การจัดสรรเงินลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ย่อมแตกต่างกันไปตามลักษณะนิสัยความต้องการของแต่ละคน
บางคนยอมเสี่ยงมากเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูง บางคนหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ยอมรับผลตอบแทนที่น้อยลง
แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนหวังเหมือนกันถ้ามีความเป็นไปได้ คือการลงทุนแบบความเสี่ยงน้อย
แต่ผลตอบแทนสูง แต่จะทำอย่างไรดีล่ะ?
หุ้นในตลาดกลุ่มหนึ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจกันคือหุ้นกลุ่มหน่วยลงทุน
(UNIT TRUST) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 6 ตัว คือ กองทุนร่วมพัฒนา กองทุนร่วมพัฒนา
2 กองทุนสิญโญ 4 กองทุนสิญโญ 5 กองทุนทรัพย์ทวี 2 และกองทุนธนภูมิ ซึ่งยังไม่เคยปรากฏ
การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหน่วยลงทุนดังกล่าวเสนอผ่านหน้าหนังสือพิมพ์
"อะไร คือเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนเมินหน่วยลงทุน" ทั้งที่บางหน่วยลงทุนให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นบางตัวในตลาด
อีกทั้งความเสี่ยงต่ำกว่า อันเป็นความปรารถนาของนักลงทุนทุกคนมิใช่หรือ
นักลงทุนที่เหมาะสมจะลงทุนในหน่วยลงทุน จะเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ไม่มีเวลาเข้ามาศึกษาคือไม่มีความชำนาญในการตัดสินใจลงทุนหุ้นได้ด้วยตนเอง
ต้องการมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารเงินส่วนนี้ให้
แต่ด้วยพฤติกรรมของกลุ่มนักลงทุนส่วนใหญ่ในบ้านเราเป็นไปในลักษณะของการเก็งกำไร
คือนิยมความเสี่ยง หวังผลตอบแทนจากการลงทุนสูง และมีความกระตือรือร้นศึกษาวิธีการลงทุนด้วยตนเอง
ดังนั้นการลงทุนในหน่วยลงทุนที่เปรียบเสมือนมอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวมบริหารให้จึงมีไม่มากนัก
อีกปัจจัยหนึ่งที่นับว่ามีอิทธิพลต่อความสนใจลงทุนในหน่วยลงทุน คือความรู้สึกว่าผู้บริหารกองทุนจะบริหารกองทุนได้กำไรไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเนื่องจากเห็นว่าบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม
ต้องดำเนินการสนองนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตต่าง ๆ การดำเนินการจึงไม่ได้รับผลตอบแทนเต็มที่
ความรู้สึกเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ ผลตอบแทนจากการลงทุนในหน่วยลงทุนให้ผลตอบแทนในระดับที่ไม่น่าพอใจจริง
ๆ หรือ
ผลตอบแทนจากการลงทุนใน UNIT TRUST ก็เช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นของบริษัทจำกัดทั่วไปคือกำไรจากการซื้อขาย
(CAPITAL GAIN) รายได้จากเงินปันผล (DIVIDEND YIELD) และเมื่อสิ้นสุดโครงการผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับผลตอบแทนสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วย
(NET ASSET VALUE) คืนด้วย
จากผลการดำเนินงานของกองทุนในปัจจุบัน จำนวน 6 กองทุน (พิจารณาตารางประกอบ)
อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ของกองทุนต่าง ๆ ที่คำนวณคิดย้อนหลัง 12
เดือนนับจากเดือนมกราคม 2535 (ระหว่าง 1 ก.พ. 34-31 ม.ค. 35) จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ
ROI ของตลาดแล้วอัตราผลตอบแทนของกองทุนส่วนใหญ่มีค่าสูงกว่าผลตอบแทนจากตลาด
กล่าวคือ ROI ของตลาดมีค่า 7% ส่วน ROI ของหน่วยลงทุนคือร่วมพัฒนา มีค่าสูงสุด
15.66% รองลงมาคือ สินภิญโญ 5 10.87% ธนภูมิ 10% และทรัพย์ทวี 2 มีค่า 9.26%
ส่วนกองทุนที่มีผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดคือกองทุนสินภิญโญ 4 มีค่า ROI 5.11%
กองทุนร่วมพัฒนา 2 เพิ่งเริ่มโครงการเมื่อมิถุนายน 2534 ข้อมูลยังไม่ครบถ้วนจึงยังไม่ได้คำนวณหาผลตอบแทนออกมา
สำหรับความเสี่ยง เมื่อพิจารณาถึงค่าเบต้าแล้ว จะพบว่าค่าเบต้าของหน่วยลงทุนมีค่าน้อยกว่า
1 แสดงให้เห็นว่าเมื่อการลงทุนโดยเฉลี่ยในตลาดหลักทรัพย์ฯ เกิดความผันผวนขึ้น
เนื่องจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศเช่น สงครามอ่าวเปอร์เซีย การปฏิวัติรัฐประหาร
ตลาดหุ้นไทยผันผวนอย่างมาก นักลงทุนที่ถือหุ้นหน่วยลงทุนจะเจ็บตัวน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของการลงทุนทั้งตลาด
ทั้งนี้ค่าเบต้าของกองทุนร่วมพัฒนา 2 มีค่าต่ำสุดคือ 0.75 รองลงมาคือกองทุนร่วมพัฒนา
มีค่า 0.79
เมื่อพิจารณาถึงผลประกอบการที่ผ่านมาดังกล่าวแล้ว คงจะมีคำตอบอยู่ในใจกันบ้างแล้วว่าหน่วยลงทุนใดน่าสนใจลงทุนบ้าง
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเมื่อคิดจะลงทุน ก็คงต้องคำนึงถึงจังหวะที่จะเข้าลงทุน
กล่าวคือต้นทุนในการเข้าซื้อราคาสูงเกินไปหรือไม่ และหุ้นมีสภาพคล่องในการเปลี่ยนมือได้เพียงใด
ราคาที่ซื้อขายกันในปัจจุบันของหน่วยลงทุน เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าค่า
NET ASSET VALUE (DISCOUNT TO NAV)
อุตตมะ สาวนายน อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สถาบันพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ได้ให้ทัศนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับการ DISCOUNT ของกองทุนว่า
"กองทุนเปิด (CLOSED-END FUND) ทุกกองทุนจะมีลักษณะ DISCOUNT จากการศึกษาวิจัยกองทุนต่าง
ๆ พบว่าเป็น CLOSED-END FUND DISCOUNT ANOMALIES นั่นคือ ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมราคาจึงเป็น
DISCOUNT"
ส่วนราคา DISCOUNT ระดับใดจึงน่าลงทุนซื้อนั้น ผู้จัดการกองทุนท่านหนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวมเปิดเผยว่าราคาตลาดควรจะ
DISCOUNT อยู่ในช่วงระหว่าง 15-20% จากค่า NAV
ณ 28 กุมภาพันธ์ 2535 เมื่อเทียบราคาตลาดต่อหุ้นกับมูลค่า NAV ของแต่ละหน่วยลงทุนจะพบว่าทุกหน่วยลงทุน
ราคาตลาดจะต่ำกว่าค่า NAV โดยกองทุนทรัพย์ทวี 2 มีค่าต่ำกว่าถึง 25.69% รองลงมาคือร่วมพัฒนา
2 25.21% ธนภูมิ 24.06% สินภิญโญ 5 19.62% ร่วมพัฒนา 11.48% และสินภิญโญ
4 11.04%
สำหรับสภาพคล่องในการเปลี่ยนมือของหลักทรัพย์ เมื่อพิจารณาถึงเปอร์เซนต์ปริมาณการซื้อขายหน่วยลงทุนเฉลี่ยต่อวันเทียบกับค่าการหมุนเวียนต่อวันของตลาดหลักทรัพย์ฯ
จะพบว่ามีเพียงกองทุนสินภิญโญ 4 เท่านั้นที่น่าสนใจ เพราะมีอัตราการหมุนเวียนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งตลาด
และกองทุนธนภูมิที่มีค่าเฉลี่ยเท่ากับค่าเฉลี่ยของตลาด นอกนั้นต่ำกว่าตลาดพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ในอีกไม่ช้าที่จะมีบริษัทจัดการกองทุนเพิ่มขึ้นอีกถึง 9 แห่ง
จากเดิมที่มีเพียงแห่งเดียวคือบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม "บริษัทจัดการกองทุนเหล่านี้จะช่วยสร้างฐานผู้ลงทุนมากขึ้น
เมื่อความต้องการซื้อหน่วยลงทุนมากขึ้น สภาพคล่องในการซื้อขายหน่วยลงทุนจึงควรจะมากขึ้นด้วย"
สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญตลาดหุ้นพูดถึงแนวโน้มที่ดีของ UNIT TRUST
จุดที่น่าสนใจของการดึงให้นักลงทุนมาลงทุนใน UNIT TRUST อยู่ที่ความสามารถในการบริหารการลงทุนของหน่วยลงทุนแต่ละหน่วย
กองทุนรวมซึ่งทำหน้าที่บริหารลงทุนออกจะได้รับการประเมินยาก เพราะไม่มีคู่แข่งขัน
นอกจากตัวเลขที่เปิดเผยออกมาเพื่อวิเคราะห์เชิงปริมาณแล้ว คุณภาพในการบริหารพอร์ต
(PORTFOLIO) เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเพื่อที่จะพยากรณ์ถึงแนวโน้มของคุณภาพของกองทุนว่าต่อไปมูลค่าของกองทุนจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง
นโยบายการลงทุนของกองทุนทั้ง 5 ตามมูลค่าตลาด (ไม่รวมกองทุนร่วมพัฒนา 2
เพราะข้อมูลไม่เพียงพอ) มีนโยบายสอดคล้องกัน เห็นได้จากกลุ่มธุรกิจที่กองทุนถือหุ้นเป็นกลุ่มเดียวกันกล่าวคือนับแต่ปี
2533-2534 สัดส่วนของการลงทุนอยู่ในหุ้นกลุ่มธนาคาร, กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์เป็นหลัก
โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของราคาตลาดของหุ้นสามัญทั้งหมด ส่วนกลุ่มประกันภัย,
พาณิชย์ และบริการ รวมกันคิดเป็นประมาณร้อยละ 12 ของราคาตลาดหุ้นสามัญทั้งหมด
(พิจารณาสัดส่วนการลงทุนในหุ้นของกองทุนประกอบ)
กลุ่มธุรกิจที่กองทุนลงทุนอยู่นี้ คาดว่ามีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่มูลค่าของกองทุนจะสูงขึ้น
ตรงนี้มีข้อสังเกตว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้ผู้จัดการกองทุนเหล่านี้ มีรูปแบบการลงทุนที่มีทิศทางคล้ายคลึงกัน
การตัดสินใจลงทุนในหุ้นตัวใดเป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนแต่ละคน ซึ่งจะมีที่ปรึกษาแตกต่างกันไปในแต่ละกอง
ทุนส่วนข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจจะมาจากแหล่งเดียวกันคือ ทีมงานวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่การตัดสินใจจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกเหนือจากองค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ปัจจัยที่นักลงทุนควรจะทราบแต่ไม่เคยมีการเปิดเผยมาก่อนคือใครเป็นผู้จัดการกองทุน
เขาจะมีความสามารถบริหารเงินทุนของเราได้หรือไม่ นักลงทุนจะทราบแต่เพียงองค์กรที่เข้ามาจัดการกองทุนเท่านั้น
ดังนั้นถ้าคิดว่าผู้จัดการกองทุนเป็นมืออาชีพจริงก็ควรที่จะเปิดเผยอย่างชัดแจ้ง
สิ่งนี้คือเงื่อนไขสำคัญในด้านข่าวของหน่วยลงทุนที่กองทุนรวมจะต้องเปิดเผยอย่างโปร่งแจ้ง