เมื่อปลายปี 2534 สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาผ่านพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เป็นผลให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กพวท.) และศูนย์เทคโนโลยีเฉพาะทางอีก
3 ศูนย์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสำนักงานแห่งชาติโดยทันทีที่กฎหมายปรากฏในราชกิจจานุเบกษา
วันที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือ NATIONAL
SCIENCE AND TECHNOLOGY DEVELOPMENT BOARD (NSTDA) ถือกำเนิดขึ้นนั้นก็คือ
วันที่ 30 ธันวาคม 2534 ก่อนสิ้นสุดปีเพียง 1 วัน
พ.ศ. 2535 จึงถือได้ว่าเป็น "ศักราชแรก" ของสวทช.
งานของหน่วยงานแห่งนี้ที่ได้รับมอบหมายตามกฎหมายก็คือ ทำหน้าที่ส่งเสริม
และสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ รวมทั้งมีบทบาทเป็นองค์กรที่สามารถประสานและส่งเสริมการร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ
วิชาการและธุรกิจเอกชนในกิจกรรมด้านนี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
ความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ไม่มีข้อสงสัย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโลกในปัจจุบันและอนาคตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือว่าเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ทีเดียว
ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นับตั้งแต่ฉบับที่ 5 เป็นต้นมาได้มีการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา
"เครื่องมือ" ชนิดนี้อย่างจริงจังขึ้น โดยในช่วงปลายแผนได้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับสหรัฐจัดทำโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา
สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีวัสดุด้านเทคโนโลยีชีวภาพและด้านอิเล็คทรอนิกส์ประยุกต์
ซึ่ง กพวท. ก็ถือกำเนิดขึ้นจากจุดนี้เองเพื่อเป็นหน่วยงานบริหารโครงการ
ส่วนศูนย์เพื่อการวิจัยอีก 3 ศูนย์ คือศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
(NCGEB) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(NECTEC) นั้นมีอยู่ก่อนแล้ว ในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดองค์กรทั้ง 4 นี้ก็ได้รวมกันเข้าเป็นองค์กรเดียว
คือ สวทช.
สำหรับประเทศไทยในขณะนี้ การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเท่ากับมี
สวทช. เป็นทัพหน้าอย่างแท้จริง ซึ่งมิใช่เฉพาะในเชิงของวิชาการหรือวิทยาการเท่านั้น
แต่รวมถึงในแง่ของภาคการผลิตด้วย
กล่าวได้ว่าภาระและบทบาทเช่นนี้ออกจะเป็น "มิติใหม่" เพราะที่ผ่านมานั้น
แม้ว่ารัฐบาลจะได้ใช้งบประมาณปีละถึงประมาณ 3,000 ล้านบาทดำเนินกิจกรรมทางด้านนี้
แต่ก็มิได้มีเป้าหมายมุ่งก่อประโยชน์ต่อภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจอย่างเน้นน้ำหนักมาก่อน
"กิจกรรมต่าง ๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดูจะไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคธุรกิจเอกชน
ที่จะต่อสู้แย่งชิง และยึดครองส่วนแบ่งตลาดโลก "มนตรี จุฬาวัฒนทล รองผู้อำนวยการ
สวทช. กล่าว
ที่ผ่านมาภาคเอกชนของไทยต้องลงทุนซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้ เสียค่าใช้จ่ายปีละประมาณ
5,000 ล้านบาท ต้องหาทางพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร โดยจัดฝึกอบรมในภาคเอกชน
จัดตั้งการวิเคราะห์ทดสอบและการบริการที่ปรึกษาด้านเทคนิคขึ้นเอง ซึ่งทำให้ต้องพึ่งพิงต่างประเทศสูงมาก
การลงทุนในกิจกรรมพื้นฐานเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาหรือการผลิตบุคลากรนั้นเป็นเรื่องที่เอกชนไทยยังไม่ค่อยทำมากนัก
ด้านหนึ่งก็เนื่องจากยังไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นถึงผลตอบแทนที่ชัดเจนคุ้มค่ากับการลงทุนที่ค่อนข้างสูง
แต่ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับบริษัทที่เห็นความสำคัญถ้าไม่มีเงินมากพอก็ทำไม่ได้เช่นกัน
กล่าวกันว่าบริษัทที่จะทำ R&D ได้ควรจะต้องมี TURNOVER มากกว่าปีละ
1,000 ล้านบาทเพื่อที่จะสามารถแบ่งมา 1% นั่นคือ 100 ล้านบาทจึงจะเพียงพอสำหรับสร้างแผนกนี้
มิเช่นนั้นแล้วก็เป็นไปไม่ได้เพราะเพียงแค่เงินเดือนสำหรับนักวิจัยก็สูงมากแล้ว
จุดอ่อนเหล่านี้เองที่ สวทช. คาดหวังว่าจะเข้าไปช่วยแก้ไขได้ ไม่เพียงแต่ด้วยการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรมของบริษัทต่าง
ๆ เท่านั้น แต่มีความมุ่งหมายที่จะเชื่อมโยงเอาจุดแข็งต่าง ๆ ที่หน่วยงานรัฐมีอยู่ส่งผ่านให้ความเกื้อหนุนกับเอกชนด้วย
โดยเฉพาะในส่วนของบุคลากร ซึ่งปัจจุบันประมาณ 98% ของจำนวนนักวิจัย 15,000
คนนั้นล้วนอยู่ในหน่วยงานของภาครัฐ
บุคลากรเหล่านี้จะต้องทำงานวิจัยเพื่อมุ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนมากขึ้น
โดยผลงานวิจัยนั้นจะต้องใช้ได้จริงในการลงสู่ตลาดด้วย
ตามโครงสร้างของ สวทช. ประกอบด้วยหน่วยงานหลัก ๆ หลายหน่วยด้วยกัน ได้แก่สำนักงานส่วนกลาง
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์บริการข้อมูลสารสนเทศทางเทคโนโลยี
ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะจัดตั้งอุทยานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามมติของคณะรัฐมนตรีชุดอานันท์
ปันยารชุน 1
ดังนั้น การให้บริการแก่ภาคเอกชนของ สวทช. จึงมีหลายรูปแบบ และหลากหลายช่องทางในหน่วยงานภายในต่าง
ๆ ทุก ๆ หน่วย
การสนับสนุนที่สำคัญพอจะแบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน คือ หนึ่ง ด้านการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรม
สองด้านการพัฒนากำลังคน และสาม ด้านการเสริมขีดความสามารถของหน่วยงาน
สวทช. จะสนับสนุนโครงการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรมของหน่วยงานราชการ และมหาวิทยาลัยที่มุ่งแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อความเจริญของธุรกิจและอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิต
โดยภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมกำหนดปัญหาที่ต้องการให้การวิจัยนั้นแก้ไข
กรอบของเรื่องที่จะศึกษาวิจัยจะอยู่ในสาขาเทคโนโลยีใดก็ได้ใน 3 ด้านที่มีศูนย์อยู่ซึ่งกำลังมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาที่มีความพร้อมทางด้านเครื่องมือและอุปกรณ์
ตลอดจนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในสาขาเหล่านั้น ซึ่งเป็นบุคลากรที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
เป็นผู้ส่งไปศึกษามาจากต่างประเทศ
สวทช. มีทุนด้านการศึกษาด้วยเช่นกัน สนับสนุนการศึกษาต่อทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกภายในประเทศในสาขาวิชาต่าง
ๆ ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยไม่มีการผูกมัดให้ต้องทำงานชดใช้เลย ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เข้าทำงานกับบริษัทเอกชนที่เหมาะสม
"ชัดเจนว่า NSTDA สร้างขึ้นมาเพื่อเอกชน เป็นศูนย์แห่งชาติ ระบบงานเน้นการทำงานแบบไตรภาคี
คือนักวิจัยไม่ได้ทำงานแค่ในมหาวิทยาลัยหรือห้องเท่านั้น แต่ต้องให้มีโปรดักส์ไปถึงผู้บริโภคได้"
ผู้บริหารของ สวทช. กล่าว
ตามหลักการ วัตถุประสงค์ ตลอดจนภาระหน้าที่โดยรวมทั้งหมดดังที่กล่าวมา
สวทช. จัดว่าเป็นหน่วยงานราชการที่ค่อนข้างมีลักษณะ "พิเศษ" เป็นมิติใหม่ของหน่วยงานรัฐที่หลุดพ้นจากกรอบและโครงสร้างเดิม
ๆ ออกมา มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีการทำงานและขั้นตอนการทำงานที่คล่องตัว
อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่าภายใต้การเป็นหน่วยงานสังกัดรัฐ
ยังต้องอยู่ใต้กฎระเบียบราชการบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องพึ่งพาเงินตากสำนักงบประมาณนั้น
สวทช. จะเป็นตัวของตัวเองได้เพียงใด และถึงที่สุดแล้วจะสามารถทำงานได้มากเท่าที่วางไว้หรือไม่
เหล่านี้เป็นข้อสังเกตที่นับว่าท้าทายบรรดาผู้บริหารของ สวทช. ทั้งสิ้น
จนถึงปลายปีนี้ สวทช.ก็จะมีอายุครบ 1 ปี แล้วแม้เวลาที่จะพิสูจน์ตัวเองให้แจ้งชัดจะไม่มีขีดจำกัดแต่การใช้ช่วงเวลาที่นานเกินไปก็ย่อมไม่ก่อผลดีอะไร