Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2550
อุทยานแห่งชาติ Mt.Cook มรดกโลกของนิวซีแลนด์             
โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
 


   
search resources

Environment




ประมาณห้าปีก่อน ผมมีโอกาสอ่านสัมภาษณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิชาวไทยท่านหนึ่ง ซึ่งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อแตกต่างระหว่างอุทยานแห่งชาติในไทยกับต่างประเทศไว้ว่า อุทยานแห่งชาติในไทยนั้นจะค่อนข้างจะเคร่งครัดในการเข้าเยี่ยมชม โดยเฉพาะการเข้าไปเที่ยวค้างคืนในเขตวนอุทยาน ปัจจุบันผมไม่ทราบว่าในเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปมากหรือน้อยเท่าไรแล้ว แต่ในอุทยานแห่งชาติของฝรั่ง การเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าไปเที่ยวชมและยังจัดสถานที่เช่นกระท่อมและป้ายบอกทางสำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อค้างคืนเพื่อเรียนรู้และอนุรักษ์ธรรมชาติถือเป็นนโยบายสำคัญของเขา ในบรรดาอุทยานแห่งชาติทั้งหมดของนิวซีแลนด์ อุทยานแห่งชาติ Mt.Cook ซึ่งยูเนสโกยกให้เป็นมรดกโลกเป็นหนึ่งในสถานที่ซึ่งสามารถเดินทางไปเที่ยวได้สะดวกสบายที่สุด

การเดินทางไป Mt.Cook จากนครไครส์เชิร์ชสามารถทำได้ง่าย โดยขับรถผ่านที่ราบแคนเทอเบอรี่ไปตามทางหลวงหมายเลข 8 ซึ่งอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อผ่านที่ราบ ดังกล่าวแล้ว ภาพแรกที่ปรากฏคือแนวเทือกเขาสีขาวโพลนซึ่งยาวสุดลูกหูลูกตาทีเดียว ทำให้ผมนึกถึงชื่อภาษาเมารีของประเทศนิวซีแลนด์ว่า เอาเทียรัว ซึ่งแปลเป็นอังกฤษว่า The land of the long white cloud โดยมีเรื่องเล่ามาจากชาวเมารีเผ่าไนทาฮู ว่าเมื่อพวกเขาเดินเรือจากทะเลใต้เพื่อหาแผ่นดินใหม่ พวกเขาได้มาถึงทางตะวันตกของเกาะใต้ สิ่ง แรกที่พวกเขาพบเห็นคือ แผ่นดินซึ่งมีภูเขาหิมะที่ปกคลุมด้วยเมฆสีขาวยาวสุดลูกหูลูกตา เนื่องจากชาวเมารีซึ่งเดินทางมาจากทะเลใต้ยังไม่เคยเห็นภูเขาหิมะจึงเข้าใจว่าเมฆสีขาวปกคลุมแผ่นดินใหม่ของพวกเขา จึงตั้งชื่อแผ่นดินนั้นว่า เอาเทียรัว

เมื่อเดินทางบนทางหลวงหมายเลข 8 จะพบทางแยกคือ ทางหลวงหมายเลข 80 ซึ่งจะตัดตรงเข้าอุทยานแห่งชาติ Mt.Cook ในบรรดายอดเขาในเทือกเขาแอลป์ใต้นั้นมียอดเขาสูงที่สุดคือ Mt.Cook ซึ่งสูง 3,754 เมตร เป็นยอดเขาที่สูงอันดับที่ 37 ของโลกซึ่งตั้งชื่อตามกัปตันเจมส์ คุก โดยพลเรือเอก จอห์น สโตก ในปี 1846 แต่ว่าก่อนที่ฝรั่งจะค้นพบภูเขาลูกนี้ชาวเมารีได้ตั้งชื่อภูเขาลูกนี้เอาไว้แล้วว่า เอารังกิ ซึ่งแปลว่า เขาสูงเสียดเมฆ ในสมัยที่ฝรั่งเข้ามาในนิวซีแลนด์ใหม่ๆนักไต่เขาจำนวนมากได้แสดงความต้องการที่จะปีนเขา ขณะที่ชาวเมารีซึ่งเหมือนกับวัฒนธรรมหลายๆ แห่งบนโลกมองว่า เขาเอารังกินั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพราะพวกเขาเชื่อว่าเทพเจ้าของเมารีสิงสถิตอยู่บนยอดเขา แต่ฝรั่งนั้นกลับเห็นว่า การพิชิตยอดเขาสูงเป็นเรื่องท้าทาย โดยทีมไต่เขาทีมแรกเริ่มทำการพิชิต Mt.Cook ประกอบด้วยสาธุคุณกรีน นักบวชเชื้อสายไอริช และนักไต่เขาชาว สวิสอีก 2 คน ทีมของสาธุคุณกรีนทำการปีน เขาในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1882 โดยเลือกชาวเมารีนำทางไปเอารังกิ แต่เมื่อเข้าใกล้ภูเขาก็เกิดลมพัดค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเป็นที่บ่งชี้ว่าทัศนวิสัยไม่ดีและมีแนวโน้มว่าจะเกิดพายุฝนแต่ชาวเมารีมองว่าเป็นการตักเตือนจากเทพเจ้า จึงพากันหนีกลับไปหมด ทำให้สาธุคุณกับนักไต่เขาสองคนต้องปีนเขาอย่างยากลำบาก เพราะอุปกรณ์ที่ล้าสมัยประกอบกับพายุที่รุนแรง ในที่สุดสาธุคุณและคณะได้ปีนถึงตอนบนและห่างจากยอดเขาเพียงห้าสิบกว่า เมตร แต่ด้วยพายุที่รุนแรงประกอบกับไม่มีที่กำบังลมสาธุคุณกรีนจึงต้องจำใจเลิกทัพกลับบ้าน อย่างไรก็ตาม 12 ปีต่อมา คล้าก ไฟฟ์ และเกรแฮม สามสหายนักปีนเขาชาวกีวี สามารถพิชิต Mt.Cook ได้สำเร็จเมื่อกลางฤดูร้อน ปี 1894 ปัจจุบันนี้นักปีนเขาที่ต้อง การพิชิตยอดเขา Mt.Cook สามารถติดต่อ ผ่านสำนักงานป่าไม้ที่หมู่บ้าน Mt.Cook โดยเสียค่าใช้จ่ายในการขอเข้าพักตามกระท่อม ที่กรมป่าไม้ได้ปลูกไว้ถึง 17 แห่งเพื่ออำนวย ความสะดวกให้นักปีนเขา นอกจากนี้กระท่อม หลายแห่งจะมีวิทยุสื่อสารให้ใช้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่หากเกิดอุบัติเหตุ หรือภัยธรรมชาติ เช่น หิมะถล่ม

ในปี 1953 รัฐบาลได้ยกสถานะ Mt.Cook เป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อพิทักษ์พันธุ์พืชและดอกไม้รวมถึงนกป่า ในประเทศนิวซีแลนด์นั้นจะเน้นการอนุรักษ์พันธุ์นกป่าเป็นอย่างมาก จะสังเกตได้จากด้านหลังของเหรียญดอลลาร์ และธนบัตรทุกชนิดจะเป็นภาพนกป่าแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนกกีวีเหยี่ยวนิวซีแลนด์ ไก่ฟ้า เพนกวินคิ้วเหลือง หรือนกเป็ดน้ำ และตามขอบธนบัตรยังมีภาพ ดอกไม้ป่าพันธุ์ต่างๆ จากความพยายามอนุรักษ์ดังกล่าวทำให้ยูเนสโกยก Mt.Cook ขึ้นเป็นมรดกโลกในปี 1987 มีพื้นที่ทั้งหมด 432 ตารางกิโลเมตร ทำให้ครอบคลุมดอกไม้ ป่ากว่า 750 ชนิด รวมทั้งดอกลิลลี่ภูเขา ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติของนิวซีแลนด์ร่วมกับต้นซิลเวอร์เฟิร์น ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชาติ นอกจากนี้ในเขตอนุรักษ์ของ Mt.Cook ยังคุ้มครองนกป่ากว่า 40 พันธุ์

เมื่อสุดทางหลวงหมายเลข 80 จะพบป้ายบอกทางไปสองทางคือ ด้านซ้ายเข้าสู่หมู่บ้าน Mt.Cook และด้านขวาสู่โรงแรมเฮอร์มิเทจ เนื่องจาก Mt.Cook เป็นอุทยานแห่งชาติ จึงไม่สามารถมีการซื้อขายที่ดินในบริเวณนี้ได้ บ้านและอาคารทุกหลังในหมู่บ้าน Mt.Cook เป็นของกรมป่าไม้โดยผู้ที่มีสิทธิพักอาศัยคือบุคคลที่ทำงานในพื้นที่ Mt.Cook และครอบครัว ทั้งส่วนราชการและเอกชนโดยจะมีกฎเหล็กคือ ห้ามสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้ามาในบริเวณอุทยานแห่งชาติสำหรับผู้พักอาศัยและนักท่องเที่ยว ยกเว้นสุนัขนำทางของคนตาบอดเท่านั้น ทำให้ประชากรในหมู่บ้าน Mt.Cook จะมีเพียง 120 คน และ จะมีสูงสุดเพียง 300 คนในช่วงฤดูท่องเที่ยวเพื่อรองรับงาน ส่วนโรงแรมเฮอร์มิเทจเป็นโรงแรมเพียงแห่งเดียวในเขต Mt.Cook มีห้องพักหลากหลายตั้งแต่ห้องสูทโรงแรมห้าดาว ไปจนถึงชาเลต์สำหรับครอบครัว ในฤดูหนาวหิมะจะปกคลุมตั้งแต่สวนหน้าโรงแรมไปจนถึงถนนเลยทีเดียว ตามทางหลวงเลข 80 จะมีทางแยกไปตามหุบเขาต่างๆ ซึ่งอนุญาตให้นักท่องเที่ยวปีนเขาได้ โดยทางแยกเหล่านี้จะเป็นถนนลูกรัง ในบรรดาหุบเขาทั้งหมดจะสามารถนำไปถึงธารน้ำแข็งได้ แต่ในฤดูหนาว เส้นทางฮุกเกอร์ วัลเลย์ดูจะเป็นที่นิยมที่สุดเพราะทางแยกอยู่หน้าโรงแรมเฮอร์มิเทจ เมื่อหิมะตกธารน้ำแข็ง จะขยายตัวทำให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องเสียเวลา เดิน 4-5 ชั่วโมงแต่อาศัยขับรถยนต์ไปสุดถนน ลูกรังก็จะพบธารน้ำแข็งทันที

ด้วยความที่ฝรั่งมาเล่นตั้งชื่อตามใจ ชาวไนทาฮูจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาชื่อเมารีแทน ซึ่งสุดท้ายแล้วศาลได้พิจารณาในปี 1998 ให้ประนีประนอมกันโดยเพิ่มชื่อเมารีไว้ด้านหน้าชื่อฝรั่งว่า อุทยานแห่งชาติ Aoraki Mt.Cook เพื่อความสมานฉันท์ นอก จากการปีนเขาแล้ว Mt.Cook ยังมีกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวมากมายตั้งแต่เดินเขาซึ่งทางกรมป่าไม้ได้สร้างสะพานแขวนจำนวนมากเพื่อข้ามแม่น้ำและธารน้ำแข็ง นอกจากนี้ ยังมีเส้นทาง 34 กิโลเมตรให้นักปั่นจักรยานภูเขาสามารถเที่ยวชมธารน้ำแข็งและทะเสสาบ เช่นเดียวกับนักสกีที่มีประสบการณ์สูงสามารถ เล่นสกีจากยอดเขาได้โดยการใช้เฮลิคอปเตอร์ นำนักสกีขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีสกีเพลนนำนักท่องเที่ยวที่ชอบถ่ายรูปไปบนยอดเขาเพื่อถ่ายภาพและเล่นหิมะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ใช้อุทยานแห่งชาติให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของตนในการเรียนรู้ธรรมชาติ และมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในการทำอุทยานแห่งชาติให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการผจญภัยไปในตัว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us