ระยะเพียงสัปดาห์ครึ่งในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตถึง 8 แห่ง ได้ชักแถวกันออกแคมเปญกระตุ้นให้มีการใช้บัตรเครดิตชนิดไม่เว้นแต่ละวัน บางวันจัดงานทั้งเช้าและบ่ายล่วงไปถึงเย็น ส่วนเหตุผลที่สถาบันการเงินเหล่านี้ได้พร้อมใจกันกระตุ้นให้ลูกค้ามีการใช้บัตรเครดิต โดยมิได้นัดหมายกันล่วงหน้า ต่างให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า การเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น และคาดว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปลายปีนี้ ส่วนเรื่องภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตที่ดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
สถาบันการเงินทั้ง 8 แห่ง ที่ออกแคมเปญ อาทิ บัตรเครดิต HSBC จัดรายการส่วนลดรับประทานอาหารร้านค้าประมาณ 2,000 แห่งทั่วประเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชอปนาฬิกายี่ห้อหรู ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับมาสเตอร์การ์ดออกบัตรเครดิตไทเทเนียม Kbank Everyday Card ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดร่วมกับห้างคาร์ฟูร์ ท็อปส์ ฟูจิ เอ็มเค และบาร์บีคิวพลาซ่า รับส่วนลดเมื่อซื้อสินค้า ธนาคารยูโอบีร่วมกับบริษัทดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) เปิดตัวบัตรเครดิต แบล็ก เจาะกลุ่มผู้ชายอายุ 25 ปีขึ้นไป ธนาคารซิตี้แบงก์ จัดซิตี้แบงก์ชัวร์โบนัส สะสมแต้มแจกทอง KTC ร่วมกับร้านวัตสันลดราคาสินค้าเมื่อใช้จ่ายผ่านบัตร KTC และสุดท้ายบัตรเครดิตเทสโก้ วีซ่า ของบริษัทเทสโก้ คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด ให้ลูกค้าได้รับส่วนลดสินค้าเมื่อซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าเทสโก้
ซึ่งกลยุทธ์การจัดรายการส่งเสริมการขายส่วนใหญ่ยังคงรูปแบบเดิม สะสมคะแนนแลกของกำนัล คืนเงินสด (cash back) ส่วนลดราคาสินค้า ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และกิจกรรมนันทนาการต่างๆ
แม้ว่าเหตุผลที่ผู้บริหารสถาบันการเงินยืนยันว่าภาพเศรษฐกิจดี ทำให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ปรากฏการณ์ที่ทั้ง 8 สถาบัน จัดแคมเปญในช่วงเวลาเดียวกันนั้น มีนัยสำคัญที่ซ่อนอยู่ ถ้าหากสังเกตจะพบว่าแคมเปญที่จัดทั้งหมด เกิดขึ้นหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีมูลค่า ส่งออก 11,801.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเพียง 5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนและเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 29 เดือน
ไม่เพียงแต่ธุรกิจส่งออกเท่านั้นที่มีการเติบโตที่ลดลง ในส่วนของภาครัฐเองไม่มีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเป็นระยะกว่า 1 ปี รวมไปถึงสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อน้อยลง จากภาพรวมของเศรษฐกิจที่ไม่ดีขึ้นนี้ ทำให้โรงงานหลายแห่งต้องปิดกิจการ ส่งผลให้ผู้บริโภคตกงานเป็นจำนวน มาก และไม่มีความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย ระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น
หากขยายภาพในส่วนของสถาบันการเงิน การปล่อยสินเชื่อลดน้อย ลงเพื่อป้องกันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การไม่ปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ก็เปรียบเสมือนการตัดรายได้ของตนเอง ในขณะที่อีกด้านหนึ่งต้องหารายได้มาจากดอกเบี้ยเงินฝาก ด้วยสภาพที่เป็น เช่นนี้ สถาบันการเงินมองเห็นทางเลือกสุดท้าย คือการกระตุ้นให้ผู้บริโภค ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการสื่อสารที่ผ่านลูกค้าโดยตรง
จากตัวเลขปริมาณการใช้บัตรเครดิตในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 ไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) มีปริมาณบัตรเครดิตทั้งสิ้น 11,087,434 ใบ อัตราการขยายตัว 9.17% ไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน) มีปริมาณบัตร 11,254,587 ใบ ขยายตัว 7.38% ส่วนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงครึ่งปีแรก ไตรมาสที่สอง 174,114 ล้านบาท ขยายตัว 13.38% ลดลงจาก ไตรมาสแรกกว่า 3%
การที่ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงแล้ว การปรับเงื่อนไขการชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 5% เป็น 10% ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 18% เป็น 20% (รวมค่าธรรมเนียมไม่เกิน 20%) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้ผู้บริโภคมีภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น
ในครึ่งปีหลังแม้ว่าทั้งภาครัฐและสถาบันการเงินจะประสานเป็นเสียงเดียวกันว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 4% ก็ตาม แต่สถาบันการเงินก็ต้องเร่งสร้างผลประกอบการให้มีตัวเลขที่ดี หากตัวเลขผลประกอบการออกมาไม่ดี จะส่งผลถึงภาพความมั่นคงของสถาบันการเงินที่มีผลต่อเนื่องถึงความเชื่อมั่นของประชาชน จึงเป็นการบ่งบอกถึงนัยสำคัญว่า ทำไมผู้ให้บริการบัตรเครดิตจึงเร่งออกแคมเปญอย่างถี่ยิบในปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และในไตรมาสที่ 3 และ 4 นี้ก็น่าจะเห็นภาพแคมเปญใหม่ๆ ของบัตรเครดิตออกเป็นระยะๆ อย่างแน่นอน
|