ในที่สุดอัจจิมา เศรษฐบุตรนักวิชาการด้านการตลาดชื่อดังก็ตัดสินใจเลิกชีวิตการเป็นลูกจ้าง
โดยหันหน้าเข้าคุมบังเหียนบริหารงานบริษัทในเครือข่ายของสเปคไทยซึ่งตนเองมีส่วนร่วมมานานถึง
10 ปี ในฐานะหุ้นส่วนคนหนึ่ง
ก่อนหน้านี้อัจจิมาได้ตัดสินใจทิ้งตำแหน่งทางวิชาการจากการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อก้าวเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ภาคพื้นประเทศไทย-อินโดจีนให้กับบริษัทโคคา-โคล่า
คอร์ปอเรชั่นในเดือนมกราคม 2531 หลังจากที่เป็นอาจารย์มานานถึง 13 ปี
การตัดสินใจในครั้งนี้เพื่อต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าการสอนด้านการบริหารการตลาดซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของทฤษฎีนั้น
หากต้องลงมือทำในแง่ของการปฏิบัติจริงแล้วจะทำได้หรือไม่
อัจจิมามีหน้าที่ดูแลด้านการตลาดเทคนิคและการเงินตลอดระยะเวลา 3 ปีในการเริ่มต้นบทบาทนักบริหาร
มีผลงานชิ้นสำคัญหลายชิ้นอย่างเช่นโครงการมหาวิทยาลัยโคคา-โคล่าหรือทีซีซียูซึ่งเป็นโครงการสถาบันอบรมพนักงานของโคคา-โคล่าแห่งแรกในโลก
ผลงานชิ้นหนึ่งที่เป็นก้าวสำคัญให้กับบริษัทฯ คือ การเจรจาซื้อกิจการตัวแทนจำหน่ายเครื่องโพสต์มิกซ์กลับคืนมาจากตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับมอบหมายจำนวน
3 รายมาให้กับบริษัทไทยน้ำทิพย์ทำตลาดเองเป็นผลสำเร็จ โดยใช้ระยะเวลา 1 ปี
(จากปี 2532-2533)
ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อตัวแทนจำหน่ายทั้ง 3 รายเกิดแย่งลูกค้ากันเองจนบางครั้งไม่สามารถที่จะควบคุมคุณภาพได้
ทำให้ตลาดไม่โตเท่าที่ควร ดังนั้นผู้บริหารของโค้กจึงมีแนวความคิดที่จะดึงกลับมาทำเองนานแล้วแต่ทำไม่สำเร็จ
"เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เหนื่อยมากเพราะต้องเจรจากับทางตัวแทนจำหน่าย
ในขณะเดียวกันก็ต้องผสานงานกับทางเมืองนอก และไทยน้ำทิพย์ซึ่งแต่ละคนต่างมีจุดยืนของตัวเองที่ต้องการจะได้ในส่วนของตัวเองมากที่สุด
ซึ่งเรื่องนี้มันยุ่งยากอยู่ที่การตีมูลค่าทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่มีแต่เพียงเครื่อโพสต์มิกซ์เท่านั้น
แต่รวมถึงทรัพย์สินที่ตัวแทนจำหน่ายแต่ละรายได้ลงทุนให้กับร้านค้าหรือโรงเรียนเพื่อแลกกับการเข้าไปขายได้เพียงยี่ห้อเดียว"
อัจจิมาอธิบายถึงความยุ่งยากในการเจรจาต่อรองเรื่องนี้
แต่สำหรับการตัดสินใจครั้งล่าสุดนี้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับเพื่อนร่วมหุ้น
ในเงื่อนไขที่ว่าเมื่อธุรกิจเจริญเติบโตขึ้นอัจจิมาจะต้องกลับเข้ามาช่วยบริหารงานในบริษัทอย่างเต็มตัว
ประกอบกับความตั้งใจเดิมที่ต้องการจะทำธุรกิจของตัวเองซึ่งถือว่าเป็นการก้าวมาถึงจุดสูงสุดของชีวิต
อัจจิมาเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทอินเทลลิเจ้นต์ โพรดักต์
(ประเทศไทย) และบริษัทเทเลดาต้า (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทที่แยกตัวออกมาจากบริษัทสเปคไทยที่กำลังสร้างเครือข่ายเพื่อนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในอนาคตอันใกล้นี้
สเปคไทยเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ให้กับธุรกิจค้าปลีกอย่างเช่นเครื่องเก็บเงิน
เครื่องทำป้ายราคา เครื่องชั่งน้ำหนักซึ่งราคาอยู่ในระดับปานกลางถึงระดับล่างโดยเปิดดำเนินการมาแล้ว
10 ปีเต็มมียอดขายในปีที่ผ่านมา 165 ล้านบาท
ในขณะที่ระบบค้าปลีกมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้นความต้องการเครื่องมือที่ไฮเทคจึงเกิดตามมาสเปคไทยจึงตัดสินใจเปิดบริษัทใหม่คืออินเทลเจ้นต์ฯ
เพื่อขายอุปกรณ์ค้าปลีกเช่นเดียวกับสเปคไทย แต่เจาะตลาดระดับที่สูงกว่า คือระดับปานกลางถึงสูงโดยการเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ภายใต้ยี่ห้อ
ICL ของอังกฤษ
ส่วนบริษัทเทเลดาต้าเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปีนี้โดยการร่วมทุนกับบริษัทเทเลดาต้า
สิงคโปร์ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าด้านโทรคมนาคมจากทั่วโลก จากการเข้าถือหุ้น
10% และการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้มานานกว่าเทเลดาต้า สิงคโปร์จึงทำหน้าที่ในการซัพพอร์ตอุปกรณ์ด้านนี้ให้กับเทเลดาต้า
ประเทศไทยซึ่งในระยะแรกนี้ได้มีการตัดสินใจนำเข้าตู้โทรศัพท์สาขายี่ห้อซีเมนส์เข้ามาทำตลาดก่อน
อัจจิมาได้ตั้งเป้าสำหรับยอดขายของบริษัทใหม่ทั้ง 2 แห่งในปี 2535 ซึ่งเป็นปีเริ่มแรกนี้ควรจะอยู่ในราวแห่งละ
40 ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายนี้คงไม่ไกลเกินไปนัก ถึงแม้ว่าสินค้าที่ได้รับมอบหมายจะแตกต่างจากเดิมที่เคยทำมาไม่ว่าจะเป็นลักษณะของสินค้าราคา
และวิธีการขายแต่ด้วยความเป็นนักการตลาดทำให้อัจจิมาค่อนข้างมั่นใจถึงความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ซึ่งครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือการบริหารครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของการทำงานก็ว่าได้
"คิดว่าพออายุถึง 45 จะรีไทร์ตัวเองเพื่อทำอะไรให้กับสังคม การที่ออกมาทำธุรกิจของตัวเองจุดหนึ่งก็เพื่อที่ว่าอย่างน้อยจะมีรายได้ที่แน่นอนจากบริษัทโดยที่เราไม่ต้องเหนื่อยมากนัก
ในขณะเดียวกันก็มีเวลาที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมในต่างจังหวัดโดยเฉพาะกับเด็ก
ให้เขาเกิดความรู้สึกหรือทำอะไรที่ช่วยเหลือตัวเองเป็นอาชีพได้ เราคิดว่าจะเอาคอนเซ็ปท์ของการตลาดเข้าไปทำโครงการนี้
อาจทดลองที่จังหวัดหนึ่งหรือที่โรงเรียนหนึ่งก่อน เมื่อสำเร็จอาจทำเป็นฟรานไชส์หรือสาขาเป็นสูตรสำเร็จและขยายต่อไป
ซึ่งความคิดนี้เกิดขึ้นมาประมาณ 7 ปีแล้ว" อัจจิมากล่าวถึงแรงจูงใจและสิ่งที่อยากจะทำต่อไปหลังจากที่มาบริหารงานของตัวเองแล้ว
ปัจจุบันอัจจิมาอายุ 42 ปี เพราะฉะนั้นเหลือเวลาอีกเพียง 3 ปีเท่านั้นที่จะต้องบริหารงานสู่จุดหมายปลายทางให้ได้ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่อัจจิมาบอกว่า
"มันเป็นอะไรที่ตื่นเต้นและท้าทาย ถึงแม้ว่าจะต้องเจ็บตัวบ้างก็ตาม"