Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2535
"การปรับตัวของเอสทีซีด้วยสัญชาติญาณพ่อค้า"             
โดย ไชยยันต์ ปรัตถพงศ์
 

 
Charts & Figures

ตารางการเติบโตของเครือบริษัท เอส ที ซี
เปรียบเทียบการขยายตัวตามประแภทธุรกิจ 2528-2531
เปรียบเทียบการขยายตัวตามประเภทธุรกิจปี 2532-2534


   
www resources

STC Group Homepage

   
search resources

STC Group
ไพศาล วนิชจักร์วงศ์
วรพงศ์ พิชญ์พงศ์ศา
อรรณพ วงศ์ฐิติโรจน์
Agriculture




"จากเถ้าแก่โรงสี พ่อค้าส่งออกมันข้าว และข้าวโพด จนมียอดขายกว่า 7 พันล้านบาท แต่ต้องฝากอนาคตไว้กับการค้าพืชเกษตรในตลาดโลก ที่มีราคาผันผวนด้วยสัญชาติญาณของพ่อค้าจึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และเติบโตต่อไปโดยเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตรอย่างหนักหน่วงและจริงจังจึงเกิดขึ้น"

"อนาคตเราคงจะมุ่งไปในสิ่งที่เราถนัด และขยายไปในสิ่งที่เรารู้" ไพศาล วนิชจักร์วงศ์ ประธานกรรมการเครือบริษัทเอส ที ซี กล่าวทิ้งท้ายหลังจากการให้สัมภาษณ์กับ "ผู้จัดการ"

แต่ความหมายนั้นไม่ใช่เป็นการสิ้นสุดเหมือนกับคำพูดประโยคสุดท้ายแต่อย่างใด ทว่ากำลังจะเป็นก้าวย่างของยุทธศาสตร์การลงทุน และปรัชญาการบริหารของกลุ่มบริษัท เอส ที ซี (STC GROUP) ที่เข้มข้นขึ้นจากช่วงนี้ไป

เอส ที ซีเป็นกลุ่มบริษัทที่วงการแบงก์เกอร์ที่ตลาดเงินในกรุงเทพยอมรับว่า เป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตรวดเร็วมาก

เพราะตลอดระยะเวลาช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเอส ที ซีได้ลงทุนสู่อุตสาหกรรมเกษตรหลายโครงการอย่างต่อเนื่องรวมกันประมาณ 2800 ล้านบาท

โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมผลิตอาหารกุ้ง ในปี 2531 และนำผลผลิตกุ้งจากฟาร์มที่ลงทุนด้วยขนาด 1000 ไร่ในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกันป้อนเข้าโรงงานกุ้งสำเร็จรูป ทำเป็นธุรกิจครบวงจร

"การลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรจำเป็นต้องทำแบบครบวงจร เพื่อความแน่นอนในวัตถุดิบ และมูลค่าเพิ่ม" วรพงศ์ พิชญ์พงศ์ศา รองประธานกลุ่มเอสทีซีกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงยุทธศาสตร์การลงทุนอุตสาหกรรมเกษตร

ผลจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องทำให้รายได้จากการลงทุนอุตสาหกรรมกุ้งครบวงจรช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เริ่มออกดอกออกผลบ้างแล้วในเวลานี้ "จากยอดขาย 1.6% ของยอดขายรวมทั้งกลุ่มในปี 2532 เพิ่มเป็น 10.4% ในปี 2534" รายงานผลประกอบการของกลุ่มเอส ที ซี ปี 2534 เปิดเผย

การเข้าลงทุนอุตสาหกรรมเกษตร เป็นแนวโน้มใหม่ของธุรกิจค้าพืชไร่ที่กำลังปรับตัวหนีห่างจากความผันผวนของราคาในตลาดโลกที่อยู่เหนือการควบคุม "มันเสี่ยงเกินไปที่จะยืนอยู่ที่การค้าพืชไร่อย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน" วรพงศ์กล่าว

กลุ่มบริษัท เอส ที ซี ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเริ่มแรกจากการค้ามันสำปะหลัง ในนามของบริษัท แสงไทยบางปะกง จำกัด ในปี 2517

จากการที่ผู้บริหารเล็งเห็นถึงความสำคัญของพืชเศรษฐกิจว่าจะมีอนาคตไกล จึงได้ร่วมกันนำประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับจากการทำธุรกิจพืชไร่ในอดีตที่สะสมมากกว่า 40 ปีก้าวเข้าสู่ธุรกิจส่งออกพืชเกษตร

"พวกเราถือว่ามาจากพ่อค้าท้องถิ่น และการก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจส่งออกเป็นสิ่งที่ท้าทายเรามาก" ในความหมายนั้น "พวกเรา" คือเพื่อนสนิทคนหนึ่ง "วรพงศ์ พิชญ์พงศา" รองประธานกรรมการ เครือบริษัท เอสทีซีในปัจจุบันนั้นเอง

ทั้ง 2 คนเป็นเถ้าแก่ท้องถิ่นทำโรงสีและค้าข้าวในภาคตะวันออก ไพศาลมีโรงสีชื่อ "แสงไทย" อยู่ที่บางปะกง ในฉะเชิงเทรา ส่วนวรพงศ์ มีโรงสีชื่อ "บุญเจริญ" อยู่บางบ่อ สมุทรปราการ ด้วยต้นตระกูลของทั้ง 2 นั้นมีความสัมพันธ์กันตั้งแต่รุ่นพ่อที่เป็นเพื่อนสนิทกันมาก่อนแล้ว ในสมัยเริ่มบุกเบิกโรงสีใหม่ ๆ

ไพศาล เป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดีจึงมีเพื่อนฝูงมากมาย วรพงศ์ ก็เป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของไพศาลในฐานะรุ่นน้องและมีฐานะเป็นน้องเขย เนื่องจากไพศาล ได้แต่งงานกับน้องสาวของวรพงศ์

การทำโรงสีและค้าข้าวในท้องถิ่นตั้งแต่วันหนุ่ม ได้สั่งสมประสบการณ์จนเติบโตมาได้ระยะหนึ่ง จึงได้คิดร่วมกันค้ามันสำปะหลังเพราะโอกาสตลาดเปิดให้ทั้ง 2 หันเหเข้าสู่วงการส่งออกมัน

ไพศาลเริ่มเข้าสู่ธุรกิจมันสำปะหลังขั้นแรกโดยจัดสร้างโกดังขึ้นที่บางปะกง มีการแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของโกดังสำหรับให้เช่าเก็บมันสำปะหลังขณะนั้นมันสำปะหลังกำลังเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกที่กำลังรุ่งเรืองมาก มีผู้ค้าจากต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้ากับพ่อค้าไทยมากมาย

ด้วยความเป็นพ่อค้าทำให้มุ่งแสวงหากำไรทุกกิจการที่ตนมองเห็นลู่ทาง จึงได้หันมารับซื้อมันสำปะหลังเพื่อส่งออกด้วยตัวเอง โดยมีโกดัง โรงงาน และไซโลที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพตามแหล่งรับซื้อที่สำคัญ และอยู่ในทำเลที่เหมาะสมกับการลำเลียงสินค้า เพื่อส่งออกตั้งแต่โคราชบางไทร (อยุธยา) บางปะกงและพระประแดง

"เรามองดูแล้วเห็นว่าทำมันส่งออกนั้นก็เข้าที ทางฝรั่งที่เขาเช่าโกดังเราคือ บริษัท โครนส์ ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าค้ามันรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในขณะนั้น โครนส์ให้การสนับสนุนและหาตลาดให้ เรื่องต่างประเทศขณะนั้นต้องยอมรับว่าเราไม่รู้อะไรเลย เมื่อโครนส์มีข้อเสนอที่ดี รับผิดชอบเรื่องต่างประเทศไปทั้งหมด เพียงเรามีโกดังเก็บมันและมีการจัดซื้อจากแหล่งในประเทศ พร้อมกับสามารถส่งมอบให้ได้เท่านั้นก็พอ" ไพศาลกล่าวถึงการเริ่มต้นค้ามันสำปะหลังส่งออกในระยะแรก

ก้าวแรกเป็นที่สงสัยกันมากว่าทำไมกลุ่มนี้ถึงไม่ส่งออกข้าวในเมื่อข้าว คือธุรกิจที่ตัวเองถนัดและเริ่มต้นค้ามาก่อน ไพศาลได้เล่าให้ฟังว่าตลาดข้าวในต่างประเทศนั้น ยังมองไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้ว่าลูกค้าจะได้มาอย่างไร การสต็อกสินค้าทำกันอย่างไร มืดแปดด้านจริง ๆ

แต่ทางด้านการค้ามันสำปะหลังมีผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือทำตลาดต่างประเทศให้อยู่แล้ว หากว่าจะส่งออกข้าวนั้นคงต้องมาศึกษาตลาดเองใหม่ทั้งหมด เพราะยังไม่เคยติดต่อกับพ่อค้าที่ไหนมาก่อนเลย

แสงไทยบางปะกง จึงถือกำเนิดมาเป็นบริษัทเริ่มแรกของการทำธุรกิจในกลุ่มเอส ที ซี ในอดีตเพื่อรับซื้อมันเส้น มันอัดเม็ด ส่งออกโดยขายผ่านบริษัทโครนส์

การค้ามันฯ ในยุคเริ่มต้น ไพศาลและวรพงศ์ ทั้ง 2 คนยังไม่ได้ลงไปบริหารเองอย่างจริงจังเพราะมีโรงสีที่ต้องดูแลอยู่วรพงศ์มอบให้ สุรศักดิ์ ซึ่งเป็นญาติมาดูแลรับผิดชอบ ส่วนไพศาล ให้น้องชายคือวิเชียร มาเป็นผู้ดูแล แต่ไพศาล และวรพงศ์ คือผู้ถือหุ้นใหญ่ของแสงไทยบางปะกง

กิจการค้ามันสำปะหลังดำเนินการไปด้วยดี ด้วยทำเลที่เหมาะสมของโกดังเก็บมัน บนเนื้อที่เกือบ 20 ไรที่อยู่ริมแม่น้ำใช้สำหรับเป็นท่าเรือไปในตัว กอปรกับมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่กำลังเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อในยุโรป

เมื่อตลาดมันฯ มีอนาคตที่ดี ในขณะที่แสงไทยบางปะกงเป็นเพียงบริษัทรับซื้ออย่างเดียว การเกิดของบริษัท แคซซาวา อินดันเตรียล ซึ่งเป็นโรงงานผลิตมันอัดเม็ด (มีอุปกรณ์เครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดโรงงานหนึ่ง) จึงเกิดขึ้นมารองรับ และเป็นช่องเดียวกันที่ทาง ไพศาล และวรพงศ์ ได้กระโดดลงมาบริหารเองอย่างเต็มตัว

การค้ามันฯ ในช่วงนั้น โคราช คือแหล่งที่ผลิตและค้าขายมันฯ ได้คุณภาพมากที่สุด ถือได้ว่าเป็นสถานที่ปล่อยสินค้ามาตรฐานสำหรับส่งออกเลยทีเดียว โดยอาศัยท่าเรือน้ำลึกที่สัตหีบเป็นท่าเทียบเรือใหญ่ ทางแสงไทยบางปะกง จึงได้ขยับขยายฐานไปตั้งโรงงานที่โคราชส่วนหนึ่ง

มันฯ ชนิดต่างๆ จากโคราชจะขนใส่รถบรรทุกมาลงเรือใหญ่ที่สัตหีบ โคราชจะเป็นแหล่งรับซื้อเป็นโรงงานผลิตและเป็นจุดรวบรวมขนสินค้า

"เราเข้าไปลงทุนทำโรงงานมันเม็ดแห่งหนึ่งคือเซ็นทรัลเกรนจนกิจการค้ามันได้เติบโตขยายตัวออกไป ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา ซึ่งกลุ่มแสงไทยบางปะกงถือว่ามีชื่อเสียงมากในขณะนั้น" ไพศาลอธิบายถึงจุดเติบโตของการค้ามันสำปะหลังส่งออก

นับเป็นก้าวแรกของ เอส ที ซี สำหรับการค้ามันสำปะหลังก่อนที่จะก้าวย่างแตกตัวมาสู่ธุรกิจส่งออกพืชเกษตรชนิดอื่น เช่นข้าวและข้าวโพด

เมื่อไพศาลและวรพงศ์มีประสบการณ์ในการติดต่อการค้ากับต่างประเทศมาพอสมควร จึงทำให้เกิดแนวความคิดที่จะหันมาส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นอีกธุรกิจหนึ่ง

เพราะจากพื้นฐานการค้าเดิมอยู่กับการค้าข้าว จนกระทั่วเติบโต กระจายครอบคลุมไปในหลายพื้นที่ของภาคต่าง ๆ และขยายไปทั่วประเทศ ด้วยข้าวคือพืชเกษตรหลัก และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ อีกทั้งผู้บริหารเองมีโรงสีข้าวและค้าข้าวอยู่แล้วจึงตัดสินใจเข้าสู่วงการค้าข้าวส่งออกโดยไม่ลังเล

"วรพงศ์" ผู้กุมบังเหียนของการค้าข้าวในกลุ่มเอส ทีซี เล่าถึงจุดเปลี่ยนแปลงการค้าข้าวในประเทศหันมาทำเพื่อส่งออกว่า "บริษัทมีความคิดที่ว่าในเมื่อเรื่องการส่งออกมันสำปะหลังสามารถทำได้ แล้วเรื่องข้าวเราเป็นผู้ค้าในประเทศรายใหญ่เราค้าข้าวจนรู้ตลาดภายใน น่าที่จะเปิดช่องทางส่งออกข้าวดูบ้างจะเป็นไรไป"

ปี 2520 เอส ที ซี จึงหันมาส่งออกข้าว โดยจัดตั้งบริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด ขึ้นมาดำเนินธุรกิจค้าและส่งออกข้าวไปต่างประเทศซึ่งนครหลวงค้าข้าวเป็นบริษัทที่กำเนิดมาเป็นลำดับที่ 3 ของกลุ่ม หลังจากตั้ง แสงไทยบางปะกง และแคซซาวา อินดัสเตรียล ในการค้าส่งออกมันมาก่อนหน้านี้

การรวมตัวของการค้าข้าวในสมัยนั้น ใช้วิธีและหลักการเดียวกันกับการถือหุ้นของกลุ่มบริษัทค้ามันสำปะหลัง

ไพศาลผู้วางแนวนโยบาย และการบริหารบริษัทสำหรับการถือหุ้นของบริษัทในกลุ่มได้ตกลงกันว่าจะกัน 10% ของสัดส่วนการถือหุ้นไว้ให้กับผู้ที่เป็นมืออาชีพ ที่จะเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อให้มีความรู้สึกในการเป็นเจ้าของบริษัทด้วยและอีก 90% จะเป็นของกลุ่ม

อย่างในกลุ่มของการค้ามันฯ เช่นแสงไทยบางปะกง ก็มีโครนส์ถือหุ้น 10% ในโรงงานมันอัดเม็ดหรือมันเส้น คือ แคซซาวา อินดัสเตรียล ก็มีวิมล พิทยานุคุณ เป็นคนดูแลเรื่องโรงงาน หรือในนครหลวงค้าข้าวก็มี นที ศิระวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์จากบริษัทแสงทองค้าข้าว ดูแลทางด้านการค้าระหว่างประเทศ

การเข้ามาในตลาดข้าวส่งออกของกลุ่มเอส ที ซี ในช่วงเริ่มต้น ไม่ได้ราบเรียบอย่างที่คิด หนึ่งปีให้หลังคือในปี 2521 ต่อเนื่องถึง 2522 เริ่มมีอุปสรรค จากระบบค้าข้าวส่งออกกล่าวในห้วงเวลานั้น สมาคมพ่อค้าข้าวส่งออกได้รวมหัวกันเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ ให้นโยบายให้พ่อค้าข้าวรวมตัวกันค้าข้าวส่งออกเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้า

พ่อค้าข้าวที่เห็นชอบกับนโยบายนี้ ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าข้าวส่งออกที่ทำการค้ามานาน พ่อค้าข้าวรายใหญ่ที่เก่าแก่ในเวลานั้นประกอบด้วย บริษัท ฮ่วยชวน ป้วยเฮงล้ง แสงทองค้าข้าว ธนาพรชัย และข้าวไชยพร ขณะที่รายใหม่ถูกกีดกัน

"โควต้าเขาแบ่งกันเฉพาะในหมู่พรรคพวก หน้าใหม่ไม่มีสิทธิ์ได้" วรพงศ์ย้อนอดีตอันขมขื่นให้ฟัง

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ดีขึ้นเมื่อระบบการรวมกลุ่มข้าวส่งออกพังทะลายลงในปี 2523 เปิดโอกาสให้พ่อค้าข้าวหน้าใหม่อย่างนครหลวงเข้าแข่งขันในตลาดโลกได้เสรีมากขึ้นไม่ต้องหวั่นเกรงการถูกกีดกันจากพ่อค้าข้าวยักษ์ใหญ่อีกต่อไป

การค้าข้าวส่งออกนั้นกลายเป็นธุรกิจที่เด่นมากของกลุ่ม เอส ที ซี ในสมัยปี 2525 เป็นต้นมา หลังจากดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปีกว่า ค่อย ๆ ไต่ลำดับมาเป็นผู้ส่งข้าวออกสูงสุด

จนช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่านครหลวงค้าข้าว เป็นผู้ค้าที่รุกตลาดรุนแรงมาก โดยการเข้าตลาดค้าแบบโฮลเซลส์ล็อตใหญ่ ๆ ในอัฟริกาตะวันตก เปิดโกดังและสำนักงานค้าขึ้นที่เมืองท่า ในขณะที่ผู้ค้ารายอื่น ๆ ในวงการยังไม่กล้าที่จะค้าเช่นนั้นเลย "เราค้าข้าวคุณภาพต่ำ โดยผ่านโบรคเกอร์ของสวิสและฝรั่งเศส" นทีเล่าให้ฟังถึงการเข้าตลาดอัฟริกาแรก ๆ

แม้นครหลวงค้าข้าวจะทำตลาดเชิงรุกในอัฟริกา แต่ก็เป็นอย่างระมัดระวังเรื่องหนี้สูญ เพราะขณะนั้นประเทศในกลุ่มอัฟริกาตะวันตกมีฐานะการเงินไม่ดีทำให้ต้องค้าผ่านโบรคเกอร์อย่างบริษัทพาราจี้ หรือบริษัทซุคเค้น ของฝรั่งเศล

การขายผ่านโบรคเกอร์ ก็ต้องยอมรับกำไรที่ต้องหดลงไปเพราะว่าบางประเทศเขามีความเคยชิน และความใกล้ชิดมากกว่าพ่อค้าไทย จำต้องขายผ่านโบรคเกอร์พวกนั้น เปรียบเสมือนว่าเขาเป็นเซลส์แมนใหญ่ ที่จะเข้ามาดูแลการตลาดให้ จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน" นทีเล่าให้ฟังถึงการลดความเสี่ยงในการค้าลง

การค้าข้าวในยุคนั้นมีทั้งค้ากับรัฐบาลของประเทศคู่ค้าและค้ากับพ่อค้าเอกชนในประเทศต่าง ๆ อย่างการขายให้กับประเทศในตะวันออกกลาง เช่น อิหร่าน ซึ่งทำต่อเนื่องมานานพอสมควรหรือการค้ากับอิรักเป็นการค้าแบบร่วมกลุ่มกันขายเป็นเงินเชื่อ

แต่การค้าข้าวส่วนใหญ่ในตลาดเอเชียจะไม่เน้นมากนักเพราะเป็นตลาดของพ่อค้าข้าวหน้าเก่า รายใหญ่ เช่นตลาดฮ่องกงที่มีผู้สนใจค้ากันมาก เป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันสูงและค่อนข้างที่จะผูกพันธ์กับผู้ซื้อรายเก่ามากกว่า

และอีกประการหนึ่งตลาดฮ่องกง จะเป็นการซื้อขายในลักษณะตั๋ว "ดีพี" ซึ่งหมายถึง เป็นการตกลงสัญญาซื้อขายระหว่างบริษัทต่อบริษัท ไม่มีการค้ำประกันผ่านธนาคาร ต่างจากการใช้ L/C ดังนั้นคนที่จะค้าข้าวในตลาดฮ่องกงได้ต้องรู้จักและคุ้นเคยกับคู่ค้าดีมาก ๆ

"พ่อค้าข้าวฮ่องกงไม่ค่อยให้ความเป็นธรรมแก่พ่อค้าส่งออกเท่าไรนัก คือราคาข้าวในประเทศลดลง ผู้ซื้อก็จะขอปรับราคาลงมา แต่เมื่อใดที่ราคาข้าวในประเทศขยับขึ้นไป ผู้ส่งออกจะขอขึ้นราคาบ้างเขาก็ไม่ยอม" วรพงศ์เล่าให้ฟังถึงความ "หิน" ในการเจาะตลาดฮ่องกง

ซึ่งต่างกับการค้ามันสำปะหลังที่ค้ากับประเทศในยุโรปมีการเปิด L/C ผ่านธนาคารทำเป็นระบบมีการเปลี่ยนแปลงน้อย

การทำตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ทำให้นครหลวงค้าข้าวมีลูกค้ารายใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำตลาดโดยตรงในตะวันออกกลาง แอฟริกา และผ่านโบรคเกอร์ในยุโรป มีการค้าข้าวในหลาย ๆ ชนิด อย่างข้าวนึ่ง ปลายข้าว ข้าวเปอร์เซ็นต์ จะเปิด L/C ค้ากันเป็นส่วนใหญ่

"นที" ผู้เป็นกุนซือในการติดต่อค้าข้าวกับต่างประเทศ ซึ่งถูกซื้อตัวมาจากแสงทองค้าข้าว ของกลุ่มอัศวิจิตร เพื่อมารับผิดชอบในการค้ากับต่างประเทศ ในช่วงที่การส่งออกของนครหลวงค้าข้าวสูงขึ้น

และสัมผัสอยู่กับวงการค้าข้าวส่งออกที่รู้จักตลาดข้าวของโลกดีคนหนึ่งในเมืองไทย นที เล่าว่า เดิมทางนครหลวงค้าข้าวนั้น เน้นอยู่ที่การค้าข้าวเป็นแบบเทกอง และเป็นกระสอบใหญ่ ๆ ทั้งปลายข้าว ข้าวนึ่ง และข้าวเปอร์เซ็นต์

แต่ในปัจจุบันการค้าได้เปลี่ยนแปลงไป หันมาเน้นหนักการขายข้าวคุณภาพมากขึ้นขายกันแบบแพ็คเป็นถุงเล็ก ๆ แล้วบรรจุในคอนเทนเนอร์เพื่อส่งออก

และหันมาค้ากับผู้ค้ารายใหม่ ๆ ที่ต้องการซื้อในแต่ละครั้งไม่มากนัก อย่างในตลาดอเมริกา หรือยุโรปที่หันมาบริโภคข้าวกันบ้าง

การขายเป็นล็อตเล็ก ๆ มีเป้าหมาย เพื่อต้องการเพิ่มมาร์จิน เพราะแนวการตลาดการค้าข้าวได้เปลี่ยนไป ผู้บริโภคต้องการข้าวคุณภาพมากขึ้น ล็อตเล็ก ๆ จึงง่ายต่อการดูแลสินค้า

ดังนั้นในอดีตที่ผ่านมาการเติบโตของนครหลวงค้าข้าวคงจะพูดได้ว่าเป็นการค้าแบบล็อตใหญ่ ๆ กับแอฟริกา และประเทศในตะวันออกกลางมาก่อน ซึ่งจะเป็นลักษณะขายผ่านคนกลางอย่างในช่วงต้น ๆ จะมีการขายผ่านคนกลางเกือบจะ 80% มาในระยะหลังลดลงมาเหลือแค่ 40-50% เท่านั้น

และมีการติดต่อค้าโดยตรงกับพ่อค้าปลีกมากขึ้นเพราะรู้จักกับผู้ค้าหน้าใหม่และมีการหันไปหาตลาดใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความเสี่ยงในการชำระเงินของการขายเป็นล็อตใหญ่ ๆ

"อย่างในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในปัจจุบันเราไม่อยากที่จะไปค้าเท่าไร แต่แอฟริกาบางประเทศเขาเริ่มมีการเปิดมากขึ้น ทำให้การค้ากับแอฟริกาดีขึ้นมาเป็นลำดับ" นทีกล่าวในที่สุด

นครหลวงค้าข้าวได้เติบโตเรื่อยมา จนผู้บริหารของกลุ่มมีความต้องการขยายการค้าพืชเกษตรให้มากกว่าเดิม เนื่องจากโอกาสที่เปิดขึ้นของตลาดในขณะนั้น เช่นข้าวโพดซึ่งขณะนั้นข้าวโพดของไทยมีการส่งออกเฉลี่ยสูงถึงปีละ 3-4 ล้านตัน

บริษัท แคปปิตัลไซโลและอบพืช จึงถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อดูแลการค้าข้าวโพด และเป็นศูนย์กลางรับซื้อส่งออกข้าวโพดของกลุ่ม อยู่ที่อำเภอบางไทร จังหวัดอยุธยา ซึ่งมีระบบการเก็บและอบข้าวโพดที่มีประสิทธิภาพสูงด้วย

นอกจากจะเก็บข้าวโพดของบริษัทตัวเองแล้วยังมีบริการอบและรับฝากสินค้าแก่ลูกค้ารายอื่น ๆ อีกด้วยเพราะธรรมชาติของเม็ดข้าวโพดต้องเก็บรักษาเป็นอย่างดี

จนมาในระยะหลัง ๆ มีการให้บริการขนถ่ายข้าวโพดด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยในครั้งละมาก ๆ และมีความรวดเร็วขึ้นด้วยและยังพัฒนาตั้งไซโลข้าวโพดขึ้นมาอีกแห่งที่ประแดง เป็นการปรับปรุงจากไซโลเดิมของชุมชนสหกรณ์การเกษตรฯ ให้กลายเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้า ที่มีท่าเทียบเรือเป็นของตนเอง โดยเรือเดินทะเลสามารถเทียบท่าได้และสะดวกในการขนถ่ายสินค้า

ซึ่งการขยายตัวทางด้านการส่งออกพืชผลทางการเกษตรเรื่อยมานั้น ได้ทำ ให้ทีมผู้บริการของกลุ่มหันมาคำนึงถึงความสะดวกและประสิทธิภาพในด้านการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอีก

ไม่ว่าจะเป็นด้านต้นทุนการขนส่ง ตลอดจนความปลอดภัยและการควบคุมคุณภาพของสินค้าในระหว่างการลำเลียงขนส่ง

จึงได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเรือลำเลียง ในปี พ.ศ. 2527 โดยจัดตั้ง บริษัท พลังมิตรทรานสปอร์ต จำกัด ขึ้นมา ด้วยวัตถุประสงค์เริ่มแรกดำเนินการเพียงเพื่อสนองตอบความต้องการด้านการขนส่งสินค้าเกษตรของบริษัทในกลุ่มระหว่างท่าเรือต่าง ๆ เท่านั้น

แต่ต่อมาได้ขยายธุรกิจออกไปอีก มีเรือเพิ่มลำเลียงเพิ่มขึ้น จึงได้หันมาให้บริการรับขนถ่ายสินค้าเกษตรหลาย ๆ ประเภท เช่น น้ำตาล ข้าวโพด ข้าวสาร ปุ๋ย ฝ้าย และรวมไปถึงสินค้าเกี่ยวกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง อาทิ เหล็กปูนซีเมนต์ ไม้ หรือแร่ชนิดต่าง ๆ

จนพัฒนาเป็นกลุ่มธุรกิจบริการของเครือ อันประกอบด้วยธุรกิจเรือลำเลียง เรือทุ่นในการขนถ่ายสินค้าแบบเทกองที่ท่าเรือในเกาะสีชัง และเป็นเอเย่นต์เรือเพื่อให้บริการลูกค้าภายนอกอย่างครบวงจร

การค้ามันสำปะหลัง การค้าข้าว และการค้าข้าวโพดส่งออกมีการเติบโตขยายตัวสูงขึ้นมาตลอด ดูจากผลดำเนินงานของกลุ่มบริษัทเอสทีซีในการค้าพืชผลเกษตรที่ผ่านมา

ซึ่งตัวเลขในปี 2528 นั้นมีรายได้รวมถึง 3,954 ล้านบาทมาจากการค้าข้าวถึง 46.7% และมาจากการค้ามันสำปะหลัง 43.1% ข้าวโพด 8.8% และบริการขนส่ง 1.4%

และในปีต่อๆ มา การค้าพืชเกษตรยังคงขยายตัวเป็นฐานรายได้หลักเช่นเดิม อย่างในปี 2519 มียอดรายได้รวม 4,289 ล้านบาท มาจากการขายข้าว 38.3% จากการขายมันสำปะหลัง 48.1% ข้าวโพด 12.5%

ในปี 2530 มีรายได้รวม 5,368 ล้านบาท มาจากการขายข้าว 44.6% มาจากการขายมันสำปะหลัง 50.4% และข้าวโพด 4.2%

และในปี 2531 ซึ่งยังคงกิจการในการค้าพืชเกษตร มีรายได้รวมถึง 7,268 ล้านบาท ซึ่งข้าวยังเป็นตัวทำรายได้หลักคือ 45.0% มันสำปะหลัง 44.2% และข้าวโพด 9.3% นับเป็นการขยายตัวที่มีศักยภาพมากอีกกลุ่มบริษัทหนึ่ง

แต่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการค้าในตลาดโลก ช่วงที่เศรษฐกิจภายในประเทศที่มีอัตราขยายตัวสูงถึงปีละ 9-10% เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา การค้าพืชไร่เริ่มเจอปัญหามากขึ้น

วรพงศ์กล่าวอย่างเปิดอกถึงปัญหาสินค้าพืชเกษตรว่า "ราคาของสินค้าทางการเกษตรมันต่างกับสินค้าอุตสาหกรรมที่จะต้องคอยจังหวะเวลา ความเปลี่ยนแปลงของราคานั้นสามารถขึ้นลงได้ตลอดเวลา แล้วแต่สถานการณ์"

การเติบโตมาบนถนนสายธุรกิจภาคเกษตรกรรม การรับรู้ด้วยสัญชาติญาณของความเป็นพ่อค้า ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีทางเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

ว่าคือการค้าพืชผลทางเกษตรในตลาดโลก กำลังมีอุปสรรคเพิ่มมากขึ้น ไหนจะคู่แข่งของประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนาการส่งออกสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่มอินโดจีนอย่าง เช่น เวียดนาม

เวียดนามกำลังเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหม่ที่สำคัญ เพราะการผลิตที่ได้เปรียบในค่าแรงงาน ทำให้มีทุนที่ต่ำกว่า และในที่สุดตลาดข้าวในต่างประเทศส่วนหนึ่งคงจะต้องถูกแบ่งไป

แม้แต่การส่งออกมันสำปะหลังที่ต้องเจอกับมาตรการการเก็บสต็อคสินค้า อันเป็นการสร้างภาระด้านต้นทุนให้กับผู้ส่งออกมัน ส่งผลให้ไม่สามารถจำหน่ายมันในราคาที่ควรจะเป็นและมีคู่ค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นในตลาดค้ามันโลก

หรือการส่งออกสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐานสิทธิพิเศษต่าง ๆ ของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น จี เอส พี ฯลฯ กำลังมีการยกเลิกการให้ความช่วยเหลือกับประเทศไทย

แล้วยังรวมถึงปัญหาการกีดกันทางด้านการค้าจากนานาประเทศ มีการแบ่งกลุ่มการค้าในตลาดโลกมากขึ้น

เพราะฉะนั้นการจะพึงพาการเกษตรส่งออกในรูปสินค้าขั้นพื้นฐานเป็นความเสี่ยงที่กำลังจะเพิ่มสูงขึ้นแก่กลุ่มบริษัท เอส ที ซี เพราะว่าจะคอยให้ ดีมานส์และซัพพลายในตลาดมาเป็นตัวกำหนดธุรกิจตัวเองไม่ได้อีกต่อไป

การปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตรและธุรกิจอื่น ๆ ที่มีโอกาสเปิด จึงเกิดขึ้น แต่ปัญหาอยู่กับว่าจะเริ่มปรับตัวลงทุนในธุรกิจอะไรก่อนกันดี

เอสทีซีตัดสินใจหันมามองธุรกิจทางด้านอาหารสัตว์ เพราะเป็นธุรกิจที่ช่วยให้มองถึงอนาคตของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมการแปรรูปได้ชัดเจนขึ้น

ประเสริฐ พุ่งกุมาร ผู้บริหารระดับสูงสุดคนหนึ่งของกลุ่มซีพีเคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" และวิเคราะห์ให้ฟังว่า อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นดัชนีที่จะบ่งบอกว่าอนาคตการเติบโตของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และแปรรูปจะไปได้ดีหรือไม่ ซึ่งดูจากอัตราการเติบโตทางธุรกิจอาหารสัตว์เป็นเกณฑ์

ในปี 2531 ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของเอส ที ซี ธุรกิจการทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งกำลังบูมและขยายตัวมีมากขึ้น เนื่องจากกุ้งเป็นสินค้าเกษตรที่ให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนสูง "ช่วงที่ไม่มีปัญหาอะไร กุ้งมีราคาถึงกิโลกรัมละ 200 บาทต่อให้ราคาลดลงมาอีก 50% ก็ยังไม่ขาดทุน" ไพศาล กล่าวถึงเหตุผลที่เข้าลงทุน ในธุรกิจอาหารกุ้ง กุ้งกำลังเริ่มเป็นสินค้าส่งออกที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเพราะได้รับความนิยมเป็นที่ต้องการในต่างประเทศมากเช่นญี่ปุ่นหรือยุโรป

เอส ที ซี จึงได้หันมาจับธุรกิจอาหารกุ้งในนาม บริษัท เอสทีซี ฟีด จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาประมาณต้นปี 2531 แต่การก้าวเข้าสู่ ธุรกิจอาหารกุ้งของเอสทีซีหากจะมองดูแล้วมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยเพราะว่าไม่มีประสบการณ์ด้านกุ้งมาก่อนจู่ ๆ จากธุรกิจการค้าข้าว ค้ามัน หรือค้าข้าวโพดแล้วลงไปทำธุรกิจอาหารกุ้ง แต่ด้วยสัญชาติญาณการระวังภัยของพ่อค้า อันจะเกิดความเสี่ยง เรื่องทั้งหมดจึงได้นำเสนอเข้าที่ประชุมของกลุ่ม จึงตกลงใจจ้างให้ บริษัท อินอาม เข้ามาเป็นที่ปรึกษา

บริษัท อินอาม เองมีข้าราชการในกรมประมงระดับซี 8 อยู่หลายคนทำงานให้อยู่ จึงเป็นจุดที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหารเอส ที ซี มากขึ้น

การผลิตอาหารกุ้งในช่วงต้นได้นำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาจากไต้หวันเข้ามาก่อน และต่อจากนั้นทางมิตซูบิชิ เริ่มเข้ามาสานต่อ พร้อม ๆ กับมีการพัฒนาขึ้นมาเองบ้าง

"ตอนที่เรากำลังจะลงสู่ธุรกิจอาหารกุ้ง มีคนมาเสนอตัวทำให้หลายเจ้าแต่ความสัมพันธ์กับมิตซูบิชิซึ่ง ถือว่าเป็นคู่ค้าที่ดีกับเราและมิตซูบิชิของเขาเป็นบริษัทที่ใหญ่มาก มีธุรกิจหลายประเภท เราคิดว่าสามารถพึ่งพาเทคโนโลยีได้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการผลิตอะไรก็ตามในอนาคต" ไพศาลกล่าว

บริษัทมิตซูบิชิได้เริ่มเข้ามาเป็นคู่ค้าสำคัญและเริ่มเข้ามามีบทบาทการค้ากับกลุ่มเอส ทีซี ในช่วงที่นครหลวงค้าข้าวกำลังเติบโตมีการติดต่อค้าข้าวกันกว่า 10 ปีก่อน หน้าที่จะมาลงทุนร่วมกันในธุรกิจกุ้ง

มิตซูบิชิเป็นคู่ค้าข้าวที่มีปริมาณรับซื้อจากนครหลวงค้าข้าวปีละหลายหมื่นตันบางปีเคยซื้อถึงแสนตันต่อครั้ง เพื่อส่งไปเวียดนามในปี 2525-2526

"เราได้เงินจากมิตซูบิชิล็อตที่ส่งข้าวให้เวียดนามแล้วขณะที่เขายังไม่ได้เงินครบจากเวียดนามเลย" วรพงศ์ยกตัวอย่างถึงความซื่อตรงและจริงใจของมิตซูบิชิซึ่งจากจุดนี้เอง คือรากฐานของการตัดสินใจเลือกพาร์ตเนอร์ร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรของกลุ่ม

มิตซูบิชิถือหุ้น 10% ในธุรกิจอาหารกุ้งที่เริ่มลงรากจนการมาเป็นธุรกิจกุ้งครบวงจรเมื่อปลายปี 2531 เพราะธุรกิจกุ้งในขณะนั้นได้เติบโตอย่างรวดเร็วมากส่งผลให้มีการพัฒนาและเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารกุ้งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผู้บริหารของเอสทีซีเองได้เล้งเห็นถึงแนวโน้มที่จะมีฟาร์มกุ้ง สำหรับทดลองอาหารกุ้งและเพื่อประโยชน์ทางการตลาดด้านอื่น ๆ

จึงลงมาสู่ธุรกิจฟาร์มกุ้ง จนกลายมาเป็นธุรกิจการเลี้ยงขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา ภายใต้ชื่อ เอสทีซี ชรินฟาร์ม โดยมีจำนวนเนื้อที่ในการเลี้ยงกว่า 1,000 ไร่ที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งก็ร่วมลงทุนกับมิตซูบิชิอีกเช่นเคยในสัดส่วน 10%

"เราแน่นแฟ้นกับทางมิตซูบิชิมาก เรามีประเพณีร่วมแข่งขันกอล์ฟปีละ 2 ครั้ง" ไพศาลเล่าให้ฟัง

และเมื่อเกิดวงจรที่มีทั้งอาหารกุ้ง และผลิตผลจากฟาร์มกุ้งแล้ว วงจรสุดท้ายของธุรกิจกุ้ง จึงต้องเกิดขึ้นตามมา เป็นธุรกิจการส่งออกกุ้งและแปรรูป ในนามของบริษัท เอส ที ซี ฟู้ด แพค จนกลายมาเป็นธุรกิจกุ้งครบวงจรของเครือเอส ที ซี ในปี 2531

"ในเริ่มแรกเรามีห้องเย็นที่ศรีราชาทำกุ้งแช่แข็งแล้วส่งออกปัจจุบันเอสทีซีฟู้ดแพค เกิดขึ้นมาจึงได้นำกุ้งมาแปรรูปในหลาย ๆ อย่างก่อนที่จะส่งออกสู่ตลาดเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับกุ้ง" ไพศาลกล่าว

เดิมการส่งออกกุ้งแช่แข็งพึ่งเฉพาะตลาดญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ในปัจจุบันต้องปรับตัวให้รับกับสถานการณ์ เพราะตลาดญี่ปุ่นเริ่มจะล้นเพราะมีผู้ค้ามากรายขึ้น จำเป็นต้องพัฒนาในรูปของผลิตภัณฑ์ใหม่

กุ้งแช่แข็ง กุ้งต้มและกุ้งชุบแป้งทอด จึงถูกพัฒนาขึ้นมาและมองหาตลาดใหม่ ๆ มารองรับ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรปและปัจจุบันเอสทีซีได้เข้าไปตั้งสำนักงานสาขาขึ้นในประเทศเหล่านั้น เช่นที่ชิคาโก ปารีส และมีแผนที่จะเปิดตลาดเพิ่ม ขึ้นอีกหลาย ๆ เมือง

เพื่อต้องการเจาะถึงตลาดผู้บริโภคโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านผู้ค้าส่ง หรือโบรกเกอร์อีกต่อไป

"การเข้าไปตั้งสำนักงานสาขาที่ชิคาโก หรือปารีส เนื่องจากว่าเป็นจุดที่จะเสริมด้านการตลาดอีกส่วนหนึ่งจะเจาะลึกและเข้าไปถึงผู้บริโภคโดยตรง และเป็นศูนย์การเก็บวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อรายงานข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นกลับมายังเมืองไทย เพื่อให้ปรับปรุงการผลิตให้สอดคล้องกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปทันต่อเหตุการณ์ หรืออาจจะเป็นศูนย์สำหรับกระจายสินค้าชนิดอื่น ๆ ของเครือเข้าไปในประเทศเหล่านั้นได้อีกในอนาคต"

สำนักงานสาขาที่ชิคาโกเกิดขึ้นจากการร่วมลงทุนกับบริษัท บีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นคู่ค้ากุ้งแช่แข็งของบริษัทชริมส์ฟาร์มอยู่แล้ว ส่วนสำนักงานที่ปารีส เปิดขึ้นโดยใช้ตัวแทนที่นั่น เพื่อเปิดตลาดกุ้งที่ปารีสและเมืองต่าง ๆ ในฝรั่งเศส

การดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัท เอส ที ซี ซึ่งเติบโตมาด้วย สัญชาติญานของความเป็นพ่อค้าการแตกตัวธุรกิจออกไปมากมาย จึงไม่ได้มีการวางแผนและกำหนดทิศทางให้กับตัวเองที่แน่ชัดเท่าใดนัก

เพราะจะเห็นว่าธุรกิจไหนที่โดดเด่นสามารถทำกำไรได้ เอส ที ซี ก็จะกระโดดเข้าไปจะอาศัยผู้เชี่ยวชาญมาร่วมลงทุนโดยไม่มีการวางแผนถึงทิศ ทางบริษัทไว้ล่วงหน้าเหมือนกับหลักการบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ

เรียลเอสเตท จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สนับสนุนคำกล่าวในประเด็นข้างต้น เพราะหนึ่งทั้งไพศาลและวรพงศ์ ไม่เคยมีพื้นฐานหรือประสบการณ์ในการทำธุรกิจเรียลเอสเตทเชิงพาณิชย์มาก่อนเลย

ไพศาลกล่าวว่า ที่เขาเข้าสู่ธุรกิจเรียลเอสเตทเพราะมีที่ดินอยู่ก่อนแล้วไม่ได้ตั้งใจทำจริงจัง เพียงแต่มันเป็นธุรกิจที่มีโอกาสและให้ผลตอบแทนดีน่าสนใจ

"ผมขายที่ดินที่สาธร ตอนแรกตั้งใจจะทำสำนักงานใหญ่ของกลุ่มเอสทีซี พอกลุ่มไวท์พาวเวอร์ฮ่องกร สนใจซื้อเสนอราคากว่า 300 ล้านบาทผมจึงขายออกไป" ไพศาลเล่าให้ฟังถึงธุรกิจเรียลเอสเตทที่ผ่านเข้ามาโดยบังเอิญ

ไพศาลตั้งเอสทีซีคอร์ปอเรชั่นเพื่อหวังทำธุรกิจพัฒนาที่ดิน อย่างโครงการเลกาซี่ที่ถนนวิภาวดีแต่โชคร้ายเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียก่อนที่โครงการจะขายหมด

หรือจะเป็นกลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างที่หวังว่าจะมาเป็นตัวทำกำไรในช่วงที่เรียลเอสเตทกำลังเติบโต

หากจะวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของรายได้ ในกลุ่มบริษัท เอสทีซี แล้วการค้าพืชเกษตรนั้น มีแนวโน้มที่จะหดตัวลง ในขณะที่ธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรใหม่ ๆ เริ่มเข้ามาทดแทน

จากตัวเลขในปี 2532 การมียอดรายได้รวม 8,024 ล้านบาทแต่การค้าพืชเกษตรคือมันสำปะหลังเริ่มที่จะหดตัวลงจาก 44.2% ในปี 2531 มาเหลือ 38.0% หรือการค้าข้าวโพดหดตัวลงจาก 9.3% ในปี 2531 มาเหลือ 5.2% การค้าข้าว ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

แต่ในปี 2533 ถัดมาจะเห็นได้ชัดเจนว่า การค้าพืชเกษตรกับหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเพราะเอสทีซี เริ่มมีการปรับตัวภายในกลุ่มหันมากทำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมมากขึ้น

ข้าวซึ่งเคยเป็นพืชเกษตรที่ทำรายได้หลักกลับลดลงมาจาก 53.7% ในปี 2532 มาเหลือ 29.0% ในปี 2533 ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมกำลังเข้ามาทดแทนไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้ากุ้งหรือเรียลเอสเตท

และมีการขยายตัวที่ชัดเจนขึ้นอีกสำหรับเกษตรอุตสาหกรรมในปี 2534 ที่ผ่านแต่อย่างไรก็พืชเกษตรยังเป็นตัวที่ทำรายได้หลักอยู่แต่มีอัตราการเติบโตที่ลดลงนั้น เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในตลาดการค้าโลกดังที่กล่าวมาข้างต้น

แต่อย่างไรก็ตามการปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตรของกลุ่มเอสทีซีในช่วงถัดมาซึ่งดูจากบางโครงการไม่ได้มีลักษณะของการฉวยโอกาสอีกแล้ว

อย่างโครงการการผลิตขนมอบกรอบเพื่อส่งออกและโครงการผลิตแป้งจากข้าวสาลีที่เกิดขึ้นในปี 2534 เป็นตัวอย่างหนึ่งของการปรับตัวสู่อุตสาหกรรมเกษตรอย่างมีเหตุผลมากขึ้น

การขยายตัวธุรกิจมาทำขนมอบกรอบจากแป้งข้าวเหนียว หรือ ธุรกิจทำแป้งสาลีที่แปรรูปมาจากข้าวสาลี ในช่วงปี 2534 ที่ผ่านมาเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร

อรรณพ วงศ์ธิติโรจน์ เล่าให้ฟังถึงการหันมาทำธุรกิจขนมปังอบกรอบว่ามันเป็นการนำวัตถุดิบจากข้าวที่เราส่งออกมาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

ขนมอบกรอบเป็นโครงการที่ร่วมทุนกับมิตซูบิชิ เป้าหมายส่งออกไปญี่ปุ่นเป็นตลาดหลักโดยผ่านมิตซูบิชิ

ซึ่งปัจจุบันได้เดินเครื่องผลิตสินค้าไปแล้วโดยมีกำลังการผลิตในปัจจุบันประมาณ 3,000 ตันต่อปีและคาดว่าจะสามารถผลิตได้เต็มกำลังของโรงงานทั้งหมด 4,500 ตันต่อปีในอีก 2 ปีข้างหน้า

ตัวขนมอบกรอบนี้เป็นธุรกิจที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาดได้สูงมาก เพราะดูจากราคาของสินค้าแล้วสูงขึ้นกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับการส่งออกข้าวเหนียวในรูปสินค้าเกษตรพื้นฐาน ถึงแม้จะต้องลงทุนในการแปรรูปก็ตาม

ตลาดญี่ปุ่นเป็นหลักในการส่งออก และมีการทำตลาดในอเมริกาและยุโรปบ้าง แต่ยังไม่มากนักและตลาดในประเทศเองก็กำลัง พัฒนาอยู่เช่นเดียวกันหรือจะเป็นโครงการผลิตแป้งข้าวสาลีก็เช่นกัน มีการร่วมทุนกับนิชชินแห่งญี่ปุ่นเพราะแป้งสาลี ผลิตภายในไม่เพียงพอต่อความต้องการ "เราเลือกนิชชิน เพราะผู้ใหญ่คนหนึ่งของมิตซูบิชิแนะนำให้" วรพงศ์เล่าให้ฟังถึงการเลือกนิชชิน

ในปัจจุบัน เอส ที ซี กรุ๊ป มีธุรกิจภายใต้การบริหารอยู่ทั้งหมด 9 กลุ่มหลักคือ 1 ธุรกิจมันสำปะหลัง 2 ธุรกิจข้าว 3 ข้าวโพด 4 ธุรกิจการขนส่ง และบริการ 5 ธุรกิจกุ้งครบวงจร 6 ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง 7 ธุรกิจพัฒนาที่ดิน 8 ธุรกิจขนมอบกรอบและ 9 ธุรกิจทำแป้งสาลี ทุกธุรกิจและทุกบริษัทยังแยกกันจดทะเบียนเป็นแต่ละนิติบุคคลอยู่ในอนาคตอันใกล้ เตรียมที่จะจัดรูปองค์กรเสียใหม่ให้เป็นในรูปองค์กรเสียใหม่ให้เป็นในรูปโฮลดิ้งคัมปานี เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมนโยบายบริหารและการลงทุนของคณะกรรมการบริหารและเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้รับ

นอกจากนี้การจะเติบโตต่อไปในอุตสาหกรรมเกษตรการจัดการด้านเงินทุนเป็นหัวใจสำคัญ "เรากำลังจ้างให้บริษัทภัทรธนกิจเป็นที่ปรึกษาเพื่อเตรียมที่จะนำบริษัทในกลุ่มกุ้งครบวงจรเข้าตลาดหลักทรัพย์" ไพศาลพูดถึงการปรับโครงสร้างทุนของกลุ่มเพื่อลดภาระหนี้สินลง ซึ่งเกิดจากการขยายการลงทุนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเพราะการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จะเป็นการเพื่อศักยภาพของการแข่งขันท่ามกลางสภาวะที่รุนแรง ในปัจจุบันการได้เงินทุนที่ถูกเพื่อจะทำให้ข้อได้เปรียบ ในเชิงการตลาดมีมากขึ้นเช่นเดียวกับการปรับตัวของหลาย ๆ ธุรกิจที่เสนอตัวเข้าสู่ตลาดหุ้นเพื่อระดมทุนขยายธุรกิจ ออกไปในอนาคต

เอสทีซีในทศวรรษนี้ มีทิศทางชัดเจนที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตรเป็นหัวใจหลักตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตโลก โดยมีรากฐานมาจากจิตสำนึกเพื่อความอยู่รอดตามสัญชาติญาณของพ่อค้าอย่างแท้จริง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us