กงสุลฝ่ายพาณิชย์ไทยในจีนชำแหละ FTA ไทย-จีน / จีน-อาเซียน ระบุรอบหนังตัวอย่าง "เวทีค้าเสรีไทย-จีน" ผัก-ผลไม้ไทย กลายเป็นเบี้ยล่างมาตลอด ถูกกดราคาแสนถูกต้อง "ฝากขาย"ลูกเดียว แถมรัฐ-พ่อค้าไทย ไร้การวางแผน เชื่ออีก 3 ปีหลังข้อตกลงจีน-อาเซียน มีผลเต็มรูปแบบไทยมีสิทธิ์ตกที่นั่งลำบาก จี้รัฐบาล-เอกชนจับมือพัฒนาสินค้า สร้างเครือข่ายเพิ่มอำนาจต่อรองโดยเร็วที่สุด
วานนี้( 3 ต.ค.)ที่โรงแรมอมรินทน์ลากูน คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก ได้จัดเสวนา "ทูตพาณิชย์ พบนักธุรกิจ ในสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มการค้าการลงทุนในจีน" โดยมี ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร กงสุลฝ่ายการพาณิชย์ ประจำนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเรื่อง "ลู่ทางการลงทุนในจีน" มีนักธุรกิจ อาจารย์ และข้าราชการร่วมรับฟังอย่างสนใจ
ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร กงสุลฝ่ายการพาณิชย์ ประจำนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 มีสูงมาก GDP เพิ่มขึ้นเป็น 10.68 ล้านล้านหยวน ขยายตัวในอัตราร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 115.34 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.46 ล้านตันหรือร้อยละ 1.3 การค้าระหว่างประเทศขยายตัวในอัตราที่สูง มูลค่าการค้ารวม 0.98 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่งออก 0.55 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 โดยส่งออกไปสหภาพยุโรป สหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่นและอาเซียน เป็นหลัก
ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญคือ เครื่องจักรไฟฟ้า สินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เส้นด้าย เหล็กและสินค้าเกษตร
ขณะที่การนำเข้ามูลค่า 0.43 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18.2 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อาเซียน เกาหลี ไต้หวัน โดยมีสินค้าสำคัญคือ เครื่องจักรไฟฟ้า สินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง แผงวงจรฟ้า น้ำมันดับ สินค้าเกษตร และจอ LCD
"จีนได้เปรียบดุลการค้าในครึ่งปีแรก มูลค่า 112,500 ล้านเหรียญสหรัฐ"
สินค้าที่มีการขยายตัวมากที่สุดในประเทศจีนคือ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ อาหารจานด่วน โมเดิร์นเทรด อสังหาริมทรัพย์ เครื่องบิน สินค้าที่คนจีนต้องการบริโภคมากที่สุดคือ ปูนซีเมนต์ ถ่านหิน เหล็ก โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์บ้าน สินค้าแฟชั่น เที่ยวต่างชาติ ฯลฯ
สำหรับนครเซี่ยงไฮ้ ยังคงเป็นเมืองที่นักลงทุนมีเป้าหมายไปลงทุนอันดับแรก เนื่องจากประชากรมีทั้งหมด 20 ล้านคน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าปีละ 70 ล้านคน แม้ว่าพื้นที่เขตเมืองมีไม่มากนัก แต่อัตราการเติบโตสูงกว่าภาพรวมของ จีน คือ GDP ร้อยละ 15 การค้าร้อยละ 20 เป็นศูนย์กลางในหลายมิติ ประชาชนเซี่ยงไฮ้ มีรายได้ต่อหัว 7,100 เหรียญสหรัฐต่อปี เมื่อเทียบกับประชากรจีนทั้งประเทศ มีรายได้ต่อหัว 1,700 เหรียญสหรัฐต่อปี
ดร.ไพจิตร กล่าวอีกว่า สำหรับการค้าไทย - จีน ครึ่งปีแรกมีมูลค่ารวม 15,705 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวในร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งไทยยังได้ดุลการค้ากับจีน โดยจีนนำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่า 10,176 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 27.2 และส่งออกมาไทยมูลค่า 5,529 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.7
กงสุลฝ่ายการพาณิชย์ ประจำนครเซี่ยงไฮ้ เปิดเผยว่า ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับจีน โดยเฉพาะสินค้าหลักๆ คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนยานยนต์, ยางพารา, อาหาร, แฟชั่น และอัญมณี (ตามลำดับ) ขณะที่ข้าวนั้น ส่งออกได้ในเชิงปริมาณ แต่เม็ดเงินไม่ค่อยได้ และต้องบอกว่า จีนให้โควตาแก่ประเทศไทยจำนวน 20 ล้านตัน แต่ประเทศไทยเองส่งออกข้าวไปขายรอบปีที่ผ่านมาเพียง 1 ล้านตันเท่านั้น ซึ่งประเทศจีนต้องการเฉพาะข้าวหอมมะลิ ดังนั้นขึ้นอยู่กับไทยว่าจะทำอย่างไรให้ยกระดับข้าวไทยให้ได้
ดร.ไพจิตร ยังกล่าวอีกว่า สำหรับกรอบการค้าเสรี (FTA) ระหว่างประเทศไทยได้เซ็นข้อตกลงกับจีนในสินค้าเกษตร และกรอบความร่วมมือของอาเซียนกับจีนที่จะมีผลบังคับใช้เต็มที่ในปี 2553 หรืออีก 3 ปีข้างหน้าถือว่า น่าหนักใจ เพราะนิสัยนักธุรกิจไทย ไม่ค่อยกระตือรือร้น ไม่วางแผน แต่เป็นนักธุรกิจที่แก้ปัญหาหรือแก้วิกฤตเก่ง
เขาบอกว่า ช่วงที่ไทยทำ FTA กับจีน (สินค้าพิกัด 07-08 พืช ผัก ผลไม้) ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 ต้องบอกว่า คนไทยเฉื่อย ผู้ประกอบการไม่ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้ ขณะที่สินค้าจีนสามารถนำมาขายในประเทศไทยได้ ปัญหาดังกล่าวอาจเป็นเพราะผู้ค้าคนไทยถูกนักธุรกิจจีนบีบ โดยผู้ประกอบการไทยส่งผัก - ผลไม้ ไปขายด้วยเงินสดไม่ได้ ต้องทำแบบฝากขาย
"ที่ตลาดกว่างเจา ตลาดสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ของจีน ซึ่งสินค้าเกษตรเมื่อไปถึงประเทศจีนแล้ว มันมีอายุ สินค้าเสียง่าย ทำให้นักธุรกิจจีน บีบกดราคา เพราะถ้าไม่ขาย สินค้าก็เสียหายทันที แถมราคายังอิงในตลาดสินค้าเกษตรอื่นๆอีกด้วย ทำให้ผู้ค้าคนไทยเจ๊งไปหลายราย"
ดร.ไพจิตร บอกว่า ที่จริงทางรอดก็ยังมี คือ ผู้ประกอบการต้องนำสินค้าผักและผลไม้ ไปขายที่ปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ก็ได้ เช่น เมืองอี้อู นครเซี่ยงไฮ้ แต่เมื่อขยายตลาดใหญ่ขึ้น ก็อาจเจอปัญหามาเฟียในพื้นที่อีก สิ่งที่แก้ไขได้สำหรับนักธุรกิจไทย คือ รัฐบาลและเอกชน ต้องจับมือเจรจาในระดับโครงสร้าง สินค้าเกษตรไทยที่จะไปขายในจีน นักธุรกิจต้องรวมตัวกัน หากคนใดคนหนึ่งไม่เอา ก็เปล่าประโยชน์
นอกจากนี้ยังต้องปรับปรุงคุณภาพสินค้าไทยอีกด้วย ยกตัวอย่าง กล้วยหอมยังขายสู้ไต้หวันไม่ได้ กล้วยไทยลูกเล็กกว่า เช่นเดียวกับชมพู่เมืองไทยก็สู้ประเทศอื่นเขาไม่ได้ แม้จะบอกว่า ประเทศจีนนั้นใหญ่ ขายอะไรก็ได้ แต่ความเป็นจริงสินค้าไทยต้องปรับปรุงคุณภาพอีกมาก
"ที่ผ่านมาจีนก็อะลุ่มอล่วยต่อสินค้าผักและผลไม้ที่มาจากไทย แต่บางครั้งผู้ประกอบการไทยก็เล่นหนักเกินไป นำสินค้าด้อยคุณภาพไปขาย ทำให้ทางการจีนเพ่งเล็ง แต่ก็ยังดี จีนยังให้โอกาส สั่งตรวจเช็คเป็นรายบริษัทไป สำหรับสินค้าประเภทลำไย ต้องบอกว่า เป็นสินค้าการเมือง ไม่ต้องเอ่ยมาก เพราะกล่องลำไยดีๆ กลับถูกยัดไส้ปลอมปน"
กงสุลฝ่ายการพาณิชย์ ประจำนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าในอนาคตการค้าขายระหว่างไทย - จีน จะมีปัญหามากขึ้น เมื่อกรอบความร่วมมืออาเซียนกับจีน มีผลบังคับใช้ในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือในปี ค.ศ.2010 หากนักธุรกิจไทยไม่ปรับปรุงตัว ก็ลำบาก เสียเปรียบนักธุรกิจจีนตลอดเส้นทางการค้าแน่นอน
ในอนาคตสินค้าที่อาเซียนกับจีนต้องลดภาษีเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์เต็มรูปแบบ แต่ ณ วันนี้นักธุรกิจไทยยังไม่ตื่นเต้น หรือเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ข้างหน้า ชอบไปแก้วิกฤตกันเอง คิดว่า คนไทยควรทำตลาดในจีนได้แล้ว ต้องเตรียมหาลู่ทางโดยเร็วที่สุด
"อย่ารอเมื่อถึงอีก 3 ปี เพราะไม่ทันจริงๆ ที่ผ่านมา ไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรในการเปิดการค้าเสรีประเภทผักและผลไม้กับจีน แม้ว่าสินค้าอย่าง เงาะ ทุเรียน ฯลฯ จะเป็นที่รู้จัก แต่ก็ไม่สามารถนำไปขายในประเทศจีนได้ ปล่อยให้สินค้าเกษตร โดยเฉพาะผักและผลไม้ไทยต้องตกต่ำอยู่ในประเทศ ฉะนั้นรัฐบาลไทยและนักธุรกิจเอกชนควรจับมือเพื่อปรับโครงสร้างใหม่ วางยุทธศาสตร์กระจายสินค้าในประเทศจีนให้สำเร็จ ถึงตรงนั้นปัญหาราคาผลไม้ไทยที่ตกต่ำอยู่ทุกฤดูกาล เร่ขายราคาถูกอยู่ในประเทศไทยก็จะหายไปโดยปริยาย"
|