|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สินค้าที่กำลังฮือฮาที่สุดในขณะนี้เห็นจะเป็น " รองเท้าแตะไร้สาย" ซึ่งวางขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำและย่านแฟชั่นวัยรุ่นทั่วไป เช่น สยาม ห้างมาบุญครอง และเซ็นทรัล ลาดพร้าว ด้วยจุดเด่นในเรื่องของความแปลก เพราะเป็นรองเท้าแตะซึ่งมีวิธีการใส่ที่ไม่เหมือนใคร โดยคุณเพียงแต่วางเท้าลงบนรองเท้าที่เป็นแผ่นฟองน้ำ เท้าคุณก็จะติดหนึบกับรองเท้าและสามารถเดินไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องมีสายคาดสายหนีบใดๆมาเป็นตัวยึด
ตัวต่อมาคือ ไฟฉาย แบบไม่ต้องใส่ถ่าน' แต่ใช้พลังงานจากแรงของมนุษย์ ซึ่งมีอยู่หลายตัวด้วยกัน เช่น 'ไฟฉายมือบีบ" เป็นการเก็บพลังงานโดยการใช้มือบีบลงบนด้ามจับไฟฉาย ซึ่งพลังงานจะถูกถ่ายเก็บไว้ในแบตเตอรี่ที่อยู่ภายใน เมื่อมีการกดปุ่มเปิดไฟพลังงานที่เก็บไว้ก็จะถูกแปลงเป็นพลังไฟฟ้า 'ไฟฉายเขย่า" เป็นการเก็บพลังงานโดยการเขย่ากระบอกไฟฉายให้เกิดความสั่นสะเทือน และเช่นกันพลังงานจะถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี่ เมื่อกดปุ่มเปิดไฟพลังงานดังกล่าวก็จะถูกแปลงเป็นไฟฟ้า
"เรดิโอมือหมุน" มีจุดเด่นเรื่องความประหยัดเพราะเป็นวิทยุที่สามารถเลือกใช้พลังงานได้ถึง 3 รูปแบบ คือ 1)ใส่ถ่าน 2) พลังงานจากมือมนุษย์ โดยการหมุนก้านแกนหมุนเพื่อนำพลังงานไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ เมื่อกดปุ่มเปิดเครื่องพลังงานที่เก็บไว้ก็จะถูกแปลงเป็นพลังไฟฟ้า และ 3) พลังจากโซล่าเซลล์ โดยจะมีแผงโซล่าเซลล์อยู่บนตัวเครื่อง เพียงนำเครื่องไปวางไว้กลางแดดก็จะเก็บพลังงานได้ไม่น้อยทีเดียว
"เครื่องอบผ้าแบบพกพา" เป็นเครื่องอบผ้าขนาดกระเป๋าหิ้ว เมื่อนำมาประกอบแล้วจะเป็นเครื่องอบผ้าที่สามารถอบผ้าได้ครั้งละ 10-20 ชิ้นทีเดียว โดยใช้ไฟเพียง 220-240 โวลต์เท่านั้น เหมาะกับที่อยู่อาศัยที่อากาศถ่ายเทได้น้อย เช่น คอนโดมิเนียม หรือสปาต่างๆ
"เครื่องสแกน" กันแอบถ่าย'เป็นเครื่องมือที่เหมาะกับสาวๆที่กลัวถูกแอบถ่ายจากพวกโรคจิต หรือดาราที่มีชื่อเสียง การใช้งานก็เพียงแต่เปิดเครื่องไว้ หากมีการเปิดหน้ากล้องเพื่อแอบถ่ายหรือติดตั้งเครื่องดักฟังไว้ในระยะไม่เกิน 7 เมตร เครื่องก็จะส่งสัญญาณไฟกระพริบขึ้นมาทันที โดยสามารถสแกนสัญญาณได้ทั้งกล้องถ่ายรูป วิดีโอ กล้องเข็ม และกล้องที่อยู่บนโทรศัพท์มือถือ
นอกจากนั้นยังมี "หมวกเรดิโอ" "กระเป๋าเรดิโอ" "หมอนเรดิโอ" และ"ปากกาเรดิโอ" เป็นหมวก กระเป๋า หมอนหนุน และปากกาที่ต่อพ่วงวิทยุพร้อมหูฟัง นับว่าเป็นสินค้าสารพัดประโยชน์ที่สะดวกการใช้งานและการพกพา
ปัจจุบันสินค้าดังกล่าวมีวางขายอยู่หลายแห่ง ทั้งตามห้างสรรพสินค้า และร้านค้าที่ขายสินค้านำเข้าจากจีนโดยตรง นอกจากนั้นยังมีผู้นำเข้าบางรายที่นำสินค้าประเภทนี้มาจำหน่ายให้แก่บริษัท ที่สั่งไปเป็นสินค้าพรีเมียมเพื่อแจกให้แก่ลูกค้า หรือนำเข้ามาขายส่งให้แก่ตัวแทนจำหน่ายในจังหวัดต่างๆ
ญามา บุญแนน ผู้นำเข้าสินค้าไอเดียเก๋จากประเทศจีน บอกว่า "ส่วนใหญ่เราขายเป็นสินค้าพรีเมียม ลูกค้าก็จะเป็นธนาคารและบริษัทห้างร้านทั่วไป ส่วนตัวแทนจำหน่ายจะมีไม่เกินจังหวัดละคนเพื่อไม่ให้แย่งลูกค้ากัน ลูกค้าจะสั่งครั้งละเยอะๆ 4-5 พันชิ้น อย่างบริษัทยูนิลิเวอร์ฯ สั่งทีเป็นหมื่นชิ้น รายที่มีออร์เดอร์มากที่สุดนี่เขาสั่งเป็นแสนชิ้นเลย อย่างเครื่องอบผ้าแบบพกผ้าตอนนี้ก็มีออร์เดอร์เข้ามาเยอะ ปกติเราจะสั่งสินค้าตัวอย่างมาให้ลูกค้าดูก่อน หากลูกค้าพอใจจึงจะสั่งสินค้าล็อตใหญ่เข้ามา บางครั้งเราเป็นแค่ตัวกลางในการติดต่อนำเข้าให้ แล้วให้ลูกค้าเขาไปออกของจากศุลกากรเอง"
ปัจจัยที่ทำให้สินค้าจีนราคาถูก
หลายคนแปลกใจว่าทำไมสินค้านำเข้าจากจีนที่วางขายตามร้านรวงในเมืองไทยจึงมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ซื้อมาจากเมืองจีนหลายเท่า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคนจีนให้ความสำคัญกับคู่ค้าและตัวแทนจำหน่ายที่สั่งสินค้าไปขายต่อมากกว่านักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าแค่ครั้งเดียวหรือคนจีนที่เป็นเพียงผู้บริโภค เพราะผู้ที่ซื้อสินค้าไปจำหน่ายนั้นนอกจากจะซื้อครั้งละมากๆแล้ว ยังเป็นลูกค้าระยะยาวที่สามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง แม้กำไรต่อหน่วยจะไม่มากแต่เมื่อคูณด้วยจำนวนนับพันนับหมื่นชิ้นแล้วถือว่าได้กำไรมหาศาลทีเดียว
ปัญญา ปรัชญาภินันท์ ประธานกรรมการบริษัท ไชน่า ซิตี้ ดีพาร์ทเมนต์ สโตร์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการนำเข้าสินค้าจากจีนมากว่า 10 ปี ให้ข้อมูลว่า คอนเซ็ปในการทำการค้าของคนจีนในทุกประเทศทั่วโลกจะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือขายของกำไรน้อยเพื่อให้ลูกค้ากลับมาซื้ออีก แต่ถ้าจะให้ได้สินค้าราคาถูกจริงๆก็ต้องมีเทคนิคในการต่อรองพอสมควร
"สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนราคาจะถูกกว่าสินค้าที่วางขายในประเทศเขาอีกนะ อย่างเครื่องนวดหน้าอันเล็กๆนี่ขายที่เมืองจีนราคา 25-30 หยวน คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 100 กว่าบาท แต่ที่ร้านเราสามารถขายได้ในราคา 39 บาท ทั้งที่เป็นสินค้าตัวเดียวกันซึ่งเราสั่งมาจากจีน เพราะเราซื้อในราคาส่ง ซื้อทีหนึ่งเป็นพันชิ้น แล้วเราไม่ได้ซื้อสินค้าตัวเดียวนะ บางทีซื้อครั้งละเกือบ 10 รายการ ก็มีบ้างเหมือนกันที่เราซื้อรายการละไม่กี่ร้อยตัว แต่จะสั่งสินค้าหลายชนิดเพื่อให้ยอดรวมถึงพันชิ้น ซึ่งกว่าจะได้ราคาถูกขนาดนี้ก็ต้องรองกันพอสมควร สินค้าแปลกๆอย่างไฟฉายปั๊มมือ ไฟฉายเขย่า ก็ถือว่าขายค่อนข้างดี บางอย่างซื้อมาขายไม่ออกก็มีเหมือนกัน เราก็ต้องยอมรับความเสี่ยง เมื่อก่อนพวกตุ๊กตากังไสจะขายดีมาก แต่ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี คนไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย เราก็จะนำเข้าแต่พวกของใช้เพราะขายได้เรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ทัศคติในการซื้อสินค้าของคนไทยเปลี่ยนไปนะ ไม่ใช่เน้นที่ราคาถูกเหมือนแต่ก่อน เขาดูคุณภาพด้วย ที่ร้านจะไม่เอาของที่ราคาถูกมากๆมาขายเพราะสินค้าเกรดต่ำจะทำให้เสียลูกค้า เราจะเลือกที่คุณภาพดีหรืออย่างน้อยก็พอใช้และราคาไม่สูงนัก" ปัญญา กล่าว
แหล่งค้าส่งในจีน
การนำเข้าสินค้าจากจีนนั้นพ่อค้าไทยมักบินไปเลือกหาสินค้าด้วยตัวเอง ซึ่งนอกจากจะสำรวจตามร้านในย่านการค้าและเดินทางไปดูที่โรงงานต่างๆแล้ว บางครั้งยังต้องเดินทางไปยังหมู่บ้านในชนบทเพื่อเลือกหาสินค้าที่ผลิตจากชุมชนอีกด้วย โดยสินค้าจากแต่ละเมืองก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ลักษณะคล้ายๆกับสินค้าโอท็อปในบ้านเรา ข้อดีของการไปถึงแหล่งผลิตก็คือทำให้สามารถซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง แต่หากต้องการสินค้าที่มีความหลากหลายทั้งประเภทและดีไซน์แล้วล่ะก็การสั่งซื้อจากร้านค้าในเมืองใหญ่น่าจะคุ้มค่าและสะดวกกว่ามาก
สำหรับแหล่งผลิตและจำหน่ายสินค้านั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง โดยจุดที่ใหญ่ที่สุดคือเมืองกวางโจว เป็นแหล่งรวมของร้านค้า มีการจำหน่ายสินค้าสารพัดชนิด เช่น ข้าวของเครื่องใช้ สินค้ากิ๊ฟช็อป เสื้อผ้า นอกจากนั้นยังมี เมืองซัวเถา เป็นแหล่งผลิตใหญ่ของสินค้าประเภทเครื่องเขียน เช่น ปากกา ดินสอสี และเครื่องเซรามิค ประเภท ถ้วยชาม ตุ๊กตากระเบื้อง , เมืองแต้จิ๋ว เป็นแหล่งผลิตเครื่องเขียน , เมืองเสินเจิ้น เป็นแหล่งผลิตสินค้ากิ๊ฟชอป , เมืองเถ่งไห้ แหล่งผลิตของเด็กเล่นต่างๆ
ส่วนการนำเข้าสินค้าจากจีนนั้นวิธีที่สะดวกและประหยัดที่สุดยังคงเป็นการขนส่งทางเรือ โดยหากต้องการส่งสินค้ามายังภาคเหนือของไทย มี 3 เส้นทางด้วยกัน คือ 1) จากคุนหมิง มณฑลยุนนาน ผ่านประเทศพม่า เข้ามาทางด่านแม่สาย จ.เชียงราย 2) จากจีนตอนใต้เข้ามาทางด่านเชียงแสน จ.เชียงราย (เป็นจุดที่มีการนำเข้าสินค้าจากจีนมากที่สุด) และ 3) จากตอนใต้ของจีน เข้ามาทางด่านเชียงของ จ.เชียงราย ส่วนสินค้าที่ส่งมายังภาคกลาง จะเข้ามาทางท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
ข้อควรระวัง
ทั้งนี้ โดยรวมแล้วเชื่อว่าการจำหน่ายสินค้านำเข้าจากจีนยังเป็นธุรกิจที่ไปได้ดี และน่าจะอยู่ได้อีกนาน แต่ต้องพึงระวังว่าปัญหาใหญ่ในการค้าขายกับพ่อค้าชาวจีนก็คือเรื่องภาษาและการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ซึ่งมักทำให้เกิดปัญหาได้สินค้าไม่ตรงความต้องการ รองลงมาคือเรื่องเล่ห์เหลี่ยมกลโกงในรูปแบบต่างๆ เช่น สินค้าที่ส่งมาถึงเมืองไทยไม่ตรงกับออร์เดอร์ที่สั่ง โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพ ,มีการโกงเงินค่ามัดจำสินค้า โดยไม่มีจัดส่งสินค้าตามที่ทำสัญญากันไว้แต่อย่างใด ซึ่งการจะเอาผิดกับคู่ค้าที่ผิดสัญญานั้นนอกจากจะเป็นไปได้ยากแล้วยังไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องสูญเสียไปด้วย ดังนั้นควรเลือกทำการค้ากับบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น
ธัญญธร จรัลวรวงศ์ เจ้าของ หจก.วงศ์วัฒนาเทรด ผู้นำเข้าและจำหน่ายสินค้ากิ๊ฟช็อปและสินค้าพรีเมียมจากประเทศจีน ให้ความเห็นเรื่องการทำการค้ากับชาวจีน ว่า นักธุรกิจไทยควรจะมีความรู้เรื่องภาษาจีนบ้างพอสมควร และที่สำคัญต้องศึกษาวัฒนธรรมของชาวจีนเพื่อป้องกันปัญหาความเข้าใจที่ผิดพลาด
" ด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างกันทำให้บางครั้งความเข้าใจในการสื่อสารคลาดเคลื่อน เช่น ขนาดหรือไซน์ของเสื้อผ้า คนจีนจะวัดเป็นเซนติเมตร ขณะที่คนไทยวัดเป็นนิ้ว แต่หากเป็นผ้าผืน คนจีนจะวัดเป็นหลา ส่วนคนไทยวัดเป็นเมตร ดังนั้นถ้าคนไทยสั่งผ้าเป็นเมตร (1 เมตร เท่ากับ 100 เซนติเมตร) แต่คนจีนส่งมาเป็นหลา (1 หลา มี 90 เซนติเมตร) ผ้าก็จะหายไปเยอะ แล้วก็เกิดความเข้าใจผิดว่าถูกคนจีนโกง แล้วเวลาเจรจาส่วนใหญ่คนจีนจะ say yes อย่างเดียว บางครั้งไม่รู้หรอกว่าพ่อค้าไทยอยากได้อะไร
ส่วนการสั่งซื้อสินค้าก็ต้องเลือกทำสัญญากับบริษัทห้างร้านที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ร้านค้าซึ่งโรงงานผู้ผลิตสินค้าเป็นเจ้าเอง บริษัทที่เปิดกิจการมายาวนาน หรือบริษัทที่มีสินค้าอยู่จริง ไม่ใช่เห็นแต่ตัวสำนักงานโล่งๆ แนะนำว่าก่อนที่จะตัดสินใจเลือกสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทใด ควรเดินทางไปดูที่เมืองจีนสัก 2-3 ครั้งก่อน หากไปครั้งที่ 2 ที่ 3 แล้วบริษัทนั้นยังอยู่ก็แสดงว่าน่าจะพอเชื่อถือได้"
เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
|
|
|
|
|