|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ก.พาณิชย์ เร่งขับเคลื่อนส่งออก 3 เดือนสุดท้ายให้ได้ตามเป้า 12 .5% วางยุทธศาสตร์เจาะ “ 9 ภูมิภาค” ทั่วโลกให้ทันสิ้นปี ด้านภาคเอกชนไม่เชื่อน้ำยาเหตุภาครัฐยึดติดตัวเลขไม่มองบนพื้นฐานที่แท้จริง พร้อมชี้ “สิ่งทอ-อัญมณี”น่าห่วงที่สุด เชื่อ “ส่งออก”จะสะดุดลากยาวถึงไตรมาสแรกปี 2551 เพราะผู้ประกอบการรอดูโฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่ดึงเชื่อมั่นกลับมา
ตัวเลขการส่งออกปี2550 ที่กระทรวงพาณิชย์ได้วางเป้าหมายไว้ที่ 12.5% ด้วยมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 1.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นั้นแม้ว่าตัวเลขการส่งออกในครึ่งปีแรกจะสูงถึง 18 % แต่ต่อมาก็ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจนอาจทำให้เป้าหมายที่วางไว้พลาดเป้าได้ง่ายๆ กระทรวงพาณิชย์จึงระดมสมองจาก 40 สมาคมการค้าเพื่อผลักดันให้การส่งออกในไตรมาสสุดท้าย ( ต.ค. - ธ.ค. 2550 )ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้แต่ภาคเอกชนกลับมองสวนทางเป็นไปได้ยากเพราะออเดอร์จากยักษ์ใหญ่สหรัฐ-ยุโรปฯลดลงอย่างมาก
กรมส่งเสริมฯมั่นใจโตตามเป้า 12.5 %
ราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการส่งออกว่า ยังเชื่อมั่นการส่งออกในรอบ 3 เดือนสุดท้ายจะดีขึ้นเพราะมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้นและจะทำให้การส่งออกเติบโต 12.5% เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ซึ่งสินค้า ภาคการเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ผลไม้ ไก่ จะยังคงส่งออกได้ดียกเว้นกุ้งที่มีปัญหาถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) จากสหรัฐฯ ส่วนอุตสาหกรรมก็มีแนวโน้มส่งออกได้ดีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ อิเลกทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง เม็ดพลาสติก ยกเว้นสิ่งทอ และอัญมณี ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท และปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ
โดยยุทธศาสตร์ของกรมส่งเสริมการส่งออกที่จะขับเคลื่อนนั้นจะจะเน้นการจัดกิจกรรมในแต่ละภูมิภาคการค้าเพื่อให้เข้าถึงความต้องการของแต่ละตลาดอย่างจริงจัง 1.ภูมิภาคอเมริกาเหนือ ได้แก่ สหรัฐฯ และแคนาดาจะเน้นการจัดคณะผู้ซื้อสินค้า เน้นกลุ่มอาหาร, อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องประดับตกแต่งบ้าน เครื่องนุ่งห่ม มาเยือนไทย จัดคณะผู้ส่งออกสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป พบห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ให้ความรู้ผู้ส่งออกเกี่ยวกับการคัดคุณภาพและหีบห่อ ส่วนสำหรับผลไม้ 6 ชนิดที่สหรัฐฯ เปิดตลาดให้นำเข้าจะจัดประชุมร่วมกับวอลล์มาร์ท เพื่อให้ทราบแนวโน้มการสั่งซื้อสินค้าไทย และจัดคณะธุรกิจบริการในแคนาดาเยือนไทย เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน
รุกขยายตลาดไป ‘ลาตินอเมริกา’
ขณะที่ภูมิภาค 2. ลาตินอเมริกา จะเพิ่มการจัดคณะผู้แทนการค้าจากภูมิภาคนี้มาพบกับผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย จัดการประชาสัมพันธ์สินค้าไทย และจัดสัมมนาธุรกิจในบราซิลเพื่อเพิ่มช่องทางให้กับสินค้าไทย และร่วมกับห้างสรรพสินค้าจัดโปรโมชั่นสินค้าไทย
ส่วนภูมิภาคที่ 3. กลุ่มประเทศยุโรป จะเน้นการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อโปรโมตสินค้าไทยจัดคณะผู้แทนการค้าสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบจากอังกฤษมาเยือนไทย เยี่ยมพบผู้นำเข้าสินค้าต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายกับผู้นำเข้าในสแกนดิเนเวีย ประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรอง Thai Select ในตลาดยุโรป และจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายร่วมกับห้างสรรพสินค้ารายใหญ่
บุกตะวันออกกลางมุ่งจับคู่ทางธุรกิจ
ด้านภูมิภาคที่ 4 .กลุ่มยุโรปตะวันออกและ CIS ( คาซัคสถาน,รัสเซีย และยูเครน )เน้นส่งเสริมครัวไทย ร่วมกับโรงแรมเผยแพร่ภาพลักษณ์อาหารไทยส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ สปาไทย และจะเน้นการจัดคณะผู้ซื้อเข้ามาชมงานแสดงสินค้าในไทย ในส่วนภูมิภาคที่ 5.กลุ่มเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่นจะจัดทีมงานที่ดูแลผลประโยชน์ภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เชิญผู้ซื้อรายใหญ่มาเยือนไทยสนับสนุนการจับคู่ทางธุรกิจ ส่งเสริมร้านอาหารไทยในญี่ปุ่น และร่วมกับห้างสรรพสินค้า จัดโครงการประชาสัมพันธ์สินค้าไทย
ขณะที่ประเทศประเทศจีนจะจัดคณะผู้แทนการค้าเจาะตลาดเป็นรายมณฑล เช่น หูเป่ย ฟูเจี้ยน ยูนนาน กุ้ยโจว หูนาน เขตปกครองตกเองซินเจียง อุยกูร์ และเปิดตลาดการค้าในมณฑลภาคตะวันตกสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R3E (กรุงเทพฯ-คุนหมิง) ใช้ฮ่องกงเป็นประตูการค้าสู่จีน และเพิ่มการประชาสัมพันธ์สินค้าไทยผ่านสื่อต่างๆ เช่น สื่อไอที
นอกจากนี้ภูมิภาคที่ 6 . กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง จะเน้นการจับคู่ทางธุรกิจ สำหรับสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร ของใช้ภายในบ้าน ข้าว และอาหารแปรรูป และการจัดคณะผู้แทนการค้าไปร่วมงานแสดงสินค้า โดยเฉพาะในอิสราเอลเพื่อโปรโมทสินค้าไทย ส่วนภูมิภาคที่ 7.กลุ่มประเทศแอฟริกา เน้นการจัดคณะผู้แทนการค้าไปเยือน และจัดงานแสดงสินค้าไทยในภูมิภาคนี้ 8. กลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียใต้ จะจัดให้มีคณะผู้แทนการค้ามาเจรจาการค้าในไทย จัดงานแสดงสินค้าไทยในมุมไบ เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศต่างๆ จัดโปรโมชั่นสินค้าไทยร่วมกับห้างสรรพสินค้า และจัดผู้แทนภาครัฐของบังคลาเทศและปากีสถานมาเยี่ยมชมสถาบันอาหารฮาลาลของไทย
สุดท้ายภูมิภาคที่ 9. กลุ่มประเทศอาเซียน จะจัดคณะผู้แทนการค้า สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศในอาเซียนมาเยือนไทย และจะเน้นการจัดโครงการไทย พาวิลเลียนในงานแสดงสินค้า เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าไหม อาหาร และสินค้า OTOP ของไทย
‘สิ่งทอ-อัญมณี’ ยังไม่พ้นบ่วงวิกฤติ.!
ขณะที่ภาคเอกชนอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย “สันติ วิลาสศักดานนท์”ประธาน ส.อ.ท. มองว่าการขับเคลื่อนการส่งออกในช่วง 3 เดือนสุดท้ายถือว่าสำคัญมากเพราะแม้ยอดส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกจะโตมากกว่า 18% แต่ก็เริ่มลดลงมาในช่วงเดือนที่แล้วและเดือนนี้ แต่ก็ยังเชื่อว่าการส่งออกจะยังอยู่ในระดับที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้คือ 12.5% เพราะอย่างน้อยการขยายตัวของการส่งออกจากนี้ (ต.ค. -ธ.ค.) ไม่น่าจะขยายตัวต่ำกว่าเดือนละ 9 % ซึ่งเมื่อสิ้นไตรมาส 4 ของปีนี้แล้วจะเห็นตัวเลขเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้
อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่น่าห่วงคือการส่งออกบางอุตสาหกรรมเช่นสิ่งทออาจจะลำบากเพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าก่อนหน้านี้ซึ่งปัจจุบันออเดอร์การส่งออกก็ยังไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปัญหาสินค้าอัญมณีก็ยังน่าห่วงเพราะส่งออกไปตลาดสหรัฐฯเป็นส่วนใหญ่ทั้งยังถูกตัดสิทธิ GSP อีกด้วย ประกอบกับปัญหาเรื่องซับไพรม์ในตลาดสหรัฐฯอีกทำให้กำลังซื้อของหดตัวลงไปอย่างมากส่งออกอัญมณีไทยจึงกิจกลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุดในขณะนี้
ทว่าการส่งออกไปยังตลาดใหม่อย่างตะวันออกกลาง อินเดีย จีน กลุ่มประเทศอาเซียนกลับมีการขยายตัวถึง 40-50% ทำให้ไปชดเชยการส่งออกที่ลดลงในตลาดสหรัฐฯ และ ยุโรปจึงทำให้มั่นใจว่าการส่งออกไทยยังจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
เอกชนสวนส่งออกโตไม่ถึง 12.5%
นอกจากนี้แล้วภาคเอกชนยังมีมุมมองที่แตกต่างอย่างภาครัฐ “ดุสิต นนทะนาคร” เลขาสภาหอการค้าไทย และ“ดร.อาชว์ เตาลานนท์”รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์และประธานคณะทำงานสื่อสารองค์กรเห็นสอดคล้องกันว่า การที่กระทรวงตั้งเป้าหมายไว้ที่ 12.5% เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าต้องการให้ถึงตามเป้าหมายนั้น แต่อย่าไปยึดติดตัวเลขมากนักต้องยอมรับกับสภาพที่แท้จริงว่าสามารถเป็นไปได้อย่างที่คาดหวังได้หรือไม่ เพราะตัวเลขส่งออกครึ่งปีจะมากกว่า 18% แต่การขยายตัวจากนี้ไปน่าจะอยู่ที่ 5.9 - 6% เดือนจึงเป็นไปไม่ได้ว่าจะถึงเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้
อย่างไรก็ดีการทำยุทธศาสตร์ 3 เดือนสุดท้ายเพื่อผลักดันการส่งออกไม่ใช่จะเพิ่งมาทำมาคิดแต่ควรจะเริ่มวางแผนกันหลัง 6 เดือนแรกแต่ที่กำลังทำกันอยู่กันคือเมื่อไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ก็หันมาเขย่ากันทีหนึ่งอย่างนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ ต้องวางแผนล่วงหน้าทั้งการปรับตัว วิเคราะห์ตลาดไหนสู้ได้/สู้ไม่ได้ มองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ จึงจะช่วยผลักดันการส่งออกที่แท้จริง
รอรัฐบาสชุดใหม่ดึงความเชื่อมั่นกลับมา
เลขาธิการสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ออเดอร์สั่งของปัจจุบันน้อยมากเพราะของล็อตสุดท้ายได้ส่งไปแล้วที่ตลาดยุโรป และสหรัฐฯเพื่อใช้ในเทศกาลคริสต์มาส หรือ ปีใหม่ ดังนั้นคาดว่าไตรมาส 4 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2551 การส่งออกก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นเพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าก่อนหน้านี้และพิษซับไพรม์ของสหรัฐฯอีกทั้งผู้ประกอบการรายย่อยอย่างอย่าง SMEs และผู้ประกอบการขนาดกลางก็ไม่กล้าที่จะขยายกิจการหรือส่งออกเพราะกลัวเจ๊งหากภาคการเมืองยังไม่นิ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงรอดูสถานการณ์ต่อไปจนถึงไตรมาสแรกปีหน้า
“ปัจจัยบวกที่จะเข้ามาคือนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ และโฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่ว่าผู้ส่งออกและนักลงทุนต่างชาติทั้งในประเทศและต่างชาติจะให้ความเชื่อมั่นมากน้อยแค่ไหนซึ่งอาจจะกินเวลาถึงสิ้นเดือนมีนาคมปี 2551 ทุกอย่างจึงจะกลับมาเป็นปกติ” ดร.อาชว์ กล่าวยืนยัน
|
|
|
|
|