โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนส่วนที่ 1 ขั้นที่ 1 ในกรุงเทพฯ ของลาวาลินที่ยืดเยื้อกันมานานถึง
3 ปี ในที่สุดก็วิ่งฝ่าเส้นชัยไปได้ถึงแม้จะไม่ค่อยราบรื่นนักก็ตาม
การเซ็นสัญญาโครงการรถไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ท่ามกลางผู้ร่วมงานซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้ร่วมทุน
นักธุรกิจ และผู้สื่อข่าวที่ต้องการมาดูให้แน่ชัดว่าโครงการนี้จะได้เกิดจริงหรือไม่
หลังจากที่การจัดงานเซ็นสัญญาครั้งแรกต้องล้มเลิกไปเนื่องจากไม่สามารถแปลเอกสารสัญญาจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษได้ทัน
ก่อนหน้าที่การเซ็นสัญญาจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการทางกลุ่ม ช. การช่าง
ซึ่งนำทีมโดยปลิว ตรีวิศวเวทย์และตัวแทนจากบริษัทบิลฟิงเกอร์ แอนด์ เบอร์เกอร์ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการนี้
ได้ประท้วงขอให้มีการเปลี่ยนแปลงเอกสารท้ายสัญญาในนาทีสุดท้ายก่อนที่การลงนามจะเริ่มขึ้น
เนื่องจากไม่พอใจกับร่างสัญญาบางประเด็นที่ทำให้กลุ่มลาวาลินต้องเสียเปรียบ
ในขณะที่การทางพิเศษฯ ไม่ยอมรับค่าความเสี่ยงที่กลุ่มลาวาลินต้องการให้รับผิดชอบร่วมกัน
มีข้อความตอนหนึ่งที่การทางพิเศษฯ ได้เขียนใส่ไว้ในเอกสารท้ายสัญญาซึ่งเป็นการปกป้อง
การทางพิเศษฯ ในกรณีที่ราคาของระบบรถไฟฟ้าสูงขึ้นจนไม่สามารถจะระดมเงินทุนจากกลุ่มผู้ลงทุนได้ก็ให้ยกเลิกโครงการซึ่งการทางพิเศษฯ
จะไม่ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในระหว่างที่มีการเจรจากันมาจนถึงวันเซ็นสัญญา
การเจรจาเพื่อหาข้อยุติในเรื่องของค่าความเสี่ยงนี้จบลงตรงที่ว่า ภายใน
1 เดือนนี้ลาวาลินจะต้องคำนวณราคาตัวรถไฟฟ้าส่งให้กับการทางพิเศษฯ ซึ่งจากการสอบถามจากบรรดาผู้ประกอบการรถไฟฟ้าปรากฎว่าระบบนี้ต้องใช้งบประมาณในส่วนตัวรถไฟฟ้าประมาณ
20,000 ล้านบาท ซึ่งหากว่าราคาสูงมากกว่านี้ลาวาลินจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง
การทางพิเศษฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนที่เพิ่มขึ้นด้วย
ภายหลังจากที่การเซ็นสัญญาผ่านไป ทางกลุ่มลาวารินและการทางพิเศษฯ ยังคงหารือกันต่อไปในข้อตกลงบางเรื่องที่ยังไม่มีการตกลงกันอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะทางกลุ่มลาวาลินจะต้องเสนอแผนการเงินลงทุนมาให้การทางพิเศษฯ ภายใน
9 เดือน นับจากวันเซ็นสัญญา ซึ่งคาดว่าจะต้องมีการปรับเงินค่าลงทุนให้สูงขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้เนื่องจากความล่าช้าของโครงการที่มีมากว่า 3 ปีนั่นเอง
"ในความเห็นของการทางพิเศษฯ แล้วลาวาลินไม่ควรจะปรับราคาขึ้นไปอีก
หรือถ้าจะปรับก็ไม่ควรเกิน 4% เพราะเขาปรับมาแล้วหลายครั้ง อีกประการหนึ่งในปีนี้ราคาวัสดุก่อสร้างก็ถูกลง
เขาไม่น่าจะปรับราคาให้สูงขึ้นมาอีก เขาน่าจะปรับราคาให้ต่ำลงมาอีกด้วยซ้ำ"
แหล่งข่าวระดับสูงของการทางพิเศษฯ ให้ข้อคิดเห็นในเรื่องของการปรับเงินค่าลงทุนของกลุ่มลาวาลินโครงการรถไฟฟ้า
ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้ามีมูลค่าการลงทุนประมาณ 68,000 ล้านบาท (ไม่รวมค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน)
ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีมูลค่าเพียง 42,000 ล้านบาท ในขณะที่ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพิ่มจาก
5,000 ล้านบาทเป็น 18,000 ล้านบาทในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
แหล่งข่าวในลาวาลินได้อธิบายถึงมูลค่าโครงการในส่วนที่เพิ่มขึ้นว่าตัวเลข
42,000 ล้านบาทเป็นการคิดคำนวณราคาเบื้องต้นในปี 2531 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของเงินเฟ้อซึ่งช่วง
4 ปีที่ผ่านมามันเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในขณะที่ต่างประเทศขึ้นเพียง 10% เศษเท่านั้น
อีกส่วนหนึ่งเป็นการคำนวณผิดพลาดของทางลาวาลินในเรื่องการโยกย้ายระบบสาธารณูปโภคของรัฐที่มีอยู่เดิมไม่ว่าจะเป็นท่อระบายน้ำ
ท่อประปา สายโทรศัพท์ที่ฝังอยู่ในดิน ซึ่งทางลาวาลินไม่ได้คำนวณค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ด้วย
รวมถึงค่าใช้จ่ายในบางกรณีที่ไม่ได้คิดว่าจะเกิดขึ้น อย่างเช่นการขุดทางรถไฟใต้ติดซึ่งตามร่างใหม่ของการทางพิเศษฯ
จะมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตรช่วงลานพระรูปทรงม้าปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อขุดลงไปแล้วมันลอยต้องฝังรากเพื่อไม่ให้มันลอยขึ้นมา
ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทำให้การคำนวณผิดพลาดหมด
จากตัวเลขประมาณการด้านการเงินและการลงทุนในโครงการนี้ทั้งหมดจะอยู่ราว
72,296 ล้านบาท และได้มีการแบ่งสัดส่วนดังนี้คือ ในส่วนของ "ทุน"
นั้นจะมาจากรัฐบาลไทย 25% หรือประมาณ 2,800 ล้านบาท จากกลุ่มผู้ลงทุนของลาวาลินซึ่งประกอบด้วยบริษัทลาวาลินอินเตอร์เนชั่นแนล
บริษัท ช. การช่าง บริษัทชิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นและบริษัทบิลฟิงเกอร์
แอนด์เบอร์เกอร์โบว์แอทเทียเซลแซพท์จำนวน 4,589 ล้านบาท กลุ่มผู้ลงทุนรายอื่น
3,811 ล้านบาท เงินช่วยเหลือ CAPITAL CONTRIBUTION (GRANT) 1,693 ล้านบาท
และเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำจาก EDC (EXPORT DEVELOPMENT CORPORATION) 6,096
ล้านบาท รวมทุนทั้งหมด 18,995 ล้านบาท
ส่วนของเงินกู้จะอยู่ในราว 42,880 ล้านบาทในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานในเฟส
1 จำนวนประมาณ 10,421 ล้านบาท
สำหรับเงินลงทุนในส่วนของที่ดินนั้นรัฐบาลจะจ่ายค่าเวนคืนที่ดินจำนวน 28,000
ล้านบาทโดยที่ลาวาลินจะจ่ายคืนให้กับรัฐบาลสำหรับโครงการส่วนที่ 1 ขั้นที่
1 จำนวน 18,000 ล้านบาทในช่วงปีที่ 13-ปีที่ 30 ของสัญญาสัมปทาน
และขั้นตอนของการดำเนินงานหลังจากวันเซ็นสัญญาเป็นต้นไป ในส่วนของกลุ่มลาวาลินจะต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ในนามของ
"บริษัทบางกอกสกายเทรน คอร์ปอเรชั่น คอนซอร์เตียม" (บีเอสซีซี)
โดยมีทุนจดทะเบียน 11,200 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการลงทุนการก่อสร้าง
และการบริหารงานโครงการรถไฟฟ้าทั้งหมด โดยมีแผนงานดังนี้คือระหว่างปี 2535
-2537 เป็นช่วงของการจัดตั้งบริษัท การจัดหาเงินลงทุนและออกแบบรายละเอียดของโครงการทั้งหมด
ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่การทางพิเศษฯ ทำการเวนคืนที่ดินและส่งมอบพื้นที่ให้ได้ในปี
2537 จากนั้นกลุ่มลาวาลินจะดำเนินการก่อสร้างจนเสร็จสิ้นในปี 2540 เส้นทางสายสาธร-ลาดพร้าวจะเปิดให้บริการได้ก่อนในปี
2538 ส่วนสายพระโขนง-บางซื่อจะเปิดดำเนินการในปี 2540
สำหรับอัตราค่าโดยสารในโครงการรถไฟฟ้ากำหนดไว้ 5 สถานีแรกจะเก็บในอัตรา
5 บาทหลังจากนั้นจะเก็บเพิ่มสถานีละ 1 บาทและอัตราค่าโดยสารตลอดทาง 19 บาท
แต่ในปีที่เปิดให้บริการอาจมีการเพิ่มค่าโดยสารมากกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับค่าแรง
อัตราเงินเฟ้อ และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างซึ่งเรื่องนี้หากมีการปรับเพิ่มจะต้องขออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งหนึ่ง
อีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนให้ความสนใจคือเรื่องของการพัฒนาที่ดินบนเนื้อที่
720 ไร่ในเขตทาง ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาที่ดินจำนวนหลายรายคือบริษัทชิโนไทยเรียลเอสเตท
กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มอัมรินทร์ บริษัท ช. การช่างเรียลเอสเตท เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์
บางกอกแลนด์ รวมทั้งบริษัทต่างชาติอย่างญี่ปุ่นและฮ่องกงด้วย
"เราให้ที่ปรึกษาทางการเงินมาคำนวณตัวเลขให้แน่ชัดว่าควรจะลงทุนเท่าไหร่ซึ่งจะรู้ผลในอีก
2 เดือนข้างหน้า ซึ่งอันนี้ถือเป็นไพ่ที่เรากอดไว้โดยเราจะดูว่าถ้าหุ้นเราไม่พอ
ใครอยากได้เรียลเอสเตทก็ต้องมาลงหุ้นเพื่อแลกกับการซื้อสิทธิ์ในการพัฒนาที่ดิน
ซึ่งบริษัทบีเอสซีซีก็จะได้ผลประโยชน์ 2 ช่วงคือในวันที่ให้สิทธิ์จะจ่ายกี่พันล้านก็ว่าไปแต่ต้องลงุทนซื้อหุ้นของบริษัทด้วย
และรายได้จากการพัฒนาที่ดินก็ต้องแบ่งให้เราทุกปีด้วย" แหล่งข่าวในลาวาลินเล่าให้ฟังถึงวิธีการในการให้สิทธิ์ผู้ที่ต้องการเข้ามาพัฒนาที่ดินในโครงการรถไฟฟ้า
พื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในการพัฒนาจะอยู่ที่โรงซ่อมบำรุงหรือพื้นที่เวิร์คชอปริมถนนพระรามที่
9 ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 350 ไร่โดยการพัฒนาจะออกมาในรูปของอาคารสูง ด้านล่างสุดจะเป็นโรงซ่อมบำรุงส่วนด้านบนจะเป็นตึกสูงขนาดพื้นที่ที่จะสร้างประมาณ
400,000 ตารางเมตรอีกส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนาที่ดินบริเวณที่จอดรถผู้โดยสาร
(PARK&RIDE) ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 5 แห่งโดยมีพื้นที่จากการพัฒนาทั้งหมดรวมกันประมาณ
40,000 ตารางเมตร