Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2535
"วินัย อินถาวงศ์คืนสู่ดินแดนสังคมนิยมลาวเพื่อสร้างอาณาจักรธุรกิจ"             
 


   
search resources

วินัย อินถาวงศ์
Consultants and Professional Services
Laos
วิโค กรุ๊พ




แม้ว่าผนังภายในสำนักงานของ วินัย อินถาวงศ์ จะเป็นภาพสีน้ำเรียบ ๆ แสดงถึงภูมิประเทศในฝรั่งเศส แต่อันที่จริงวินัยกลับมาอยู่ที่เวียนจันทน์แล้ว และบุรุษวัย 43 ปีผู้นี้ก็นับเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจท้องถิ่นไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จในลาว

ในช่วง 15 ปี หลังจากวินัยกลับสู่แผ่นดินเกิด เขาได้ก่อตั้งธุรกิจของตนเองขึ้นปัจจุบันคือ วิโค กรุ๊พ ซึ่งมีกิจการครอบคลุมตั้งแต่บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ,โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้, บริษัทการค้า, ฟาร์มเกษตร, ร้านตัดแว่น และยังเป็นดีลเลอร์รถยนต์หลายยี่ห้อ ตั้งแต่เมอร์ซิเดส เบนซ์, วอลโว่และเปอโยต์ด้วย

วินัยเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในลาวก็จริง ทว่า ชีวิตส่วนใหญ่ของเขานั้นต้องอยู่ท่ามกลางความแตกต่างระหว่างแบบแผนชีวิตสไตล์ยุโรปที่เคยชินแต่ครั้งยังเด็ก กับการปลูกฝังความคิดให้ภักดีต่อแผ่นดินเกิดและครอบครัว "เมื่อตอนที่พ่อแม่ของผมส่งผมไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสนั้น พ่อกับแม่บอกผมว่า เมื่อเรียนจบแล้วผมจะต้องกลับมาช่วยพัฒนาบ้านเกิดของเรา" วินัยเล่าถึงความหลัง

เมื่ออายุเพียง 6 ปี วินัยก็ถูกส่งไปเรียนที่ อิกซ์ ออง โพร วองซ์ ทางใต้ของฝรั่งเศสจากนั้นก็เข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิกเรื่อยมา "ออกจะแปลกอยู่สักหน่อยสำหรับคนที่เป็นชาวพุทธ" เขาฟื้นความหลังและเสริมอีกว่า "ผมจะต้องเข้าโบสถ์ทุก ๆ สัปดาห์ และมีอยู่ปีหนึ่งที่ผมได้รับรางวัลชนะเลิศในวิชาศาสนา ผมจำได้ว่าตอนนั้นผมภูมิอกภูมิใจมากแต่มาถึงตอนนี้แล้วมองย้อนกลับไปรู้สึกเป็นเรื่องตลกมาก"

เมื่ออยู่ที่ฝรั่งเศส วินัยได้มีโอกาสเล่าเรียนการอ่านและเขียนภาษาลาวจากนักศึกษารัฐศาสตร์ลาวผู้หนึ่ง แต่เขาก็ยอมรับว่า "จนถึงตอนนี้แล้วภาษาลาวของผมก็ยังไม่ดีส่วนการเขียนก็แย่มากทีเดียว"

วินัยถูกเรียกตัวกลับบ้านเกิดในปี 1964 ขณะที่เขาอายุ 16 ปี "พ่อแม่บอกผมว่าผมจะต้องกลับบ้านและมาทำความรู้จักกับคนในครอบครัว"

อีก 3 ปีถัดมา เขาก็กลับไปฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่งเพื่อศึกษาต่อทางด้านการแพทย์และรัฐศาสตร์ และหลังจากที่ได้ทำงานเป็นผู้อ่านข่าวประจำวิทยุเวียงจันทน์ในฝรั่งเศสได้ระยะหนึ่ง เขาก็ออกเดินทางอีกครั้งหนึ่งในปี 1974 แต่ครั้งนี้จุดหมายปลายทางของเขาคือกรุงเทพฯ

ช่วงระยะเวลาดังกล่าว สถานการณ์ทางการเมืองในไทยอยู่ในสภาพวุ่นวาย แต่เขาก็ได้เริ่มชิมลางประกอบธุรกิจเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ประเทศไทยลองผิดลองถูกกับระบอบประชาธิปไตยอยู่และขณะที่สหรัฐฯ กำลังทำสงครามอยู่ในอินโดจีน วินัยก็ใช้เวลาอีก 2 ปีทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งอาทิ นิปปอน สตีล และมิตซูบิชิ สตีล โดยทำการศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในลาวจากกรุงเทพฯ "พ่อของผมร่วมทำธุรกิจกับโครงการหลายโครงการในลาว" เขากล่าว "บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งกำลังมองหาช่องทางการลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่อยู่ โดยเฉพาะเหล็ก, ทองและแมงกานีส"

ครั้นปี 1975 เมื่อฝ่ายสังคมนิยมมีชัยชนะและประกาศตั้งประเทศลาวขึ้น บรรดาโครงการต่าง ๆ ก็มีอันหยุดชะงักไป ตัววินัยเองก็ต้องอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะตัดสินใจไม่ถูกว่า ควรจะกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดหรือรับคำเชื้อเชิญของเพื่อนฝูงให้อพยพ ครอบครัวไปอยู่สหรัฐฯ หรือกลับฝรั่งเศสดี

แต่ท้ายที่สุด เขาก็เห็นแก่ครอบครับมากกว่า และตัวลุงของเขา ท่านนายพลซินกาโป ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการสาธารณะ ก็ได้คอยปลอบให้เขาคลายวิตกในเรื่องการริเริ่มธุรกิจส่วนตัว และชักชวนให้เขากลับไปอยู่ที่ลาว "ตอนนั้นผมบอกไปว่าผมอาจจะกลับถ้าหากผมสามารถตั้งสำนักงานเล็ก ๆ และดำเนินธุรกิจส่วนตัวผมได้" วินัยรำลึกความหลัง

เมื่อกลับเวียงจันทน์ วินัยเริ่มต้นจากการกลับไปบริหารกิจการโรงเลื่อยของพ่อของเขา อีก 3 ปีถัดมา" หลังจากที่รัฐบาลเข้าใจถึงปัญหาในเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบ" เขาและเพื่อนนักธุรกิจอีกราวสี่ห้าคนจึงจัดได้ว่าเป็นกลุ่มนักทุนนิยมภาครัฐชุดแรก ซึ่งประเดิมงานจากธุรกิจค้าไม้เป็นอันดับแรก

กระนั้นการประกอบธุรกิจในเวียงจันทน์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เช่นกัน ความผันผวนในนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อภาคเอกชน นั้นกดดันให้วินัยถึงกับล้มละลายไปสองครั้งสองครา

โดยในปี 1980 รัฐบาลรวบการส่งออกไม้ทั้งหมดไว้ในมือทั้งหมด ทำให้เขาไม่อาจดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีก "รัฐบาลรวบธุรกิจเกี่ยวกับไม้ซุงและไม้พะยูงไว้หมด ทำให้ธุรกิจผมเสียหายอย่างหนัก" เขาครวญ "และอีก 2 ปีถัดมาผมก็เหลือแค่สำนักงานเปล่า ๆ ที่ไม่อาจทำธุรกิจอะไรได้อีกเลย"

หลังจากนั้น วินัยได้ตั้งบริษัทค้าขนาดเล็กขึ้นแห่งหนึ่งโดยนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจำพวกน้ำตาล สบู่ และจักรยานเพื่อจำหน่ายในตลาดเช้าในเวียงจันทน์ แต่เมื่อดำเนินการไปได้ 2 ปีรัฐบาลก็เข้ามารวบธุรกิจส่วนนี้ไว้ในมืออีกปล่อยให้เขาต้องล้มละลายซ้ำสอง

"ปี 1985 ผมตัดสินใจเลิกกิจการลงทุนต่าง ๆ ในลาว เพราะเห็นว่ายังมีความเสี่ยงสูงมาก จากนั้นจึงหันมาจับธุรกิจที่ปรึกษาแทน" เขาเล่าย้อนเหตุการณ์ "และนี่ทำให้ผมยืนขึ้นมาด้วยลำแข้งของตัวเองได้จนถึงปี 1989 อันเป็นปีที่รัฐบาลให้โอกาสผมอีก และเปิดประตูรับการลงทุนจากต่างประเทศ"

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา กิจการที่ปรึกษา วิโค ของวินัยก้าวหน้าเติบโตขึ้นเรื่อยมา โดยเน้นทางด้านการให้คำปรึกษาแก่บริษัทต่างชาต ิเกี่ยวกับการเข้ามาลงทุนในโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากหน่วยงานต่าง ๆ

ทุกวันนี้วินัยจะเป็นที่ปรึกษาหรือไม่ก็เข้าไปร่วมธุรกิจกับบริษัทระหว่างประเทศอีกกว่า 10 แห่ง และส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจากยุโรป มีอาทิ "อิเล็กโทร วัตต์" ของสวิตเซอร์แลนด์ "โดเชอ คอน ซุล" แห่งเยอรมนีและ "โซเกรฮ", "อัลคาเทล" และ "โซเกอเล" แห่งฝรั่งเศล กับ "อะลีนาโอเต" แห่งอิตาลี นอกจากนั้น เขายังได้สัญญาเป็นผู้รับเหมาในการทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอีกหลายต่อหลายโครงการด้วย

ความเก่งกาจในการเสาะหาทุนช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของเขายังทำให้เขามีความสำคัญในสายตาของรัฐบาลลาวอีกด้วย

"ผมเพียงแต่ทำสิ่งดีที่สุดเพื่อให้ได้เงินช่วยเหลือมาให้กับประเทศ และผมก็กล้าพูดด้วยว่าผมช่วยได้มากทีเดียว"

ยิ่งกว่านั้นวินัยยังหาญกล้าที่จะแสวงหาช่องทางทำธุรกิจในกัมพูชาอีกด้วย เดือนกรกฎาคม 1989 เขาได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกับเจ้าหน้าที่พนมเปญ เพื่อจัดสร้างโรงงานผลิตน้ำ และสามารถดำเนินการผลิตได้ในอีกหนึ่งปีถัดมา และเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วนี้เองที่เขาทำสัญญาเช่าซื้อโรงงานผลิตเบียร์แห่งหนึ่งในกัมปงโสมเป็นระยะเวลา 20 ปี ปัจจุบันกำลังเปิดดำเนินการอยู่บริหารกิจการโดย "เอเชีย แปซิฟิก มอลเตอร" แห่งออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม วินัยเพิ่งจะเริ่มนำเงินของเขากลับไปลงทุนในลาวอย่างจริงจังก็เมื่อระยะ 3 ปีที่ผ่านมา เขาให้เหตุผลว่า "ผมต้องการให้รัฐบาลรู้ว่า ผมเป็นคน ๆ หนึ่งที่ยินดีที่จะลงทุนที่นี่" และนี่เองที่ทำให้เขาลงทุนสร้างบ้านไว้หลายหลังเพื่อให้ชาวต่างประเทศเช่าอยู่อีกทั้งยังเปิดบาร์ "เลอ ปาราโซล บลองก์" หลังที่ทำการสภาแห่งชาติซึ่งต่อมาได้ปรับให้เป็นโรงแรมขนาด 20 ห้องและภัตตาคารที่ทันสมัย

เมื่อวินัยมีความมั่นใจกับบรรยากาศการลงทุนมากขึ้นเขาก็ได้เพิ่มวงเงินลงทุนในบ้านเกิดเพิ่มขึ้นจนถึง 1 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน

วินัยยังมีโครงการใหม่ ๆ อีกหลายต่อหลายโครงการด้วยกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ เขาได้ร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจโรงแรมดุสิตธานีในกรุงเทพฯ ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดสร้างโรงแรมระดับสี่ดาวขนาด 200 ห้อง ในบริเวณใกล้อนุสาวรีย์ล้านช้าง

กลุ่มธุรกิจกลุ่มนี้ยังเตรียมเข้าร่วมการประมูลเพื่อเข้าบริหารกิจการโรงแรมล้านช้างด้วย แม้ว่าจะมีคู่แข่งอยู่นับสิบราย แต่วินัยก็หวังว่าถ้ากลุ่มของเขาชนะการประมูลแล้วจะได้เข้าไปถือหุ้นในโครงการในสัดส่วน 20% ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงอาคารโรงแรมเสียใหม่ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์ กับโครงการก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อขยายโรงแรมให้มีขนาด 200 ห้อง ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยใช้เงินลงทุนราว 20 ล้านดอลลาร์

"ผมสนใจในโครงการที่ใหญ่กว่านี้อีกหลายโครงการ อย่างเช่นโรงงานซีเมนต์ที่วังเวียง" วินัยยกตัวอย่างและเสริมว่า "ผมยังคิดไปถึงโครงการก่อสร้างทางรถไฟระหว่างเวียงจันทน์กับวังเวียงอีกด้วยเพราะบริเวณนั้นจะเป็นเขตอุตสาหกรรมทางด้านเหล็ก, บุหรี่และซีเมนต์ในอนาคต"

แม้ว่าการดำเนินธุรกิจของวินัยตลอดระยะที่ผ่านมาจะไม่มีข้อด่างพร้อยใด ๆ ทว่าเขาก็ไม่เคยลืมเลือนปัญหายุ่งยากที่เกิดขึ้นในอดีต และถึงวันนี้รัฐบาลลาวก็ยังเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของเขาอยู่เสมอ

"ถ้าหากผมมีผู้สนับสนุนทางการเงินที่ดีแล้ว ผมไม่เคยรีรอที่จะดำเนินโครงการเลย แต่สำหรับธุรกิจส่วนตัวของผมเองซึ่งต้องเผชิญกับความเสี่ยง ผมเคยมีประสบการณ์มาแล้วถึงสองครั้ง สองครา และผมก็ไม่มีฐานการเงินที่แข็งแกร่งพอสำหรับการลงทุนตามลำพัง" วินัยกล่าวในท้ายที่สุด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us