- ตัวเลขคนไทยถูกหลอกเต็มเมือง เฉพาะที่แจ้งสคบ.มีกว่าครึ่งหมื่น เชื่อที่ไม่แจ้งยังมีอีกบานตะไท
- เปิดธุรกิจหน้าใหม่ที่เข้าร่วมสมาชิกคนขี้จุ๊ โรงแรม สายการบิน และอื่นๆ กับวิธีการลวงที่น่าสนใจ
- เปิดรูปแบบการปั้นน้ำเป็นตัวแบบเก่าที่ยังไม่สูญหาย กับรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยีอันทันสมัย
- เรื่องร้อนๆของ วัน-ทู-โก งานนี้ฟ้องสคบ.ได้ โทษฐานละเมิดสิทธิผู้บริโภค
พ.ศ. 2530
ในยุคที่การติดต่อสื่อสารบ้านเรายังใช้จดหมาย ไปรษณียบัตร โทรศัพท์บ้าน รูปแบบการหลอกลวงผู้บริโภคของบรรดาร้านค้า 18 มงกุฎส่วนมากจะเป็นการใช้ไปรษณียบัตรส่งไปหาผู้บริโภคตามบ้านเพื่อแจ้งให้ทราบว่าท่านคือผู้โชคดีได้รับเครื่องใช้ฟ้า หรืออื่นๆจากทางร้านฟรี เมื่อผู้บริโภคหลงเชื่อและเดินทางไปเพื่อขอรับของปรากฏว่าผู้จัดการร้านซึ่งเป็นคนไทยที่ถูกว่าจ้างโดยชาวต่างชาติอีกทีจะออกมาหว่านล้อมต่างๆนานาให้ผู้ที่หลงเชื่อซื้อของอื่นๆจากทางร้าน ซึ่งเป็นราคาที่ลดพิเศษถึง 50%-80%สำหรับท่าน (ผู้โชคร้าย) เท่านั้น
บางคนก็โชคดี แต่อีกหลายคนโชคร้ายไปซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่คิดว่าราคาถูกมากๆ แต่ความจริงสินค้าที่ซื้อมานั้นยังราคาแพงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันจากร้านอื่นๆอีกหลายเท่าตัว ที่สำคัญร้านประเภทนี้ไม่ใช่มีแค่ร้าน 2 ร้าน แต่กระจายไปทั่วทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และยังมีให้เห็นอยู่บ้างในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากจดหมายร้องเรียนจากแม่บ้านรายหนึ่งที่ส่งมายังคอลัมน์ “ร้อยเล่ห์เพทุบาย” สคบ.สาร ฉบับเมษายน-พฤษภาคม 2546 ว่า
วันหนึ่งได้รับจดหมายที่เข้าข่ายหลอกลวงจากบริษัทที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต และย่านงามวงศ์วาน ส่งใบลดราคาสินค้ามาให้ รู้สึกแปลกใจเหมือนกันว่าบริษัทดังกล่าวไปเอาชื่อ-สกุล สถานที่อยู่มาจากไหน
ในใบลดราคาสินค้าอ้างว่า เธอผู้นี้มีอุปการคุณกับสินค้าของเขา จึงสมนาคุณแจกสินค้าโฆษณาฟรี 1 รายการ โดยไม่มีเงื่อนไขและข้อต่อรองใดๆ สินค้าที่ให้ไปรับเป็นเครื่องเล่นวีซีดีราคา 5,900 บาท พัดลม 1,900 บาท หม้อหุงข้าวไฟฟ้าราคา 1,400 บาท และเมื่อนำใบลดไปขอแลกสินค้าตามที่ปรากฏในเอกสารจะถูกชักชวนให้ซื้อของที่มีราคาแพงเกินความเป็นจริง จึงเห็นว่ามีพฤติกรรมหลอกลวงจึงส่งเอกสารมาให้ดูเป็นหลักฐาน เพราะเห็นว่ามีการหลอกลวงในลักษณะที่ว่านี้เป็นจำนวนมาก
พ.ศ. 2550
ในยุคที่การติดต่อสื่อสารในบ้านเราเปลี่ยนมาเป็นอินเทอร์เน็ต จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์ไร้สาย เอสเอ็มเอส และอื่นๆ รูปแบบการหลอกลวงผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปทั้งแนบเนียน และแยบยลมากขึ้น แถมสินค้าและบริการที่เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคก็มีมากขึ้นด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าจอมปลอม แต่ยังลามไปถึงบริการฟิตเนสที่ผุดเป็นดอกเห็ด การให้บริการสายการบิน ไปจนถึงการทานอาหารในโรงแรม และอื่นๆ
“รูปแบบของธุรกิจต่างไปจากเดิม รูปแบบมันแยบยลมากขึ้น เป็นกลโกงแบบใหม่ที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ประกอบ เช่น ในอดีตใครจะคิดว่าจะมีคนโทรมาหาคนที่มีบัตรเอทีเอ็มบอกว่าท่านเป็นผู้โชคดี แล้วให้ไปกดเงิน กดไปกดมาแทนที่เงินจะเข้ากลายเป็นเงินออกไป แม้เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสคบ.โดยตรง แต่ก็เป็นเรื่องที่สคบ.ต้องเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงพฤติกรรมเหล่านี้” เป็นคำกล่าวของ จิรชัย มูลทองโร่ย ผู้อำนวยการ กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือสคบ. บอกกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”
จะว่าไปแล้วเรื่องที่ ผู้อำนวยการกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กล่าวข้างต้น ค่อนข้างคล้ายคลึงกับเรื่องที่หลายคนได้รับทราบมาแล้วจาก Forward Mail ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า ใครใช้บัตรเครดิต โปรดอ่าน ด่วน (อ่านเนื้อหาของเมล์ที่ส่งต่อจากข่าวประกอบเรื่อง ใครใช้บัตรเครดิต โปรดอ่านด่วน)
แม้ปัจจุบันจะมีสคบ.คอยให้ความรู้กับผู้บริโภคผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น สคบ.สารที่มีสมาชิกเกือบ 4.1 หมื่นคนทั่วประเทศ วิทยุผ่านเครือข่าย 60 กว่าจังหวัด โทรทัศน์ รวมทั้งเครือข่ายในการตรวจสอบในโรงเรียนระดับประถม และมัธยม กว่า 3,000 โรงเรียน ตลอดจนเครือข่ายการศึกษานอกโรงเรียนทั่วประเทศอีกกว่า 8000 แห่ง แต่จำนวนของเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามายังสคบ.ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ไปรษณีย์ ทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค www.ocpb.go.th ทางโทรศัพท์/โทรศัพท์สายด่วน 1166 พบว่าในเดือนตุลาคม 2549-สิงหาคม 2550 รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนทั้งสิ้น 5,279 ราย (ดูตารางรายละเอียดการร้องเรียนประเภทต่างๆ) ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยลงไปกว่าในช่วงเดือนตุลาคม 2548-กันยายน 2549 ไม่มากนัก โดยมีเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนทั้งสิ้น 6,874 ราย (ตัวเลขที่เก็บรวมรวมในปีปัจจุบัน ล่าสุดมีเพียงแค่เดือนสิงหาคมเท่านั้น)
โดยสินค้าที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุดตลอดกาลก็คือ อสังหาริมทรัพย์ คิดเป็นจำนวนถึง 2,299 ราย เป็นกรณีเรื่องสิ่งปลูกสร้างพร้อมที่ดินมากที่สุด จำนวน 972 ราย ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญา 287 ราย ไม่ดำเนินโอนกรรมสิทธิ์ 123 ราย มีการก่อสร้างแต่ไม่แล้วเสร็จ 102 ราย มีการชำรุดหลังปลูกสร้าง 96 ราย เป็นต้น ส่วนเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนรองลงมาคือ สินค้าและบริการทั่วไป เป็นจำนวนถึง 1,875 ราย ส่วนใหญ่เป็นปัญหาโทรศัพท์ 331 ราย เกี่ยวกับราคาสินค้าและบริการ 299 ราย ปัญหารถยนต์ 231 ราย เป็นต้น
“เรื่องบ้านและที่ดินมีปัญหาเยอะมากแม้แต่ในขณะนี้ แต่สิ่งที่สคบ.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ก็คือ ดูบ้านหรือคอนโดที่โฆษณาบอกว่าอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า ที่ปรากฏว่าในโฆษณาบอกเพียงแค่บางส่วนไม่บอกอีกบางส่วน” ผอ.กองเผยแพร่ฯ อธิบาย
นั่นคือสินค้าและบริการที่ยังคงใช้มุกลวงแบบเดิมๆ และส่วนใหญ่เป็นสินค้าเดิมๆ แต่วันนี้มุกการลวงผู้บริโภคได้เปลี่ยนไป รวมถึงสินค้าบริการที่จะลวงผู้บริโภคได้เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งเชื่อว่าหลายคนอาจได้พานพบมาแล้ว
1-2-Go ตกฟ้องสคบ.ได้
ผู้อำนวยการ กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้พยายามทำอยู่ในขณะนี้ก็คือ ต้องการให้ประชาชนทราบว่าสิทธิของตนในฐานะผู้บริโภคมีอะไรบ้างในการซื้อหรือใช้บริการจากผู้ประกอบธุรกิจ ขยายความ คือ สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมี 5 ประการ คือ ประการแรก สิทธิในการรับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพสินค้าอย่างถูกต้องและอย่างเพียงพอ ตัวนี้เรื่องโฆษณาและฉลากสินค้า เรื่องโฆษณากฎหมายบังคับไว้เลยว่า การโฆษณาต้องใช้ข้อความที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และกฎหมายระบุไว้ในมาตรา 22 บัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคด้วยว่า ข้อความอะไรบ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และข้อความอะไรบ้างที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมโดยรวม ซึ่งมีอยู่ 5 ประการคือ
1 เป็นเท็จหรือเกินความจริง เช่น สายการบินบอกว่าราคาเท่านี้ 800 บาททุกที่นั่งราคาเดียวไม่ต้องจอง พอเอาเข้าจริงๆมีเที่ยวเดียว แถมเป็นเที่ยวสุดท้าย หรือไม่มี 2 เที่ยว เที่ยวแรกกับเที่ยวสุดท้าย มันไม่เป็นความจริง หรือโฆษณาที่บอกว่ากำจัดไรฝุ่นบนที่นอนซึ่งไม่เป็นความจริง
2 ข้อความโฆษณาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของสินค้า เช่น ปกปิดข้อมูลไว้บางส่วน บอกบางส่วนที่ไม่สำคัญ แต่สิ่งที่เป็นสาระสำคัญบางอย่างกลับปกปิดเอาไว้
3 การโฆษณาที่ใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดการกระทำอันผิดกฎหมาย โดยตรงหรือโดยอ้อม หรือผิดศีลธรรม
4.ข้อความที่ก่อให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีในหมู่ประชาชน
5. โฆษณาลดแลกแจกแถม เสี่ยงโชคชิงรางวัล เติมน้ำมัน 400 แถมน้ำ 1 ขวด พอเติมแล้วไม่ได้น้ำ หรือถ้าจะโฆษณาของแถมหรือสิทธิประโยชน์โดยให้เปล่าต้องบอกรายละเอียดว่าหลักเกณฑ์เงื่อนไขเป็นอย่างไร สินค้าที่แถมคืออะไร ต้องชัดเจน มูลค่าของแถมเท่าไร วันเริ่มต้นสิ้นสุดการให้ของแถมต้องระบุชัดเจน จะบอกว่าของแถมมีจำนวนจำกัด หรือแถมจนกว่าของจะหมดไม่ได้
“ที่ผมพูดมามันเป็นเพียงสิทธิข้อแรก สิทธิข้อที่สองของผู้บริโภคคือ สิทธิที่มีอิสระในการเลือกหาสินค้าและบริการ ซื้อใครก็ได้ ไม่ซื้อใครก็ได้ ข้อที่สาม สิทธิในความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ เห็นวันทูโกไปตกที่ภูเก็ต อันนี้เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคว่า ให้บริการแล้วไม่ได้รับความปลอดภัย สามารถร้องสคบ.เพื่อชดเชยความเสียหายตามสิทธิของผู้บริโภคได้ ข้อ 4.เรื่องสิทธิเรื่องความเป็นธรรมในการทำสัญญา ซึ่งอดีตผู้ประกอบการทำสัญญาก็เขียนสัญญาขึ้นมาเอง ผู้บริโภคเซ็นอย่างเดียว เดี๋ยวนี้สคบ.คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคกรณีทำสัญญา ไม่ว่า อู่ซ่อมรถยนต์ บัตรเครดิต จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาต้องบอกผู้บริโภคก่อน
และสุดท้ายข้อที่ 5 สิทธิผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาชดเชยความเสียหายละเมิดสิทธิตั้งแต่ข้อ 1-4”
จนถึงวันนี้ตัวเลขที่เข้ามาแจ้งต่อสคบ.จะทะลุหลักครึ่งหมื่นไปแล้ว แต่เชื่อว่าที่ยังไม่เข้ามาแจ้งสคบ.ยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนไม่แพ้กัน
ฟิตเนสจอมลวงมาแรง
คุณเคยประสบเหตุการณ์เช่นนี้บ้างหรือไม่ ?
กริ๊ง... กริ๊ง (ความจริงเป็นเสียงริงโทนที่ทันสมัย)
“สวัสดีครับ จาก (บอกชื่อสถานฟิตเนสแห่งหนึ่ง) นั่นคุณสมมติใช่ไหมครับ”
“ใช่ครับ”
“ครับ ผมอยากจะบอกว่า คุณเป็นผู้โชคดีได้รับสิทธิพิเศษทดลองใช้บริการฟิตเนสฟรี 3 เดือน วันนี้ว่างไหมครับช่วยเขามารับบัตรนิดนึง จะได้ลงชื่อไว้แล้วมาใช้บริการเมื่อไหร่ก็ได้” อีกฝ่ายสายกรอกเสียงมาตามสาย
“ได้ ได้ครับ แล้วผมจะไป” นายสมมติที่ชอบของฟรีเป็นชีวิตจิตใจรีบตอบตกลง
ครั้นพอไปถึง นายสมมติไปติดต่อขอรับบัตรจากพนักงานที่ให้ชื่อไว้ แต่พนักงานคนนั้นกลับโยกโย้ไม่ยอมให้บัตรแต่โดยดี แถมยังชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิกซะงั้น พอยืนยันเจตนาว่าไม่สมัครแน่นอนพนักงานกลับย้อนถามอีกว่า “มีปัญหาเรื่องการเงินหรือเปล่าพี่” พอตอบกลับว่าไม่มีปัญหาเรื่องเงิน แต่มีปัญหาเรื่องเวลาที่จะมาเล่นมากกว่า พนักงานก็ย้อนกลับมาว่า “ถ้าไม่เล่นวันนี้ แล้วจะไปเล่นเมื่อไร” พูดไม่พูดเปล่าแถมยังแสดงท่าทางที่ไม่ดีอีกต่างหาก เมื่อเห็นว่าพูดกันไม่รู้เรื่องนายสมมติจึงขอตัวกลับ และไม่ทวงบัตรที่บอกว่าจะให้ ซ้ำยังสัญญากับตัวเองว่าแม้จะอยากจะดูแลสุขภาพมากแค่ไหนก็จะไม่ขอเป็นสมาชิกฟิตเนสแห่งนี้อีกเป็นแน่
ที่สำคัญเรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด และไม่ได้เกิดกับนายสมมติเพียงคนเดียว แต่เกิดกับประชาชนผู้บริโภคอีกมากมาย นี่จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์ 18 มงกุฎที่กำลังมาแรง แถมยังไม่สามารถเอาผิดกับเจ้าของสถานบริการแห่งนั้นได้
อีกเหตุการณ์เป็นเรื่องของ “สาวใหญ่” รายหนึ่งที่ไปสมัครสมาชิกฟิตเนสในคอร์สโยคะ ซึ่งก่อนที่จะสมัครสมาชิกพนักงานบอกว่าสามารถให้สามีและลูกเข้าร่วมใช้บริการได้ แต่พอสมัครเข้ามาจริงๆกลับใช้ไม่ได้ แถมพนักงานยังพูดจาไม่ดี ครั้นพอพาเพื่อนไปทดลองใช้ฟรีตามคำเชิญชวน พนักงานกลับถามว่ามีเงินหรือเปล่า หรือบางคนพอไปทดลองใช้ฟรี 3 ครั้ง ถ้าไม่ยอมสมัครจะโดนรุมตื๊อ ถ้าหากใจไม่แข็งสุดท้ายก็ต้องยอมจ่ายเงินเป็นสมาชิกในที่สุด
นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่พบจากการใช้บริการฟิตเนสเท่านั้น แท้จริงแล้วพบว่ามีปัญหาการใช้บริการอีกมากมาย โดยปัญหาที่พบมากที่สุดคือ “สัญญาถูกเอาเปรียบ” ซึ่งในสัญญามักมีข้อความที่เอาเปรียบลูกค้าหรือผู้ใช้บริการฟิตเนส โดยที่ผู้ใช้บริการอาจไม่รู้ตัวเลย จนกระทั่งเกิดปัญญหา และที่แย่กว่านั้นคือ ไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้แม้มีเหตุผลสุดวิสัยก็ตาม
มีตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้บริการให้คำปรึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ประชาชน อีกทั้งประชาชนสามารถขอรับคำปรึกษาผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ ทางโทรศัพท์ ทางไปรษณีย์ และทางเว็บไซต์ของสคบ. ซึ่งในเดือนตุลาคม 2549 – สิงหาคม 2550 ได้ดำเนินการให้คำปรึกษาข้อกฎหมายแก่ประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 13,081 ราย ในจำนวนนี้เป็นการดำเนินการด้านการให้คำปรึกษาเรื่องสัญญาให้บริการสถานออกกำลังกายทั้งสิ้น 211 ราย
ทั้งนี้ปัญหาที่พบมากที่สุดคือ 1.สัญญาไม่เป็นธรรม เช่น บอกเลิกสัญญาก่อนกำหนดไม่ได้ 2.สถานที่ออกกำลังกายและเครื่องมือออกกำลังกายไม่พอเพียง ทำให้ผู้ใช้บริการต้องแย่งกันใช้อุปกรณ์ รวมทั้งไม่มีระบบรักษาความปลอดภัย เมื่อมีของหายสถานบริการจะไม่รับผิดชอบ 3.ในสถานบริการจะมีแบคทีเรียจำนวนมากอยู่ตามเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งห้องน้ำ ล็อกเกอร์ 4.ฟิตเนสส่วนใหญ่ไม่มีอุปกรณ์สำหรับรองรับเหตุฉุกเฉินต่างๆที่เกี่ยวกับสุขภาพ 5.เทรนเนอร์บางคนไม่ได้ถูกฝึกมาให้กับสมาชิกทุกคนและบางคนไม่มีความรู้ที่ดีพอ
แหล่งข่าวในวงการธุรกิจฟิตเนสท่านหนึ่งกล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ยอมรับว่ามีฟิตเนสแบรนด์ดังใช้รูปแบบการโทรศัพท์ชักชวนให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายไปใช้บริการฟิตเนสแห่งนั้น โดยเสนอเงื่อนไขจูงใจ เช่น มอบสิทธิใช้บริการฟรี แต่เมื่อลูกค้าไปใช้บริการกลับมีเงื่อนไขต้องจ่ายเงินสมัครหลักหมื่นบาทเป็นสมาชิกฟิตเนสระยะยาวก่อน จึงจะสามารถรับสิทธิใช้บริการฟรีได้ และไม่สามารถยกเลิกได้ สร้างความไม่พอใจจนทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน
“การเปิดให้กลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพเป็นลูกค้าของฟิตเนสมาทดลองใช้บริการฟรี ถือเป็นการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการขายที่เป็นเครื่องมือการตลาดที่ทุกธุรกิจกระทำกัน แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ผู้ประกอบการแต่ละแห่งจะมีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจแค่ไหน ที่ผ่านมามีฟิตเนสแห่งหนึ่งเคยเปิดให้ลูกค้าเป้าหมายเข้ามาทดลองใช้บริการฟรี 7 วัน ก็มีการดำเนินการตามเงื่อนไขจริง แต่ก็มีบางแห่งที่เมื่อกลุ่มเป้าหมายเข้าไปใช้สิทธิตามที่ฟิตเนสเสนอไป กลับให้เซลส์มานั่งประกบรบเร้าเพื่อปิดการขายให้กลุ่มเป้าหมายนั้นสมัครเป็นสมาชิกโดยเร็วที่สุด ก่อนจะมอบสิทธิพิเศษที่เสนอให้ ลักษณะนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง”
การแข่งขันของธุรกิจฟิตเนสที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่หลายราย รวมถึงมีฟิตเนสขนาดกลาง และเล็กเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้แต่ละรายต้องแย่งหาลูกค้าอย่างหนักหน่วง ภาระส่วนหนึ่งจึงตกอยู่ที่ตัวแทนขายที่แหล่งข่าวกล่าวว่า รูปแบบของตัวแทนขายของธุรกิจฟิตเนสในปัจจุบันยังคงเป็นลักษณะพนักงานประจำที่มีที่ทำการอยู่ในออฟฟิศของฟิตเนส รับนโยบายโดยตรงจากผู้บริหารของฟิตเนสนั้น ๆ มิใช่พนักงานอิสระเหมือนดังเช่นตัวแทนขายบัตรเครดิต หรือขายประกัน ดังนั้น การที่ตัวแทนขายของฟิตเนสไปกระทำการหาสมาชิกโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถูกร้องเรียนนั้น ก็ถูกมองว่าผู้บริหารฟิตเนสนั้น ๆ ควรรับผิดชอบ
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า วันนี้ข่าวเกี่ยวกับฟิตเนสรายใหญ่แห่งหนึ่งไปดำเนินการหาสมาชิกเข้าข่ายหลอกลวงประชาชนมีมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการฟิตเนสรายใหญ่ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ทั้ง ทรู ฟิตเนส ฟิตเนส เฟิร์ทส และแคลิฟอร์เนีย ว๊าว จึงอยากให้ฟิตเนสทุกรายจัดรายการโปรโมชั่นโดยตั้งอยู่บนจรรยาบรรณการทำธุรกิจที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
“ปลาเน่าในบ่อตัวเดียว ก็ส่งผลให้ปลาตัวอื่นมีปัญหาด้วย หากผู้ประกอบการไม่หันมาให้ความสนใจกับการดำเนินการหาสมาชิกของตัวแทนขายของตน ก็อาจส่งผลให้ธุรกิจนี้ประสบปัญหาความเชื่อถือจากประชาชนได้”
แหล่งข่าวจากธุรกิจฟิตเนสยังได้กล่าวถึงลักษณะการให้บริการของธุรกิจฟิตเนสที่มีการเก็บค่าสมาชิกในการใช้บริการสูงถึงปีละ 10,000 – 30,000 บาท ว่า คงไม่สามารถตีมูลค่าได้ว่าเป็นบริการที่มีราคาแพงหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้บริการของลูกค้าแต่ละคน หากลูกค้าสามารถมาใช้บริการได้ทุกเย็นวันทำงาน ค่าบริการจะเฉลี่ยอยู่ที่ครั้งละเพียง 60 บาท แต่สภาพความเป็นจริงคนไทยแม้มีความต้องการให้สุขภาพของตนเองดีขึ้น ก็ยังไม่ใช่ลักษณะพฤติกรรมของคนไทยที่จะเดินทางไปออกกำลังกายทุกวัน หรือบางกลุ่มไม่มีเวลาไปใช้บริการ รวมถึงบางคนที่ถูกตัวแทนขายรบเร้าให้เป็นสมาชิก ก็คงคิดว่าไม่คุ้มค่า
ทั้งนี้ อดีตพนักงานของฟิตเนสแห่งหนึ่ง เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 22 มิถุนายน 2550 ถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของเรื่องนี้ว่า เนื่องจากพนักงานถูกกดดันจากบริษัทให้แข่งกันทำยอดขายให้ได้ตรงตามเป้า โดยมีข้อกำหนดว่าจะต้องหาลูกค้าให้ได้อย่างน้อย 4 คนต่อวัน และเมื่อถึงเวลาประเมินหากพนักงานขายไม่สามารถทำยอดได้ก็จะถูกไล่ออก ดังนั้น การทำงานของพนักงานขายจึงไม่คำนึงถึงความถูกผิดและความรับผิดชอบต่อลูกค้าแต่อย่างใด แต่จะคำนึงว่าทำอย่างไรจะได้ลูกค้ามากที่สุด
เรื่องนี้ ผู้อำนวยการ กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ในกรณีที่ฟิตเนสโทรมาบอกว่ามีอย่างนั้นอย่างนี้ให้ ถือเป็นการโฆษณา ถ้าเป็นไปได้ก็แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดี เพราะสคบ.ต้องการให้ผู้บริโภครู้สิทธิ เมื่อรู้สิทธิและถูกละเมิดสิทธิสคบ.เรียกร้องให้ร้องเรียน ถ้ามีเหตุการณ์ยืนยันว่าทางฟิตเนสโทรไปบอกว่าคุณเป็นผุ้โชคดีได้รางวัลอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอไปถึงแล้วปรากฏว่าไม่ได้ ก็ถือว่าเป็นโฆษณาเป็นเท็จถ้าหากว่ามีหลักฐานด้วย ก็ใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี
“ต้องยอมรับว่าโทรศัพท์ใช้เป็นหลักฐานลำบาก แต่ถ้าเป็นโบรชัวร์แผ่นพับอันนี้ชัดเจนบอกว่าให้แล้วไม่ให้โฆษณาเป็นเท็จจำคุก 6 เดือนปรับ 5 หมื่น อย่างน้อยเป็นแจ้งให้หน่วยงานรัฐทราบข้อเท็จจริงว่าพฤติกรรมประกอบธุรกิจอย่างนี้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องการปรามกัน แต่ในเบื้องต้นต้องเป็นเรื่องของคู่กรณีที่ต้องไปตรวจสอบเอาเองว่าเป็นธรรมหรือไม่”
เรื่องแปลกของโลว์คอสแอร์ กับโปรโมชั่นราคาถูก
สายการบินต้นทุนต่ำก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่สร้างโมเดลขึ้นมาโดยใช้กลยุทธ์เรื่องของตั๋วราคาถูกออกมากระตุ้นกลุ่มเป้าหมาย แต่อย่าลืมว่าการได้ตั๋วราคาถูกก็มักจะตามมาด้วยข้อจำกัดอื่นๆอีกมากมายกำหนดขึ้นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแอบบวกค่าใช้จ่ายต่างๆเข้าไป ส่งผลให้ราคาที่ตั้งไว้กลับไม่เป็นอย่างที่ลูกค้าคิดชนิดที่เรียกว่านอกเหนือความคาดหมายของลูกค้าไปเลย ซึ่งกรณีนี้มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำจนสร้างความไม่พอใจให้กับลูกค้าหลายต่อหลายครั้ง กลยุทธ์แบบนี้ดูจะคล้ายกับโมเดลที่ว่าด้วยการทำตลาดแบบ บุฟเฟต์ของภัตตาคารโรงแรม ซึ่งจะใช้การตั้งราคาตั๋วถูกๆออกมาล่อเหยื่อเพื่อให้เข้ามาติดกับดักทางการตลาดโดยตั้งเงื่อนไขข้อกำหนดออกมาบังคับซึ่งลูกค้าที่ซื้อบริการอาจจะไม่ค่อยเต็มใจเท่าไรนัก
สอดคล้องกับที่แหล่งข่าวระดับสูงในวงการธุรกิจสายการบินให้ความเห็นว่า การใช้กลยุทธ์การแข่งขันว่าด้วยเรื่องของตั๋วราคาถูกมาใช้เพื่อสร้างกระแสนั้นมักจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ แต่อย่าลืมว่าราคาตั๋วที่ว่าถูกนั้นจะแอบแฝงไปด้วยเงื่อนไขข้อกำหนดต่างๆที่ถูกสายการบินได้วางเอาไว้ ว่าด้วยเรื่องของจำนวนที่นั่งที่ค่อนข้างมีอยู่อย่างจำกัด หรือแม้แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการใช้บริการด้านอื่นๆอีกมากมาย โดยที่ลูกค้าไม่ทราบ หรือ ไม่สามารถจดจำได้ทั้งหมด เมื่อนำเงื่อนไขต่างๆมารวมๆกันทั้งหมดขั้นตอนสุดท้ายคือการเก็บเงินกับลูกค้า อาจทำให้ลูกค้าผงะหงายไปเลยก็เป็นได้ ซึ่งลูกค้าก็จะเสียความรู้สึกและอาจจะสูญเสียลูกค้าไปในที่สุด
อีกประการหนึ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งคือ หากธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำที่มักจะมุ่งเน้นแต่การหาลูกค้าใหม่ๆ โดยไม่ใส่ใจในการให้บริการหรือดูแลลูกค้าเดิมให้ดี เนื่องจากมองว่าเป็นของตาย จ่ายเงินเสร็จสรรพเป็นจบกระบวนการขาย ส่งผลให้ลูกค้าเดิมอาจจะไม่พอใจ เกิดการบอกไปแบบปากต่อปากในวงกว้าง จนทำให้เสียภาพลักษณ์ไปแบบถาวรได้ในที่สุดเช่นกัน
ดังนั้น ผู้บริหารต้องมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องของการตั้งระดับราคาที่เหมาะสม เงื่อนไขที่เสนอให้กับลูกค้า ซึ่งโดยทั่วไปควรต้องวิเคราะห์ข้อมูลการใช้บริการของลูกค้าที่ผ่านมา เพื่อดูว่าที่ผ่านมา ลูกค้าพอใจกับการซื้อหรือใช้บริการที่ระดับราคาเท่าใด ความถี่ในการใช้ ปริมาณในการใช้หรือบริโภคต่อครั้ง
อาทิ ในกรณีของสายการบินต้นทุนต่ำ อาจต้องพิจารณาตั้งแต่ช่วงเวลาที่ลูกค้าใช้มากที่สุด ปริมาณการใช้บริการต่อครั้งในแต่ละเดือนหรือแต่ละปี เพื่อนำมากำหนดระดับราคาค่าตั๋วกับจำนวนที่นั่งเพื่อที่จะทำให้กิจการมีรายได้สามารถแข่งขันในตลาดได้
“รวมถึงต้องนำมากำหนดงบประมาณและประมาณการต้นทุนที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในเชิงการเงิน นอกจากนี้ ยังต้องติดตามประเมินผลความพอใจของลูกค้าทั้งเก่าและใหม่อย่างต่อเนื่องอีกด้วย เพื่อไม่ให้กลุ่มใดถูกละเลยมองข้ามไป จนกระทั่งเกิดผลเสียต่อกิจการโดยรวม”แหล่งข่าวระดับสูงกล่าวในที่สุด
เรื่องแปลกเรื่องตั๋วราคาถูก
สายการบินต้นทุนต่ำน่าจะเป็นกรณีศึกษาได้ดีที่สุดโดยเฉพาะกลยุทธ์ด้านราคาที่สามารถดึงดูดให้นักเดินทางพร้อมที่จะควักกระเป๋าตังค์จ่ายโดยไม่ลังเล
โดยเฉพาะโฆษณาที่ผ่านสื่อต่างๆไม่ว่าจะเป็นสายการบินไทยแอร์เอเชียที่ใช้วิธี...เริ่มต้นด้วยราคาถูกสุดมาเป็นกลยุทธ์ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการธุรกิจและประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ส่งผลให้สายการบินต้นทุนต่ำอย่าง วัน ทู โก เครือข่ายที่แยกตัวมาจาก โอเรียนท์ไทย และเพิ่งเปิดให้บริการในเส้นทางภายในประเทศได้ไม่นานนักจำเป็นต้องหันมาใช้โมเดลเรื่องของราคามาเป็นกลยุทธ์เช่นกัน และล่าสุดโปรโมชั่น “บินทั่วไทยในราคาตั๋ว 3 บาท” ของนกแอร์ก็ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง หลังจากที่จัดเป็นโปรโมชั่นไปแบบเดียวกันช่วงฉลองครบ 3 ปีไปหมาดๆ
การโหมโปรโมทเรื่องของราคาตั๋วที่แสนจะถูกแสนถูกแบบนี้ หากเป็นผู้บริโภคคงจะอดใจไม่ไหวต้องรีบโทรสั่งจองเพราะเทศกาลแบบนี้นานๆทีทุกสายการบินต้นทุนต่ำจะมีออกมาแข่งขันกัน ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพของความเป็นจริงในการจองตั๋วเครื่องบินราคาถูกการสุ่มตัวอย่าง “ผู้จัดการรายสัปดาห์”จึงเกิดขึ้นและเลือกที่จะสุ่มใช้บริการของสายการบินต้นทุนต่ำของนกแอร์ เพราะเห็นว่าเพิ่งมีโฆษณาใหม่ล่าสุดออกมา...ว่าแล้วก็รีบติดต่อไปยัง Call center หมายเลขโทรศัพท์พิเศษคือ 02-900-9911 ในทันที...
นี่คือบทสนทนาจริงระหว่างลูกค้ากับสายการบินนกแอร์ หลังจากที่ได้รับข่าวประชาสัมพันธ์ว่าจะต่อเวลาแคมเปญ 3 ปีนกแอร์ ด้วยที่นั่งอีกกว่า 30,000 ที่นั่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่โฆษณาทางโทรทัศน์จะแพร่ภาพเสียอีก
ผู้จัดการรายสัปดาห์:เห็นโปรโมชั่น “บินทั่วไทยในราคาตั๋ว 3 บาท”ไม่ทราบว่าถ้าจะเดินทางไปภูเก็ตในวันเวลาที่กำหนดได้ช่วงเดือนตุลาคมจองตอนนี้ยังมีอยู่หรือป่าวค่ะ..
นกแอร์: ขอเวลาเช็กให้ก่อนนะครับ
เวลาผ่านไปสักครู่........
นกแอร์: มีเฉพาะขาขึ้นกรุงเทพฯนะครับ ส่วนขาล่องไม่มีครับ
ผู้จัดการรายสัปดาห์:งั้นจองช่วงขาล่องก็ได้ค่ะ
เสียงพนักงานนกแอร์หายเงียบไปสักระยะหนึ่งพร้อมกับตอบออกมาว่า
นกแอร์: ขอโทษจริงๆครับโปรโมชั่นดังกล่าวตอนนี้ถูกจองหมดแล้วครับทั้งขาขึ้นขาล่อง
ผู้จัดการรายสัปดาห์: หมดแล้วจริงๆเหรอคะ...
นกแอร์: จริงๆครับ(เป็นคำยีนยันจากพนักงานของสายการบิน)
ผู้จัดการรายสัปดาห์: ถ้าอย่างงั้นช่วยเช็กราคาตั๋วปกติที่จะใช้เดินทางในเส้นทางดังกล่าวว่าตอนนี้ราคาเท่าไรค่ะ
นกแอร์: ราคาตั๋วตอนนี้ทั้งไปและกลับรวมแล้วประมาณกว่า 6 พันบาทครับ
ผู้จัดการรายสัปดาห์: ค่ะ...ถ้างั้นช่วงนี้มีโปรโมชั่นพิเศษหรือเปล่าถ้าจะจองตั๋วบินในเดือนตุลาคม
นกแอร์: ไม่มีครับ
เชื่อได้ว่ากรณีแบบนี้หลายคนที่มีโอกาสจองตั๋วผ่าน Call Center ของนกแอร์หรือสายการบินต้นทุนต่ำอื่นๆคงจะเจอแบบเดียวกัน และคาดว่าน่าจะมีส่วนน้อยที่โชคดีสามารถจองตั๋วราคาถูกได้...(แต่กว่าจะจองได้คงต้องใช้ความพยายามสูงเช่นกันสำหรับการติดต่ออย่างต่อเนื่อง)
การนำเสนอโปรโมชั่นราคาถูกแบบนี้จึงมีทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งจะกลายเป็นดาบสองคมที่สามารถสร้างภาพลักษณ์ดีๆให้เกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น...
“บุฟเฟต่”โดนใจโรงแรม แต่ปวดใจนักชิม
ณ มุมหนึ่งของภัตตาคารเลิศหรูในโรงแรมระดับ 5 ดาวของมหานครกรุงเทพ เทศกาลอาหารบุฟเฟต์ (buffet) ดูจะสร้างสีสันจนกลายเป็นกลยุทธ์ที่สามารถยั่วน้ำลายให้เหล่าบรรดานักชิมไม่ลังเลที่จะเดินทางเข้าไปใช้บริการโดยเฉพาะอาหารยอดนิยมอย่าง “ติ่มซำ” ที่สามารถเรียกร้องความสนใจให้ลูกค้ากล้าพอที่จะควักกระเป๋าเพิ่มเงินเพื่อให้ได้ลิ้มลองรสชาติ แต่ในความอยากลองกลับมีข้อจำกัดมากมายออกมาบังคับ อาทิเรื่องของเวลาในการรับประทานอาหารที่มีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้การสั่งอาหารประเภทติ่มซำที่ต้องใช้เวลาปรุงอาหารต้องเสียเวลาคอยนาน ซึ่งบางครั้งลูกค้าที่กำลังอร่อยกับอาหารบุฟเฟ่ต์อยู่นั้นต้องขาดความต่อเนื่องไป...เพียงเพราะหวังที่จะได้บริโภคติ่มซำ ขณะเดียวกันก็ถูกเวลามาเป็นตัว หลายครั้งถึงกลับสร้างความเบื่อหน่ายให้กับลูกค้าในการรับประทานอาหารมื้อนั้นจนต้องเช็กบิลไปอย่างผิดหวัง
โปรโมชั่น“บุฟเฟต์”มีมานานแล้วและถูกธุรกิจภัตตาคารร้านอาหารหยิบนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกสถานการณ์ไม่เว้นแม้แต่ภัตตาคารภายในโรงแรมเองที่ใช้เทศกาล “บุฟเฟต์”มาเป็นกลยุทธ์เช่นกัน.... ว่ากันว่าเพียงเพื่อหวังกระตุ้นยอดรายได้ให้มีเพิ่มขึ้นในช่วงที่จำนวนห้องพักขายไม่ดี แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นสำหรับลูกค้าด้วยกลยุทธ์แบบบุฟเฟต์ที่แฝงเร้นไปด้วยร้อยเล่ห์เพทุบายกลับกลายเป็นภาพลักษณ์ด้านลบที่สังคมกำลังจับตามองเพราะสิ่งที่ผู้บริโภคได้รับกับการโหมโปรโมตต่างๆนานาของธุรกิจโรงแรมนั้นต่างตรงกันข้ามกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง
กลยุทธ์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับการแข่งขันในแวดวงของธุรกิจนั้น ไม่มีวันหยุดนิ่งจริงๆ ขับเคี่ยวกันอุตลุดวุ่นวาย ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล มีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีกันไม่เว้นแต่ละวัน เรียกว่าห้ามกระพริบตา เพราะเพียงแค่เผลอเท่านั้น ฐานลูกค้าก็อาจจะถูกคู่แข่งขันช่วงชิงไปได้ง่ายๆ
การนำเสนออีกรูปแบบหนึ่งของกลยุทธ์การแข่งขันที่ใช้แนวคิดแบบบุฟเฟต์ที่คิดกำหนดราคาใดราคาหนึ่งมาเป็นจุดขายโดยลูกค้าสามารถอุปโภค บริโภคสินค้า/บริการเท่าใดก็ได้ ไม่จำกัด ขณะเดียวกันก็มีเงื่อนไขข้อจำกัดในการบริโภค ซึ่งโดยทั่วไปก็มักจะเป็นเงื่อนไขด้านเวลา โดยเฉพาะการให้บริโภคภายในช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น
หากมองถึงธุรกิจที่นำเอาแนวคิดบุฟเฟต์มาใช้บ่อยครั้ง และหลายคนคุ้นเคย คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของบริการอาหารแบบบุฟเฟต์ตามโรงแรม ที่กำหนดไว้เป็นราคาต่อคน และกินเท่าไรก็ได้ตามที่ต้องการ แต่ก็มักจะมีเงื่อนไขข้อจำกัดโดยเฉพาะเรื่องของเวลารับประทานมากำหนด
หัวใจของกลยุทธ์บุฟเฟต์ ก็คือ แรงจูงใจให้ลูกค้ารู้สึกว่ามีความคุ้มค่าในการซื้อสินค้าหรือบริการมากขึ้น มักจะได้ผลหากลูกค้ามีแนวโน้มที่จะอ่อนไหวต่อราคามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ประชาชนได้รับผลกระทบด้านอำนาจซื้อมากพอสมควร
ขณะนี้ มีหลากหลายธุรกิจบริการนำกลยุทธ์บุฟเฟต์มาใช้และทอปฮิตเห็นกันชัดเจนที่สุดก็คือ ประเภทร้านอาหาร อาทิ ร้านฮอตพอท หรือ โออิชิ เอ็กซ์เพรส ที่มีเคาน์เตอร์ของอาหารวางเรียงรายให้ลูกค้าได้บริโภคกันอย่างจุใจ แต่สุดท้ายก็ถูกกำหนดเงื่อนไขว่าด้วยเรื่องเวลาในการรับประทานเหมือนหลายภัตตาคารทั่วๆ
ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจฟิตเนส ออกกำลังกายรักษาสุขภาพ ที่คิดค่าสมาชิกแบบ Fixed Price และอยากเข้ามาใช้บริการบ่อยครั้งเท่าใดก็ได้ ขึ้นกับความอุตสาหะของแต่ละท่าน ซึ่งคล้ายคลึงกับธุรกิจสปาหรือดูแลรักษาสุขภาพความงามต่างๆที่ผุดกันเป็นดอกเห็ดในปัจจุบันที่มีแพ็คเกจเสริมความงามออกมากระตุ้นให้กลุ่มลูกค้าเข้าไปใช้บริการหลากหลายวิธีจนเลือกไม่ถูก
ส่งผลให้กลยุทธ์แบบนี้ถูกใจกลุ่มลูกค้าเป็นพิเศษจนสามารถเพิ่มแรงดึงดูดใจให้ลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการมากขึ้น เนื่องจากมองว่าเกิดความคุ้มค่าเหมาะกับลูกค้าในยุคที่การใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ต้องคิดอย่างระมัดระวัง ทำให้สามารถช่วงชิงลูกค้ามาจากคู่แข่งขันได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ขณะเดียวกันลูกค้าเองก็รู้สึกว่าตนเองสามารถคุมงบประมาณการใช้จ่ายของตนเองได้อีกด้วย นับว่าเป็นยุทธวิธีที่สร้างแรงดึงดูดใจได้เป็นอย่างดีทีเดียว
แถมการคิดราคายังไม่เชิงทำให้เสียภาพลักษณ์มากนัก ซึ่งไม่เหมือนกับการลดแลกแจกแถมสินค้า/บริการ ที่ภาพลักษณ์ดูจะแข่งขันรุนแรงสร้างสงครามราคาซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังสร้างภาพแสดงความจริงใจต่อลูกค้าจนทำให้ได้รับคะแนนนิยม จากการให้สิ่งตอบแทนที่คุ้มค่าต่อลูกค้าทุกคน
ขณะเดียวกันกลยุทธ์ดังกล่าวยังก่อให้เกิดความง่าย สะดวกแก่กิจการด้วย เนื่องจากมีการใช้ราคาคงที่ราคาเดียวกับทำให้การดำเนินงานไม่สับสนวุ่นวาย ประมาณการรายรับก็ไม่ยากลำบากนัก เรียกว่าบริหารงบประมาณและรายรับได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
แม้ว่ากลยุทธ์ขายสินค้าที่ใช้โมเดลแบบรวมเป็นแพคเกจจะสร้างเม็ดเงินและภาพลักษณ์ได้ดีในระดับหนึ่งก็ตาม แต่ธุรกิจก็ต้องมีจุดอ่อนที่ต้องระวังไม่เว้นแม้แต่กลยุทธ์แบบบุฟเฟต์ที่ ต้องอย่าให้ลูกค้ารู้สึกว่ากิจการขาดความจริงใจ มิฉะนั้น จะส่งผลทำให้เสียภาพลักษณ์ซึ่งจะกระทบไปสู่ส่วนอื่นๆของกิจการ
ธุรกิจโรงแรมจึงกลายเป็นกรณีศึกษาที่เหมาะสมที่สุดโดยเฉพาะกิจกรรมแบบบุฟเฟต์ที่ถูกหยิบนำมาใช้เป็นกลยุทธ์มากเป็นพิเศษ และที่เห็นภาพชัดเจนคือ บุฟเฟต์ติ่มซำของสารพัดภัตตาคารหรือโรงแรม ที่มีจุดขายว่า All you can eat นั่นคือ กินเท่าไรก็ได้ ภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งมักจะเป็นเวลาสักไม่เกินสองชั่วโมงโดยประมาณของช่วงอาหารกลางวัน
แหล่งข่าวในวงการโรงแรมยกตัวอย่างให้ฟังว่า หากลูกค้าต้องการทานติ่มซำจะต้องเรียกบริกรมาสั่ง และต้องรออยู่นานมากพอควรในแต่ละออเดอร์ รวมถึงการเสิร์ฟแต่ละครั้งก็จะทิ้งช่วงนานพอควร พอสอบถามบริกรก็จะบอกว่า กำลังปรุงอาหารอยู่ เพื่อฆ่าเวลาให้หมดไปและนี่คือยุทธวิธีหนึ่งสำหรับกลยุทธ์แบบนี้ ในที่สุดลูกค้าจะเริ่มเซ็ง เสียความรู้สึกและเวลา อีกทั้งการทานอาหาร หากขาดความต่อเนื่องก็จะลดความอยากไปและรู้สึกอิ่มไปโดยอัตโนมัติ
“กลายเป็นวิธีที่ทำให้ลูกค้าทานอาหารได้น้อยกว่าปกติ หรืออาจจะน้อยกว่าที่สั่งมานั่งทานด้วยซ้ำ ซึ่งหลายกิจการอาจจะคิดว่าเป็นเทคนิคที่ดี ทำให้คุ้มค่าและลดต้นทุนของตนได้”แหล่งข่าวระดับสูงกล่าว
แน่นอนในความเป็นจริงลูกค้าจะรู้สึกแย่ต่อกิจการ รู้สึกว่ากิจการไม่จริงใจ ตักตวงผลประโยชน์จากลูกค้า ไม่ทำตามที่สัญญากับลูกค้าไว้ ทำให้นอกจากจะไม่กลับมาทานบุฟเฟต์แล้ว บริการอื่นๆของโรงแรมหรือภัตตาคารนั้นๆก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ใครใช้บัตรเครดิต โปรดอ่าน ด่วน!
ข้อความต่อไปนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งที่จะรู้จักวิธีการหลอกลวงฉ้อฉล ด้วยการแอบอ้างว่าโทรมาจาก Visa หรือ Master Cards เพื่อให้คุณได้ระมัดระวังตนเองไม่ตกเป็นเหยื่อวิธีการฉ้อฉลดังกล่าว
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ภรรยาผมได้รับโทรศัพท์จาก Visa และผมก็ได้รับโทรศัพท์จาก Master Card ในวันพฤหัสบดีต่อมา คนที่โทรมาพูดว่า “ดิฉัน...(ชื่อ) โทรจากฝ่ายรักษาความปลอดภัยของ Visa ค่ะ คือเราตรวจพบว่ามีความผิดปกติในการสั่งซื้อ จึงโทรมาตรวจสอบว่าบัตร Visa ของคุณที่ออกโดยธนาคาร...(ชื่อ) มีการสั่งซื้ออุปกรณ์ระบบป้องกันภัยมูลค่า 20,000 บาท จากบริษัทในอเมริกาหรือเปล่าคะ”
เมื่อคุณบอกว่า “เปล่านี่คะ” คนที่โทรมาก็จะบอกว่า “ถ้าอย่างงั้นเราจะคืนเงินให้คุณกลับคืน เรากำลังตรวจสอบบริษัทฉ้อฉล โดยมีวงเงินที่ฉ้อฉลโกงลูกค้า ครั้งละ 12,000-20,000 บาท เราจะส่งหนังสือแจ้งการคืนเงินให้คุณทราบที่...(ที่อยู่ของคุณ) ถูกต้องมั๊ยคะ”
เมื่อคุณบอกว่า “ถูกต้องคะ” คนที่โทรมาจะพูดต่อไปว่า “ดิชั้นจะทำการสืบสวนต่อไป หากคุณมีข้อสงสัยให้โทรตามหมายเลขที่อยู่หลังบัตรแล้วต่อฝ่ายรักษาความปลอดภัย คุณต้องระบุหมายเลขอ้างอิงนี้ (คนที่โทรมาจะบอกหมายเลข 6 หลัก) คุณต้องการให้ดิชั้นทวนหมายเลขมั๊ยคะ”
ต่อไปนี้จะเป็นส่วนสำคัญของกลโกง
คนที่โทรมาจะพูดว่า “เพื่อให้ทราบว่าคุณเป็นเจ้าของบัตรที่แท้จริงของบัตรเครดิตการ์ดใบนี้ กรุณาพลิกด้านหลังของบัตรและให้ดูที่หมายเลข 7 ตัวสุดท้าย 4 ตัวแรกจะเป็นหมายเลขบัตร 3 ตัวต่อมาจะเป็นเลขสำหรับรักษาความปลอดภัยว่าคุณคือเจ้าของที่แท้จริงและใช้ในการสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต กรุณาบอกเลข 3 ตัวสุดท้ายด้วยคะ”
เมื่อคุณบอกเลข 3 ตัวสุดท้ายไป คนที่โทรมาจะบอกว่า
“ตัวเลขถูกต้อง ดิชั้นต้องการให้แน่ใจว่าบัตรยังอยู่กับคุณ มิได้สูญหาย หรือถูกขโมย คุณมีข้อสงสัยอื่นใดอีกหรือเปล่าคะ”
เมื่อคุณบอกว่า “ไม่มีคะ” คนโทรมาจะขอบคุณและบอกว่าหากมีในภายหลังก็ให้โทรสอบถามได้เสมอ แล้ววางสาย
ความจริงคุณพูดไปน้อยมาก คนโทรมาไม่ได้ขอหมายเลขบัตรเครดิตของคุณ แต่ภรรยาผมเกิดเอะใจ จึงโทรกลับไปทันทีหลังจากวางสายไป 20 นาทีและปรากฏว่า Visa ตัวจริงบอกว่าภรรยาผมถูกหลอกแล้ว และเมื่อ 15 นาทีที่ผ่านมาได้มีรายการซื้อสินค้าจำนวน 20,000 บาท ส่งมาเรียกเก็บ ในที่สุด Visa ได้ยกเลิกบัตรและออกบัตรใหม่ให้
ผู้ฉ้อฉลต้องการเลขเพียง 3 ตัวสุดท้ายด้านหลังบัตร อย่าให้ไปเป็นอันขาด ให้คุณบอกว่าแล้วจะโทรกลับไปแจ้งเองโดยตรงจะดีกว่า
วันพฤหัสบดีต่อมา ผมได้รับโทรศัพท์จากคุณ...(ชื่อ) อ้างว่าโทรจาก Master Card ซึ่งมีข้อความเหมือนกับที่ภรรยาผมได้รับคำต่อคำเลย ผมเลยไม่รอให้เขาพูดจบ ผมรีบวางสาย แล้วไปแจ้งความที่สถานีตำรวจตามที่ Visa ให้คำแนะนำมา
ตำรวจบอกว่าได้รับแจ้งแบบเดียวกันนี้ วันหนึ่งหลายราย จึงขอร้องให้ข่วยกันบอกต่อด้วย เราต้องระมัดระวังตนเอง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
|