มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยในต้นปีที่ผ่านมาสูงกว่าปีก่อนถึงเท่าตัว
โดยหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายมากที่สุด 10 อันดับแรกเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลและมีสัดส่วนมากกว่า
50% ของมูลค่าการซื้อขายรวมของตลาดฯ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการที่ตลาดขยายตัวมากขึ้นในหนนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายตัวของโครงสร้างนักลงทุน
โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนภูธรที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าจับตา
ชั่วเวลาเพียง 2 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์สร้างสถิติใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างน่าทึ่งโดยเฉพาะเรื่องมูลค่าการซื้อขายทะลุระดับหมื่นล้านบาท
ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับแต่ตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นมาในปี
2517
ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักทรัพย์ และนักลงทุนหลายคนมีความเห็นร่วมกันว่าปริมาณการซื้อขายในปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 3,237 ล้านบาทในปี 2534 น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น
7,000-8,000 ล้านบาทได้ในปีนี้
ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องตลาดหลักทรัพย์ให้ความเห็นว่าการพัฒนาเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ไทยที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ได้ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านโครงสร้างนักลงทุนไทย
กล่าวคือมีการขยายตัวของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นมาก จากปี 2529
ที่มีจำนวนบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทในตลาดหุ้นไทยประมาณ 180,000 คนคิดเป็นร้อยละ
0.4 ของประชากรไทยปรากฏว่าในปี 2534 มีจำนวนผู้เป็นเจ้าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ
เพิ่มเป็น 740,000 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 1.2
ดร. สมชายมองว่า "การขยายตัวเช่นนี้อธิบายถึงอัตราการเพิ่มของคนเล่นหุ้นได้อย่างดี
และเป็นภาพสะท้อนของการขยายตัวของปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นในอัตราเกือบร้อยเปอร์เซนต์ตลอดเวลา
4-5 ปีที่ผ่านมา ยกเว้นปี 2534 ที่มีอัตราการเพิ่มเพียงร้อยละ 27 เพราะเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างชาติในไทยชะลอตัวลง"
ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2534 เท่ากับ 793.1 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี
2533 ร้อยละ 26.4 ส่วนมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศในตลาดหลักทรัพย์ฯ มี 130.2
พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 27.9 ขณะที่ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ ณ วันทำการสุดท้ายของปี
ปิดที่ 711.36
เปรียบเทียบกับในเดือนมกราคม 2535 เพียงเดือนเดียวมีมูลค่าการซื้อขายถึง
150 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.9% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งปีในปี 2534
ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการตั้งเป้าหมายปริมาณการซื้อขายรวมสำหรับปี 2535 ไว้ที่
1,235 พันล้านบาท หรือคิดเฉลี่ยประมาณ 5,000 ล้านบาท/วัน เพิ่มขึ้นจากปี
2534 ประมาณ 55% (ดูเป้าหมายการเจริญเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ปี 2535)
ดร. สมชายให้ความสำคัญกับจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดอย่างหนึ่งคือ
การที่กระทรวงการคลังอนุญาตให้บริษัทโบรกเกอร์เปิดสำนักงานบริการด้านหลักทรัพย์ในต่างจังหวัดได้
โดยยื่นขอเปิดปีละ 5 แห่ง/ราย
"การขยายตัวของนักลงทุนในต่างจังหวัดในปีที่ผ่านมาและในอนาคตสืบเนื่องจากการขยายจำนวนตัวแทนของโบรกเกอร์ซึ่งจะเพิ่มขึ้นอีกในปี
2535 นี้จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของนักลงทุนในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่ากรุงเทพฯ
และทำให้อัตราการเพิ่มของนักลงทุนในประเทศเพิ่มเร็วกว่านักลงทุนต่างประเทศ"
ดร. สมชายแสดงความคิดเห็น
เขายังคาดหมายด้วยว่า "ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วบางวันจะสูงถึงกว่า
15,000 ล้านบาท และหากมีการซื้อขายวันละสองรอบ ปริมาณการซื้อขายในบางวันจะสูงถึง
20,000 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงจากการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในต่างจังหวัดมีผลทำให้โครงสร้างนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเปลี่ยนแปลง
และเป็นตัวอธิบายการพุ่งขึ้นของปริมาณการซื้อขายต่อวันเป็นหลักหมื่นในช่วงที่ผ่านมา"
การคาดหมายของ ดร. สมชายไม่ได้ห่างไกลจากข้อเท็จจริงมากนัก เพราะมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่เคยสูงสุดที่
12,000 กว่าล้านบาท มีการสร้างสถิติใหม่แล้วที่ 14,000 กว่าล้านบาท
เชื่อว่าสถิติใหม่ ๆ เช่นนี้จะมีให้เห็นได้ในตลอดปี 2535 นี้
สำนักงานบริการด้านหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งในรอบแรก (2533)
มีทั้งสิ้น 93 ราย แต่จนปัจจุบันมีการเปิดให้บริการแล้วประมาณ 70 ราย โดยกระจายไปอยู่ตามจังหวัดสำคัญในทุกภาค
กระทรวงการคลังกำหนดว่าการขอตั้งสำนักงานบริการด้านหลักทรัพย์จะทำได้เฉพาะในเขตอำเภอเมืองหรืออำเภอขนาดใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ
นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี อำเภอขนาดใหญ่เหล่านี้ต้องเป็นอำเภอที่มีสาขาของธนาคารพาณิชย์เปิดดำเนินการอยู่แล้วก่อนวันสิ้นสุดรับคำขอตั้งแต่
10 สาขาขึ้นไป
บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตต้องเปิดสำนักงานและประกอบธุรกิจภายใน
9 เดือนตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต เว้นแต่แบงก์ชาติจะขยายเวลาให้ไม่เช่นนั้นจะถือว่าการอนุญาตดังกล่าวยกเลิกไป
นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดด้วยว่าบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นโบรกเกอร์หรือไม่ได้เป็นก็ตาม
ซึ่งจะยื่นขอเปิดสำนักงานฯ นั้น ต้องมีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในรอบ 12
เดือนหลังสุดก่อนยื่นขออนุญาตไม่น้อยกว่าส่วนเฉลี่ยมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทโบรกเกอร์
และต้องมีผลการดำเนินงานกำไรสุทธิติดต่อกัน 2 ปีหลังสุดก่อนยื่นคำขอ ไม่มีขาดทุนสะสมคงค้างจากปีก่อน
ๆ ยกเว้นพิสูจน์ได้ว่าการไม่มีกำไรนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท
เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดเช่นนี้กำหนดให้โบรกเกอร์ที่เป็นรายใหญ่เท่านั้นที่สามารถยื่นคำขอเปิดสำนักงานตัวแทนได้
จังหวัดที่ได้รับความสนใจเปิดห้องค้ากันมากในช่วงแรก ๆ คือจังหวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเช่น
เชียงใหม่ นครสวรรค์ นครราชสีมา ชลบุรี ระยอง สงขลา หาดใหญ่ แต่เมื่อมีการเปิดสำนักงานฯ
ขึ้นแล้วปรากฏว่ามีการแข่งขันกันสูงมาก โบรกเกอร์บางรายจึงเริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์ในปีต่อมาด้วยการเข้าไปเปิดในจังหวัดใหญ่รองลงมาที่มีพลังทางเศรษฐกิจที่จะเติบโตต่อไปได้
โดยเฉพาะในเขตภาคกลาง
วีระสิทธิ์ สฤษดิพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริการลูกค้าหลักทรัพย์บุคคล
บงล. ภัทรธนกิจให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า "ส่วนหนึ่งแบงก์ชาติก็เสนอให้กลับมาพิจารณาทบทวนเพราะมีการเปิดในจังหวัดใหญ่
ๆ เยอะมากแล้ว ผมก็มามองในจังหวัดสำคัญที่รองลงมา มันน่าจะมีโอกาสที่ดีกว่าเพราะคนยังไปเปิดไม่มาก"
ภัทรฯ ซึ่งไม่มีสาขาในต่างจังหวัดเลย และเพิ่งขออนุญาตเปิดสำนักงานบริการฯ
ในรอบแรก 5 แห่ง ส่วนมากอยู่ในจังหวัดใกล้เคียง เช่นที่ชลบุรี จันทบุรี พัทยากลาง
อุดรฯ และสุราษฎร์ธานี และในรอบต่อมายื่นเปิดที่สระบุรี สมุทรสาคร ศรีราชา
ระยองและภูเก็ต
เท่ากับว่านโยบายของภัทรฯ จะยังไม่มีลงไปแข่งขันในจังหวัดใหญ่ ๆ ที่มีโบรกเกอร์เปิดกันเป็นจำนวนมาก
แต่วีระสิทธิ์กล่าวว่าปีต่อ ๆ ไปก็ไม่แน่
เชียงใหม่และหาดใหญ่เป็น 2 จังหวัดที่มีปริมาณห้องค้ามากไล่เลี่ยกันและปริมาณการซื้อขายสูงใกล้เคียงกันด้วย
สวัสดิ์ ชอบธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสการบริหารสาขาและบริการสินเชื่อเช่าซื้อของ
บงล. ศรีมิตรเปิดเผยว่า "ในจำนวนสาขา และสำนักงานบริการของศรีมิตรที่มีปริมาณการซื้อขาย
4,000 ล้านบาทเมื่อปี 2534 ทั้งปีนั้น ปรากฏว่าเชียงใหม่ครองแชมป์มาเป็นอันดับหนึ่งคือประมาณ
30% ของมูลค่าการซื้อขาย รองลงมาคือหาดใหญ่ 23% นครสวรรค์และขอนแก่นแห่งละประมาณ
11% โคราช อุดรฯ อุบลฯ และสุรินทร์แห่งละประมาณ 7%
เชียงใหม่มีห้องค้าทั้งหมด 14 ห้อง ในจำนวนนี้มีโบรกเกอร์เก่าที่มีใบอนุญาตเปิดสาขาและดำเนินธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ได้ทุกอย่าง
2 รายคือศรีมิตรและธนานันต์ ที่เหลือเปิดเป็นแค่สำนักงานบริการด้านหลักทรัพย์หรือให้บริการซื้อขายหุ้นเพียงอย่างเดียว
อันที่จริงมีบริษัทหลักทรัพย์ขอเปิดห้องค้าหุ้นมากกว่านี้ แต่เมื่อถึงกำหนดยังไม่ยอมเปิด
ใบอนุญาตนั้นก็หมดอายุลงโดยปริยาย โบรกเกอร์ที่ไม่ได้เปิดห้องค้าตามที่ยื่นขอคือไทยเม็กซ์
กรุงเทพธนาทร สหธนกิจไทยและพูลพิพัฒน์
แหล่งข่าวในวงการโบรกเกอร์เชียงใหม่ให้ความเห็นว่า การที่โบรกเกอร์ที่ได้รับอนุญาตแล้วไม่มาเปิดห้องค้า
เพราะไม่สามารถหาพนักงานและเตรียมสถานที่ได้ทันตามกำหนด และโบรกเกอร์เหล่านี้ไม่ค่อยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักลงทุนในต่างจังหวัดมากนัก
อย่างไรก็ตามโบรกเกอร์ที่ไปเปิดแล้วถึง 14 แห่งนั้นก็ถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก
แม้ว่าในระยะเริ่มต้นจะยังได้ลูกค้าไม่มากก็ตาม
เอนก เลิศรมยานันท์ ผู้ช่วยผู้จัดการสาขา บงล. ศรีมิตร สาขาเชียงใหม่ เปิดเผยกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "คนเล่นหุ้นในเชียงใหม่ที่แอคทีฟมีประมาณ
300 คน/วัน แต่มีคนที่ขึ้นทะเบียนหรือเปิดบัญชีไว้ประมาณ 1,000-1,200 คน"
ศูนย์ข่าว "ผู้จัดการ" ประจำเชียงใหม่สำรวจไว้พบว่ามีคนเล่นหุ้นในเชียงใหม่ประมาณ
400 คน/วัน และมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 200 กว่าล้านบาท/วัน (ดูตารางแสดงจำนวนนักลงทุนและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของแต่ละโบรกเกอร์ในเขตภาคเหนือ)
อย่างไรก็ดีในวันที่ตลาดฯ มีปริมาณการซื้อขายมากนั้น ปริมาณการซื้อขายในจังหวัดต่าง
ๆ ก็เพิ่มตามขึ้นด้วย
เอนกซึ่งเป็นคนเชียงใหม่และมีประสบการณ์ในธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์มานานกว่า
20 ปีเปิดเผยเกี่ยวกับธุรกิจค้าหลักทรัพย์ของศรีมิตรในเชียงใหม่ว่า "ศรีมิตรที่เชียงใหม่นี่เคยมีปริมาณการซื้อขายสูงสุดถึง
118 ล้านบาท/วัน ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤติการณ์อ่าวเปอร์เซีย แต่หลังจากนั้นมาก็ยังไม่เคยพุ่งสูงขนาดนั้นอีก"
ปัจจุบันศรีมิตรมีปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 50-70 ล้านบาท/วัน โดยมีลูกค้าเข้ามาซื้อขายหุ้นในห้องค้าวันละ
70 ราย ลูกค้าส่วนมากของศรีมิตรในเชียงใหม่เป็นพ่อค้า โดยเฉพาะพ่อค้าพืชไร่
เพราะลักษณะของธุรกิจการค้าพืชไร่เป็นประเภทเก็งกำไร กล้าได้กล้าเสีย มีกำลังซื้อเยอะ
ดังนั้นพ่อค้าเหล่านี้จะเข้าใจกลไกการเล่นหุ้นได้ไม่ยากนัก
เอนกเปิดเผยด้วยว่า "ลูกค้าที่เป็นรายใหญ่สุดของศรีมิตรมี PORTFOLIO
ประมาณ 70-80 ล้านบาท"
ศรีมิตรเป็นโบรกเกอรที่ที่ค่อนข้างได้เปรียบในเชียงใหม่ เพราะความที่ตั้งมานาน
จึงมีลูกค้าเก่า ๆ ที่คุ้นเคยกันจำนวนหนึ่ง แต่ลูกค้าเหล่านี้เมื่อมีโบรกเกอร์อื่นมาเปิดห้องค้าใหม่ก็มักจะไปเปิดบัญชีที่อื่นทิ้งไว้ด้วยเสมอ
เอนกให้ความเห็นว่า "สังคมในเชียงใหม่ค่อนข้างแคบ เมื่อลูกค้าของเราถูกชักชวนไปจากคนที่ชอบพอก็จะให้ความช่วยเหลือไปเทรดที่อื่น
ๆ บ้าง นักลงทุนที่นี่จึงมักจะเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์หลายแห่ง อย่างลูกค้าของศรีมิตรที่ไปเทรดห้องค้าอื่นก็มีบ้างประมาณ
10% ของลูกค้าทั้งหมด ที่เหลือก็มาที่ศรีมิตรประจำ มีบางคนไปเทรดที่อื่นแต่ก็โทรฯ
ส่งออเดอร์ผ่านมาทางศรีมิตรก็มี"
หลังจากที่มีโบรกเกอร์อื่นมาเปิดห้องค้าเพิ่มขึ้นแล้ว เอนกยอมรับว่าศรีมิตรมีปริมาณการซื้อขายลดลง
20% สภาพการแข่งขันมีสูงมากโดยเฉพาะในเรื่องของดอกเบี้ยตั๋วเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์
(MARGIN) นอกจากนี้ก็มีเรื่องของความแม่นยำในการให้ข้อมูลแก่ลูกค้าและการบริการของพนักงาน
"ข้อมูลโบรกเกอร์ไหนแม่นกว่าก็สามารถดึงลูกค้าไปได้มาก แต่ถ้าข้อมูลมีเท่ากันก็อยู่ที่ความสัมพันธ์และการบริการลูกค้า
ใครดีกว่าก็เอาลูกค้าไปได้ คนเล่นจะผูกพันกับตัวพนักงานมาก ที่นี่โบรกเกอร์ต้องง้อลูกค้า"
เอนกเปิดเผย
นักลงทุนในเชียงใหม่ใช้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์กันเป็นจำนวนมาก
เอนกคาดหมายว่าประมาณ 70% ของปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในเชียงใหม่เป็นเงินกู้ยืม
ดังนั้นการแข่งขันเรื่องดอกเบี้ยประเภทนี้จึงสูงมาก
ศรีมิตรคิดดอกเบี้ยเงินกู้ตัวนี้เพิ่ม 2% จากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในตั๋วสัญญาใช้เงินหรือดอกเบี้ยฝาก
9% คิดดอกเบี้ยกู้ 11% อัตรานี้ไม่แน่นอนตายตัว ศรีมิตรมีลูกค้าที่ซื้อขายแบบมาร์จิ้น/เงินสดคิดเป็น
70/30 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอสมควร
บัญชีเงินกู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์มีส่วนเพิ่มปริมาณการซื้อขายในห้องค้าที่เชียงใหม่พอสมควร
แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดนั้นเอนกเห็นว่าเป็นเรื่องของการเทรดหลายรอบมากกว่า
เขาเห็นว่า "มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มทะลุหมื่นล้านบาทนั้น
ปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนภูธรก็มีส่วนบ้างเล็กน้อย เพราะมีโบรกเกอร์มากันมาก
ลูกค้าขยายตัวการวิเคราะห์ทางเทคนิคและการใช้บัญชีมาร์จิ้นทำให้เทรดกันหลายรอบ
อย่างซื้อ 5 ครั้งขาย 4 ครั้งก็เท่ากับเหลือมาร์จิ้นอยู่ครั้งเดียวเท่านั้น"
การเทรดหลายรอบจะทำได้คล่องตัวเมื่อสภาพราคาหลักทรัพย์แกว่งมากหรือขึ้นลงตลอดเวลา
เอนกเปิดเผยว่า "สถิติสูงสุดเท่าที่ผมเคยเห็นที่นี่คือเทรด 4 รอบ/หุ้นตัวเดียวในหนึ่งวัน
ถ้าเป็นปกติก็ 2 รอบ แล้วติดไว้ไปขายในวัยรุ่งขึ้น"
ส่วนที่ บงล. ธนานันต์ ซึ่งเปิดเป็นสาขามาตั้งแต่ปี 2521 นั้น สุวิไล สังยะ
หัวหน้าส่วนค้าหลักทรัพย์ยอมรับว่า "มีการแข่งขันสูงมากในเชียงใหม่
ลูกค้ามักจะเล่นแบบเก็งกำไรมากกว่าพวกที่ลงทุนระยะยาว ลูกค้าที่ใช้บัญชีกู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ที่นี่มีประมาณ
10 ราย เพราะมีเจ้าหน้าที่ดูแลน้อย"
สุวิไลซึ่งทำงานกับธนานันต์มาเป็นเวลานานแต่เพิ่งย้ายมาอยู่ห้องค้าเมื่อ
2 ปีที่ผ่านมาเปิดเผยด้วยว่า "อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของบัญชีเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์นั้นคิดบวก
2.5% สมมติหน้าตั๋ว 9% จะคิดเพิ่มเข้าไปอีก 2.5%"
ธนานันต์แม้จะเปิดมาเป็นเวลานาน แต่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นไม่สูงนัก เฉลี่ยประมาณ
20 ล้านบาท/วัน มีลูกค้ามานั่งซื้อขายประจำวันประมาณ 50 คนส่วนมากเป็นลูกค้าเก่าและเป็นข้าราชการบำนาญมากที่สุด
รองลงมาเป็นกลุ่มแม่บ้านกลุ่มพ่อค้านั้นมีบ้างแต่เป็นส่วนน้อย
ทางด้าน บงล. สินเอเซียซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการเฉพาะการซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อ
22 มกราคมที่ผ่านมา ธงชัย ณ เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่การตลาดอาวุโสของที่นี่เปิดเผยว่า
"ลูกค้าที่ใช้บัญชีเงินกู้เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ของสินเอเซียมีประมาณ
30% วงเงินกู้สูงสุดตอนนี้มี 40 ล้านบาท ส่วนมากลูกค้าจะเล่นเก็งกำไรและเล่นกลุ่มหุ้นตามนักลงทุนในกรุงเทพฯ
เพราะข้อมูลจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่นั้นรวดเร็วมาก"
ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของสินเอเซีย เนื่องจากมาเปิดใหม่จึงยังไม่สูงนัก
มีปริมาณ 10-15 ล้านบาท/วัน มีลูกค้าซื้อขายประจำวันละ 15 ราย เป็นลูกค้าใหม่เสียประมาณ
50% ที่เหลือมาจากห้องค้าอื่นบ้าง และเป็นนักธุรกิจ/ค้าขาย
ธงชัยมีความเห็นว่า "แนวโน้มของการเล่นหุ้นในเชียงใหม่น่าจะเพิ่มขึ้น
แม้ว่าสภาพการแข่งขันจะสูงมากก็ตาม แต่การให้ความรู้แก่นักลงทุนมากก็จะทำให้คนสนใจเข้ามาซื้อขายกันมากด้วย"
อนันต์ กิมสุวรรณ ผู้จัดการสำนักงานบริการด้านหลักทรัพย์ของ บงล. เอ็มซีซี
ที่เชียงใหม่มองเรื่องการแข่งขันว่า "ผมคิดว่าโบรกเกอร์ที่นี่ดูเหมือนจะสามัคคีกันทำธุรกิจมากกว่า
อย่างน้อยเอ็มซีซีก็ไม่มีการแข่งขันกับใคร และทางสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ
ก็ไม่ได้กำหนดเป้าให้เราแข่งขันอย่างรุนแรงด้วย"
ปริมาณการซื้อขายของเอ็มซีซียังไม่ค่อยมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะเพิ่งมาเปิดสำนักงานบริการฯ
และอีกส่วนหนึ่งอนันต์บอกว่า "ผมค่อนข้างเลือกลูกค้า" ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยในเวลานี้ประมาณวันละ
10 ล้านบาท มีลูกค้าเปิดบัญชีเกือบ 90 ราย ที่เข้ามาซื้อขายประจำวันมีอยู่ราว
16 ราย โทรศัพท์สั่งซื้อขายประมาณ 8 ราย ลูกค้าส่วนมากเป็นพ่อค้า มีอาจารย์มหาวิทยาลัยบ้าง
4-5 คน
อนันต์มองว่าปริมาณการซื้อขายในตอนนี้ดีกว่าเมื่อมาเปิดสำนักงานในเดือนธันวาคม
2534 ซึ่งมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 4-5 ล้านบาทเท่านั้น
เขาคาดหมายด้วยว่าหากมีการเปิดเทรด 2 รอบ รายได้โบรกเกอร์น่าจะดีขึ้น แต่คนเล่นอาจจะไม่ค่อยชอบนักเพราะต้องใช้เวลามากเกินไป
นักลงทุนส่วนใหญ่ในเชียงใหม่จะเล่นหุ้นในช่วงเช้าและทำธุรกิจในช่วงบ่าย คนที่เล่นหุ้นเต็มตัวมีเป็นจำนวนน้อย
สัดส่วนลูกค้าที่ใช้บัญชีเงินกู้เพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์มีน้อยมากเพียง
4 รายเท่านั้น อัตราดอกเบี้ยคิดสูงกว่าหน้าตั๋ว 1% ลูกค้าที่ใช้บัญชีเงินกู้เพื่อซื้อขายฯ
ตอนนี้ที่มี PORTFOLIO สูงสุดมีวงเงินเพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนรายที่เป็นเงินสดนั้น
PORTFOLIO สูงสุด 20 ล้านบาท
ทัยวรรณ จิตตวัฒนา ผู้จัดการสำนักงานบริการหลักทรัพย์ บล. เอเซียเปิดเผยว่า
"บริษัทฯ ไม่มีลูกค้ามาร์จิ้นเลย ลูกค้ามากกว่า 50% คือร้านค้าในตัวเมือง
หมอ อาจารย์มหาวิทยาลัย และพนักงานในบริษัทประกันภัยที่เป็นระดับผู้จัดการก็มีส่วนนี้จะมาเป็นกลุ่ม"
กลยุทธ์การเจาะตลาดของทัยวรรณที่น่าสนใจมาก เขาพยายามเจาะกลุ่มลูกค้าที่ติดค้างพอร์ทฯ
ไว้ตั้งแต่สมัยวิกฤติการณ์อ่าวเปอรเซีย เขาเล่าว่า "มีลูกค้าคนหนึ่งขาดทุนตั้งแต่สมัยซัดดัมประมาณ
45 ล้านบาท ผมก็ช่วยแก้ให้ ตอนนี้เหลือติดอยู่แค่ 10 ล้านบาทเท่านั้น ผมเห็นว่าตลาดลูกค้ากลุ่มนี้มีอยู่ไม่น้อย
หากช่วยแก้ไขให้พวกเขาได้ ก็จะเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญทีเดียว"
นอกจากนี้ทัยวรรณยังมีแผนการตลาดด้วยการจัดอบรมความรู้เรื่องหลักทรัพย์แก่ลูกค้า
จัดสัมมนาทุกเดือน ๆ ละ 2 ครั้ง ๆ ละไม่เกิน 25 คน การจัดแต่ละครั้งปรากฏว่ามีคนกลับมาเทรดกับบริษัทฯ
เอเซียประมาณ 10 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจไม่น้อย
ทัยวรรณตั้งเป้าไว้ในไตรมาสแรกของปีนี้ว่าจะทำปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยวันละ
15 ล้านบาท ทั้งที่หากเทรดวันละ 5 ล้านบาทก็ถึงจุดคุ้มทุนแล้วแต่ตอนนี้เทรดมากขึ้นก็จะถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้น
นอกจากเจาะตลาดลูกค้าเก่าที่เจ็บตัวมาคราววิกฤตอ่าวเปอร์เซียแล้ว ทัยวรรณยังมีลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยเจ็บตัวมาก่อนเข้ามาซื้อขายอยู่ไม่น้อย
แต่เขามีความเห็นว่า "ลักษณะการตัดสินใจซื้อขายของคนเชียงใหม่ค่อนข้างเป็นตัวของตัวเองมาก
ตัดสินใจช้ากว่าจะซื้อหรือขายตามที่โบรกเกอร์บอก ราคาก็มักจะเคลื่อนไหวห่างออกไปแล้ว"
อันที่จริงพฤติกรรมการเล่นหุ้นของคนในเชียงใหม่ก็ไม่ต่างไปจากจังหวัดอื่น
ๆ กระทั่งในกรุงเทพฯ มากนัก คือนิยมการเก็งกำไร เทรดวันละหลายรอบ ใช้บัญชีเงินกู้เพื่อซื้อขายฯ
มีที่พิศดารออกไปซึ่งดูเหมือนจะเริ่มทำกันให้เห็นประปรายคือการใช้โพยหุ้นที่โบรกเกอร์จัดทำในแต่ละวัน
การจับกลุ่มเพื่อต่อรองขอลดค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหุ้น และการเล่นแบบ
"จับเสือมือเปล่า" คือเปิดบัญชีไว้แล้วจ่ายหรือรับเงินเฉพาะส่วนต่างของการซื้อขาย
แต่ไม่ได้ใช้เงินเพื่อการซื้อขายจริงและการทำชอร์ตเซลล์
พฤติกรรมทั้ง 3-4 แบบถือเป็นการผิดกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯ
แหล่งข่าวเปิดเผยว่ามีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งประมาณ 4-5 คนซึ่งมีพฤติกรรมต่อรองขอลดค่านายหน้าซื้อขายหุ้นกับโบรกเกอร์
ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นเจ้าของที่ดินแถบสันกำแพง มีธุรกิจโรงแรมและห้างสรรพสินค้าในเชียงใหม่
คนกลุ่มนี้จะมีการเปิดบัญชีในหลายโบรกเกอร์ เกือบทุกแห่งก็ว่าได้
ระยะแรกเป็นความพยายามรวมตัวในฐานะนักลงทุน มีการขอความสนับสนุนช่วยเหลือด้านเงินทองจากโบรกเกอร์เพื่อการจัดงานต่าง
ๆ ในชมรม ซึ่งโบรกเกอร์หลายรายก็ยอมเพราะมีการสัญญาว่าจะเพิ่มปริมาณการซื้อขายหรือช่วยแนะนำลูกค้าเข้ามาให้
แต่ในเวลาต่อมากลับเหลว
นักลงทุนกลุ่มนี้จะตระเวณขอลดค่านายหน้ากับโบรกเกอร์แต่ละราย บางรายก็รับบางรายปฏิเสธ
ปริมาณการซื้อขายที่นักลงทุนกลุ่มนี้ต่อรองเพื่อขอลดค่านายหน้าสูงถึง 200
ล้านบาท/เดือน
ปริมาณขนาดนี้ก็ชวนให้โบรกเกอร์ทั้งหลาย "น้ำลายหก" อยู่เหมือนกัน!!
ส่วนเรื่องโพยหุ้นนั้นมีการจัดทำกันหลายราย บางรายก็ได้ผลดีมีอัตราถูกประมาณ
70-80% เช่นโพยหุ้นของ บงล. เกียรตินาคิน แต่ที่เจ็บตัวก็มีเพราะพฤติกรรมตัดสินใจของคนเชียงใหม่ที่ว่าช้า
กว่าจะเข้าราคาก็ลงไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการทำชอร์ตเซลล์หรือโบรกเกอร์บางรายอนุญาตให้ลูกค้าทำการซื้อขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นอยุ่ในบัญชีจริง
และการซื้อขายแบบ "จับเสือมือเปล่า"
แหล่งข่าวเปิดเผยว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเช่นนี้ส่วนหนึ่งมาจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากในหมู่โบรกเกอร์ในเชียงใหม่
แต่อีกส่วนก็มาจากการริเริ่มต่อรองของลูกค้าเองเช่นเรื่องของการขอลดค่านายหน้า
"หากโบรกเกอร์ยังมีพฤติกรรมเช่นนี้และยอมให้ลูกค้ามาต่อรองอย่างผิดกฎระเบียบ
ต่อไปนักลงทุนในเชียงใหม่จะนิสัยเสียกันไปหมด" แหล่งข่าวในวงการค้าหลักทรัพย์เชียงใหม่ให้ความเห็น
ในส่วนของนักลงทุนนั้น ประพันธ์ บูรณุปกรณ์ ประธานชมรมนักลงทุนจังหวัดเชียงใหม่
และเป็นผู้อำนวยการบริษัท P.COLLECTION มีหุ้นส่วนใหญ่ในโรงแรมดิ เอมเพรสและเป็นเจ้าที่ดินแถบสันกำแพงกับเจ้าของโครงการหมู่บ้านสวนนทรีย์ให้ความเห็นกับ
"ศูนย์ข่าวผู้จัดการ เชียงใหม่" ว่า "นักลงทุนในเชียงใหม่เริ่มหันมาทำการซื้อขายแบบเก็งกำไรในชั่วโมงเทรดกันมากขึ้น
โดยเฉพาะช่วงที่ตลาดบูมจะมีการสั่งซื้อขายไม่ต่ำกว่าวันละ 2 รอบ ส่วนมากเป็นนักลงทุนที่ใช้บัญชีมาร์จิ้น
พวกที่เปิดบัญชีเงินสดจะเก็งกำไรไปวัน ๆ"
ตัวประพันธ์นั้นเปิดบัญชีไว้ทั้งสองประเภท เพื่อที่ว่าเมื่อเล่นแบบเก็งกำไรก็ใช้มาร์จิ้น
หากซื้อเพื่อลงทุนระยะปานกลางก็จะใช้บัญชีเงินสด และประพันธ์มีบัญชีอยู่กับหลายโบรกเกอร์
"เพราะส่วนใหญ่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกันในระดับหนึ่ง" ประพันธ์กล่าว
ว่ากันว่าประพันธ์และนักลงทุนในชมรมฯ ของเขาเป็นกลุ่มลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่
ตัวประพันธ์ พี่สาวซึ่งรู้จักกันในนามกลุ่มทัศนาพรและน้องชายชื่อวิชิต บูรณุปกรณ์
ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงแรมดิ เอมเพรสนั้นก็เป็นกลุ่มที่รวยแบบเงียบ ๆ และรวยมากด้วย
ตัววิชิตเองนั้นก็เล่นหุ้นอยู่ไม่น้อย
เชียงใหม่เป็นตัวอย่างของการลงทุนด้านหลักทรัพย์ในระดับภูธรที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
หุ้นที่นักลงทุนเหล่านี้เล่นส่วนมากก็เป็นกลุ่มเดียวกับที่นักลงทุนในกรุงเทพฯ
ให้ความสนใจ เช่นกลุ่มแบงก์ อสังหาริมทรัพย์และไฟแนนซ์
เรียกได้ว่าเล่นกันเฉพาะกลุ่มหุ้นท้อปเทนหรือหุ้น 10 ตัวแรกที่มีมูลค่าการซื้อขายมากเท่านั้น
และหุ้นกลุ่มนี้ก็เป็นตัวกำหนดทิศทางดัชนีตลาดฯ ว่าจะขึ้นหรือลง
ส่วนในแง่ของข่าวสารข้อมูล นักลงทุนในเชียงใหม่ได้รับข้อมูลที่ไม่ได้ด้อยหรือล่าช้าไปกว่านักลงทุนในกรุงเทพฯ
แม้แต่น้อย เพราะประสิทธิภาพของระบบสื่อสารที่โบรกเกอร์ต้องยอมลงทุนเพื่อแข่งขันการให้บริการ
ทุกโบรกเกอร์มีกระดานอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรายงานราคาหุ้น บางแห่งมีทีวีวอลล์เพิ่มเข้ามา
มีจอคอมพิวเตอร์ให้ลูกค้าตรวจสอบพอร์ทฯ และห้องวีไอพีเพื่อบริการลูกค้าพิเศษ
ฯลฯ
แม้ว่าสัดส่วนนักลงทุนในเชียงใหม่จะยังมีเป็นจำนวนน้อยคือประมาณร้อยละ
0.2% ของประชากรเชียงใหม่ แต่ในอนาคตอัตราการเพิ่มจะรวดเร็วมากขึ้น เป็นที่คาดหมายด้วยซ้ำว่าอัตราการเพิ่มของนักลงทุนภูธรจะทำให้การขยายตัวของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปีนี้
นอกจากเชียงใหม่แล้ว จังหวัดใหญ่ ๆ ในภาคอื่น ๆ ก็ขยายตัวในอัตราที่สูงไม่น้อยไปกว่ากัน
สวัสดิ์เปิดเผยว่า "ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศรีมิตรมียอดการลงทุนของสาขาและสำนักงานบริการในต่างจังหวัดรวมกันประมาณ
4,000 ล้านบาท สาขาที่เชียงใหม่มีปริมาณการซื้อขาย 1,200 ล้านบาท ส่วนสาขาที่หาดใหญ่มีอัตราการขยายตัวรองลงมาคือซื้อขายประมาณ
920 ล้านบาท นครสวรรค์และขอนแก่นแห่งละ 440 ล้านบาท ที่โคราช อุดรฯ อุบลฯ
และสุรินทร์แห่งละ 300 ล้านบาท"
นั่นเป็นตัวเลขที่น่าสนใจไม่น้อย มันสะท้อนอย่างชัดเจนว่าพลังการลงทุน/พลังการซื้อและเก็งกำไรของนักลงทุนภูธรมีอัตราสูงขนาดไหน
ในปริมาณการซื้อขายของศรีมิตรทั้งปี 2534 ซึ่งมีปริมาณสูงถึง 98,200 ล้านบาทนั้น
สวัสดิ์เปิดเผยตัวเลขว่า "เป็นสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนภูธร 27%
จากต่างประเทศกลุ่มที่ผ่าน BARING 18% ที่เหลือเป็นนักลงทุนในกรุงเทพฯ 45%"
ตัวเลขของศรีมิตรซึ่งเป็นโบรกเกอร์รายใหญ่ และมีปริมาณการซื้อขายจากต่างจังหวัดในอัตราที่สูงมากสะท้อนภาพการขยายตัวของนักลงทุนภูธรได้อย่างชัดเจน
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2535 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขยายเวลาการซื้อขายหลักทรัพย์ออกเป็น
2 รอบ รวมทั้งการเปิดศูนย์บริการผู้ลงทุนในต่างจังหวัด แผนการนี้จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นการขยายตัวของนักลงทุนภูธรมากขึ้น
คาดหมายกันว่านักลงทุนภูธรจะขยายตัวเพิ่มจากปัจจุบันที่มีปริมาณการซื้อขายราว
20% ของปริมาณการซื้อขายรวมของตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละวัน