- อนาคตโทรคมนาคมชาติพัง พร้อม"ทีโอที" ล่มสลาย
- ยุดมืดแพ้ภัยศึกภายในระอุ ศึกภายนอกรุมสกรัมหนัก
- จับตาเร่งผุดโครงการ "3G" ให้เป็นฟ้าใหม่ทีโอทีได้จริงหรือไม่
- สหภาพแรงานฯสุดทน เตรียมผนึกทุกรัฐวิสาหกิจขย่มรัฐบาล
- งานล้างบ้านครั้งใหญ่กำลังเริ่มต้น หรือซุกปัญหาต่อไป...
กลียุคบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือทีโอที คือประเด็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นภายในองค์กรที่ถือว่ามีความสำคัญทางด้านโทรคมนาคมของชาติไทยมายาวนานกว่า 53 ปี ให้สั่นคลอนอย่างหนัก ว่าธุรกิจที่ยั่งยืนแห่งนี้จะสามารถยืนหยัดฝ่าคลี่นลมมรสุมลูกใหญ่ครั้งนี้ได้หรือไม่
การล่มสลายของธุรกิจทีโอทีคือคำถามที่หลายคนกำลังหาคำตอบว่าสุดท้ายแล้วจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต และหากจะมีวิธีอะไรที่จะเข้ามาช่วยกอบกู้ซากธุรกิจแห่งนี้ให้คืนชีพขึ้นได้ ย่อมทำให้อนาคตโทรคมนาคมแห่งชาติไม่ต้องพังลงไปในน้ำมือของใครบ้างคน
"วันนี้คนทำงานทีโอทีไม่อาจทนเห็นกลียุคที่เกิดขึ้นในทีโอทีได้"
เป็นคำกล่าวของนุกูล บวรสิรินุกูล รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ(สรท.) ที่เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" และว่าหากวันนี้ไม่มีใครออกมาเรียกร้องความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจของทีโอที เชื่อแน่ว่าธุรกิจแห่งนี้จะต้องล่มสลายอย่างแน่นอน
ถ้าเปรียบทีโอทีก็เหมือนกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ แต่ดูจะเป็นองค์กรที่มีปัญหามากที่สุด นุกูล กล่าวว่าหากมองการทำงานของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือปตท. ทำไมปตท.ถึงสามารถดำเนินธุรกิจให้ก้าวหน้าและเติบโตอย่างมั่นคงได้ขนาดนี้ เนื่องจากมีการบริหารจากบอร์ดและผู้ที่มีวิสัยทัศน์ทางธุรกิจมาช่วยกันบริหาร ต่างกับทีโอที ที่บอร์ดบริหารไม่มีผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมเลย การมองธุรกิจและวางทิศทางให้กับทีโอทีจึงขาดประสิทธิภาพ จนไม่อาจจะเชื่อได้ว่าทีมบริหารงานชุดปัจจุบันจะนำพาทีโอทีเติบโตต่อไปได้
"เราได้ดำเนินการเรียกร้องตั้งแต่กับระดับบอร์ดบริหาร ระดับรัฐมนตรีทั้งไอทีซีและกระทรวงการคลัง หากไม่ได้ผล สหภาพฯจะร่วมกับสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่งเรียกร้องในระดับภาพใหญ่ระดับประเทศเรียกร้องรัฐบาลให้เข้ามาแก้ไขปัญหาทีโอที"นุกูล ย้ำถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่อาจนำไปสู่การเรียกร้องจากทุกรัฐวิสาหกิจ
ปมปัญหาที่ปะทุขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอย่างหนักตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นจุดบ่งบอกถึงสัญญาณอันตรายที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นนับตั้งแต่การเข้ามาของบอร์ดบริหารที่มี พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ นั่งตำแหน่ง ประธานกรรมการทีโอที เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550
ในการเข้ามาครั้งนั้นของพล.อ.สพรั่ง หวังเข้ามาแก้ไขปัญหาที่สะสมภายในทีโอที ที่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มอำนาจเก่า จนถือเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้เกิดการรัฐประหารเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทุกอย่างที่ดำเนินการจึงเน้นความโปร่งใส และพยายามที่จะเก็บกวาดทีโอทีให้เข้าที่เข้าทางที่สุด
แต่การดำเนินการตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่าน ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะผลักดันตัวธุรกิจให้กับทีโอทีเลย การทำงานในเชิงธุรกิจมีการตรวจสอบและพิจารณายาวนานไม่ทันกับสภาวะการแข่งขันที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน จนเป็นจุดบอดที่ทำให้เสียเปรียบบริษัทเอกชนเรื่อยมา
ปมปัญหาที่ปะทุจนเป็นเหตุการณ์ใหญ่โตอยู่ในขณะนี้เริ่มตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างบอร์ดทีโอทีกับดร.สมควร บูรมินเหนทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือความขัดแย้งระหว่างคณะกรรมการบอร์ดด้วยกันและข้อพิพาทค่าเชื่อมวงจร (Access Charge) ระหว่างทีโอที กับสองค่ายมือถือ คือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด
การลุกลามปัญหาจากการปลดดร.สมควร เหตุจากประเด็นที่ทำให้ทีโอทีได้รับความเสียหายจากการบริหารที่ผิดพลาดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างบริการลูกค้าสัมพันธ์และจัดทำระบบจัดเก็บเงินโทรศัพท์ ระบบ 1900 เมกะเฮิรตซ์ตามสัญญาระหว่างทีโอที และบริษัท สามารถ อี-เทรดดิ้ง จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากสัญญาที่ทำร่วมกันก่อให้เกิดความเสียเปรียบเป็นมูลค่านับพันล้านบาทเลยทีเดียว
หลังจากนั้นก็มีการแต่งตั้ง ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการนั่งตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ แต่ก็อยู่ได้ไม่นานถูกปลดออกจากตำแหน่ง เพราะแฉงบลับ 800 ล้านบาทซึ่งกองทัพให้ทีโอที สนับสนุนงบการจัดซื้ออุปกรณ์ด้านความมั่นคง ด้วยเหตุที่ว่าเพื่อปกป้องผลประโยชน์
บอร์ดได้มีการแต่งตั้ง พ.อ.ดร.นที ศกุลรัตน์ กรรมการ นั่งตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่อีกหนึ่งตำแหน่ง แต่หลังจากศาลปกครองสั่งคุมครองดร.สมควร รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ของพ.อ.ดร.นที ก็ต้องยุติบทบาทลง แต่บอร์ดยังเดินหน้าแต่งตั้งกิตติพงษ์ เตมียประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่มานั่งตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทั้งๆ ที่ศาลปกครองยังมีคำสั่งคุ้มครอง ดร.สมควร บูรมินเหนทร์ โดยมีการเปิดประเด็นการสอบสวนระบบสื่อสัญญาณความเร็วสูง หรือ Transmission Network Expansion Project (TNEP) เนื่องจาก สตง.สงสัยกรณีปรับความล่าช้าส่งมอบอุปกรณ์จาก บริษัท อัลคาเทล ซึ่งเป็นผู้รับจ้างดำเนินการเพียง 52 ล้านบาทจากจำนวนทั้งสิ้น 177 ล้านบาทมีผลทำให้ทีโอที เสียประโยชน์ถึง 125 ล้านบาท
"ปัญหาการจัดการกับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นปัญหาเรื่องของบุคคลที่บอร์ดชุดนี้ผิดพลาดตลอด" นุกูลชี้ให้เห็นปัญหาในจุดนี้และว่า
"ในทีโอทีมีคลื่นลูกใหม่มากมายที่พร้อมจะขับเคลื่อนธุรกิจแห่งนี้ต่อไปชนิดติดสปีดให้กับองค์กร แต่ไม่ได้รับโอกาส คนรุ่นเก่าที่เกาะกินอยู่ในตำแหน่งจึงเพียงทำงานไปวันๆ เพราะเหลือช่วงเวลาทำงาน 1-2 ปี การจะคิดทำอะไรใหม่ๆ ให้กับธุรกิจคนพวกนี้ไม่ทำอย่างแน่นอน"
ปมปัญหาภายในของทีโอทียังมีประเด็นสำคัญอย่างการครอบงำจากเอกชนผ่านบอร์ดทุกชุด ที่เป็นปัญหาในบอร์ดชุดนี้อย่าง พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท มีสายสัมพันธ์อย่างดีกับกลุ่มซีพี โดยปัจจุบัน พล.อ.วิโรจน์ แสงสนิท ผู้เป็นพ่อนั่งเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มซีพี และ พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค เป็นคนที่มาจากสายพรรคชาติไทย ซึ่งหัวหน้าพรรคบรรหาร ศิลปอาชา มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มซีพี
ด้านพ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ เป็นมือขวาของพลโทอนุสรณ์ เทพธาดา อดีตประธานกรรมการ บมจ.กสท.โทรคมนาคม ในสมัยที่นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ในอดีตพลโทอนุสรณ์ เรียกตัวพ.อ.ดร.นที มาร่างเงื่อนไขทีโออาร์โครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซีดีเอ็มเอ ในเขตภูมิภาคจำนวน 51 จังหวัด โดยผู้ชนะการประมูลในครั้งนั้นคือ หัวเหว่ย
ปัญหาของทีโอทียังมีอยู่ในกลุ่มพนักงานที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วงชิงตำแหน่งประธานสหภาพฯ ซึ่งจะมีผลต่อการบริหารงานทีโอทีต่อไปในอนาคตด้วย
ด้านปัจจัยภายนอกทีโอทียังมีข้อพิพากกับค่ายทรู ซึ่งทีโอที ได้ฟ้องอุทธรณ์คำวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการกรณีค่าเชื่อมโยงโครงข่าย ที่ตัดสินให้ทีโอที ต้องแพ้ต้องจ่ายให้ทรู เป็นจำนวนเงิน 9 พันล้านบาท หากคิดรวมดออกเบี้ยเป็นเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ทีโอที ยังมีข้อพิพาทกับ กทช.กรณีที่ยื่นอุธรณ์ค่าธรรมเนียมเลขหมายเป็นจำนวนเงิน 700 ล้านบาทเลยทีเดียว
รวมถึงค่าเชื่อมวงจำนวน 200 บาทต่อเลขหมายที่ถือว่าเป็นรายได้หลักที่ทีโอที ได้รับจากการให้เชื่อมต่อสำหรับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่าง ทรูมูฟ และ ดีแทค คิดเป็นรายได้นับหมื่นล้านบาท กำลังจะสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไป เนื่องจากเมื่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม 2543 การเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และยังมีเรื่องสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ โทรศัพท์พื้นฐาน กำลังจะหมดสัญญาภายในอีก 5 ปีข้างหน้า
ทีโอทีต้องเร็วขึ้น 3G คือแหล่งรายได้
เมื่อทีโอทีมีปัญหารุมเร้ามากมายดังกล่าว มีหลายคนมองว่าแล้วอนาคตขององค์กรแห่งนี้จะไปในทิศทางใดได้บ้าง เพื่อที่จะนำพาอนาคตโทรคมนาคมแห่งชาติรายนี้ยืนหยัดทำธุรกิจได้
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจโทรคมนาคม มองว่าทีโอทีที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ จะต้องเริ่มหันมามองธุรกิจและเข้าใจถึงศักยภาพขององค์กร มีความพร้อมของข้อมูลที่พร้อมจะนำมาวิเคราะห์ตัวเลขผลการดำเนินงานของตัวเอง และคู่แข่งนำมาเปรียบเทียบทั้งตลาดแต่ละบริการ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ ทิศทางขององค์กร
ไม่เพียงเท่านั้นจะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันขององค์กร การทำงานเป็นทีม ช่วยกันวิเคราะห์ กำหนดเป้าหมาย และปฏิบัติไปสู่จุดหมายเดียวกันอย่างพร้อมใจ จึงสามารถดำเนินการได้เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากทีโอทีไม่มีปัญหาเรื่องพนักงานที่มีความรู้
นอกจากนี้องค์กรต้องเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีขนาดใหญ่ การแข่งขันรุนแรง หากเสียลูกค้าไปแล้ว จะนำกลับคืนยาก หากปรับตัวล่าช้าแม้เพียง 3 เดือนก็อาจกลับมาแข่งขันได้ลำบากแล้ว อาจถึงขั้นสูญเสียตลาดให้คู่แข่งได้หมด
ทีโอทีต้องปรับตัวอย่างมากเพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ไม่ได้อยู่ในบทบาทผู้ผูกขาดให้สัมปทานอีกต่อไป และบริษัทภายใต้สัมปทานก็เป็นทั้งผู้ที่หารายได้ให้ทีโอทีและคู่แข่งด้วยพร้อมกัน จึงต้องปฏิบัติต่อคู่แข่งในลักษณะพันธมิตรทางธุรกิจได้ ภายใต้สถานการณ์ที่ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย จึงต้องมีการตลาดที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะสูญเสียตลาดไปเรื่อยๆ ทั้งที่อยู่ธุรกิจมาก่อนเอกชน
อานุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า หากพิจารณาด้านการลงทุน ไทยโมบาย และเอซีที โมบาย ของทีโอทีถือเป็นสิ่งมีค่าเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่ เพราะมีคลื่นความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ ที่สามารถให้บริการ 3 Gได้ และเป็นผู้ให้บริการเดียวได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล ถือว่ามีความหมายกับนักลงทุนด้านโทรคมนาคม และผู้ผลิตเทคโนโลยี
"ไทยโมบายและเอซีที โมบายจะเนื้อหอมขึ้นมาในตอนนี้" อานุภาพ กล่าวเพราะเห็นว่าผลประโยชน์มหาศาลจากโครงการนี้ ทำให้หลายฝ่ายเห็นโอกาสที่จะเข้ามามีส่วนร่วม เห็นได้จากความพยายามของฝ่ายการเมือง ที่จะเข้ามาดูแลการดำเนินงานของไทยโมบาย ผ่านทางนโยบายของบอร์ดทีโอที
ล่าสุดทั้งนี้บอร์ดทีโอที มีมติเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่งตั้ง พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน เป็นกรรมการในเอซีที โมบาย และสนับสนุนให้ทำหน้าที่ประธานบอร์ดเอซีที โมบายต่อไป พร้อมทั้งแต่งตั้งเป็นผู้แทนประธานบอร์ดทีโอที ในซูเปอร์บอร์ดของไทยโมบาย
สำหรับความคืบหน้าการผลักดันโครงการ 3G นั้น พ.อ.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการทีโอที และประธานคณะกรรมการนโยบายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G กล่าวว่า การจัดทำร่างโครงการลงทุนโครงข่าย 3G ที่จะมีการนำเสนอที่ประชุม ครม. เสร็จแล้ว โดยระหว่างนี้ได้ดำเนินการร่างทีโออาร์เพื่อกำหนดความต้องการของทีโอที เช่น ระยะเวลาโครงการทั้งหมด 18 เดือน, การขยายโครงข่ายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 2,000 สถานี ต่างจังหวัด 1,000 สถานี ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ประกาศเป็นเวลา 30 วันหลังจาก ครม. เห็นชอบโครงการ
ทั้งนี้ หากบอร์ดทีโอทีเห็นชอบ ก็จะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เพื่อเสนอที่ประชุม ครม. ซึ่งหากต้องการให้โครงการดังกล่าวเสร็จทันภายในรัฐบาลชุดนี้ ต้องผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และเสนอ ครม. เห็นชอบกู้เงินแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และตั้งรัฐมนตรีไอซีทีเป็นตัวแทนรัฐบาล ภายในวันที่ 30 ต.ค. นี้
ก่อนหน้านี้ มีตัวแทนรัฐบาลอย่างน้อย 3 ประเทศแสดงความสนใจโครงการนี้ ได้แก่ รัสเซีย ญี่ปุ่น และจีน อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่น และจีน น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะมีข้อเสนอการถ่ายโอนเทคโนโลยี และเป็นเงินกู้ระยะยาว
อีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจะเป็นอนาคตให้กับทีโอทีคืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ ทุกวันนี้ทีโอทีปล่อยให้คู่แข่งขันอย่างทรู และทีทีแอนด์ที แซงหน้าไปมาก การจะกลับมาสู่ธุรกิจนี้อย่างจริงจัง จึงถือเป็นงานที่หนักสำหรับทีโอที แต่ก็เลี่ยงไม่ได้เพราะนี่คือนาคตรายได้สำคัญในอนาคต
6 เดือนบอร์ดทีโอทีเปลี่ยน 4 เอ็มดี
ปรากฎการณ์เปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ภายใต้บอร์ดบริหารที่มีพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เข้ามานั่งหัวโต๊ะตำแหน่ง ประธานกรรมการ บมจ.ทีโอที ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 เสมือนเก้าอี้ดนตรีสมบัติผลัดชมที่บอร์ดบริหารพร้อมที่จะจับใครมาวางในตำแหน่งนี้ก็ได้เพียงแค่ผู้นั้นสามารถตอบสนองบอร์ดได้
สิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 6-7 เดือนจึงเห็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ถึง 4 คนเข้ามาทำหน้าที่หัวเรือนำพาธุรกิจของทีโอที นอกจากนี้ยังมีภาพของกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ที่พร้อมจะเข้ามาทำหน้าที่นี้ในไม่ช้า
หากไล่เรียงตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 บอร์ดทีโอทีมีมติให้ดร.สมควร บูรมินเหนทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบงานด้านวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว ด้วยการนำประเด็น ที่สำนักการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้ทำหนังสือ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 ตรวจสอบการจ้างบริการลูกค้าสัมพันธ์และจัดทำระบบจัดเก็บเงินโทรศัพท์ ระบบ 1900 เมกะเฮิรตซ์ตามสัญญาระหว่าง บมจ.ทีโอที และบริษัท สามารถ อี-เทรดดิ้ง จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากสัญญาที่ทำร่วมกันก่อให้เกิดความเสียเปรียบเป็นมูลค่านับพันล้านบาทเลยทีเดียว
บอร์ดทีโอทีได้แต่งตั้ง ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการนั่งตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ อย่างไรก็ตามดร.วุฒิพงษ์ ไม่อาจที่จะยั่งยืนได้ในตำแหน่งเอ็มดี เพราะดันไปแฉงบลับ 800 ล้านบาทซึ่งกองทัพให้ทีโอที สนับสนุนงบการจัดซื้ออุปกรณ์ด้านความมั่นคง ด้วยเหตุที่ว่าเพื่อปกป้องผลประโยชน์
ดร.วุฒิพงษ์จึงถูกปลดในทันที เนื่องจากนำความลับราชการมาเปิดเผย พรัอมกับมีการแต่งตั้ง พ.อ.ดร.นที ศกุลรัตน์ กรรมการ นั่งตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่อีกหนึ่งตำแหน่ง
แต่จากการที่ดร.สมควร ตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านเพื่อให้ศาลพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินและขอคุ้มครองฉุกเฉินเพื่อให้ยกเลิกคำสั่งมติบอร์ดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม2550 ศาลปกครองกลางกำหนดมาตราการคุ้มครองชั่วคราวให้ทีโอที ระงับการดำเนินการใดๆที่จะมีผลให้ผู้ฟ้องคดีหรือตนเองไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้เต็มอำนาจ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
คำสั่งศาลดังกล่าวมีผลทำให้ พ.อ.ดร.นที ศกุลรัตน์ พ้นจากตำแหน่งรักษาการกรรรมการผู้จัดการใหญ่ แต่บอร์ดชุดนี้กลับเดินหน้าแต่งตั้งกิตติพงษ์ เตมียประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่มานั่งตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทั้งๆ ที่ศาลปกครองยังมีคำสั่งคุ้มครอง ดร.สมควร บูรมินเหนทร์
ประเด็นที่บอร์ดหยิบยกขึ้นมาเล่นงานดร.สมควร ครั้งใหม่คือการสอบสวนโครงการระบบสื่อสัญญาณความเร็วสูง หรือ Transmission Network Expansion Project (TNEP) เนื่องจาก สตง.สงสัยกรณีปรับความล่าช้าส่งมอบอุปกรณ์จาก บริษัท อัลคาเทล ซึ่งเป็นผู้รับจ้างดำเนินการเพียง 52 ล้านบาทจากจำนวนทั้งสิ้น 177 ล้านบาทมีผลทำให้ทีโอที เสียประโยชน์ถึง 125 ล้านบาท โดย ดร.สมควร ขอเวลาเตรียมเอกสารเพื่อชี้แจงเป็นเวลา 15 วัน
ปัญหาเรื่องของกรรมการผู้จัดการใหญ่จึงเป็นปัญหาที่ยังคงต้องสะสางกันต่อไป หากศาลปกครองมีคำสั่งที่ทำให้ฝ่ายดร.สมควร ชนะแล้วล่ะก็ งานนี้บอร์ดทีโอทีคงจะหนีข้อผิดพลาดจากมติบอร์ดไม่พ้น แต่คงจะทำททุกอย่างเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ดร.สมควรกลับมาทำงานในตำแหน่งนี้ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากบอร์ดชุดนี้ไม่สามารถที่จะสั่งซ้ายหันขวาหันดร.สมควรได้
กระแสข่าวเกี่ยวกับตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอทียังมีความเคลื่อนไหวและไม่นิ่ง ถึงขนาดที่มีข่าวออกมาว่าจะมีการนำเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ เข้ามานั่งบริหารในทีโอที โดยเชิดศักดิ์ ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทยคนหนึ่ง และจากประสบการณ์ที่ผ่านการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ ตั้งแต่ชินวัตร คอมพิวเตอร์ เอทีแอนด์ที เอชพี และล่าสุดโมโตโรล่า ประกอบกับความคุ้นเคยองค์กรอย่างทีโอทีมานาน ตั้งแต่สมัยทำสัญญาให้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) (เอไอเอส) ระยะแรก และธุรกิจเพจจิ้ง
สถานการณ์แม่ทัพใหญ่ของทีโอทีที่ยังไม่นิ่งอยู่ในขณะนี้ ย่อมส่งผลต่อการนำพาธุรกิจของทีโอทีให้เดินหน้าต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน เนื่องจากขาดคนที่มีคุณสมบัติและเชี่ยวชาญมาเป็นพลังขับเคลื่อนองค์กร ที่สำคัญธุรกิจก็ไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทเอกชนอื่นได้ด้วย
"สพรั่ง" พร้อมถอย ทำงานบริสุทธิ์ใจ
ในห้วงที่ปัญหารุมเร้าบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือทีโอที วีรบุรุษชาติทหารอย่างพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะ ประธานกรรมการทีโอที ได้มีการประกาศออกมาชัดๆ แล้วว่าพร้อมที่จะถอยก้าวลงจากตำแหน่งประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจแห่งนี้
ก่อนหน้านี้พล.อ.สพรั่ง ได้มีการชี้แจงว่าบอร์ดและที่ปรึกษาทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่มีอะไรที่เป็นวาระซ่อนเร้น อีกทั้งตนเองไม่เคยคิดปรารถนาร้ายกับ ทีโอที สาเหตุหลักที่ต้องลุกขึ้นมาชี้แจง เพื่อต้องการหยุดสถานการณ์ที่บานปลายโดยตนรับราชการมา 37 ปี สิ่งที่ท้าทาย คือศัตรูในสนามรบ กับวิกฤตของชาติ โดยความรู้สึกที่อึดอัดคือ ความกดดันจากข้าศึก และเคยอดอาหารนานถึง 14 วัน ซึ่งถือเป็นความอึดอัดที่ต้องอยู่รอดในสนามรบ แต่การทำงานในรัฐวิสาหกิจ เป็นความอึดอัดทางกิเลส เพราะคนที่ทำงานมาด้วยกันไม่ไว้ใจกัน โดยใช้วิชามารในการทำลายกัน
ทั้งนี้ตนได้ถูกแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดจากรมว.ไอซีทีต่างจากบอร์ดการท่าอาศยานไทย(ทอท.)ที่ให้ผมไปรบ เมื่อเทียบกันแล้วที่ทีโอทีทำงานสบายกว่า โดยบุคคลที่เลือกพิจารณาเข้ามาเป็นกรรมการนั้นได้เลือกบุคคลที่มีวุฒิภาวะ มีคุณวฒิ และความมุ่งมั่นสูงและตั้งใจทำงาน แต่ด้วยความตั้งใจอาจทำให้เกิดเรื่องและทำให้หลายฝ่ายเข้าใจในเจตนารมณ์ที่ผิด
โดยส่วนตัวของพล.อ.สพรั่งไม่ได้กลัวความกดดัน แต่สิ่งกลัวอย่างเดียวคือ ความดีที่เหนือกว่า โดยสิ่งที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ทั้งในทีโอที และ ทอท. ไว้จบภารกิจที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายก่อนแล้วพล.อ.สพรั่งจะมาเล่าให้ฟัง ส่วนเรื่องที่บอกว่าทีโอทีจะล่มสลายนั้นเป็นเรื่องของในอดีตที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การที่เข้ามาทีโอที ก็เพื่อช่วยพยุง ประคับประคอง โดยคิดว่าองค์กรนี้ ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะล่มจม องค์กรนี้ตั้งมาในช่วงของการปฏิรูป ร่วมกับกองทัพเพราะฉะนั้นความยิ่งใหญ่ของทีโอทีจะต้องอยู่ต่อไป
"คำว่าล่มสลายจะไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของทีโอทีนโยบายการบริกหารของผม คือ จะเร่งรัดโครงการต่างๆที่จำเป็น ยอมรับว่าช่วงแรกๆที่เข้ามามีการกลั่นกรองงานมาก ตรวจสอบถึงสองครั้ง (double check) แต่ตอนนี้อยากจะบอกว่า จะให้ทำเร็วขึ้นโดยให้กลั่นกรองในชั้นสุดท้าย เพื่อเร่งรัดงานและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดตามมา สิ่งที่เราต้องทำ คือ การให้มีล๊อบบี้ยิสต์เข้ามาช่วยเราในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงร่างกม. ที่จะกระทบอำนาจองค์กรของเรา เพื่อไม่ให้สมบัติชาติสูญหาย"
ทั้งหมดคือถ้อยแถลงของพล.อ.สพรั่ง ที่วันนี้ต้องประสบปัญหาอย่างหนักทั้งการบริหารงานในรัฐวิสาหกิจ และความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในการโยกย้ายนายทหารในฐานหนึ่งในแคนดิเดตตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
ธุรกิจทีโอทีทรุดหนักรายได้วูบ
สถานการณ์ทางธุรกิจของบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือทีโอที ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของอาการทรุดหนัก เนื่องจากรายได้ที่หดหายลงอย่างมากกำลังกลายเป็นเนื้อร้ายที่บั่นทอนองค์กรแห่งนี้ให้อ่อนแอลงทุกวัน
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในรอบเดือนมกราคม-มิถุนายน 2550 ทีโอที มีรายได้รวม 25,940.5 ล้านบาท ลดลง 3,892.7 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2549 ด้านค่าใช้จ่ายลดลงเหลือ 22,376 ล้านบาท ลดลง 1,513 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิลดลงเหลือ 2,862.2 ล้านบาท ลดลง 1,617.6 ล้านบาท
หากพิจารณารายได้ของทีโอทีในส่วนต่างๆว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 ทีโอทีมีรายได้จากการให้บริการ 13,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากโทรศัพท์พื้นฐาน 7,400 ล้านบาท ลดลง 1,200 ล้านบาท เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โทรศัพท์สาธารณะ 1,400 ล้านบาท ลดลง 700 ล้านบาท อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) 1,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 610 ล้านบาท และการให้บริการวงเช่า 2,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 200 ล้านบาท โทรศัพท์ระหว่างประเทศ 743 ล้านบาท ลดลง 493 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 278 ล้านบาท
รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์ของ ทีโอที ลดลง เนื่องจากรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์ประจำที่ในประเทศ โทรศัพท์ระหว่างประเทศ และโทรศัพท์สาธารณะลดลงตามพฤติกรรมความนิยมการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน
ส่วนรายได้จากส่วนแบ่งรายได้จากบริษัทร่วมการงานและสัญญาสัมปทานโทรศัพท์ จากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) เพิ่มขึ้น 44.6 % หรือคิดเป็นรายได้ 12,940 ล้านบาท ทั้งนี้สำหรับสาเหตุที่รายได้จากส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทไม่ต้องนำค่าสัมปทานไปหักจ่ายภาษีสรรพสามิต
อย่างไรก็ตามสำหรับรายได้รวมของทีโอที 25,940.5 ล้านบาท ยังไม่มีการรวมกับค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (แอ็คเซ็สชาร์จ หรือเอซี) ที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ได้หยุดจ่ายตั้งแต่ปลายปี 2549 ซึ่งปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันทีโอทีมีรายได้จากค่าเอซี กว่า 7,100 ล้านบาท
หลังจากที่ทีโอทีมีรายได้ลดลงอย่างต่อเรื่อง ทำให้ทีโอทีจะต้องเร่งปรับระบบงานภายในองค์กรให้เกิดความเข้มแข็งและทำงานในเชิงรุก โดยจะใช้บุคลากรภายในให้เต็มประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนหน้านี้มีนโยบายที่จะดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง ไม่ว่าจะเป็นการชะลอการลดลงรายได้ การหยุดการรั่วไหลของรายได้ และการเพิ่มรายได้ โดยทีโอทีจะปรับแผนธุรกิจการให้บริการแก่ประชาชนให้เข้ามาเลือกใช้บริการสูงขึ้นและชะลอการลดลงของรายได้จากบริการโทรศัพท์พื้นฐาน
แผนการเพิ่มรายได้นั้น ทีโอที จะรุกบริการด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ ด้วยการกระตุ้นให้หันมาติดตั้ง บรอดแบนด์ทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่า ส่วนบริการโทรศัพท์พื้นฐานจะเป็นเพียงบริการควบคู่ร่วมกันได้ ซึ่งจุดแข็งของโทรศัพท์พื้นฐาน คือ สามารถให้บริการบรอดแบนด์ได้ในคุณภาพที่โทรศัพท์มือถือทำไม่ได้ ดังนั้นทีโอทีจึงวางเป้าหมายที่จะให้ บริการเสียงควบคู่ไปกับบรอดแบนด์ (voice over broadband) ให้ได้ โดยคาดว่าจะให้มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอีก 3 แสนราย จากเดิมมีอยู่ในปัจจุบันกว่า 3 แสนรายหรือมีลูกค้าทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 6 แสนราย
สถานการณ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้นกับทีโอที แสดงให้เห็นว่าการแปรสภาพธุรกิจของทีโอทีตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถนำพาให้องค์กรแห่งนี้น่าจะสามารถยืนหยัดแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมที่นับวันการแข่งขันยิ่งรุนแรงมากขึ้น
ที่สำคัญในช่วงครบรอบ 5 ปีของทีโอทีที่ผ่านมาสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวถึงทีโอที หลังจากแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมาเป็นบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าได้มีความคิดในการเปลี่ยนชื่อบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด เพราะไม่ต้องการให้ บมจ.ทีโอที เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีข้อเสียมากกว่าการเป็นบริษัทจำกัด เพราะอาจทำให้โครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งถือเป็นสมบัติชาติ ตกไปอยู่ในมือต่างชาติ
การที่หลายคนต้องการเห็นทีโอทีนำธุรกิจไปสู่มหาชนเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในเร็ววันนี้น่าจะต้องร้องเพลงรอไปอีกนาน
|