Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์24 กันยายน 2550
สงคราม 3 ก๊ก การกลับมาของพญามังกร             
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคทรอนิคส์ จำกัด
โฮมเพจ แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย)

   
search resources

ไทยซัมซุง อิเลคทรอนิคส์, บจก.
แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย), บจก.
Electric
ไฮเออร์ อิเล็กทริก (ประเทศไทย), บจก.




- ญี่ปุ่น เกาหลี สะเทือนเมื่อ มังกรหลับ เริ่มตื่น
- ไฮเออร์ พลิกตำรางัดกลยุทธ์ Global Brand ชิงบัลลังก์ผู้นำใน 3 ปี
- ทุ่มงบ เทคฯโรงงานซันโยฯ อัดโฆษณาสร้างแบรนด์

การประกาศเทคโอเวอร์โรงงานผลิตของซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริค ซึ่งเป็นโรงงานผลิตตู้เย็นที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีศักยภาพในการผลิตตู้เย็น 2,400,000 เครื่องต่อปี และเครื่องซักผ้า 200,000 เครื่องต่อปี เป็นเสมือนการลั่นกลองรบก่อนรุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในเมืองไทยอย่างจริงจังของสินค้าจีนระดับโลกภายใต้แบรนด์ไฮเออร์ซึ่งทำตลาดในเมืองไทยมาก่อนหน้านี้ประมาณ 5 ปี โดยการร่วมทุนกับกลุ่มไดสตาร์ อิเลคทริก คอร์เปอเรชั่น ซึ่งมีสินค้าทั้งกลุ่มภาพและเสียง และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครั้วเรือน ล่าสุดไฮเออร์มีการทำโฆษณาทางทีวีซึ่งแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้สำหรับสินค้าจากจีนที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ถ้าไม่นับรวมจีนไต้หวันที่มีทั้งเอเซอร์ เบนคิว และต้าถุง

ที่ผ่านมาไฮเออร์ประสบความสำเร็จในการทำตลาดนอกประเทศจีนไม่เว้นแม้แต่สหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในตลาดเมืองไทย แม้ว่าตลาดเมืองไทยจะมีฐานลูกค้าในระดับแมสจำนวนมากที่คำนึงถึงเรื่องราคาเป็นหลักในการตัดสินใจซื้อสินค้าแต่ละครั้ง ทว่าหลายคนเคยมีประสบการณ์ไม่ดีจากสินค้าจีนอื่นๆ ผนวกกับแบรนด์ดังทั้งจากค่ายญี่ปุ่นและเกาหลีต่างส่งไฟติ้งโมเดลราคาถูกออกมาตีกันสงครามราคาจากจีน ดังนั้นจึงส่งผลกระทบในการทำตลาดของไฮเออร์ในเมืองไทย ประกอบกับที่ผ่านมาไฮเออร์ก็มิได้ทำการตลาดอย่างจริงจังนอกเหนือไปจากการมีสินค้าราคาถูกกว่าคู่แข่ง ส่วนเรื่องการสร้างแบรนด์นั้นมีน้อยมาก

แต่ในปีนี้ไฮเออร์มีการปรับกลยุทธ์เพื่อให้แบรนด์ไฮเออร์ในประเทศไทยสอดคล้องกับแบรนด์ระดับโลก การทุ่มงบเกือบ 700 ล้านบาทเพื่อเทคโอเวอร์โรงงานซันโยถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการทำให้ผู้บริโภคไทยยอมรับแบรนด์จีนที่ใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่น ปัจจุบันไฮเออร์มี 2 บริษัทในเมืองไทย คือ ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) ทำหน้าที่ด้านการขาย และ ไฮเออร์ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) ทำหน้าที่ในส่วนของโรงงานผลิตซึ่งก็คือบริษัทซันโยฯเดิม

ทวีศักดิ์ เกรียงไกรเกียรติ กรรมการผู้จัดการ ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) ระบุถึงความผิดพลาดที่ผ่านมาว่าเกิดจากการไม่มีโรงงานผลิตในเมืองไทยส่งผลให้มีไลน์สินค้าในการทำตลาดไม่ครบครัน ประกอบกับการขาดการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการทำการตลาดในเชิงรุก ในขณะที่สมรภูมิรบในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

แนวทางสำคัญในการสร้างแบรนด์ไฮเออร์ให้ยิ่งใหญ่เหมือนในตลาดโลกคือการชูจุดขายในการเป็น Global Brand ที่มีสินค้าคุณภาพโดยมีตู้เย็นเป็นเรือธงสำคัญ พร้อมกันนี้ยังมีการเตรียมขยายไลน์การผลิตสินค้าให้ครอบคลุมเช่น ตู้แช่ไวน์ เครื่องปรับอากาศ แอลซีดีทีวี ตลอดจนการพัฒนาตู้เย็นไซด์บายไซด์ เพื่อส่งสินค้ามาเสิรมทัพในช่วงปลายปี โดยตลาดในเมืองไทยไฮเออร์วางกรอบการบริหารงานไว้ 3 แนวทางคือ คุณภาพ การขนส่ง และ การจัดการด้านต้นทุนการผลิต

นอกจากนี้ยังมีการวางนโยบายด้านราคาให้เป็นราคาเดียวเพื่อสร้างมาตรฐานและภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ โดยไฮเออร์จะหันมาโฟกัสในเรื่องของฟังก์ชั่นการใช้งานของสินค้ามากกว่าจะเน้นเรื่องสงครามราคา

ในขณะที่ไฮเออร์ในตลาดโลกใช้กลยุทธ์รวม 3 เป็น 1 ซึ่งประกอบด้วย การผลิตในประเทศเพื่อจำหน่ายในประเทศ การผลิตในประเทศจีนเพื่อการส่งออก และการผลิตในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไฮเออร์มีฐานการผลิตทั่วโลกใน 14 ประเทศ เช่นที่ อเมริกา อิตาลี ตะวันออกกลาง ฯลฯ โดยประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตล่าสุด

จาง รุ่ย หมิน ซีอีโอของไฮเออร์ กรุ๊ป ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างแบรนด์ไฮเออร์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกด้วยการนำค้อนปอนด์มาทุบตู้เย็นที่ไม้ได้มาตรฐานเพื่อพัฒนาตู้เย็นขึ้นมาใหม่ให้ดีที่สุดในโลก นอกจากนี้ไฮเออร์ยังเลือกที่จะรุกตลาดอเมริกาและยุโรปก่อนเอเชีย โดยจาง รุ่ย หมิน ให้เหตุผลว่าหากสามารถทำตลาดที่ยากได้แล้วก็จะเป็นเรื่องง่ายในการรุกตลาดอื่นๆเพราะมาตรฐานสินค้าของไฮเออร์กลายเป็นมาตรฐานระดับโลกไปแล้ว ดังนั้นไฮเออร์จึงไม่กังวลกับการเข้ามาตลาดเมืองไทยทีหลังซึ่งมีทั้งค่ายญี่ปุ่นและเกาหลีจับตลาดมานานแล้วเพราะถือว่าได้ผ่านบทเรียนที่ยากมาแล้ว

ไฮเออร์เพียรพยายามที่จะทำตัวเองให้เป็น Global Brand เช่นการตั้งโรงงานที่อเมริกา เพื่อให้สินค้าไฮเออร์ได้ประทับตราว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจากอเมริกา ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าให้เหนือกว่าคู่แข่งจนกระทั่งไฮเออร์ได้รับการยอมรับในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น อเมริกา และยุโรป ปัจจุบันไฮเออร์ถือเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนอันดับที่ 4 ของโลกรองจาก เจนเนอรัล อิเล็คทริก (จีอี), เวิร์ลพูล และ อีเลคโทรลักซ์

โหว ซิน ไหล ผู้จัดการทั่วไปภาคพื้นเอเชีย ไฮเออร์ กรุ๊ป กล่าวถึงนโยบายในการผลักดันแบรนด์ให้มีชื่อเสียงในระดับโลก โดยตั้งเป้าที่จะติด Top 3 ของโลกในปี 2553

สำหรับเมืองไทย ไฮเออร์เตรียมงบการตลาดในช่วงสุดท้ายของปีไว้ที่ 30 ล้านบาท จากที่ใช้ตลอดทั้งปี 50 ล้านบาทโดยจะเน้นไปที่ Below The Line หรือการทำกิจกรรมการตลาดเพื่อเข้าถึงและให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสทดลองใช้สินค้าของไฮเออร์ให้มากที่สุด แต่ก็ยังไม่ทิ้ง Above The Line หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทมีการทำโฆษณาผ่านทางทีวีโดยจะมีต่อเนื่องถึง 3 เวอร์ชั่น และยังมีสื่อโฆษณาอื่นๆเช่น นิตยสาร ป้ายโฆษณา เพื่อสร้างการรับรู้ไปสู่ผู้บริโภค โดยบริษัทตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 6,000 ล้านบาท เป็นยอดส่งออก 80% จากการมีฐานการผลิตในเมืองไทย ส่วนยอดขายในประเทศกว่า 80% มาจากสินค้าในกลุ่มตู้เย็น ส่วนทีเหลือ 20% มาจากเครื่องซักผ้าและสินค้ากลุ่มอื่นๆ ในขณะปีที่ผ่านมามียอดขายประมาณ 1,000 ล้านบาทเนื่องจากยังไม่ได้ทำธุรกิจในส่วนของโรงงานผลิต

ส่วนในปีหน้า ไฮเออร์จะมีการเพิ่มงบการตลาดอีก 2-3 เท่าตัวเป็น 150 ล้านบาท โดยจะมีการใช้สปอร์ตมาร์เก็ตติ้งร่วมด้วยเนื่องจากไฮเออร์เป็นสปอนเซอร์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 2008 ที่ปักกิ่ง

ความพยายามในการสร้างการยอมรับแบรนด์จีนในตลาดเมืองไทยมิได้มีเพียงไฮเออร์เท่านั้น ก่อนหน้านี้ ประมาณ 3 ปี ทีซีแอล คอร์เปอเรชั่น ได้ร่วมทุนกับ ทอมป์สัน ฝรั่งเศส โดยใช้ชื่อ ทีซีแอล-ทอมป์สัน อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขยายตลาดโทรทัศน์สีทั่วโลก โดยมีโรงงานผลิตของทอมป์สันที่ จ.ปทุมธานี โดยในช่วงแรกจะเน้นตลาดโทรทัศน์สี และต่อด้วยโทรศัพท์มือถือ ภายใต้แบรนด์ "ทีซีแอล" ในการทำตลาดจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในยุโรปจะใช้แบรนด์ "ทอมป์สัน" ส่วนตลาดอเมริกาใช้แบรนด์ "อาร์ซีแอล" ทว่าทีซีแอลก็ยังไม่สามารถผงาดขึ้นมาติดอันดับในตลาดเมืองไทยได้ แม้จะมีการยกระดับภาพลักษณ์ด้วยการทำตลาดแอลซีดีทีวี เนื่องจากมีการสื่อสารกับผู้บริโภคน้อยเกินไป

ในขณะที่บรรดาแบรนด์จีนไต้หวันต่างชูจุดขายในการเป็นผู้ชำนาญด้านการผลิตโดยได้รับความไว้วางใจจากเครื่องไฟฟ้าแบรนด์เนมว่าจ้างให้ผลิตสินค้าป้อนสู่ตลาด แม้จะมีการสื่อสารกับผู้บริโภคที่ไม่มากพอ แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้บริโภคยอมรับมากกว่าสินค้าที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่

ซัมซุงชูดีไซน์ สร้างจุดต่าง งัดโปรโมชั่นเพิ่มยอดขาย

รูปแบบการเดินเกมการตลาดของไฮเออร์ คล้ายๆกับการรุกตลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้าแดนโสมทั้งซัมซุงและแอลจีที่ล้วนแต่รุกตลาดด้วยสงครามราคาก่อนพัฒนาสินค้าไปสู่ตลาดไฮเอนด์ ซึ่งในอดีตภาพลักษณ์สินค้าเกาหลีไม่แตกต่างจากสินค้าจีนในปัจจุบัน แต่ซัมซุงก็สามารถสร้างความสำเร็จในตลาดเมืองไทยได้หลังจากพัฒนาเทคโนโลยีจนเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก โดยมีจุดเริ่มจากการพัฒนาดีไซน์โทรศัพท์มือถือแบบฝาพับจนได้รับรางวัลจากการจัดงานที่ยุโรป จากนั้นแบรนด์ซัมซุงจึงเริ่มเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในเมืองไทย

ซัมซุงมีการปรับเกมเพื่อรุกตลาดพรีเมียมมากขึ้นโดยอาศัยความครบเครื่องของไลน์อัพสินค้าที่มีทั้งเอวีและเอชเอ มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆมากมายไม่ว่าจะเป็นแอลซีดีทีวี ตู้เย็นไซด์บายไซด์ เครื่องซักผ้าระบบซิลเวอร์นาโน ตลอดจนการพัฒนาโปรแกรมการตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้าตั้งแต่ระดับแมสไปถึงพรีเมียม มีการแบ่งเซกเมนต์ตลาดตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค โดยโฟกัสไปที่ 3 กลุ่มหลักคือ High-Life Seeker เป็นผู้ที่ไวต่อเทคโนโลยี แม้จะมีรายได้ระดับกลางแต่ก็ยอมจ่ายเพื่อได้เทคโนโลยีใหม่ๆ Sensory เป็นกลุ่มที่ไวต่อเทคโนโลยีน้อยกว่าและใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อนานกว่ากลุ่มแรก Rational เป็นกลุ่มที่ซื้อเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการใช้งานเท่านั้น ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มรวมกันแล้วมีมากถึง 60% ของตลาดทั้งหมด ในขณะที่อีก 40% ที่เหลือจะพิจารณาจากราคาเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อ ทว่าซัมซุงก็ยังคงสินค้าราคาถูกไว้เพื่อตีกันคู่แข่งที่เล่นสงครามราคา

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแคมเปญการตลาดใหม่ๆเพื่อดึงดูดกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าในเครือซัมซุงเช่นแคมเปญ 11 Days Special ซึ่งเป็นการ Mix & Match โดยนำสินค้าทั้ง 4 กลุ่มไม่ว่าจะเป็นหมวดภาพและเสียง (เอวี) เครื่องไฟฟ้าในครัวเรือน (เอชเอ) โทรศัพท์มือถือ และไอที มาทำโปรโมชั่นร่วมกันเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ความหลากหลายของสินค้าซัมซุง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างตลาดให้กับสินค้าแต่ละกลุ่มที่มีการทำโปรโมชั่นร่วมกันโดยเน้นสินค้าพรีเมียมซึ่งลูกค้าที่ซื้อสินค้าหลากหลายหมวดก็จะได้รับส่วนลดมากขึ้น

11 Days Special สะท้อนความเป็น Total Solution Provider ที่มีสินค้าเทคโนโลยีครบทุกหมวด โดยมีแพกเกจโปรโมชั่นที่หลากหลายเพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกให้เหมาะกับตัวเองและเป็นการสร้างประสบการณ์ในการใช้สินค้าซัมซุงให้กับผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นการเพิ่ม Household Share นอกจากนี้ยังเป็นการปูทางไปสู่ความเป็นไอคอนแบรนด์ของโลกแห่งดิจิตอลคอนเวอร์เจนซ์

ซัมซุงยังคงเน้นความเป็น Total Solution Provider ด้วยการทำแคมเปญ Mix & Match นอกจากนี้ยังมีการดำเนินกลยุทธ์ใหม่ๆโดยใช้งบการตลาด 1,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ 40% งบกิจกรรมการตลาด 60%

การทำ มิกแอนด์แมตช์ คือการแสวงหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ การขยายฐานลูกค้าไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆซึ่งจะทำให้ซัมซุงสามารถสร้างยอดขายในปริมาณที่มากขึ้น อย่างเช่นการร่วมกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการขายสินค้าซัมซุงผ่านโครงการ การร่วมมือกับธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ในการทำ Total Solution Provider แบบครบวงจรโดยมีการออกแบบห้องต่างๆพร้อมทั้งเครื่องไฟฟ้าซัมซุงและเฟอร์นิเจอร์ในห้อง เช่น Bed Room Solution, Kitchen Solution, Living Room Solution ซึ่งแต่ละห้องจะมีการดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ของซัมซุงโดยมีทั้งหมวดดภาพและเสียงและเครื่องไฟฟ้าในครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีตลาดสถาบันการเงินโดยซัมซุงจะมีการทำไฟแนนเชียลแพกเกจให้กับลูกค้าของธนาคาร หรือการทำโปรโมชั่นพิเศษร่วมกับร้านเวดดิ้ง ตลอดจนการให้ส่วนลดพิเศษแก่ข้าราชการทหาร

แอลจีโคแบรนด์ ยกระดับภาพลักษณ์

ในขณะที่แอลจีซึ่งไล่ตามหลังซัมซุงไม่ห่างด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับดีไซน์โดยเครื่องปรับอากาศรุ่นอาร์ทคูลถือเป็นดาบแรกในการรุกตลาดพรีเมียมเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยแอลจีมีการใช้ดีไซน์กับสินค้าหลายๆกลุ่มโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือรุ่นชอกโกแลต ที่เป็นที่กล่าวขานถึงความสำเร็จทั้งที่แอลจีเข้าสู่ตลาดดังกล่าวได้ไม่นานนัก ล่าสุดมีการพัฒนาดีไซน์สำหรับเทคโนโลยีไฮเอนด์ภายใต้ชื่อ โมเดิร์น ฟลาวเวอร์ ซีรี่ส์ ที่เน้นโทนแดง มีลายดอกไม้ประดับเสมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งในบ้าน

แอลจีไม่ได้หยุดอยู่แค่การพัฒนาสินค้า ทว่ายังมีการสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่องโดยให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมการตลาดผ่านช่องทางจำหน่ายซึ่งถือเป็นปราการสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภครู้จัก ยอมรับ และซื้อสินค้า ตลอดจนเปลี่ยนใจผู้บริโภคที่คิดจะซื้อแบรนด์อื่นให้หันมาซื้อแบรนด์ของตนเอง In Store Promotion จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคได้ทดลองสัมผัสสินค้าไฮเอนด์ของแอลจี ซึ่งเป็นอีกก้าวในการล้างภาพลักษณ์แบรนด์ที่เคยเน้นแต่สงครามราคามาสู่การเป็นแบรนด์คุณภาพที่มีราคาสูงขึ้นแต่ผู้บริโภคยอมรับได้เนื่องจากมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ตลอดจนการพัฒนาช่องทางจำหน่ายให้มีศักยภาพในการจำหน่ายสินค้าไฮเอนด์ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ มีมาร์จิ้นสูง และไม่ต้องตัดราคาชิงลูกค้า

แอลจีมิได้พัฒนาแบรนด์โดยลำพัง หากยังมีการดึงแบรนด์อื่นๆมาร่วมด้วยเพื่อสร้างการยอมรับและยกระดับแบรนด์ให้สูงขึ้นเช่นการนำคริสตัลของชวารอฟสกี้มาประดับไว้ที่ตู้เย็น พร้อมกับการโคแบรนด์ ตลอดจนการเกาะติดไปกับพันธมิตรที่มีกลุ่มลูกค้าตรงกัน เช่น การร่วมกับโครงการคอนโด เลอ ราฟิเน่ ราคายูนิตละ 40 ล้านบาท ด้วยการนำระบบปรับอากาศเข้าไปติดตั้ง ซึ่งสะท้อนความเป็นผู้นำเทคโนโลยีและจะเป็นตัวดึงให้ลูกค้าที่มาอาศัยในคอนโดฯดังกล่าวเปิดใจยอมรับแบรนด์แอลจีมากขึ้น

ญี่ปุ่นรุกสงครามโซลูชั่น สร้างลอยัลตี้ กินรวบตลาด

ฟากแดนอาทิตย์อุทัยที่อยู่ตลาดเมืองไทยมานานแม้จะมีลูกค้าที่มีความภักดีต่อแบรนด์ค่อนข้างสูงแต่ส่วนใหญ่ก็เริ่มมีอายุ ทำให้ต้องมีการขยายฐานไปสู่ตลาดคนรุ่นใหม่เพื่อเป็นกำลังสำคัญในอนาคต ซึ่งจะเห็นได้จากกิจกรรมต่างๆเน้นการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ ตลอดจนการพัฒนาสินค้าที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานและดีไซน์สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภครุ่นใหม่มากขึ้น

ในขณะที่การสร้างประสบการณ์ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการทำให้ผู้บริโภคได้สัมผัสและทดลองใช้จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อโดยมองข้ามเรื่องราคา ดังนั้นเครื่องใช้ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นหลายแบรนด์จึงมีการพัฒนาอิมเมจชอป เช่น โซนี่ สไตล์, โตชิบา อินเทลลิเจนซ์, พานาโซนิคไลฟ์สแควร์ หรือแม้แต่ซัมซุงเองก็ยังมีซัมซุง เอ็กซ์เพียแรนซ์ เพื่อใช้เป็นสถานที่สร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคเนื่องจากช่องทางจำหน่ายทั่วไปมักจะเน้นการสร้างยอดขายมากกว่าการทำให้ผู้บริโภคได้รู้จักสินค้านั้นก่อนตัดสินใจซื้อ แต่การที่ผู้บริโภคได้รับข้อมูลไม่เพียงพอจะส่งผลให้เกิดคำนึงถึงเรื่องราคาก่อนการตัดสินใจซื้อ

นอกจากนี้บรรดาค่ายญี่ปุ่นยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีการเชื่อมต่อกัน เพื่อดึงให้ผู้บริโภคใช้สินค้าแบรนด์นั้นๆแบบยกชุด เช่น โซนี่มีการชูนโยบาย HD World ในการสร้างยอดขายแบบโซลูชั่นด้วยการชูอรรถรสในการับความบันเทิงเต็มรูปแบบทั้งภาพและเสียงที่ใช้งานเชื่อมต่อกันได้ด้วยความละเอียดในระดับ Full HD เช่น กล้องถ่ายภาพนิ่ง กล้องดิจิตอล ที่ต่อเชื่อมกับแอลซีดีบราเวียที่ให้ความละเอียดระดับ Full HD ตลอดจนการพัฒนาเครื่องเล่นแผ่นบลูเรย์ดิสก์และเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่น 3 ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดต่อเมื่อใช้เครื่องรับทีวีที่รองรับ Full HD เท่านั้น เช่น แอลซีดีทีวีบราเวียของโซนี่

HD World ถือเป็นความพยายามที่จะสร้างการใช้งานสินค้าของโซนี่ให้เชื่อมโยงกัน ซึ่งจะทำให้ลูกค้าต้องซื้อสินค้าของโซนี่เพื่อให้ได้สัญญาณภาพระดับ Full HD โดยโซนี่พยายามลอนช์สินค้าที่เป็น Full HD ออกมามากขึ้น เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้กันมายึดมาตรฐานในการรับชมภาพที่เป็น Full HD ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าไฮเดฟฟินิชั่นของโซนี่มาเชื่อมต่อกัน

ขณะที่พานาโซนิคก็มีการทำระบบรีโมตคอนโทรลที่สามารถควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มเอวีร่วมกันได้ด้วยรีโมตเพียงตัวเดียว พร้อมกันมีการเปิดตัวสินค้าระบบรักษาความปลอดภัยซึ่งจะใช้เป็นเรือธงในการทำให้ผู้บริโภคเห็นถึงประโยชน์ของ Ubiquitous โดยเทรนด์ในการเชื่อมต่อหรือควบรวมเทคโนโลยีถือเป็นสิ่งที่มีบทบาทมากขึ้นในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้พานาโซนิคยังวางคอนเซ็ปต์ SD Solution ในการเชื่อมต่อสินค้าของพานาโซนิคด้วย SD การ์ด เช่น กล้องถ่ายรูป กล้องวิดีโอ ที่บันทึกลง SD การ์ด จะสามารถนำมาดูผ่านพลาสม่าทีวีของพานาโซนิครุ่นที่มีช่องต่อ SD การ์ด

ทันทีที่ประเทศไทยมีระบบ 3G และมีการใช้บรอดแบนด์กันอย่างแพร่หลาย สงครามโซลูชั่นจะไม่ได้มีเพียงค่ายญี่ปุ่นเท่านั้นที่ทำได้ เพราะที่เกาหลีก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อเช่นกัน และเมื่อวันนั้นมาถึงสินค้าจากจีนจะสามารถยืนหยัดได้หรือไม่ก็ต้องอยู่ที่ว่าจีนจะพัฒนาเทคโนโลยีได้เพียงใด และค่ายญี่ปุ่นกับเกาหลีจะสามารถสร้างพฤติกรรมให้ตลาดเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อกันได้ไวเพียงใด เพราะถ้าชิงตลาดดังกล่าวได้เร็วก็จะกินรวบตลาดได้เร็ว บ้านหนึ่งหลังจะใช้สินค้าหลักเพียงแบรนด์เดียวเพื่อความสะดวกในการเชื่อมต่อ และนั่นจะเป็นกำแพงในการบล็อกสินค้าจีนที่เข้ามาทีหลัง แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไรวันนั้นจะมาถึง

แต่การกลับมารุกตลาดอีกครั้งเพื่อทวงความยิ่งใหญ่ของไฮเออร์ในครั้งนี้ถือเป็นเสมือนการลั่นกลองรบในรอบแรกเท่านั้น สงครามเครื่องใช้ไฟฟ้า 3 ค่าย จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น ทว่าสงครามราคาจะยังคงดำเนินต่อไปโดยแบรนด์มาใหม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ราคาเพื่อเจาะตลาด ขณะที่แบรนด์เนมก็ต้องงัดไฟติ้งโมเดลมาปะทะเพื่อสกัดมิให้สินค้าราคาถูกสามารถสร้างฐานลูกค้าขึ้นมาได้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us