทั่วไปด้านภาษีและศุลกากร (แกตต์)
เราตั้งใจจะเปิดเสรีตลาดการเงินและธนาคารสำหรับต่างชาติให้กว้างขึ้นเมื่อถึงเวลาอันควร"
นอกเหนือจากนั้นจีนยังมีแผนเปิดตลาดประกันรับบริษัทต่างชาติด้วย เบี้ยประกันของจีนในปี
1990 มีมูลค่า 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่ายังน้อยอยู่ ตลาดส่วนนี้จึงยังโตได้อีกมาก
ความเฟื่องฟูของการเงินจีนยังเห็นได้จากการยอมรับตลาดล่วงหน้าว่าเป็นสิ่งถูกกฎหมายหลังจากที่กิจกรรมประเภทนี้จัดเป็นหนึ่งในจำนวน
"อบายมุขทั้ง 6" ของประเทศและถือว่าเข้าข่ายการพนันมานาน และตลาดเซี่ยงไฮ้ก็กำลังจะพัฒนาตัวเป็นตลาดล่วงหน้าที่สำคัญของเอเซียด้วย
ตลาดอุปโภคบริโภคของจีนที่มีลูกค้าอยู่ถึง 1,000 ล้านคนล่อใจนักลงทุนทั่วโลกมาตั้งแต่ทศวรรษ
1980 แต่วันนี้สิ่งที่ปรากฏออกมาคือ ความคาดหมายที่เกินจริง เพราะยิ่งนานวันความเป็นจริงที่ซ่อนอยู่ก็เผยตัวออกมามากขึ้น
จากตัวเลขของ HONG KONG TRADE DEVELOPMETN COUNCIL พบว่า การทำสัญญาลงทุนของธุรกิจต่างชาติเมื่อปีที่แล้วเพิ่มขึ้น
68% แต่ตัวเลขการลงทุนจริงกลับเพิ่มขึ้นเพียง 14% เท่านั้น
แต่เมื่อเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของปีนี้การลงทุนจากต่างชาติหนาแน่นกว่าเดิมมาก
เพียงช่วง 2 เดือนนี้มีการทำสัญญาลงทุนของธุรกิจต่างชาติถึง 3,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
มากกว่าช่วงเดียวกันในปี 1991 ถึง 2 เท่า โดยเป็นเงินของนักลงทุนจากฮ่องกงถึง
56% (1,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตามมาด้วยนักลงทุนจากไต้หวัน
ตัวเลขการลงทุนจากต่างชาตินี่เอง เป็นจุดหนึ่งของการวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจจีนโตเร็วเกินไป
บางกลุ่มเห็นว่าภาวะการลงทุนเช่นนี้จะพองตัวอย่างรวดเร็วและแตกลงภายใน 5
ปี ซึ่งเป็นภาวะเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 1980
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การริเริ่มโครงการใดใดในจีนให้ประสบผลสำเร็จจึงควรกินเวลาน้อยกว่า
5 ปี
ฉะนั้น โครงการระยะยาวที่ใช้เงินลงทุนสูงจึงเสี่ยงมากกว่าโครงการระยะสั้น
วู ตัน อวย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีนของฮ่องกง กล่าวว่า "นี่เป็นโอกาสทองในช่วงสั้น
ๆ สำหรับนักลงทุนต่างชาติเพราะหัวเมืองต่าง ๆ ในจีนกำลังแข่งขันกันหยิบยื่นสิ่งล่อใจให้กับนักลงทุน
แต่การแข่งขันนี้เองจะนำไปสู่การเติบโตจนเกินขอบเขตของเศรษฐกิจ"
แต่ในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติเองกลับเห็นว่าบรรยากาศการลงทุนของจีนนั้นสะดวกราบรื่นโดยดูจากภาระหนี้สินของประเทศที่ลดลง,
ดุลการค้าที่ยังดีอยู่ บวกกับอัตราการออมเงินต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
นักธุรกิจของต่างชาติ และนายธนาคารก็เห็นพ้องกันว่า จีนเป็นประเทศที่ก้าวไปไกลที่สุดในจำนวนประเทศ
ที่เพิ่งเปิดพรมแดนอย่างเวียดนาม, พม่าและกลุ่มเอเชียกลางอื่น ๆ ในช่วง 4
ปีที่ผ่านมากฎหมายจีนได้ผ่อนปรนให้กับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น
แต่ความจริงแล้ว จีนยังมีกฎหมายที่ยังสร้างความสับสนให้กับกระบวนการทำธุรกิจอยู่
เช่นหลักการบัญชีของจีนซึ่งมุ่งทำบัญชีเพื่อการจ่ายภาษีโดยไม่คำนึงถึงด้านการบริหาร
และกระบวนการตัดหนี้สูญของธนาคารก็ยุ่งยาก เพราะเจ้าหนี้จำต้องเสียรายจ่ายด้านดอกเบี้ยด้วย
ทั้ง ๆ ที่หนี้บางก้อนเป็นหนี้สูญ จึงเท่ากับว่าเขาเสียภาษีกับผลประโยชน์ที่ไม่ได้รับ
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เฟื่องแข่งฮ่องกง
ในด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น แม้นักลงทุนบางรายอย่างดีเร็กซ์ ซาน "ซิโนแลนด์"
จะชี้ว่าการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีนยุ่งยากน้อยกว่าในมาเลเซีย
และรัฐบาลก็มีประสิทธิภาพมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
แต่ซิโนแลนด์ได้รับความสะดวกเพราะเข้าไปในตลาดจีนตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
จึงมีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
สำหรับนักลงทุนที่ไม่มีสายสัมพันธ์ตรงนี้จะพบว่าการทำธุรกิจในจีนนั้นมีกระบวนการที่ยุ่งยากไม่น้อย
ทั้ง ๆ ที่กระบวนการเหล่านี้ก็ขยับเข้าใกล้มาตรฐานของชาติอาเซียนอื่น ๆ แล้ว
แต่ความสัมพันธ์ทางธุรกิจก็ยังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อเป็นเช่นนี้หลายมณฑลของจีนจึงใช้ระบบการเช่าที่เหมือนที่ทำกันในฮ่องกงเพราะทำให้การพัฒนาที่ดินเป็นไปได้ง่ายขึ้น
ราคาที่ดินในเขตเศรษฐกิจของจีนจึงเพิ่มขึ้นพรวดพราดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแม้ว่าจะยังมีราคาเพียง
1 ใน 3 ของราคาที่ในฮ่องกง
แต่การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจของจีนกับฮ่องกงก็จะทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่ใกล้เคียงกัน
ในขณะที่ราคาที่ดินของมลฑลอื่นที่ไม่ใช่เขตเศรษฐกิจจะยังคงไต่ขึ้นอย่างช้า
ๆ
ตลาดคอนซูเมอร์ : หนึ่งในปัจจัยชี้การเติบโตเกินขอบเขต
เมื่อหันมาดูตลาดอุปโภคบริโภคของจีนจะยิ่งพบการเติบโตที่มากมายอย่างเห็นได้ชัด
เพราะตลาดจีนมีผู้บริโภคถึง 1,000 ล้านคนและรัฐบาลจีนก็ยินยอมให้ต่างชาติเข้าไปประกอบการได้แล้วด้วย
ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคทุกประเภทมีสูงมากร้านค้าปลีกและค้าส่งของจีนก็เปิดกว้างรอการร่วมทุนจากต่างชาติอย่างเต็มที่
ทำให้มีการร่วมทุนกับต่างชาติอย่างคึกคัก
หนึ่งในบริษัทใหญ่ที่เข้ามาร่วมทุนในจีนคือ "อัลไลด์กรุ๊ป" กลุ่มธุรกิจจากฮ่องกงของลี
หมิง ตี ตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมา อัลไลด์เข้าไปร่วมทุนกับบริการของจีนเป็นมูลค่าการลงทุน
65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเน้นธุรกิจอาหารและอาหารสัตว์
แต่กรณีของอัลไลด์เป็นเรื่องของบริษัทใหญ่ ที่มีเงินลงทุนมหาศาล สำหรับธุรกิจขนาดกลาง
และเล็กแล้ว หนทางขยายธุรกิจไม่ได้ง่ายเช่นนี้เสมอไป เพราะบริษัทนั้น ๆ ต้องมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายและบริการที่ดีจึงจะประสบความสำเร็จได้
และนั่นหมายถึงว่า ธุรกิจนั้น ๆ จะต้องเข้าไปสร้างช่องทางการเติบโตได้มากพอสมควรแล้ว
นอกจากนั้น บริษัทต่างชาติยังมีปัญหากับเงินหยวนที่ยังแลกเปลี่ยนในตลาดโลกไม่ได้ด้วยสำหรับกรณีค่าเงินหยวนนี้
โฮปเวลล์ โฮลดิ้งดูจะโชคดีกว่าใคร ๆ เพราะโครงการใหญ่ ๆ หลายโครงการของบริษัทไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์ไฮเวย์,
โรงงานไฟฟ้าทั้งสองคือ "ชาเจียว บี" และชาเจียว ซี" นั้นแม้จะมีรายได้เป็นเงินหยวน
แต่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้แลกเปลี่ยนเป็นดอลลาร์ได้ในตลาดเงินกวางตุ้ง
ผิดกับ "ไชน่า ไลต์ แอนด์ พาวเวอร์" หนึ่งในธุรกิจกลุ่มแรก ๆ
ที่เข้าไปดำเนินกิจการในจีนเพราะบริษัทต้องงดโครงการสำรวจความเป็นไปได้ในการลงทุนด้านพลังงานเพิ่มเมื่อต้องมีรายได้เป็นเงินหยวน
เนื่องจากความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินอาจกระทบต่อผลกำไรของบริษัท
ในเมื่อบริษัทลงทุนเป็นดอลลาร์
การลงทุนจากต่างชาติเฟื่องฟูมากและทิ้งห่างธุรกิจของรัฐมากขึ้นทุกที ธุรกิจในภาครัฐมีผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ
8% เมื่อปีที่ผ่านมา ส่วนผลผลิตของภาคเอกชนที่ร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง
56%
ความแตกต่างตรงนี้เองที่ทำให้รัฐบาลหวังจะหนุนให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยตรง
คือการซื้อหุ้นในกิจการของรัฐ กระนั้นก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดีเพราะแม้จะได้เปรียบการร่วมทุนตรงที่ไม่ต้องไปเริ่มตั้งบริษัทใหม่
แต่นักลงทุนต่างชาติจะมีปัญหาด้านการกำหนดราคาสินค้า หรือมีปัญหาในการประสานงานกับบริษัทเดิมได้ง่าย
การทำธุรกิจที่นิยมจึงยังเป็นรูปแบบของการร่วมทุนอยู่อย่างเดิม
ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น เมื่อขมวดปมเข้าจะพบว่า ต้นตอมาจากที่เดียวกัน
คือการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตอย่างรวดเร็วของรัฐบาล
ความเห็นในจุดนี้ไม่ได้มีแต่เพียงในส่วนของนักวิเคราะห์เท่านั้น แม้แต่
หวาง บิง เกียน อดีตรัฐมนตรีคลังของจีนก็ได้กระตุ้นให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ลดการเติบโตของเศรษฐกิจลงแล้วหันกลับไปใช้นโยบายการวางแผนจากส่วนกลาง
เพราะเขาเห็นว่า "การสร้างใหม่นั้นไม่ผสานกับการวางแผนของรัฐบาล ซึ่งถ้าสมดุลโดยรวมไม่ดีแล้วจะเป็นการบั่นทอนความกระตือรือร้นของประชาชน
ทำลายประเทศ เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ และทำให้ทุกอย่างช้าลง"