ในที่สุดการค้าประเวณีก็ได้รับการรับรองโดยกฎหมายไทยให้เป็น "อาชีพ"
ที่ถูกต้องชอบธรรมภายใต้เงื่อนไขหนึ่งไปแล้วหลังจากดำรงอยู่คู่กับสังคมมานานนับศตวรรษ
ตลอดเวลาที่ผ่านมาแม้ว่าคนส่วนใหญ่ของสังคมต่างก็บอกว่าไม่ใช่สิ่งพึงปรารถนา
แต่กิจกรรมนี้ก็ก้าวหน้ารุ่งเรืองขึ้นเรื่อยมาทั้งในด้านปริมาณและ "คุณภาพ"
โสเภณีเด็กดูเหมือนจะเป็นภาพสะท้อนด้านคุณภาพประการหนึ่งที่บอกเล่าถึงความเฟื่องฟูของตลาดค้ากามารมณ์
ซึ่งเติบโตโดยไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น
ไม่มีคุณธรรม ไม่มีความเมตตา ไม่มีความรัก…หรือกระทั่งความเป็นมนุษย์ ก็ดูเหมือนจะมีคำจำกัดความอันสิ้นสุดอยู่ตรงเรื่องของความต้องการทางเพศเพียงประการเดียว
"ถ้าถามว่าเมื่อก่อนทำไมไม่มีโสเภณีเด็กมากขนาดนี้ อาจจะพูดได้หลายระดับตั้งแต่ว่าลัทธิบริโภคนิยมแพร่หลายมากขึ้นทำให้
DEMAND ทางด้านนี้มีมากขึ้นด้วย ในขณะที่ SUPPLY ก็มาก กลุ่มผู้หาผลประโยชน์มีการแข่งขันกันสูงคือเป็นเรื่องยากที่จะระบุลงไปเหมือนกับว่าไก่-ไข่อะไรเกิดก่อนกัน
แต่เท่าที่ได้พบเห็นได้พูดคุย ได้ข้อมูลต่าง ๆ มาคิดว่าธุรกิจท่องเที่ยวมีผลอย่างมากต่อการขยายตัวอย่างเป็นล่ำเป็นสันของโสเภณี"
สุดารัตน์ ศรีสังข์ เลขาธิการโครงการยุติโสเภณีเด็กในธุรกิจท่องเที่ยวเอเชีย
(ECPAT) กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เป็นที่รู้กันอยู่ว่า นับวันการท่องเที่ยวยิ่งมีบทบาทเกื้อกูลต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย
ในขณะเดียวกันสภาพของธุรกิจด้านนี้ก็ใหญ่โตซับซ้อนมากขึ้น ธรรมชาติ,วัฒนธรรมมิได้จำกัดตัวอยู่แค่การเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้คนมาเปิดโลกทัศน์
หรือแสวงหาประสบการณ์อีกต่อไป หากเปลี่ยนมาเป็น "สินค้า" สำหรับการบริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการฉาบฉวยภายนอกมากกว่า
และสินค้าในธุรกิจการท่องเที่ยวที่ซับซ้อนและขยายใหญ่นั้นก็จำเป็นต้องมีความหลากหลายขึ้นด้วย
"คน" ดูเหมือนจะเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวประเภทหนึ่งได้อย่างดี
โดยความเอาใจใส่ส่วนตัวสุดารัตน์เองสนใจศึกษาและคลุกคลีกับข้อมูลเรื่องโสเภณีมานานแล้ว
โดยเฉพาะในด้านที่เป็นภาพกว้างระหว่างประเทศและที่เกี่ยวพันกับเรื่องการท่องเที่ยว
หนังสือ SEX TOURISM ซึ่งเนื้อหาหลักได้กล่าวถึงความโยงใยต่อกันระหว่างปัญหาโสเภณีกับการท่องเที่ยวและการพัฒนา
สุดารัตน์ก็เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมอยู่ด้วยในการรวบรวมข้อมูลและจัดทำตั้งแต่ประมาณปี
2526 ในภาคภาษาเยอรมัน และในภายหลังยังได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการและผู้แปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทยร่วมกับจันทรวิภา
อภิสุข และจารุพัสตรา ไมโฮฟเฟอร์อีกด้วย
นอกจากนี้ในงานวิจัยเรื่อง PROSTITUTION THAI-EUROPION CONNECTION ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวของหญิงไทยผู้ไปขายตัวในต่างแดนก็เป็นผลงานของเธอเช่นกัน
การแพร่ขยายของการท่องเที่ยวเพื่อกามารมณ์หรือ SEX TOURS นับเป็นสถานการณ์ที่น่าตื่นตระหนกสำหรับผู้ที่ได้รับรู้
สินค้าไม่ได้มีเฉพาะเพศหญิงแต่รวมถึงเพศชาย ไม่ใช่แต่ผู้ใหญ่หากมีเด็กไว้เสนอขายด้วยอีกทั้งไม่ใช่ว่ามาประเทศไทยแล้วต้องพบเพียงเด็กหญิงสัญชาติไทย
แต่มีทั้งจีน ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา ฯลฯ
ปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่มีพรมแดนของประเทศ ขณะที่ในไต้หวันมีการจัดเอาเด็กหญิงชาวพื้นเมืองเข้าแถวให้นักท่องเที่ยวเลือกตัว
ที่ศรีลังกาก็หาซื้อเด็กผู้ชายได้เกลื่อนกลาดตามชายหาดอันเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
องค์กร ECPAT ถือกำเนิดขึ้นก็ด้วยการเล็งเห็นถึงความเลวร้ายของสิ่งเหล่านี้และต้องการขจัดออกไป
แม้จะเป็นองค์กรใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2534 แต่ประวัติศาสตร์ของการก่อตัวที่ค่อนข้างจะยาวนาน
เริ่มต้นจากเมื่อปี 2530 มีโครงการวิจัยชื่อ CHILD PROSTITUTION AND TOURISM
เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนขององค์กรที่ชื่อว่า พันธมิตรสากลเพื่อการท่องเที่ยวในประเทศโลกที่
3 (ECUMENICAL COALITION FOR THIRD WORLD ECTWT) อันเป็นองค์กรนานาชาติที่จับปัญหาศึกษาเรื่องผลกระทบในทางลบของธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศโลกที่
3 โครงการวิจัยนี้มุ่งศึกษาถึงเรื่องโสเภณีเด็กโดยเชื่อมเกี่ยวกับเรื่องของการท่องเที่ยวใน
3 ประเทศด้วยกัน คือ ไทย ฟิลิปินส์ และศรีลังกา ในงานนี้สุดารัตน์มีบทบาทเป็นผู้ประสานงานร่วมกับ
JUNE ROGERS
เมื่อผลการศึกษาเสร็จสิ้นลงในปี 1990 แม้จะยังติดตามข้อมูลได้ไม่สมบูรณ์ทั้งหมดแต่สิ่งที่ได้มานั้นก็มากพอสำหรับการที่จะเดินหน้าต่อไป
เดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนั้นเองจึงได้เกิดมีการสัมมนาเชิงปรึกษาหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ของปัญหาโสเภณีเด็กขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่
เรียกว่าเป็น CHIANGMAI CONSULTATION
หลังจากที่ได้มีการนำเสนอข้อมูลจาก 5 ประเทศคือ ไทย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา
อินเดีย และไต้หวันแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากองค์กรเอกชนทั้งที่เป็นองค์กรทุนและองค์กรทำงานด้านเด็กด้านผู้หญิง
และด้านการท่องเที่ยวในหลาย ๆ ประเทศประมาณ 60 คนต่างก็ถกเถียงกันเป็นการใหญ่ถึงวิธีที่จะหยุดปัญหานี้
ECPAT ถือเป็นองค์กรเคลื่อนไหวในระดับสากลที่มีเป้าหมายชัดเจนตามชื่อขององค์กร
สำนักงานกลางนั้นตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยมี RON O'GRADY ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่สุดในการทำให้องค์กรเป็นจริงขึ้นได้เป็นผู้ประสานงาน
และสุดารัตน์ ศรีสังข์เป็นเลขาธิการส่วน องค์กรเครือข่ายนั้นกระจายอยู่ในประเทศต่าง
ๆ ประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ คณะกรรมการระดับชาติใน 4 ประเทศได้แก่ ไทย ศรีลังกา
ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และกลุ่มสนับสนุนในอีกหลายประเทศ
"เรารู้ว่าต้องเริ่มที่ใดที่หนึ่งจึงเลือกเอเซียและเริ่มในแง่มุมที่เราจับทำมาก่อนก็คือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
แต่ไม่ได้หมายความว่าโสเภณีเด็กเกิดมาจากการท่องเที่ยวเท่านั้น เพียงแต่งานตรงนี้จะเน้นส่วนนี้
โดยก็ตระหนักดีว่าองค์กรที่เป็นกลุ่มท้องถิ่นในประเทศต่าง ๆ ทำในประเด็นอื่น
ๆ ด้วย เช่นด้านเศรษฐกิจ หรือสังคม" สุดารัตน์กล่าว
ในฐานะที่เป็นองค์กรศูนย์กลาง หน้าที่ของ ECPAT ก็คือการประสานงานสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ
บทบาทที่ออกมาจึงได้แก่การจัดงานต่าง ๆ ให้มีการพบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกันในระหว่างองค์กรพันธมิตรทั่วโลกเพื่อที่จะทำการรณรงค์ในประเด็นที่มีลักษณะเป็นสากลต่อไป
เช่น ประเด็นเกี่ยวกับข้อกฎหมาย นโยบายทางการเมือง หรือทางเศรษฐกิจเป็นต้น
ซึ่งงานสัมมนาใหญ่งานหนึ่งได้เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคมนี้ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สุดารัตน์ถือได้ว่าเป็นแม่งาน
"งานเดือนมีนาฯ เราต้องการให้ประเด็นเรื่องนี้ไปไกลกว้างและได้รับความร่วมมือจากองค์กรระดับประเทศหลาย
ๆ ประเทศ หลักการใหญ่ก็คือต้องทำทั้ง 2 ฝ่ายฝ่ายหนึ่งคือประเทศผู้รับการท่องเที่ยวและประเทศผู้ส่งนักท่องเที่ยวมา
ส่วนองค์กรภายในประเทศก็จะเป็นผู้ผลักดันความเคลื่อนไหวและสร้างกิจกรรมต่าง
ๆ ภายในประเทศตน ต่างทำงานและต่างเป็นพันธมิตรที่เป็นแนวร่วมกัน โดยที่เป้าหมายของเราอยู่ที่การยุติปัญหาโสเภณีเด็ก
จะเป็นว่าในธุรกิจท่องเที่ยวหรือไม่ก็แล้วแต่ คือถ้าไทยอาจจะต้องมากกว่าแง่นี้
แต่ของศรีลังกาจัดการในแง่นี้ได้ก็อาจจะแทบยุติทั้งหมด ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ของแต่ละที่"
สุดารัตน์ตระหนักดีว่าการดำรงอยู่ของโสเภณีมิได้ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวประการเดียวในภาคส่วนอื่น
ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาประเทศตามลัทธิทันสมัยอันทำให้มีสถานบริการหลากหลายรูปแบบเกิดขึ้น
เปิดช่องทางให้เด็กหลุดเข้าไปได้ง่าย หรือในด้านของค่านิยมที่นับถือเงิน
การหลงไหลในวัตถุนิยมและการบริโภคก็ทำให้ทั้งพ่อแม่และเด็กพอใจจะหันหาเส้นทางนี้มากขึ้น
เช่นเดียวกับเรื่องของคุณธรรมในแง่ของความเป็นมนุษย์ที่เสื่อมถอยลง นี่ก็มีส่วนทำให้ความหยาบร้ายรุนแรงเยี่ยงนี้เกิดขึ้นได้
การจะยุติปัญหาเท่ากับต้องสู้กับขบวนการเหล่านี้จึงต้องอาศัยขบวนการที่แข็งและกว้างขวางพอ
ๆ กัน
ภารกิจของ ECPAT และของสุดารัตน์ถูกวางไว้ภายในของเขตเวลา 3 ปี จากนั้นโครงการก็เป็นอันสิ้นสุดโดยนั่นก็คือการตั้งความหวังไว้ว่าปัญหาโสเภณีเด็กคงจะยุติลงด้วย
อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่งของทวีปเอเชีย จากนั้นพื้นที่การทำงานของ ECPAT ก็จะย้ายไปยังภูมิภาคอื่น
ๆ ซึ่งมีปัญหาอยู่เช่นกันทั้งที่แอฟริกา อเมริกาใต้ และอินโดจีน
การมาพบกันของตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ ทั้งจากทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกา แอฟริกากว่า
150 คนเมื่อวันที่ 31 มีนาคม-3 เมษายนนี้ ก็คือความพยายามอีกขั้นหนึ่งในการสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งขึ้น
เนื่องจากปัจจุบันแม้ปัญหาโสเภณีเด็กจะได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางกว่าเคยแล้ว
แต่ทางด้านผู้นิยมร่วมเพศกับเด็กซึ่งเรียกว่าเป็นพวก PAEDOPHILES ก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นด้วยและกิจการค้าเด็กข้ามชาติเองก็ได้พัฒนาขึ้นเป็นเครือข่ายด้วยเช่นกัน
การจะต่อต้านกับกลุ่มเหล่านี้แท้จริงแล้วจึงเป็นเรื่องใหญ่มากจนกล่าวได้ว่าจำเป็นที่คนทั่วโลกควรจะร่วมมือกันเลยทีเดียว
"โสเภณีเด็กเป็นอาชญากรรมที่เราป้องกันได้และเป็นทาสที่ต้องได้รับการปลดปล่อยอย่างเด็ดขาด"
นี่คือความมุ่งหมายสูงสุดขององค์กร ECPAT ที่มีสุดารัตน์ ศรีสังข์บริหารงานหลักอยู่ในขณะนี้