|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2550
|
|
กว่าสามปีแล้วที่ Qui Bone Oan-ne Haat หรือตลาดนัดที่ชาวบ้านเรียกกันสั้นๆ ว่า Qui Haat เป็นเสมือนพื้นที่ทางเลือกของชาวบ้านและช่างฝีมือในเขตโบลปูร์-ศานตินิเกตัน ได้ออกมาสูดหายใจบริสุทธิ์ทั้งจากธรรมชาติและบรรยากาศของตลาด ที่การแลกเปลี่ยนมีนัยมากกว่าตัวสินค้าและเงินตรา
ไควฮาตเปิดทุกบ่ายวันเสาร์ ในป่าโปร่งบนโคกดินแดง (Qui) ใกล้หมู่บ้านโบนเนอปูร์กูร์ ตำบลโบลปูร์ เขตเบียร์บุม รัฐเบงกอลตะวันตก อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน ซึ่งก่อตั้งโดยท่านรพินทรนาถ ฐากูร ไปราว 3 กิโลเมตร ร้านรวงเป็นลักษณะการปูผ้าหรือเสื่อนั่งขายกับดิน เรียงเลาะระหว่างหมู่ไม้ต่อกันไปเป็นวงขนาดใหญ่ พื้นที่ตรงกลางอาจมีวงดนตรีพื้นบ้านมาเล่นเปิดหมวก หรือแผงขายชา ทั้งเป็นที่พบปะนั่งฟังดนตรีจิบชาของบรรดาลูกค้า ซึ่งจำนวนไม่น้อยต่างเป็นคนละแวกใกล้ที่อาศัยไควฮาตเสมือน จุดสังสรรค์ในวันสุดสัปดาห์
ความเป็นมาของไควฮาตนั้น ลิปปี่-ศิลปินเซรามิกส์ที่เปิดสตูดิโออยู่ในหมู่บ้านโบนเนอปูร์เล่าว่า ชาวบ้านแถบนี้มีความเป็น ช่างฝีมืออยู่โดยธรรมชาติ สังเกตจากงานปักทอ ผ้าบาติก เครื่องจักสาน ถ้วยชามดินเผา ตลอดจนเครื่องเรือนไม้ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ล้วนเป็นงานฝีมือของช่างใน หมู่บ้านหรือสมาชิกในครัวเรือนนั่นเอง ทั้งงานแต่ละชิ้นมักมีเสน่ห์เฉพาะตัวเนื่องจากเป็นของที่ทำขึ้นใช้เอง หรือที่ทำเพื่อขายก็ยังคงลักษณะของงานทำมือ เพราะทำน้อยชิ้นเพื่อเป็นรายได้เสริมจากการเกษตร
"งานเหล่านี้ประณีตและมีเอกลักษณ์ แต่ยังไม่มีพื้นที่ทางการตลาดของตัวเอง ขณะเดียวกันฉันรู้ว่ามีคนไม่น้อยที่ชอบงานลักษณะนี้ ก็มองหาช่องทางอยู่นาน ว่าทำอย่างไรงานลักษณะนี้จะได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางตามระบบตลาดทั่วไป"
ในปี 2000 ลิปปี่เดินทางไปยุโรปกับสามี ซึ่งเป็นศิลปินและสถาปนิก และมีโอกาสได้เห็นตลาดนัดงานฝีมือตามชนบทในสเปนและฝรั่งเศส ผนวกกับประสบการณ์ ช่วงที่มาฝึกงานกับศิลปินช่างปั้นทางภาคเหนือของไทยช่วงสั้นๆ ซึ่งเธอประทับใจกับตลาดของชนบทไทยที่มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะแม่อุ้ยที่ทำกับข้าว 3-4 อย่างมาขายในช่วงเย็นเพื่อหารายได้เล็กๆ น้อยๆ
"ฉันจึงเริ่มคุยกับเพื่อนๆ และคนในหมู่บ้าน ว่าเราน่าจะเปิดตลาดเล็กๆ ของ เราเอง ใครมีฝีมือเรื่องไหนก็เอามาขาย ช่วงแรกอาจจะใช้ระบบแลกเปลี่ยนก็ได้ เหมือนตลาดสมัยก่อน ที่คนเอากระบุงตะกร้ามาแลกข้าวแลกไข่"
วันที่ 18 พฤศจิกายน ปี 2003 ตลาดในใจของลิปปี่ก็เปิดตัวเป็นนัดแรกในป่าไควใกล้หมู่บ้าน มีเพื่อนบ้านและช่างฝีมือละแวกใกล้นำของมาวางขาย 11 ร้าน อาทิ ลิปปี่ขายถ้วยชามเซรามิก เคิร์สตี้ ผู้หญิงอังกฤษที่แต่งงานและปลูกบ้านอยู่ในหมู่บ้านถัดไปขายครีมชีสและเนยถั่ว โกปัลศิลปินพื้นบ้านและนักทำหุ่น มาพร้อมกับหุ่น และตุ๊กตาดินเผา ดับลู ศิลปินพื้นบ้านอีกคน มาพร้อมกับภาพเขียน และงานทำมือชิ้นเล็ก ทั้งมีหญิงชาวบ้าน 2-3 คนทำขนมและชามาขาย
เธอย้อนเล่าถึงบรรยากาศการซื้อขาย ในวันแรกว่า เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นการแลกของ เพราะเมื่อต่างขายได้เงิน ต่างก็นำ เงินนั้นไปซื้อหาของจากร้านเพื่อนๆ "อย่างฉันขายเซรามิกหมดเกลี้ยง ไม่ได้เงินกลับบ้าน แต่ได้เป็นขนม ตะกร้าสานกับผ้าปักมาแทน"
ในตลาดนัดต่อๆ มา มีชาวบ้านสนใจนำงานฝีมือและผลิตผลจากไร่นามาวางขายเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีร้านที่หมุนเวียนมาขายถึงร่วม 100 ราย มีการเลือกตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล และเก็บค่าเช่าหนึ่งรูปีต่อวันรวบรวมไว้เป็นกองทุน
ไควฮาตนอกจากเป็นตลาดของงานทำมือ ยังเน้นถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับจากขั้นตอนการผลิตจนถึงการซื้อขาย อย่างของที่ขายจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุจาก ธรรมชาติ ไม่มีพลาสติก หากเป็นพลาสติกก็ต้องงานรีไซเคิล อย่างพรมเช็ดเท้าหรือย่ามที่ถักจากถุงพลาสติกใช้แล้ว ข้าวสารและผักผลไม้ต้องไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ทั้งการซื้อขายจะใช้ถุงกระดาษ การห่อด้วยกระดาษ หนังสือพิมพ์ ของกินจะเสิร์ฟด้วยใบบัวหรือใบตอง รวมถึงชาที่ใช้ถ้วยดินเผา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนอินเดีย
ตลาดซึ่งตั้งอยู่ในป่า จะเปิดในช่วงบ่ายถึงเย็น โดยไม่มีการใช้เตาหุงต้ม ไฟฟ้า หรือตะเกียง แผงขายเป็นการปูเสื่อสาด ไม่มี การต่อเพิงหรือขึงโยงอะไรที่รบกวนต้นไม้ในป่า
นอกจากนี้ของที่ขายจะต้องเป็นของที่เจ้าตัวผลิตเอง และเป็นการขายปลีก เพื่อ ป้องกันพ่อค้าคนกลางเจ้าเล่ห์ที่อาจมากว้าน ซื้องานมือราคาถูกไปเข้าร้านในเมืองแล้วบวกราคาเพิ่ม
สินค้าที่วางขายมีทั้งงานฝีมือจำพวกผ้าปัก (Katha) ย่ามถักจากใยปอ งานแกะไม้ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับ ตะกร้าและเก้าอี้สาน เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ฯลฯ ของกิน เช่น โมโม่ (ขนมจีบสไตล์ทิเบต) ขนมตาลทอด แป้งจี่ม้วนสอดไส้มะพร้าว มู่รี่ (ข้าวพองใส่ถั่วปรุงเครื่องเทศ) ครีมชีส ชามะนาว นอกจากนี้ยังมีของเล่นของประดิษฐ์ภูมิปัญญาชาวบ้านใหม่ๆ หมุนเวียนมาให้ชื่นชมตลอด อย่างล่าสุดเป็นเครื่องเป่าทำจากแกนหลอดด้ายคลุมด้วยลูกโป่ง เหมาะเป็นแตรสำหรับเชียร์บอล หรือคริกเก็ต
ด้วยบรรยากาศและสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ ทุกวันนี้ลูกค้าของไควฮาตไม่ได้มีเพียงแต่ชาวบ้านละแวกใกล้อีกต่อไป แต่รวมถึงนักท่องเที่ยวจากหัวเมืองอื่นๆ ที่มาพักตากอากาศในศานตินิเกตันช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ รวมถึงคนที่เช่ารถ หรือขับรถเพื่อมาเที่ยวและชอปปิ้งกันโดยเฉพาะ ซึ่งมีทั้งคนอินเดียและชาวต่างประเทศ
"ตลาดนี้เป็นมากกว่าตลาดของการซื้อขาย เพราะเราเน้นมาแต่ต้นว่านอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้ากับเงิน ควรมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และไอเดีย ใหม่ๆ ระหว่างคนซื้อคนขาย และคนขายกันเอง ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเองก็ทำให้เกิดการพูดคุย ชาวบ้านหลายคนก็ได้เรียนรู้จากคนซื้อที่มาจากเมืองใหญ่ หรือกระทั่งชาวต่างประเทศ ว่างานของตัวมีจุดดีจุดด้อย อย่างไร เมื่อเทียบกับงานออกแบบหรืองานฝีมือของที่อื่น ทำให้เกิดไอเดียและเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการปรับปรุงงาน"
ลิปปี่เล่าถึงผลดีที่ช่างฝีมือท้องถิ่นได้รับ พร้อมกับเสริมว่า นอกจากชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงจะมีช่องทางในการหารายได้เสริมแก่ครอบครัว ตลาดนัดแห่งนี้ ยังทำให้พวกเขาเห็นถึงศักยภาพของตนเอง เกิดความภาคภูมิใจ และการรวมตัวที่เข้มแข็ง
ผลดีประการหลังนี้เห็นได้ชัดจากสถานการณ์ล่อแหลมที่ไควฮาตกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือการไล่ที่โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดฝันมาก่อน
"ก่อนจะเปิดตลาดเราได้ไปคุยและขออนุญาตเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พวกเขาก็บอก ว่า ยินดีไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่าไม่มีอำนาจในการออกจดหมายอนุญาตที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งมาถึงตอนนี้พวกเรารู้ตัวว่าพลาดครั้งใหญ่" ลิปปี่ย้อนเล่า
ราวต้นปีที่ผ่านมา บรรยากาศของไควฮาตเริ่มปั่นป่วนโดยไม่มีสาเหตุ นับจาก กรณีคนเมาเข้ามาโวยวายว่า พวกเขาเข้ามา ใช้พื้นที่ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามด้วยคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาป่วนโดยอ้างเหตุว่าตลาดนี้มีร้านขายผ้าปักให้เลือกน้อยเกินไป สุดท้ายตามด้วยคำสั่งปิดตลาดจากกองป่าไม้ ด้วยเหตุผลว่า ตลาดแห่งนี้รุกและรบกวนพื้นที่ป่า
เมื่อคณะกรรมการตลาดเข้าไปเจรจา กับกองป่าไม้ เจ้าหน้าที่ชุดเดิมที่เคยอนุญาตให้พวกเขาใช้พื้นที่ ก็ให้คำตอบว่าเป็นคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง ทำให้ชาวบ้านคาดเดากันว่าอาจเป็นเกมการเมือง ที่สืบเนื่องจากการเปิดตัวตลาดงานฝีมือแห่งใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียง
แต่ไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังคืออะไร ชาวตลาดไควฮาตยืนยันว่า พวกเขาจะไม่ยอมปิดตลาด
"พอรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเกมการเมือง ซึ่งพวกเราไม่มีใครอยากข้องเกี่ยว คณะกรรมการก็เสนอให้ปิดตลาด แต่ชาวบ้านยืนกรานแข็งขันมาก ไม่มีใครยอม เพราะตลาดนี้กลายเป็นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขาไปแล้ว"
นับจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไควฮาตจึงย้ายจากพื้นที่เดิมไปเปิดในที่ดินผืนเล็กริมทุ่ง ซึ่งคณะกรรมการหมู่บ้านช่วยจัดหาให้เป็นการชั่วคราว พร้อมกับเปิดการเจรจากับเจ้าหน้าที่บริหารส่วนตำบล เพื่อมองหาพื้นที่ใหม่ที่เหมาะสมและตรงกับแนวคิดเดิมของตลาด
นั่นคือการอยู่กับธรรมชาติ ผลิตและ สร้างสรรค์จากสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้ โดยรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด
|
|
|
|
|