"ผมพร้อมที่จะลาออกจากการเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดนี้" จุลจิตต์
บุณยเกตุ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยออยล์กล่าวในการประชุมคณะกรรมการ
องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) เพื่อแสดงจุดยืนว่า ตนไม่มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับผลประโยชน์ใน
อสมท. ใด ๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้จุลจิตต์ ต้องกล่าวประโยคดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการ
อสมท. ก็สืบเนื่องมาจากการที่ อส.มท. ได้มีการอนุมัติการดำเนินโครงการเคเบิลทีวีให้กับเอกชนจำนวน
2 บริษัทคือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือไอบีซี
กับบริษัท สยามบรอดแคสติ้ง แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น หรือที่เรียกกันติดปากว่า
ไทยสกายทีวี
เป็นที่รู้กันว่า การทำโครงการเคเบิลทีวีของ อส.มท. ในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ให้ผลตอบแทนอย่างมหาศาล
เพราะรายได้จากค่าสมาชิกนั้น นับเป็นรายได้หลักที่เป็นตัวเงินที่ค่อนข้างสูงทีเดียว
แต่ที่ใดมีผลประโยชน์ที่นั่นย่อมมีความขัดแย้งกัน !!!
เรื่องของความขัดแย้งนั้นมาจากการที่ "คลื่นสัญญาน" ของเคเบิลทีวีทั้งสองบริษัท
มีคลื่นความถี่รบกวนกันคือ ช่อง 26 ของไอบีซี และช่อง 27 ของไทยสกาย
ทั้งนี้ เนื่องมาจาก ในการอนุมัติคลื่นเคเบิลของ อสมท. ให้กับไอบีซี เมื่อวันที่
17 เมษายน 2532 จำนวน 5 ความถี่โดยเริ่มต้นเพียง 3 ช่องนั้นไอบีซีก็ดำเนินการไปอย่างดีและเริ่มมองที่จะขยายช่องความถี่
อย่างไรก็ตาม ในการขยายช่องความถี่นั้น คลื่นของไอบีซี ได้ไปรบกวนคลื่นของไทยสกายข้างต้นดังกล่าว
"เราทำเรื่องไปยัง อสมท. เป็นปีแล้ว แต่เพิ่งมีการพิจารณาเรื่องนี้"
คีรี กาญจนพาสน์ คนโตของค่ายไทยสกายกล่าวถึงการที่บริษัทต้องการให้มีการแก้ปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนกันของ
2 บริษัทเคเบิลในเครือ อสมท.
ในที่สุด เรื่องของ "คลื่นรบกวน" ก็เข้าที่ประชุมของ อสมท. ในวันที่
7 กันยายนเพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้
แต่ก่อนที่มีการประชุมคณะกรรมการในตอนบ่ายวันนั้นเอง ไอบีซี ก็มีหนังสือ
"ด่วนมาก" ที่อบ. 19/2535 ถึงนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน เรื่อง
ขอความเป็นธรรมในการดำเนินกิจการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกร่วมกับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
โดยระบุว่าในคณะกรรมการ อสมท. นั้นมีกรรมการท่านหนึ่ง ให้ความช่วยเหลือไทยสกายทีวี
ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวให้รายละเอียดว่า จุลจิตต์ บุณยเกต หนึ่งในกรรมการของ
อสมท. ให้ความช่วยเหลือไทยสกาย เนื่องมาจากจุลจิตต์เป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ
(BTSC) อันเป็นบริษัทของธนายงซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกันกับไทยสกายทีวี
ของคีรี กาญจนพาสน์
หนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าวของไอบีซี ซึ่งลงนามโดยพันตำรวจโท
ดร. ทักษิณ ชินวัตร ประธานกรรมการกลุ่มชินวัตร แอนด์คอมมิวนิเคชั่น ได้อ้างถึงความผิดของจุลจิตต์ว่า
ขัดกับมาตรา 14 ในพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2520 ที่ระบุว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการพนักงานและลูกจ้าง
ของ อสมท. ต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ในธุรกิจที่กระทำกับ อสมท. หรือในธุรกิจที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของ
อสมท. ทั้งนี้ไม่ว่า โดยทางตรงหรือทางอ้อม"
แหล่งข่าวในอสมท.เปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า ในวันที่ 8 กันยายน
ภายหลังจากที่ได้รับหนังสือร้องเรียนจากไอบีซี อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี
ก็มีบันทึกถึงมีชัย วีระไวทยะ และ ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล 2 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เพื่อให้พิจารณาเรื่องนี้ด่วน"
ต่อมา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว ก็ได้ทำหนังสือที่
นร. 1201 ถึงนายกรัฐมนตรีผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายมีชัย วีระไวทยะ)
ชี้แจงว่า คุณสมบัติของจุลจิตต์ บุณยเกตุ ที่ไอบีซีอ้างว่า ขัดกับพระราชบัญญัติการจัดตั้ง
อสมท. นั้น "เป็นเพียงการอ้างเพื่อเชื่อมโยงความเกี่ยวพันระหว่างบริษัทเหล่านั้นเท่านั้น"
หนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่า จุลจิตต์นั้น เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่
35/2535 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2535 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ อสมท. ซึ่งพิจารณาว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อสมท. รวมทั้งพิจารณาประวัติการทำงานของจุลจิตต์แล้ว
พบว่า เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและร่วมปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนของรัฐมาเป็นเวลานาน
ที่สำคัญก็คือหนังสือดังกล่าวที่มีถึงนายกรัฐมนตรียังได้ระบุด้วยว่าตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งกรรมการใน
อสมท. จุลจิตต์ยังได้ทุ่มเทความรู้ความสามารถและประสบการณ์ มาปรับปรุงพัฒนางานของ
อสมท. หลายด้าน เช่น ในด้านการตลาด และด้านธุรกิจรวมทั้งจัดทำโครงการจัดตั้งบริษัทมหาชนเพื่อประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชนเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง
อสมท. ด้วย
และที่เป็นจุดสำคัญของการจบเรื่องนี้ ก็น่าจะมาจากหนังสือที่ลงนามโดย อภิลาส
โอสถานนท์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร. 1201/717 ลงวันที่ 15 กันยายน 2535
ที่มีถึงประธานกลุ่มชินวัตร ซึ่งระบุว่านายกรัฐมนตรี มีบัญชาแจ้งให้ทราบว่า
การดำรงตำแหน่งของจุลจิตต์ บุณยเกตุ ในโครงการรถไฟฟ้า ไม่เข้าข่ายต้องห้ามตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2520 มาตรา 14 แต่อย่างใด
จุลจิตต์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ภายหลังการประชุมคณะกรรมการ อสมท.
ว่าตนได้กล่าวถึงการที่ต้องการลาออกจากกรรมการ อสมท. ว่าเพื่อให้ทุกคนรู้ว่า
ตนไม่ได้มีส่วนได้เสียในโครงการเคเบิลทีวีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คณะกรรมการได้พิจารณาว่าตนเองไม่มีผลประโยชน์
จึงไม่อนุมัติให้ออก
"ผมเชื่อในเกียรติยศและศักดิ์ศรี และเพื่อให้โปร่งใสจึงขอลาออกจากการเป็นกรรมการ
แต่ที่ประชุมไม่ยินยอม" จุลจิตต์กล่าว และเปิดเผยว่าในเรื่องที่เป็นความขัดแย้งด้านธุรกิจคือเรื่องคลื่นรบกวนนั้นคณะกรรมการตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณา
โดยมี พลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ รองอธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้
การเข้าไปเกี่ยวข้องกับ อสมท. ของจุลจิตต์นั้น มาจากความรู้ความสามารถของเขาที่เคยมีประสบการณ์ด้านการประชาสัมพันธ์
ในฐานะผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยส์ โดย ดร. จิรายุ อิศรางกูร
ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะรัฐมนตรีผู้ดูแล อสมท. เป็นผู้ชักชวนมาเป็นกรรมการบริหาร
อสมท. เมื่อปี 2529 และเกี่ยวข้องกับงานนี้และองค์กรนี้มาโดยตลอด
การยืนยันที่จะลาออกแต่ถูกยับยั้งของจุลจิตต์ รวมทั้งการมีหนังสือชี้แจงจากสำนักนายกรัฐมนตรี
ถึงนายกรัฐมนตรี และระบุว่า จุลจิตต์เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมนั้นนอกจากจะเป็นเครื่องการันตีในเรื่องความรู้ความสามารถแล้ว
ยังเป็นเครื่องหมายชี้ถึงความ "โปร่งใส" ในฐานะนักบริหารของเขาอีกด้วย