|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ชื่อเสียงของธุรกิจโรงพยาบาลไทยกำลังโด่งดังไปทั่วโลกหลังจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเร่งปรับปรุงบริการและนำนวัตกรรมการรักษาพยาบาลแนวใหม่มาใช้พร้อมโชว์ศักยภาพเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขยอดการเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงสิ้นปี 2550 จะมีลูกค้าต่างประเทศเข้าใช้บริการกว่า 1.54 ล้านราย คิดเป็นรายได้เข้าประเทศกว่า 41,000 ล้านบาท
ธุรกิจโรงพยาบาลไทย โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่มีการแข่งขันให้บริการค่อนข้างสูง และมีอัตราการขยายฐานการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย(Medical Hub of Asia)
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการภาคเอกชนต่างขานรับนโยบายด้วยการพัฒนาอาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงเพิ่มงบประมาณด้านบุคลากรและอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อรองรับธุรกิจที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากนี้แล้วชื่อเสียงของทีมแพทย์ไทยในด้านการรักษาเฉพาะทางรวมไปถึงเอกลักษณ์ของการให้บริการแบบไทยๆได้สร้างความเชื่อมั่นอย่างสูงในหมู่ผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
สอดคล้องกับที่เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ที่บอกว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้กลายเป็นจุดหมายของชาวต่างชาติทั่วโลกที่จะเข้ามารับการรักษาพยาบาลและรับการตรวจสุขภาพ เนื่องจากมีมาตรฐานในการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพที่เท่าเทียมกับต่างประเทศแต่ราคาถูกกว่า หรือด้วยคุณภาพเกือบเทียบเท่าแต่ราคาถูกกว่ามาก
“โดยเฉพาะการรักษาแบบผ่าตัดยากๆ ซึ่งแพทย์ไทยสามารถทำได้ดี เช่น การผ่าตัดหัวใจ สมอง เปลี่ยนข้อกระดูก แปลงเพศ และเสริมสวย ซึ่งในต่างประเทศจะคิดค่ารักษาพยาบาลประเภทนี้สูงกว่าเป็น 10 เท่า” เอื้อชาติ กล่าว
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศที่เริ่มเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมากมักเดินทางมาจากประเทศในแถบตะวันออกกลาง ขณะที่ยังมีกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถมองข้ามได้เลยคือ กลุ่มลูกค้าระดับบนจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย อาทิ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่นิยมเข้ามารับการรักษาจากโรงพยาบาลตามจังหวัดชายแดนของไทย
ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ได้เร่งขยายเครือข่ายสาขาทั้งในรูปของการซื้อกิจการและการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ ตลอดจนการเปิดศูนย์บริการเฉพาะทางเพื่อรองรับลูกค้าเฉพาะกลุ่มและบริการลูกค้าชาวต่างชาติ อาทิ ศูนย์โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคกระดูก ศูนย์ศัลยกรรม และศูนย์ดูแลสุขภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าในการให้บริการ โดยมุ่งทำตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม พร้อมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจให้กับลูกค้า ผ่านการโฆษณาเผยแพร่ภาพลักษณ์ด้านความเชี่ยวชาญในการให้บริการและรักษาเฉพาะทาง
ส่วนตัวเลขการขยายตัวของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยนั้น พบว่า ในปี 2549 ประเทศไทยมีจำนวนโรงพยาบาลเอกชน 354 แห่ง มีจำนวนเตียง 36,323 เตียง จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้ขยายเครือข่ายการให้บริการอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ มีชาวต่างชาติเข้ามารับบริการกว่า 1.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ถึงร้อยละ 15 สามารถทำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยประมาณกว่า 36,000 ล้านบาท สำหรับในปี 2550 มีการคาดว่าคนไข้ต่างประเทศจะมีทั้งสิ้นประมาณกว่า 1.54 ล้านคนคิดเป็นรายได้เข้าสู่ประเทศไทยประมาณกว่า 41,000 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณกว่า 14%
ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่งขันทั่วโลกกับธุรกิจให้บริการรักษาพยาบาล ขณะที่ประเทศในแถบภูมิภาคเดียวกันก็พยายามสร้างจุดขายในด้านนี้กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จึงมีหลากหลายทางเลือกที่ผู้ต้องการรับการรักษาจะเข้าไปใช้บริการประเทศใด ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่แล้วจะต้องรักษามาตรฐานให้สม่ำเสมอและพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองให้ทันต่อเทคโนโลยีทันสมัยตลอดเวลา ซึ่งในปัจจุบันถือได้ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยเห็นได้จากมีจำนวนตัวเลขชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับการรักษาเพิ่มขึ้นทุกปี
อย่างไรก็ตาม ไทยยังถือเป็นผู้นำของธุรกิจนี้ในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญกอปรกับคนไทยมีใจรักบริการ และมีนิสัยเอื้ออาทร นอกจากนี้ไทยยังมีข้อได้เปรียบในด้านการเป็นเมืองท่องเที่ยว โดยผู้ที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยนอกจากจะพักรักษาตัวแล้วยังสามารถท่องเที่ยวได้ต่อเนื่อง โดยไทยมีบริการ สปา และบำบัดสุขภาพที่ได้มาตรฐานรองรับ ซึ่งสามารถนำเสนอควบคู่ไปกับแพคเกจการรักษาพยาบาลได้
กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์จึงกระโดดเข้ามาเป็นแกนนำเพื่อเปิดเกมรุกให้กับธุรกิจบริการรักษาพยาบาลด้วยการจัดงานแสดงสินค้าธุรกิจบริการสุขภาพและความงาม 2550 หรือ Thailand Health and Beauty 2007 ซึ่งจะถูกจัดขึ้นในศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานีระหว่างวันที่ 7-11 พฤศจิกายนศกนี้
ด้าน ราเชนท์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ประกาศว่างานนี้จะกลายเป็นการโชว์ศักยภาพความพร้อมของธุรกิจประเภทนี้ให้คนไทยและชาวต่างประเทศได้รู้ว่าโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยนั้นมีการให้บริการที่ได้มาตรฐานระดับสากลพร้อมกับรวมสุดยอดเทคโนโลยีของโลกในการรักษาพยาบาลมาไว้ให้บริการ
“ระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายนเวลา 10.00-18.00 น.จะเปิดให้นักธุรกิจเข้าชมงาน ส่วนประชาชนทั่วไปจะได้เข้าชมระหว่างวันที่ 10-11 พฤศจิการยน โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้เตรียมนำเสนอแพคเกจการให้บริการทางการแพทย์ไว้จำนวนมาก”ราเชนท์ กล่าวในที่สุด
|
|
|
|
|