ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศออกมาแล้วว่าจะมีการเปิดใบอนุญาตจัดการกองทุน
5 ใบในปีนี้ โดยผู้ที่มีสิทธิได้รับใบอนุญาตนั้น จะต้องเป็นสถาบันการเงินที่มีผลการดำเนินงานดี
เป็นผู้ที่ให้ความร่วมมือกับทางราชการในการแก้ไขปัญหาทางการเงินที่สำคัญต่าง
ๆ มีความรู้ความสามารถในการจัดการกองทุน
ส่วนบริษัทจัดการกองทุนที่สถาบันการเงินฯ ผู้ได้ใบอนุญาตจะจัดตั้งขึ้นนั้น
ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ทำโครงการลงทุนแบบปิด (CLOSE-END
FUND) โดยมีมูลค่าโครงการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
บรรดาธนาคารพาณิชย์รายใหญ่มีความสนใจในใบอนุญาตนี้มาก ปัจจุบันมีการยื่นขอกันรวม
6 รายแล้ว โดยธนาคารแต่ละแห่งจับมือร่วมกับสถาบันการเงินในเครือ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และบริษัทประกันภัย-ประกันชีวิต
- ธนาคารกรุงเทพร่วมกับ บงล. สินเอเชียและ บงล. ร่วมเสริมกิจ
- ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับ บงล. ธนสยามและสถาบันการเงินในเครือ
- ธนาคารทหารไทยร่วมกับ บงล. นวธนกิจและบริษัทในเครืออื่น ๆ
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยาร่วมกับ บงล. กรุงศรีอยุธยา
- ธนาคารกรุงไทยร่วมกับ บงล. ทิสโก้
ในบรรดา 6 รายที่ว่ามานี้วงการคาดหมายว่ารายที่จะหลุดน่าจะเป็น ธ. กรุงศรีฯ
ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีจุดเด่นมากนักเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น ๆ
ขณะที่แบงก์กรุงไทยที่ร่วมกับทิสโก้ และยื่นขอเป็นรายล่าสุด มีภาษีมากกว่าในฐานที่ทิสโก้เป็นผู้บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรายใหญ่ที่สุดในประเทศเวลานี้
และแบงก์กรุงไทยก็เป็นธนาคารของรัฐ มีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ
ของรัฐด้วยดีเสมอมา
หากไม่มีรายที่ 6 แบงก์กรุงศรีฯ ก็คงไม่มีปัญหา
ส่วน 3 แบงก์ใหญ่นั้นคงจะผ่านฉลุยอยู่แล้ว ฝ่ายธนาคารทหารไทยก็มี บงล.
นวธนกิจ ที่ ACTIVE มากในกิจกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ และยังมี W.I.CARR ที่เข้ามาร่วมทุนด้วยเป็นเวลานานให้การสนับสนุน
W.I.CARR มีเครือข่ายต่างประเทศที่ช่วยในเรื่องการขายหน่วยลงทุนของโครงการลงทุนได้เป็นอย่างดี
แต่ละรายจึงมีข้อเด่นต่าง ๆ กันออกไปซึ่งวงการกำลังลุ้นกันมากว่าใครจะพลาดงานนี้
ทว่าประเด็นหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการตระหนักมากนักคือเงินทุนอีก 5,000 ล้านบาทที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น
หลายคนอาจจะมองว่าเป็นการเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับระบบ แต่ในตัวตลาดหุ้นไทยเองเล่ามี
SUPPLY ที่น่าสนใจให้ลงทุนเพียงพอแล้วหรือ ?!
หลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายกันมากและมีผลกระทบให้ดัชนีหุ้นพุ่งขึ้นราวจุดพลุในเวลานี้มีเพียง
3-5 ตัวเท่านั้น
หุ้นบางกอกแลนด์ หุ้นแบงก์กรุงเทพ หุ้นธนายง หุ้นกฤษดามหานคร, หุ้นเอกธนกิจ
ปริมาณการซื้อขายของแต่ละตัวเคยติดอันดับหนึ่ง มีมูลค่าวันละ 1,500-2,000
ล้านบาทและมีผลกระทบต่อดัชนีตลาดฯ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
จนกระทั่งมีการเสนอให้เปลี่ยนแปลงการคำนวณดัชนีใหม่ เอาเฉพาะหุ้นหนัก ๆ
เหล่านี้มาคำนวณ เพื่อที่จะได้ดัชนีที่เป็นตัวแทนบอกการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ได้อย่างแท้จริง
ลองนึกดูว่าเงินทุนอีก 5,000 ล้านบาทที่จะเข้ามาในตลาดหุ้นในอนาคตนั้น
คงไม่แคล้วที่จะมาลงทุนในหุ้นเหล่านี้
สมมุติว่ากระจายไปตัวละ 1,000 ล้านบาท ดัชนีตลาดหลักทรัพย์คงจะปลิวไปอีกไกล
ทั้งที่ราคาหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการซื้อขายหรือลงทุนกันสักเท่าใด
เป็นเรื่องน่าคิดไม่น้อยสำหรับผู้ออกใบอนุญาตจัดการกองทุนในเวลานี้ !!