Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2535
"บางจากฯ เข้าตลาดหุ้น ชัยชนะเหนือไทยออยล์"             
โดย วิลาวัณย์ วิวัฒนากันตัง
 

 
Charts & Figures

โครงการลงทุนช่วงปี 2534-2538 ของบางจาก ฯ
เป้าหมายกำไรช่วงปี 2535-2539 ของบางจาก ฯ
ฐานะทางการเงินในรอบ 5 ปีของบางจาก ฯ
สถานะทางการเงินของไทยออยล์


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
โฮมเพจ บางจากปิโตรเลียม

   
search resources

ไทยออยล์, บมจ.
บางจากปิโตรเลียม, บมจ.
Oil and gas




การที่บางจากฯ เฉือนโค้งขอเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ก่อนไทยออยล์โดย ครม. ไฟเขียวให้ในวันประชุมรอบรองสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ทั้งที่ไทยออยล์ได้รับอนุมัติมาก่อนนั้น นับเป็นกลยุทธ์การตลาดที่บางจากฯ จะผันตัวเองสู่เป้าหมายสนามค้าปลีกอย่างเต็มที่ ภาพครั้งนี้จึงเป็นเหมือนชัยชนะครั้งใหม่ของบางจากฯ...? ทำไม..? แล้วไทยออยล์จะเข้าตลาดได้ด้วยหรือไม่..?

การที่ ครม. นัดรอบรองสุดท้ายยุคอานันท์ ปันยารชุนไฟเขียวให้บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (บางจากฯ ) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมานี้ นับเป็นช่วงต่อครั้งสำคัญของบางจากฯ ที่จะเดินสู่เป้าหมาย "เวทีน้ำมันค้าปลีก" อย่างเต็มตัว หลังจากที่เคยลองทำปั๊มน้ำมันหยั่งเชิงตลาดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยจับคู่กับปั๊มสยามนกไม้ เอกชนปลีกรายใหม่ใน อ. น้ำพอง จ. ขอนแก่น (ขณะนี้ยกเลิกไปแล้ว)

ขณะที่ไทยออยล์ได้รับหลักการอันนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว…!

ชื่อและโลโกบางจากฯ จึงเริ่มเป็นที่เจนตาของคนทั่วไป…!

การปูทางจากวันนั้นถึงวันนี้ทำให้บางจากฯ ก้าวใกล้สู่ความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง…! บางจากฯ บริษัทน้ำมันรัฐวิสาหกิจเพียงแห่งเดียวของไทยมีโรงกลั่นของตัวเองในขณะนี้ได้พัฒนามาเป็นลำดับและมีแผนงานมากมาย พร้อมกับการยกสถานะทางธุรกิจด้วยการเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ

ประมาณมูลค่าการลงทุนเบื้องต้นของบางจากฯในช่วง 3-4 ปีนี้สูงถึง 19,600 ล้านบาทแต่ถ้าแยกจัดสรรเงินลงทุนที่ต้องใช้จริงในแต่ละปีและตามโครงการแล้ว "คงจะสูงถึง 21,000 ล้านบาท" แหล่งข่าวจากบางจากฯ กล่าว

บางจากฯ จะใช้เงินจำนวนนี้เพื่อใช้ในโครงการเพิ่มกำลังกลั่นจากขณะนี้เฉลี่ยที่ 80,000 บาร์เรลต่อวันเป็น 120,000 บาร์เรลต่อวัน ติดตั้งหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน เช่น หน่วยลดสารตะกั่วในเบนซินจาก 0.4 เป็น 0.15 กรัมต่อลิตร หน่วยลดกำมะถันในดีเซลสร้างคลังน้ำมันที่บางปะอิน รวมไปถึงระบบจัดส่งน้ำมันทางท่อ สร้างปั๊มบางจากฯ อีกไม่น้อยกว่า 400 แห่งรวมถึงการสร้างสำนักงานใหม่ที่ถาวร โดยทุกโครงการกำหนดเสร็จภายในปี 2538 (โปรดดูตาราง "โครงการลงทุนช่วงปี 2534-2538 ของบางจากฯ")

นั่นก็คือ บางจากฯ วาดฝันว่าปี 2539 ตนจะเป็นผู้ค้าน้ำมันครบวงจรอย่างสมบูรณ์พร้อมกับย้ายสำนักงานใหญ่ถาวรไปอยู่บริเวณซอย 105 ถนนศรีนครินทร์

จะเห็นว่าบางจากฯ เริ่มทำการค้าปลีกมาตั้งแต่ปี 2532 ด้วยการจับมือกับสยามนกไม้ ถึงเวลานี้มีส่วนแบ่งตลาดที่เป็นผู้ใช้น้ำมันประมาณ 3% นอกจากนี้ยังขายส่งให้ผู้ค้ารายย่อยแต่เป็นยักษ์ต่างชาติอย่างบีพี คูเวตออยล์ หรือบริษัทคนไทยอย่างเบญจมาศซึ่งต่างก็ใช้โลโกของตนเอง สัดส่วนน้ำมัน 80% ยังคงส่งให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)

สุมิตร ชาญเมธี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าวว่าส่วนที่ส่งให้ ปตท. นั้นกำไรน้อย "เพราะต้องการเปลี่ยนราคาตามราคาต่ำสุดของตลาดจรสิงคโปร์ที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน ขณะที่ส่งให้ผู้ค้ารายย่อยใช้การกำหนดราคาเป็นช่วง ๆ นอกจากนี้ยังมีส่วนที่รับจ้างกลั่นในคาลเท็กซ์มีกำไรที่แน่นอน แต่ไม่มาก และไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมัน"

บางจากฯ ตั้งเป้าว่าปี 2535 จะเพิ่มส่วนครองตลาดจาก 3% เป็น 6% ของตลาดน้ำมันโดยรวม เฉพาะอย่างยิ่งด้านปั๊มน้ำมัน "ปีนี้เราจะรุกอย่างรวดเร็ว" สุมิตรกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ โดยจะตั้งปั๊มบางจากฯ ให้ได้ 50 แห่ง และเพิ่มเป็น 400 แห่งเป็นอย่างน้อยในปี 2538 ซึ่งจะทำให้บางจากฯ มีสัดส่วน 10% ของตลาดปั๊มน้ำมันเป็นอย่างน้อยหรือประมาณ 6% ของตลาดน้ำมันโดยรวม ถ้ารวมตลาดน้ำมันเพื่อเกษตรกรอีกประมาณ 1% จะเป็น 7% ของตลาดรวม

จุดเด่นก็คือภาพของความเป็นโรงกลั่นของคนไทย 100% ดังที่ผู้บริหารของบางจากฯ มักจะกล่าวอ้างอยู่เนือง ๆ ขณะที่ตลาดค้าน้ำมันจะเป็นผู้ค้าบริษัทต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่

ยุทธการรุกเงียบของบางจากฯ จึงเริ่มด้วยแผนโฆษณาทางการตลาด ผ่านสื่อทุกชนิดว่าน้ำมันบางจากฯ เป็น "น้ำมันคุณภาพตรงจากโรงกลั่น" อีกทั้งยังเป็น "บริษัทน้ำมันของคนไทย" จนเป็นที่คุ้นหูชินตาของประชาชน กระทั่งตั้งปั๊มโลโกบางจากฯ โดด ๆ อย่างเต็มตัว ก็คือ ปั๊มสวัสดิการทหารอากาศโดยมี พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล เป็นประธานเปิดเป็นแห่งแรก

ล่าสุด บางจากฯ ได้สร้างปั๊มตัวอย่างอยู่ตรงบริเวณโรงกลั่นบนถนนเลียบแม่น้ำ ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จและเปิดบริการเมื่อวันที่ 17 มีนาคมศกนี้ เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับลูกค้าที่จะเปิดปั๊มบางจากฯ ขณะนี้ได้รับการเปิดเผยว่ามีผู้แสดงความสนใจตั้งปั๊มบางจากฯ แล้วกว่า 100 ราย และจะตั้งได้ในปีนี้ 50 ราย แหล่งข่าวจากบางจากฯ กล่าว

บางจากกำลังก้าวเดินไปสู่ฝันอันสวยหรู กับสัญลักษณ์ของความเป็นบริษัทน้ำมันคนไทยที่ทรงประสิทธิภาพทัดเทียมกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ..!

ทั้งนี้ โดยบางจากฯ ตั้งใจจะกู้เงินมาลงทุน 15,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะระดมจากตลาดฯ ในปีนี้ 2,000 ล้านบาท จากตัวเลขที่ บงล. ภัทรธนกิจศึกษาและได้กำหนดราคาหุ้นที่จะขายประชาชนเบื้องต้นไว้ที่ 19.15 บาท บนฐานตัวเลขอีพีเอสหรือรายรับต่อหุ้นในระดับ 1.9 บาท และมีพี/อี 10 เท่า ซึ่งบรรดาผู้ถือหุ้นมองว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำไป

"การประเมินราคาอันเดอร์ไรต์ของภัทรธนกิจอาศัยการศึกษาจากบริษัทน้ำมันที่มีขนาดใกล้เคียงกับบางจากฯ ในสหรัฐฯ กว่า 10 แห่ง ถ้าจะตั้งอันเดอร์ไรต์ให้สูงกว่านี้ สัดส่วนค่าพี/อีก็จะสูงขึ้น" แหล่งข่าวจากตลาดฯ กล่าวเสริม

ตามสัดส่วนหุ้นที่กระจายสู่ประชาชนทั่วไป 20% หรือคิดเป็นจำนวน 104.41 ล้านหุ้น บางจากฯ ก็จะระดมทุนได้ในรอบแรกตามจำนวนที่ต้องการพอดี โดยไม่มีการเพิ่มทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นเดิม

จากทุนจดทะเบียนตอนนี้ประมาณ 4,176 ล้านบาท เป็นสินทรัพย์ราว 2,500 ล้านบาท ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง 60% ก็จะลดลงเหลือ 48% ปตท. จาก 30% เหลือ 24% และธนาคารกรุงไทยจาก 10% ลดเหลือ 8% ส่วนอีก 1,000 ล้านบาทจะเรียกระดมในปี 2537 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหุ้น ปตท. ลดเหลือประมาณ 22%

สำหรับสินทรัพย์ 2,500 ล้านบาทนั้น เกิดจากการตีมูลค่าทรัพย์สินบนที่ดินที่ตั้งโรงกลั่น ซึ่งตาม พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ 2518 จะต้องตกเป็นของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เมื่อบางจากฯ แปรรูปการบริหารมาเป็นบริษัท ทำให้คลังกลายเป็นผู้ถือหุ้นมาจนถึงทุกวันนี้

"บางจากฯ จำเป็นต้องกู้เงินมาลงทุนเพิ่ม เพราะปัจจัยสัดส่วนหนี้ต่อทุนต่ำกว่ามาตรฐานที่ธนาคารโลกกำหนดไว้ที่ 1.5%" สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ด้านหลักทรัพย์กล่าว

ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่อทุนในปี 2534 ของบางจากฯ อยู่เพียงแค่ 0.8 เท่านั้น ซึ่งเมื่อกู้ 15,000 ล้านบาท แผนการลงทุน สัดส่วนหนี้ต่อทุนจะสูงขึ้น แต่ก็ไม่เกิน 1.5 ต่อ 1 ในระยะอีก 5 ปีข้างหน้า

ส่วนประมาณการกำไรสุทธิในช่วงปี 2535 จะอยู่ที่ 973 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 1,860 ล้านบาทในปี 2539 โดยบางจากฯ กำหนดจ่ายเงินปันผลปี 2535-2537 ในระดับ 50% ของกำไร และ 60% ในปี 2538-2539 (โปรดดูตาราง "เป้าหมายกำไรช่วงปี 2535-2539 ของบางจากฯ)

ทั้งนี้ จากปริมาณการกลั่นที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง ขณะเดียวกันจะมีปริมาณที่จะขายแก่ผู้ค้ารายย่อยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้กำไรดีกว่าขายให้ ปตท. อีกหลายสตางค์ต่อลิตร จะมากน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำมันแต่ละช่วง แหล่งข่าวกล่าว

ตามแผนการรุกแต่ละจังหวะ "เชื่อว่าจะทำให้บางจากฯ บรรลุเป้าหมาย ที่วางไว้ในระยะ 5 ปีได้" แหล่งข่าวบางจากฯ กล่าวถึงแนวโน้มอนาคตของตนอย่างมั่นใจ

แล้วไทยออยล์เล่า..?

ไทยออยล์จะมีสถานะและโครงสร้างผู้ถือหุ้นต่างจากบางจากฯ คือ ไทยออยล์เป็นบริษัทเอกชนโดยมี ปตท. ถือหุ้นใหญ่ 49% อีก 51% ได้แก่เชลล์ 15.05% คาลเท็กซ์ 4.75% และรายย่อยอื่นและเป็นโรงกลั่นใหญ่และทันสมัยที่สุดในขณะนี้

โดยเริ่มต้นด้วยหน่วยกลั่น 1 และ 2 (TOC-1+TOC-2) ด้วยกำลังการกลั่น 65,000 บาร์เรลต่อวันต่อมาได้พัฒนาและขยายหน่วยกลั่นอีก 2 หน่วย คือหน่วยกลั่นที่ 3 หรือที่เรียกว่า TOC-3 ทำให้มีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 110,000 บาร์เรลต่อวันตั้งแต่ปี 2532 ด้วยระบบไฮโดรแครกเกอร์ ซึ่งจะปรับน้ำมันเตาให้เป็นน้ำมันดีเซลตามความต้องการของประเทศที่มีมากขึ้น เป็นหน่วยกลั่นที่ทำรายได้หลักและเป็นรายเดียวที่กลั่นดีเซลกำมะถันต่ำได้ในเวลานี้

นอกจากนี้ เมื่อหน่วยกลั่น 4 (TOC-4) โครงการขยายใหม่สุดเสร็จซึ่งกำหนดเสร็จและกลั่นได้ในเชิงพาณิชย์ประมาณเดือนกันยายนศกนี้แล้ว "จะมีกำลังกลั่นเพิ่มเป็น 190,000 บาร์เรลต่อวัน จะเป็นโรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดแม้เมื่อเทียบกับโรงกลั่นเชลล์และคาลเท็กซ์ที่กำหนดเสร็จในปี 2539 ก็ตาม ขณะที่บางจากฯ มีโรงกลั่นในระบบ SKIMMING ซึ่งเป็นระบบพื้นฐานและเก่าที่สุด ดังนั้น เมื่อเทียบศักยภาพการกลั่นแล้วไทยออยล์ได้เปรียบกว่ามาก ที่จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง" แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

แต่ถ้าดูสถานะทางการเงินแล้วบางจากฯ ได้เปรียบกว่ามาก มีสัดส่วนหนี้ต่อทุนเพียง 0.8 กว่าเท่านั้นแม้เมื่อกู้เงินตามแผนแล้ว สัดส่วนหนี้ต่อทุนก็ยังไม่เกิน 1.5 ต่อ 1 ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่อทุนของไทยออยล์ขณะนี้สูงถึง 10-11 เท่าต่อ 1 เนื่องจากกลยุทธ์การพัฒนาของโรงกลั่นทั้งสองแตกต่างกัน…!

บางจากฯ เป็นรัฐวิสาหกิจ โดย ครม. ยุคนายกเปรม ติณสูลานนท์ ได้อนุมัติให้ปรับโครงสร้างสู่รูปแบบบริษัทจำกัด มีโสภณ สุภาพงษ์ อดีตรองผู้ว่า ปตท. ด้านจัดหาและกลั่นน้ำมันเป็นผู้นำทีมบริหารเมื่อปี 2528 และปรับปรุงโรงกลั่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ความได้เปรียบของบางจากฯ อยู่ที่ไม่มีหนี้สะสมกองโตเหมือนไทยออยล์ รัฐบาลและ ปตท. ต้องการให้บางจากฯ เริ่มต้นด้วยภาพที่ดี จึงมีการเตรียมปัจจัยความพร้อมในการดำเนินธุรกิจหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการเลือกคนตามที่ต้องการแล้วส่วนที่เหลือก็ให้อยู่สังกัด ปตท. หรือบางจากฯ ไม่ต้องจ่าย 2% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้รัฐเหมือนโรงกลั่นเอสโซ่หรือไทยออยล์ที่จะต้องจ่าย 35% ของกำไรแก่รัฐ

ฐานะทางการเงินของบางจากฯ จึงดีกว่าไทยออยส์…!

จะเห็นว่าปี 2534 บางจากฯ มีสินทรัพย์รวมถึง 10,994 ล้านบาทจากปี 2530 ที่มีอยู่เพียง 6,422 ล้านบาทมีหนี้สินรวมเพียง 4,935 ล้านบาท มีกำไรสุทธิเพิ่มเป็น 785 ล้านบาท และจ่ายเงินปันผลได้ 10 บาทต่อหุ้นจากที่เคยจ่ายแค่ 2.5 บาทต่อหุ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว (โปรดดูตาราง "ฐานะทางการเงินในรอบ 5 ปีของบางจากฯ")

ขณะที่ไทยออยล์มีสินทรัพย์รวมในปี 2532 มูลค่า 16,391 ล้านบาทและเพิ่มเป็น 26,664 ล้านบาท แต่หนี้สินรวมจาก 14,810 บาทก็เพิ่มขึ้นเป็นถึง 24,290 ล้านบาท

ถ้าดูในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ROE ของไทยออยล์จะเป็น 17.39 % แล้วเพิ่มเป็น 23.62% และลดลงเหลือ 14.68% ของบางจากฯ จะอยู่ในระดับ 9.8% เป็น 10.2% และ 16.6%

ส่วน ROA (ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์) ของไทยออยล์จะลดจาก 2.40% เหลือ 1.14% ของบางจากฯ จะอยู่ที่ 6% กว่า

เพราะหน่วยกลั่น 1 และ 2 นั้นไทยออยล์จะต้องเช่าจากกระทรวงอุตสาหกรรมโดยมีสัญญา 20 ปี คือเริ่มจากปี 2524 และสิ้นสุดในปี 2544 ซึ่งเป็นผลจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2524 พร้อมทั้งอนุมัติให้ไทย ออยล์ขยายกำลังการกลั่นเพื่อรองรับความต้องการใช้ น้ำมันของประเทศที่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากเกิดปัญหาในการเจรจาทางการเงิน จึงยกเลิกการประมูลโครงการขยายกำลังกลั่นออกไปในปลายปี 2526

กระทั่งต้นปี 2528 เกษม จาติกวณิชได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการและกรรมการอำนวยการของไทยออยล์แทนเชาว์ เชาว์ขวัญยืน และได้กลายเป็นตัวคีย์สำคัญในการผลักดันโครงการขยายกำลังกลั่นให้เป็นจริง

เงินที่ไทยออยล์ใช้ในการขยายกำลังกลั่นดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้นั้น จึงล้วนแล้วแต่เป็นเงินกู้ทั้งสิ้นและทุกวันนี้ก็อาศัยการรีไฟแนนซ์ในการใช้หนี้เดิมโดยที่ผ่านมายังไม่มีการเพิ่มทุน และมีกำไรทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นเครดิตของคนที่ชื่อเกษมและไทยออยล์ควบคู่กันไป

ต่อมารัฐบาลก็ได้อนุมัติให้นำเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ 30% เพื่อกระจายหุ้นและระดมทุนเข้ามาเพื่อพัฒนาธุรกิจให้ได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

ไทยออยล์จึงต่างจากบางจากฯ เพราะลงทุนไปก่อนแล้วจึงจะเข้าตลาดฯ ภายหลัง ขณะที่บางจากฯ มุ่งเข้าตลาดฯ เพื่อระดมทุนส่วนหนึ่งมาใช้ในการขยายงาน

ที่จริง การอนุมัติหลักการให้ไทยออยล์เข้าตลาดฯ นั้นเกิดขึ้นมาเมื่อปี 2531 ตั้งแต่ช่วงที่ได้รับอนุมัติให้ตั้งหน่วยกลั่น 3 ผ่านความเห็นชอบของกระทรวงอุตสาหกรรมมาแล้วทั้งในยุคของบรรหาร ศิลปอาชา พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร และประมวล สภาวสุ หรือแม้กระทั่ง สิปปนนท์ เกตุทัต

แต่เนื่องจากหน่วยกลั่น 1 และ 2 นั้นจะหมดอายุเช่าในปี 2544..!

ถ้าดูตามสัญญาเช่าของไทยออยล์ เมื่อหมดอายุปี 2544 ก็ขอเช่าต่อได้อีก 8 ปี และจะคิดค่าเช่าใหม่ พอหมดสัญญาใหม่ ให้ไทยออยล์โอนหน่วยกลั่นใหม่ให้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยไม่คิดมูลค่าหรือไม่ใช่ 2 วิธีนี้ก็ได้

ตลาดฯ เห็นว่าอายุอีกเพียง 8-9 ปี เป็นช่วงที่น้อยเกินไป จึงควรจะซื้อมาเป็นทรัพย์สินของไทยออยล์เพื่อเป็นฐานกำไรสูงสุดในการทำธุรกิจ หรือไม่ก็ควรจะมีอายุเช่าอย่างน้อย 30 ปี เพราะตอนนี้มีเพียงหน่วยกลั่น 3 และหน่วยกลั่น 4 ที่กำลังจะสร้างเสร็จเท่านั้นที่ไทยออยล์เป็นเจ้าของ โดยทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความเห็นว่าควรจะใช้วิธีแรกมากกว่า

วิธีนี้จะทำให้ไทยออยล์ปรับโครงสร้างต้นทุนได้อย่างสมดุลมากขึ้น โดยเฉพาะรายจ่ายในส่วนของค่าเช่าหน่วยกลั่น 1 และ 2 ซึ่งเพิ่มขึ้น 15% ทุกปีซึ่งต้องจ่ายจาก 544 ล้านบาทในปี 2532 เป็น 612 ล้านบาทในปี 2533 และ 702 ล้านบาทในปี 2534

ดังนั้น ถ้าไทยออยล์ซื้อหน่วยกลั่น 1 และ 2 มาเป็นทรัพย์สินของตนก็จะทำให้ประหยัดต้นทุนค่าเช่าส่วนนี้ไป จะทำให้ภาพรวมของรายได้ของไทยออยล์ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากหลักการและข้อเสนอของตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงทำให้ภาพออกมาว่า ถ้ารัฐบาลไม่ขายหน่วยกลั่น 1 และ 2 ก็จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้อันกลายเป็นประเด็นปัญหาที่สร้างความสับสนแก่หลายฝ่ายไม่น้อยจึงดูเหมือนว่าไทยออยล์พยายามกดดันรัฐบาลให้ขายหน่วยกลั่น 1 และ 2 เพื่อที่จะเลี่ยงค่าเช่า ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ส่วนนี้ไป ทั้งที่ความจริงแล้วเรื่องการเข้าตลาดฯ เป็นผลมาจากมติ ครม.

โดยจะเห็นได้ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นด้วยกับเรื่องนี้ กระทั่ง สิปปนนท์ รัฐมนตรีว่าการในตอนนั้นได้เสนอเข้า ครม. แต่โดนมีชัย ฤชุพันธ์ เบรกเพราะเห็นว่าไม่ควรจะขายโรง กลั่น ซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลแก่เอกชน พร้อมทั้งบอกว่า "เรื่องเข้าตลาดฯ กับซื้อหน่วยกลั่นทั้ง 2 นี้เป็นคนละเรื่องกัน" ขณะที่รัฐบาลก็มีนโยบายว่าจะเปิดให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นและมุ่งสู่การค้าเสรี

ที่จริง การเข้าตลาดฯ กับเรื่องขอซื้อหน่วยกลั่นนั้นเป็นคนละประเด็น ถ้ารัฐไม่ขายก็ไม่เป็นไร "แต่ขอให้ช่วยเสนอทางออกให้กับไทยออยล์ด้วยว่าควรใช้วิธีไหนที่จะทำให้ไทยออยล์พัฒนาธุรกิจไปได้ด้วยดีตลอด ที่พูดถึงเรื่องซื้อ เพราะรัฐไม่อยากเกี่ยวข้องตามนโยบายที่จะกระจายบทบาทให้เอกชนมากขึ้น" (ไม่ว่าจะเป็นการบินไทยที่จะกระจายหุ้นให้ประชาชนหรือแม้แต่บางจากฯ)" เกษมกล่าวถึงจุดยืนของไทยออยล์ที่พร้อมจะทำตามนโยบายของรัฐ

"หน่วยกลั่น 1 และ 2 นั้นแต่ 25% ของสินทรัพย์ที่มีอยู่เท่านั้น ทำยังไงก็ได้ที่จะให้ไทยออยล์ได้ขยายและเพิ่มทุนได้ เพราะหนี้เยอะ แต่โดยตัวธุรกิจนั้นยังไปได้ดีมาก โดยเฉพาะในระยะยาวแต่ที่ผ่านมา มีค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเช่าสูง การเข้าตลาดฯจะทำให้โครงสร้างรายจ่ายส่วนนี้ลดลง แต่ถ้าพูดถึงการขอเช่าต่ออีก 30 ปี ซึ่งเป็นอีกทางออกหนึ่งรัฐก็คงตกใจ เพราะค่อนข้างนาน" เกษม ชี้ถึงทางออกที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับไทยออยล์

ขณะที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็เห็นว่าการที่ไทยออยล์จะซื้อหน่วยกลั่น 1 และ 2 น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดตามที่เห็นชอบมาแล้วทั้งในแง่ที่สอดคล้องกับนโยบายเสรีของรัฐและในแง่ของระบบการผลิตเนื่องจากหน่วยกลั่น 1 และ 2 ที่เช่าอยู่กับหน่วย 3 และ 4 ซึ่งเป็นทรัพย์สินของไทยออยล์นั้นทำงานต่อเนื่องกัน ดังนั้น ถ้าจะแยกออกจากกันหรือให้เป็นเจ้าของคนละส่วนก็เป็นไปไม่ได้

ส่วนที่เกรงว่าการตัดสินใจขายหน่วยกลั่นให้ไทยออยล์ในตอนนี้จะถูกไทยออยล์กดดันและซื้อในราคาถูก ซึ่งตามประมาณว่า 2 หน่วยกลั่นนี้ซึ่งมีอายุ 31 ปี (ก่อตั้งเมื่อปี 2504) เกษมยืนยันว่า "เวลาจะซื้อ ก็ไม่ใช่ซื้อตามมูลค่าทางบัญชีซึ่งมีราคาเพียง 2,000 กว่าล้านบาท แต่รวมถึงต้นทุนค่าเช่าด้วย" อย่างไรก็ตาม จะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินมูลค่าหน่วยกลั่นที่แท้จริงอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ หากรัฐบาลยอมขายหน่วยกลั่นทั้งสองให้ไทยออยล์ เกษมกล่าวว่า "เราก็ต้องหาเงินมาซื้อเหมือนกัน"

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยออยล์จะต้องหาเงินมาซื้อหน่วยกลั่น "แต่ก็จะดีกว่าการเช่าระยะยาวบนเงื่อนไขค่าเช่าที่เป็นอยู่อย่างนี้ เพราะการเพิ่มค่าเช่าทบ 15% ทุกปีถือว่าสูงมากทีเดียวเมื่อเทียบกับความทัดเทียมในการแข่งขันกับโรงกลั่นอื่น ขณะที่โรงกลั่นไทยออยล์มีประสิทธิภาพดีและทันสมัยกว่าโรงอื่นโดยเฉพาะหน่วยกลั่น 3 และ 4" แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปรียบเทียบ

"ค่าเช่าที่จ่ายอยู่แค่ 5 ปีก็ต้องจ่ายยอดรวมเพิ่มเท่าตัว อีก 2-3 ปีตัวเลขค่าเช่าจะทะลุ 1,000 ล้านบาทต่อปี แต่ถ้าไทยออยล์ซื้อได้ก็จ่ายเป็นก้อนเท่านั้น เรียกว่าแค่ค่าเช่าเพียง 3-4 ปีก็ซื้อได้ และไม่ต้องแบกภาระค่าเช่าอีก" แหล่งข่าวกล่าว

ไม่อย่างนั้น อีกทางหนึ่งก็คือ ทบทวนอัตราค่าเช่าใหม่ แต่แนวทางนี้ไทยออยล์คงไม่กล้าเสนอเพราะจะถูกมองว่าเสริมผลประโยชน์ให้กับเอกชนที่ถือหุ้นอยู่ ตรงนี้อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะให้ความทัดเทียมแต่ละโรงกลั่นอย่างไร เพราะถ้าจะบอกว่าโรงกลั่นบางจากฯ เป็นโรงกลั่น เก่าต้องพัฒนามาก ในส่วนของหน่วยกลั่น 1 และ 2 ของไทยออยล์ก็เก่าเหมือนกัน จะเกิดหลังโรงกลั่นบางจากฯ ก็แค่ 2 ปีเท่านั้น" แหล่งข่าวระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับไทยออยล์และบางจากฯ ตั้งข้อสังเกต

"อีกวิธีก็คือ อาจจะขอบอกเลิกสัญญาเช่า ซึ่งจะทำให้หน่วยกลั่นตกเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรม ถ้าเป็นวิธีนี้ ปตท. ก็จะต้องเข้าถือหุ้นแทนแต่อาจจะไม่สอดคล้องกับนโยบายเสรีของรัฐ"

เรื่องไทยออยล์จะเข้าตลาดฯ จึงชะงักไปอย่างช่วยไม่ได้ เมื่อรัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวข้อครหาว่าขายทรัพย์สินรัฐให้เอกชน ขณะที่บางจากฯ นั้นอาศัยความได้เปรียบแซงเข้าตลาดฯ ไปก่อน ทั้งที่นโยบายเรื่องบางจากฯ เข้าตลาดฯ มาทีหลังไทยออยล์หลายปี…!

งานนี้บางจากฯ จึงถือไพ่เหนือไทยออยล์ไปหลายขุม..!

ความสำเร็จครั้งนี้ถือว่าเป็นเทคนิคเฉพาะตัวของบางจากฯ โดยแท้

บางจากฯ สำหรับวงการน้ำมันเป็นที่รู้กันดีว่ามีปัญหาขัดแย้งกับ ปตท. ตลอดช่วงที่ผ่านมา "บางจากฯ ต้องการเป็นอิสระจาก ปตท. เพื่อที่จะสร้างองค์กรน้ำมันใหม่นัยว่าเพื่อเป็นกลไกที่จะช่วยตอบสนองนโยบายการแข่งขันเสรีของรัฐบาลให้ได้มากขึ้น" แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมและบริษัทน้ำมันกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ดูเหมือนว่าบางจากฯ ได้พยายามพัฒนาองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศในเชิงธุรกิจที่เป็นของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารหรือผลตอบแทนทางธุรกิจ

แต่หลายครั้ง บางจากฯ ก็สะท้อนข้ออ่อนที่บั่นทอนเครดิตของตัวเองเช่นกัน โดยเฉพาะการเสนอเพื่อเข้าตลาดฯ นั้น เป็นข่าวฮือฮาอยู่ระยะหนึ่งเช่นกันว่า บางจากฯ ตัดสินใจและเสนอเรื่องเข้าอนุกรรมการปิโตรเลียม ซึ่งมีไพจิตร เอื้อทวีกุล เป็นประธานโดยที่ยังไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น

เมื่อมีปฏิกิริยาจาก ปตท. ว่ายังไม่รู้เรื่อง บางจากฯ ก็อ้างว่าผู้ถือหุ้นใหญ่คือ คลัง และถ้ารวมธนาคารกรุงไทยซึ่งต้องเดินตามคลังอยู่แล้วรวมหุ้น 70% ที่เห็นด้วย ทั้งที่ถ้ามองในเชิงของการเคารพกติกาและข้อกำหนดของบริษัท การที่จะเพิ่มทุนหรือเข้าตลาด ก็จะต้องเรียกประชุมผุ้ถือหุ้นก่อนว่าผู้ถือหุ้นมีความพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มหรือไม่แค่ไหนและจะกู้เท่าไหร่ ตอนหลังบางจากฯ จึงเรียกผู้ประชุมตามขั้นตอน

เมื่อบอกว่าจะเข้าตลาดฯ เลื่อน กฤษณกรี ได้ให้ความเห็นกับหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า "เป็นเรื่องดี ปตท.จะได้ซื้อหุ้นเพิ่ม"

"ทำให้มีข้อสรุปออกมาว่าบางจากฯ จะกระจายหุ้นสู่ประชาชนในครั้งแรก 20% และครั้งที่ 2 ในปี 2537 อีก 10% โดยไม่ให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งจริง ๆ บางจากฯ ไม่ต้องการให้ ปตท. มีหุ้นเพิ่มแต่จะให้มีหุ้นลดลงที่จริง ถ้ารัฐบาลมีนโยบายว่าจะให้บางจากฯ เข้าตลาดฯ เพื่อกระจายผู้ถือหุ้น ก็ควรจะเคลียร์ภาพอันนี้ให้ชัดเจน ซึ่งตอนแรกไม่ได้พูดถึงเรื่องเหล่านี้เลย" แหล่งข่าวระดับสูงวงการน้ำมันวิเคราะห์ "ทั้งนี้บางจากฯ จะจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสม 1,200 ล้านบาทคืนตามส่วนของผู้ถือหุ้นเดิมก่อนจะเข้าตลาดฯ"

บางจากฯ จึงกลายเป็นองค์กรน้ำมันที่ต่างจากรายอื่น เป็นแห่งเดียวที่สังกัดกระทรวงการคลังโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากคลังถือหุ้นใหญ่ ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในสายของความรับผิดชอบ ขณะที่บริษัทน้ำมันรายอื่นจะขึ้นต่อกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสายงานโดยตรง

"ทำให้บางจากฯ อาศัยความสัมพันธ์อันดีของผู้บริหารองค์กรต่อคลัง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติผลักดันในสิ่งที่ต้องการให้เป็นได้อย่างราบรื่นเนื่องจากคลังไม่สันทัดในเรื่องน้ำมัน บางจากฯ รู้จักใช้จุดดีของทั้งความเป็นบริษัทและรัฐวิสาหกิจมาใช้" แหล่งข่าวอีกรายวิพากษ์ภาพที่เกิดขึ้น

จะเห็นว่า คราวนี้ ไพจิตร นำเรื่องบางจากฯ เข้า ครม. โดยไม่ผ่านกรรมการกลั่นกรอง หลังจากที่เคยถูกเบรกและให้ไปพิจารณาใหม่ก่อนหน้านั้น

สำหรับกรณีที่บางจากฯ ไม่ต้องส่งผลตอบแทน 2% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์แก่รัฐก็เช่นเดียวกันซึ่งจะทำให้กำไรได้อีกลิตรละ 7-8 สตางค์ และคิดเป็นครึ่งหนึ่งของตัวเลขกำไรที่ปรากฏ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บางจากฯ ได้เปรียบซึ่งน่าจะถือว่าเป็นการอุดหนุนของรัฐนั่นเอง

แม้จะอ้างว่า เพราะบางจากฯ เป็นโรงกลั่นเก่ามีพื้นฐานต่างจากโรงกลั่นอื่น ขณะที่เอสโซ่ หรือเชลล์และคาลเท็กซ์ จะได้บีโอไอในการสร้างโรงกลั่นใหม่ก็ตาม

แต่ถ้าคิดเทียบ 2 % ที่บางจากฯ ไม่ต้องจ่ายรัฐเป็นเงิน 400-500 ล้านบาทต่อปี และจะได้ทุกปีส่วนการได้บีโอไอ จะทำให้ประหยัดต้นทุนไปราว 500 ล้านบาท อย่างเอสโซ่ลดไปได้ 700 ล้านบาท สมมุติให้สูงสุดถึงพันล้านบาท แต่ต้องจ่าย 2 % (ไทยออยล์ต้องจ่าย 35% ของกำไรให้รัฐ) ทุกปี การไม่ต้องจ่าย 2% ย่อมได้เปรียบกว่า แหล่งข่าวชี้ถึงความต่างของตัวเลขที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต่างกัน

นี่เป็นภาพความขัดแย้งของบางจากฯ เพราะทั้งรัฐบาลและตัวบางจากฯ เองมักจะประกาศจุดยืนอยู่เสมอว่า จะเป็นบริษัทคนไทยที่มีประสิทธิภาพได้มาตรฐานทัดเทียมต่างชาติและแข่งขันในตลาดเสรีได้ด้วยตัวเองอย่างเต็มภาคภูมิ แต่อีกด้านหนึ่งบางจากฯ แต่อีกด้านหนึ่งบางจากฯ ก็มักอาศัยความได้เปรียบของความเป็นรัฐวิสาหกิจในการชูผลงานขององค์กรไม่ต่างไปจาก ปตท.

เช่นเมื่อพูดถึง 2% ก็มักจะพูดว่าบางจากฯ เป็นโรงกลั่นที่เป็นของรัฐการไม่ต้องจ่ายส่วนนี้ก็เป็นกำไรคืนสู่รัฐเหมือนกัน แต่บางครั้งก็สวมบทเอกชนเต็มตัว

จึงมีคำถามเกิดขึ้นทั้งจากผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลและเอกชนว่า เมื่อประคับประคองบางจากฯ มาถึงจุดหนึ่ง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรจะให้บางจากฯ จ่าย 2% แก่รัฐและ เพื่อมิให้เกิดความเสียเปรียบก็ให้บางจากฯ ได้บีโอไอในการขยายโครงการต่าง ๆ ด้วยแต่แหล่งข่าวจากบางจากฯ กล่าวว่า "รัฐคงไม่ให้"

รัฐบาลน่าที่จะพิจารณาประเด็นนี้ดูว่า ถ้าเมื่อการให้บีโอไอได้เปรียบกว่าจริง ก็น่าที่จะให้บางจากฯ ด้วยจะได้รับประโยชน์ทัดเทียมกับรายอื่น

ตลอดเวลาที่ผ่านมา บางจากฯ ประสบความสำเร็จในการผลักดันเรื่องทุกเรื่องมาเสมอ ระเรื่อยมาถึงการได้ไฟเขียวให้เข้าตลาดฯ นับเป็นกลยุทธ์ของบางจากฯ ที่จะบริหารด้านการเงินด้วยตัวเองเต็มที่มกขึ้น จากส่วนต่างของกำไรจากหุ้นที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงแรก หรือเมื่อเกิดวิกฤติน้ำมันก็จะได้ผลต่างของราคาที่พุ่งสูงขึ้นมาต่างจากกรณีไม่เข้าตลาดฯ ซึ่งจะไม่มีมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด

การขยับตัวของบางจากฯ ครั้งนี้ จึงดุจชัยชนะอีกขั้นหนึ่ง…! แต่ก็มิได้หมายความว่าจะตลอดไป

ด้วยเหตุว่าบางจากฯ เป็นรัฐวิสาหกิจจึงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 2% ซึ่งถ้าวันหนึ่งบางจากฯ ต้องจ่ายส่วนนี้ขึ้นมาผลกำไรที่ประมาณการไว้ในช่วง 5 ปีก็จะลดลงอีกประมาณ 50%

ยังไม่รวมถึงความเสียเปรียบด้านสิ่งแวดล้อมบางจากฯ มีโรงกลั่นอยู่กลางชุมชนในซอยสุขุมวิท 64 ขณะที่ประชาชนตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งบางจากฯ จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อป้องกันกระแสต่อต้านที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และโอกาสที่จะขยายหน่วยกลั่นเพิ่มเติมตามแผนเป็นไปได้ลำบากกว่าไทยออยล์

ขณะที่โรงกลั่นไทยออยส์อยู่ อ. ศรีราชา มีสภาพเหมาะสำหรับโรงกลั่นมากกว่า และมีพื้นที่ที่จะขยายโรงกลั่นได้อีก

ไทยออยล์นั้นได้พัฒนาระบบกลั่นทิ้งห่างบางจากฯ ไปมาก มีผู้รับน้ำมันที่แน่นอนคือ ปตท. เชลล์และคาลเท็กซ์ "อาจจะเสียเปรียบที่ไม่ได้ทำตลาดค้าปลีกเหมือนบางจากฯ เพราะบริษัทที่มีโรงกลั่นและการตลาด (ค้าปลีก) ด้วยกัน จะทำให้ได้ประโยชน์หรือกำไรสูงสุดได้ดีกว่า" แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์กล่าว เนื่องจากจะบริหารการเพิ่มและลดการกลั่นให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันและราคาน้ำมันสำเร็จรูปได้ดีกว่า

แต่การทำตลาดค้าปลีกของบางจากฯ ก็กลายเป็นลดเครดิตของตนเช่นกัน ที่ลงไปทำธุรกิจแข่งกับผู้ถือหุ้น ทำให้เกิดความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ซึ่งไม่ค่อยจะมีปรากฏให้เห็นในตลาดน้ำมันโลก

ส่วนไทยออยล์นั้นเกษมยังคงยืนยันว่าจะไม่ทำตลาดค้าปลีกตราบเท่าที่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นลูกค้ายังคงรับน้ำมันอยู่ เพราะถือว่าผิดกติกาและมารยาทการทำธุรกิจสากล

แต่หลังจากโรงกลั่นเชลล์และคาลเท็กซ์เสร็จในปี 2539 ถ้า 2 รายนี้ไม่รับน้ำมันจากไทยออยล์ ทิศทางตรงนี้ก็คงต้องเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม กำไรจากการกลั่นและการทำตลาดค้าปลีกนั้นจะต่างกันมาก..!

ตัวหลักจะได้จากการกลั่น "อย่างกำไรก่อนหักภาษีของบางจากฯ ปีนี้ที่เพิ่มพรวดเป็น 1,212 ล้านบาทจาก 867 ล้านบาทในปีก่อน เนื่องจากกำลังกลั่นในแถบตะวันออกไกลขาด ทำให้ค่ากลั่นแถบนี้สูงขึ้นมาก ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปพลอยสูงไปด้วยจากที่เคยได้บาร์เรลละประมาณ 2.9 เหรียญเป็น 4 เหรียญกว่าต่อบาร์เรล ไม่ใช่จากการลงสู่ตลาดค้าปลีกและเมื่อขยายตลาดค้าปลีกออกไป ก็ต้องลงทุนอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น" แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งจากกระทรวงอุตสาหกรรมสะท้อนถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ส่วนไทยออยล์มีกำไรลดลงในปีก่อน เนื่องจากโดยระบบจะกลั่นน้ำมันเบาอย่างเบนซินมากกว่าบางจากฯ ซึ่งสอดคล้องกับตลาดได้ แต่ราคาเบนซินและดีเซลในตลาดโลกช่วงนั้นใกล้เคียงกันมากเพราะอากาศไม่หนาวอย่างที่คิด การใช้เบนซินไม่มากอย่างที่ผ่านมา ทั้งที่ปกติราคาเบนซินจะสูงกว่าดีเซล

สิ่งเหล่านี้เป็นรายละเอียดที่อยู่เบื้องหลังของภาพกำไรที่เราเห็น..!

แต่ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว "ไทยออยล์มี GOODWILL ดีกว่าบางจากฯ แม้ว่าจะมีข้อด้อยในเรื่องหนี้สะสมที่มากอยู่ก็ตาม ถ้าไทยออยล์ได้เข้าตลาดฯ เช่นเดียวกับบางจากฯ คงจะได้รับความสนใจจากประชาชนและนักลงทุนต่างประเทศมากกว่า" แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ที่รู้เรื่อง 2 บริษัทกล่าว

เมื่อเข้าตลาดฯ แล้ว ราคาของบางจากฯ และไทยออยล์คงจะไม่หวือหวา เนื่องจากน้ำมันเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรค่อนข้างแน่นอน นอกจากช่วงเข้าตลาดฯ ใน 2-3 วันแรก และบางช่วงที่เกิดวิกฤติซึ่งจะทำให้ราคาพุ่งสูงกว่าปกติ หุ้นประเภทนี้จึงเหมาะที่จะลงทุนในระยะยาว

แต่สำหรับตอนนี้ บางจากฯ ได้ผ่านโค้งสำคัญไปอีกโค้งหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นความปลื้มใจของชาวบางจากฯ อย่างถ้วนหน้า

เพราะนี่คือวิถีนำร่องสู่ชัยชนะที่แอบฝันไว้ได้อย่างชอบธรรมและสวยหรู …! ขณะที่ไทยออยล์ยังคงสงบเสงี่ยมรอนโนบายใหม่จากรัฐบาลว่าจะมีทางออกที่ดีให้ได้หรือไม่อย่างไร

แล้วปล่อยให้บางจากฯ แทรกตัวผ่านโค้งไปก่อนอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว

บางจากฯ จึงกลายเป็นผู้ชนะในเวทีน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง…?!

พร้อม ๆ กับที่รัฐบาลใหม่จะต้องทำการบ้าว่าจะวางฐานการแข่งขันของโรงกลั่นให้ทัดเทียมกันในระบบได้อย่างไร…!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us