ตำนานของสตาร์บัคส์เริ่มต้นเมื่อ 36 ปีก่อน จาก 3 สหายชาวซีแอตเทิล ประกอบด้วย Jerry Baldwin, Zev Siegel และ Gordon Bowker ด้วยความรักและสนใจในธุรกิจของกาแฟและชา ประกอบกับแรงบันดาลใจจาก Peet's Coffee & Tea ร้านกาแฟเล็กๆ ในเบิร์กเลย์ และซานฟรานซิสโก ของ Alfred Peet ผู้บุกเบิกธุรกิจนี้ ทำให้ทั้ง 3 หุ้นส่วน ก่อตั้งบริษัท Starbucks Coffee, Tea & Spice ขึ้นที่เมืองซีแอตเทิล โดยหวังจะให้ซีแอตเทิลมีเมล็ดกาแฟ ชา และเครื่องเทศที่ดีที่สุด Starbucks Coffee, Tea & Spice เติบโตอย่างช้าๆ
10 ปีต่อมา Howard Schultz พนักงานจำหน่ายผลิตภัณฑ์ครัวเรือนจากสวีเดน เกิดสงสัยว่า ทำไม Starbucks Coffee, Tea & Spice ซื้อเครื่องต้มกาแฟคุณภาพสูงจากบางประเทศเท่านั้น เพื่อค้นหาคำตอบ Schultz เข้าพบ Baldwin และในที่สุด เขาได้เข้าร่วมงานกับ Starbucks Coffee, Tea & Spice ในฝ่ายการตลาด จากนั้นถูกส่งไปดูงานที่อิตาลี ซึ่งเป็นเมืองกาแฟ เมื่อ Schultz กลับมาที่ซีแอตเทิล เขาพยายามขายไอเดียร้านกาแฟ "Espresso Bar" ควบคู่กับจำหน่ายเมล็ดกาแฟและชา กับ Baldwin และหุ้นส่วน Schultz ใช้ความพยายามอยู่เป็นปี ในที่สุด Baldwin ยอมให้สตาร์บัคส์ฯ ขายกาแฟเป็นแก้วได้ คอนเซ็ปต์โดนใจคอกาแฟในซีแอตเทิล วันหนึ่งมีลูกค้ามากถึง 800 คนเป็นรายได้ที่สูงกว่าการขายเมล็ดกาแฟเสียอีก
Schultz ต้องการให้ Baldwin ขยายสาขา แต่เขากลับไม่เห็นด้วย เนื่องจากการขายกาแฟสำเร็จเช่นนั้น เป็นการตีจากวัตถุประสงค์หลักของบริษัทที่ต้องการจำหน่ายเมล็ดกาแฟ อย่างไรก็ดี Baldwin ให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนให้กับ Schultz ในการเปิดร้านกาแฟของตัวเอง โดย Baldwin ตั้งชื่อบริษัทใหม่ให้ว่า Il Giornale (ออกเสียงว่า ill-jor-nahl-ee) เปิดสาขาแรกเมื่อเดือนเมษายน 1986 ในซีแอตเทิล จากนั้นเพียง 6 เดือนเขาก็เปิดสาขาที่ 2 ใน Downtown ซีแอตเทิล และในปีถัดมาเปิดสาขาที่ 3 ในแวนคูเวอร์ แคนาดา โดย Il Giornale ใช้เมล็ดกาแฟที่ดีที่สุดจากสตาร์บัคส์ฯ
ในปี 1984 Baldwin กับ Bowker เข้าซื้อกิจการ Peet's Coffee และประกาศขาย Starbucks Coffee, Tea & Spice ปี 1987 ซึ่งเป็นช่วงที่ Il Giornale ของ Schultz กำลังไปได้ดี และต้องการขยายสาขาให้มากขึ้น Schultz จึงไม่ปล่อยให้โอกาสทองนี้หลุดมือไป เขาเข้าซื้อกิจการของ Starbucks และเปลี่ยนชื่อเป็น Starbucks Coffee Company พร้อมเปลี่ยนชื่อสาขา Il Giornale ที่มีอยู่เป็นชื่อ Starbucks ทั้งหมด ในปี 1992 Starbucks เข้าจดทะเบียนในตลาด NASDAQ ต่อมา Starbucks เปิดสาขาแรกนอกอเมริกาเหนือในปี 1996 ที่นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันจากตัวเลขล่าสุดของเดือนพฤษภาคมปีนี้ ในเขตอเมริกาเหนือ Starbucks มีสาขาที่บริษัทดำเนินการเอง 6,281 สาขา และสาขาที่ดำเนินการผ่านใบอนุญาต จำนวน 3,533 สาขา ส่วนในต่างประเทศ มีสาขาที่บริษัทดำเนินการเอง 1,553 สาขา และสาขาที่ร่วมทุนและดำเนินการผ่านใบอนุญาต จำนวน 2,361 สาขา
ผลิตภัณฑ์ของสตาร์บัคส์ประกอบด้วยประเภทกาแฟผสมและไม่ผสมมากกว่า 30 ชนิด ประเภทเครื่องดื่มปรุงสด กาแฟ ชา ทั้งร้อนและเย็น ประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องต้มกาแฟ Starbucks Barista ถ้วยกาแฟ ช็อกโกแลต และอื่นๆ ประเภทขนมอบ แซนด์วิช และสลัด ประเภทสื่อบันเทิง (รายละเอียด อ่านล้อมกรอบ Starbucks Entertainment) ประเภทสินค้าระดับตลาดโลก ได้แก่ เครื่องดื่ม "Starbucks Frappuccino" ในขวดแก้ว "Discoveries Coffee Drink" เฉพาะในญี่ปุ่นและไต้หวัน และอื่นๆ อีกมากมาย ประเภทบัตรสตาร์บัคส์ สามารถเติมเงินได้ ซึ่งในประเทศไทยก็มีบริการนี้แล้ว
นอกจากนี้สตาร์บัคส์ยังเป็นเจ้าของและให้บริการสินค้าแบรนด์เนมต่อไปนี้ ได้แก่ แบรนด์ Starbucks Entertainment แบรนด์ Starbucks Hear Music ชา Tazo น้ำดื่มบริสุทธิ์ Ethos แบรนด์ Seattle's Best Coffee และ แบรนด์ Torrefazione Italia Coffee
สัญลักษณ์สตาร์บัคส์ ที่เป็นรูปนางไม้ที่สิงสถิตอยู่ตามริมแม่น้ำ หรือบางคนก็เข้าใจว่าเป็นนางเงือกที่มีสองหาง อีกทั้งชื่อ Starbucks นั้นไม่เกี่ยวข้องกับกาแฟแต่อย่างใด เป็นเพียงชื่อที่มาจากตัวละครใน นวนิยายเรื่อง Moby-Dick หรือ The Whale ของ Herman Melville ซึ่งเป็นนวนิยายเรื่องโปรดของหนึ่งในผู้ก่อตั้งดั้งเดิม
|