|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2550
|
|
ท่าช้างวังหลวงในความทรงจำมิได้คึกคักด้วยผู้คนดั่งที่เห็นในปัจจุบัน หากเป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีเพียงไม่กี่หลังคาเรือน และทำการค้าต่างๆ กันไป เป็นปั๊มน้ำมันเชลล์ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขายขนมปังและลูกกวาด ร้านขายหนังสือพิมพ์ ร้านขายธูปเทียน และร้านขายของจิปาถะ เมื่อต้องการสิ่งใด เพียงเดินไปข้างบ้านก็ได้ของกลับมา แม้แต่การเปลี่ยนหัวปากกาหมึกซึม ไม่ต้องพึ่งพาห้างสรรพสินค้าดั่งในปัจจุบัน
เมื่อย้ายไปอยู่หมู่บ้านนอกเมือง บริเวณตึกแถวหน้าหมู่บ้านเปิดเป็นร้านขายของจิปาถะ ขายตั้งแต่กระดาษชำระไปจนดินถุงสำหรับทำสวน เครื่องดื่มชนิดต่างๆ ไปจน ถึงเครื่องเขียน ขัดสนอะไร ไปถามหา เป็นไม่ผิดหวัง กิจการของร้านนี้จึงอู้ฟู่ ตั้งราคาสินค้าแพงกว่าที่อื่น ชาวบ้านจำต้องซื้อเพราะสะดวกดี อีกทั้งมีบริการส่งถึงบ้านด้วย
ต่อเมื่อตัวเมืองกรุงเทพฯ ขยายออกไปรอบนอก ความเจริญมาพร้อมกับห้างสรรพสินค้า ชาวไทยมองเมินร้านโชวห่วย หันไปชอปปิ้งตามห้างสรรพสินค้าที่จำต้องมีซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย วิวัฒนาการต่อมาคือ ร้าน สะดวกซื้อในชื่อต่างๆ นานา ซึ่งทำให้กริ่งเกรงกันว่าร้านโชวห่วยของชาวไทยจะมีอันต้องล้มหายตายจาก
ในฝรั่งเศสไม่มีร้านสะดวกซื้อ มีแต่ร้านที่เรียกว่า epicerie-ร้านขายของชำ พ่อค้า จะเป็นผู้หยิบสินค้าประเภทผักและผลไม้สดให้ตามความประสงค์ของลูกค้า superette-ร้านขายของชำที่มีขนาดใหญ่กว่า epicerie ลูกค้าเลือกหยิบสินค้าตามต้องการได้เฉกเช่นเดียวกับ supermarche-ซูเปอร์มาร์เก็ต และ hypermarche-อภิมหาซูเปอร์มาร์เก็ต
Monoprix จำหน่ายสินค้าอุปโภคและ บริโภคขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป ท่ามกลางวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 30 มักซ์ ไอล์บรอน (Max Heilbronn) ลูกเขยของเตโอฟิล บาแดร์ (Theophile Bader) ผู้ก่อตั้ง Galeries Lafayette เกิดความคิดว่าน่าจะตั้งร้านที่ขายสินค้าราคาถูกแบบเดียวกับ Marks & Spencer ของอังกฤษ อันเป็นที่มา ของ Monoprix ชื่อซึ่งแปลว่า ราคาหนึ่งเดียว ในระยะแรก เสื้อผ้าและส่วนประกอบแฟชั่นเป็นสินค้าหลัก ต่อเมื่อทศวรรษ 50 สินค้าอาหารจึงมียอดขายสูงขึ้น จากเดิม 3% สูงถึง 60% และเป็นช่วงที่ Monoprix หันมาผลิตสินค้าของตนเอง โดยได้รับความบันดาลใจจากแฟชั่นที่ได้พบเห็น และให้ช่างเขียนแบบขึ้นมา เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น เสื้อผ้าแฟชั่น ล่าสุดก็อยู่ในวินโดว์ดิสเพลย์ของ Monoprix ขณะเดียวกัน Nouvelles Galeries อันเป็นสาขาของ Galeries Lafayette ในต่างจังหวัด ก็ตั้ง Uniprix ส่วนห้างสรรพสินค้า Printemps ตั้ง Prisunic เพื่อขายสินค้าราคาถูกเช่นกัน ต่อมาในปี 1991 Monoprix ซื้อกิจการของ Uniprix และในปี 1997 ซื้อ Prisunic พร้อมกับปรับปรุงให้ Monoprix เป็นมากกว่าร้านขายสินค้าราคาถูก
ในอดีตสไตล์เครื่องแต่งกายของ Prisunic ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเพราะจ้างดีไซเนอร์อย่างอองเดร พุตมาน (Andree Putman) และเทอเรนซ์ คอนรัน (Terence Conran) ให้ออกแบบเสื้อ Monoprix จึงให้ความพิถีพิถันมากขึ้น และหันมาผลิตเสื้อสวยราคาถูก ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2007 ได้ดีไซเนอร์ของยี่ห้อ B&SH ออกแบบ เสื้อผ้าโรแบรต์ เลอ เอโรส์ (Robert le Heros) ออกแบบของใช้ในบ้าน กี มาร์แตง (Guy Martin) หรือฟิลิป เซอกงด์ (Philippe Segond) ดูแลสินค้าอาหาร นอกจากนั้นยังผลิตสินค้าไลน์ต่างๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน เช่น Monoprix Bien Vivre, Monoprix La Forme และ Monoprix Gourmet ปลายทศวรรษ 80 Monoprix เริ่มผลิตสินค้าปลอดสารพิษ จึงเป็นที่มาของการเปิดร้าน Citymarche และปลายปี 2007 นี้ Monoprix จะขนส่งสินค้าทางรถไฟและด้วยรถบรรทุกใช้ก๊าซเพื่อลดมลภาวะและเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ปัจจุบัน กลุ่ม Casino และกลุ่ม Galeries Lafayette ถือหุ้น Monoprix กลุ่มละ 50% หลักการของ Monoprix คือเป็นร้านใกล้ชุมชนในเมือง นอกจากสินค้าอุปโภคและบริโภคแล้วยังมีเสื้อผ้าที่ผลิตในยี่ห้อของตนเอง ปรับรูปแบบให้ทันสมัยขึ้นราคาไม่สูงจึงสามารถดึงดูดลูกค้าได้ นอกจาก นั้น Monoprix ยังตั้งร้านชื่อ Monop ลักษณะ แบบร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีร้านกาแฟที่เสิร์ฟอาหารกลางวันด้วย นอกจากนั้นยังขายอาหาร สำเร็จรูป อีกทั้งเปิด Beauty Monop ขายเครื่องสำอางโดยเฉพาะ อีกทั้งจะเปิดร้านขายสินค้าประเภทอาหารปรุงสำเร็จพร้อมที่จะกิน จะเรียกว่า pret-a-consommer ในปลายปี 2007 นี้
หลังจากรุกด้านคุณภาพแล้ว Monoprix หันมารุกด้านการตลาด ด้วยการเปิดขายจนถึง 23.30 น. ในบางสาขา เริ่มจากสาขาเปิดใหม่บนถนน boulevard des Italiens สาขาชองป์เซลีเซ (Champs-Elysees) เปิดถึงเที่ยงคืน และพบว่าลูกค้าเข้ามาซื้อของ ระหว่าง 22.00-24.00 น. มีมากพอๆ กับช่วง 17.00 น. ซูเปอร์มาร์เก็ต Champion ซึ่งเป็น บริษัทลูกของ Carrefour บนถนน boulevard de Rochechouart มีรายได้ถึง 22% ของผลประกอบการจากการเปิดขายระหว่าง 20.00-23.30 น.
วิถีชีวิตของคนทำงานในปัจจุบันทำให้จำนวนไม่น้อยไม่สามารถเลิกงานตามเวลาได้ ทำให้ไม่สามารถไปจับจ่ายใช้สอยตามเวลาเปิดปิดของซูเปอร์มาร์เก็ต การเปิดบริการถึงดึกจึงเป็นการสนองตอบความจำเป็นของคนกลุ่มนี้
ตามผลการสำรวจความคิดเห็นที่ทำให้ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าขนาดใหญ่อย่าง BHV, Fnac, Galeries Lafayette, Habitat, Monoprix, le Printemps และ Virgin ร้อยละ 58 ของผู้พำนักในชานกรุงปารีสต้องการให้ร้านค้าเปิดจนดึก ผู้บริหารของ Galeries Lafayette และ BHV สังเกตว่าในช่วงเช้ามีลูกค้าน้อยมาก ด้วยเหตุนี้ช่วงลดราคาจึงขยายเวลาการปิดร้านออกไป และคิดว่าในอนาคต ห้างทั้งสองนี้คงจะปรับเวลาให้บริการ เสียใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้า ส่วนผู้บริหารของ Champion เห็นว่าชาวปารีเซียงต้องการจ่ายกับข้าวหลังเลิกงาน Champion เคยทดลองเปิดขายในตอนเช้าโดยเปิดร้านตั้งแต่ 8.00-8.30 น. แต่ไม่เกิดผล
Monoprix เป็นผู้ริเริ่มเปิดขายจนดึก โดยใช้ร้านสะดวกซื้อ Monop นำร่องตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2005 ด้วยการขยายเวลาให้บริการ จนถึงเที่ยงคืน หลังจากนั้น Monoprix หันมาใช้นโยบายเดียวกัน ในหลายสาขาในกรุงปารีสและชานเมืองเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้อาศัยแถบนั้นๆ แต่ละย่าน แต่ละเมืองมีพฤติกรรมไม่เหมือนกัน จึงจำต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป อย่างไรก็ตาม การเปิดร้านตลอด 24 ชั่วโมงกลับใช้ไม่ได้ในฝรั่งเศส ทั้งๆ ที่เป็นไปด้วยดีในเมืองใหญ่ๆอย่างโตเกียว นิวยอร์ก หรือลอนดอน
ธุรกิจด้านเสื้อผ้าอย่าง H & M และ Zara ไม่เห็นด้วยกับบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลาย และย้ำว่า 19.00-19.30 น. เป็นเวลาปิด ที่เหมาะแล้วสำหรับกรุงปารีส
การเปิดร้านจนดึกมีปัญหาเรื่องการว่าจ้าง ด้วยว่าไม่สามารถใช้พนักงานประจำ เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงมาก กล่าวคือ ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 12-20% ในการทำงานดึก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนชั่วโมงที่ต้องทำต่อปี จึงขอให้พนักงานอาสาสมัครเองหรือจ้างนักศึกษาในการทำงานรอบดึก
|
|
|
|
|