|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ กำลังเป็นที่สนใจของบริษัทอสังหาฯของไทย และบริษัทรับสร้างบ้าน ในการกระจายฐานธุรกิจออกสู่ตลาดต่างประเทศ เป็นการบริหารความเสี่ยงในภาวะที่ตลาดอสังหาฯในประเทศชะลอตัว ประกอบกับในยุคโลกาภิวัฒน์ การเคลื่อนย้ายของเงินทุนจากต่างประเทศ กำลังมองและให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่เศรษฐกิจกำลังเจริญเติบโต เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม เป็นต้น
ซึ่งการเข้าไปปูทางยังตลาดต่างประเทศของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีความโดดเด่น เนื่องจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จีดีพีของประเทศมีมูลค่าสูง การบริโภคภายในประเทศขยายตัวอย่างมาก ซึ่งต่างกับสภาพปัจจุบัน ที่ทิศทางของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ระหว่างรอปัจจัยบวกสนับสนุน โดยเฉพาะการเลือกตั้งใหม่ และทิศทางของรัฐบาลชุดใหม่ต่อนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
ตรวจแถวบริษัทอสังหาฯบุกนอก
สำหรับบริษัทอสังหาฯที่กำลังเตรียมตัวเข้าไปขยายฐานลูกค้าในประเทศเพื่อนบ้าน มีทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและนอกตลาดหลักทรัพย์ ให้ความสำคัญที่จะเข้าไปสร้างพันธมิตรใหม่ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งวิธีการและรูปแบบอาจจะมีความต่าง แล้วแต่แนวทางธุรกิจและการเข้าถึงตลาดในประเทศนั้นๆ
บริษัท พฤกษา เรียเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS บริษัทอสังหาฯอันดับต้นๆของเมืองไทย เริ่มมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการขยายฐานธุรกิจอสังหาฯ โดยจะอาศัยความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างและความพร้อมในด้านกำลังทุน และทรัพยากร เป็นจุดขายที่สำคัญในการเข้าไปพัฒนาโครงการในต่างประเทศ
นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษาฯกล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำการศึกษาใน 2 ประเทศได้แก่ อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีรูปแบบการพัฒนาอสังหาฯ ราคาใกล้เคียงกับประเทศไทย อีกทั้งความต้องการที่อยู่อาศัยยังใกล้เคียงกับเซกเมนต์ที่บริษัทพฤกษาฯดำเนินการอยู่ นอกจากนี้ทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวยังมีอัตราเติบโตทางด้านเศรษฐกิจสูงมาก ประชากรขาดแคลนที่อยู่อาศัยสูง
โดยเฉพาะในอินเดีย ประชาชนมีความต้องการบ้านระดับกลางสูงถึง 10 ล้านยูนิต ประกอบกับจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก อินเดียวต้องสร้างบ้านถึง 40,000 หลังต่อวันจึงจะเพียงพอต่อจำนวนประชากร ซึ่งบริษัทได้ทำการศึกษาในเมืองบังคาลอร์ และมุมไบ ส่วนระดับราคาบ้านที่ประชากรส่วนใหญ่รับได้ประมาณ 6 แสนบาท ซึ่งราคาดังกล่าว พัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมถึงจะสามารถทำได้
ส่วนตลาดอสังหาฯเวียดนามนั้น ได้ทำการศึกษาที่เมืองไซ่ง่อน ซึ่งราคาที่ดินสูงกว่าเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นการเช่าระยะยาว 50 ปี ทำให้คอนโดมิเนียมได้รับความนิยมสูงสุดถึง 90% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดซึ่งเวียดนามถือเป็นตลาดเกิดใหม่อยู่ในช่วงอัตราการเติบโตสูงเหมือนไทยในช่วง 10-15 ปีก่อนหน้านี้ แต่ยังถือว่าเล็กกว่าเมืองไทยมาก โดยคิดเป็น 10% ของอสังหาฯในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น
ทั้ง 2 ประเทศราคาที่ดินจะสูงกว่าไทย ส่วนราคาวัสดุนั้นอยู่ระหว่างการเปรียบเทียบ แต่เชื่อว่าโดยรวมแล้วต้นทุนก่อสร้างจะไม่แตกต่างจากไทยมากนัก อย่างไรก็ดีทั้ง 2 ประเทศค่าแรงถูกกว่าไทยมาก หากมีการบริหารจัดการที่ดีน่าจะสามารถลงทุนได้ โดยจาการศึกษาพบว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ30%
และล่าสุดนายวีระ ศรีชนะชัยโชค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทพฤกษาฯระบุว่า ทางบริษัทจะเลือกลงทุนในประเทศอินเดียเป็นอันดับแรกก่อนประเทศเวียดนาม เนื่องจากความต้องการในตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศอินเดียมีสูงกว่า รวมทั้งรูปแบบอสังหาฯก็ตรงกับโครงการของบริษัท ซึ่งโครงการคอนโดฯจะเป็นแนวทางแรกที่จะเข้าไปลงทุนในปี 2551
นายชัยวัฒน์ โกวิทจินดาชัย รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาขน) หรือ PRIN กล่าวว่า ทางบริษัทให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนาม โดยจะเข้าไปร่วมลงทุนกับกลุ่มรัฐบาล หรือลงทุนเอง ซึ่งโครงการที่จะเข้าไปลงทุนอาจเป็นโครงการเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ให้เช่าหรือคอนโดฯ เพื่อรองรับคนต่างชาติที่ไปทำงานหรือนักท่องเที่ยว เพราะเป็นตลาดที่น่าสนใจ
นายจิระพงษ์ วินิชบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัทได้เข้าไปลงทุนธุรกิจอสังหาฯในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในนามบริษัท โรจนะ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด โดยได้เปิดตัวโครงการคอนโดฯพักอาศัยภายใต้ชื่อ Kaina Plaza ตั้งอยู่ในนครฉางโจว มณฑลเจียงซู โครงการดังกล่าวพัฒนาเป็นอาคารสูง 54 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 75,000 ตร.ม.จำนวน 900 ห้อง มูลค่าโครงการรวม 3,000 ล้านบาท ใช้เงินลงทุนในระยะแรกประมาณ 300 ล้านบาท
ดูไบแหล่งขุมทรัพย์ของเศรษฐี
เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นอีกตลาดที่นักลงทุนไทยจะขยับเข้าไปลงทุน นอกเหนือจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย เนื่องจากเมืองดูไบ มีความเจริญเติบโตและกำลังเปลี่ยนแนวทางของการพัฒนาประเทศในระยะยาว ส่งผลให้เกิดการลงทุนสร้างโครงสร้างอสังหาฯขนาดใหญ่เกิดขึ้น
ล่าสุด บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือ ดีที กรุ๊ป ผู้พัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว แบรนด์ "แมกโนเลียส์" และคอนโดมิเนียม แบรนด์ "The Muse" ในไทย ธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ วางเป้าหมายสู่ตลาดต่างประเทศเช่นกัน
นาย วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฯกล่าวว่า ในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้า มีแผนที่จะรุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของบริษัทและยังเป็นการกระจายความเสี่ยงในการพัฒนาด้วย โดยขณะนี้ได้เล็งการลงทุนใน 2-3 ประเทศคือ เมืองดูไบ,จีน, เวียดนาม และอินเดีย
"ปัจจุบันสถานการณ์ทางด้านการเมืองในประเทศไทยยังไม่ดีขึ้น จึงต้องมองช่องทางการลงทุนในต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงด้วย แต่ในอนาคตเชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆน่าจะดีขึ้น"นายวิสิษฐ์ กล่าวและชี้ว่า
หากย้อนไป 5 ปีที่ผ่านมา เมืองดูไบมีอัตราการเติบโตสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก เพราะมีการก่อสร้างโครงการใหม่ๆมากมาย ที่ล้วนหรูหราทันสมัยกว่าประเทศไทยมาก แต่ละโครงการล้วนพัฒนาระดับตั้งแต่ 5-7 ดาวขึ้นไปทั้งสิ้น และแนวโน้มยังไปได้ดีอย่างต่อเนื่อง รองลงมาจะเข้าไปลงทุนในประเทศจีน
เช่นเดียวกับนางพิไลพรรณ สมบัติศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงแรมปาร์คนายเลิศ จำกัด เจ้าของโรงแรมปาร์คนายเลิศ แรฟเฟิลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า มีแนวคิดที่จะเข้าไปลงทุนธุรกิจโรงแรมที่ประเทศภูฏาน โดยจะเข้าไปในนามของบริษัท ปาร์คนายเลิศ จำกัด คาดว่าจะเข้าไปลงทุนโรงแรมระดับหรู 5-6 ดาว
ขณะที่บริษัท แลนดี้ โฮม (ประเทศไทย) มีแผนที่จะเตรียมออกไปรับงานสร้างบ้านในประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรในท้องถิ่น ที่จะนำระบบของก่อสร้างโนวาซิสเต็ม ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนามาจากเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นเข้าไปใช้ในงานก่อสร้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ร่วมทุน
คอนเน็กชั่นใบเบิกทาง
ถึงแม้ว่า บริษัทเอกชนจะมองหาลู่ทางที่จะขยับการลงทุนในตลาดต่างประเทศ แต่ยังมีหลายประเด็นที่ต้องขบคิดให้หนัก ทั้งเรื่องของ แนวนโยบายของผู้นำในแต่ละประเทศต่อเรื่องของการลงทุน ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดที่อยู่อาศัยภายในประเทศ กฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆของทางราชการ เป็นต้น ซึ่งการที่จะบินเดี่ยวโดย"เป็นผู้หาญกล้า"ไปลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องที่ยาก หากปราศจาก"สายสัมพันธ์อันดี"กับผู้มีอำนาจ
"เหมือนกับชาวต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย ยังต้องอาศัยผู้ที่เชี่ยวชาญธุรกิจในพื้นที่ หรือร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาฯ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน และในบางครั้ง ก็เข้าไปอาศัยทรัพยากรในประเทศนั้น เพื่อผลทางธุรกิจแล้ว การดูแลสังคมหรือสร้างผลประโยชน์ให้แก่คนในชุมชนนั้น ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ "แหล่งข่าวกล่าว
|
|
|
|
|