Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2535
"เสือนอนกิน นางงามจักรวาล"             
โดย นฤมล อภินิเวศ
 


   
search resources

ไทยสกายทีวี
มิสยูนิเวิร์สอิงค์
คีรี กาญจนพาสน์
ทัศนีย์ ศิริเยี่ยม




ถึงแม้ว่าคีรี กาญจนพาสน์จะชนะคู่แข่งทัศนีย์ ศิริเยี่ยมในการต่อรองเป็นเจ้าภาพจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งที่ 41 โดยใช้เวลาในการล็อบบี้เพียง 3 เดือนเศษ ในขณะที่อีกฝ่ายในเวลาติดต่อนานเกือบ 2 ปี แต่ผู้รับผลประโยชน์สูงสุดหาใช่เป็นของผู้ชนะประมูล ทว่าเป็นบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ ที่อยู่ในฐานะ "เสือนอนกิน" อย่างแท้จริง

คนไทยคุ้นเคย "นางงามจักรวาล" หรือ "มิสยูนิเวิร์ส" เป็นอย่างดีจากผู้หญิงไทย 2 คน คือ อาภัสรา (หงสกุล) จิราธิวัฒน์ และภรณ์ทิพย์ นาคหิรัฐกนก

คนแรกจากเวทีประกวดไมอามี่บีช รัฐฟลอริดาสหรัฐอเมริกาเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ส่วนคนหลังจากไทเป ไต้หวันเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

แม้ว่าคนไทยเคยครองมงกุฎนางงามจักรวาลมาแล้วและการประกวดก็มีมานานถึง 40 ปีก็ตาม แต่ก็ยังไม่เคยมีมิสยูนิเวิร์สคนใดได้สวมมงกุฎบนแผ่นดินไทย

จนกระทั่งมาถึงปีนี้ ไม่ว่ามิสยูนิเวิร์สจะเป็นคนไทยหรือไม่ก็ตาม เธอจะได้รับการสวมมงกุฎบนเวทีการประกวดนางงามจักรวาล ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประเทศไทย

มีบริษัทของคนไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานคือ "ไทยสกาย" โดยคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริษัทสยามบรอดแคสติ้ง คอมมิวนิเคชั่น ได้รับลิขสิทธิ์จัดงานประกวดครั้งที่ 41 จากบริษัทมิสยูนิเวิร์สอิงค์

การประกวดนางงามจักรวาลถือกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2495 ที่ลองบีชรัฐแคลิฟอร์เนีย ในตอนนั้น "มิสอเมริกา" และ "มิสยูนิเวิร์ส" จัดการประกวดพร้อมกัน ผู้ร่วมการประกวดปีแรกเป็นสาวอเมริกัน 39 คน และอีก 29 คนเป็นสาวงามจากประเทศอื่น ๆ

"มิสอเมริกา" และ "มิสยูนิเวิร์ส" จัดประกวดควบคู่กันอยู่ 13 ปี จึงเริ่มแบ่งแยกออกเป็น 2 รายการ เนื่องจากได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งมีการย้ายสถานที่จัดไปที่เมืองไมอามี่บีช รัฐฟลอริดาและประกวดเป็นประจำอยู่ที่นี่ทุกปีจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2515 มีโอกาสหมุนเวียนไปจัดในประเทศอื่นครั้งแรกที่โรงแรมเซอร์โรมาร์ บีช ในเมืองโดราโด เปอร์โตริโก

คนอเมริกันเป็นลูกค้ารายใหญ่สำคัญของรายการยังเชียร์หน้าจอโทรทัศน์ได้เช่นเดิมเพราะมีการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม

จากการที่วงการโทรทัศน์พัฒนาสู่ยุคระบบดาวเทียมนี้เองกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำรายได้ก้อนโตมาให้บริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ คือค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดนอกเหนือจากค่าลิขสิทธิ์จัดประกวดที่เรียกเก็บจากเจ้าภาพ

ยิ่งมีจำนวนสาวงามต่างชาติ ภาษี สีผิว ร่วมเดินบนเวทีมากเท่าไรความมโหฬารยิ่งเพิ่มทวีเป็นเงาตามตัวซึ่งย่อมส่งผลถึงรายได้มหาศาล

จากจุดเริ่มต้นปีแรกมีสาวงามต่างชาติ 26 คนเวลาล่วงเลยมาถึงปีที่ 41 ยอดสาวงามนานาชาติเดินบนเวทีนางงามจักรวาลเพิ่มขึ้นเป็น 70 คนจาก 70 ประเทศ

และมี 80 กว่าประเทศที่ต้องการชมภาพการประกวดสดผ่านดาวเทียม

สำหรับบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์แล้ว ถือว่าการจัดการประกวดสาวงามเป็นธุรกิจกำไรงามแขนงหนึ่งเนื่องจากมีผู้ติดตามคอยชมมากเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากฟุตบอลโลกและโอลิมปิก ซึ่งเมื่อมาถึง ณ จุดนี้ บริษัทอยู่ในฐานะนั่งกินบุญเก่าจากชื่อเสียงที่สร้างสมมาเป็นสิบ ๆ ปี จนกลายเป็นสถาบันที่ทั่วโลกยอมรับ

ด้วยเหตุนี้ การจับมือกับประเทศที่ต้องการเป็นเจ้าภาพจึงมีลักษณะเชิงธุรกิจ ที่มีการเจรจาต่อรองเรื่องผลประโยชน์อย่างชัดเจน

การรับมอบสัญญาอย่างเป็นทางการจากบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ ผ่านทางลูปิตา โจนส์นางงามจักรวาลปี 1991 ในคืนงานการกุศล "ยูนิเวิร์สกาลาไนต์" เมื่อ 27 พฤษภาคม ปีที่แล้ว

สร้างความงงงวยต่อคนทั่วไปอย่างมากเพราะก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวอย่างต่อเนื่องว่า ทัศนีย์ ศิริเยี่ยม ผู้อำนวยการสอนตัดเสื้อ "กาลวิน" จะได้เป็นผู้ประสานงานการประกวดนางงามจักรวาลปี 1992

แต่เพราะเหตุไร จึงพลิกผันเป็นคีรี กาญจนพาสน์ อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยมาก่อน

ในสายตาของบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์แล้ว มีความเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพดีเหมาะสมสำหรับจัดการประกวดมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เพราะเป็นประเทศที่มีความตื่นตัวสูงในเรื่องการประกวดนางงาม บวกกับภาครัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว

จากเอกสารคู่มือจัดเตรียมการประกวดที่มิสยูนิเวิร์ส อิงค์ จัดทำขึ้นสำหรับประเทศได้ลิขสิทธิ์เขียนเกริ่นนำ ด้วยการอ้างอิงผลสำรวจขององค์การสหประชาชาติที่ว่า การท่องเที่ยวเป็นอุคสาหกรรมสำคัญของโลกปัจจุบัน ซึ่งทางบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์คิดว่าการประกวดนางงามจักรวาลเป็นวิธีส่งเสริมที่ดีวิธีหนึ่ง รวมทั้งยังช่วยให้เกิดการพัฒนาทางธุรกิจอีกด้วย

ฉะนั้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันที่รัฐบาลตั้ง "ปีการท่องเที่ยวไทย 2530" ขึ้น บริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์บินมาเมืองไทยทาบทามให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สีเป็นเจ้าภาพการประกวดนางงานจักรวาล

การเจรจาครั้งนั้นไม่ประสบผลสำเร็จด้วยเหตุผลว่าบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์เรียกค่าตอบแทนจำนวนมาก อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดการประกวดที่ประเทศเจ้าภาพต้องเสียก็สูงไม่แพ้กัน เมื่อคำนวณแล้วจึงคิดว่าไม่คุ้มกับการลงทุน

บริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์จึงต้องหันไปจัดประกวดที่สิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2530 และที่ไต้หวันในปีถัดมา

ผลของการประกวดที่ไต้หวัน นอกจากทำให้เมืองไทยได้นางงามจักรวาลเพิ่มขึ้นมาอีกคนคือ ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนกแล้ว ยังเปิดโอกาสเหมาะมาสู่บริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์อีกครั้งหนึ่งในการที่จะให้เมืองไทยจัดประกวดนางงาม

เมื่อภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนกกลับมาเยือนเมืองไทยในเดือนสิงหาคมหลังจากที่สวมมงกุฎนางงามจักรวาลแล้ว การเลียบเคียงถามอย่างไม่เป็นทางการจึงเกิดขึ้นอีกคราหนึ่ง

"มิสเตอร์ มาร์ติน คิพ ติดต่อว่าทำไมคุณไม่โปรโมทประเทศของคุณ ประเทศคุณสวยงามมากน่าจะเผยแพร่สู่ทั่วโลก" ทัศนีย์ ศิริเยี่ยม เล่าถึงความสัมพันธ์ทางจดหมายครั้งแรกกับรองประธานฝ่ายผลิตรายการของบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ กับ "ผู้จัดการ"

และนับจากตรงนั้นการติดต่อทางจดหมายและโทรสารก็มีต่อกันอย่างสม่ำเสมอ จนถึงขั้นที่ทัศนีย์ ศิริเยี่ยมเริ่มศึกษาการเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดด้วยการเดินทางไปร่วมงานประกวดนางงามจักรวาลถึง 2 ปีซ้อน ที่เมืองแคนคัน เม็กซิโกในปี 2532 และปีต่อมาที่เมืองลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย

การติดต่อมากระฉับเกลียวขึ้นอีกในช่วงปลายเดือนสิงหาคมต่อกับต้นเดือนกันยายน 2533 บริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ส่งจดหมายถึงคนสำคัญในรัฐบาลยุคนั้น ได้แก่ ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ประมาณ อดิเรกสารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

เนื้อความบรรยายถึงการที่คนไทยทัศนีย์ ศิริเยี่ยม ได้ติดต่อไปเพื่อขอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดนางงามจักรวาล เนื่องในปีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ซึ่งบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์มีความเห็นว่าเมืองไทยเป็นสถานที่วิเศษสุดในการจัดการประกวด และการจัดการประกวดก็จะเป็นเครื่องมือที่เยี่ยมในการเผยแพร่เมืองไทยสู่คนทั่วโลกด้วยเช่นกัน ฉะนั้นในโอกาสที่จะมาเมืองไทยตามคำเชิญของทัศนีย์ก็มีความยินดีเจรจารายละเอียดของงานกับผู้นำรัฐบาลไทย

ปลายเดือนกันยายน 2533 ทัศนีย์ ศิริเยี่ยมจัดงานต้องรับผู้บริหารบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์อย่างดีที่โรงแรมดุสิตธานี รวมทั้งพาเข้าพบบุคคลสำคัญในรัฐบาลและสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 5

ทัศนีย์ใช้เวลาล็อบบี้หน่วยงานไทยและบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์อยู่นานถึง 2 ปีกว่าจะมาถึง ณ จุดที่เรียกได้ว่าเกือบถึงเส้นชัย แต่ก็กลับพลิกล็อกให้คีรี กาญจนพาสน์ซึ่งใช้เวลาเจรจา 3 เดือนเศษเท่านั้น

ถ้าหากทัศนีย์ไม่รีรอการเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดโดยการเลื่อนออกไป 1 ปี เพื่อให้ตรงกับปีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา แต่ทำตามคำเรียกร้องของบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ที่ต้องการให้มีขึ้นในเมืองไทยเร็วที่สุด การณ์อาจกลับตรงข้ามจากปัจจุบันได้

เพราะหลังจากที่ผู้บริหารของบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์พบกับทัศนีย์ที่เมืองไทยเรียบร้อยแล้ว ระยะเวลาใกล้เคียงกัน คีรี กาญจนพาสน์มอบหมายให้ MR.CLARENCE CHANGE บินไปอเมริกาเพื่อพบผู้บริหารของบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์

MR.CHANG เป็นผู้อำนวยการบริหารบริษัท MEDIA ENTERTAINMENT INTERNATIONAL COMPANY (MEI) ซึ่งเป็นบริษัทของคีรีที่ทำธุรกิจด้านบันเทิงในฮ่องกง

คีรี กาญจนพาสน์ ให้สัมภาษณ์ในวันประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการจัดการประกวดนางงามจักรวาลปี 2535 เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่โรงแรมดุสิตธานีว่า มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตการประกวดมิสยูนิเวิร์ส คือ MADISON SQUARE GARDEN EVENT PRODUCTIONS (MSGEP) มานานพอสมควร

เท่ากับว่าทางฝ่ายคีรีเป็นต่อคู่แข่งระดับหนึ่ง

ประจวบกับที่ผลการเจรจากับทางทัศนีย์ไม่ค่อยจะราบรื่นเท่าไรนัก

เริ่มจากการเดินทางมาเมืองไทยตามคำเชิญของทัศนีย์เมื่อปลายเดือนกันยายน 2533 ผลปรากฎว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ท.ท.ท. ไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประกวด จะช่วยได้ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น

เมื่อรัฐบาลปฏิเสธการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ทำให้ทัศนีย์ต้องกระโดดลงเต็มตัวและเริ่มต่อรองกับบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ ทันที

ซึ่งย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ หนักแน่นในการรักษาระดับมาตรฐานเกรดเอของตนไว้

ฉะนั้นความพยายามของทัศนีย์ที่จะลดค่าใช้จ่ายจึงเป็นไปค่อนข้างยากมาก จากข้อต่อรองที่สำคัญ 10 ข้อ เธอประสบความสำเร็จเพียงข้อเดียว

คือเรื่องค่าลิขสิทธิ์การจัดการประกวดที่ทางบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ตั้งไว้ 1 ล้าน ยู. เอส. ดอลล่าร์หรือประมาณ 25 ล้านบาท จากยอดเงินจำนวนนี้ทางบริษัทจะจัดสรรให้ 2 ส่วนเท่า ๆ กันคือ ทูลเกล้าถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลแด่องค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 1 แสน ยู. เอส. ดอลล่าร์หรือประมาณ 2.5 ล้านบาท และอีกส่วนจะมอบให้เธอในฐานะเป็นผู้ประสานงาน

แต่ทั้งสองกรณีต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าทางบริษัทต้องได้รับเงินค่าลิขสิทธิ์เต็มจำนวนแล้วเท่านั้น

จากการต่อรองเรื่องลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หลายประการ อาทิ ขอส่วนแบ่งตลาดลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม จำนานตั๋วเครื่องบินชั้นหนึ่ง จำนวนพี่เลี้ยงนางงาม ค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับนางงาม และอื่น ๆ อีก ข้อเรียกร้องเหล่านี้ จึงเสมือนเป็นตัวแปรสำคัญที่กลายเป็นผลบวกให้กับ MR. CHANG

"ตอนที่ฝรั่งบอกว่าทำสัญญากับคนฮ่องกงแล้วดิฉันร้องไห้โฮเลย ทำไมคุณถึงทำแบบนี้กับดิฉัน" ทัศนีย์เล่าถึงความรู้สึกวินาทีที่รู้ว่าเธอหมดสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดประกวดอย่างแน่นอน

เป็นที่น่าสังเกตว่าอะไรเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ทั้งทัศนีย์ ศิริเยี่ยม และคีรี กาญจนพาสน์ ต้องการเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดมิสยูนิเวิร์ส

เพราะมีผลตอบแทนเป็นเงินมหาศาลหรือ ซึ่งถ้าหากการจัดการประกวดสามารถทำกำไรได้สูงแล้วเพราะอะไรเมื่อคราวที่บริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ติดต่อสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี จึงถูกปฏิเสธไป

จนบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ ต้องไปจัดประกวดที่สิงคโปร์ ซึ่งในครั้งนี้สิงคโปร์ต้องลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท และมิใช่เป็นเอกชนเป็นเจ้าภาพจัดเฉกเช่นเมืองไทย ทว่าเป็นองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์เป็นผู้รับภาระ เพราะรัฐบาลสิงคโปร์คิดว่าการจัดการประกวดสาวงามเป็นการส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวไปด้วยในตัว ยิ่งมีการถ่ายทอดสดตั้งแต่ต้นจนจบรายการก็นับว่าคุ้มอยู่มาก

สำหรับคีรี เจ้าของเคเบิลทีวี "ไทยสกายทีวี" เขาก็ให้เหตุผลที่คล้ายคลึงกันคือ ต้องการเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักของชาวโลกรวมทั้งต้องการให้คนไทยมีโอกาสแสดงความสามารถในการจัดงานระดับโลก แม้จะต้องประสบปัญหาขาดทุนบ้างก็ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน

ในตอนแรกกลุ่มผู้จัดการประกวดครั้งนี้ตั้งงบประมาณไว้ 200 ล้านบาท ต่อมาลดลงเหลือ 150 ล้านบาท และล่าสุดคณะกรรมการจัดการประกวดมีมติลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงมาอีกให้เหลือไม่เกิน 130 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เจ้าภาพต้องเสียส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ทางบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์กำหนดไว้ชัดเจน อาทิ

ตั๋วเครื่องบินชั้นหนึ่ง 34 ที่นั่งสำหรับคณะสำรวจและ 120 ที่นั่งสำหรับทีมงานจากบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์

ที่พักอย่างน้อยต้องมี 2 โรงแรม เพราะนางงามและพี่เลี้ยงต้องไม่พักอยู่โรงแรมเดียวกันกับคณะกรรมการตัดสิน และต้องเตรียม "ห้องชุด" จำนวน 25-30 ห้องสำหรับคณะกรรมการ นักแสดงรับเชิญและแขกวีไอพี

อาหาร 3 มื้อและขอบขบเคี้ยวต่าง ๆ ตลอดระยะที่มีการซ้อมเดินและซ้อมเต้นรำ

ต้องจัดรายการนำเที่ยวให้ผู้ติดตามคณะกรรมการในขณะที่กรรมการกำลังทำงาน

มีเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารพร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ โทรสาร และเทเล็กซ์

สถานที่ประกวดต้องใหญ่ไม่ต่ำกว่า 2,000 ที่นั่ง

ค่าออกแบบเวทีให้แก่ DUKES STUDIO ซึ่งเป็นบริษัทที่ทางบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์เจาะจงมา

จัดประกวด "หนูน้อยจักรวาล" เพื่อคัดเลือกเด็กเดินเคียงคู่นางงาม

รถยนต์ 65 คัน รถบัสสำหรับทีมงาน รถแวนและรถบรรทุก พร้อมด้วยคนขับที่พูดภาษาอังกฤษได้ และต้องบริการตลอด 24 ชั่วโมง

และมีปลีกย่อยอื่น ๆ อีก นอกจากนี้แล้วในการเตรียมการต่าง ๆ รวมถึงการตลาด และการเลือกรายการให้นางงามปรากฎตัว ต้องผ่านการตัดสินใจครั้งสุดท้ายจากบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ก่อนทุกครั้ง

วงเงินที่ใช้ในการจัดการสูงเช่นนี้ ทาง "ไทยสกายทีวี" สามารถหาทุนได้จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในประเทศ ด้วยการหาผู้สนับสนุนเอกชนเข้าช่วยแบ่งเบาภาระ ส่วนในภาครัฐมี ท.ท.ท. ยื่นมือช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำภาพยนต์สารคดีท่องเที่ยวไทยความยาว 15 นาที รวมทั้งให้การต้อนรับดูแลผู้สื่อข่าวต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้แล้วผู้จัดยังมีรายได้จากการขายบัตรเข้าชม 3 รอบ คือรอบปฐมทัศน์ที่เอ็มบีเคฮอลล์ ศูนย์การค้ามาบุญครอง ราคาบัตรมีทั้งหมด 3 ราคา คือ 800 บาท 1,000 บาท และ 1,500 บาท ส่วนรอบรองสุดท้ายและรอบสวมมงกุฎ รวมกันเป็นบัตร 1 ใบใช้ได้ 2 วัน ราคาบัตรใบละ 20,000 บาททุกที่นั่ง

เมื่อคำนวณตัวเลขรายได้จาก 2 รายการข้างต้นโดยประมาณการจากยอดของผู้สนับสนุนทั้งหมด 17 รายการ เป็นเงิน 91 ล้านบาท

บวกด้วยยอดรายได้จากการขายบัตร จากการสอบถามฝ่ายดูแลเรื่องการขายบัตรปรากฏว่ามีผู้สนใจสั่งจองมากพอควรทั้งจากผู้ซื้อคนไทยและชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น ฉะนั้นคาดว่าทั้งสอง แห่งคงไม่มีปัญหาเรื่องยอดขาย

ที่เอ็มบีเคฮอลล์ จุได้ 3,000 คน บัตรมี 3 ราคาเมื่อคำนวณอย่างประมาณการโดยนำเฉพาะบัตรราคา 1,000บาท มาคูณกับ 3,000 ที่นั่ง เท่ากับเป็นเงิน 3,000,000 บาท

ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีที่นั่งทั้งหมด 2,500 ที่นั่ง แบ่งเป็นบัตรเชิญของบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ 500 ที่นั่ง และไทยสกายทีวีอีก 500 ที่นั่งเช่นกัน ฉะนั้นเหลือที่นั่งสำหรับการขาย 1,500 ที่นั่งคูณกับบัตรราคา 20,000 บาทคิดเป็นเงิน 30,000,000 ล้านบาท

เมื่อนำมารวมกับยอดรายได้จากเอ็มบีเคฮอลล์ 3 ล้านบาท เท่ากับเป็นรายได้จากการขายบัตรประมาณ 33 ล้านบาท รวมกับยอดของผู้สนับสนุนแล้วจะได้เงินทั้งหมด 124 ล้านบาท

รายได้จำนวนนี้ยังไม่รวมรายได้ที่สามารถได้จากการขายของที่ระลึกต่าง ๆ รายได้จากการรับเชิญให้นางงานปรากฏตัว รายได้จากสปอนเซอร์ที่สนับสนุนเกมโชว์ทางโทรทัศน์ และรายได้จากการประมูลสินค้าที่นางงามแต่ละชาตินำมาจากประเทศของตน ซึ่งรายการนี้ทางบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ระบุว่าขึ้นอยู่กับประเทศเจ้าภาพว่าจะมอบให้การกุศลหรือไม่ก็ได้

ฉะนั้นดูจากตัวเลขโดยกะประมาณการ 124 ล้านบาท ก็เป็นอันว่า "ไทยสกายทีวี" เฉียดฉิวกับการจะได้กำไร

อย่างไรก็ดี การผันแปรของตัวเลขในทางบวกอาจจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับตัวเลขรายจ่ายที่แท้จริงและรายรับอื่น ๆ อีกที่ไม่เปิดเผยเป็นที่แน่ชัดเช่นเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมที่ทางผู้จัดบอกว่าได้เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น

หรือถ้าจะถือว่าเป็นการลงทุนเพื่อโปรโมตกิจการเคเบิลทีวีซึ่งระยะหลัง ๆ มักมีข่าวสู่สาธารณะในทางลบอยู่เนือง ๆ ก็คงเป็นการลงทุนที่สูงอยู่ไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างเสี่ยงกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เพราะเป็นงานใหญ่ระดับชาติ

ตัวอย่างกรณีการเลื่อนการประกวดรอบสุดท้ายให้เร็วขึ้นหนึ่งอาทิตย์ เนื่องจากวันที่กำหนดไว้แต่เดิมถูกต่อต้านจากผู้นำศาสนาในประเทศอย่างแรง เพราะเหตุว่าตรงกับวันวิสาขบูชาฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำให้คนทั้งโลกพอใจในขณะเดียวกันคนไทยเจ้าของประเทศก็พอใจด้วย

ปัญหาปวดขมับทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ผู้ที่ต้องรับภาระความเสี่ยงหนักสุดก็คือ ไทยสกายทีวีและคนไทยเจ้าของประเทศ เพราะงานครั้งนี้หากไม่ได้ผลกำไร ผู้ที่ขาดทุนก็คือ ไทยสกายทีวี และถ้าหากหน้าตาเมืองไทยที่สู่สายตาชาวโลกที่ทางผู้จัดคิดว่าจะช่วยสร้างภาพพจน์ที่ดีที่ถูกต้อง กลับกลายเป็นตรงข้าม ผู้ที่เสียหายที่สุดคือคนไทยเราเอง

บริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ จึงเป็นผู้มีกำไร 100 เปอร์เซ็นต์อย่างแท้จริงฝ่ายเดียว

เริ่มจากค่าลิขสิทธิ์การจัดประกวด ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม ค่าลิขสิทธิ์เทปบันทึกภาพ ค่าลิขสิทธิ์การปรากฎตัวนางงามจักรวาลซึ่งเป็นจำนวนเงินสูงมากในราว 6,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 150,000 บาทต่อครั้ง ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นับตั้งแต่การจัดเตรียมงานจนถึงวันประกวดก็ตกเป็นความรับผิดชอบของประเทศเจ้าภาพทั้งสิ้น

ถ้าจะเปรียบบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ เป็นดั่ง "เสือนอนกิน" ก็คงไม่ผิดจากความจริงเท่าไรนัก

และเสือตัวนี้ก็เห็นประโยชน์ทางธุรกิจเป็นเรื่องสูงสุด

ด้วยเหตุนี้ไม่ว่างานจะถูกจัดขึ้นในมุมไหนของโลกการถ่ายทอดสดจะต้องตรงกับเวลาหัวค่ำของประเทศอเมริกา เพราะกลุ่มลูกค้าหลักและจ่ายผลประโยชน์สูงสุดคือคนอเมริกา

ผู้ชมจากเวทีในเมืองไทย ซึ่งจ่ายเงินค่าบัตรราคาเป็นหมื่นจึงจำต้องแต่งชุดราตรีสโมสรเต็มยศทั้งชายหญิงเพื่อให้ดูเป็นงานกลางคืนที่หรูหรา แต่ต้องมาปรากฎตัวที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ก่อน 8 นาฬิกาในตอนเช้าวันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม เพื่อให้มีการถ่ายทอดสดไปสหรัฐฯ ตอนเย็นของคืนวันศุกร์ที่ 8

ก็คงเป็นภาพแปลกหูแปลกตาไปอีกแบบสำหรับบรรยากาศยามเช้าตรู่

การเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดนางงามจักรวาลอาจะเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของผู้จัดและผู้สนับสนุนแต่สำหรับบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์แล้วมีมากกว่าความภูมิใจธรรมดา เพราะการจัดนอกประเทศอเมริกาได้มากครั้งเท่าไรย่อมเท่ากับเป็นการเสริมสร้างเครดิตให้สูงยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งนั้นหมายถึงเงินที่กำลังตามมามหาศาลอย่างแน่นอน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us