ตลาดคอมมูนิตี้มอลล์ระอุ รายเก่าเตรียมตัวรับศึก เมื่อเซ็นทรัลทุ่มงบ 450 ล. ผุดมาร์เก็ตพาร์ค คอมมูนิตี้มอลล์ ปูพรม 3 สาขา ประเดิมอ่อนนุช พร้อมซุ่มค้าปลีกใหม่อีกโมเดลเตรียมเปิดตัวอีก 3 เดือน เทงบ 50 ล.ปรับเซ็นทรัลสีลม
ตลาดค้าปลีกเซ็กเม้นท์คอมมูนิตี้มอลล์เริ่มส่อแววดุเดือดมากขึ้น หลังจากที่กลุ่มเซ็นทรัลประกาศตัวลงสนามนี้อีกราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความแข็งแกร่งทั้งทางด้านเงินทุน ประสบการณ์ เครือข่าย ค้าปลีก ที่พร้อมต่อกรกับคู่แข่งได้ไม่ยาก
ในตลาดคอมมูนิตี้มอลล์นี้มีผู้ประกอบการหลายรายทั้งรายเล็กรายใหญ่เช่น บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือเอสเอฟที่มีเมเจอร์กรุ้ปถือหุ้นร่วมอยู่ด้วยบริหารหลายโครงการ เช่น เจอเวนิวทองหล่อ แจ้งวัฒนะ และโครงการใหญ่ล่าสุดคือที่รัชโยธิน หรือกลุ่มเพียวเพลสที่จับมือกับทางหมู่บ้านสัมมากรเปิดแล้วที่รังสิต ยังมีคริสตัลพาร์คที่ถนนเลียบทางด่วนเอกมัยรามอินทรา กลุ่มมั่งมีศรีสุขที่เตรียมผุด 2 โครงการใหญ่ในแบบคอมมูนิตี้มอลล์ นอกนั้นก็มีรายย่อยที่มีเพียงสาขาเดียวยังไม่เป็นเชน
เซ็นทรัลร่วมสนามรบ
นายลิขิต ฟ้าปโยชนม์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือซีอาร์ซีในเครือเซ็นทรัล เปิดเผยว่า ซีอาร์ซีเตรียมเปิดตัวค้าปลีก 2 รูปแบบใหม่ในเครือที่พร้อมให้บริการในปีหน้า โดยรูปแบบแรกคือ คอมมูนิตี้มอลล์ที่ชื่อว่า มาร์เก็ตพาร์ค ส่วนอีกรูปแบบเป็นรีเทลเทนเมนต์คือ ค้าปลีกที่มีเอนเตอร์เทนเมนท์ด้วย คาดว่าอีก 3 เดือนจากนี้จะเปิดเผยได้
ทั้งนี้มาร์เก็ตพาร์คจะเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ที่บริษัทฯตั้งงบประมาณลงทุนไว้ 450-500 ล้านบาทในช่วงแรกจำนวน 3 สาขา โดยแต่ละสาขาจะเป็นคนละสเกลเพื่อเป็นการทดลอง โครงการแรกคือ มาร์เก็ตพาร์คอุดมสุข ที่มีขนาดเล็กสุดคือ 5,000 ตารางเมตร จำนวน 2 ชั้น พื้นที่ 4.5 ไร่ ลงทุนประมาณ 150 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดบริการกลางปีหน้า
“เราเลือกลงทุนในย่านอุดมสุขนี้ก็เพราะว่าเป็นตลาดใหญ่ จะมีการตัดถนนใหม่อย่างน้อยสองเส้นจากอุดมสุขไปสุวรรณภูมิและอ่อนนุช ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายกว่า 3-5 กิโลเมตร มีประชากรอาศัยกว่า 53,889 คน มากกว่า 21,498 ครัวเรือน มีหมู่บ้านระดับสูงขนาดใหญ่จำนวนมากตั้งอยู่รอบโครงการ ซึ่งตั้งแต่ปี 2544-2548 มีบ้านสร้างใหม่กว่า 4,600 หลังคาเรือน กลุ่มเป้าหมายหลักของมาร์เก็ตพาร์คนี้เป็นกลุ่มคนทำงาน ครอบครัวรุ่นใหม่ขนาดกลาง-เล็ก มีรายได้ปานกลาง-สูง กลุ่มที่เป็นเดลี่ยูส เน้นความคล่องตัวในการจับจ่าย”
สาเหตุที่ลงทุนทำคอมมูนิตี้มอลล์เนื่องจากว่า ตลาดยังมีโอกาสและช่องว่างอีกทั้งจะทำให้บิสซิเนสยูนิตของซีอาร์ซีมีโอกาสขยายตัวได้เร็วขึ้นไม่ใช่รอการขยายตัวของศูนย์การค้าในเครือเท่านั้น โดยเฉพาะท็อปส์และร้านหนังสือบีทูเอสจะเป็นแม่เหล็กตัวสำคัญที่เปิดบริการในมาร์เก็ตพาร์คทุกแห่ง นอกนั้นก็มีร้านค้าประมาณ 25-40 ยูนิต เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ไอศกรีม ร้านบริการต่างๆ แบงก์ คลินิค ร้านขายยา ร้านความงาม โรงเรียนกวดวิชา ต่างๆ เป็นต้น “บริษัทฯวางแผนเปิดปีละ 3 สาขา แต่ธุรกิจนี้ไม่ได้คืนทุนเร็ว ซึ่งในระยะยาวเราอาจจะมีมากถึง 35-40 สาขาก็ได้ ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งโครงการต่อไปอยู่ระหว่างการหาทำเล และจะมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าสาขาแรกนี้ คือประมาณ 5 ไร่กว่า และ 6 ไร่กว่า”
บริษัทฯยังได้ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาทเพื่อรีโนเวตสาขาเซ็นทรัลสีลมใหม่ โดยจะไม่มีห้างสรรพสินค้าแล้ว จะปรับพื้นที่ทั้งหมด 9 ชั้นประมาณ 30,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ร้านค้า 3,000 ตารางเมตร มีท็อปส์ และร้านอาหาร เครื่องดื่ม ธุรกิจบริการ แบงก์ เป็นต้น เป็นแบบโอเพ่นแอร์เทอเรซ จำนวน 50 ที่นั่ง ส่วนที่สองเป็นพื้นที่สำนักงาน จำนวน 27,000 ตารางเมตร จากชั้น 2-9 คาดเปิดบริการได้เดือนมีนาคมปี 2551 คาดหวังรายได้เพิ่มขึ้น 10%
นายลิขิตกล่าวต่อด้วยว่า ตลาดค้าปลีกปีนี้คาดว่าจะโตประมาณ 5-8% ตลาดคอนวีเนียนสโตร์กับซูเปอร์มาร์เก็ตยังเติบโตดีอยู่ ส่วนในช่วงปลายปีคาดว่าตลาดรวมจะดีขึ้นเนื่องจากว่ารัฐบาลระดมทุนโครงการใหญ่ๆ การเมืองก็จะมีการเลือกตั้ง จะมีเงินสะพัดมากขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม
|