ในปัจจุบันนี้สื่อมวลชนได้มีอิทธิพลในทางความคิด และทัศนะคติของประชาชนเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นทางหนังสือพิมพ์
โทรทัศน์ หรือสื่อใด ๆ ก็ตามซึ่งอาจทำให้มุมมองของผู้รับสื่อนั้นเปลี่ยนไปในทางบวกหรือลบตามสิ่งที่เสนอ
ความขัดแย้งและการกระทบกระทั่งระหว่างสื่อมวลชนและผู้ถูกเป็นข่าวไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง,
ข้าราชการ, ผู้มีอำนาจวาสนาหรือประชาชนทั่วไป เกิดขึ้นเสมอในทุกยุคทุกสมัยยังผลให้มีการตรากฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ
ในการเสนอข่าวคือ ป.ร. 42 ขึ้นในสมัยรัฐบาลเผด็จการ แต่ก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
แต่ก็มีกฎหมายที่จำเป็นต้องมีโดยเป็นกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนทั่ว ๆ ไป
จากการใช้สิทธิเสรีภาพอันเกินขอบเขตของสื่อมวลชนจนก่อให้เกิดความเสียหาย
คือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และมีกฎหมายที่ใช้เยียวยาความเสียหายต่อชื่อเสียงของประชาชนในการเสนอข่าวอันเป็นเท็จ
ซึ่งอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 438
เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการนำเสนอกฎหมาย 2 ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติร่าง
พ.ร.บ. แรกคือ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในหมวดความผิดต่อชื่อเสียงโดยเฉพาะความผิดฐานหมิ่นประมาท
โดยแก้ไข 2 มาตราหลักคือ แก้ไขมาตรา 326 โดยเพิ่มโทษการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดากับบุคคลธรรมดาให้สูงขึ้นแต่สิ่งที่สำคัญก็คือ
การแก้ไขมาตรา 328 โดยให้ยกเลิกมาตรา 328 เก่า และใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา
328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี
ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง
บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียงหรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"
มาตราที่กล่าวถึงเป็นมาตรการหมิ่นประมาทโดยสื่อมวลชนให้มีโทษสูงขึ้นโดยมีระวางโทษสองปี
และปรับไม่เกินสองแสนบาท คือศาลมิอาจตัดสินให้จำคุกหรือปรับเพียงอย่างเดียว
ศาลต้องลงโทษโดยจำคุกและปรับแต่ความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญาก็อยู่บนหลักการเดิมคือ
ไม่ว่าการใส่ความนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม หากเป็นการทีทำให้ผู้ถูกใส่ความถูกดูหมิ่นเกลียดชังก็จะไม่เป็นความผิดในฐานนี้ยกเว้นการใส่ความนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ในทางแพ่งก็มีการแก้ไขโดยมีร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535 แก้ไขเฉพาะ 2 มาตรา คือ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 438
ซึ่งว่าด้วยหลักการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด โดยเพิ่มเติม "ภายใต้บังคับ
447 ทวิ" และมาตรา 447 ทวิ ก็ได้บัญญัติว่า "มาตรา 447 ทวิ ความเสียหายตามมาตรา
423 วรรคหนึ่งถ้าเป็นการกระทำโดยการโฆษณาด้วยหนังสือพิมพ์วิทยุกระจายเสียง
วิทยุโทรทัศน์ หรือด้วยสื่อมวลชนอย่างอื่นให้ศาลกำหนดให้เท่ากับเงินจำนวนยี่สิบเท่าของอัตราโทษปรับขึ้นสูงที่กำหนดไว้ในมาตรา
328 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเว้นแต่จะมีการพิสูจน์ความเสียหายได้มากกว่านั้น"
ซึ่งในมาตรา 438 เดิมได้บัญญัติว่า "ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้ได้สถานใดเพียงใดนั้นให้อ้างวินิจฉัยสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด"
อันเป็นการบัญญัติให้สอดคล้องกับหลักนิติประเพณีซึ่งบัญญัติใช้มาเป็นเวลาหลายพันปีคือ
หลักสินไหมทดแทนต้องพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิดและต้องดูความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับจริงในทางแพ่ง
เช่น เสียหาย 100 บาท ก็ต้องได้รับค่าสินไหมทดแทน 100 บาท จะรับ 110 บาทมิได้
เพราะมิฉะนั้นแล้วจะเกิดการค้าความกันขึ้น
แต่ในมาตรา 447 ทวิ ได้ให้ศาลกำหนดค่าเสียเท่ากับเงินจำนวน 20 เท่า ของอัตราโทษปรับขั้นสูงที่กำหนดไว้ในมาตรา
328 แห่งประมวลกฎหมายอาญาคือ 200,000 บาท เป็น 4,000,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราขั้นต่ำที่ศาลกำหนด
และศาลยังสามารถที่จะกำหนดค่าสินไหมมากกว่าสี่ล้านบาท หากพิสูจน์ได้ว่าผู้เสียหายได้เสียหายเกินกว่านั้นซึ่งเป็นช่องทางในการค้าความได้เป็นอย่างดี
ผู้ถูกหมิ่นประมาทไม่จำเป็นจะต้องพิสูจน์ถึงความเสียหายที่ตนได้รับจริง
เพียงแต่ถูกสื่อมวลชนหมิ่นประมาทก็ได้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนสี่ล้านบาทแล้ว
จากหลักการและเหตุผลในการร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฉบับนี้ ได้มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขดังนี้
"ได้มีกระทำความผิดฐานความผิดนี้มาก ซึ่งโทษจากการกระทำความผิดมิได้กำหนดให้เหมาะสมกับความเสียหายทำให้ผู้กระทำความผิดไม่เกรงกลัวต่อบทบัญญัติกฎหมาย
สมควรจะกำหนดค่าเสียหายขั้นต่ำไว้" จะเห็นได้ว่าหลักการนี้เป็นหลักการที่จะให้ผู้กระทำความผิดเกรงกลัวต่อบทบัญญัติกฎหมายจึงกำหนดค่าเสียหายขั้นต่ำไว้
ซึ่งเป็นแนวคิดของกฎหมายอาญา โดยการสร้างความเสียหายเมื่อกระทำความผิด (PUNITIVE
DAMAGE) ซึ่งขัดต่อหลักของกฎหมายละเมิดที่ว่า การชดใช้ค่าเสียหายนั้นชดใช้ให้แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น
บทบัญญัติมาตรา 447 ทวิ จึงเป็นกฎหมายแพ่งที่นำแนวคิดกฎหมายอาญามาใช้ร่วมกัน
จึงทำให้หลักกฎหมายแพ่งของไทยถูกทำลาย
ไม่ควรที่จะมีการเชื่อมโยงระหว่างค่าเสียหายทางแพ่งตามมาตรา 447 ทวิ กับกฎหมายอาญามาตรา
328 คือ ให้ศาลกำหนดค่าเสียหายให้เท่ากับจำนวนเงินยี่สิบเท่าของโทษปรับขั้นสูง
ที่กำหนดในมาตรา 328 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเพราะเหตุว่าประมวลกฎหมายแต่ละฉบับไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง,
วิธีพิจารณาความอาญาหรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, ประมวลกฎหมายอาญา ต่างบัญญัติด้วยเหตุผลและหลักการที่แตกต่างกันความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในกฎหมายแตกต่างกัน
เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นการบัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน
ซึ่งมีความเท่าเทียมกัน
แต่ประมวลกฎหมายอาญาเป็นการบัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งรัฐจะเป็นผู้มีอำนาจในการบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายและสามารถลงโทษได้ในกรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย
ประมวลกฎหมายต่าง ๆ จึงต้องมีเอกภาพแยกออกจากกัน การบัญญัติกฎหมายหมิ่นประมาทดังกล่าวจึงเป็นการไม่ถูกต้อง
ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 447 ทวิ ได้กำหนดโทษสูงกว่าค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากฐานความผิดดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
ซึ่งตามกฎหมายอาญาทั่ว ๆ ไป เจ้าพนักงานเช่น ตำรวจ, นายอำเภอ, ข้าราชการ
ที่ปฏิบัติตามหน้าที่จะต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมากกว่าบุคคลธรรมดาเพราะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่อันเป็นประโยชน์กับรัฐนั้น
ๆ
จากข้อสังเกตบางประการในขั้นต่ำทำให้เห็นได้ว่าพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง
และประมวลกฎหมายอาญาทั้งสองฉบับ ทำให้ศาลขาดอิสระในการพิจารณาคดีและมีการกำหนดให้ใช้ดุลยพินิจโดยไม่มีความแตกต่างและยังทำลายหลักกฎหมายแพ่ง
เช่น กำหนดค่าเสียหายเป็น PUNITIVE DAMAGE, ขัดต่อหลักที่ต้องดูความเสียหายจากความเป็นจริงและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการชดใช้ค่าเสียหาย