"อาชญากรรมกำลังซับซ้อนและรุนแรงขึ้นทุกทีเพราะ "ผู้ร้าย"
นั้นพัฒนาก้าวหน้าไปมาก กรมตำรวจใน พ.ศ. นี้จึงเริ่มต้นสร้างระบบฐานข้อมูลอาชญากรรมให้ก้าวหน้าและทันสมัยเสียที
โดยใช้คอมพิวเตอร์เข้าจัดการ มีแผนจะเชื่อมโยงโครงข่ายทั่วประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อให้งานพิทักษ์สันติราษฎร์นั้นเป็นจริง"
ความสามารถเฉพาะตัวของตำรวจไทยเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับอยู่ทั่วไปมานานแล้วว่า
เก่งและมีอยู่อย่างค่อนข้างรอบด้านไม่น้อยกว่าตำรวจชาติอื่นใด หรือถ้าเปรียบเทียบกันตัวต่อตัวในการปฏิบัติงานก็อาจกล่าวได้ว่า
ส่วนใหญ่มีความสามารถสูงกว่าเสียด้วยซ้ำเนื่องจากในการทำคดีต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมักจะต้องดำเนินการทุกขั้นตอนด้วยตนเอง
ไม่มีเครื่องมือหรือระบบสนับสนุนมากเทียบเท่ากับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ในหลาย
ๆ ประเทศโยเฉพาะความด้อยกว่าทางด้านเทคโนโลยีวิทยาการทางการสื่อสาร
ถ้าพิจารณาถึงภารกิจและอำนาจหน้าที่ของกรมตำรวจตามที่ได้รับการกำหนดไว้ซึ่งมี
6 ประการอันได้แก่ 1) รักษาความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักรเฉพาะที่กฎหมายไม่ได้ระบุให้เป็นความรับผิดชอบของหน่วยอื่น
2) ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดอาญา 3) สืบสวนและสอบสวน เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำผิด
4) ร่วมมือกับหน่วยราชการอื่นในภารกิจทั้งหลายข้างต้น 5) บำบัดทุกข์บำรุงสุขและให้บริการแก่ประชาชน
และ 6) ส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีกับประชาชน จะเห็นได้ว่างานทางด้านป้องกันและปราบปรามนั้นถือว่าเป็นหัวใจของงานตำรวจทีเดียว
ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ถือได้ว่าเป็นหน้าที่อันเนื่องตามมาหรือหน้าที่รอง ๆ
ลงไป
ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดี เรื่องของข้อมูลมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง
ขณะที่ร่องรอยและหลักฐานจากที่เกิดเหตุคือเครื่องมือเบื้องต้น ข้อมูลต่าง
ๆ จำพวกสำเนาทะเบียนบ้าน ประวัติอาชญากร ทะเบียนยานพาหนะ ฯลฯ ก็ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับคลี่คลายให้เกิดความสว่าง
แต่การที่ข้อมูลทางด้านนี้ถูกเก็บกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วย
ในขั้นตอนการใช้จึงมีความยุ่งยากและประสบกับความล่าช้ามาตลอด ซึ่งไม่เป็นผลดีกับการทำงานแม้แต่น้อย
ด้วยเหตุนี้ ข่าวคราวที่เกิดขึ้นในระยะสองสามเดือนที่ผ่านมา เกี่ยวกับที่กรมตำรวจได้เริ่มพัฒนาจัดระบบฐานข้อมูลอาชญากรรมไว้ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
และมีหน่วยงานศูนย์กลาง จึงนับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายไม่น้อย
ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับ "ศูนย์ประมวลข่าวสาร"
และ "พันตำรวจเอกไพรัช พงษ์เจริญ"
งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ของกรมตำรวจอันเป็นโครงการที่จัดทำขึ้น
เพื่อขออนุมัติต่อคณะกรรมการคอมพิวเตอร์ของรัฐในการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์
และเครื่องจักรเตรียมข้อมูลเพื่อทดแทนเครื่องเดิมซึ่งสัญญาเช่าจะหมดอายุลงในวันที่
12 พฤษภาคม 2535
จุดกำเนิดของโครงการมีสาเหตุเพียงเท่านี้ แต่ด้วยเหตุว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
ประกอบกับระบบข้อมูลและการสื่อสารอันถือเป็นหัวใจในงานตำรวจยังไม่สมบูรณ์และเป็นระบบมากพอ
ในการเสนอจัดหาระบบเครื่องใหม่ครั้งนี้จึงมุ่งที่จะพัฒนางานด้านคอมพิวเตอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการสื่อสารด้วย
ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับกับการปฏิบัติงานของกรมโดยส่วนรวม
กรมตำรวจเริ่มนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้นานมาแล้ว ตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม
ปี 2510 ช้ากว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติอันเป็นหน่วยงานรัฐแห่งที่ 2 ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ไปเพียงไม่กี่เดือน
พร้อมกันนั้นได้ก่อตั้งหน่วยขึ้นรับผิดชอบชื่อว่าสำนักงานสถิติกรมตำรวจ มีเลขานุการกรมตำรวจเป็นหัวหน้าสำนักงาน
เครื่องรุ่นแรกที่ใช้ในสำนักงานแห่งนี้เป็นเครื่อง IBM System 360 Model
20 เช่ามาจากบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด โดยได้รับความสนับสนุนในเรื่องค่าเช่าจากประเทศสหรัฐอเมริกา
ตลอดเวลา 25 ปีที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนเครื่องให้ทันสมัย และเป็นการขยายขนาดของหน่วยความจำหลัก
(Main Memory) มาแล้วประมาณ 4 ครั้งจนกระทั่งล่าสุดเมื่อปี 2530 ก็ได้เปลี่ยนมาใช้เครื่อง
IBM 4381 Model 11 เพิ่มหน่วยความจำหลักมาเป็นขนาด 8 Mega Byte (MB) และเพิ่มหน่วยความจำสำรอง
(Secondary Storage) เป็น 10,080 Mega Byte แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับปริมาณงานที่ต้องทำ
โดยเฉพาะเมื่อจะต้องขยายงานออกไปมากขึ้นตามโครงการใหม่นี้
สำนักงานสถิติถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลต่าง
ๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านอื่น ๆ โดยตรง แม้จะได้รับการเปลี่ยนชื่อและปรับเปลี่ยนสถานะอีกหลายครั้ง
จนในที่สุดกลายเป็นศูนย์ประมวลข่าวสารมีฐานะเป็นกองกำกับการ สังกัดกองวิจัยและวางแผน
แต่ภาระหน้าที่หลักนั้นก็ยังคงเดิม คือมีหน้าที่รวบรวมเก็บรักษา ประมวล วิเคราะห์
เสนอและให้บริการข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพื่อตอบสนองงานด้านบริหารงานป้องกันปราบปรามและงานด้านกิจการพิเศษ
ซึ่งเท่ากับเป็นการสนับสนุนงานทั้งหมดของกรมตำรวจที่มีอยู่ 3 ลักษณะดังกล่าวตามการแบ่งส่วนราชการภายใน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ข้อมูลที่เก็บอยู่ในคอมพิวเตอร์ของศูนย์ประมวลข่าวสารนั้นเกี่ยวข้องกับด้านการบริหาร
และด้านกิจการพิเศษเป็นส่วนใหญ่ได้แก่ ข้อมูลจำพวกอัตราเงินเดือน อัตรากำลังพล
จำนวนยานพาหนะ ฯลฯ
"ที่นี่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์คอมพิวเตอร์โดยตรง เริ่มทำงานกันตั้งแต่เมื่อยังไม่รู้จะเอาอะไรเข้ามา
ต้องวิ่งไปหางานเอามาเข้าเครื่อง ช่วงแรกก็ทำด้านการบริหารไม่ได้มองเรื่องอื่น
เพราะเครื่องมือน้อย เป็นเพียงเครื่อง IBM เล็ก ๆ เป็น main frame ไม่มีตู้เทป
มีแต่ตู้อ่านการ์ดอย่างเดียวอ่านโปรแกรมหรือ proof โปรแกรมก็ด้วยการ์ดเจาะรูทั้งหมดระบบ
ON LINE ก็ยังไม่มี ต่อมาก็ทำด้านอื่นด้วยแต่ยังไม่ค่อยเต็มที่" พันตำรวจโทสุขสวัสดิ์
ชัชวาล สารวัตรงาน 3 ผู้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำที่หน่วยงานแห่งนี้มาตั้งแต่ปี
2512 เล่าถึงเนื้อหาของงาน
ส่วนงานด้านข้อมูลที่เกี่ยวกับด้านการป้องกันและปราบปรามยังไม่ได้มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบจริงจัง
ทางศูนย์ฯ มีข้อมูลเพียงเฉพาะบางส่วนเท่านั้นนอกนั้นกระจายกันอยู่ตามหน่วยงานอื่น
ซึ่งไม่มีศูนย์กลางและไม่มีการเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนกัน
การที่โครงการพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ให้น้ำหนักกับ งานฐานข้อมูลอาชญากรรม
หรือ CRIME INFORMATION SYSTEM (CIS) ขึ้นมาจึงนับว่าเป็นมิติใหม่ที่มีความหมายกว้างขวางมากแม้ว่าดูเผิน
ๆ โครงการนี้เป็นเพียงเรื่องของการจัดหาระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ทดแทนเครื่องเดิมที่ใกล้จะสิ้นสุดอายุของสัญญาเช่าอันเป็นเพียงเรื่องทางเทคนิคแต่ตามเป้าหมายการดำเนินงานที่ได้วางเอาไว้
อันประกอบไปด้วยการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาบุคลากร และการเชื่อมโยงสร้างโครงข่ายคอมพิวเตอร์
จะเห็นได้ว่า โครงการนี้มุ่งพัฒนาในส่วนของเนื้อหาของระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารมากกว่า
และก็มิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นลอย ๆ หากมีที่มาที่หนักแน่นไม่น้อย ประมาณว่าโครงการนี้จะต้องใช้เงินถึง
583,360,000 บาททีเดียว
ในแผนกรมตำรวจแม่บทฉบับที่ 1 พ.ศ. 2530-2534 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535-2539
ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในตอนหนึ่งว่า "ลดอาชญากรรมให้ได้ผลอย่างจริงจังและรวดเร็วด้วยการเน้นที่มาตรการด้านการป้องกันเป็นหลัก
และสนับสนุนด้วยมาตรการด้านการปราบปรามซึ่งจะทำควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง
และให้มีการขยายผลการปฏิบัติแแกไปอย่างไม่หยุดยั้ง รวมทั้งการนำวิทยาการตำรวจและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมให้มากยิ่งขึ้น"
งานด้านสารสนเทศคือแนวทางหนึ่งของการพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยี สิ่งนี้มีการกำหนดอย่างเป็นรูปธรรมอยู่ในส่วนของนโยบายและแผนประจำปี
ซึ่งได้วางแนวเอาไว้ 2 ข้อด้วยกัน คือ
1. นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในงานต่าง ๆ เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม
อันได้แก่การเก็บรวบรวมสถิติข้อมูลการวิเคราะห์สถานภาพอาชญากรรม รวมทั้งบันทึก
และตรวจสอบข้อมูลท้องถิ่นแผนประทุษกรรม ตำหนิ รูปพรรณ หมายจับ
2. ส่งเสริมให้หน่วยงานสังกัดนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในราชการ โดยจัดระบบให้สามารถเชื่อมโยงข่ายข้อมูลเป็นระบบเดียวกันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ศูนย์ประมวลข่าวสารถูกวางให้เป็นหน่วยงานหลักที่ต้องรับผิดชอบผลักดันงานตามโครงการนี้ให้เป็นจริงขึ้นมา
โดยต้องเป็นศูนย์กลางรับผิดชอบควบคุมดูแลการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ที่ได้รับอนุมัติด้วย
เมื่อได้รับมอบหมายภารกิจใหญ่เช่นนี้ ทางศูนย์เองจึงเท่ากับตกอยู่ในวงจรแห่งความเปลี่ยนแปลง
ต้องปรับเปลี่ยนรูปโฉมภายในเป็นการใหญ่
ที่ชั้นที่ 2 ของอาคาร 19 ภายในกรมฯ ปทุมวัน เพียงเดินพ้นโค้งบันไดไป ป้ายสีเงินโลหะขนาดใหญ่ที่อยู่เบื้องหน้าก็บ่งบอกให้รู้ได้ทันทีว่า
ทั้งชั้นนั้นคืออาณาจักรของศูนย์ประมวลข่าวสาร หรือถ้าช่างสังเกตสักเล็กน้อยตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ตัวอาคาร
ก็จะเห็นโปสเตอร์สีสวยสดแผ่นขนาดปานกลางที่สื่อด้วยรูปการ์ตูนประกอบด้วยถ้อยความบรรยายแนะนำองค์กรและการทำงานติดเรียงรายอยู่ตลอดแนวบันได
ซึ่งสามารถให้ภาพของหน่วยงานแห่งนี้อย่างดี
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปลายปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ประมาณ 100 คนของศูนย์ประมวลข่าวสารเพิ่งได้
"นาย" คนใหม่เป็นผู้กำกับหนุ่มที่มีดีกรีระดับดอกเตอร์ อีกทั้งยังได้ผ่านการศึกษาและฝึกอบรมหลักสูตร
เอฟ.บี.ไอ. มาแล้วชนิดหมาด ๆ จากอเมริกา นี่คือความเปลี่ยนแปลงแรก
พันตำรวจเอกไพรัช พงษ์เจริญ ได้รับการโยกย้ายเดี่ยวนอกฤดูกาลให้มารับผิดชอบงานใหม่โดยทันทีหลังเดินทางกลับถึงบ้านได้เพียงไม่ถึง
2 สัปดาห์ ทันพอดีกับการเข้าบุกเบิกวางระบบงานพัฒนาระบบสารสนเทศ
"ผู้กำกับคนใหม่มาในช่วงที่จะมีการนำเครื่องใหม่มาใช้ ซึ่งเรื่องนี้ทางหน่วยงานได้ขออนุญาตคณะกรรมการคอมพิวเตอร์ของรัฐตั้งแต่ขั้นต้น
เขียนโครงการ 4-5 ปีมาแล้ว ในเรื่องฐานระบบข้อมูลส่วนหนึ่งก็มีการทำอยู่เช่นกัน
แต่ไม่ครบวงจร แต่ตอนนี้ที่ผู้กำกับเข้ามาและผู้ใหญ่ต้องการคือ จะเน้นเรื่องงานข้อมูลอาชญากรรมให้ครบรูปแบบครบวงจรปรับปรุงระบบตรงนี้ให้สมบูรณ์"
พ.ต.ท. หญิง รังสิมา พันธ์สุวรรณ สารวัตรงาน 6 กล่าวถึงการมาของผู้บริหารศูนย์ฯ
คนล่าสุด
ความเปลี่ยนแปลงทางด้านสถานที่คือสิ่งแรกที่เห็นได้ชัดพร้อมกับการเริ่มต้นทำงานของผู้กำกับคนใหม่
ผู้ซึ่งเน้นความสำคัญของบุคลากรเป็นอย่างมาก ทั้งนี้โดยมีความตระหนักเป็นอย่างดีว่าหน่วยงานอย่างศูนย์ประมวลข่าวสารซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐนั้นมีข้อด้อยกว่าเอกชนหลายประการ
ในขณะที่บุคลากรทางด้านคอมพิวเตอร์เป็นความต้องการของภาคธุรกิจค่อนข้างมาก
การจะรักษาคนให้ทำงานยืนยาวอยู่ได้จำเป็นต้องสร้างองค์ประกอบหลายประการ
ที่นี่ไม่ใช่จะมีเพียงห้องฝึกอบรม ห้องสมุดเท่านั้น แต่มีห้องสันทนาการ
และห้องดื่มกาแฟด้วย อันเป็นแหล่งที่ทุกคนสามารถเข้าไปพูดคุยในเรื่องการงานด้วยบรรยากาศสบาย
ๆ หรืออาจจะพักผ่อนในลักษณะทั่วไป
ทุก ๆ วันศุกร์เจ้าหน้าที่จะได้ทานข้าวร่วมกัน และทุก ๆ เดือนมีการจัดงานวันเกิดให้แก่สมาชิกที่เกิดในเดือนนั้น
เหล่านี้คือวัฒนธรรมที่ผู้กำกับไพรัชสร้างขึ้น
ในส่วนของการทำงาน ระบบกลุ่มก็ได้ถูกนำมาใช้ในรูปแบบที่มีความยืดหยุ่น
มีการถ่ายโอนเปลี่ยนหน้าที่ไปตามความเหมาะสม โดยกลุ่มต่าง ๆ ก็จะแข่งขันกันทำงานของตนให้ลุล่วงด้วย
บรรยากาศการทำงานและการร่วมชีวิตแบบใหม่ได้เกิดขึ้น สภาพของศูนย์ฯ ในขณะนี้จึงมีความพิเศษและแตกต่างจากหน่วยงานรัฐอื่น
ๆ เวลาในการเข้าออกงานไม่ใช่เครื่องตัดสินสำคัญเท่ากับผลงานที่สำเร็จลุล่วง
และสายบังคับบัญชาก็ไม่จำเป็นเท่ากับความร่วมมือของกลุ่ม
อีกสิ่งที่ได้รับการเน้นในช่วงเดือนแรกก็คือการพยายามที่จะพูดคุยสร้างความเข้าใจในหมู่ผู้ใต้บังคับบัญชาถึงจุดมุ่งหมายของงานใหม่
เนื่องจากผู้กำกับไพรัชเชื่อว่า "ถ้าไม่มีคนที่มีความคิดเดียวกันการทำงานก็จะลำบากมาก"
โดยเฉพาะกับภาระหน้าที่ส่วนที่เพิ่มขึ้นใหม่นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตกลงหลักการและแนวทางกันให้ชัดเจน
พ.ต.อ. ไพรัชเข้าสู่เส้นทางสีกากีมานานแล้ว เริ่มจากโรงเรียนเตรียมทหารกรุงเทพฯ
ต่อด้วยชั้นปริญญาตรีที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน เป็นผู้ที่มีผลการเรียนดีเด่นมาโดยตลอด
จึงผ่านการคัดเลือกจากกรมให้ได้รับทุนรัฐบาล (ก.พ.) ในความต้องการของกรมตำรวจให้ไปศึกษาต่อปริญญาโทที่
UNIVERSITY OF ALABAMA ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสาขาการบริหารงานกระบวนการยุติธรรม
และเนื่องจากผลการเรียนดีเด่นมาก จึงได้รับอนุมัติให้ศึกษาต่ออีกในสาขาวิชาเดิมที่มหาวิทยาลัย
SAN HOUSTON STATE รัฐ TEXAS
ก่อนไปศึกษาขั้นปริญญาโทเคยเป็นรองสารวัตรประจำสถานีตำรวจนครบาลอยู่ 2
แห่ง หลังจบปริญญาเอกได้เข้าทำงานที่กองบังคับการตำรวจนครบาลอยู่ 2 แห่ง
หลังจบปริญญาเอกได้เขาทำงานที่กองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรีและกองกำกับการสืบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ
ตามลำดับ จนกระทั่งปี 2528 จึงได้เป็นนายเวรผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
ปีต่อมาย้ายไปเป็นนายเวรผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจที่ชื่อ พล.ต.อ. แสวง ธีระสวัสดิ์
จนกระทั่งปี 2532 เมื่อผู้ช่วยอธิบดีคนดังกล่าวผ่านการเป็นรองอธิบดีจนกระทั่งขึ้นเป็นอธิบดี
พ.ต.อ.ไพรัชก็ยังคงเป็นนายเวรประจำตัวอยู่ และเป็นเรื่อยมาตราบจน พล.ต.อ.
แสวงลาออกจากราชการไปในปี 2533
"ผมอยู่กับท่านอธิบดีแสวงมาตลอด เป็นระดับบริหารสูงสุด เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เรามีการประชุมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมต่าง
ๆ เรามีปัญหา 12 ประการ หนึ่ง ความไม่พร้อมทางด้านข้อมูลของอาชญากร หรือพฤติกรรม
หรือ pattern ของการกระทำความผิด กับ สอง ปัญหาหลักคือ ไม่มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมของหน่วยต่าง
ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ทำให้งานเป็นไปล่าช้า เป็นลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างหวังข้อมูลกัน"
ผู้กำกับไพรัชเล่าถึงประการแรกเริ่มทางความคิดทั้งของตนเองและของผู้ใหญ่ที่จะพัฒนาระบบข้อมูล
ในเวลานั้น สิ่งที่นายตำรวจหนุ่มเห็นว่าน่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องก็คือ
หนึ่ง จะต้องเก็บบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรระบบคอมพิวเตอร์ สอง ข้อมูลนั้นจะต้องให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามป้องกันได้ใช้เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความฉับไว
ทันต่อเหตุการณ์
ความคิดของ พ.ต.อ. ไพรัชส่อเค้าว่ามีสิทธิ์ที่จะเป็นจริงตั้งแต่ก่อนไปเรียน
FBI แล้ว โดยอธิบดีสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ได้มอบหมายไว้ให้เอาใจใส่เรื่องนี้
ทำให้ระหว่างศึกษาหลักสูตร FBI อยู่ 4 เดือน เขาพยายามเฝ้าดูระบบของทางอเมริกาอย่างตั้งใจพร้อมไปกับคิดหาทางที่จะปรับให้เหมาะสมกับระบบของไทย
"ท่านอธิบดีกรมตำรวจทั้งคนก่อนและปัจจุบันท่านให้การเน้นหนักในเรื่องนี้กันมาก
ท่านอธิบดีกรมตำรวจปัจจุบันเลยย้ายผมมาไว้ที่นี่มาทำว่า CIS จะมีกี่ระบบ
set up งานอย่างไร จะแชร์ข้อมูลท้องที่อย่างไร ฯลฯ นี่คือที่มา ซึ่งเราก็กำลังทำกันไปได้ดีอยู่ในขณะนี้
และเราก็พยายามขายความคิดนี้ไปเรื่อย ๆ" พ.ต.อ. ไพรัชบอกเล่า
อาจกล่าวได้ว่าถ้าปราศจากแรงสนับสนุนจากผู้ใหญ่ข้างบน งานชิ้นที่ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยเช่นนี้ก็คงยากที่จะก่อให้เกิดขึ้น
ในทำนองเดียวกันทางด้านของผู้ปฏิบัติ ถ้าไม่เห็นความสำคัญและไม่มีความมุ่งมั่นที่จะทำก็คงไม่ได้
นายตำรวจระดับรองผู้กำกับที่ผ่านงานปราบปรามมาอย่างโชกโชนรายหนึ่งกล่าวว่า
เมื่อปี 2525 เคยมีการคิดที่จะติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลภายในข่ายงานของกองกำกับการ
3 ซึ่งประมาณว่าต้องใช้งบประมาณถึง 1 ล้านบาท การคิดในเรื่องนี้มีอยู่เสมอและเคยมีการพยายามวาดโครงการกันหลายครั้ง
ทว่าไม่เคยสำเร็จถึงขั้นได้ลงมือทำมาก่อนจวบจนถึงครั้งนี้
ตำรวจผู้ปฏิบัติต้องเล็งเห็นความสำคัญของการมูล ในเรื่องว่าถ้าเราได้ข้อมูลที่ถูกต้องทันสมัยจะเป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างไรในการป้องกันปราบปรามในงาน
ก่อนเราอาจจะพอที่จะต่างคนต่างทำได้ แต่ขณะนี้ความเคลื่อนไหวทางองค์กรอาชญากรรมต่างประเทศมันสูงเราต้องมีศูนย์กลางบอกเล่าถึงความมุ่งมาดที่เด่นชัดอยู่ในตัว
ขณะนี้การสร้างระบบฐานข้อมูลอาชญากรรมเริ่มเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาแล้ว เงินงบประมาณจำนวน
584 ล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานงบประมาณจะถูกใช้สำหรับสร้างระบบ
main frame เพื่อรองรับงานระบบฐานข้อมูลอาชญากรรม และรองรับงานเชื่อมโครงข่ายคอมฯ
ไปยังสถานีต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอาชญากรรมที่ถูกต้อง
ทันสมัย ครบถ้วน และสมบูรณ์
งานระบบฐานข้อมูลอาชญากรรมที่จะต้องรวบรวมขึ้นมีอยู่ 10 ระบบด้วยกัน คือ
ข้อมูลคดีอาชญากรรมและผลการดำเนินคดี ข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญกรซึ่งรวมถึงผู้ต้องหาผู้ถูกกักขัง
และบุคคลพ้นโทษ ข้อมูลหมายจับ ข้อมูลทะเบียนรถยนต์ ข้อมูลทะเบียนอาวุธและผู้ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธปืน
ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลตำหนิรูปพรรณผู้กระทำผิด ข้อมูลพิมพ์นิ้วมือ ข้อมูลตำหนิรูปพรรณ
ทรัพย์สินหาย และข้อมูลแผนประทุษกรรมของคนร้าย
"ฐานระบบอาชญกรรม 10 ระบบที่ผมตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมอาชญากร ควบคุมพฤติกรรมของคนร้าย
และป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ถ้าเราลดตรงนี้ลงได้อาชญกรรมจะเกิดน้อยลงไปมาก
และก็เน้นว่าถ้าอาชญากรรมจะเกิดขึ้นมาเราจะไปตามจับใคร กลุ่มผู้ต้องสงสัยมีใครบ้าง
เราจะล้อมกรอบตรงไหน ทำให้การสืบสวนสอบสวนเพื่อขยายผลทำได้ง่ายขึ้น"
ผู้กำกับไพรัชกล่าว
อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้นอกจากจะมีอยู่กับหน่วยงานของกรมตำรวจและสถานีตำรวจต่าง
ๆ แล้วบางส่วนก็เป็นข้อมูลของหน่วยราชการอื่น ซึ่งจะต้องทำการเชื่อมต่อเข้ามาด้วย
นั่นหมายถึงว่าในการเชื่อมโยงโครงข่ายจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนด้วยกัน คือโครงข่ายของแหล่งข้อมูลและโครงข่ายของผู้ใช้ข้อมูล
โดยส่วนหลังนี้จำกัดอยู่เฉพาะหน่วยงานของกรมเท่านั้น
ภายใต้ระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2535-2539 รวม 5 ปี การเชื่อมโยงโครงข่ายทั้งหมดถูกกำหนดไว้ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี
2537 โดยมีการแบ่งระยะเวลาดำเนินงานเอาไว้อย่างชัดเจนกล่าวคือ ในส่วนของการเชื่อมต่อกับหน่วยงานภายนอกนั้น
แบ่งออกเป็น 2 ระยะ
ระยะที่ 1 การเชื่อมโยงจะต้องเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ประกอบไปด้วย สำนักงานทะเบียนรถยนต์สาขากระทรวงคมนาคม,
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักนายกรัฐมนตรี,
สำนักงานทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครองและกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง สำหรับระยะที่
2 กำหนดเสร็จสิ้นภายในปี 2537 ได้แก่ กรมอัยการ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทยและศูนย์คอมพิวเตอร์
กระทรวงยุติธรรม
ส่วนการเชื่อมโยงภายในกรมแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน ระยะที่ภายในปีนี้การเชื่อมกับกองทะเบียนประวัติอาชญกรต้องแล้วเสร็จ
พร้อมกับเชื่อมโยงไปยังสถานีตำรวจนครบาล 69 แห่ง สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง
41 แห่ง เฉพาะในเขต บช. ภ. 1 และ บช. ภ. 3 แล้วในระยะที่ 2 จึงเชื่อมไปยังสถานีภูธรอำเภอเมืองที่เหลืออีก
31 แห่ง ในเขต บช. ภ.2 และ 4 ในช่วงปีต่อไปสุดท้ายคือระยะที่ 3 ขยายไปสู่สถานีตำรวจภูธรอำเภอระดับ
1 จำนวน 144 แห่ง ภายในปี 2537
"ขณะนี้ทะเบียนราษฎร์และ ป.ป.ส. เสร็จสิ้นเรียบร้อยไปแล้วกำลังดำเนินการต่อเนื่องไปยังสำนักอัยการสูงสุด
กรมราชฑัณท์และศาลเป็นรายต่อไป ถ้าตรงนี้เสร็จสมบูรณ์ก็เป็นการทำงานร่วมกันของทุกองค์กรในขบวนการยุติธรรมทำให้ได้รู้ความเคลื่อนไหวของอาชญกรว่าคนหนึ่ง
ๆ นั้นเดินไปอย่างไรเราจะได้ตามถูกเพราะว่าการกระทำผิดซ้ำของคน ๆ หนึ่งนั้นเกิน
50% กลุ่มคนที่ทำอาชญากรรมขณะนี้ก็คนหน้าเดิมเราต้องการรู้ pattern ถ้าสะกดรอยได้มอนิเตอร์คนนั้นได้รู้ว่าออกจากคุกเมื่อไหร่จะช่วยได้เยอะให้ท้องที่เขารู้"
นี่คือความคืบหน้าล่าสุดด้านการเชื่อมโยงโครงข่าย
ทางด้านข้อมูล 10 ระบบก็มีบางระบบที่สมบูรณ์แล้วเช่นกันได้แก่ทะเบียนรถยนต์-จักรยานยนต์
ทะเบียนอาวุธปืน ทะเบียนราษฎร์ ทะเบียนบุคคล ทะเบียนรถหาย ส่วนนี้ค่อนข้างเร็วเนื่องจากเป็นส่วนที่ทางศูนย์ฯ
เก็บไว้อยู่แล้วถ้าเทียบกับข้อมูลบางระบบที่ต้องใช้หน่วยงานต่าง ๆ ย่อมล่าช้ากว่าทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานนั้นระบบการจัดเก็บเดิมเป็นอย่างไรด้วย
กว่าจะครบทั้งระบบคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักแต่ถึงอย่างไรระหว่างนี้ผลของการพัฒนาก็ยังพอมีออกมาให้เห็นบ้างแล้ว
ระบบข้อมูลใหม่ที่เปิดใช้ในปัจจุบันและได้รับความนิยมอย่างยิ่งก็คือข้อมูลรถหายและข้อมูลทะเบียนรถยนต์
จักรยานยนต์ 6 ล้าน 5 แสนคัน ซึ่งบรรดาตำรวจ ผู้ปฏิบัติงานพากันตรวจสอบเข้ามาได้เพื่อใช้ประโยชน์ในกรณีต่าง
ๆ
เช่นเมื่อพบเห็นรถต้องสงสัยก็สามารถ หยุดรถได้ตลอดเวลาเพราะใช้เวลาตรวจสอบเพียง
1 นาทีโทรศัพท์ถามก็ตรวจสอบได้แล้วว่า รถคันนั้นเป็นของใครหรืออาจตรวจสอบกับทะเบียนรถหายที่มีการแจ้งความ
ก็จะทราบว่าเป็นรถอยู่ในบัญชีนี้หรือไม่ในขณะที่ถ้าเป็นเมื่อก่อนเจ้าหน้าที่มักไม่กล้าหยุดรถทั้งที่ผิดสังเกตเพราะไม่มีจุดที่จะตรวจสอบข้อมูลได้
หรือถึงทำได้ก็ต้องใช้เวลามากซึ่งจริง ๆ ก็คือทำไม่ได้นั่นเอง
"อย่างรถหาย เรามีข้อมูลรถหาย 45,000 คันอยู่ในระบบฐานข้อมูลอาชญากรรม
ขณะนี้ได้จัดชุดปฏิบัติการออกไปตรวจสอบรถที่จอดตามโรงพัก และเอา record นี้มาค้นเข้ากับทะเบียนรถหาย
เราจะแปลกใจมากว่ารถที่จอดตามโรงพักที่ตำรวจยึดมาตรงกับรถที่แจ้งหาย เราก็ติดต่อเจ้าของไปรับรถคืนที่สนนั้นๆ
ถ้าเราไม่มีตรงนี้ ตำรวจท้องที่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร บางทีจับรถแล้วคนขับวิ่งหนีไปก็ได้แต่เอารถมาจอดที่โรงพักเฉย
ๆ ก็อยู่แค่นั้นปลายทางแค่นั้น พ.ต.อ. ไพรัชเล่าถึงผลดีที่เริ่มต้นเกิดขึ้นแล้วต่อไปในระยะยาวยังมีแผนการณ์
อีกว่าจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากทางองค์กรตำรวจสากล เข้ากับศูนย์ประมวลข่าวสารด้วย
ซึ่งถึงเวลานั้นการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ระดับข้ามชาติก็จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นเช่นกัน
เพราะปัจจุบันนี้อาชญากรต่างชาตินั้นพัฒนาก้าวหน้าไปไกลมากแล้ว การแฝงเข้ามาในรูปนักลงทุนหรือนักธุรกิจคือสิ่งที่จะต้องได้ยินได้ฟังบ่อยขึ้นขบวนการต่าง
ๆ มีการทำงานอย่างเป็นเครือข่ายและมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือมากขึ้น
สิ่งเหล่านี้ถ้ามีผู้มีหน้าที่ปราบปรามตามไม่ทันก็ย่อมไม่อาจทำอะไรได้
การติดต่อกับทางองค์กรตำรวจสากลไม่มีปัญหาแน่ ๆ แล้วในแง่ของการยินยอมจากฝ่ายโน้น
ปัจจัยสำคัญก็คือตัวเทคโนโลยีที่จะเลือกใช้ อีกทั้งระบบใหญ่ทั้งหมดภายในประเทศก็ควรจะเป็นจริงก่อน
ซึ่งแม้ศูนย์ประมวลข่าวสารจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักแต่ความสำเร็จที่สมบูรณ์ย่อมขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย