Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2550
"ม่วนใจ๋" สตาร์บัคส์ได้ใจ ชาวไร่ได้เงิน             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

โฮมเพจ สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ไทยแลนด์)

   
search resources

สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ไทยแลนด์), บจก.
Coffee
Michael Mann




"ม่วนใจ๋" นับเป็นความภาคภูมิใจของพนักงานสตาร์บัคส์ คอฟฟี่ ประเทศไทย ทุกคน และเป็นแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อกาแฟนี้ว่า ม่วนใจ๋ เบลนด์ คำว่า "ม่วนใจ๋" เป็นภาษาคำเมือง ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นภาคเหนือที่ยังคงใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีความหมายว่า "ความสุขอย่างเต็มเปี่ยม"

เป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตกาแฟ "ม่วนใจ๋ เบลนด์" ผ่านทางเว็บไซต์ของสตาร์บัคส์ ประเทศไทย

กาแฟม่วนใจ๋ เบลนด์ เป็นกาแฟผสมระหว่างกาแฟจากชาวเขาทางภาคเหนือของไทยกับกาแฟจากแหล่งอื่นในหมู่เกาะแปซิฟิก วางขายอยู่บนชั้นขายกาแฟของสตาร์บัคส์มาร่วม 4 ปีแล้ว

ในประเทศไทย "ม่วนใจ๋" ถูกจัดวางอย่างสง่างามเทียบศักดิ์ศรีกาแฟคุณภาพดีที่สตาร์บัคส์คัดเลือกมาจากหลายภูมิภาคทั่วโลก เพราะต่างก็อยู่บน "mission statement" ข้อสามที่ว่า "การปฏิบัติตามมาตรฐานสูงสุดทั้งในด้านการเลือกซื้อเมล็ดกาแฟ การคั่วเมล็ดกาแฟ และการให้บริการกาแฟคุณภาพเยี่ยม

"6 ปีก่อนไม่มีใครรู้จักกาแฟจากเมืองไทย พอม่วนใจ๋ได้เข้าไปขายในสตาร์บัคส์ ก็เหมือนได้โปรโมตให้ทั่วโลกได้รู้ว่า ประเทศไทยมีกาแฟดีๆ ทำให้กาแฟไทยขายได้มากขึ้น จน 2-3 ปีก่อน กาแฟไทยขาดตลาดเลย"

Michael Mann หรือ อ.ไมค์ เป็น "ฝรั่งดอย" ที่คลุกคลีกับชาวเขาในเชียงใหม่มาตั้งแต่อายุ 2 ขวบ เติบโตที่เชียงใหม่มาตลอด ยกเว้นแค่ 7 ปีที่เรียนในอเมริกา หลังจากนั้นก็ทุ่มเททำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเขามาตลอดชั่วชีวิต ในฐานะผู้อำนวยการของ Integrated Tribal Development Program (ITDP) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาชาวเขาบนดอยแบบผสมผสาน

เจตจำนงและแรงบันดาลใจตรงนี้เป็นสิ่งที่พ่อของเขาถ่ายทอดไว้ให้เป็นมรดกแห่งความดีงาม

พ่อของเขาเป็นนักพัฒนาด้านเกษตร ทำงานโครงการพัฒนาชาวเขาให้กับสหประชาชาติ พ่อของเขาเป็นคนแรกที่เอากาแฟเข้ามาเมืองไทยเพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกกาแฟแทนฝิ่น เขาจึงได้ตามพ่อขึ้นดอยตั้งแต่เด็ก และก็ได้ซึบซับความรู้เรื่องกาแฟเข้ามาด้วย

"ชาวไร่มาติดต่อ ITDP หลายครั้ง เขาอยากรู้วิธีการปลูกกาแฟที่มีคุณภาพ และอยากรู้วิธีทำให้ผลกาแฟกลายเป็นสารกาแฟที่ไปคั่วได้ เพราะเมื่อก่อนพ่อค้าคนกลางไปรับซื้อกาแฟที่เป็นผลเชอรี่เอาไปทำเอง แล้วกดราคาชาวบ้าน แต่เขาจะเอาไปขายเองในตลาดก็ทำไม่ได้ เพราะปริมาณผลผลิตน้อยก็เข้าตลาดยาก"

หลังจากแนะนำชาวเขากว่า 200 ครอบครัว จากกว่า 25 หมู่บ้าน รวมตัวเป็นสหกรณ์ ITDP ก็เข้าไปสอนวิธีปลูกกาแฟที่มีคุณภาพ จากนั้นก็ต้องหาตลาดให้ อ.ไมค์จึงเป็นตัวแทนชาวเขาผู้ปลูกกาแฟในเชียงใหม่ที่อยู่ในโครงการ มาติดต่อกับสตาร์บัคส์ ที่กรุงเทพฯ เพื่อนำผลผลิตของชาวเขาเข้าไปขายในร้าน เมื่อ 6 ปีก่อน

แม้ว่าสตาร์บัคส์ ประเทศไทย อยากจะช่วยรับซื้อแค่ไหน แต่ด้วยมาตรฐาน สิ่งที่ทำได้ก็คือ ส่งตัวอย่างเมล็ดกาแฟของชาวเขาไปเทสต์ที่บริษัทแม่

หลังจากส่งไปเทสต์ บริษัทแม่อีเมลกลับมาให้ปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตให้มีคุณภาพและรสชาติตามที่สตาร์บัคส์ต้องการมากขึ้น อ.ไมค์จึงต้องบอกให้ชาวเขาปรับปรุงระบบบางอย่างเพื่อให้ตรงกับมาตรฐานสตาร์บัคส์ เช่น การปลูกแบบธรรมชาติ (organic) ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ปลูกใกล้ต้นไม้ใหญ่ ฯลฯ

"ตอนแรกชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ เพราะเขาอยากได้เร็วๆ และก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะเปลี่ยนระบบใหม่ เพราะต้องลงทุนสูงและเขายากจนจริงๆ แต่เราต้องบอกให้อดทน หากได้ขายให้สตาร์บัคส์ ก็จะมีโอกาสขายในปริมาณมาก เพราะสตาร์บัคส์มีหลายร้านทั่วโลก และที่สำคัญ สตาร์บัคส์มีนโยบายพัฒนาชุมชนชาวไร่ที่ขายกาแฟให้เขา ซึ่งตอนนั้นเราอยากได้โรงเรียน และระบบน้ำ ชาวเขาก็เลยยอม"

ยาวนานกว่า 2 ปีในการพัฒนามาตรฐาน ในที่สุดกาแฟจากภาคเหนือของไทยก็ได้เข้าไปอยู่ในร้านสตาร์บัคส์ เมื่อ 4 ปีก่อน แต่น่าเสียดายที่ "ม่วนใจ๋ เบลนด์" วางขายประจำเฉพาะร้านสตาร์บัคส์ในประเทศ แต่ในต่างประเทศ ม่วนใจ๋ฯ จะถูกวางขายเฉพาะร้านในแถบเอเชียแปซิฟิก และไม่ได้ขายเป็นสินค้าหลัก

เทียบจากปริมาณผลผลิตในปีนี้ที่มีมากถึง 120 ตัน แต่สตาร์บัคส์รับซื้อเพียง 18 ตัน ตลอด 4 ปี สตาร์บัคส์ซื้อกาแฟจากสหกรณ์ชาวเขากลุ่มนี้ 70-80 ตัน

ทว่า "Starbucks Effect" ที่เกิดกับชาวไร่กาแฟกลุ่มนี้ก็คือ มีบริษัทอื่นจากในประเทศและต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาขอซื้อกาแฟ และให้ราคาตามที่สหกรณ์ตั้งไว้

"เพราะสตาร์บัคส์โปรโมตว่าเขาซื้อมาจากเมืองไทยซื้อมาจากเรา บริษัทอื่นก็เลยติดต่อมาได้ และด้วยมาตรฐานของสตาร์บัคส์ ก็ทำให้คนเชื่อมั่นว่ากาแฟเราดี แบรนด์อิมเมจกาแฟไทยก็ดีด้วย"

นอกจากราคารับซื้อกาแฟที่สูง สตาร์บัคส์ยังบริจาคเงิน 5% จากการขายถุงกาแฟม่วนใจ๋ทุกถุงให้ชุมชน และยังมีทุนอื่นให้แก่ชาวไร่ด้วย รวมถึงเข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ ที่ผ่านมาก็มีการรับบริจาคหนังสือจากลูกค้าเอาไปให้ชาวเขา เข้าไปช่วยเรื่องระบบน้ำประปาในหมู่บ้าน ช่วยสร้างโรงเรียน ฯลฯ

"เมื่อก่อนชาวเขาพวกนี้เขายากจนมาก คุณภาพชีวิตก็ต่ำ ไม่แม้ซื้อของใช้จำเป็น ทั้งครอบครัวมีรายได้น้อยกว่า 40 บาทต่อวัน แต่วันนี้รายได้เฉลี่ยหลายร้อยบาทต่อวัน ความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ"

ในห้องอบรม พาร์ตเนอร์น้องใหม่จะได้รับการปลูกฝังบ่อยครั้งว่า "สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะช่วยชาวไร่ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการช่วยขายเมล็ดกาแฟของพวกเขาให้ได้มากที่สุด"

ในวันฉลองครบรอบ 100 ร้านในประเทศไทย สตาร์บัคส์ วางแผนจะจัดกิจกรรมพิเศษกับลูกค้า เพื่อระดมทุนไปสร้างคลินิกให้กับชาวเขากลุ่มนี้ด้วย ถือเป็น CSR ที่ลูกค้าได้มีส่วนร่วมโดยตรง งานนี้สตาร์บัคส์ได้เต็มๆ ทั้งภาพลักษณ์และความผูกพันทางใจที่เหนียวแน่นเป็นเกลียวเชือกขึ้นไปอีก

อันที่จริง CRS ของสตาร์บัคส์ ไม่ได้มีแค่ด้านที่เกี่ยวกับชาวไร่กาแฟ แต่ยังมีด้านอื่น เช่น สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งที่สตาร์บัคส์ประเทศไทยทำ ได้แก่ นำกากกาแฟไปทำเป็นปุ๋ยมอบให้สวนสาธารณะ ใช้กระดาษรีไซเคิลในร้านรวมถึง นามบัตร บริจาค "กระดาษหน้าที่ 3" ให้คนตาบอด ฯลฯ

"น่าเสียดายที่ม่วนใจ๋ของไทยยังไม่มีอยู่ในลิสต์ของเว็บไซต์สตาร์บัคส์ เวิลด์ไวด์ (www.starbucks.com) ในฐานะสินค้าหลักเหมือนกาแฟของอินโดนีเซีย ผมเชื่อว่าฝ่ายการตลาดฯ ของเราจะต้องทำงานหนักเพื่อให้ม่วนใจ๋ไปขายทั่วโลก ผมหวังว่าในปีหน้าเราจะได้เห็นม่วนใจ๋วางขายทุกร้านสตาร์บัคส์ทั่วโลก"

ฟีลิกซ์ในฐานะ MD ของสตาร์บัคส์ ประเทศไทย กล่าวหลังทำ Coffee Tasting กาแฟ Komodo Dragon Blend จากเกาะสุมาตราให้พาร์ตเนอร์ในออฟฟิศได้ชิม ถือเป็นวัฒนธรรมของสตาร์บัคส์ ที่ต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องกาแฟระหว่างการทำ Coffee Tasting

วันนั้น สุมนพินทุ์ โชติกะพุกกะณะ ก็ได้รับปากกับเพื่อน พาร์ตเนอร์ และน้องพาร์ตเนอร์ใหม่ที่เข้าอบรมในออฟฟิศว่า ภายในปีหน้าความหวังของชาวไร่และสตาร์บัคส์ ประเทศไทย จะเป็นจริง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us