Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2535
"สยามสตีลกรุ๊ป โตแบบจอยน์เวนเจอร์"             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 

 
Charts & Figures

อาณาจักรธุรกิจเหล็กของสยามสติลกรุ๊ป
ยอดขาย 3 ปีของบริษัท ศรีเจริญอุตสาหกรรม (1979)
โครงการผู้ร่วมทุนของสยามสตีลกรุ๊ป


   
www resources

โฮมเพจ สยามสตีล กรุ๊ป

   
search resources

สยามสตีล กรุ๊ป (Siam Steel Group)
Furniture
Metal and Steel




บนเวทีการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ สยามสตีลกรุ๊ปแสดงบทบาทผู้ใช้เหล็กรายใหญ่ที่สุดของประเทศ มีโครงการจะลงทุน BACKWARD INTEGATION ในโครงการเหล็กพรุน และตั้งใจจะเป็น FORWARD ROLLING MILL CENTER ความฝันถึงโครงการเหล็กสมบูรณ์แบบเป็นเรื่องที่คนในวงการหัวเราะเงียบ ๆ อย่างไม่น่าเป็นไปได้ แต่สยามสตีลกรุ๊ปกำลังท้าพิสูจน์ว่าเขาทำได้!!

"สยามสตีลได้ไฟเขียว โครงการเหล็กรูปพรรณ 1,200 ล้านผ่าน" พาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันสะท้อนให้เห็นถึงการคืบหน้าของสยามสตีลกรุ๊ป ที่รุกเข้าไปในอุตสาหกรรมเหล็กโครงสร้างได้แล้วด้วยแรงสนับสนุนจากวีระ สุสังกรกาญจน์ รมช. อุตสาหกรรมขณะนั้น หลังจากที่ต้องฟาดฟันกับสหวิริยากรุ๊ปซึ่งคัดค้านมาตลอดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโครงการเหล็กรีดร้อนรีดเย็นที่ได้รับความคุ้มครอง 10 ปี

"โครงการนี้ผมเสนอไปตั้งแต่ยังหนุ่มมากจนเป็นหนุ่มน้อย" วันชัย คุณานันทกุล กรรมการผู้อำนวยการพูดทีเล่นทีจริงอย่างยิ้ม ๆ

โครงการเหล็กรูปพรรณที่สยามสตีลกรุ๊ปจะทำนี้เป็นอุตสาหกรรมเหล็กแท่งยาว (LONG PRODUCT) ที่มีความหนาตั้งแต่ 2.5-60 มม.ใช้ในงานก่อสร้างอาคารใหญ่ ๆ และโรงงานได้ ซึ่งแตกต่างจากโครงเหล็กทรงแบน (FLAT PRODUCT) ประเภทเหล็กรีดร้อนรีดเย็นของสหวิริยากรุ๊ป ที่ผลิตมาแปรรูปเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเช่นตู้เย็นหรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เหล็กแผ่นบางกว่า คือมีความหนาเพียง 1.2-12 มม.

แต่ที่ก่อให้เกิดความระแวงแคลงใจแก่สหวิริยากรุ๊ปอย่างมากก็คือ กรรมวิธีการผลิตของทั้งสองประเภทมีลักษณะ OVERLAP กัน เพราะทั้งคู่ต้องใช้เครื่องรีดร้อนเหล็กแผ่น (HOT STRIP MILL) ที่อาจจะทำให้สยามสตีลกรุ๊ปผลิตสินค้าประเภทเดียวกันออกมาตีตลาดได้

ดังนั้น เมื่อสยามสตรีลกรุ๊ปได้ไฟเขียวจากกระทรวงอุตสาหกรรมในโครงการเหล็กรูปพรรณมูลค่า 1,200 ล้านบาทนี้จึงได้มีเงื่อนไขที่ห้ามไม่ให้จำหน่ายเหล็กแผ่นรีดร้อน ในลักษณะแผ่นเรียบ หรือม้วนออกสู่ตลาดทั่วไปแต่ให้ผลิตเพื่อใช้ในโรงงานของตัวเองเท่านั้น ยกเว้นแต่จะยกเลิกประกาศนโยบายอุตสาหกรรมผลิตเหล็กแผ่นของกระทรวงอุตสาหกรรมผลิตเหล็กแผ่นของกระทรวงอุตสาหกรรมวันที่ 24 พ.ย. ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

การตีกันของสหวิริยาครั้งน ี้แม้จะไม่สามารถหยุดการเกิดของสยามสตีลกรุ๊ปได้ แต่สหวิริยากรุ๊ปก็สามารถตั้งเงื่อนไขล้อมกรอบการเติบใหญ่ของคู่แข่งขันได้บ้าง

บนเส้นทางไม่ต่ำกว่าสามทศวรรษของการแข่งขันกันระหว่างสองยักษ์ใหญ่ ซึ่งต่างก็กำเนิดและเติบโตมาจากคนละจุด ขณะที่ผู้บริหารสหวิริยาสองพี่น้องคือคุณหญิงประภา วิริยะประไพกิจและวิทย์วิริยะประไพกิจเริ่มต้นมาจากพ่อค้าขายเศษเหล็ก

สยามสตีลกรุ๊ปได้คือกำเนิดจากช่างทำเฟอร์นิเจอร์ละแวกคลองเตย ที่พัฒนาและแปรรูปการใช้เหล็กให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น (VALUE ADDED STEEL) เช่น ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ คอนเทนเนอร์ ฯลฯ จนกระทั่งทุกวันนี้สยามสตีลได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้เหล็กรายใหญ่ที่สุด

"ลักษณะเด่นของกลุ่มสยามสตีลของเราคือเป็นนักแปรรูปโลหะในแขนงที่เรามีความชำนาญ" วันชัย คุณานันทกุล กรรมการผู้อำนวยการสยามสตีลกรุ๊ปให้นิยามตัวเอง

ในปี 2496 ที่พี่น้องชาวจีนแคะ "แซ่คู" ทั้งสมชัย ครุจิตรและวันชัย คุณานันทกุลได้มานะบากบั่นสร้างตัวจากกิจการเล็ก ๆ ชื่อร้านศรีเจริญจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์เหล็กผสมไม้และทำเก้าอี้เหล็กพับ เป็นที่นิยมของตลาดทั่วไป

ระยะต้น ๆ บทบาทของสมชัย ครุจิตร (ซึ่งเปลี่ยนมาจากชื่อจีนว่า หลู แซ่จิ๊บ) จะมีมากกว่าวันชัยและอนันตชัย เนื่องจากความเป็นพี่ใหญ่ของครองครัวและประสบการณ์ด้านช่างเฟอร์นิเจอร์ที่มุมานะทำงานหามรุ่งหามค่ำ เอาหยาดเหงื่อแรงงานแลก ทำให้สมชัยได้ใช้ประสบการณ์นี้บุกเบิกด้านโรงงานและการตลาดในหมู่พ่อค้าชาวจีนด้วยกัน

จนกระทั่งในปี 2500 ร้านศรีเจริญได้ขยับฐานะเป็น "ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ศรีเจริญ" พัฒนาสินค้าหลากหลายรูปแบบทั้งตู้ โต๊ะ เก้าอี้เหล็ก มีการทำตลาดโดยผ่านเอเยนต์ร้านค้าจำหน่าย และเริ่มมีการติดต่อกับต่างประเทศเช่นไต้หวัน เป็นต้น

ในอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้วการผลิตเฟอร์นิเจอร์เหล็กยังขยายตัวไม่มากนัก มีโรงงานผลิตเพียง 2-3 ราย เช่น ห้างสวยสมพล เป็นต้น ราคาเฟอร์นิเจอร์เหล็กจึงอยู่ในระดับสูง ทำให้ความต้องการอยู่ระดับต่ำ

ระยะสิบปีต้น ๆ สามพี่น้องทั้งสมชัย-วันชัย และอนันตชัยต้องใช้ความพยายามและอดทนอย่างมาก โดยใช้วิธีขายตรงกับลูกค้าทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่มเช่นธนาคาร หน่วยราชการ จนประสบความสำเร็จระดับต้นในตลาดเฟอร์นิเจอร์เหล็ก

ปี 2512 มีการแบ่งแยกการผลิตออกจากการจำหน่ายโดยเด็ดขาด ขณะที่ศรีเจริญทำหน้าที่จัดจำหน่าย ก็ได้แยกสายการผลิตด้วยการตั้งโรงงาน ช. สยามโลหะภัณฑ์ขึ้นที่ถนนปู่เจ้าสมิงพราย จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีการนำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่นเข้ามาเป็นวัตถุดิบ ช่วงนี้การเปิดสัมพันธ์ทางการค้ากับญี่ปุ่นเริ่มปรากฏกลุ่มบริษัทโอคามูระได้สั่งศรีเจริญทำเฟอร์นิเจอร์ส่งออกไปบ้าง

ระหว่างปี 2510-2511 หลังจากที่บุกเบิกการผลิตและขายสำเร็จ สมชัย ครุจิตร พี่ใหญ่ของครอบครัวก็ได้บุกเบิกด้านโรงงานบริษัท สหไทยสตีลไพพ์ผลิตเหล็กรีดเย็นเช่นท่อเหล็กดำ ท่อเหล็กชุบสังกะสีและเหล็กรูปต่าง ๆ สำหรับประกอบเฟอร์นิเจอร์ ปัจจุบันใช้เงินลงทุนถึง 440 ล้านบาท

ทิศทางการตั้งโรงงานนี้แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารศรีเจริญได้เดินไปภายใต้กลยุทธ์ลดต้นทุนวัตถุดิบให้ต่ำ แทนที่จะสั่งนำเข้าท่อเหล็ก หรือชิ้นส่วนประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์จากต่างประเทศ ผู้บริหารศรีเจริญได้ตัดสินใจเริ่มต้นลงทุนในลู่ทางใหม่ ๆ ที่จะผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ๆ เอง และได้แตกตัวไปทำท่อร้อยสายไฟ ชิ้นส่วนรถจักรยาน ฯลฯ

ทั้งนี้เพราะต้นทุนการผลิตจะต่ำลง เนื่องจากการผลิตโต๊ะ ตู้ ตู้เซฟและอื่น ๆ นั้นเป็นค่าวัตถุดิบเหล็กถึง 51-64% ขณะที่ค่าแรงงานเพียง 4.3% และค่าโสหุ้ยอื่น ๆ อีก 3.74% ของต้นทุนทั้งหมด

ในปี 2515 กิจการครอบครัวเริ่มมีลักษณะร่วมทุนกับคนนอก โดยก่อตั้งบริษัทไทยดีคอราผลิตแผ่นฟอร์ไมก้ายี่ห้อ "TD-BOARD" ใช้ตกแต่งตู้ โทรทัศน์ เครื่องเสียง ตู้โต๊ะ ฯลฯ แต่ภายหลังบริษัทนี้ได้ยุบตัวไปเพราะตลาดเสื่อมความนิยม

ในปี 2522 ประตูการค้าระหว่างประเทศได้เปิดกว้างขึ้น ศรีเจริญได้ก้าวกระโดดด้วยการร่วมทุนกับบริษัทโอคามูระ (โอกามูระแปลว่าหมู่บ้านภูเขา) ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์แห่งญี่ปุ่น ก่อตั้งบริษัทศรีเจริญอุตสาหกรรม (1979) ทำหน้าที่จัดจำหน่าย และได้ขยายโชว์รูมสองสาขาที่พระโขนงและสุขุมวิท

ความได้เปรียบในเชิงสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ทุกชนิดจะได้รับการยกเว้นภาษีส่งออกจากกรมศุลกากรบวกกับแรงงานมีคุณภาพของศรีเจริญอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ ทำให้การร่วมทุนเป็นไปอย่างแฮปปี้ทั้งสองฝ่าย

ความพยายามที่จะขยายกิจการโรงงานเฟอร์นิเจอร์ให้กว้างไกล โดยอาศัยเครือข่ายการตลาดระหว่างประเทศของคู่ค้าอย่างโอคามูระ และเทคโนโลยีที่สูงกว่ามาพัฒนาการผลิตเฟอร์นิเจอร์ นับเป็นการมองการณ์ไกลที่ทำให้กิจการครอบครัว "คุณานันทกุล" นี้มีความมั่นคงและแข็งแรงขึ้นในเชิงธุรกิจ

ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์เหล็กภายใต้เครื่องหมายการค้า "ลักกี้" และ "คิงด้อม" ได้ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมาและแตกขยายกิจการไปสู่อาณาจักรธุรกิจที่ร่วมทุนกับต่างประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 20 แห่งโดยมีบริษัทสยามสตีลกรุ๊ปอินเตอร์เนชั่นแนลเป็นบริษัทแม่ถือหุ้นในเครือ (ดูตารางประกอบ)

ปัจจุบันการแตกตัวของสยามสตีลกรุ๊ปมีลักษณะการแบ่งประเภทธุรกิจออกเป็นสองกลุ่มคือ

หนึ่ง-กลุ่มบริษัทเฟอร์นิเจอร์ (FURNITURE GROUP) ซึ่งเป็น CORE BUSINESS ที่นำชื่อเสียงและภาพพจน์ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่ของไทยมาสู่กิจการของกลุ่ม ได้แก่

บริษัทศรีเจริญอุตสาหกรรม ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์เหล็ก "ลักกี้" และ "คิงด้อม" จำหน่ายในประเทศรวมทั้งนำเข้าและส่งออกเฟอร์นิเจอร์ด้วย ศรีเจริญฯ มีสินค้าไม่ต่ำกว่า 3,200 ชนิด มีส่วนแบ่งตลาด 70% โดยเน้นการขายส่งผ่านตัวแทนจำหน่าย 81.36% ของยอดขาย 1,377 ล้านบาทในปีนี้ ปัจจุบันศรีเจริญมีเอเยนต์รายใหญ่ถึง 51 ร้านทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด

ปัจจัยด้านแหล่งเงินทุน ศรีเจริญอุตสาหกรรมกำลังจะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปีนี้ โดยมี บงล. ภัทรธนกิจเป็นแกนนำจัดจำหน่ายและรับประกันหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,825 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท แต่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปหุ้นละ 130 บาท

"ผมมีความรู้สึกสบายใจมากขึ้น เพราะเราเปิดให้คนนอกเข้ามาร่วมบริหารด้วย เราจะพัฒนาระดับให้มันเป็นสากลมากขึ้น ทุนที่เราได้จะนำไปสร้างศูนย์บริการเฟอร์นิเจอร์ เพื่อให้ความสะดวกสำหรับเอเยนต์และมีโชว์รูมสินค้าด้วย" วันชัยเผยถึงแผนการตลาดที่จะใช้เงินทุนมากถึง 90 ล้านบาทในภาคเหนือ ภาคใต้และอิสานที่จะจัดตั้งศูนย์จำหน่าย

นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งวันที่วันชัยบอกกล่าวถึงการเข้าตลาดหุ้น แต่เหตุผลที่สำคัญมากกว่านั้นอยู่ที่ธุรกิจของศรีเจริญอุตสาหกรรมใช้เงินมากเนื่องจากเป็น CAPITAL INTENSIVE การหาทางเลือกของแหล่งระดมทุนที่ไม่มีภาระดอกเบี้ยหรือต้นทุนที่ต่ำที่สุดเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าต้องการให้บริษัทมีความเจริญเติบโตต่อไป

โครงการที่กล่าวถึงกันมากคือเป้าหมายของศรีเจริญฯ ที่จะขยายไปสู่การผลิต COMBINE FURNITURE SYSTEM อันเป็นระบบเฟอร์นิเจอร์เอนกประสงค์ที่สามารถปรับเปลี่ยนหรือต่อเติมอย่างมีประสิทธิภาพมูลค่าการลงทุนเพื่อผลิตระบบดังกล่าวนี้ต้องใช้เงินถึง 285 ล้านบาทเพื่อลงทุนในเครื่องจักรและอาคารโรงงานมูลค่านับร้อยล้านบาท แต่แทนที่จะกู้เงินต่างประเทศมาเป็น SUPPLIER CREDIT ในการจัดซื้อเครื่องจักร ก็ได้ใช้เงินทุนส่วนหนึ่งจากตลาดหลักทรัพย์มาเป็นเงื่อนไขของการลงทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าได้

นอกจากนี้กลุ่มบริษัทเฟอร์นิเจอร์ยังได้แก่บริษัทสยามโอคามูระสตีลซึ่งผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ออฟฟิศ ออโตเมชั่นเพื่อการส่งออก เป็นการร่วมทุนครั้งแรกระหว่างตระกูลคุณานันทกุลกับบริษัทยักษ์ใหญ่เฟอร์นิเจอร์ของโลกอย่างบริษัท OKAMURA CORPORATION

"เขาร่วมลงทุนกับเราโดยทางตรงและทางอ้อมในบริษัทศรีเจริญฯ ด้วย โดยทางตรงถือหุ้น 10% แต่ทางอ้อมก็คือการร่วมทุนตั้งบริษัทสยามโอคามูระสตีลกับเรา โดยทางเราถือ 40% ในนามของศรีเจริญ" ซึ่งจะเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว" วันชัยกล่าวถึงการร่วมทุนกับโอคามูระ

นอกเหนือจากนี้ ยังมีบริษัทสยามชิโตเซะ ที่เน้นการผลิตและจำหน่ายเก้าอี้เพื่อการส่งออกเป็นหลักโดยอาศัยเทคโนโลยีจากการร่วมทุนกับบริษัท CHITOSE MANUFACTUREING CO.,LTD.

และบริษัทสยามฟูจิแวร์ ซึ่งผลิตเหล็กเคลือบอีนาเมลและเหล็กไร้สนิมที่ใช้ทำอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว

สอง-กลุ่มบริษัทที่ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์ (NON-FURNITURE GROUP) จัดเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มแรก และเป็นสิ่งสะท้อนถึงทิศทางและกลยุทธ์การเติบโตที่ยิ่งใหญ่กว่ากลุ่มแรกในทศวรรษที่สองถึงปัจจุบัน ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ วันชัย คุณานันทกุลที่ดำเนินโครงการร่วมทุนเหล่านี้

"เมื่อสิบปีกว่ามาแล้ว ผมเห็นว่าตลาดขยายตัวเร็วมาก การพัฒนาตลาดด้วยตัวเราเองคงจะไม่ทันการณ์เราจึงเปิดประตูให้ต่างชาติที่มีเทคโนโลยี และช่องทางการจัดจำหน่ายทางการตลาดเข้ามาร่วมทุนกับเราด้วยตัวนี้ทำให้เราพัฒนาเทคโนโลยีรวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนพัฒนาคนและตลาดควบคู่กัน" วันชัยกล่าวถึงประโยชน์ของการร่วมทุนไม่ต่ำกว่าสิบบริษัทที่ได้ทั้งแหล่งเงินทุน เทคโนโลยีและที่สำคัญคือตลาดโลก

บริษัท ไทรอัมพ์สตีลก่อตั้งในปี 2520 ผลิตเหล็กรูปรีดร้อนเช่น เหล็กรูปพรรณรูปตัวแอล และตัวยูชนิดต่าง ๆ เหล็กแหนบ เหล็กแข็ง ใช้เงินลงทุนถึง 300 ล้านบาท ผู้ร่วมทุนคือไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ซึ่งผู้ดึงสายสัมพันธ์ต่างประเทศนี้ก็คือวันชัย คุณานันทกุล

ในปี 2528 วันชัยแสดงบทบาทนำในเรื่องการร่วมทุนกับต่างประเทศ ที่ได้กลายเป็นหัวหอกของการบุกเบิกกิจการให้กว้างไกลมากขึ้น โดยต่อมาได้ร่วมมือกับบริษัทโอกายา โอกิ ตั้งบริษัทยูเนียนออโตพาร์ทส มานูแฟคเจอริ่ง ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้แก่โรงงานประกอบเช่น ยามาฮ่า ฮอนด้า คาวาซากิและซูซูกิ

"บริษัทโอกายา โอกิเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่นที่เก่าแก่มาก มีอายุถึง 300 ปี เขาให้ความสนใจ และขอความร่วมมือจากเรา ตอนนั้นเราเป็นบริษัทศรีเจริญฯ แล้ว จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ คอนเนคชั่นนี้ก็ยังดีอยู่นิสัยของเราไม่เคยลืมเพื่อนเก่าถ่ายทอดกันเป็นชั่วอายุคนทีเดียว" วันชัยเล่าให้ฟัง

สายสัมพันธ์ธุรกิจยิ่งใหญ่กับโอกายา ได้กลายเป็นสินทรัพย์อันมีค่าที่ทำให้วันชัยใช้ขยายกิจการไปสู่ "บริษัทศูนย์บริการเหล็กสยาม" ในปี 2529 ด้วยเงินทุนมหาศาลถึง 1,200 ล้านบาท ดำเนินการผลิตชิ้นส่วนโลหะป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้าและโครงเหล็กสำหรับงานก่อสร้างทั่วไป โดยมีผู้ถือหุ้นอื่นอีกสองรายคือ TOYOTA TSUSHO CORP. และมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น

"ศูนย์บริการเหล็กสยามนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ทสี่กลุ่มคือ หนึ่ง-อุตสาหกรรมรถยนต์ สอง-เครื่องใช้ไฟฟ้า สาม-วัสดุก่อสร้างและสี่เฟอร์นิเจอร์ เพราะเป็นโรงงานผลิต PRIMARY COMPONENTS แทนที่บริษัทอื่น ๆ จะไปตั้งครัวขึ้นมาแบบต่างคนต่างปรุง ก็ให้บริษัทนี้ตั้งครัวใหญ่ปรุงให้ทุกคน" วันชัยมักชอบเปรียบเทียบการปรุงแต่งเหล็กเหมือนงานปรุงอาหารในครัวเสมอ

ขณะที่กิจการขยายไปสู่ต่างประเทศ ชื่อของศรีเจริญอุตสาหกรรมเริ่มเป็นที่เรียกยากเสียแล้วสำหรับคนต่างชาติ วันชัยได้ตั้งบริษัทขึ้นใหม่ใช้ชื่อจำง่าย ๆ ว่า "สยามสตีลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล" ในปี 2530 ทำหน้าที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งถือหุ้นในบริษัทลูก และเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

ตั้งแต่ปี 2530 การเติบโตชนิดก้าวกระโดดของสยามสตีลกรุ๊ปได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วการขยายตัวเปิดกิจการใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกปี รวมมูลค่าเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท วันชัยต้องทำงานเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง เพื่อเจรจาต่อรองธุรกิจกับคู่ค้าร่วมทุน และมีการติดต่อกับบีโอไออย่างใกล้ชิดเนื่องจากโครงการร่วมทุนเหล่านี้ขอรับการส่งเสริม

ปีนี้เองได้มีการตั้งบริษัทสยามมัตสุชิตะสตีลดำเนินการผลิตท่อร้อยสายไฟและอุปกรณ์ต่อเนื่องต่าง ๆ โครงการนี้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่พึ่งพาจากมัตสุชิตะแห่งญี่ปุ่น บริษัทนี้มีครอบครัวคุณานันทกุลถือหุ้นใหญ่และบริษัทมัตสุชิตะ อิเลคทริคเวิร์คและบริษัทมิตรสยามถือหุ้นอยู่ 49

ในปีที่แล้วได้มีการขยายกำลังผลิตท่อร้อยสายไฟเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จากปีละ 24,000 ตันเป็น 48,000 ตัน ใช้เงินลงทุนถึง 400 ล้านบาท

"การร่วมทุนกับต่างชาติเราถือว่าเป็นสินทรัพย์อันหนึ่งที่ประมาณค่าไม่ได้ ถือว่าเป็นกู๊ดวิลล์ที่เขาเชื่อถือเรามาก เช่นบริษัทมัตสุชิตะที่ผลิตเนชั่นแนลเขาจะมาทำอุตสาหกรรมนี้ในไทย ก็ติดต่อกับเราโดยตรง โดยเราทำธุรกิจกันแบบไม่มี JOINT VENTURE AGREEMENT เลย เป็นการพูดด้วยวาจาสองครั้งกับผู้บริหารของมัตสุชิตะเท่านั้น โรงงานแห่งนี้ใช้เวลาเตรียมงานน้อยกว่า 6 เดือนอีก" วันชัยเล่าให้ฟังถึงภาพพจน์ของกลุ่ม

ในปีเดียวกัน บริษัทสยามยูไนเต็ดไฮเทค ก็เกิดขึ้นเพื่อทำอุปกรณ์คีย์บอร์ด คอมพิวเตอร์ บริษัทนี้เดิมชื่อ "บริษัทไทรอัมพ์ทอย" เคยเป็นโรงงานผลิตของเล่นเด็ก แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงเปลี่ยนกิจการใหม่ไปทำสินค้าไฮเทคที่อาศัยวัตถุดิบจากพลาสติคเช่นเดียวกัน โครงการนี้ร่วมกับญี่ปุ่น ทำการผลิตประมาณ 3 ล้านเครื่องต่อปี โดยตลาดส่งออกหลัก ๆ ได้แก่สหรัฐอเมริกาและยุโรป

"ทางเราจะประสานงานกับบริษัทฮันนี่เวลล์" วันชัยเอ่ยถึงลูกค้าที่สั่งผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์รายใหญ่

ในปีถัดมา กลยุทธ์การแตกตัวไปให้ครบวงจรในอุตสาหกรรมจักรยานก็เกิดขึ้นโดยมีการร่วมทุนกับไต้หวันและสหรัฐอเมริกาตั้งบริษัท "สยามไซเคิล แมนูแฟคเจอริ่ง" จำหน่ายจักรยานชนิดต่าง ๆ เพื่อส่งออกเป็นหลักในตลาดญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกาและไต้หวัน โดยมีจำหน่ายในไทย 20% ใช้ยี่ห้อว่า "แพนเธอร์" โครงการนี้ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอตั้งแต่พฤศจิกายน 2530

"ตลาดรถจักรยานของสหรัฐเป็นตลาดใหญ่มาก ไต้หวันที่เป็นคู่แข่งส่งออกปีละ 10 กว่าล้านคันแต่ผู้ผลิตไทยเรามองข้ามไป ดังนั้นเราจึงตั้งขึ้นมาเพื่อแข่งขันด้านคุณภาพและราคาที่ดีกว่า" วันชัยเล่าให้ฟัง

บริษัทสยามไซเคิลฯ นี้อยู่ภายใต้การบริหารงานของสุรศักดิ์ คุณานันทกุล ลูกชายคนโตของวันชัย เป็นผู้จัดการทั่วไป สุรศักดิ์จบการศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น มีชื่อเล่นว่า "สือ" สมรสแล้วกับสาวไต้หวันชื่อ "เกี่ยย้ง" มีลูกชายแฝดชื่อกิติชัยและกิติศักดิ์

"ตอนนี้ผมจะจับด้านจักรยานเต็มตัวมากกว่าทางด้านเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งแต่ก่อนผมจะดูแลด้านส่งออกเฟอร์นิเจอร์ในนามของบริษัทสยามโอกามูระ" สุรศักดิ์เล่าให้ฟัง

ขณะเดียวกันโรงงานผลิตชิ้นส่วนจักรยานก็ได้แยกมาตั้งอีกบริษัทว่า "สยามยูไนเต็ดไซเคิล" เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทอเมริกัน ไซเคิล ซิสเต็ม อินคอร์ปอเรชั่น และบริษัทไต้หวัน โพลีเทคเอ็นเตอร์ไพร์ส ใช้เงินลงทุน 275 ล้านบาท

ยุคทองของเศรษฐกิจไทยปี 2532 ได้พาความโชติช่วงมาสู่สยามสตีลกรุ๊ป กิจการใหญ่ ๆ ได้เกิดขึ้นถึงสี่บริษัท ได้แก่ บริษัทสยามสตีลคอนเทนเนอร์ บริษัทสยามฟูจิแวร์ (1988) บริษัทสยามเพอร์สตอร์ป และบริษัทสยามชิโตเซะ รวมมูลค่าเงินลงทุนไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท

ในสี่บริษัทนี้ รายการ "คุณขอมา" ได้เกิดขึ้นกับบริษัทสยามสตีลคอมเทนเนอร์ เนื่องจากระยะหนึ่งบีโอไอได้ส่งเสริมออกอุตสาหกรรมยางน้ำหรือลาเท็กซ์มากมาย แต่พ่อค้าไทยต้องประสบปัญหาที่ถังบรรจุยางลาเท็กซ์นี้ขาดแคลนเพราะมาเลเซียไม่ยอมขายให้ไทย อ้างว่าน้ำยางไทยไปตีตลาดของเขาทางบีโอไอจึงร้องขอให้วันชัยเข้าไปช่วยผลิตถึงบรรจุน้ำยางนี้ให้ ปัจจุบันมีกำลังผลิตประมาณ 1 ล้านถังต่อปีทดแทนการนำเข้า

"ผมไม่มีเจตนาจะทำธุรกิจด้านนี้ จึงให้เถ้าแก่ทุกคนเข้ามาร่วมกันถือหุ้นในบริษัทและกำหนดราคาขายกันเอง เพื่อให้เขาคุมกันเองและไม่ต้องกังวลว่ากำไรมากหรือน้อย แต่โชคไม่ดี อุตสาหกรรมยางไม่ค่อยดีระยะนี้" วันชัยเล่าให้ฟังถึงบริษัทสยามสตีลคอมเทนเนอร์ที่มีลักษณะการร่วมทุนแปลกออกไปจากบริษัทอื่น

ในปี 2532 นี้เอง การร่วมทุนที่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของวันชัยก็คือ โครงการร่วมทุนมูลค่า 500 ล้านบาทกับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งยุโรป บริษัทเพอร์สตอร์ป ที่ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมเคมี อินดัสเทรียล ลามิเนต วันชัยได้ดึงสายสัมพันธ์ที่เคยร่วมทำการค้ากันบ้างแล้วมาตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ "บริษัทสยามเพอร์สตอร์ป" ดำเนินการผลิตแผ่นเมลามีนสำหรับตกแต่ง โดยเพอร์สตอร์ปถือหุ้นใหญ่ 51% โรงงานมีกำลังผลิต 2.25 ล้านตารางเมตรและได้ส่งออกไปฮ่องกง ออสเตรเลีย มาเลเซีย ไต้หวัน

"มิชชั่นที่ไปสวีเดีนคราวนั้น ผมไปเป็นทางเครื่องระดับชาติ โดยในงานเซ็นสัญญาทางเรามีรมต. เป็นพยาน สำหรับเขาก็มี รมต. พาณิชย์แห่งนอร์ดิคที่ไม่ใช่แค่ รมต. สวีเดนเป็นพยาน โดยมีผมเป็นเพรสิเดนท์ฝ่ายไทยและทางฝ่ายนั้นก็มี มร.โซเบิร์ตเป็นเพรสิเดนท์และประธานหอการค้าสวีเดนลงนามด้วย" วันชัยเล่าด้วยความภูมิใจ

ภาพพจน์ของสยามสตีลในวงการค้าระหว่างประเทศยิ่งดูดีมากขึ้นจากความเชื่อถือนี้ ทำให้ในปี 2533 และในปี 2534 โครงการขนาดใหญ่มูลค่านับพันล้านบาทเกิดขึ้น

โครงการขนาดใหญ่อันแรกคือ - โครงการแรกผลิตตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่า 1,444 ล้านบาทในนามของบริษัทสยามคาร์โก้ คอนเทนเนอร์ ที่เกิดขึ้นจากการมองเห็นโอกาสการเติบโตของปริมาณคาร์โก้ที่ผ่านท่าเรือกรุงเทพได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่าตัวในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา และตู้คอนเทนเนอร์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.6 เท่า เหตุผลจากการค้าและตลาดความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ทำให้บริษัทนี้เกิดขึ้น

"เราคัดเลือกผู้ร่วมทุนที่มีพลังทางเศรษฐกิจในแต่ละสาขาและพร้อมจะทำงานร่วมกัน เช่นฮุนไดเจ้าตลาดตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก และมิตซูบิชิก็เป็นเทรดดิ้งเฟิร์มที่ใหญ่มาก พูดง่าย ๆ ทั้งเราและเขาต่างก็สนใจซึ่งกันและกัน" อนันตชัย คุณานันทกุล กรรมการรองผู้อำนวยการเปิดเผยถึงเบื้องหลังการร่วมทุน

เป้าหมายที่ตั้งไว้ในแต่ละปีที่ต้องผลิตให้ได้ถึง 60,000 ทีอียู ได้อาศัยเครือข่ายมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่นที่มีสำนักงานทั่วโลก 173 แห่งเป็นผู้วางแผนการตลาดให้

"ในไตรมาสแรกของปีนี้ เราได้รับออร์เดอร์จากลูกค้าแล้วถึง 3,000 ทีอียู และตั้งเป้าหมายรายได้ต่อปีจะต้องได้ถึง 100 ล้านเหรียญ โดยปีแรกจะมีกำลังการผลิตประมาณ 20,000 ทีอียู ส่วนแบ่งตลาดของตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตจะมาถึง 60% ขณะที่อีก 40% เป็นของตู้ขนาด 40 ฟุต" ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ฮิราโน่เล่าให้ฟังถึงเป้าหมาย ซึ่งต้องมีคู่แข่งรายสำคัญสองบริษัทคือ บริษัท "บีซีไอ" (บางกอก คอนเทนเนอร์ อินดัสทรี) ที่ทำมาแล้ว 3 ปีและบริษัท "เอสยูซี" (สยาม ยูเนียน คอนเทนเนอร์) ที่เพิ่งผลิตปีที่แล้ว

โครงการขนาดใหญ่อันดับสอง-โครงการท่าเรือขนถ่ายสินค้าสมบูรณ์แบบ ดำเนินการในนามของบริษัท "สยามแลนด์แอนด์ซี เซอร์วิส" ที่ดินที่จะสร้างท่าเรือในสยามแลนด์นี้มีประมาณ 50 ไร่อยู่บริเวณใกล้โรงงานของสยามสตีลกรุ๊ปที่ปู่เจ้าสมิงพราย

"เหตุที่ต้องมีท่าเรือเพราะเรานำเข้าชิ้นส่วนและส่งออกสินค้าในเครือมากมาย โครงการนี้เราได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอแล้ว และในอนาคตคิดว่าจะรองรับอุตสาหกรรมในละแวดนี้ได้จำนวนมากแทนที่จะต้องไปใช้ท่าเรือคลองเตยให้ยุ่งยาก" วันชัยคาดหวังไว้ให้ฟัง

บุรุษอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในสยามสตีลกรุ๊ป ก็คืออนันตชัย คุณานันทกุล น้องเล็กของสมชัยและวันชัย อนันตชัยได้บริหารดูแลการตลาดภายในของผลิตภัณฑ์ในเครือสยามสตีลกรุ๊ป

โดยภาพพจน์ของอนันตชัยที่มีตำแหน่งทางสังคม เป็นประธานหอการค้าสมุทรปราการ บุคลิกที่มีท่วงทำนองเยือกเย็นได้เคยเป็นนายแบบกิตติมศักดิ์โฆษณาบ้านจัดสรร "ศรีเจริญวิลล่า" นอกจากนี้ล่าสุดอนันตชัยได้รับเกียรติเป็นพ่อดีเด่นของลูกทั้งสามคือ เอกสิทธิ์ กัลยาและพิสิทธิ์ที่เกิดจากภรรยาชื่อ "อุไร" อนันตชัยมีสายสัมพันธ์ธุรกิจในกลุ่มเพื่อนนักธุรกิจย่านสมุทรปราการ ก่อให้เกิดมีโครงการที่แตกตัวไปจากอุตสาหกรรมเหล็กหลายโครงการ อาทิเช่น

บริษัท ศรีเจริญบ้านและที่ดิน เป็นกิจการก้าวแรกด้านพัฒนาที่ดินของครอบครัวนี้ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2527 ดำเนินงานหมู่บ้านจัดสรรศรีเจริญวิลล่าบนเนื้อที่ 300 ไร่ ย่านถนนเทพารักษ์ กม.ที่ 5.5

"ศรีเจริญวิลล่าความจริงเกิดขึ้นเพราะเพื่อนฝูงมาชักชวนให้ทำ เราก็คิดกันว่าที่ดินที่เราตั้งใจจะซื้อมาทำโรงงานจำนวน 300 ไร่นั้นก็น่าจะมาทำเป็นคอมเพล็กซ์ขึ้น พรรคพวกจะได้มีโอกาสมาอยู่ร่วมกันคุยกันเล่น ๆ แต่ภายหลังก็ทำขึ้นมาจริง ๆ อันนั้นไม่ใช่อาชีพแต่เป็นมือสมัครเล่นมากกว่า" อนันตชัยเล่าให้ฟังถึงที่มาของศรีเจริญวิลล่า

นอกเหนือจากโครงการหมู่บ้านจัดสรรแล้วอนันตชัยได้วางแผนลงทุนทำสปอร์ตคอมเพล็กซ์ในนาม "บริษัท สยามสปอร์ต บิสสิเนส เวอร์ค" บนเนื้อที่ 50 ไร่ติดกับหมู่บ้านศรีเจริญวิลล่า โดยแบ่งเป็น 5 ส่วนคือ ศูนย์กีฬา ศูนย์สุขภาพ ศูนย์นันทนาการ ศูนย์บริการเช่นห้องเสริมสวย ซักอบรีด ตู้นิรภัย และศูนย์สื่อสาร โครงการนี้ต้องใช้เงินถึง 2,000 ล้านบาท และตอนนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโดย ดร. รชฎ กาญจนวณิชย์และกิตติ ถนัดสร้าง

"เราทำขึ้นมาเพื่อบริการนักธุรกิจในย่านสมุทรปราการซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม เพราะมีโรงงานมากถึง 4,000-5,000 โรง แต่ไม่มีสถานที่พักผ่อนเล่นกีฬา ถ้าจะเข้ามาในเมืองก็เจอปัญหารถติด 2-3 ชั่วโมง มันก็ไม่ไหว เราจึงคิดทำโครงการนี้ขึ้นมา" อนันตชัยเล่าให้ฟัง

การสั่งสมที่ดินของครอบครัว "คุณานันทกุล" ส่วนมากจะอยู่บริเวณปู่เจ้าสมิงพราย จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งกิจการในเครือสยามสตีลกรุ๊ปจะกระจัดกระจายเป็นกลุ่มบริษัท ๆ

"สำหรับที่ดินโรงงานเรามีอยู่ปัจจุบันประมาณ 200 ไร่ ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจซื้อผืนใหญ่เราก็ทะยอยซื้อทีละแปลง ราคาก็แพงขึ้นตามลำดับไม่มีที่ดินเพื่อเก็งกำไรเลย เพราะหัวไม่ถึง แต่เราวางแผนระยะยาวไม่ได้เลย ผมคิดว่าเป็นเรื่องเลื่อนลอยที่จะทำแผนล่วงหน้าถึงห้าปี เพราะเราไม่รู้ว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้นแน่นอน" วันชัยให้ความเห็นถึงวัตถุประสงค์ของการใช้ที่ดิน

อาณาจักรของผู้ใช้เหล็กขนาดใหญ่ที่มีกิจการไม่ต่ำกว่า 20 แห่งดังกล่าวข้างต้นของสยามสตีลกรุ๊ป ได้เป็นแรงผลักดันที่ทำให้ทิศทางการเติบโตของกลุ่มนี้พยายามขยายไปในแนวทางของ BACKWARD INTEGRATION เพื่อผลิตเหล็กให้ครบวงจรและสมบูรณ์แบบ โดยมี ดร. เกษม ผลาสุวรรณผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะวิทยาเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ

"ผมรู้จักกับ อจ. เกษมเพราะท่านเป็นที่ปรึกษาบีโอไออยู่ ท่านเป็นมนุษย์เหล็กคนเดียวของเมืองไทยที่รู้จักโลหะวิทยาอย่างดี ท่านบอกว่าท่านฝันจะตั้งโครงการเหล็กสมบูรณ์แบบนี้ให้สำเร็จ ยังไม่เคยมีใครทำได้จริง ๆ เหมือนกับผม จึงอาสามาช่วยโครงการนี้" วันชัยเล่าให้ฟังถึงที่ปรึกษาคนสำคัญ

โครงการ BACKWARD INTEGRATION นี้หมายถึงการสร้างโรงรีดเหล็กในลักษณะที่เป็น ROLLING MILL CENTER ที่ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบก่อน จากนั้นจึงค่อยสร้างโรงงาน STEEL MAKING ซึ่งจะเป็นโรงงานถลุง-หล่อ-หลอม เพื่อผลิต SLAB เป็นวัตถุดิบป้อนให้ ROLLING MILL CENTER

แต่สยามสตีลกรุ๊ปก็ไม่สามารถขยายไปในทิศทางนี้ได้ เนื่องจากสหวิริยากรุ๊ปคือผู้ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอเพียงรายเดียว สามารถคว้าชัยชนะโครงการเหล็กแผ่นรีดร้อน สามารถคว้าชัยชนะโครงการเหล็กแผ่นรีดร้อน รีดเย็นและเหล็กเคลือบมูลค่า 30,000 ล้านบาท โดยมีระยะคุ้มครอง 10 ปีตั้งแต่ปี 2533-2543 งานนี้ผู้บริหารสยามสตีลต้องอกหัก

"ทุกวันนี้ผมยังน้อยใจ มีคนคิดว่าผมจะอยากทำโครงการนี้มาก ๆ แต่ผมบอกว่าถ้าผมทำโครงการนี้ผมสมควรจะได้รับเหรียญจึงจะถูก ทันทีที่ผมได้เห็นประกาศว่าโครงการนี้ไม่ได้รับแล้ว ผมก็เพิ่งหัดเล่นกอล์ฟเพราะมีเวลาว่างที่จะเล่นได้" วันชัยกล่าวอย่างโล่งอก

ถึงแม้จะพลาดหวังจากโครงการยักษ์ใหญ่ดังกล่าว แต่วันชัยก็คงมีบากบั่นสร้างสรรค์โครงการต่อไปข้างหน้าโดยมีเป้าหมายเป็น FORWARD ROLLING MILL CENTER ให้ได้ในอนาคต

หนึ่ง-โครงการผลิตสแตนเลส ในนาม "บริษัทสยามอินเตอร์เนชั่นแนล แสตนเลสสตีลเซ็นเตอร์" ที่มีกำลังผลิตปีละประมาณ 72,000 ตันเงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท โครงการนี้จะตั้งที่จังหวัดระยอง ในพื้นที่ 60 ไร่คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 30 เดือนข้างหน้านี้

"โครงการแสตนเลสสตีลของผมเป็นโครงการผลิต COLD ROLL STANDLESS STEEL ซึ่งสามารถทำเหล็กคาร์บอนสตีลได้ แต่ผมไม่ทำ ทำให้โง่หรือ ? เพราะผมทำแสตนเลสสตีลให้ผลตอบแทนมากกว่าเยอะ แล้วจะทำคาร์บอนสตีลทำไม?" วันชัยแก้ข้อกังขาให้ฟัง

สอง-โครงการแผ่นเหล็กไร้สนิม ซึ่งผ่านการอนุมัติจากบอร์ดของบีโอไอแล้วโครงการนี้ใช้เงินลงทุน 3 พันล้านบาทมีกำลังผลิต 72,000 ตันต่อปีทุนจดทะเบียน 480 ล้านบาทโรงงานจะตั้งอยู่ที่จังหวัดระยองผลผลิตจะป้อนอุตสาหกรรมอาหารและเคมี วงการก่อสร้าง

"เราคำนึงถึงลักษณะ ECONOMY OF SCALE ที่ทำให้ประหยัดต้นทุนได้ต่ำที่สุดเช่นถ้าเราผลิตแสตนเลสสตีลต้องให้ได้ประมาณ 6 หมื่นตันซึ่งเวลาตั้งโรงงานจะต้องเป็น 72,000 ตันเพื่อสำรองไว้ 10%" วันชัยเล่าให้ฟังถึงแนวความคิด

โครงการนี้จะนำผลิตภัณฑ์ออกมาใช้ต่อเนื่องในโรงงานผลิตชิ้นส่วนจากสแตนเลสสตีล ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนจากแสตนเลสสตีล ซึ่งเป็นโรงงานที่เสนอไปพร้อมกับโครงการผลิตแสตนเลสสตีล แต่บีโอไอแนะนำให้แยกโครงการออกมา เพราะรายอื่นที่ขอไปไม่มีโครงการต่อเนื่อง

"ที่เกรงกันว่าเหล็กแผ่นไร้สนิมจะล้นตลาดคงจะเป็นไปได้สำหรับผู้ที่ไม่มีตลาดรองรับ แต่ในบริษัทเราซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กในเครือจำนวนมาก ไม่ว่าจะผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และอื่น ๆ" วันชัยเล่าให้ฟัง

สาม-โครงการเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ซึ่งเพิ่งได้รับอนุมัติจากกระทรวงอุตสาหกรรม ตามแผนงานกำลังผลิตเหล็กโครงสร้างของสยามสตีลกรุ๊ป 900,000 ตันต่อปี จะแบ่งเป็นสี่ประเภทตามวัตถุประสงค์ใช้งาน คือ

- เหล็กโครงสร้างรูปตัวเอช ตัวไอ ตัวที ฯลฯ ขนาดเบา โดยวิธีเชื่อมขนาดความหนา 3.2-12 มม. กำลังผลิต 300,000 ตันต่อปี

- เหล็กโครงสร้าง BEAM ขนาดหนัก ทำโดยวิธีเชื่อมอย่างหนา 12-60 มม. กำลังผลิต 250,000 ตันต่อปี

- เหล็กรูปพรรณอื่น ๆ เช่นท่อสี่เหลี่ยมและกลมขนาดใหญ่ เข็มพืด FLOOR DECK ฯลฯ กำลังผลิต 50,000 ตันต่อปี ซึ่งในอนาคตโครงสร้างเสาไฟฟ้าของสยามสตีลกรุ๊ปจะเกิดขึ้น

- เหล็กรูปพรรณประกอบอาคาร CONSTRUCTION COMPONENTS เช่น DECK PLATE METAL FRAMEWORK กรอบหน้าต่างประตู 300,000 ตันต่อปี ในเรื่องนี้วันชัยได้กล่าวว่า

"การก่อสร้างมีความสำคัญมาก ๆ ทำไมเราต้องไปอิงกับคอนกรีตเพียงอย่างเดียวซึ่งต้องแบกดอกเบี้ยและใช้เวลาก่อสร้างนาน อย่างเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ เขาทำเป็นโครงสร้างเหล็กและนำเข้าเหล็ก 100% ผมเห็นตัวนั้นจึงคิดว่าจะทำให้ตึก 50-100 ชั้นสร้างเสร็จได้ภายในหนึ่งปี ต้นทุนการใช้เหล็กก็ถูกลงและแข็งแรงมากกว่า นี่คือโครงการที่ผมจะทำ" วันชัยให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม โครงการเหล็กรูปพรรณนี้ สยามสตีลกรุ๊ปจะมีคู่แข่งยักษ์ใหญ่อย่างบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเกิดขึ้น เนื่องจากทวี บุตรสุนทร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสได้เปิดเผยว่า โครงการนี้ทางกลุ่มได้ร่วมลงทุนกับบริษัท ยามาโมโต แห่งญี่ปุ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากบีโอไอ

"เหล็กรูปพรรณประเภทนี้ยังไม่มีการผลิตในเมืองไทย ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ต่อปี คาดว่าปีนี้ความต้องการจะตกประมาณ 300,000 ตัน" ทวีกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีศึกเหนือเสือใต้เกิดขึ้นวันชัยได้วางกลยุทธ์การเติบโตอาณาจักรเหล็กของสยามสตีลกรุ๊ปไว้อย่างมีเป้าหมาย และผลประโยชน์ที่จะทดแทนการนำเข้าเหล็กมูลค่านับแสนล้านบาทในรูปแบบต่างๆ ที่ตลาดต้องการ !!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us