Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2550
Made in China = ห่วย?!?             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 


   
search resources

Toys




เดือนสิงหาคมต่อกันยายนที่ผ่านมาผมเดินทางไปปฏิบัติภารกิจกับคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และคณะของเอเอสทีวีที่สหรัฐอเมริกา เกือบสามสัปดาห์ พวกเราเดินทางไปทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ทั้งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นิวยอร์ก ลอสแองเจลิส, ลาสเวกัส และซานฟรานซิสโก

ระหว่างอยู่ที่แมรี่แลนด์ คุณจารุณี จันทรปรรณิก หรือที่ผมเรียกว่า 'ป้าติ๋ว' แกนนำพันธมิตรคนสำคัญในแถบวอชิงตัน ดี.ซี. และเจ้าของร้านขายของเล่น ทอยส์ ยูนีค (Toys Unique) เมื่อทราบว่าผมเพิ่งเดินทางกลับมาจากกรุงปักกิ่งได้ไม่นานก็รีบบอกกับผมทันทีว่า ช่วงนี้ของเล่นที่ผลิตจากประเทศจีนมีปัญหามากเพราะบริษัทแม่เรียกคืนของเล่นหลายล็อตใหญ่รวมถึงที่ร้านของป้าด้วย

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาจนถึงต้นเดือนกันยายน กระทั่งระหว่างที่ผมปิดต้นฉบับอยู่นี้ก็มีข่าวเกี่ยวกับการเรียกคืนของเล่นและปัญหาคุณภาพสินค้าผลิตจากจีนเผยแพร่ออกมาอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทั้งนั้นข่าวใหญ่ที่สุดก็คือข่าวการเรียกคืนของเล่นที่ผลิตจากจีนจำนวน 19 ล้านชิ้นของบริษัท แมทเทล (Mattel Inc.) บริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันผู้ผลิตของเล่นชื่อดังอย่างเช่น ตุ๊กตาบาร์บี้ รถของเล่น Matchbox Hot Wheels โดยของเล่นจำนวน 19 ล้านชิ้นที่ถูกเรียกคืนนั้นมีตั้งแต่ตุ๊กตา รถเด็กเล่น หุ่นการ์ตูนรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้สาเหตุของการเรียกคืนนั้นก็มีตั้งแต่ปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อน ในสีที่ใช้กับของเล่นไปจนถึงปัญหาแม่เหล็กที่ติดบนของเล่นนั้นชิ้นเล็กเกินไปและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้หากเด็กกลืนชิ้นส่วนแม่เหล็กเหล่านั้นลงไปในร่างกาย

ก่อนหน้านั้นในเดือนมิถุนายน บริษัทอาร์ซี 2 คอร์ป (RC2 Corp) บริษัทสหรัฐฯ ผู้ผลิตของเล่นไม้ เรียกเก็บรถไฟไม้ 'โทมัส แอนด์ เฟรนด์' จำนวน 1.5 ล้านคัน ที่ผลิตในจีนด้วยสาเหตุที่สีปนเปื้อนตะกั่ว เดือนถัดมา บริษัทแฮสโบร (Hasbro Inc.) ประกาศเรียกคืนเตาของเล่น Easy-Bake Ovens จำนวน 1 ล้านชิ้น โดยระบุถึงสาเหตุของการเรียกคืน ว่าเจ้าเตาของเล่นนี้อาจทำให้มือและนิ้วของเด็กไหม้ได้ หากเด็กสอดมือเข้าไปในช่องด้าน หน้าของเตา ทั้งนี้แฮสโบรระบุว่ามีการร้องเรียนมากถึง 249 กรณี ว่าเด็กได้รับอันตรายจากการสอดมือเข้าไปในเตาของเล่นดังกล่าว

ปลายเดือนสิงหาคมบริษัททอยส์ อาร์ อัส (Toys 'R' Us Inc.) ร่วมกับคณะกรรมการ คุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคประกาศ เรียกคืนกล่องไม้บรรจุด้วยสีหลากชนิด รุ่น Imaginarium จำนวนกว่า 27,000 กล่องจากผู้บริโภคโดยระบุว่าสีบางชนิดในกล่องนั้นมีสารตะกั่วปนเปื้อนเกินว่ามาตรฐานที่กำหนด

จากเหตุการณ์ดังกล่าว 'ทอยส์ อาร์อัส' กล่าวโทษบริษัท Funtastic บริษัทฮ่องกง ผู้เป็นตัวกลางสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยระบุว่าบริษัท Funtastic สั่งสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้มาจากบริษัทผู้ผลิตที่ชื่อ ตานเสียง อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง บริษัทที่ตั้งอยู่ในเมืองหนิงปอ มณฑลเจ้อเจียง

ไม่เพียงแต่ทอยส์ อาร์ อัส เท่านั้น ที่โยนความผิดจากความไม่ได้มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ผลิต เพราะบริษัทมะริกันอื่นๆ ก็ปฏิบัติในทำนองเดียวกัน โดยข่าวที่โด่งดังที่สุดก็คือ กรณีที่จาง ซูหง เจ้าของบริษัท Lee Der Industrial Co. ผู้ผลิตของเล่นให้กับ ฟิชเชอร์-ไพร์ส (Fisher-Price) บริษัทในเครือของ Mattel ทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการแขวนคอภายในโกดังแห่งหนึ่งในเมืองฝอซัน มณฑลกวางตุ้ง เมื่อวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม หลังจากที่สำนักงานตรวจสอบคุณภาพแห่งชาติจีนสั่งระงับใบอนุญาตการส่งออกสินค้าของบริษัทจีน 2 แห่งเป็นการชั่วคราว ซึ่งหนึ่งในสองมีบริษัท Lee Der ของจางอยู่ด้วย ทั้งนี้การระงับใบอนุญาตดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทอเมริกันร้องเรียนต่อรัฐบาลจีนว่า บริษัทของจางใช้ผงสีปลอมที่ปนเปื้อนสารตะกั่วเกินกว่าระดับมาตรฐาน

ถามว่าของเล่นที่ผลิตในจีนไร้มาตรฐาน และมีปัญหามากขนาดนั้นจริงหรือ?

สถิติจากกวงหมิงเน็ต อันเป็นเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์รายวันกวงหมิงระบุว่า ปัจจุบันประเทศจีนเป็นประเทศที่ส่งออกของเล่นมากที่สุดในโลก โดยในปี 2549 ประเทศจีนส่งออกของเล่นรวมทั้งสิ้นกว่า 22,000 ล้านชิ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของปริมาณของเล่นที่ส่งออกทั่วโลก ขณะที่มูลค่า การส่งออกของเล่นของประเทศจีน ในปี 2549 นั้นก็สูงถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในสถานการณ์ที่อเมริกาและหลายประเทศทั่วโลกร่วมกันรุมประณามของเล่นที่ผลิตจากประเทศจีน และสินค้า Made in China ว่าไร้มาตรฐาน กลับมีนักวิชาการชาวไต้หวันคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

ต้นเดือนสำนักข่าว AFP เผยแพร่บทความของเฉิน ซื่อเฟิน (Shih-Fen S. Chen) นักวิชาการด้านบริหารธุรกิจชาวไต้หวันที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ ณ Richard Ivey School of Business มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออนทาริโอ โดยบทความดังกล่าววิเคราะห์ถึงวิกฤติของเล่นจีนที่เกิดขึ้นไว้ดังนี้คือ

เหตุการณ์การเรียกคืนของเล่นของแมทเทล (รวมถึงของเล่นและสินค้าของบริษัท อเมริกันอื่นๆ) ชี้ให้เห็นว่าสินค้าและของเล่นเหล่านี้ผลิตโดย 'โรงงานรับจ้างผลิตช่วง' ในประเทศจีน ทั้งนี้ทั้งนั้นตามหลักของการจ้างหน่วยงานภายนอกให้ผลิตสินค้าให้ (Out-sourcing) ที่เรียกว่า Original Equipment Manufacture หรือ OEM นั้น บริษัทของเล่น อเมริกันจะต้องเป็นผู้ออกแบบ, ส่งแบบ-วิธีการผลิตไปให้กับผู้รับเหมาช่วงในประเทศจีน หลังจากนั้นจึงซื้อสินค้าที่ผลิตสำเร็จกลับมา ก่อนที่จะนำสินค้านั้นออกขายสู่ผู้บริโภคภายใต้ 'ยี่ห้อ/แบรนด์' ของตัวเอง

เป็นที่ทราบกันดีว่าวิธีการจ้างหน่วยงานอื่นให้ผลิตสินค้าให้นั้นก่อประโยชน์ต่อบรรดาบรรษัทข้ามชาติอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากบรรษัทเหล่านี้ไม่ต้องเสียเวลาไปลงทุนตั้งโรงงานในต่างประเทศ จ้างคนงานและวุ่นวายกับกฎหมายในประเทศนั้นๆ สิ่งเหล่านี้ช่วยลดขั้นตอนการทำงานให้กับบริษัทอเมริกันเหลือเพียงแค่ลงทุนในการออกแบบ ถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำการตลาดและกระจายสินค้าเท่านั้น

ศ.เฉินตั้งข้อสังเกตว่า แม้การว่าจ้างให้บริษัทต่างชาติผลิตสินค้าให้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่สะดวกสบายและง่ายดายที่สุดสำหรับบรรดาบรรษัทข้ามชาติ แต่ภาระที่ต้อง เพิ่มมาของบรรรษัทเหล่านี้ก็คือ การลงทุนเพื่อ เพิ่มความเข้มข้นของการตรวจสอบคุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้า และในเมื่อบริษัทของเล่นอเมริกันไปว่าจ้างให้บริษัทในประเทศที่ประชาชนมีรายได้ต่ำอย่างจีนผลิตของเล่นหรือสินค้าให้ บริษัทอเมริกันก็ไม่ควรจะไปคาดหวังถึงเรื่องคุณภาพสินค้าอะไรมากนัก และในเวลาเดียวกันบริษัทอเมริกันจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้ละเอียดขึ้นเพื่อคัดเอาแต่สินค้าที่มีคุณภาพมาจำหน่าย

ทั้งนี้กระบวนการตรวจสอบคุณภาพนั้นเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วของการ Outsourcing และที่สำคัญโรงงานผู้ผลิตสินค้าในจีนก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคชาวอเมริกันแต่อย่างใด สิ่งดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นว่า โรงงานในจีนเหล่านี้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับ "ความน่าเชื่อถือของยี่ห้อ" ของของเล่นเหล่านี้และก็เป็นเรื่องธรรมดาที่สุดที่โรงงานในจีนเหล่านี้จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบจากปัญหาคุณภาพสินค้าเมื่อสินค้ากระจายไปสู่มือผู้บริโภคแล้ว

กระนั้นหลังจากข่าวการเรียกคืนสินค้า ที่ผลิตจากจีนเป็นจำนวนมหาศาลถูกเผยแพร่ ออกไป สื่อมวลชน หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงประชาชนชาวอเมริกันส่วนใหญ่กลับเพ่งเล็งไปที่ประเทศจีนและกล่าวว่าสินค้า Made in China นั้นไม่ได้มาตรฐาน ไม่ปลอดภัย ปนเปื้อนสารพิษ ฯลฯ แต่กลับละเลยที่จะคำนึงถึงข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ว่าการที่สินค้าผลิตมาไม่ได้คุณภาพและถูกนำมากระจายสู่มือผู้บริโภคนั้น บริษัทอเมริกันผู้นำเข้าก็มีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

ปลายเดือนสิงหาคม หนังสือพิมพ์ในอเมริกาหลายฉบับตีพิมพ์การ์ตูนเหน็บแนบบริษัทของเล่นอเมริกัน โดยระบุว่า ในเมื่อเจ้าของโรงงานผลิตของเล่นในจีนทำอัตวินิบาต กรรมเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เหตุใดเจ้าของบริษัทอเมริกันผู้นำ เข้าของเล่นเหล่านั้นจึงไม่ทำเช่นเดียวกันบ้าง?

ศาสตราจารย์ทางด้านธุรกิจระหว่างประเทศคนเดิมกล่าวด้วยว่า ไม่ใช่ว่าโรงงานในจีนจะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย แต่ผู้ที่ควรจะมีส่วนรับผิดชอบกับกรณีนี้มากที่สุดก็คือ บริษัทสหรัฐฯ โดยยกตัวอย่างให้เห็นว่า เร็วๆ นี้มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่าการผลิตเครื่องเล่นเพลงยอดนิยมอย่าง iPod ในโรงงานในประเทศจีนโดยใช้ชิ้นส่วนจากประเทศข้างเคียงอย่างเช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน นั้นมีต้นทุนในการผลิตเพียงแค่ 4 เหรียญสหรัฐ เท่านั้น ขณะที่ บริษัทแอปเปิลได้กำไรจากเครื่อง iPod แต่ละ เครื่องถึง 80 เหรียญสหรัฐ จากราคาขายปลีก เครื่อง iPod 299 เหรียญสหรัฐ ดังนั้นถ้าโรงงานในประเทศจีนจะต้องรับผิดชอบหากเครื่อง iPod มีปัญหาเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย ความรับผิดชอบของโรงงานก็จะต้องน้อยกว่าบริษัทแอปเปิลหลายสิบเท่า (เปรียบเทียบผลประโยชน์จำนวน 4 เหรียญสหรัฐ ที่โรงงานจีนได้รับกับ 80 เหรียญสหรัฐ ที่บริษัทแอปเปิลได้รับ)

มากกว่านั้น เขายังกล่าวด้วยว่าในการ ตัดสินใจซื้อ ผู้ซื้อส่วนใหญ่ก็ให้ความสนใจกับ แบรนด์และยี่ห้อของสินค้ามากกว่าแหล่งที่ผลิตสินค้า ดังนั้นฝ่ายที่จะต้องรับภาระในการ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคก็คือผู้เป็นเจ้าของยี่ห้อ/แบรนด์ที่จำหน่ายสินค้าสู่มือผู้บริโภค มิใช่ประเทศผู้ผลิตสินค้านั้นๆ

ศ.เฉินตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในกรณีที่สินค้าที่ผู้ผลิตจีนรับจ้างผลิตนั้นมีคุณภาพสูง ผู้ที่ได้รับเครดิตแต่เพียงผู้เดียวก็คือ บริษัทอเมริกันเจ้าของยี่ห้อมิใช่โรงงานจีนที่ผลิตสินค้านั้นๆ ดังนั้นในกรณีของเล่นที่ผลิตจากจีนการที่บริษัทอเมริกันโยนความผิดไปให้ฝ่าย จีนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ยอมรับความผิดพลาดในเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพสินค้าจึงเป็นเรื่องที่ไม่สู้จะถูกต้องนัก

นอกจาก ศ.เฉินแล้ว ก็ยังมีอีกหลายคนให้มุมมองที่แตกต่างออกไปอีกด้วยอย่างเช่น บางคนวิเคราะห์ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็น 'สงครามทางจิตวิทยา' ระหว่างสหรัฐ อเมริกาและประเทศจีน ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากสภาวะการขาดดุลการค้าอย่างรุนแรงของสหรัฐฯ ต่อจีนเป็นเวลาหลายปี ทั้งยังเกี่ยวพันไปถึงปัญหาเรื่องค่าเงินหยวนที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามออกมาโจมตีว่ารัฐบาลจีนแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อยู่ในระดับที่อ่อนเกินไปอีกด้วย

ล่าสุดรัฐบาลจีนได้ออกมาแสดงท่าทีประนีประนอมกับเรื่องดังกล่าว โดยพยายามออกมากล่าวชักจูงว่า หากวัดกันตามสถิติแล้วของเล่นที่ผลิตจากจีนและไม่ได้มาตรฐาน นั้นหากคิดเป็นสัดส่วนแล้วมีไม่ถึงร้อยละ 0.1 ของของเล่นจีนที่ส่งออกทั้งหมดเท่านั้น ขณะที่ ปัญหาเรื่องมาตรฐานสินค้าส่งออกนั้นส่วนหนึ่งก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์มาตรฐาน ของประเทศผู้นำเข้าเองอีกด้วย นอกจากนี้ทางจีนยังกล่าวด้วยว่าการทำลายชื่อเสียงของ สินค้า Made in China นั้นรังแต่จะทำให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนเสียหายทั้งคู่ สู้ทั้งสองประเทศออกมาร่วมแสดงความรับผิดชอบและจับมือกันช่วยแก้ปัญหาดีกว่า

ขณะที่ในเชิงปฏิบัติการ ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังเปิดให้สื่อมวลชนต่างประเทศเข้าเยี่ยมชมศูนย์ทดสอบของเล่นเด็กในมลฑลกวางตุ้งอีกด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนเอาจริงเอาจังกับปัญหาดังกล่าว ทั้งยังจัดการให้คณะกรรมการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพสินค้า (AQSIQ) เริ่มใช้ระบบเรียกเก็บสินค้าที่มาตรฐานต่ำและไม่ปลอดภัย โดยหากผู้ผลิตไม่ดำเนินการตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ ทางการจีนก็จะสั่งให้มีการเรียกคืนสินค้าและสั่งปรับเงินผู้ผลิตมากสุดถึง 3 เท่าของราคามูลค่าสินค้า

กระนั้นเมื่อมองกันในระยะยาวแล้ว ดูเหมือนว่าสินค้า Made in China คงจะต้อง ฝ่าด่านข้อกล่าวหาที่ว่า "Made in Chine = ห่วย" ไปอีกนานหลายปี เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า การเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้คืนกลับมานั้นยากเย็นเสียยิ่งกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขาไท่ซานเสียอีก   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us